พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. เรื่องพระนางเขมา [๒๔๔]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35050
อ่าน  628

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 298

๕. เรื่องพระนางเขมา [๒๔๔]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 298

๕. เรื่องพระนางเขมา [๒๔๔]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพระอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร พระนามว่าเขมา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "เย ราครตฺตา" เป็นต้น.

หนามบ่งหนาม

ได้สดับมา พระนางเขมานั้นตั้งความปรารถนาไว้แทบบาทมูลของพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ได้เป็นผู้มีพระรูปงดงามน่าเลื่อมใสอย่างเหลือเกิน. ก็พระนางได้ทรงสดับว่า "ทราบว่า พระศาสดาตรัสติโทษของรูป" จึงไม่ปรารถนาจะเสด็จไปยังสำนักของพระศาสดา. พระราชาทรงทราบความที่พระอัครมเหสีนั้นมัวเมาอยู่ในรูป จึงตรัสให้พวกนักกวีแต่งเพลงขับเกี่ยวไปในทางพรรณนาพระเวฬุวัน แล้วก็รับสั่งให้พระราชทานแก่พวกนักฟ้อนเป็นต้น. เมื่อนักฟ้อนเหล่านั้นขับเพลงเหล่านั้นอยู่ พระนางทรงสดับแล้ว พระเวฬุวันได้เป็นประหนึ่งไม่เคยทอดพระเนตรและทรงสดับแล้ว. พระนางตรัสถามว่า "พวกท่านขับหมายถึงอุทยานแห่งไหน" เมื่อพวกนักขับทูลว่า "หมายอุทยานเวฬุวันของพระองค์ พระเทวี" ก็ได้ทรงปรารถนาจะเสด็จไปพระอุทยาน. พระศาสดาทรงทราบการเสด็จมาของพระนาง เมื่อประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัทแล จึงทรงนิรมิตหญิงรูปงาม ยืนถือพัดก้านตาลพัดอยู่ที่ข้างพระองค์

ฝ่ายพระนางเขมาเทวี เสด็จเข้าไปอยู่แล ทอดพระเนตรเห็นหญิงนั้น จึงทรงดำริว่า "ชนทั้งหลาย ย่อมพูดกันว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 299

ตรัสโทษของรูป, ก็หญิงนี้ ยืนพัดอยู่ในสำนักของพระองค์, เราไม่เข้าถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยวของหญิงนี้, รูปหญิงเช่นนี้ เราไม่เคยเห็น, ชนทั้งหลาย เห็นจะกล่าวตู่พระศาสดา ด้วยคำไม่จริง" ดังนี้แล้ว ก็มิใส่ใจถึงเสียงพระดำรัสของพระตถาคต ได้ประทับยืนทอดพระเนตรดูหญิงนั้นนั่นแล.

ในร่างกายนี้ไม่มีสาระ

พระศาสดาทรงทราบเนื้อความที่พระนางมีมานะจัดเกิดขึ้นในรูปนั้น เมื่อจะทรงแสดงรูปนั้นด้วยอำนาจวัยมีปฐมวัยเป็นต้น จึงทรงแสดงทำให้เหลือเพียงกระดูกในที่สุด โดยนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้วในหนหลังนั้นแล.

พระนางเขมาพอทอดพระเนตรเห็นรูปนั้น จึงทรงดำริว่า "รูปนั้น แม้เห็นปานนี้ ก็ถึงความสิ้นความเสื่อมไปโดยครู่เดียวเท่านั้น, สาระใน รูปนี้ ไม่มีหนอ"

พระศาสดาทรงตรวจดูวาระจิตของพระนางเขมานั้นแล้ว จึงตรัสว่า "เขมา เธอคิดว่า สาระมีอยู่ในรูปนี้หรือ เธอจงดูความที่รูปนั้นหาสาระมิได้ ในบัดนี้" แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า :-

"เขมา เธอจงดูร่างกายอันอาดูร ไม่สะอาดเน่าเปื่อย ไหลออกทั้งข้างบน ไหลออกทั้งข้างล่าง อันคนพาลทั้งหลาย ปรารถนายิ่งนัก"

ในกาลจบพระคาถา พระนางดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะพระนางว่า "เขมา สัตว์เหล่านี้ เยิ้มอยู่ด้วยราคะ ร้อนอยู่ด้วยโทสะ งงงวยอยู่ด้วยโมหะ จึงไม่อาจเพื่อก้าวล่วงกระแสตัณหาของตนไปได้ ต้องข้องอยู่ในกระแสตัณหานั้นนั่นเอง" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 300

๕. เย ราครตฺตานุปตนฺติ โสตํ สยํ กตํ มกฺกฏโกว ชาลํ เอตมฺปิ เฉตฺวาน วชนฺติ ธีรา อนเปกฺขิโน สพฺพทุกฺขํ ปหาย.

"สัตว์ผู้กำหนัดแล้วด้วยราคะ ย่อมตกไปสู่กระแสตัณหา เหมือนแมลงมุมตกไปยังใยที่ตัวทำไว้เองฉะนั้น. ธีรชนทั้งหลาย ตัดกระแสตัณหาแม้นั้น แล้วเป็นผู้หมดห่วงใย ละเว้นทุกข์ทั้งปวงไป"

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า มกฺกฏโกว ชาลํ ความว่า เหมือนอย่างว่า แมลงมุมทำข่ายคือใยแล้ว ก็นอนอยู่ในศูนย์ใยในที่ท่ามกลาง แล้วก็รีบวิ่งไปฆ่าตั๊กแตนหรือตัวแมลง ที่ตกไปในริมสายใย สูบกินรสของมันแล้ว ก็กลับมานอนอยู่ในที่นั้นอย่างเดิมฉันใด สัตว์ทั้งหลายเหล่าใด ผู้กำหนัดแล้วด้วยราคะ (๑) โกรธแล้วด้วยโทสะ (๒) หลงแล้วด้วยโมหะ, สัตว์เหล่านั้นย่อมตกไปสู่กระแสตัณหาที่ตัวทำไว้เอง คือเขาไม่อาจเพื่อก้าวล่วงกระแสตัณหานั้นไปได้ ฉันนั้นเหมือนกัน กระแสตัณหา บุคคลล่วงได้ยากอย่างนี้.

บาทพระคาถาว่า เอตมฺปิ เฉตฺวาน วชนฺติ ธีรา ความว่า บัณฑิตทั้งหลาย ตัดเครื่องผูกนั่นแล้ว เป็นผู้หมดห่วงใย คือไม่มีอาลัย ละทุกขทั้งปวงด้วยอรหัตตมรรคแล้ว ก็เว้น คือไป.


(๑) ผู้อันราคะย้อมแล้ว.

(๒) อันโทสะประทุษร้ายแล้ว.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 301

ในกาลจบเทศนา พระนางเขมาทรงดำรงอยู่ในพระอรหัต. เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่มหาชนแล้ว. พระศาสดาตรัสกะพระราชาว่า "มหาบพิตร พระนางเขมาจะบวชหรือปรินิพพาน จึงควร"

พระราชา. โปรดให้พระนางบวชเถิด พระเจ้าข้า, อย่าเลยด้วยการปรินิพพาน.

พระนางบรรพชาแล้ว ก็ได้เป็นสาวิกาผู้เลิศ ดังนี้แล.

เรื่องพระนางเขมา จบ.