พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๑. เรื่องเศรษฐีผู้ไม่มีบุตร [๒๕๐]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35056
อ่าน  456

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 329

๑๑. เรื่องเศรษฐีผู้ไม่บุตร [๒๕๐]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 329

๑๑. เรื่องเศรษฐีผู้ไม่บุตร [๒๕๐]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภเศรษฐีผู้ชื่อว่า อปุตตกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "หนนฺติ โภคา ทุมฺเมธํ" เป็นต้น.

ประวัติครั้งยังมีชีวิตของอปุตตกเศรษฐี

ดังได้สดับมา พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสดับการทำกาละของเศรษฐี นั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า "ทรัพย์สมบัติที่ไร้บุตร จะถึงแก่ใคร" ทรงสดับว่า "ถึงแก่พระราชา" จึงให้นำทรัพย์จากเรือนของเศรษฐีนั้น มาสู่ราชตระกูล (กินเวลาถึง) ๗ วัน แล้วจึงเสด็จเข้าไปสู่สำนักพระศาสดา เมื่อพระศาสดาตรัสว่า "ขอเชิญมหาบพิตร พระองค์เสด็จมาจากไหนหนอ แต่ยังวัน" จึงกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐี ในกรุงสาวัตถีนี้ ทำกาละเสียแล้ว. ข้าพระองค์นำทรัพย์สมบัติซึ่งไร้บุตรนั้น ไปภายในราชสำนักแล้วจึงมา."

เรื่องทั้งปวง พึงทราบตามนัยที่มาในพระสูตรนั่นแหละ.

เมื่อพระราชากราบทูลข้อความอย่างนี้ว่า "ได้ยินว่า เศรษฐีนั้น เมื่อเขานำโภชนะมีรสเลิศต่างๆ เข้าไปให้ด้วยถาดทอง ก็กล่าวว่า "พวกมนุษย์ ย่อมกินโภชนะชื่อว่าเห็นปานนี้ (เทียวหรือ), พวกเจ้าจะทำการเยาะเย้ยกับเราในเรือนนี้หรือ เมื่อเขาเข้าไปตั้งโภชนะไว้ให้ ก็ประหาร (มนุษย์เหล่านั้น) ด้วยก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้น ให้หนีไปแล้ว บริโภคข้าวปลายเกวียน มีน้ำผักดองเป็นที่ ๒ ด้วยกล่าวว่า นี้จึงเป็นโภชนะของพวกมนุษย์, แม้เมื่อเขาเข้าไปตั้งผ้า ยาน และร่มที่น่าพอใจไว้ให้ ก็ประหาร

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 330

มนุษย์ (เหล่านั้น) ด้วยก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้น ให้หนีไปแล้ว ทรงผ้าป่าน, มีร่มใบไม้อันทรงไว้ (ถือไว้) อยู่ ย่อมไปด้วยรถเก่าๆ " พระศาสดาจึงตรัสเล่าบุรพกรรมของอปุตตกเศรษฐีนั้นว่า :-

บุรพกรรมของอปุตตกเศรษฐี

มหาบพิตร เรื่องเคยมีมาแล้ว คฤหบดีผู้เศรษฐีนั้น ต้อนรับพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าตครสิขี ด้วยบิณฑบาต, กล่าวว่า "ท่านทั้งหลาย จงให้บิณฑะแก่สมณะ" ดังนี้แล้ว ก็ลุกจากอาสนะหลีกไป. ได้ยินว่า เมื่อเศรษฐีนั้น ผู้ไม่มีศรัทธา ผู้โง่เขลา กล่าวอย่างนั้นแล้วหลีกไป ภรรยาของเขาผู้มีศรัทธาเลื่อมใส คิดว่า "นานเทียวหนอ เราจึงได้ยินคำว่า จงให้ จากปากของเศรษฐีนี้, มโนรถของเรา จะเต็มในวันนี้, เราจักถวายบิณฑบาต แล้วรับบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้ให้เต็มด้วยโภชนะอันประณีตแล้วถวาย. ฝ่ายเศรษฐีนั้นกลับมา เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น จึงถามว่า "สมณะท่านได้อะไรๆ แล้วหรือ" แล้วจับบาตร เห็นบิณฑบาตอันประณีต ก็มีความเดือดร้อน จึงคิดอย่างนี้ว่า "พวกทาส หรือพวกกรรมกรพึงกินบิณฑบาตนี้ ยังดีกว่า, เพราะว่า พวกเขา ครั้นกินบิณฑบาตนี้แล้ว จักทำการงานให้เรา ส่วนสมณะนี้ ครั้นไปกินแล้ว ก็จักนอนหลับ บิณฑบาตของเราฉิบหายเสียแล้ว" อนึ่ง เศรษฐีนั้นปลงแล้วซึ่งบุตรน้อยคนหนึ่งของพี่ชายจากชีวิต เพราะเหตุแห่งทรัพย์สมบัติ. ได้ยินว่า เด็กนั้นจับนิ้วมือของเศรษฐีนั้น เที่ยวไปอยู่กล่าวว่า "ยานนี้ เป็นของบิดาฉัน, โคนี้ก็ของท่าน." ลำดับนั้น เศรษฐีคิดว่า "ในบัดนี้ เด็กนี้ยังกล่าวอย่างนี้ก่อน, ก็ในกาลที่เด็กนี้ถึงความเจริญแล้ว ใครจัก

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 331

รักษาโภคทรัพย์ทั้งหลายในเรือนนี้ได้" จึงนำเด็กนั้นไปสู่ป่า จับที่คอ แล้วบีบคอเหมือนบีบหัวมัน ให้ตายแล้วที่โคนกอไม้แห่งหนึ่ง แล้วทิ้งเด็กนั้นไว้ในที่นั้นนั่นแหละ. นี้เป็นบุรพกรรมของเศรษฐีนั้น.

สรุปกรรมและผลแห่งกรรมของเศรษฐี

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำนี้ว่า "มหาบพิตร ด้วยผลแห่งกรรมที่คฤหบดีผู้เศรษฐี ต้อนรับพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าตครสิขี ด้วยบิณฑบาตนั้นแล เศรษฐีนั้นจึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ถึง ๗ ครั้ง ด้วยผลที่เหลืออยู่แห่งกรรมนั้นนั่นแล เศรษฐีจึงครองความเป็นเศรษฐีอยู่ในกรุงสาวัตถีนี้แล ถึง ๗ ครั้ง. มหาบพิตร ด้วยผลแห่งกรรมที่คฤหบดีผู้เศรษฐีนั้นให้ทานแล้ว มีความเดือดร้อนในภายหลังว่า "พวกทาสหรือ กรรมกร พึงบริโภคบิณฑบาตนี้ยังดีกว่า" จิตของเศรษฐีนั้น จึงไม่น้อมไปเพื่อการบริโภคภัตอย่างฟุ่มเฟือย, ไม่น้อมไปเพื่อการใช้สอยผ้าอย่างฟุ่มเฟือย, ไม่น้อมไปเพื่อการใช้สอยยานอย่างฟุ่มเฟือย ไม่น้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อันดียิ่ง. มหาพิตร ด้วยผลแห่งกรรมที่คฤหบดีผู้เศรษฐีนั้น ปลงแล้วซึ่งบุตรน้อยคนหนึ่งของพี่ชายจากชีวิต เพราะเหตุแห่งทรัพย์สมบัติ เศรษฐีนั้นจึงไหม้แล้วในนรกสิ้นปีเป็นอันมาก สิ้นร้อยปี เป็นอันมาก สิ้นพันปีเป็นอันมาก สิ้นแสนปีเป็นอันมาก. ชนทั้งหลายยังทรัพย์สมบัติที่ไร้บุตรครั้งที่ ๗ นี้ให้เข้าสู่พระคลังหลวง ด้วยผลอันเหลืออยู่แห่งกรรมนั้นแล. มหาบพิตร อนึ่งเล่า บุญเก่าของคฤหบดีผู้เศรษฐีนั้นแล หมดสิ้นแล้ว และบุญใหม่อันคฤหบดีผู้เศรษฐีนั้นไม่สั่งสมแล้ว, มหาบพิตร ก็ในวันนี้ คฤหบดีผู้เศรษฐีไหม้อยู่ในมหาโรรุวนรก."

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 332

โภคะย่อมฆ่าคนผู้ทรามปัญญา

พระราชาทรงสดับพระดำรัสของพระศาสดาแล้ว จึงกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า น่าอัศจรรย์ นี้เป็นกรรมอันหนัก, เศรษฐีนั้น เมื่อโภคะ ชื่อว่ามีประมาณเท่านี้ มีอยู่ ไม่ใช้สอยด้วยตนเองเลย, เมื่อพระพุทธเจ้าเช่นกับพระองค์ ประทับอยู่ในวิหารใกล้ๆ ก็มิได้ทำบุญกรรม."

พระศาสดาตรัสว่า "จริงเช่นนั้น มหาบพิตร ชื่อว่าบุคคลผู้มีปัญญาทราม ได้โภคะทั้งหลายแล้วย่อมไม่แสวงหานิพพาน, อนึ่ง ตัณหาซึ่งเกิดขึ้นเพราะอาศัยโภคะทั้งหลาย ย่อมฆ่าคนเหล่านั้นสิ้นกาลนาน" ดังนี้แล้ว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า:-

๑๑. หนนฺติ โภคา ทุมฺเมธํ โน จ ปารคเวสิโน โภคตณฺหาย ทุมฺเมโธ หนฺติ อญฺเว อตฺตนํ. ติสโทสานิ เขตฺตานิ ราคโทสะ อยํ ปชา ตสฺมา หิ วีตราเคสุ ทินฺนํ โหติ มหปฺผลํ.

"โภคะทั้งหลาย ย่อมฆ่าคนทรามปัญญา, แต่ไม่ฆ่าคนผู้แสวงหาฝั่งโดยปกติ คนทรามปัญญา ย่อมฆ่าตนเหมือนฆ่าผู้อื่น เพราะความทะยานอยาก ในโภคะ."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บาทพระคาถาว่า โน จ ปารคเวสิโน ความว่า แต่โภคะทั้งหลาย ย่อมไม่ฆ่าบุคคลผู้แสวงหาฝั่งคือพระนิพพานโดยปกติ.

บาทพระคาถาว่า หนฺติ อญฺเว อตฺตนํ ความว่า บุคคลผู้มี

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 333

ทรามปัญญา ย่อมฆ่าตนเองดุจฆ่าผู้อื่น เพราะความทะยานอยาก ซึ่งเกิดขึ้นเพราะอาศัยโภคะทั้งหลาย.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล้ว

เรื่องเศรษฐีผู้ไม่มีบุตร จบ.