พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. เรื่องช้างชื่อปาเวรกะ [๒๓๗]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35042
อ่าน  462

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 252

๖. เรื่องช้างชื่อปาเวรกะ [๒๓๗]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 252

๖. เรื่องช้างชื่อปาเวรกะ [๒๓๗]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภช้างชื่อปาเวรกะของพระเจ้าโกศล ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อปฺปมาทรตา" เป็นต้น.

ช้างของพระเจ้าโกศลติดหล่ม

ดังได้สดับมา ช้างนั้นในกาลเป็นหนุ่ม เป็นสัตว์มีกำลังมาก โดยสมัยอื่นอีก ถูกกำลังแห่งลมซึ่งเกิดขึ้นเพราะชราตัดทอน ลงไปสู่สระใหญ่สระหนึ่ง ติดอยู่ในหล่มแล้ว ไม่ได้อาจเพื่อจะขึ้นได้. มหาชนเห็นช้างนั้นแล้ว จึงสนทนากันขึ้นว่า "ช้างตัวขนาดนี้ ยังหมดแรงได้เช่นนี้." พระราชาทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ทรงบังคับนายหัตถาจารย์ว่า "เธอจงไปจงดึงช้างนั้นให้ขึ้นจากหล่ม." เขาไปแล้วแสดงการรบขึ้นที่นั่น ให้ตีกลองรบขึ้นแล้ว. ช้างซึ่งเป็นเชื้อชาติแห่งสัตว์มีมานะ ลุกขึ้นโดยเร็ว ดำรงอยู่บนบกได้. ภิกษุทั้งหลายเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงกราบทูลแด่พระศาสดา. พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ช้างตัวนั้นถอนตนขึ้นจากหล่มคือเปือกตมตามธรรมดา ส่วนเธอทั้งหลาย แล่นลงแล้วในหล่มคือกิเลส เพราะฉะนั้น แม้เธอทั้งหลายจงเริ่มตั้งความเพียรโดยแยบคายแล้ว ถอนตนขึ้นจากหล่มคือกิเลสนั้นเถิด" แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า:-

๖. อปฺปมาทรตา โหถ สจิตฺตมนุกฺขถ ทุคฺคา อุทฺธรถตฺตานํ ปงฺเก สนฺโนว กุญฺชโร.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 253

"เธอทั้งหลาย จงยินดีในความไม่ประมาท, จงตามรักษาจิตของตน, จงถอนตนขึ้นจากหล่ม ประหนึ่งช้างที่จมลงในเปือกตม ถอนตนขึ้นได้ฉะนั้น."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปมาทรตา ความว่า ท่านทั้งหลายจงยินดียิ่งในความไม่อยู่ปราศจากสติ.

บทว่า สจิตฺตํ ความว่า จงรักษาจิตของตนโดยอาการที่มันจะไม่ล่วงไปในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้น.

บทว่า สนฺโน ความว่า ช้างเชือกนั้นจมลงไปแล้วในเปือกตมแล้วพยายามด้วยเท้าหน้าและเท้าหลัง ถอนตนขึ้นพ้นจากเปือกตม ยืนอยู่บนบกได้ ฉันใด, แม้ท่านทั้งหลายก็จงถอนตนขึ้นจากหล่มคือกิเลส คือยังตนให้ดำรงอยู่บนบกคือพระนิพพาน ฉันนั้นเถิด.

ในกาลจบเทศนา ภิกษุเหล่านั้นดำรงอยู่ในพระอรหัตผลแล้วแล.

เรื่องช้างชื่อปาเวรกะ จบ