พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. เรื่องภิกษุผู้เคยเป็นควาญช้าง [๒๓๓]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35038
อ่าน  405

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 231

๒. เรื่องภิกษุผู้เคยเป็นควาญช้าง [๒๓๓]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 231

๒. เรื่องภิกษุผู้เคยเป็นควาญช้าง [๒๓๓]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่ง ผู้เคยเป็นนายหัตถาจารย์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น หิ เอเตหิ" เป็นต้น.

ควาญช้างฝึกช้างให้ดีได้เพราะได้นัยจากภิกษุ

ได้ยินว่า วันหนึ่ง ภิกษุนั้นเห็นนายควาญช้าง (๑) ผู้ตั้งใจว่า "เราจักฝึกช้างสักตัวหนึ่ง" แล้วไม่อาจเพื่อจะให้ช้างสำเหนียกเหตุที่ตนปรารถนาได้ อยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำอจิรวดี จึงเรียกภิกษุทั้งหลายซึ่งยืนอยู่ที่ใกล้มา แล้วกล่าวว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่านายหัตถาจารย์นี้ พึงแทงช้างตัวนี้ ในที่ชื่อโน้นไซร้, เขาพึงให้มันสำเหนียกเหตุนี้ได้โดยเร็วทีเดียว." เขาสดับคำของภิกษุนั้นแล้ว จึงทำอย่างนั้น ก็ฝึกช้างตัวนั้นให้เรียบร้อยได้ (๒). ภิกษุเหล่านั้น จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระศาสดา.

ฝึกตนดีแล้วย่อมไปสู่ที่ไม่เคยไปได้

พระศาสดารับสั่งให้เรียกภิกษุนั้นมาแล้ว ตรัสถามว่า "เขาว่าเธอ พูดอย่างนั้นจริงหรือ" เมื่อภิกษุนั้นทูลรับว่า "จริง พระเจ้าข้า" ทรงติเตียนภิกษุนั้นแล้ว ตรัสว่า "บุรุษเปล่า เธอต้องการอะไร ด้วยยานคือช้าง หรือยานอย่างอื่นที่ฝึกแล้ว เพราะชื่อว่าคนผู้สามารถเพื่อจะไปสู่สถานที่ไม่เคยไปด้วยยานเหล่านี้ หามีไม่, แต่ผู้มีตนฝึกดีแล้วอาจไปสู่สถานที่ไม่เคยไปได้ เพราะฉะนั้น เธอจงฝึกตนเท่านั้น, เธอจะต้องการอะไรด้วยการฝึกสัตว์พาหนะเหล่านั้น" แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า:-


(๑) หตฺถิทมกํ ซึ่งบุคคลผู้ฝึกซึ่งช้าง.

(๒) สทนฺตํ ให้เป็นสัตว์ที่ฝึกดีแล้ว.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 232

๒. น หิ เอเตหิ ยาเนหิ คจฺเฉยฺย อคตํ ทิสํ ยถาตฺตนา สุทนฺเตน ทนฺโต ทนฺเตน คจฺฉติ.

ก็บุคคลพึงไปสู่ทิศที่ยังไม่เคยไปด้วยยานเหล่านี้ เหมือนคนผู้ฝึก (ตน) แล้ว ไปสู่ทิศที่ยังไม่เคยไป ด้วยตนที่ฝึกแล้ว ฝึกดีแล้วฉะนั้นหามิได้."

แก้อรรถ

พระคาถานั้น มีความว่า ก็บุคคลไรๆ พึงไปสู่ทิศ คือพระนิพพาน ที่นับว่ายังไม่ได้ไป เพราะความเป็นทิศที่ตนยังไม่เคยไป แม้โดยที่สุด ด้วยความฝัน ด้วยยานทั้งหลาย มียานคือช้างเป็นต้นเหล่านี้ได้, เหมือนบุคคลผู้ฝึก (ตน) แล้ว คือผู้หมดพยศ มีปัญญา ไปสู่ทิศที่ยังไม่เคยไปแล้วนั้น คือบรรลุถึงภูมิแห่งท่านที่ฝึก (ตน) แล้ว ด้วยตนที่ฝึกแล้ว ด้วยการฝึกอินทรีย์ในส่วนเบื้องต้น ทรมานดีแล้ว ด้วยอริยมรรคภาวนา ในส่วนเบื้องหลังฉะนั้นก็หามิได้ เพราะฉะนั้น การฝึกตนเท่านั้น จึงประเสริฐสำหรับเธอ.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องภิกษุผู้เคยเป็นควาญช้าง จบ.