พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. เรื่องวิพภันตกภิกษุ [๒๔๒]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35048
อ่าน  466

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 290

๓. เรื่องวิพภันตกภิกษุ [๒๔๒]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 290

๓. เรื่องวิพภันตกภิกษุ [๒๔๒]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภวิพภันตกภิกษุ (๑) รูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โย นิพฺพนฏฺโ" เป็นต้น.

เธอสึกออกไปทำโจรกรรมเลี้ยงชีพ

ได้ยินว่า ภิกษุรูปหนึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของพระมหากัสสปเถระ แม้ยังฌาน ๔ ให้เกิดขึ้นแล้ว เห็นรูปารมณ์อันเป็นวิสภาค (ข้าศึก) ในเรือนของนายช่างทองผู้เป็นลุงของตน มีจิตปฏิพัทธ์ในรูปารมณ์นั้น สึกแล้ว.

ต่อมา เพราะความเป็นผู้เกียจคร้าน พวกมนุษย์จึงไล่เขาผู้ไม่ปรารถนาจะทำการงาน ออกเสียจากเรือน. เขาเที่ยวเลี้ยงชีพอยู่ด้วยโจรกรรม เพราะการคลุกคลีด้วยมิตรชั่ว.

ต่อมาในวันหนึ่ง พวกราชบุรุษจับเขาได้แล้ว มัดแขนไพล่หลัง ผูกอย่างมั่นคง เฆี่ยนด้วยหวายทุกๆ ทาง ๔ แพร่ง แล้วนำไปสู่ตะแลงแกง.

พระเถระ เข้าไปเพื่อเที่ยวบิณฑบาต เห็นเขาถูกพวกราชบุรุษนำ ไปโดยประตูด้านทักษิณ จึงขอให้พวกราชบุรุษผ่อนเครื่องจองจำให้หย่อน แล้วพูดว่า "เธอจงระลึกถึงกัมมัฏฐานที่เธอเคยสั่งสมแล้วในก่อนอีก." เขาได้ความเกิดขึ้นแห่งสติเพราะโอวาทนั้นแล้ว ได้ยังจตุตถฌานให้เกิดขึ้นอีก.

ลำดับนั้น พวกราชบุรุษนำเขาไปสู่ตะแลงแกง ให้เขานอนหงาย บนหลาว ด้วยคิดว่า "พวกเราจักฆ่าเสีย." เขาไม่กลัว ไม่สะดุ้ง.


(๑) ภิกษุผู้หมุนไปผิด (สึก).

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 291

พวกมนุษย์ประหลาดใจเพราะเห็นเขาไม่กลัว

ลำดับนั้น มนุษย์ทั้งหลายผู้ยืนอยู่ในทิศาภาคนั้นๆ แม้เงือดเงื้อเครื่องประหารทั้งหลายมีดาบ หอก และโตมร (๑) เป็นต้นแก่เขา เห็นเขามิได้สะดุ้งเลย ต่างพูดว่า "ผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านจงดูบุรุษคนนี้เถิด, เขาไม่หวั่นไหว ไม่สะทกสะท้านในท่ามกลางแห่งบุรุษผู้มีอาวุธในมือ แม้หลายร้อยคน, โอ! น่าอัศจรรย์จริง" ดังนี้แล้วเกิดมีความอัศจรรย์และประหลาดใจ บันลือลั่นสนั่น (ไป) กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา.

พระราชาทรงสดับเหตุนั้นแล้ว ตรัสว่า "พวกท่านจงปล่อยเขาเสียเถิด" ดังนี้แล้ว เสด็จไปแม้ยังสำนักพระศาสดา กราบทูลเนื้อความนั้นแล้ว.

พระศาสดา ทรงเปล่งพระโอภาสไปแล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรม แก่เขา จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-

๓. โย นิพฺพนฏฺโ วนาธิมุตฺโต วนมุตฺโต วนเมว ธาวติ ตํ ปุคฺคลเมว ปสฺสถ มุตฺโต พนฺธนเมว ธาวติ.

" บุคคลใด มีอาลัยดุจหมู่ไม้อันตั้งอยู่ในป่าออกแล้ว น้อมไปในป่า (คือตปธรรม) พ้นจากป่าแล้ว ยังแล่นไปสู่ป่าตามเดิม, ท่านทั้งหลายจงดูบุคคลนั้น นั่นแล เขาพ้นแล้ว (จากเครื่องผูก) ยังแล่นไปสู่เครื่องผูกตามเดิม."


(๑) โตมร หอกซัด.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 292

แก้อรรถ

เนื้อความแห่งพระคาถานั้นว่า "บุคคลใด ชื่อว่ามีอาลัยดุจหมู่ไม้ อันตั้งอยู่ในป่าออกแล้ว เพราะความที่ตนละทิ้งหมู่ไม้อันตั้งอยู่ในป่า กล่าวคืออาลัยในความเป็นคฤหัสถ์แล้วบวช น้อมไปในป่าคือตปะ กล่าวคือวิหารธรรม เป็นผู้พ้นจากป่าคือตัณหา ซึ่งจัดเป็นเครื่องผูกคือการครองเรือนแล้ว ยังแล่นไปหาป่าคือตัณหานั่นแหละ อันเป็นเครื่องผูกคือ การครองเรือนนั้นอีก, ท่านทั้งหลายจงดูบุคคลนั้นอย่างนั้น; บุคคลนั่น พ้นจากเครื่องผูกคือการครองเรือนแล้ว ยังแล่นไปสู่เครื่องผูกคือการครองเรือนอีกทีเดียว.

เขานั่งฟังธรรมเทศนานี้ อยู่บนปลายหลาว ในระหว่างพวกราชบุรุษนั่นแล เริ่มตั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแล้ว ยก (จิต) ขึ้นสู่ไตรลักษณ์ พิจารณาอยู่ซึ่งสังขารทั้งหลายบรรลุโสดาปัตติผลแล้วเสวยสุข เกิดแต่สมาบัติอยู่ เหาะขึ้นสู่เวหาสมาสู่สำนักพระศาสดาทางอากาศนั่นเอง ถวายบังคมพระศาสดาแล้วบวช ได้บรรลุพระอรหัต ณ ท่ามกลางบริษัท พร้อมด้วยพระราชานั่นเอง ดังนี้แล.

เรื่องวิพภันตกภิกษุ จบ.