พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. เรื่องพระปธานกัมมิกติสสเถระ [๒๐๖]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35008
อ่าน  464

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 106

๓. เรื่องพระปธานกัมมิกติสสเถระ [๒๐๖]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 106

๓. เรื่องพระปธานกัมมิกติสสเถระ [๒๐๖]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระปธานกัมมิกติสสเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อุฏฺานกาลมฺหิ" เป็นต้น.

พวกภิกษุประสงค์จะกราบทูลคุณที่ตนได้

ได้ยินว่า กุลบุตรชาวกรุงสาวัตถีประมาณ ๕๐๐ คน บวชในสำนักพระศาสดา เรียนกัมมัฏฐานแล้วได้ไปสู่ป่า. บรรดาภิกษุเหล่านั้น รูปหนึ่งพักอยู่ในที่นั้นเอง. ที่เหลือทำสมณธรรมอยู่ในป่า บรรลุพระอรหัต คิดว่า "พวกเราจักกราบทูลคุณอันตนได้แล้วแด่พระศาสดา" ได้ (กลับ) ไปยังกรุงสาวัตถีอีก. อุบาสกคนหนึ่ง เห็นภิกษุเหล่านั้นผู้เที่ยวบิณฑบาตอยู่ในบ้านแห่งหนึ่ง ในที่ประมาณโยชน์หนึ่งแต่กรุงสาวัตถี จึงต้อนรับด้วยวัตถุทั้งหลายมียาคูและภัตเป็นต้น ฟังอนุโมทนาแล้ว จึงนิมนต์เพื่อประโยชน์แก่การฉันในวันรุ่งขึ้น.

ภิกษุเหล่านั้น ไปถึงกรุงสาวัตถีในวันนั้นเอง เก็บบาตรและจีวรไว้แล้ว ในเวลาเย็นเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมนั่งอยู่แล้ว. พระศาสดา ทรงแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับด้วยภิกษุเหล่านั้น ได้ทรงทำการต้อนรับแล้ว.

ความไม่รู้จักกาลให้เกิดความเดือดร้อน

ขณะนั้น ภิกษุสหายแห่งภิกษุเหล่านั้น ผู้ยังเหลืออยู่ในที่นั้น คิดว่า "เมื่อพระศาสดาทรงทำการต้อนรับภิกษุเหล่านั้น พระโอษฐ์ย่อมไม่พอ (จะตรัส), แต่หาตรัสปราศรัยกับด้วยเราไม่ เพราะมรรคและผล

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 107

ของเราไม่มี, ในวันนี้แหละเราบรรลุพระอรหัตแล้ว จักให้พระศาสดาตรัสปราศรัยกับด้วยเรา." ภิกษุแม้เหล่านั้นทูลลาพระศาสดาว่า "พวกข้าพระองค์อันอุบาสกคนหนึ่ง ในหนทางเป็นที่มา นิมนต์เพื่อฉันเช้าในวันพรุ่งนี้ จักไปในที่นั้นแต่เช้าเทียว." ลำดับนั้น ภิกษุผู้สหายแห่งภิกษุเหล่านั้น เดินจงกรมตลอดคืนยังรุ่ง ล้มลงที่แผ่นหินแผ่นหนึ่งในที่สุดจงกรม ด้วยอำนาจแห่งความหลับ. กระดูกขาแตกแล้ว. เธอร้องด้วยเสียงดัง.

พวกภิกษุผู้เป็นสหายเหล่านั้นของเธอจำเสียงได้ ต่างวิ่งเข้าไปข้างโน้นและข้างนี้. เมื่อภิกษุเหล่านั้น ตามประทีปทำกิจที่ควรทำแก่ภิกษุนั้น อยู่นั่นแล, อรุณขึ้นแล้ว. ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้โอกาสไปบ้านนั้น.

ทรงแสดงชาดกในเรื่องไม่รู้จักกาล

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะภิกษุเหล่านั้นว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่ไปสู่บ้าน เป็นที่เที่ยวภิกษาหรือ" ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับว่า "อย่างนั้น พระเจ้าข้า" แล้วกราบทูลเรื่องนั้น. พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั่นทำอันตรายลาภของพวกเธอในบัดนี้เท่านั้นหามิได้, แม้ในกาลก่อน เธอก็ได้ทำแล้วเหมือนกัน" อันภิกษุเหล่านั้นทูลวิงวอนแล้ว ทรงนำอดีตนิทานมา ตรัสชาดก (๑) ให้พิสดารว่า:-

"บุคคลใด ย่อมปรารถนาจะทำกิจที่ควรทำก่อน ไว้ (ทำ) ภายหลัง, บุคคลนั้น ย่อมเดือดร้อนภายหลัง, เหมือนมาณพผู้หักกิ่งไม้กุ่มฉะนั้น."


(๑) ขุ. ชา. ๒๗/๒๓. อรรถกถา. ๒/๑๑๙. วรุณชาดก.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 108

ได้ยินว่า ภิกษุเหล่านั้นได้เป็นมาณพ ๕๐๐ ในกาลนั้น, มาณพผู้เกียจคร้านได้เป็นภิกษุนี้, ส่วนอาจารย์ได้เป็นพระตถาคตด้วยประการฉะนี้.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลใดไม่ทำความขยัน ในกาลที่ควรขยัน เป็นผู้มีความดำริอันจมแล้ว เป็นผู้เกียจคร้าน, บุคคลนั้นย่อมไม่บรรลุคุณวิเศษอันต่างโดยคุณมีฌานเป็นต้น" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

๓. อุฏฺานกาลมฺหิ อนุฏฺหาโน ยุวา พลี อาลสิยํ อุเปโต สํสนฺนสงฺกปฺปมโน กุสีโต ปญฺาย มคฺคํ อลโส น วินฺทติ.

"ก็บุคคลยังหนุ่มแน่นมีกำลัง (แต่) ไม่ขยันในกาลที่ควรขยัน เข้าถึงความเป็นผู้เกียจคร้าน มีใจประกอบด้วยความดำริอันจมแล้ว ขี้เกียจ เกียจคร้าน ย่อมไม่ประสบทางด้วยปัญญา."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุฏฺหาโน ความว่า ไม่ขยันคือไม่พยายาม.

สองบทว่า ยุวา พลี ความว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในความเป็นคนรุ่นหนุ่ม ทั้งถึงพร้อมด้วยกำลัง.

สองบทว่า อาลสิยํ อุเปโต ความว่า ย่อมเป็นผู้เข้าถึงแล้วซึ่งความเป็นผู้เกียจคร้าน คือกินแล้วๆ ก็นอน.

บทว่า สํสนฺนสงฺกปฺปมโน ความว่า ผู้มีจิตประกอบด้วยความดำริอันจม

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 109

ดิ่งลงแล้ว เพราะมิจฉาวิตก ๓. (๑)

บทว่า กุสีโต ได้แก่ผู้ไม่มีความเพียร.

บทว่า อลโส ความว่า บุคคลนั้นเกียจคร้านมาก เมื่อไม่เห็นอริยมรรค อันพึงเห็นด้วยปัญญา จึงชื่อว่า ย่อมไม่ประสบ คือไม่ได้.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องพระปธานกัมมิกติสสเถระ จบ.


(๑) มิจฉาวิตก ๓ คือ ๑) กามวิตก ตรึกในกาม ๒) พยาบาทวิตก ตรึกในการพยาบาท ๓) วิหิงสาวิตก ตรึกในการเบียดเบียนคนอื่น.