ภิกขุวรรค ที่ ๒๕ ว่าด้วยทางเดินของภิกษุ
[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 337
ภิกขุวรรค ที่ ๒๕
ว่าด้วยทางเดินของภิกษุ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 337
คาถาธรรมบท
ภิกขุวรรค (๑) ที่ ๒๕
ว่าด้วยทางเดินของภิกษุ
[๓๕] ๑. ความสำรวมทางตา เป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ ความสำรวมทางหู เป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ ความสำรวมทางจมูก เป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ ความสำรวมทางลิ้น เป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ ความสำรวมทางกาย เป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ ความสำรวมทางใจ เป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ ภิกษุผู้สำรวมแล้วในทวารทั้งปวง ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้.
๒. บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวบุคคลผู้มีมือสำรวมแล้ว มีเท้าสำรวมแล้ว มีวาจาสำรวมแล้ว มีตนสำรวมแล้ว ยินดีในธรรมอันเป็นไปภายใน มีจิตตั้งมั่นแล้ว เป็นคนโดดเดี่ยว สันโดษว่า เป็นภิกษุ.
๓. ภิกษุใดสำรวมปาก มีปกติกล่าวด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่านแสดงอรรถและธรรม ภาษิตของภิกษุนั้น ย่อมไพเราะ.
๔. ภิกษุมีธรรมเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในธรรม ใคร่ครวญอยู่ซึ่งธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่ ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม.
(๑) วรรคนี้ มีอรรถกถา ๑๒ เรื่อง.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 338
๕. ภิกษุไม่ควรดูหมิ่นลาภของตน ไม่ควรเที่ยวปรารถนาลาภของผู้อื่น ภิกษุเมื่อปรารภนาลาภของผู้อื่น ไม่ประสบสมาธิ ถ้าภิกษุแม้เป็นผู้มีลาภน้อย ก็ไม่ดูหมิ่นลาภของตน เทพดาทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญ ภิกษุนั้นแล (ว่า) ผู้มีอาชีพหมดจด ไม่เกียจคร้าน.
๖. ความยึดถือในนามรูปว่าเป็นของของเรา ไม่มีแก่ผู้ใดโดยประการทั้งปวง อนึ่ง ผู้ใดไม่เศร้าโศก เพราะนามรูปนั้นไม่มีอยู่ ผู้นั้นแล เราเรียกว่า ภิกษุ.
๗. ภิกษุใด มีปกติอยู่ด้วยเมตตา เสื่อมใสในพระพุทธศาสนา ภิกษุนั้นพึงบรรลุบทอันสงบ เป็นที่เข้าไประงับสังขารอันเป็นสุข ภิกษุ เธอจงวิดเรือนี้ เรือที่เธอวิดแล้วจักถึงเร็ว เธอตัดราคะและโทสะได้แล้ว แต่นี้จักถึงพระนิพพาน ภิกษุพึงตัดธรรม ๕ อย่าง พึงละธรรม ๕ อย่าง และพึงยังคุณธรรม ๕ ให้เจริญ ยิ่งๆ ขึ้น ภิกษุผู้ล่วงกิเลสเครื่องข้อง ๕ อย่าง ได้แล้ว เราเรียกว่า ผู้ข้ามโอฆะได้ ภิกษุ เธอจงเพ่งและอย่าประมาท จิตของเธออย่าหมุนไปในกามคุณ เธออย่าเป็นผู้ประมาทกลืนกินก้อนแห่งโลหะ เธออย่าเป็นผู้อันกรรมแผดเผาอยู่ คร่ำครวญว่า นี้ทุกข์ ฌานย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ฌานและปัญญาย่อมมีในบุคคลใด บุคคลนั้นแล ตั้งอยู่แล้วในที่ใกล้พระนิพพาน ความ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 339
ยินดีมิใช่ของมีอยู่แห่งมนุษย์ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้เข้าไปแล้วสู่เรือนว่าง ผู้มีจิตสงบแล้ว ผู้เห็นแจ้งธรรมอยู่โดยชอบ ภิกษุพิจารณาอยู่ ซึ่งความเกิดขึ้นและ ความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลาย โดยอาการใดๆ เธอย่อมได้ปีติและปราโมทย์โดยอาการนั้นๆ การได้ปีติและปราโมทย์นั้น เป็นธรรมอันไม่ตายของผู้รู้แจ้งทั้งหลาย ธรรมนี้คือ ความคุ้มครองอินทรีย์ ๑ ความสันโดษ ๑ ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ เป็นเบื้องต้น ในธรรมอันไม่ตายนั้น มีอยู่แก่ภิกษุผู้มีปัญญาในพระศาสนานี้ เธอจงคบมิตรที่ดีงาม อาชีวะอันหมดจด ไม่เกียจคร้าน ภิกษุพึงเป็นผู้ประพฤติในปฏิสันถาร พึงเป็นผู้ฉลาดในอาจาระ เพราะเหตุนั้น เธอจักเป็นผู้มากด้วยปราโมทย์ กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.
๘. ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงปลดเปลื้องราคะ และโทสะเสีย เหมือนมะลิเครือปล่อยดอกทั้งหลายที่เหี่ยวเสียฉะนั้น.
๙. ภิกษุผู้มีกายสงบ มีวาจาสงบ มีใจสงบ ผู้ตั้งมั่นดีแล้ว มีอามิสในโลกอันคายเสียแล้ว เราเรียกว่า ผู้สงบระงับ.
๑๐. เธอจงตักเตือนตนด้วยตน จงพิจารณาดูตนนั้นด้วยตน ภิกษุ เธอนั้นมีสติ ปกครองตนได้แล้ว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 340
จักอยู่สบาย ตนแหละเป็นนาถะของตน ตนแหละ เป็นคติของตน เพราะฉะนั้น เธอจงสงวนตนให้เหมือนอย่างพ่อค้าม้าสงวนม้าตัวเจริญฉะนั้น.
๑๑. ภิกษุผู้มากด้วยความปราโมทย์ เลื่อมใสแล้วในพระพุทธศาสนา พึงบรรลุสันตบท เป็นที่เข้าไปสงบสังขาร เป็นสุข.
๑๒. ภิกษุใดแล ยังหนุ่มพากเพียรอยู่ในพระพุทธศาสนา ภิกษุนั้น ย่อมยังโลกนี้ให้สว่าง ดุจพระจันทร์ที่พ้นแล้วจากหมอก (เมฆ) สว่างอยู่ฉะนั้น.
จบภิกขุวรรคที่ ๒๕