พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. เรื่องสาวกเดียรถีย์ [๒๓๑]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35035
อ่าน  442

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 220

๙. เรื่องสาวกเดียรถีย์ [๒๓๑]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 220

๙. เรื่องสาวกเดียรถีย์ [๒๓๑]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพวกสาวกเดียรถีย์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อวชฺเช" เป็นต้น.

บุตรพวกเดียรถีย์สอนบุตรไม่ให้ไหว้สมณะ

ความพิสดารว่า สมัยหนึ่งพวกสาวกอัญญเดียรถีย์ เห็นพวกลูกๆ ของตนพร้อมทั้งบริวาร เล่นอยู่กับพวกลูกของพวกอุบาสกผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ ในเวลาลูกเหล่านั้นมาเรือนแล้ว จึงต่างให้กระทำปฏิญาณว่า "สมณะพวกศากยบุตร พวกเจ้าไม่พึงไหว้, แม้วิหารของสมณะเหล่านั้น พวกเจ้าก็ไม่พึงเข้าไป." วันหนึ่ง ลูกของพวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น กำลังเล่นอยู่ในที่ใกล้แห่งซุ้มประตูนอกพระเชตวันวิหาร มีความระหายน้ำขึ้น. ทีนั้น พวกเขาจึงส่งเด็กของอุบาสกคนหนึ่งไปสู่พระวิหาร สั่งว่า "เจ้าไปดื่มน้ำในวิหารนั้นแล้ว จงนำมาเพื่อพวกเราบ้าง." เด็กนั้นก็เข้าไปยังพระวิหาร ถวายบังคมพระศาสดาแล้วกราบทูลความข้อนั้น.

บุตรพวกเดียรถีย์นับถือพระพุทธศาสนา

ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสกะเด็กนั้นว่า "เจ้าเท่านั้น ดื่มน้ำแล้วไป จงส่งแม้พวกเด็กนอกนี้มา เพื่อต้องการแก่การดื่มน้ำในที่นี้เทียว". เขาได้ทำอย่างนั้น. พวกเด็กเหล่านั้นมาดื่มน้ำแล้ว. พระศาสดารับสั่งให้หาเด็กเหล่านั้นมาแล้ว ตรัสธรรมกถาที่สบายแก่เด็กเหล่านั้น ทรงทำเด็ก เหล่านั้นให้มีศรัทธามั่นคงแล้ว ให้ตั้งอยู่ในสรณะและศีล. เด็กเหล่านั้น ไปสู่เรือนของตนๆ แล้ว แจ้งความนั้นแก่มารดาและบิดา. ครั้งนั้น มารดาและบิดาของพวกเขา ถึงความโทมนัสปริเทวนาว่า "ลูกของพวก

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 221

เรา เกิดเป็นคนมีทิฏฐิวิบัติเสียแล้ว". ครั้งนั้น คนที่สนิทสนมของพวกนั้น เป็นคนฉลาด มากล่าวธรรมแก่คนเหล่านั้น เพื่อต้องการแก่อันยังความโทมนัสให้สงบ.

มารดาและบิดาของพวกเด็กเหล่านั้น ฟังถ้อยคำของคนเหล่านั้น แล้วจึงกล่าวว่า "พวกเราจักมอบพวกเด็กๆ เหล่านี้แก่พระสมณโคดมเสียทีเดียว" ดังนี้แล้ว นำไปสู่พระวิหารพร้อมด้วยหมู่ญาติเป็นอันมาก.

ความเห็นเป็นเหตุให้สัตว์ไปทุคติและสุคติ

พระศาสดาทรงตรวจดูอาสยะของคนเหล่านั้นแล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรม ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า:-

๙. อวชฺเช วชฺชมติโน วชฺเช จ อวชฺชทสฺสิโน มิจฺฉาทิฏฺิสมาทานา สตฺตา คจฺฉนฺติ ทุคฺคติํ. วชฺชญฺจ วชฺชโต ญตฺวา อวชฺชญฺจ อวชฺชโต สมฺมาทิฏิสมาทานา สตฺตา คจฺฉนฺติ สุคฺคติํ.

"สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีความรู้ว่ามีโทษในธรรมที่หาโทษมิได้ มีปกติเห็นว่าหาโทษมิได้ในธรรมที่มีโทษ เป็นผู้ถือด้วยดีซึ่งมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไปสู่ทุคติ. สัตว์ทั้งหลาย รู้ธรรมที่มีโทษ โดยความเป็นธรรมมีโทษ รู้ธรรมที่หาโทษมิได้ โดยความเป็นธรรมหาโทษมิได้ เป็นผู้ถือด้วยดีซึ่งสัมมาทิฏฐิ ย่อมไป สู่สุคติ."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อวชฺเช คือ ในสัมมาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ และในธรรมที่เป็นอุปนิสัยแห่งสัมมาทิฏฐินั้น.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 222

บทว่า วชฺชมติโน คือมีมติเกิดขึ้นว่า "นี้มีโทษ". แต่สัตว์เหล่านั้น มีปกติเห็นว่าหาโทษมิได้ในธรรมที่มีโทษ คือมิจฉาทิฏฐิมี วัตถุ ๑๐ และคือธรรมอันเป็นอุปนิสัยแห่งมิจฉาทิฏฐินั้น. อธิบายว่า สัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าผู้ถือด้วยดีซึ่งมิจฉาทิฏฐิ เพราะความที่ตนถือด้วยดีแล้วซึ่งมิจฉาทิฏฐินั่น คือความรู้ธรรมที่หาโทษมิได้ โดยความเป็นธรรมมีโทษ และรู้ธรรมที่มีโทษ โดยความเป็นธรรมหาโทษมิได้แล้วยึดถือมั่น ย่อมไปสู่ทุคติ.

ความแห่งพระคาถาที่ ๒ บัณฑิตพึงทราบโดยความตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.

ในกาลจบเทศนา คนเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ดำรงอยู่ในสรณะ ๓ แล้ว ฟังธรรมอื่นๆ อีกอยู่ ก็ได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ดังนี้แล.

เรื่องสาวกเดียรถีย์ จบ.

นิรยวรรควรรณนา จบ.

วรรคที่ ๒๒ จบ.