พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. เรื่องจิตตคฤหบดี [๒๒๐]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35023
อ่าน  500

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 180

๗. เรื่องจิตตคฤหบดี [๒๒๐]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 180

๗. เรื่องจิตตคฤหบดี [๒๒๐]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภจิตตคฤหบดี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สทฺโธ สีเลน สมฺปนฺโน" เป็นต้น.

ลาภสักการะเกิดขึ้นแก่จิตตคฤหบดี

เรื่องข้าพเจ้าให้พิสดารแล้ว ในวรรณนาแห่งพระคาถา ในพาลวรรคว่า "อสนฺตํ ภาวมิจฺเฉยฺย" เป็นต้น. แม้พระคาถา (นี้) ก็มาแล้วในพาลวรรคนั้นเหมือนกัน. จริงอยู่ ในพาลวรรคนั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า

(พระอานนทเถระ ทูลถามพระศาสดาว่า) "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สักการะนี้เกิดขึ้นแก่คฤหบดีนั่น แม้ผู้มาสู่สำนักของพระองค์เท่านั้นหรือ หรือแม้ไปในที่อื่นก็เกิดขึ้นเหมือนกัน"

พระศาสดาตรัสว่า "อานนท์ เมื่อจิตตคฤหบดีนั้นมาสู่สำนักของเราก็ดี ไปในที่อื่นก็ดี, สักการะย่อมเกิดขึ้นทั้งนั้น, เพราะอุบาสกนี้ เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใส สมบูรณ์ด้วยศีล, อุบาสกผู้เห็นปานนี้ ย่อมไปประเทศ ใดๆ ลาภสักการะย่อมเกิดแก่เขาในประเทศนั้นๆ ทีเดียว" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

๗. สทฺโธ สีเลน สมฺปนฺโน ยโสโภคสมปฺปิโต ยํ ยํ ปเทสํ ภชติ ตตฺถ ตตฺเถว ปูชิโต.

"ผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล เพียบพร้อมด้วย

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 181

ยศและโภคะ จะไปประเทศใดๆ , ย่อมเป็นผู้อันเขาบูชาแล้ว ในประเทศนั้นๆ ทีเดียว."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สทฺโธ ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยศรัทธา อันเป็นโลกิยะและโลกุตระ.

บทว่า สีเลน ความว่า ศีลมี ๒ อย่าง คือ ศีลสำหรับผู้ครองเรือน ๑ ศีลสำหรับผู้ไม่ครองเรือน ๑, ใน ๒ อย่างนั้น ศีลสำหรับผู้ครองเรือน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาในบทนี้, ความว่า ผู้ประกอบด้วยศีลสำหรับผู้ครองเรือนนั้น.

บาทพระคาถาว่า ยโสโภคสมปฺปิโต ความว่า ผู้ประกอบแล้วด้วยยศสำหรับผู้ครองเรือน กล่าวคือความมีอุบาสก ๕๐๐ เป็นบริวาร เช่น ของชนทั้งหลาย มีอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นต้น และด้วยโภคะ ๒ อย่าง (คือ) โภคะมีทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นต้นอย่างหนึ่ง คืออริยทรัพย์ ๗ อย่างหนึ่ง.

สองบทว่า ยํ ยํ เป็นต้น ความว่า กุลบุตรผู้เห็นปานนี้ ไปสู่ประเทศใดๆ ในทิศทั้งหลายมีทิศตะวันออกเป็นต้น ย่อมเป็นผู้อันเขาบูชาแล้วใน ประเทศนั้นๆ ด้วยลาภและสักการะเห็นปานนั้นเทียว.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องจิตตคฤหบดี จบ.