พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. เรื่องสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ [๒๑๐]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35012
อ่าน  431

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 127

๗. เรื่องสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ [๒๑๐]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 8 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 127

๙. เรื่องสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ [๒๑๐]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภสัทธิวิหาริก ของพระสารีบุตรเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อุจฺฉินฺท" เป็นต้น.

มาณพบวชแล้วได้กัมมัฏฐานไม่ถูกอัธยาศัย

ได้ยินว่า บุตรของนายช่างทองคนหนึ่งมีรูปสวย บวชในสำนักของพระเถระแล้ว. พระเถระดำริว่า "พวกคนหนุ่มมีราคะหนา" แล้วได้ให้อสุภกัมมัฏฐานแก่ท่าน เพื่อกำจัดราคะ. แต่กัมมัฏฐานนั้นไม่เป็นที่สบาย สำหรับท่าน เพราะเหตุนั้น ท่านเข้าไปสู่ป่าแล้ว พยายามอยู่สิ้น ๓ เดือน ไม่ได้แม้ซึ่งคุณมาตรว่าความเป็นผู้มีจิตแน่แน่วแล้ว จึงมาสู่สำนักของพระเถระอีก, เมื่อพระเถระกล่าวว่า "ท่าน กัมมัฏฐานมาปรากฏแก่ท่านแล้วหรือ" จึงบอกความเป็นไปนั้น. ครั้งนั้น พระเถระกล่าว (กะท่าน) ว่า "การถึงการปลงใจว่า "กัมมัฏฐานไม่สำเร็จ," ดังนี้ ย่อมไม่สมควร" แล้วบอกกัมมัฏฐานนั้นแหละให้ดีขึ้นอีก แล้วได้ให้แก่ท่าน. แม้ในวาระ ที่ ๒ ท่านก็ไม่อาจยังคุณวิเศษอะไรๆ ให้เกิดขึ้นได้ จึง (กลับ) มาบอกแก่พระเถระ. แม้พระเถระบอกกัมมัฏฐานนั้นเอง ทำให้มีเหตุมีอุปมา. ท่านก็มาบอกความที่กัมมัฏฐานไม่สำเร็จแม้อีก. พระเถระคิดว่า "ภิกษุ ผู้ทำ (ความเพียร) ย่อมทราบนิวรณธรรม มีความพอใจในกามเป็นต้น ซึ่งมีอยู่ในตนว่า "มีอยู่" และที่ไม่มีว่า "ไม่มี" ก็ภิกษุแม้นี้ เป็นผู้ทำ (ความเพียร) มิใช่เป็นผู้ไม่ทำ, เป็นผู้ปฏิบัติ มิใช่เป็นผู้ไม่ปฏิบัติ. แต่เราไม่รู้อัธยาศัยของภิกษุนั่น, ภิกษุนั่นจักเป็นผู้อันพระพุทธเจ้าพึงแนะ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 8 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 128

นำ" จึงพาท่านเข้าไปเฝ้าพระศาสดาในเวลาเย็น แล้วกราบทูลความเป็น ไปนั้นทั้งหมดว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้เป็นสัทธิวิหาริกของข้าพระองค์, ข้าพระองค์ให้กัมมัฏฐานชื่อนี้แก่ภิกษุนี้ ด้วยเหตุนี้."

พระศาสดาประทานกัมมัฏฐานที่เหมาะแก่ภิกษุนั้น

ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสกะพระเถระนั้นว่า "ชื่อว่าอาสยานุสยญาณ นั่น ย่อมมีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้บำเพ็ญบารมีแล้วยังหมื่นโลกธาตุให้บันลือแล้ว ถึงความเป็นพระสัพพัญญูนั่นแล" แล้วทรงรำพึงอยู่ว่า "ภิกษุนี้บวชจากสกุลไหนหนอแล" ทรงทราบว่า "จากสกุลช่างทอง, ทรงพิจารณาอัตภาพที่ล่วงมาแล้ว ทรงเห็นอัตภาพ ๕๐๐ ของภิกษุนั้น อันเกิดโดยลำดับเฉพาะในสกุลช่างทอง แล้วทรงดำริว่า "ภิกษุหนุ่มนี้ ทำหน้าที่ช่างทองอยู่ตลอดกาลนาน หลอมแต่ทองมีสีสุกอย่างเดียว ด้วยคิดว่า "เราจักทำให้เป็นดอกกรรณิการ์และดอกปทุมเป็นต้น. อสุภปฏิกูลกัมมัฏฐานไม่เหมาะแก่ภิกษุหนุ่มนี้, กัมมัฏฐานที่พอใจเท่านั้น จึงจะเป็นกัมมัฏฐานที่สบายแก่เธอ" จึงตรัสว่า "สารีบุตร เธอจักเห็นภิกษุที่เธอให้กัมมัฏฐาน ลำบากแล้วตลอด ๔ เดือน บรรลุพระอรหัตในภายหลังภัต ในวันนี้นั่นแหละ เธอไปเถิด" ดังนี้แล้ว ทรงส่งพระเถระไป ทรงนิรมิตดอกปทุมทองประมาณเท่าจักรด้วยพระฤทธิ์ แล้วทรงทำให้ เป็นเหมือนหลั่งหยาดน้ำจากใบและก้าน แล้วได้ประทานให้ด้วยพระดำรัสว่า "เอาเถิดภิกษุ เธอจงถือเอาดอกปทุมนี้ไปวางไว้ที่กองทรายที่ท้าย วิหาร นั่งขัดสมาธิในที่ตรงหน้า แล้วทำบริกรรมว่า "โลหิตกํ โลหิตกํ" (สีแดง สีแดง). เมื่อภิกษุนั้นรับดอกปทุมจากพระหัตถ์ของพระศาสดาเท่านั้น, จิตก็เลื่อมใสแล้ว, ท่านไปยังท้ายวิหารพูนทรายขึ้นแล้ว เสียบก้าน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 8 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 129

ดอกปทุมที่กองทรายนั่นแล้ว นั่งขัดสมาธิในที่ตรงหน้า เริ่มบริกรรมว่า "โลหิตกํ โลหิตกํ."

ภิกษุนั้นสำเร็จคุณวิเศษ

ครั้งนั้น นิวรณ์ทั้งหลายของท่านระงับแล้วในขณะนั้นนั่นเอง อุปจารฌานเกิดแล้ว. ท่านยังปฐมฌานให้เกิดขึ้น ในลำดับแห่งอุปจารฌานนั้น ให้ถึงความเป็นผู้ชำนาญโดยอาการ ๕ (๑) นั่งอยู่ตามเดิมเทียว บรรลุฌานทั้งหลายมีทุติยฌานเป็นต้นแล้ว นั่งเล่นฌานในจตุตถฌานที่ชำนาญอยู่.

พระศาสดา ทรงทราบว่าฌานทั้งหลายเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นแล้ว ทรงพิจารณาดูว่า "ภิกษุนี่จักอาจเพื่อยังคุณวิเศษอันยิ่งให้เกิดขึ้นตามธรรมดาของตนหรือหนอ" ทรงทราบว่า "จักไม่อาจ" แล้วทรงอธิษฐานว่า "ขอดอกปทุมนั้นจงเหี่ยวแห้งไป" ดอกปทุมนั้นได้เหี่ยวแห้งมีสีดำ เหมือนดอกปทุมที่ถูกขยี้ด้วยมือฉะนั้น. ภิกษุนั้นออกจากฌานแล้ว แลดูดอกปทุมนั้น เห็นอนิจจลักษณะว่า "ทำไมหนอแล ดอกปทุมนี้ถูกชรากระทบแล้วจึงปรากฏได้, แม้เมื่ออนุปาทินนกสังขาร อันชรายังครอบงำได้อย่างนี้, ในอุปาทินนกสังขาร ก็ไม่จำต้องพูดถึง, อันชราคงจักครอบงำอุปาทินนกสังขารแม้นี้." ก็ครั้นอนิจจลักษณะนั้น อันท่านเห็นแล้ว, ทุกขลักษณะและอนัตตลักษณะก็ย่อมเป็นอันเห็นแล้วเหมือนกัน. ภพ ๓ ปรากฏแล้วแก่ท่านดุจไฟติดทั่วแล้ว และดุจซากศพอันบุคคลผูกไว้ที่คอ.

ในขณะนั้น พวกเด็กลงสู่สระแห่งหนึ่ง ในที่ไม่ไกลภิกษุนั้น เด็ด


(๑) อาการ ๕ คือ ๑) อาวัชชนะ การนึก, ๒) สมาปัชชนะ การเข้า, ๓) วุฏฐานะ การออก, ๔) อธิษฐานะ การตั้งใจปรารถนา, ๕) ปัจจเวกขณะ การพิจารณา.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 8 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 130

ดอกโกมุททั้งหลายแล้ว ทำให้เป็นกองไว้บนบก. ภิกษุนั้นแลดูดอกโกมุททั้งหลายบนบกและในน้ำ. ลำดับนั้น ดอกโกมุทในน้ำงดงาม ปรากฏแก่เธอประดุจหลั่งน้ำออกอยู่, ดอกโกมุทนอกนี้เหี่ยวแห้งแล้วที่ปลายๆ. ภิกษุนั้นเห็นอนิจจลักษณะเป็นต้นดีขึ้นว่า "ชราย่อมกระทบอนุปาทินนกสังขารอย่างนี้, ทำไมจึงจักไม่กระทบอุปาทินนกสังขารเล่า"

จงตัดความเยื่อใย เจริญทางสงบ

พระศาสดาทรงทราบว่า "บัดนี้ กัมมัฏฐานปรากฏแก่ภิกษุนี้แล้ว, ประทับนั่งในพระคันธกุฏีเทียว ทรงเปล่งพระรัศมีไป. พระรัศมีนั้น กระทบหน้าภิกษุนั้น, ครั้นเมื่อท่านพิจารณาอยู่ว่า "นั่นอะไรหนอ" พระศาสดาได้เป็นประหนึ่งว่าเสด็จมาประทับยืนอยู่ที่ตรงหน้า. ท่านลุกขึ้น แล้วประคองอัญชลี. ลำดับนั้น พระศาสดาทรงกำหนดธรรมเป็นที่สบายของเธอแล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-

๗. อุจฺฉินฺท สิเนหมตฺตโน กุมุทํ สารทิกํว ปาณินา สนฺติมคฺคเม พฺรูหย นิพฺพานํ สุคเตน เทสิตํ.

"เธอจงตัดความเยื่อใยของตนเสีย เหมือนบุคคลถอนดอกโกมุท ที่เกิดในสรทกาลด้วยมือ, จงเจริญทางแห่งสันติทีเดียว, (เพราะ) พระนิพพาน อันพระสุคตแสดงแล้ว."

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 8 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 131

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุจฺฉินฺท คือ จงตัดด้วยอรหัตตมรรค.

บทว่า สารทิกํ ได้แก่ ที่เกิดแล้วในสรทกาล.

บทว่า สนฺติมคฺคํ คือ ซึ่งทางอันมีองค์ ๘ ที่ยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน.

บทว่า พฺรูหย คือ จงเจริญ.

บทว่า นิพฺพานํ ความว่า เพราะพระนิพพานอันพระสุคตทรงแสดงแล้ว; เพราะฉะนั้น ท่านจงเจริญทางแห่งพระนิพพานนั้น.

ในเวลาจบเทศนา ภิกษุนั้นตั้งอยู่ในพระอรหัตแล้ว ดังนี้แล.

เรื่องสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ จบ.