พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. เรื่องภิกษุคบภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายผิดรูปใดรูปหนึ่ง [๒๕๖]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35063
อ่าน  434

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 360

๕. เรื่องภิกษุคบภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายผิดรูปใดรูปหนึ่ง [๒๕๖]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 360

๕. เรื่องภิกษุคบภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายผิดรูปใดรูปหนึ่ง [๒๕๖]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภภิกษุผู้คบภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายผิดรูปใดรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สลาภํ นาติมญฺเยฺย" เป็นต้น.

ภิกษุคบภิกษุพวกพระเทวทัตเพราะเห็นแก่ลาภ

ดังได้สดับมา ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายพระเทวทัตรูปหนึ่ง ได้เป็นสหายของภิกษุรูปนั้น. ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายของพระเทวทัตนั้น เห็นเธอเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตกับภิกษุทั้งหลาย ทำภัตกิจแล้ว (กลับ) มา จึงถามว่า "ท่านไปไหน."

ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายพระศาสดา. ผมไปสู่ที่ชื่อโน้นเพื่อเที่ยวบิณฑบาต.

ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายพระเทวทัต. ท่านได้บิณฑบาตแล้วหรือ

ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายพระศาสดา. เออ เราได้แล้ว.

ภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายพระเทวทัต. ในที่นี้แหละ พวกผมมีลาภและ สักการะเป็นอันมาก, ขอท่านจงอยู่ในที่นี้แหละสัก ๒ - ๓ วันเถิด.

เธออยู่ในที่นั้น ๒ - ๓ วันตามคำของภิกษุนั้นแล้ว ก็ได้ไปสู่ที่อยู่ของตนตามเดิม.

ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระตถาคตว่า "พระเจ้าข้า ภิกษุนี้บริโภคลาภและสักการะที่เกิดขึ้นแก่พระเทวทัต, เธอเป็นฝักฝ่ายของพระเทวทัต."

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 361

พระศาสดารับสั่งให้เรียกภิกษุนั้นมาแล้ว ตรัสถามว่า "ได้ยินว่า เธอได้ทำอย่างนั้น จริงหรือ."

ภิกษุ. จริง พระเจ้าข้า, ข้าพระองค์อาศัยภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งอยู่ใน ที่นั้น ๒ - ๓ วัน ก็แต่ว่า ข้าพระองค์มิได้ชอบใจลัทธิของพระเทวทัต.

ภิกษุควรยินดีในลาภของตนเท่านั้น

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะเธอว่า "เธอไม่ชอบใจลัทธิ (ของพระเทวทัต) ก็จริง, ถึงอย่างนั้น เธอเที่ยวไปประหนึ่งว่าชอบใจลัทธิของชนผู้ที่เธอพบเห็นแล้วทีเดียว เธอทำอย่างนั้นในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้, แม้ในกาลก่อน เธอก็เป็นผู้เห็นปานนั้นเหมือนกัน". อันภิกษุทั้งหลายทูลวิงวอนว่า "พระเจ้าข้า ในบัดนี้ พวกข้าพระองค์เห็นภิกษุนี้ ด้วยตนเองก่อน, แต่ในกาลก่อน ภิกษุนี่พอใจลัทธิของใครเที่ยวไป ขอพระองค์โปรดตรัสบอกแก่พวกข้าพระองค์เถิด," จึงทรงนำอดีตนิทานมา ทรงยังมหิลามุขชาดก (๑) นี้ให้พิสดารว่า :-

"ช้างชื่อมหิลามุข ฟังคำของพวกโจรก่อนแล้ว เที่ยวฟาดบุคคลผู้ไปตามอยู่, แต่พอฟังคำของสมณะผู้สำรวมดีแล้ว ก็เป็นช้างประเสริฐ ตั้งอยู่แล้วในคุณทั้งปวง."

แล้วตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุเป็นผู้ยินดีด้วยลาภของตนเท่านั้น, การปรารถนาลาภของผู้อื่น ไม่สมควร, เพราะบรรดาฌาน วิปัสสนา มรรค และผลทั้งหลาย แม้ธรรมสักอย่างหนึ่งย่อมไม่เกิดขึ้น


(๑) ขุ. ชา. ๒๗/๙. อรรถกถา. ๑/ ๒๗๙.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 362

แก่ภิกษุผู้ปรารถนาลาภของผู้อื่น, แต่คุณชาติทั้งหลายมีฌานเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ยินดีด้วยลาภของตนเท่านั้น" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรม ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-

๕. สลาภํ นาติมญฺเยฺย นาญฺเสํ ปิหยญฺจเร อญฺเสํ ปิหยํ ภิกฺขุ สมาธิํ นาธิคจฺฉติ. อปฺปลาโภปิ เจ ภิกฺขุ สลาภํ นาติมญฺติ ตํ เว เทวา ปสํสนฺติ สุทฺธาชีวิํ อตนฺทิตํ.

" ภิกษุไม่ควรดูหมิ่นลาภของตน, ไม่ควรเที่ยวปรารถนาลาภของผู้อื่น, ภิกษุเมื่อปรารถนาลาภของผู้อื่น ย่อมไม่ประสบสมาธิ ถ้าภิกษุแม้เป็นผู้มีลาภน้อย ก็ไม่ดูหมิ่นลาภของตน, เทพยดาทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญภิกษุนั้นแล (ว่า) ผู้มีอาชีพหมดจด ไม่เกียจคร้าน."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สลาภํ ได้แก่ ลาภที่เกิดขึ้นแก่ตน. จริงอยู่ ภิกษุผู้เว้นการเที่ยวไปตามลำดับตรอก เลี้ยงชีพอยู่ด้วยการแสวงหาอันไม่สมควร ชื่อว่าดูหมิ่น คือดูแคลน ได้แก่ รังเกียจลาภของตน เพราะเหตุนั้น ภิกษุไม่ควรดูหมิ่นลาภของตน ด้วยการไม่ทำอย่างนั้น.

สองบทว่า อญฺเสํ ปิหยํ ความว่า ไม่ควรเที่ยวปรารถนาลาภของคนเหล่าอื่น.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 363

บาทพระคาถาว่า สมาธิํ นาธิคจฺฉติ ความว่า ก็ภิกษุเมื่อปรารถนาลาภของชนเหล่าอื่นอยู่ ถึงความขวนขวายในการทำบริขารมีจีวรเป็นต้น แก่ชนเหล่านั้น ย่อมไม่บรรลุอัปปนาสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ.

บาทพระคาถาว่า สลาภํ นาติมญฺติ ความว่า ภิกษุแม้เป็นผู้มีลาภน้อย เมื่อเที่ยวไปตามลำดับตรอกโดยลำดับแห่งตระกูลสูงและต่ำ ชื่อว่าไม่ดูแคลนลาภของตน.

บทว่า ตํ เว เป็นต้น ความว่า เทพดาทั้งหลายย่อมสรรเสริญ คือ ชมเชยภิกษุนั้น คือผู้เห็นปานนั้น ผู้ชื่อว่ามีอาชีวะหมดจด เพราะความเป็นผู้มีชีวิตเป็นสาระ ชื่อว่าผู้ไม่เกียจคร้าน เพราะความเป็นผู้ไม่ย่อท้อ ด้วยอาศัยกำลังแข้งเลี้ยงชีพ.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องภิกษุคบภิกษุผู้เป็นฝักฝ่ายผิดรูปใดรูปหนึ่ง จบ.