พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. เรื่องหญิงขี้หึง [๒๒๘]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35032
อ่าน  462

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 212

๖. เรื่องหญิงขี้หึง [๒๒๘]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 212

๖. เรื่องหญิงขี้หึง [๒๒๘]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภหญิงขี้หึง คนใดคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อกตํ" เป็นต้น.

หญิงขี้หึงทำกรรมชั่วแล้วคิดปกปิด

ได้ยินว่า สามีของหญิงนั้นได้ทำความเชยชิดกับหญิงรับใช้ในเรือนคนหนึ่ง. หญิงขี้หึงนั้น มัดมือมัดเท้าหญิงรับใช้คนนั้นไว้แล้วตัดหูตัดจมูกของเขา ขังไว้ในห้องว่างห้องหนึ่ง ปิดประตูแล้ว เพื่อจะปกปิดความที่ กรรมนั้นอันตนทำแล้ว (ชวนสามี) ว่า "มาเถิดนาย, เราจักไปวัดฟังธรรม" พาสามีไปวัดนั่งฟังธรรมอยู่. ขณะนั้นพวกญาติผู้เป็นแขกของนางมายังเรือน (ของนาง) แล้ว เปิดประตูเห็นประการอันแปลกนั้นแล้ว แก้หญิงรับใช้ออก. หญิงรับใช้นั้นไปวัด กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระทศพล ในท่ามกลางบริษัท ๔.

กรรมชั่วย่อมเผาผลาญในภายหลัง

พระศาสดาทรงสดับคำของหญิงรับใช้นั้นแล้ว ตรัสว่า "ขึ้นชื่อว่าทุจริต แม้เพียงเล็กน้อยบุคคลไม่ควรทำ ด้วยความสำคัญว่า ชนพวกอื่นย่อมไม่รู้กรรมนี้ของเรา" (ส่วน) สุจริตนั่นแหละ เมื่อคนอื่นแม้ไม่รู้ก็ควรทำ, เพราะว่าขึ้นชื่อว่าทุจริต แม้บุคคลปกปิดทำ ย่อมทำการเผาผลาญในภายหลัง, (ส่วน) สุจริตย่อมยังความปราโมทย์อย่างเดียวให้เกิดขึ้นดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 213

๖. อกตํ ทุกฺกตํ เสยฺโย ปจฺฉา ตปฺปติ ทุกฺกตํ กตญฺจ สุกตํ เสยฺโย ยํ กตฺวา นานุตปฺปติ.

"กรรมชั่ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า, (เพราะ) กรรมชั่ว ย่อมเผาผลาญในภายหลัง, ส่วนบุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่ตามเดือดร้อน, กรรมนั้น เป็นกรรมดี อันบุคคลทำแล้วดีกว่า."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุกฺกตํ ความว่า กรรมอันมีโทษยังสัตว์ให้เป็นไปในอบาย ไม่ทำเสียเลยดีกว่า คือประเสริฐ ได้แก่ยอดเยี่ยม.

สองบทว่า ปจฺฉา ตปฺปติ ความว่า เพราะกรรมนั้น ย่อมเผาผลาญ ในกาลที่ตนตามระลึกถึงแล้วๆ ร่ำไป.

บทว่า สุกตํ ความว่า ส่วนกรรมอันไม่มีโทษ มีสุขเป็นกำไร ยังสัตว์ให้เป็นไปในสุคติอย่างเดียว บุคคลทำแล้วดีกว่า.

สองบทว่า ยํ กตฺวา ความว่า บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง คือในกาลเป็นที่ระลึกถึง ชื่อว่า ย่อมไม่ตามเดือดร้อน คือเป็นผู้มีโสมนัสอย่างเดียว, กรรมนั้นอันบุคคลทำแล้ว ประเสริฐ.

ในกาลจบเทศนา อุบาสกและหญิงนั้น ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว, ก็แลชนทั้งหลายทำหญิงรับใช้นั้นให้เป็นไท ในที่นั้นนั่นแล แล้วทำให้เป็นหญิงมีปกติประพฤติธรรม ดังนี้แล.

เรื่องหญิงขี้หึง จบ.