พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. เรื่องบุตรของพราหมณ์เฒ่า [๒๓๔]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35039
อ่าน  470

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 233

๓. เรื่องบุตรของพราหมณ์เฒ่า [๒๓๔]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 233

๓. เรื่องบุตรของพราหมณ์เฒ่า [๒๓๔]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภพวกบุตรของพราหมณ์เฒ่าคนใดคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ธนปาลโก" เป็นต้น.

บุตรบำรุงบิดาเพราะอยากได้สมบัติ

ได้ยินว่า พราหมณ์คนหนึ่งในกรุงสาวัตถี มีสมบัติประมาณ ๘ แสน ทำอาวาหมงคลแก่บุตร ๔ คน ผู้เจริญแล้ว ได้ให้ทรัพย์ ๔ แสน. ต่อมา เมื่อพราหมณีของเขาทำกาละ (ตาย) ไปแล้ว พวกบุตรจึงปรึกษาพร้อมกันว่า "หากพ่อของเรานี้จักนำพราหมณีคนอื่นมาไซร้, ด้วยอำนาจแห่งบุตรทั้งหลาย ที่เกิดในท้องของนาง ตระกูลก็จักทำลาย เอาเถิดพวกเรา (ช่วยกัน) สงเคราะห์ท่าน." พวกเขาบำรุงพราหมณ์เฒ่านั้น อยู่ด้วยปัจจัยมีอาหารเครื่องนุ่งห่มเป็นต้นอันประณีต ทำกิจมีการนวดฟั้นมือและเท้าเป็นต้นอยู่ ครั้นบำรุงแล้ว วันหนึ่ง เมื่อพราหมณ์เฒ่านั้น นอนหลับกลางวันแล้วลุกขึ้นแล้ว, จึงนวดฟั้นมือและเท้าพลางพูดถึงโทษในฆราวาสต่างๆ กันแล้ว วิงวอนว่า พวกผมจักทะนุบำรุงคุณพ่อโดยทำนองนี้ตลอดชีพ, ขอคุณพ่อโปรดให้แม้ทรัพย์ที่ยังเหลือแก่พวกผมเถิด." พราหมณ์ให้ทรัพย์แก่บุตรอีกคนละแสน แบ่งเครื่องอุปโภคทั้งหมดให้ เป็น ๔ ส่วน มอบให้ เหลือไว้เพียงผ้านุ่งห่มของตน. บุตรคนหัวปีทะนุ บำรุงพราหมณ์นั้น ๒ - ๓ วัน.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 234

พราหมณ์เที่ยวขอทานเขากิน

ต่อมาวันหนึ่ง ลูกสะใภ้ยืนอยู่ที่ซุ้มประตู พูดกับพราหมณ์เฒ่านั้น ผู้อาบน้ำแล้วเดินมาอยู่ อย่างนี้ว่า "ทรัพย์ ๑๐๐ หรือ ๑,๐๐๐ ที่คุณพ่อ ให้แก่บุตรคนหัวปี ยิ่งกว่า (บุตรทั้งหลาย) มีอยู่หรือ, คุณพ่อให้ทรัพย์แก่บุตรทุกคน คนละ ๒ แสนมิใช่หรือ ไฉนคุณพ่อจึงไม่รู้จักทางแห่งเรือนของบุตรที่เหลือเล่า"

แม้เขาคุกคามนางว่า "อีหญิงถ่อย มึงจงฉิบหาย," โกรธแล้ว ได้ไปยังเรือนของบุตรคนอื่น, โดยกาลล่วงไป ๒ - ๓ วัน เขาถูกลูกสะใภ้ อื่นให้เตลิดไปจากเรือนแม้นั้น ด้วยอุบายนี้เหมือนกันแล (ได้ไปยังเรือนของบุตรคนอื่น) เมื่อไม่ได้การเข้าไปแม้ในเรือนหลังหนึ่งอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ จึงบวชเป็นชีปะขาว เที่ยวภิกษาอยู่ โดยกาลล่วงไป ทรุดโทรมลงเพราะชรา มีสรีระเศร้าหมองเพราะโภชนะไม่ดีนอนลำบาก เที่ยวภิกษาอยู่ (กลับ) มา ทอดหลังลงนอน ก้าวลงสู่ความหลับแล้ว ลุกขึ้น นั่งมองดูตน ซึ่งมีความกระวนกระวายระงับแล้ว ไม่เห็นที่พึ่งของตนในบุตรทั้งหลาย จึงคิดว่า "ได้ยินว่า พระสมณโคดมไม่สยิ้วพระพักตร์ มีพระพักตร์เบิกบาน (๑) ตรัสถ้อยคำไพเราะ ทรงฉลาดในการต้อนรับ, เราอาจเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้ว ได้รับการต้อนรับ." เขาจัดแจงผ้านุ่ง ผ้าห่มเรียบร้อยแล้ว หยิบภาชนะภิกษา ถือไม้เท้า ได้ไปยังสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า.

สมจริง แม้พระธรรมสังคาหกาจารย์ทั้งหลาย ก็กล่าวคำนี้ไว้ว่า "ครั้งนั้นแล พราหมณ์มหาศาลคนใดคนหนึ่ง ผู้เศร้าหมอง มีผ้าห่ม


(๑) อุตฺตานมุโข มีพระพักตร์หงาย.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 235

อันเศร้าหมอง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยสถานที่พระองค์ประทับอยู่."

พระศาสดา ทรงทำปฏิสันถารกับเขาผู้นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ตรัสคำนี้ว่า "พราหมณ์ เพราะอะไรหนอแล ท่านจึงเป็นผู้เศร้าหมอง มีผ้าห่มอันเศร้าหมอง"

พราหมณ์ทูลว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์มีบุตรอยู่ ๔ คนในโลกนี้, บุตรเหล่านั้น ถูกภรรยายุยง จึงขับข้าพระองค์ออกเสียจากเรือน."

พระศาสดาให้พราหมณ์เรียนคาถา

พระศาสดาตรัสว่า "พราหมณ์ ถ้ากระนั้น ท่านจงเรียนคาถาเหล่านี้ เมื่อหมู่มหาชนประชุมกันในสภา, เมื่อบุตรทั้งหลาย (ของท่าน) นั่งแล้ว จงกล่าวว่า:-

"ข้าพเจ้าจักเพลิดเพลินด้วยบุตรที่เกิดแล้วเหล่าใด, และปรารถนาความเจริญแก่บุตรเหล่าใด, บุตร เหล่านั้นถูกภรรยายุยง (๑) ย่อมรุกรานข้าพเจ้าเหมือนสุนัขรุกรานสุกรฉะนั้น. ได้ยินว่าบุตรเหล่านั้นเป็นอสัตบุรุษ เลวทราม เรียกข้าพเจ้าว่า "พ่อ พ่อ" พวกเขาคือรากษส (มาแล้ว) โดยรูปเพียงดังบุตร ย่อมทอดทิ้งข้าพเจ้าผู้ถึงความเสื่อม (แก่) บิดาแม้ของเหล่าพาลชน เป็นคนแก่ ต้องเที่ยวขอทานที่เรือนของชนเหล่าอื่น เหมือนม้าที่แก่ใช้การงานไม่ได้ ถูก


(๑) บุตรเหล่านั้นคบคิดกับภรรยา ก็ว่า.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 236

เขาพรากไปจากอาหารฉะนั้น. นัยว่า ไม้เท้าของข้าพเจ้าแลยังประเสริฐกว่า, บุตรทั้งหลายไม่เชื่อฟังจะประเสริฐอะไร. (เพราะ) ไม้เท้ากันโคดุก็ได้, อนึ่ง กันสุนัขก็ได้, มีไว้ (ยัน) ข้างหน้าเวลามืดก็ได้, (ใช้) หยั่งลงไปในที่ลึกก็ได้, เพราะอานุภาพแห่งไม้เท้า คนแก่เช่นข้าพเจ้า พลาดแล้วก็กลับยืนขึ้น (อีกได้)."

พราหมณ์ได้อุบายดี

เขาเรียนคาถาเหล่านั้น ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เมื่อพวกบุตรประดับประดาด้วยสรรพาลังการแล้ว ย่างเข้าไปสู่สภานั้น นั่งเหนืออาสนะที่ควรแก่ค่ามาก ในท่ามกลางพวกพราหมณ์ ในวันประชุม พราหมณ์เห็นปานนั้น, ตกลงใจว่า "กาลนี้เป็นกาลของเราแล้ว" เข้าไปสู่ท่ามกลางสภา ชูมือขึ้นแล้วกล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าประสงค์ จะกล่าวคาถาแก่ท่านทั้งหลาย, ท่านทั้งหลายจักฟังไหม" เมื่อพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวว่า "กล่าวเถิดๆ พราหมณ์ พวกเราจักฟัง," ได้ยืนกล่าวเทียว.

ก็โดยสมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีวัตรอยู่อย่างนี้ว่า "บุตรใดใช้สอยทรัพย์ที่เป็นของมารดาบิดา (แต่) ไม่เลี้ยงมารดาบิดา. บุตรนั้นต้องถูกฆ่า." เพราะฉะนั้น บุตรของพราหมณ์เหล่านั้น จึงฟุบลงแทบเท้าของบิดา วิงวอนว่า "คุณพ่อขอรับ ขอคุณพ่อโปรดให้ชีวิตแก่พวกกระผมเถิด." เพราะความที่หทัยของบิดาเป็นธรรมชาติอ่อนโยน เขาจึงกล่าวว่า "ท่าน

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 237

ผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย อย่าให้บุตรน้อยทั้งหลายของข้าพเจ้าพินาศเสียเลย พวกเขาจักเลี้ยงดูข้าพเจ้า."

ทันใดนั้น มนุษย์ทั้งหลาย จึงกล่าวกะพวกบุตรของเขาว่า "ท่านผู้เจริญ ตั้งแต่วันนี้ไป หากพวกท่านจักไม่ประคับประคองบิดาให้ดีไซร้, พวกเราจักฆ่าพวกท่านเสีย." บุตรเหล่านั้นกลัวแล้ว เชิญบิดาให้นั่งบนตั่ง ยกขึ้นนำไปสู่เรือนด้วยตนเอง ทาสรีระด้วยน้ำมัน ขัดสี (ให้สะอาด) ใช้วัตถุมีกลิ่นหอมเป็นต้นชโลมแล้ว ให้เรียกพราหมณีทั้งหลายมาแล้ว สั่งว่า "ตั้งแต่วันนี้ไป เธอทั้งหลายจงประคับประคองบิดาของพวกฉัน ให้ดี, ถ้าเธอทั้งหลายจักถึงความประมาทแล้วไซร้, พวกฉันจักติเตียน เธอทั้งหลาย" แล้วให้บริโภคโภชนะอันประณีต.

พราหมณ์คิดถึงอุปการคุณของพระศาสดา

พราหมณ์อาศัยโภชนะดีและการนอนสบาย โดยกาลล่วงไป ๒ - ๓ วัน ก็เกิดมีกำลังมีอินทรีย์เปล่งปลั่ง มองดูอัตภาพแล้วดำริว่า "สมบัตินี้ เราได้เพราะอาศัยพระสมณโคดม" ถือเอาผ้าคู่หนึ่งเพื่อประโยชน์แก่ความเป็นบรรณาการ ไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า มีปฏิสันถารอันพระองค์ทรงทำแล้ว นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง วางผ้าคู่นั้นลงแทบบาทมูลของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กราบทูลว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ย่อมแสวงหาทรัพย์เป็นส่วนแห่งอาจารย์ เพื่ออาจารย์, ขอพระโคดมผู้เจริญ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของข้าพระองค์ โปรดรับทรัพย์ เป็นส่วนอาจารย์." พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับผ้าคู่นั้น เพื่ออนุเคราะห์เขาแล้ว ทรงแสดงธรรม.

ในกาลจบเทศนา พราหมณ์ดำรงอยู่ในสรณะแล้ว จึงกราบทูล

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 238

อย่างนี้ว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ถวายธุวภัต ๒ ที่ จากธุวภัต ๔ ที่ ซึ่งบุตรทั้งหลายให้แก่ข้าพระองค์นั้น แด่พระองค์."

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสว่า "งามละ พราหมณ์, แต่เราจักไปสู่ สถานที่ชอบใจเท่านั้น" แล้วทรงส่งเขาไป.

พราหมณ์ไปถึงเรือนแล้ว บอกพวกบุตรว่า "พ่อทั้งหลาย พระสมณโคดมเป็นสหายของพ่อ, พ่อถวายธุวภัต ๒ ที่แก่พระองค์, เจ้าทั้งหลายอย่าละเลยในเมื่อพระองค์เสด็จมาถึงนะ," บุตรทั้งหลายรับว่า "ดีละ คุณพ่อ."

พระศาสดาโปรดบุตรพราหมณ์

วันรุ่งขึ้น พระศาสดาเสด็จไปบิณฑบาต ได้เสด็จไปถึงประตูเรือนแห่งบุตรคนหัวปี (ของพราหมณ์) เขาเห็นพระศาสดาแล้ว รับบาตร เชิญเสด็จให้เข้าไปสู่เรือน เชิญให้ประทับนั่ง ณ บัลลังก์ซึ่งควรแก่ค่ามากแล้ว ได้ถวายโภชนะอันประณีต. พระศาสดาได้เสด็จไปสู่เรือนของบุตรพราหมณ์ ทั้งสิ้นตามลำดับ คือ วันรุ่งขึ้น ของบุตรนอกนี้. วันรุ่งขึ้น ของบุตรนอกนี้. พวกเขาทุกคนได้ทำสักการะอย่างนั้นเหมือนกัน.

ต่อมาวันหนึ่ง บุตรคนหัวปี เมื่อการมงคลปรากฏเฉพาะแล้วจึงพูดกะบิดาว่า "คุณพ่อขอรับ พวกกระผมจะให้มงคลแก่ใคร"

พราหมณ์, พ่อไม่รู้จักคนอื่น, พระสมณโคดมเป็นสหายซึ่งพ่อ มิใช่หรือ

บุตรคนหัวปี. ถ้ากระนั้น คุณพ่อโปรดนิมนต์พระองค์พร้อมกับ ภิกษุ ๕๐๐ รูป เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้.

พราหมณ์ได้ทำอย่างนั้น. วันรุ่งขึ้น พระศาสดาพร้อมด้วยบริวาร

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 239

ได้เสด็จไปยังบ้านของเขา. เขานิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้นั่งในเรือนซึ่งฉาบทาด้วยโคมัยสด ประดับด้วยสรรพาลังการแล้ว อังคาสด้วยมธุปายาสข้น และด้วยขาทนียะ อันประณีต.

ก็ในระหว่างแห่งภัตนั่นแหละ บุตร ๔ คนของพราหมณ์นั่งในสำนักพระศาสดา กราบทูลว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลาย ประคับประคองบิดาของพวกข้าพระองค์ ไม่ประมาท, โปรดทอดพระเนตร อัตภาพของท่านเถิด."

บำรุงมารดาบิดาเป็นมงคล

พระศาสดาตรัสว่า "ท่านทั้งหลายทำกรรมงามแล้ว, ชื่อว่าการเลี้ยง มารดาบิดา โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย (เคย) ประพฤติมาแล้วเหมือนกัน" แล้วตรัสมาตุโปสกนาคชาดก (๑) ในเอกาทสนิบาตนี้โดยพิสดารว่า "เพราะช้างนั้นหลีกไปเสีย ต้นอ้อยช้างและไม้โมกมันจึงงอกขึ้นไสว" ดังนี้เป็นต้น แล้วได้ทรงภาษิตพระคาถานี้ว่า :-

๓. ธนปาลโก นาม กุญฺชโร กฏุกปฺปเภทโน ทุนฺนิวารโย พทฺโธ กพลํ น ภุญฺชติ สุมรติ นาควนสฺส กุญฺชโร.

"กุญชร นามว่า ธนปาลกะ ตกมันจัด ห้ามได้ยาก ถูกขังไว้ ไม่บริโภคฟ่อนหญ้า กุญชรระลึกถึง (แต่) นาควัน (๒)."


(๑) ขุ. ชา. ๒๗/๓๐๓. อรรถกถา. ๖/๑.

(๒) สุมรติ เป็นอีกรูปหนึ่ง ของสรติ. นาควนสฺส แปลกันว่า ซึ่งป่าแห่งไม้กากะทิง เป็นฉัฏฐีวิภัตติลงในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ..

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 240

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธนปาลโก นาม นั่นเป็นชื่อของช้างที่พระเจ้ากาสิกราช ทรงส่งนายหัตถาจารย์ไปให้จับในนาควันอันรื่นรมย์ ในครั้งนั้น.

บทว่า กฏุกปฺปเภทโน ความว่า ตกมันจัด. อันที่จริง ในกาล เป็นที่ตกมันของช้างทั้งหลาย หมวกหูทั้ง ๒ ย่อมแตกเยิ้ม, แม้ตามปกติในกาลนั้น ช้างทั้งหลาย ย่อมไม่นำพาซึ่งขอ ปฏัก หรือโตมร ย่อมเป็นสัตว์ดุร้าย, แต่ช้างธนปาลกะนั้น ดุร้ายนักทีเดียว เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า กฏุกปฺปเภทโน ทุนฺนิวารโย.

บาทพระคาถาว่า พทฺโธ กพลํ น ภุญฺชติ ความว่า ช้างธนปาลกะนั้น มิได้ถูกตกปลอกไว้, แต่ถูกเขานำไปสู่โรงช้าง ให้แวดวงด้วยม่านอันวิจิตรแล้ว พักไว้บนพื้นที่ซึ่งทำการประพรมด้วยของหอม มีเพดาน วิจิตรดาดไว้ ณ เบื้องบน แม้อันพระราชาให้บำรุงด้วยโภชนะมีรสเลิศต่างๆ ควรแก่พระราชา ก็มิไยดีจะบริโภคอะไรๆ. อันคำว่า "พทฺโธ กพลํ น ภุญฺชติ" (นี้) พระศาสดาตรัสหมายถึงอาการเพียงช้างถูกส่งเข้าไปสู่โรงช้าง.

สองบทว่า สุมรติ นาควนสฺส ความว่า ช้างธนปาลกะนั้นระลึกถึงนาควัน ซึ่งเป็นที่อยู่อันน่ารื่นรมย์แท้หามิได้, ก็มารดาของช้างนั้น ได้เป็นสัตว์ถึงทุกข์เพราะพรากจากบุตรในป่า, ช้างนั้นบำเพ็ญมาตาปิตุอุปัฏฐานธรรมนั่นแล. ดำริว่า "ประโยชน์อะไรของเราด้วยโภชนะนี้" ระลึกถึงมาตาปิตุอุปัฏฐานธรรม ซึ่งประกอบด้วยธรรมเท่านั้น ก็ช้างนั้น

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 241

อยู่ในนาควันนั้นนั่นแล อาจบำเพ็ญมาตาปิตุอุปัฏฐานธรรมนั้นได้, เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า "สุมรติ นาควนสฺส กุญฺชโร"

เมื่อพระศาสดา ครั้นทรงนำบุรพจริยาของพระองค์นี้มาตรัสอยู่นั่นแล บุตรของพราหมณ์แม้ทั้งหมด ยังอัสสุธารให้ไหลแล้ว มีหทัยอ่อน เงี่ยโสตลงสดับแล้ว. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบถึงธรรมเป็นที่สบายของพวกเขาแล้ว จึงทรงแสดงธรรมประกาศสัจจะทั้งหลาย.

ในกาลจบเทศนา พราหมณ์พร้อมกับบุตรและลูกสะใภ้ทั้งหลาย ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว ดังนี้แล.

เรื่องบุตรของพราหมณ์เฒ่า จบ.