พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. เรื่องพ่อค้ามีทรัพย์มาก [๒๑๑]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35013
อ่าน  427

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 132

๘. เรื่องพ่อค้ามีทรัพย์มาก [๒๑๑]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 132

๘. เรื่องพ่อค้ามีทรัพย์มาก [๒๑๑]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพ่อค้ามีทรัพย์มาก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อิธ วสฺสํ" เป็นต้น.

พ่อค้าไม่ทราบความตายที่จะมาถึงตน

ดังได้สดับมา พ่อค้านั้นบรรทุกผ้าซึ่งย้อมด้วยดอกคำ จนเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม จากกรุงพาราณสีแล้ว มาสู่กรุงสาวัตถีเพื่อค้าขาย. เขาถึงฝั่งแม่น้ำแล้ว คิดว่า "พรุ่งนี้เราจึงจักข้ามแม่น้ำ" ปลดเกวียนแล้วพักอยู่ที่ฝั่งนั้นนั่นแล. ตอนกลางคืน มหาเมฆตั้งขึ้นแล้วยังฝนให้ตก. แม่น้ำเต็มด้วยน้ำได้ทรงอยู่ตลอด ๗ วัน. ถึงในพระนคร พวกชนก็เล่นนักษัตรกัน ตลอด ๗ วัน. กิจด้วยผ้าซึ่งย้อมด้วยดอกคำไม่มี. พ่อค้าจึงคิดว่า "เรามาสู่ที่ไกล, ถ้าเราจักไปอีก, ความเนิ่นช้าก็จักมี, เราจักอยู่ทำการงานของเราในที่นี้แหละ ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน แล้วขายผ้าเหล่านี้."

พระศาสดาเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาตในพระนคร ทรงทราบจิต (ความคิด) ของเขาแล้ว ทรงทำความยิ้มแย้มให้ปรากฏ, พระอานนทเถระ ทูลถามเหตุแห่งการทรงยิ้มแย้ม จึงตรัสว่า "อานนท์ เธอเห็นพ่อค้ามีทรัพย์มากหรือ"

อานนท์. เห็น พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. เขาไม่รู้อันตรายแห่งชีวิตของตน จึงได้ตั้งจิตเพื่ออยู่ขายสิ่งของในที่นี้แหละตลอดปีนี้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 133

อานนท์. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อันตรายจักมีแก่เขาหรือ

พระศาสดาตรัสว่า "เออ อานนท์ เขาเป็นอยู่ได้ตลอด ๗ วันเท่านั้น ก็จักตั้งอยู่ในปากแห่งมัจจุ (ตาย) " ดังนี้แล้ว ได้ทรงภาษิต พระคาถาเหล่านี้ว่า :-

"ความเพียรเครื่องเผากิเลส ควรทำในวันนี้ทีเดียว, ใครพึงรู้ได้ว่า "ความตายจะมีในวันพรุ่งนี้," เพราะว่าความผัดเพี้ยนด้วยความตาย ซึ่งมีเสนาใหญ่นั้น ไม่มีเลย." มุนีผู้สงบ ย่อมเรียกบุคคลผู้มีปกติอยู่อย่างนั้น มีความเพียร ไม่เกียจคร้าน ตลอดกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า "ผู้มีราตรีเดียว เจริญ (๑)."

อานนท์. ข้าพระองค์จักไปบอกแก่เขา พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. อานนท์ เธอคุ้นเคยกัน ก็ไปเถิด.

พระเถระไปสู่ที่แห่งเกวียนแล้วเที่ยวไปเพื่อภิกษา. พ่อค้าต้อนรับพระเถระด้วยอาหาร. ลำดับนั้น พระเถระจึงกล่าวกะพ่อค้านั้นว่า "ท่าน จักอยู่ในที่นี้ ตลอดกาลเท่าไร"

พ่อค้า. ท่านผู้เจริญ ผมมาแต่ที่ไกล, ถ้าจักไปอีก, ความเนิ่นช้าจักมี. ผมจักอยู่ในที่นี้ตลอดปีนี้ ขายสิ่งของ (หมด) แล้วจักไป.

อานนท์. อุบาสก อันตรายแห่งชีวิตรู้ได้ยาก, การทำความไม่ประมาท จึงจะควร.


(๑) ม. อุปริ. ๑๔/๓๔๘.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 134

พ่อค้า. ท่านผู้เจริญ ก็อันตรายจักมีหรือ

อานนท์. เออ อุบาสก, ชีวิตของท่านจักเป็นไปได้ตลอด ๗ วันเท่านั้น.

เขาเป็นผู้มีใจสังเวชแล้ว นิมนต์ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ถวายมหาทานตลอด ๗ วัน แล้วรับบาตรเพื่อประโยชน์แก่การอนุโมทนา.

คนเขลาย่อมไม่รู้อันตรายแห่งชีวิต

ลำดับนั้น พระศาสดาเมื่อจะทรงทำอนุโมทนาแก่เขา ตรัสว่า "อุบาสก ธรรมดาบัณฑิตคิดว่า เราจักอยู่ในที่นี้นี่แหละตลอดฤดูฝน เป็นต้น, จักประกอบการงานชนิดนี้ๆ ย่อมไม่ควร, ควรคิดถึงอันตรายแห่งชีวิตของตนเท่านั้น" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-

๘. อิธ วสฺสํ วสิสิสามิ อิธ เหมนฺตคิมฺหิสุ อิติ พาโล วิจินฺเตติ อนฺตรายํ น พุชฺฌติ.

"คนพาลย่อมคิดว่า เราจักอยู่ในที่นี้ตลอดฤดูฝน, จักอยู่ในที่นี้ ในฤดูหนาวและฤดูร้อน หารู้อันตรายไม่."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิธ วสฺสํ ความว่า เราจักอยู่ทำการงานชนิดนี้ๆ ในที่นี้ ตลอดฤดูฝน ๔ เดือน.

บทว่า เหมนฺตคิมฺหิสุ ความว่า คนพาลผู้ไม่รู้ประโยชน์อันเป็นไปในทิฏฐธรรมและสัมปรายภพ ย่อมคิดอย่างนี้ว่า "เราจักอยู่ทำการงาน ชนิดนี้ๆ ในที่นี้นี่แหละ ตลอด ๔ เดือน แม้ในฤดูหนาวและฤดูร้อน."

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 135

บทว่า อนฺตรายํ ความว่า ย่อมไม่รู้จักอันตรายแห่งชีวิตของตนว่า "เราจักตายในกาล ในประเทศ หรือในวัยชื่อโน้น."

ในกาลจบเทศนา พ่อค้านั้นดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว, เทศนาได้มีประโยชน์ แม้แก่บุคคลที่ประชุมกันแล้ว. ฝ่ายพ่อค้าตามส่งเสด็จพระศาสดาแล้ว กลับมานอนบนที่นอน ด้วยคิดว่า "ดูเหมือนโรคในศีรษะจะเกิดขึ้นแก่เรา," นอนแล้วด้วยอาการนั้นแหละ. ทำกาละแล้ว บังเกิดในดุสิตวิมาน ดังนี้แล.

เรื่องพ่อค้ามีทรัพย์มาก จบ.