๒. เรื่องภิกษุฆ่าหงส์ [๒๕๓]
[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 347
๒. เรื่องภิกษุฆ่าหงส์ [๒๕๓]
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 347
๒. เรื่องภิกษุฆ่าหงส์ [๒๕๓]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้ฆ่าหงส์รูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "หตฺถสญฺโต" เป็นต้น.
สองสหายออกบวช
ดังได้สดับมา สหายสองคนชาวกรุงสาวัตถี ได้บรรพชาอุปสมบทใน (สำนัก) ภิกษุทั้งหลายแล้ว โดยมากเที่ยวไปด้วยกัน.
ในวันหนึ่ง ภิกษุสองรูปนั้นไปสู่แม่น้ำอจิรวดี สรงน้ำแล้วผิงแดดอยู่ ได้ยืนพูดกันถึงสาราณียกถา. ในขณะนั้น หงส์สองตัวบินมาโดยอากาศ.
ภิกษุรูปหนึ่งดีดตาหงส์ด้วยก้อนกรวด
ขณะนั้น ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งหยิบก้อนกรวดแล้วพูดว่า "ผมจักดีดตาของหงส์ตัวหนึ่ง" ภิกษุนอกนี้กล่าวว่า "ท่านจักไม่สามารถ."
ภิกษุรูปที่หนึ่ง. ตาข้างนี้จงยกไว้, ผมจักดีดตาข้างโน้น.
ภิกษุรูปที่สอง. แม้ตาข้างนี้ ท่านก็จักไม่สามารถ (ดีด) เหมือนกัน.
ภิกษุรูปที่หนึ่ง. พูดว่า "ถ้าอย่างนั้น ท่านจงคอยดู" แล้วหยิบกรวดก้อนที่สอง ดีดไปทางข้างหลังของหงส์. หงส์ได้ยินเสียงก้อนกรวด จึงเหลียวดู. ขณะนั้น เธอหยิบก้อนกรวดกลมอีกก้อนหนึ่ง แล้วดีดหงส์ตัวนั้นที่ตาข้างโน้น ให้ทะลุออกตาข้างนี้. หงส์ร้อง ม้วนตกลงแทบเท้าของภิกษุเหล่านั้นนั่นแล.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 348
ภิกษุทั้งหลายติเตียนแล้วทูลแด่พระศาสดา
ภิกษุทั้งหลาย ยืนอยู่ในที่นั้นๆ เห็นแล้ว จึงกล่าวว่า "ผู้มีอายุ เธอบวชในพระพุทธศาสนา ทำปาณาติบาต (นับว่า) ทำกรรมไม่สมควร" แล้วพาภิกษุทั้งสองรูปนั้นไปเฝ้าพระตถาคต.
พระศาสดาประทานโอวาท
พระศาสดาตรัสถามว่า "ภิกษุ ได้ยินว่า เธอทำปาณาติบาตจริงหรือ" เมื่อเธอกราบทูลว่า "จริง พระเจ้าข้า" จึงตรัสว่า "ภิกษุ เธอบวชในพระศาสนาที่เป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์ เห็นปานนี้ ได้ทำแล้วอย่างนี้ เพราะเหตุอะไร. บัณฑิตในปางก่อน เมื่อพระพุทธเจ้ายิ่งไม่ทรงอุบัติ อยู่ในท่ามกลางเรือน ทำความรังเกียจในฐานะแม้มีประมาณน้อย, ส่วนเธอบวชในพระพุทธศาสนาเห็นปานนี้ หาได้ทำแม้มาตรว่าความรังเกียจไม่" อันภิกษุเหล่านั้นทูลอ้อนวอนแล้ว ทรงนำอดีตนิทาน มา (ตรัส) ว่า :-
ศีล ๕ ชื่อกุรุธรรม
"ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าธนญชัยเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนคร ชื่ออินทปัตตะ ในแคว้นกุรุ, พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระราชานั้น ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้วโดยลำดับ ทรงเรียนศิลปะทั้งหลายในเมืองตักกสิลาแล้ว อันพระบิดาทรงให้ดำรงในตำแหน่งอุปราช ในกาลต่อมา โดยกาลเป็นที่ล่วงไปแห่งพระบิดา ได้รับราชสมบัติแล้ว ไม่ทรงละเมิดราชธรรมทั้ง ๑๐ ประการ (๑) ทรงประพฤติ
(๑) ราชธรรม ๑๐ คือ:- ทานํ การให้ ๑ สีลํ ศีล ๑ ปริจฺจาคํ การบริจาค ๑ อาชฺชวํ ความซื่อตรง ๑ มทฺทวํ ความอ่อนโยน ๑ ตปํ ความเพียร ๑ อกฺโกธํ ความไม่โกรธ ๑ อวิหิํสา ความไม่เบียดเบียน ๑ ขนฺติ ความอดทน ๑ อวิโรธนํ ความไม่พิโรธ ๑.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 349
อยู่ในกุรุธรรมแล้ว. ศีล ๕ ชื่อว่ากุรุธรรม. พระโพธิสัตว์ทรงรักษาศีล ๕ นั้น ทำให้บริสุทธิ์. พระชนนี พระอัครมเหสี พระอนุชา อุปราช พราหมณ์ปุโรหิต อำมาตย์ผู้ถือเชือก (๑) นายสารถี เศรษฐี มหาอำมาตย์ ผู้เป็นขุนคลัง (๒) คนรักษาประตู นางวรรณทาสี (๓) ผู้เป็นหญิงงามเมืองของพระโพธิสัตว์นั้น ย่อมรักษาศีล ๕ เหมือนพระโพธิสัตว์ ด้วยประการฉะนี้.
แคว้นกาลิงคะเกิดฝนแล้ง
เมื่อชนทั้ง ๑๑ คนนี้ รักษากุรุธรรมอยู่อย่างนั้น, เมื่อพระราชาทรงพระนามว่ากาลิงคะ เสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครทันตบุรี ในแคว้นกาลิงคะ ฝนมิได้ตกในแคว้นของพระองค์แล้ว. ก็ช้างมงคล ชื่อว่าอัญชนาสภะของพระมหาสัตว์ เป็นสัตว์มีบุญมาก. ชาวแคว้นพากันกราบทูลด้วยสำคัญว่า "เมื่อนำช้างนั้นมาแล้ว ฝนจักตก."
พระราชาทรงส่งพวกพราหมณ์ไป เพื่อต้องการนำช้างนั้นมา. พราหมณ์เหล่านั้นไปแล้ว ทูลขอช้างกะพระมหาสัตว์แล้ว. เพื่อจะทรงแสดงอาการขอนี้ของพราหมณ์เหล่านั้น พระศาสดาจึงตรัสชาดก (๔) ในติกนิบาตนี้เป็นต้นว่า :-
"ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งชน ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทราบศรัทธาและศีลของพระองค์แล้ว ขอพระราชทานแลกทองด้วยช้าง ซึ่งมีสีดุจดอกอัญชัน ไปในแคว้นกาลิงคะ."
(๑) พนักงานรางวัด.
(๒) โทณมาปโก ผู้ตวงวัตถุด้วยทะนาน. โทณะหนึ่งเท่ากับ ๔ อาฬหก.
(๓) หญิงคนใช้รูปงาม
(๔) ขุ. ชา. ๒๗/ข้อ ๔๒๗. กุรุธรรมชาดก. อรรถกถา. ๔/ ๑๑๙.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 350
ก็เมื่อพราหมณ์ทั้งหลายนำช้างมาแล้ว, เมื่อฝนไม่ตก, ด้วยทรงสำคัญว่า "พระราชานั้นทรงรักษากุรุธรรม เพราะฉะนั้น ฝนจึงตกในแคว้นของพระองค์" พระเจ้ากาลิงคะ จึงทรงส่งพวกพราหมณ์และอำมาตย์ไปอีก ด้วยพระดำรัสว่า "พวกท่านจงจารึกกุรุธรรมที่พระราชานั้นรักษาลงในแผ่นทองคำแล้วนำมา." เมื่อพราหมณ์และอำมาตย์เหล่านั้นไปทูลขออยู่, ชนเหล่านั้นแม้ทั้งหมด นับแต่พระราชาเป็นต้น กระทำอาการสักว่าความรังเกียจบางอย่างในศีลทั้งหลายของตนๆ แล้ว ห้ามว่า "ศีลของพวกเราไม่บริสุทธิ์" ถูกพราหมณ์และอำมาตย์เหล่านั้นอ้อนวอนหนักเข้าว่า "ความทำลายแห่งศีล หาได้มีด้วยเหตุเพียงเท่านี้ไม่" จึงได้บอกศีลทั้งหลายของตนๆ แล้ว.
พระเจ้ากาลิงคะทรงรักษากุรุธรรมฝนจึงตก
พระเจ้ากาลิงคะ ได้ทอดพระเนตรกุรุธรรมที่พวกพราหมณ์และอำมาตย์จารึกลงในแผ่นทองคำนำมา ทรงสมาทานบำเพ็ญให้บริบูรณ์ด้วยดี. ฝนจึงตกในแคว้นของพระองค์, แว่นแคว้นได้เกษม มีภิกษาหาได้โดยง่ายแล้ว.
พระศาสดาครั้นทรงนำอดีตนิทานนี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า:-
"หญิงแพศยาในครั้งนั้น ได้เป็นนางอุบลวรรณา, คนรักษาประตู ได้เป็นภิกษุชื่อว่าปุณณะ, อำมาตย์ผู้ถือเชือก ได้เป็นกัจจานภิกษุ, และอำมาตย์ผู้เป็นขุนคลัง ได้เป็นโกลิตะ, เศรษฐีในครั้งนั้น ได้เป็นสารีบุตร, นายสารถี ได้เป็นอนุรุทธะ, พราหมณ์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 351
ได้เป็นกัสสปเถระ, อุปราช ได้เป็นนันทบัณฑิต, พระมเหสี ได้เป็นมารดาของราหุล, พระชนนี ได้เป็นพระนางมายาเทวี, พระเจ้ากุรุ ได้เป็นพระโพธิสัตว์ พวกเธอจงจำชาดกไว้ด้วยอาการอย่างนี้"
ดังนี้แล้ว ตรัสว่า "ภิกษุ บัณฑิตในครั้งก่อน เมื่อความรำคาญ แม้มีประมาณน้อยเกิดขึ้นแล้ว, ทำศีลเภทของตนให้เป็นเครื่องรังเกียจแล้วอย่างนี้, ส่วนเธอ บวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้เช่นกับด้วยเรา ยังทำปาณาติบาตอยู่ (นับว่า) ได้ทำกรรมอันหนักยิ่งนัก. ธรรมดาภิกษุ ควรเป็นผู้สำรวมด้วยมือ เท้า และวาจา" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
๒. หตฺถสญฺโต ปาทสญฺโต วาจาย สญฺโต สญฺตตฺตโม อชฺฌตฺตรโต สมาหิโต เอโก สนฺตุสิโต ตมาหุ ภิกขุ.
"บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวบุคคลผู้มีมือสำรวมแล้ว มีเท้าสำรวมแล้ว มีวาจาสำรวมแล้ว มีตนสำรวมแล้ว ยินดีในธรรมอันเป็นไปภายใน มีจิตตั้งมั่นแล้ว เป็นคนโดดเดี่ยว สันโดษว่า เป็นภิกษุ."
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หตฺถสญฺโต ความว่า ชื่อว่าผู้มีมืออันสำรวมแล้ว เพราะความไม่มีการคะนองมือ (๑) เป็นต้น หรือการประหารสัตว์เหล่าอื่นเป็นต้นด้วยมือ.
(๑) การยังมือให้เล่นเป็นต้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 352
นัยแม้ในบทที่สอง ก็เหมือนนัยนี้.
ก็ชื่อว่าผู้มีวาจาอันสำรวมแล้ว เพราะไม่ทำวจีทุจริต มีพูดเท็จทางวาจาเป็นต้น.
บทว่า สญฺตตฺตโม คือผู้มีอัตภาพอันสำรวมแล้ว, อธิบายว่า ผู้ไม่ทำอาการแปลก มีโคลงกาย สั่นศีรษะ และยักคิ้ว เป็นต้น.
บทว่า อชฺฌตฺตรโต ความว่า ผู้ยินดีในการเจริญกัมมัฏฐาน กล่าวคือโคจรธรรมอันเป็นไป ณ ภายใน.
บทว่า สมาหิโต คือ ผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยดีแล้ว.
สองบทว่า เอโก สนฺตุสิโต ความว่า เป็นผู้มีปกติอยู่ผู้เดียวยินดี แล้วด้วยดี คือมีใจยินดีแล้วด้วยอธิคมแห่งตน จำเดิมแต่การประพฤติในวิปัสสนา. จริงอยู่ พระเสขบุคคลแม้ทุกจำพวก ตั้งต้นแต่กัลยาณปุถุชน ย่อมยินดีด้วยอธิคมแห่งตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าผู้สันโดษ, ส่วนพระอรหันต์ เป็นผู้ยินดีแล้วโดยส่วนเดียวแล. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาพระอรหันต์นั้น จึงตรัสคำนั่นว่า "เอโก สนฺตุสิโต."
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
เรื่องภิกษุฆ่าหงส์ จบ.