พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. เรื่องพระธรรมารามเถระ [๒๕๕]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35062
อ่าน  651

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 357

๔. เรื่องพระธรรมารามเถระ [๒๕๕]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 357

๔. เรื่องพระธรรมารามเถระ [๒๕๕]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระธรรมารามเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ธมฺมารโม ธมฺมรโต" เป็นต้น.

พระภิกษุปรึกษาเรื่องปรินิพพานของพระศาสดา

ดังได้สดับมา เมื่อพระศาสดาตรัสบอกว่า "การปรินิพพานของเราจักมีโดยล่วงไป ๔ เดือน ตั้งแต่เดือนนี้," ภิกษุหลายพันรูปเที่ยวแวดล้อมพระศาสดาแล้ว.

บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุผู้ยังเป็นปุถุชน ไม่อาจเพื่อจะอดกลั้นน้ำตาไว้ได้. ธรรมสังเวชเกิดแก่ภิกษุผู้ขีณาสพแล้ว. ภิกษุทั้งปวงปรึกษากันว่า "เราจักทำอย่างไรหนอแล" ดังนี้แล้ว ก็เที่ยวไปโดยรวมกัน เป็นพวกๆ.

พระธรรมารามะไม่เกี่ยวข้องด้วย

ส่วนภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อว่าธรรมารามะ ไม่เข้าไปสู่สำนักของภิกษุทั้งหลาย, อันภิกษุทั้งหลายพูดว่า "อย่างไร ผู้มีอายุ" ก็ไม่ให้แม้คำตอบ คิดว่า "ข่าวว่า พระศาสดาจักปรินิพพานโดยล่วงไป ๔ เดือน, ส่วนเรา เป็นผู้มีราคะยังไม่ไปปราศแล้ว เมื่อพระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่นี้แหละ จักพยายามบรรลุพระอรหัต" ดังนี้แล้ว ก็เป็นผู้ๆ เดียวเท่านั้นอยู่ นึก คิด ระลึกถึงธรรมที่พระศาสดาทรงแสดงแล้ว. ภิกษุทั้งหลายกราบทูล (เรื่องนั้น) แด่พระตถาคตว่า "พระเจ้าข้า พระธรรมรามะมิได้มีแม้สักว่าความเยื่อใยในพระองค์ ไม่ทำแม้สักว่าการปรึกษากับพวกข้าพระองค์ว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 358

"ข่าวว่า พระศาสดาจักปรินิพพาน, พวกเราจักทำอย่างไรกันเล่า"

พระศาสดารับสั่งให้หาตัว

พระศาสดารับสั่งให้เรียกเธอมาแล้ว ตรัสถามว่า "ข่าวว่า เธอทำอย่างนั้น จริงหรือ"

พระธรรมารามะ. จริง พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. เพราะเหตุอะไร.

พระธรรมารามะ. ข่าวว่า พระองค์จักปรินิพพานโดยกาลล่วงไป ๔ เดือน, ส่วนข้าพระองค์ เป็นผู้มีราคะไม่ไปปราศ, เมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่นี้แหละ, ข้าพระองค์จักพยายามบรรลุพระอรหัต เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงนึก คิด ระลึก ถึงธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้วอยู่.

พระศาสดาทรงอนุโมทนาด้วย

พระศาสดาประทานสาธุการแก่เธอว่า "ดีละๆ " แล้วตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มีความรักใคร่ในเราแม้รูปอื่น พึงเป็นเช่นภิกษุธรรมารามะนี้แหละ, แท้จริง ภิกษุทั้งหลาย เมื่อทำการบูชาด้วยระเบียบและของหอมเป็นต้น หาชื่อว่าทำการบูชาแก่เราไม่, ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเท่านั้น จึงชื่อว่าบูชาเรา," ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

๔. ธมฺมาราโม ธมฺมรใต ธมฺมํ อนุวิจินฺตยํ ธมฺมํ อนุสฺสรํ ภิกฺขุ สทฺธมฺมา น ปริหายติ.

"ภิกษุมีธรรมเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในธรรม ใคร่ครวญอยู่ซึ่งธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่ ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม."

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 359

แก้อรรถ

พึงทราบวิเคราะห์ในบทเหล่านั้นว่า ธรรมคือสมถะและวิปัสสนา เป็นที่มายินดีของภิกษุนั้น เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่ เพราะเหตุนั้น ชื่อว่าผู้มีธรรมเป็นที่มายินดี, ผู้ยินดีแล้วในธรรมนั้นนั่นแล เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าผู้ยินดีแล้วในธรรม, ชื่อว่าผู้ใคร่ครวญอยู่ซึ่งธรรม เพราะนึกถึงธรรมนั้นนั่นแหละบ่อยๆ , อธิบายว่า ผู้นึกถึงธรรมนั้นอยู่.

บทว่า อนุสฺสรํ ได้แก่ ระลึกถึงธรรมนั้นนั่นแหละอยู่.

บทว่า สทฺธมฺมา ความว่า ภิกษุเห็นปานนั้น ย่อมไม่เสื่อมจากโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประเภท และจากโลกุตรธรรม ๙.

ในกาลจบเทศนา ภิกษุนั้นตั้งอยู่แล้วในพระอรหัต, เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่ผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล.

เรื่องพระธรรมารามเถระ จบ.