พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. เรื่องภิกษุวัชชีบุตร [๒๑๙]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35022
อ่าน  500

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 176

๖. เรื่องภิกษุวัชชีบุตร [๒๑๙]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 176

๖. เรื่องภิกษุวัชชีบุตร [๒๑๙]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดาเมื่อทรงอาศัยกรุงไพศาลี ประทับอยู่ในป่ามหาวัน ทรงปรารภภิกษุผู้เป็นโอรสของเจ้าวัชชีรูปใดรูปหนึ่ง ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ กล่าวหมายเอาว่า (๑) "ภิกษุผู้เป็นโอรสของเจ้าวัชชีรูปใดรูปหนึ่ง อยู่ในราวป่าแห่งใดแห่งหนึ่ง ใกล้เมืองไพศาลี. ก็โดยสมัยนั้นแล ในกรุงไพศาลีมีการเล่นมหรสพตลอดคืนยังรุ่ง. ครั้งนั้นแล ภิกษุนั้นได้ยินเสียงกึกก้องแห่งดนตรีที่เขาตีแล้วและประโคมแล้ว คร่ำครวญอยู่ กล่าวคาถานี้ในเวลานั้นว่า:-

"พวกเราผู้เดียว ย่อมอยู่ในป่า เหมือนไม้ที่เขาทิ้งไว้แล้วในป่า, ในราตรีเช่นนี้ บัดนี้ ใครเล่า ที่เลวกว่าพวกเรา."

ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ทุปฺปพฺพชฺชํ ทุรภิรมํ" เป็นต้น.

เสียงกึกก้องเป็นปรปักษ์ต่อสมณเพศ

ได้ยินว่า ภิกษุนั้นเป็นราชโอรสในแคว้นวัชชี สละราชสมบัติที่ถึงแล้วตามวาระ บวชแล้ว ในกรุงไพศาลี, เมื่อทั่วทั้งพระนครอันเขาประดับแล้วด้วยเครื่องประดับทั้งหลาย มีธงชัยและธงแผ่นผ้าเป็นต้น กระทำให้เนื่องเป็นอันเดียวกันกับชั้นจาตุมหาราช, เมื่อวาระเป็นที่เล่นมหรสพ ตลอดคืนยังรุ่ง ในวันเพ็ญเป็นที่บานแห่งดอกโกมุทเป็นไปอยู่, ได้ยินเสียงกึกก้องแห่งดนตรี มีกลองเป็นต้นที่เขาตีแล้ว และเสียงดนตรีมีพิณเป็นต้น ที่เขาประโคมแล้ว, เมื่อพระราชา ๗,๗๐๗ พระองค์,


(๑) สํ. ส. ๑๕/ ข้อ ๗๘๓ วัชชีปุตตสูตร.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 177

และข้าราชบริพารทั้งหลาย มีอุปราชและเสนาบดีเป็นต้นของพระราชาเหล่านั้น ก็มีจำนวนเท่านั้นเหมือนกัน ซึ่งมีอยู่ในกรุงไพศาลี ประดับประดาแล้ว ก้าวลงสู่ถนนเพื่อต้องการจะเล่นนักษัตร, จงกรม (เดินกลับ ไปกลับมา) อยู่ที่จงกรมใหญ่ ประมาณ ๖๐ ศอก เห็นพระจันทร์เต็มดวง เด่นอยู่ในกลางท้องฟ้า ยืนพิงแผ่นกระดาน ณ ที่สุดจงกรมแล้ว มองดูอัตภาพประดุจไม้ที่เขาทิ้งไว้ในป่า เพราะความที่ตนเว้นแล้วจากผ้าสำหรับโพกและเครื่องอลังการ คิดอยู่ว่า "คนอื่นที่เลวกว่าเรา มีอยู่หรือหนอ" แม้ประกอบด้วยคุณมีการอยู่ป่าเป็นวัตรเป็นต้นตามปกติ ในขณะนั้น ถูกความไม่ยินดียิ่งบีบคั้น จึงกล่าวอย่างนั้น.

เทวดากล่าวคาถาให้เกิดความสังเวช

ท่านได้ยินคาถานี้ ซึ่งเทวดาผู้สิงอยู่ในไพรสณฑ์นั้น กล่าวแล้ว (๑) ว่า :-

"ท่านผู้เดียว อยู่ในป่า เหมือนไม้ที่เขาทิ้งไว้ในป่า, ชนเป็นอันมาก ย่อมกระหยิ่มต่อท่านนั้น ราวกะว่าพวกสัตว์นรก กระหยิ่มต่อชนทั้งหลาย ผู้ไปสู่สวรรค์ฉะนั้น.

ด้วยความประสงค์ว่า "เราจักยังภิกษุนี้ให้สังเวช" ในวันรุ่งขึ้น เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วนั่ง.

พระศาสดาทรงแสดงทุกข์ ๕ อย่าง

พระศาสดาทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว ประสงค์จะประกาศความที่ฆราวาสเป็นทุกข์ จึงทรงรวบรวมทุกข์ ๕ อย่างแล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-


(๑) สํ. ส. ๑๕/ข้อ ๗๘๕.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 178

๖. ทุปฺปพฺพชฺชํ ทุรภิรมํ ทุราวาสา ฆรา ทุกฺขา ทุกฺโข สมานสํวาโส ทุกฺขานุปติตทฺธคู ตสฺมา น จทฺธคู สิยา น จ ทุกฺขานุปติโต สิยา.

"การบวชก็ยาก การยินดีก็ยาก เรือนที่ปกครองไม่ดี ให้เกิดทุกข์ การอยู่ร่วมกับผู้เสมอกัน (๑) เป็นทุกข์ ผู้เดินทางไกล ก็ถูกทุกข์ติดตาม, เพราะฉะนั้น ไม่พึงเป็นผู้เดินทางไกล และไม่พึงเป็นผู้อันทุกข์ติดตาม."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุปฺกพฺพชฺชํ ความว่า ชื่อว่า การละกองแห่งโภคะน้อยก็ตาม มากก็ตาม และเครือญาติ บวชมอบอุระ (ถวายชีวิต) ในศาสนานี้ เป็นการยาก.

บทว่า ทุรภิรมํ ความว่า การที่กุลบุตรแม้บวชแล้วอย่างนั้น สืบต่อความเป็นไปแห่งชีวิต ด้วยการเที่ยวไปเพื่อภิกษา ยินดียิ่ง ด้วยสามารถแห่งการคุ้มครองคุณคือศีลอันไม่มีประมาณ และบำเพ็ญข้อปฏิบัติธรรม อันสมควรแก่ธรรมให้บริบูรณ์ เป็นการยาก.

บทว่า ทุราวาสา ความว่า ก็ราชกิจของพระราชา อิสรกิจของอิสรชนทั้งหลาย อันผู้ครองเรือนต้องนำไป, ชนข้างเคียงและสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติธรรม อันผู้ครองเรือนต้องสงเคราะห์, แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ การครองเรือนก็เต็มได้ยาก เหมือนหม้อที่ทะลุและมหาสมุทร เพราะฉะนั้น ชื่อว่าเรือนเหล่านั่น ที่ปกครองไม่ดีจึงชื่อว่าให้เกิดทุกข์


(๑) ตามนัยอรรถกถา ประสงค์จะให้หมายความว่า การอยู่ร่วมกับผู้ไม่เสมอกัน.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 179

คือให้ลำบากเพื่อจะอยู่ครอบครอง เพราะเหตุนั้นนั่นแล.

บาทพระคาถาว่า ทุกฺโข สมานสํวาโส ความว่า จริงอยู่ ชนเหล่าใดเป็นคฤหัสถ์ แม้เสมอกันโดยชาติ โคตร ตระกูล และโภคะก็ตาม เป็นบรรพชิต เสมอกันโดยคุณทั้งหลาย มีศีล อาจาระและพาหุสัจจะเป็นต้นก็ตาม (แต่) กล่าวคำเป็นต้นว่า "ท่านเป็นใคร เราเป็นใคร" เป็นผู้ขวนขวายในอธิกรณ์อยู่, ชนเหล่านั้น ชื่อว่าผู้ไม่เสมอกัน, ชื่อว่าการอยู่ร่วมกับชนเหล่านั้นเป็นทุกข์.

บาทพระคาถาว่า ทุกฺขานุปติตทฺธคู ความว่า ชนเหล่าใดชื่อว่า ผู้เดินทางไกล เพราะความเป็นผู้ดำเนินไปสู่ทางไกล กล่าวคือวัฏฏะ; ชนเหล่านั้นถูกทุกข์ติดตามแท้.

สองบทว่า ตสฺมา น จทฺธคู ความว่า แม้ความเป็นผู้อันทุกข์ติดตาม ก็เป็นทุกข์ แม้ความเป็นผู้เดินทางไกล ก็เป็นทุกข์. เพราะฉะนั้น บุคคลไม่พึงเป็นผู้ชื่อว่าเดินทางไกล เพราะการเดินทางไกลกล่าวคือวัฏฏะด้วย ไม่พึงเป็นผู้อันทุกข์มีประการดังกล่าวแล้วติดตามด้วย.

ในกาลจบเทศนา ภิกษุนั้นเบื่อหน่ายในทุกข์ที่พระองค์ตรัสในฐานะ ๕ แล้ว ทำลายสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ (๑) อันเป็นส่วนเบื้องสูง ๕ (๒) ดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว ดังนี้แล.

เรื่องภิกษุวัชชีบุตร จบ.


(๑) สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ.

(๒) รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา.