พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. เรื่องสัมพหุลภิกษุ [๒๕๘]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35065
อ่าน  534

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 369

๗. เรื่องสัมพหุลภิกษุ [๒๕๘]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 369

๗. เรื่องสัมพหุลภิกษุ [๒๕๘]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุมากรูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "เมตฺตาวิหารี " เป็นต้น.

ประวัติพระโสณกุฏิกัณณะ

ความพิสดารว่า ในสมัยหนึ่ง เมื่อท่านพระมหากัจจานะอาศัยกุรรฆรนคร ในอวันตีชนบท อยู่ที่ภูเขาชื่อปวัตตะ, อุบาสกชื่อโสณกุฏิกัณณะ เลื่อมใสในธรรมกถาของพระเถระ ใคร่จะบวชในสำนักของพระเถระ แม้ถูกพระเถระพูดห้ามถึง ๒ ครั้งว่า "โสณะ พรหมจรรย์มีภัตหนเดียว นอนผู้เดียว ตลอดชีพ เป็นสิ่งที่บุคคลทำได้ด้วยยากแล" ก็เป็นผู้เกิดอุตสาหะอย่างแรงกล้าในการบรรพชา ในวาระที่ ๓ วิงวอนพระเถระ บรรพชาแล้ว โดยล่วงไป ๓ ปีจึงได้อุปสมบท เพราะทักษิณาปถชนบทมีภิกษุน้อย เป็นผู้ใคร่จะเฝ้าพระศาสดาเฉพาะพระพักตร์ จึงอำลาพระอุปัชฌายะ ถือเอาข่าวที่พระอุปัชฌายะให้แล้วไปสู่พระเชตวันโดยลำดับ ถวายบังคมพระศาสดา ได้รับการปฏิสันถารแล้ว ผู้อันพระศาสดาทรงอนุญาตเสนาสนะในพระคันธกุฎีเดียวกันทีเดียว ให้ราตรีส่วนมากล่วงไปอยู่ข้างนอก (๑) แล้วเข้าไปสู่พระคันธกุฎีในเวลากลางคืน ให้ส่วนแห่งกลางคืนนั้นล่วงไปแล้วที่เสนาสนะอันถึงแล้วแก่ตน ในเวลาใกล้รุ่งอันพระศาสดาทรงเชื้อเชิญแล้ว ได้สวดพระสูตรหมดด้วยกัน ๑๖ สูตร โดยทำนองสรภัญญะที่จัด เป็นอัฏฐกวรรค. (๒)


(๑) อชฺโฌกาเส ในที่กลางแจ้ง.

(๒) อฏฺกวคฺคิกานีติ: อฏฺกวคฺคภูตานิ กามสุตฺตาทีนิ โสฬสสุตฺตานิ พระสูตร ๑๖ สูตร มีกามสูตรเป็นต้น ที่จัดเป็นอัฏฐกวรรค พระสูตรเหล่านี้มีอยู่ ใน ขุ. สุ. ๒๕/๔๘๕ - ๕๒๓.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 370

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงอนุโมทนาเป็นพิเศษ จึงได้ประทานสาธุการแก่ท่านในเวลาจบสรภัญญะว่า "ดีละๆ ภิกษุ."

ภุมมัฏฐกเทพดา นาค และสุบรรณ ฟังสาธุการที่พระศาสดาประทานแล้ว ได้ให้สาธุการแล้ว เสียงสาธุการเป็นอันเดียวกัน ได้มีแล้ว ตลอดพรหมโลกอย่างนั้น ด้วยประการดังนี้.

ในขณะนั้น แม้เทพดาผู้สิงอยู่ในเรือนของมหาอุบาสิกา ผู้เป็นมารดาของพระเถระ ในกุรรฆรนคร ในที่สุด (ไกล) ประมาณ ๑๒๐ โยชน์ แต่พระเชตวันมหาวิหาร ก็ได้ให้สาธุการด้วยเสียงอันดังแล้ว.

ครั้งนั้น มหาอุบาสิกา ถามเทพดานั้นว่า "นั่น ใครให้สาธุการ"

เทพดา. เราเอง น้องหญิง.

มหาอุบาสิกา. ท่านเป็นใคร

เทพดา. เราเป็นเทพดา สิงอยู่ในเรือนของท่าน.

มหาอุบาสิกา. ในกาลก่อนแต่นี้ ท่านมิได้ให้สาธุการแก่เรา เพราะเหตุไร วันนี้จึงให้.

เทพดา. เรามิได้ให้สาธุการแก่ท่าน.

มหาอุบาสิกา. เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านให้สาธุการแก่ใคร

เทพดา. เราให้แก่พระโสณกุฏิกัณณเถระ ผู้เป็นบุตรของท่าน.

มหาอุบาสิกา. บุตรของเราทำอะไร

เทพดา. ในวันนี้ บุตรของท่านอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระศาสดา แล้วแสดงธรรมแก่พระศาสดา, พระศาสดาทรงสดับธรรมแห่งบุตรของท่าน แล้วก็ทรงเลื่อมใส จึงได้ประทานสาธุการ, เพราะเหตุนั้น แม้เราจึงให้สาธุการแก่พระเถระนั้น, ก็เพราะรับสาธุการของพระสัมมา-

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 371

สัมพุทธเจ้า จึงเกิดสาธุการเป็นเสียงเดียวกันไปหมด นับตั้งต้นแต่ภุมมัฏฐกเทพดาตลอดถึงพรหมโลก.

มหาอุบาสิกา. นาย ก็บุตรของเราแสดงธรรมแก่พระศาสดา หรือพระศาสดาแสดงแก่บุตรของเรา.

เทพดา. บุตรของท่านแสดงธรรมแก่พระศาสดา.

เมื่อเทพดากล่าวอยู่อย่างนั้น, ปีติมีวรรณะ ๕ ประการ เกิดขึ้นแก่ อุบาสิกา แผ่ไปทั่วสรีระทั้งสิ้น. ครั้งนั้น มหาอุบาสิกานั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า "หากว่า บุตรของเราอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระศาสดา แล้วยังสามารถแสดงธรรมแก่พระศาสดาได้, ก็จักสามารถให้แสดงธรรม แม้แก่เราได้เหมือนกัน, ในเวลาบุตรมาถึง เราจักให้ทำการฟังธรรมกัน แล้วฟังธรรมกถา."

พระโสณะทูลขอพร ๕ ประการกะพระศาสดา

ฝ่ายพระโสณเถระแล เมื่อพระศาสดาประทานสาธุการแล้ว, คิดว่า "เวลานี้ เป็นเวลาสมควรที่จะกราบทูลข่าวที่พระอุปัชฌายะให้มา" ดังนี้แล้ว จึงทูลขอพร ๕ ประการ (๑) กะพระผู้มีพระภาคเจ้า ตั้งต้นแต่การอุปสมบทด้วยคณะสงฆ์มีภิกษุผู้ทรงวินัยเป็นที่ ๕ ในชนบททั้งหลายซึ่งตั้งอยู่ปลายแดนแล้ว อยู่ในสำนักของพระศาสดา ๒ - ๓ วันเท่านั้น ทูลลาพระศาสดาว่า "ข้าพระองค์จักเยี่ยมพระอุปัชฌายะ" ได้ออกจากพระเชตวันวิหาร ไปสู่สำนักพระอุปัชฌายะโดยลำดับ.


(๑) ขอให้อุปสมบทด้วยคณะเพียง ๕ รูปได้ ๑ ขอให้ใช้รองเท้าหลายชั้นได้ ๑ ขอให้อาบน้ำได้เนืองนิตย์ ๑ ขอให้ใช้เครื่องปูลาดที่ทำด้วยหนังได้ ๑ (๔ ข้อนี้เฉพาะในปัจจันตชนบท) มีมนุษย์สั่งถวายจีวรแก่ภิกษุอยู่นอกสีมา ภิกษุผู้รับสั่งจึงมาบอกให้เธอรับ แต่เธอรังเกียจไม่ยอมรับ ด้วยกลัวเป็นนิสสัคคีย์ ขออย่าให้เป็นนิสสัคคีย์ ๑. มหาวัคค์ ๕/๓๔.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 372

ในวันรุ่งขึ้น พระเถระพาท่านเที่ยวไปบิณฑบาต ได้ไปถึงประตูเรือนของอุบาสิกาผู้เป็นมารดา.

ฝ่ายอุบาสิกานั้น เห็นบุตรแล้วก็ดีใจ ไหว้แล้ว อังคาสโดยเคารพ แล้วถามว่า "พ่อ ได้ยินว่า คุณอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระศาสดา แล้วแสดงธรรมกถาแก่พระศาสดา จริงหรือ"

พระโสณะ. เรื่องนี้ ใครบอกแก่โยม อุบาสิกา.

มหาอุบาสิกา. พ่อ เทวดาผู้สิงอยู่ในเรือนนี้ ให้สาธุการด้วยเสียงอันดัง, เมื่อโยมถามว่า "นั่นใคร" ก็กล่าวว่า "เราเอง" แล้วบอกอย่างนั้นนั่นแหละ, เพราะฟังเรื่องนั้น โยมจึงได้มีความคิดอย่างนี้ว่า "ถ้าว่าบุตรของเราเสดงธรรมกถาแก่พระศาสดาได้ไซร้, ก็จักอาจแสดงธรรม แม้แก่เราได้. "

ครั้งนั้น มหาอุบาสิกากล่าวกะพระโสณะนั้นว่า "พ่อ เพราะคุณแสดงธรรมเฉพาะพระพักตร์ของพระศาสดาได้แล้ว, คุณก็จักอาจแสดง แม้แก่โยมได้เหมือนกัน, ในวันชื่อโน้น โยมจักให้ทำการฟังธรรมกัน แล้วจักฟังธรรมของคุณ" พระโสณะรับนิมนต์แล้ว.

อุบาสิกาคิดว่า "เราถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ ทำการบูชาแล้วจักฟังธรรมกถาแห่งบุตรของเรา" จึงได้ตั้งให้หญิงทาสีคนเดียวเท่านั้นให้เป็นคนเฝ้าเรือน แล้วได้พาเอาบริวารชนทั้งสิ้นไป เพื่อฟังธรรมกถาของบุตรผู้จะก้าวขึ้นสู่ธรรมาสน์ที่ประดับประดาไว้แล้ว ในมณฑปที่ตนให้สร้างไว้ภายในพระนคร เพื่อประโยชน์แก่การฟังธรรม แสดงธรรมอยู่.

พวกโจรเข้าปล้นเรือนมหาอุบาสิกา

ก็ในเวลานั้น พวกโจร ๙๐๐ เที่ยวมองหาช่องในเรือนของอุบาสิกา

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 373

นั้นอยู่. ก็เรือนของอุบาสิกานั้น ล้อมด้วยกำแพง ๗ ชั้น ประกอบด้วยซุ้มประตู ๗ ซุ้ม. เขาล่ามสุนัขที่ดุไว้ในที่นั้นๆ ทุกๆ ซุ้มประตู อนึ่ง เขาขุดคูไว้ในที่น้ำตกแห่งชายคาภายในเรือน แล้วก็ใส่ดีบุกจนเต็ม, เวลากลางวัน ดีบุกนั้นปรากฏเป็นประดุจว่าละลายเดือดพล่านอยู่เพราะแสงแดด (เผา), ในเวลากลางคืน ปรากฏเป็นก้อนแข็งกระด้าง, เขาปักขวากเหล็กใหญ่ไว้ที่พื้นในระหว่างคูนั้นติดๆ กันไป. พวกโจรเหล่านั้นไม่ได้โอกาส เพราะอาศัยการรักษานี้ และเพราะอาศัยความที่อุบาสิกาอยู่ภายในเรือน วันนั้นทราบความอุบาสิกานั้นไปแล้ว จึงขุดอุโมงค์เข้าไปสู่เรือน โดยทางเบื้องล่างแห่งคูดีบุกและขวากเหล็กทีเดียว แล้วส่งหัวหน้าโจรไปสู่สำนักของอุบาสิกานั้น ด้วยสั่งว่า "ถ้าว่าอุบาสิกานั้นได้ยินว่า พวกเราเข้าไปในที่นี้แล้ว กลับมุ่งหน้ามายังเรือน, ท่านจงฟันอุบาสิกานั้น ให้ตายเสียด้วยดาบ." หัวหน้าโจรนั้น ได้ไปยืนอยู่ในสำนักของอุบาสิกานั้น.

ฝ่ายพวกโจร จุดไฟให้สว่างในภายในเรือน แล้วเปิดประตูห้องเก็บกหาปณะ. นางทาสีนั้นเห็นพวกโจรแล้ว จึงไปสู่สำนักอุบาสิกา บอกว่า "คุณนาย โจรเป็นอันมากเข้าไปสู่เรือน งัดประตูห้องเก็บกหาปณะ แล้ว."

มหาอุบาสิกา. พวกโจรจงขนเอากหาปณะที่ตนค้นพบแล้วไปเถิด, เราจะฟังธรรมกถาแห่งบุตรของเรา, เจ้าอย่าทำอันตรายแก่ธรรมของเราเลย, เจ้าจงไปเรือนเสียเถิด.

ฝ่ายพวกโจร ทำห้องเก็บกหาปณะให้ว่างเปล่าแล้ว จึงงัดห้องเก็บเงิน. นางทาสีนั้นก็มาแจ้งเนื้อความแม้นั้นอีก. อุบาสิกาพูดว่า "พวกโจร

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 374

จงขนเอาทรัพย์ที่ตนปรารถนาไปเถิด, เราจะฟังธรรมกถาแห่งบุตรของเรา เจ้าอย่าทำอันตรายแก่เราเลย" แล้วก็ส่งนางทาสีนั้นออกไปอีก.

พวกโจรทำแม้ห้องเก็บเงินให้ว่างเปล่าแล้ว จึงงัดห้องเก็บทอง. นางทาสีนั้นก็ไปแจ้งเนื้อความนั้นแก่อุบาสิกาแม้อีก.

ครั้งนั้น อุบาสิกาเรียกนางทาสีมา แล้วพูดว่า "ชะนางตัวดี เจ้ามาสำนักเราหลายครั้งแล้ว แม้เราสั่งว่า พวกโจรจงขนเอาไปตามชอบใจเถิด, เราจะฟังธรรมกถาแห่งบุตรของเรา, เจ้าอย่าทำอันตรายแก่เราเลย ก็หาเอื้อเฟื้อถ้อยคำของเราไม่ ยังขืนมาซ้ำๆ ซากๆ ร่ำไป, ที่นี้ ถ้าเจ้าจักมา, เราจักรู้สิ่งที่ควรทำแก่เจ้า, เจ้าจงกลับบ้านเสียเถิด" แล้วส่งให้กลับ.

ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

นายโจรฟังถ้อยคำของอุบาสิกานั้นแล้ว คิดว่า "เมื่อพวกเรานำสิ่งของ ของหญิงเห็นปานนี้ไป, สายฟ้าพึงตกฟาดกระหม่อม" ดังนี้แล้ว จึงไปสำนักพวกโจร สั่งว่า "พวกท่านจงขนเอาสิ่งของ ของอุบาสิกาไปไว้ตามเดิมโดยเร็ว." โจรเหล่านั้น ให้ห้องเก็บกหาปณะเต็มด้วยกหาปณะ ให้ห้องเก็บเงินและทองเต็มไปด้วยเงินและทองแล้ว. ได้ยินว่า ความที่ธรรมย่อมรักษาบุคคลผู้ประพฤติธรรมเป็นธรรมดา, เพราะเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า :-

"ธรรมแล ย่อมรักษาบุคคลผู้ประพฤติธรรม, ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้, นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ผู้มีปกติประพฤติธรรม ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ."

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 375

พวกโจรได้ไปยืนอยู่ในที่เป็นที่ฟังธรรม. ฝ่ายพระเถระแสดงธรรมแล้ว เมื่อราตรีสว่าง จึงลงจากอาสนะ. ในขณะนั้นหัวหน้าโจรหมอบลงแทบเท้าของอุบาสิกา พูดว่า "คุณนาย โปรดอดโทษแก่ผมเถิด."

อุบาสิกา. นี้อะไรกัน พ่อ.

หัวหน้าโจร. ผมผูกอาฆาตในคุณนาย ประสงค์จะฆ่าคุณนาย จึงได้ยืน (คุม) อยู่.

อุบาสิกา. พ่อ ถ้าเช่นนั้น ฉันอดโทษให้.

พวกโจรเลื่อมใสขอบวชกะพระโสณะ

แม้พวกโจรที่เหลือ ก็ได้ทำอย่างนั้นเหมือนกัน เมื่ออุบาสิกาพูดว่า "พ่อทั้งหลาย ฉันอดโทษให้" จึงพูดว่า "คุณนาย ถ้าว่าคุณนายอดโทษ แก่พวกผมไซร้, ขอคุณนายให้ๆ บรรพชาแก่พวกผม ในสำนักแห่งบุตรของคุณนายเถิด." อุบาสิกานั้นไหว้บุตรแล้ว พูดว่า "พ่อ โจรพวกนี้ เลื่อมใสในคุณของโยม และธรรมกถาของคุณแล้ว จึงพากันขอบรรพชา, ขอคุณจงให้โจรพวกนี้บวชเถิด."

พระเถระพูดว่า "ดีละ" แล้วให้ตัดชายผ้าที่โจรเหล่านั้นนุ่งแล้ว ให้ย้อมด้วยดินแดง ให้พวกเขาบวชแล้ว ให้ตั้งอยู่ในศีล. แม้ในเวลาที่พวกเขาอุปสมบทแล้ว พระเถระได้ให้พระกัมมัฏฐานต่างๆ แก่ภิกษุเหล่านั้นร้อยละอย่าง. ภิกษุ ๙๐๐ รูปนั้นเรียนพระกัมมัฏฐาน ๙ อย่างต่างๆ กัน แล้วพากันขึ้นไปสู่ภูเขาลูกหนึ่ง นั่งทำสมณธรรมใต้ร่มไม้นั้นๆ แล้ว.

พระศาสดา ประทับนั่งอยู่ในพระเชตวันมหาวิหารอันไกลกันได้ ๑๒๐ โยชน์นั่นแล ทรงเล็งดูภิกษุเหล่านั้นแล้ว ทรงกำหนดพระธรรมเทศนา ด้วยอำนาจแห่งความประพฤติของเธอเหล่านั้น ทรงเปล่งพระรัศมีไป

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 376

ประหนึ่งว่าประทับนั่งตรัสอยู่ในที่เฉพาะหน้า ได้ทรงภาษิตพระคาถา เหล่านี้ว่า :-

๗. เมตฺตาวิหารี โย ภิกฺขุ ปสนฺโน พุทฺธสาสเน อธิคจฺเฉ ปทํ สนฺตํ สงฺขารูปสมํ สุขํ. สิญฺจ ภิกฺขุ อิมํ นาวํ สิตฺตา เต ลหุเมสฺสติ เฉตฺวา ราคญฺจ โทสญฺจ ตโต นิพฺพานเมหิสิ. ปญฺจ ฉินฺเท ปญฺจ ชเห ปญฺจ อุตฺตริ ภาวเย ปญฺจสงฺคาติโค ภิกฺขุ โอฆติณฺโณติ วุจฺจติ.

ฌาย ภิกฺขุ มา จ ปมาโท มา เต กามคุเณ ภมสฺสุ จิตฺตํ มา โลหคุฬํ คิลี ปมตฺโต มา กนฺทิ ทุกฺขมิทนฺติ ฑยฺหมาโน.

นตฺถิ ณานํ อปฺญฺสฺส ปญฺญา นตฺถิ อฌายโต ยมหิ ฌานญฺจ ปญฺญา จ ส เว นิพฺพานสนฺติเก. สุญฺาคารํ ปวิฏฺสฺส สนฺตจิตฺตสฺส ภิกฺขุโน อมานุสี รตี โหติ สมฺมา ธมฺมํ วิปสฺสโต. ยโต ยโต สมฺมสติ ขนฺธานํ อุทยพฺพยํ ลภตี ปีติปาโมชฺชํ อมตํ ตํ วิชานตํ ตตฺายมาทิ ภวติ อิธ ปญฺสฺส ภิกฺขุโน อินฺทฺริยคุตฺติ สนฺตุฏฺี ปาติโมกฺเข จ สํวโร มิตฺเต ภชสฺสุ กลฺยาเณ สุทฺธาชีเว อตนฺทิเต.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 377

ปฏิสนฺถารวุตฺตฺยสฺส อาจารกุสโล สิยา ตโต ปาโมชฺชพหุโล ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสติ.

"ภิกษุใด มีปกติอยู่ด้วยเมตตา เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา, ภิกษุนั้น พึงบรรลุบทอันสงบ เป็นที่เข้าไประงับสังขาร อันเป็นสุข. ภิกษุ เธอจงวิดเรือนี้, เรือที่เธอวิดแล้ว จักถึงเร็ว เธอตัดราคะและโทสะได้แล้ว แต่นั้นจักถึงพระนิพพาน. ภิกษุพึงตัดธรรม ๕ อย่าง พึงละธรรม ๕ อย่าง และพึงยังคุณธรรม ๕ ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น, ภิกษุผู้ล่วงกิเลสเครื่องข้อง ๕ อย่างได้แล้ว เราเรียกว่า ผู้ข้ามโอฆะได้. ภิกษุ เธอจงเพ่งและอย่าประมาท, จิตของเธออย่าหมุนไปในกามคุณ, เธออย่าเป็นผู้ประมาทกลืนกินก้อนแห่งโลหะ, เธออย่าเป็นผู้อันกรรมแผดเผาอยู่คร่ำครวญว่า "นี้ทุกข์." ฌานย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่มีปัญญา, ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน. ฌานและปัญญาย่อมมีในบุคคลใด, บุคคลนั้นแล ตั้งอยู่แล้วในที่ใกล้พระนิพพาน. ความยินดีมิใช่ของมีอยู่แห่งมนุษย์ ย่อมมีแก่ภิกษุผู้เข้าไปแล้วสู่เรือนว่าง ผู้มีจิตสงบแล้ว ผู้เห็นแจ้งธรรมอยู่โดยชอบ. ภิกษุพิจารณาอยู่ ซึ่งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลายโดยอาการใดๆ , เธอย่อมได้ปีติและปราโมทย์โดยอาการนั้นๆ, การได้ปีติและปราโมทย์

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 378

นั้น เป็นธรรมอันไม่ตายของผู้รู้แจ้งทั้งหลาย, ธรรมนี้ คือความคุ้มครองซึ่งอินทรีย์ ๑ ความสันโดษ ๑ ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ เป็นเบื้องต้น ในธรรมอันไม่ตายนั้น มีอยู่แก่ภิกษุผู้มีปัญญาในพระศาสนานี้. เธอจงคบมิตรที่ดีงาม มีอาชีวะอันหมดจด ไม่เกียจคร้าน. ภิกษุพึงเป็นผู้ประพฤติในปฏิสันถาร พึงเป็นผู้ฉลาดในอาจาระ เพราะเหตุนั้น เธอจักเป็นผู้มากด้วยปราโมทย์ กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เมตฺตาวิหารี ความว่า บุคคลผู้ทำกรรมในพระกัมมัฏฐานอันประกอบด้วยเมตตาอยู่ก็ดี ผู้ยังฌานหมวด ๓ และ หมวด ๔ ให้เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งเมตตาแล้วดำรงอยู่ก็ดี ชื่อว่า ผู้มีปกติ อยู่ด้วยเมตตาโดยแท้.

คำว่า ปสนฺโน ความว่า ก็ภิกษุใดเป็นผู้เลื่อมใสแล้ว, อธิบายว่า ย่อมปลูกฝังความเลื่อมใสลงในพระพุทธศาสนานั่นแล.

สองบทว่า ปทํ สนฺตํ นั่น เป็นชื่อแห่งพระนิพพาน. จริงอยู่ ภิกษุผู้เห็นปานนั้น ย่อมบรรลุ, อธิบายว่า ย่อมประสบโดยแท้ ซึ่งพระนิพพาน อันเป็นส่วนแห่งความสงบ ชื่อว่าเป็นที่เข้าไประงับสังขาร เพราะความที่สังขารทั้งปวงเป็นสภาพระงับแล้ว ซึ่งมีชื่ออันได้แล้วว่า "สุข" เพราะความเป็นสุขอย่างยิ่ง.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 379

บาทพระคาถาว่า สิญฺจ ภิกฺขุ อิมํ นาวํ ความว่า ภิกษุเธอจงวิดเรือ กล่าวคืออัตภาพนี้ ซึ่งมีน้ำคือมิจฉาวิตกทิ้งเสีย.

บาทพระคาถาว่า สิตฺตา เต ลหุเมสฺสติ ความว่า เหมือนอย่างว่า เรือที่เพียบแล้วด้วยน้ำในมหาสมุทรนั่นแล ชื่อว่าอันเขาวิดแล้ว เพราะความที่น้ำอันเขาปิดช่องทั้งหลายวิดแล้ว เป็นเรือที่เบา ไม่อัปปางในมหาสมุทร ย่อมแล่นไปถึงท่าได้เร็วฉันใด เรือคืออัตภาพแม้ของท่านนี้ ที่เต็มแล้วด้วยน้ำคือมิจฉาวิตกก็ฉันนั้น ชื่อว่าอันเธอวิดแล้ว เพราะความที่น้ำคือมิจฉาวิตก ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว อันเธอปิดช่องทั้งหลายมีจักษุทวารเป็นต้น ด้วยความสำรวม วิดออกแล้วจึงเบา ไม่จมลงในสังสารวัฏฏ์ จักพลันถึงพระนิพพาน.

บทว่า เฉตฺวา เป็นต้น ความว่า เธอจงตัดเครื่องผูกคือราคะและโทสะ, ครั้นตัดเครื่องผูกเหล่านั้นแล้ว จักบรรลุพระอรหัต, อธิบายว่าแต่นั้น คือในกาลต่อมา จักบรรลุอนุปาทิเสสนิพพาน.

สองบทว่า ปญฺจ ฉินฺเท คือ พึงตัดสังโยชน์อันมีในส่วนเบื้องต่ำ ๕ อย่าง อันยังสัตว์ให้ถึงอบายชั้นต่ำ ด้วยหมวด ๓ แห่งมรรคชั้นต่ำ ดุจบุรุษตัดเชือกอันผูกแล้วที่เท้าด้วยศัสตราฉะนั้น.

สองบทว่า ปญฺจ ชเห ความว่า พึงละ คือทิ้ง, อธิบายว่า พึงตัดสังโยชน์อันมีในส่วนเบื้องบน ๕ อย่าง อันยังสัตว์ให้ถึงเทวโลกชั้นสูงด้วยพระอรหัตตมรรค ดุจบุรุษตัดเชือกอันรัดไว้ที่คอฉะนั้น.

บาทพระคาถาว่า ปญฺจ อุตฺตริ ภาวเย คือ พึงยังอินทรีย์ ๕ มี ศรัทธาเป็นต้นให้เจริญยิ่ง เพื่อประโยชน์แก่การละสังโยชน์อันมีในส่วนเบื้องบน.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 380

บทว่า ปญฺจสงฺคาติโค ความว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุชื่อว่าผู้ล่วงกิเลสเครื่องข้อง ๕ อย่างได้ เพราะก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง คือราคะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฏฐิ ๕ อย่าง พระศาสดาตรัสเรียกว่า "ผู้ข้ามโอฆะได้" อธิบายว่า ภิกษุนั้น พระศาสดาตรัสเรียกว่า "ผู้ข้ามโอฆะ ๔ ได้แท้จริง."

สองบทว่า ฌาย ภิกฺขุ ความว่า ภิกษุ เธอจงเพ่งด้วยอำนาจแห่ง ฌาน ๒ (๑) และชื่อว่า อย่าประมาทแล้ว เพราะความเป็นผู้มีปกติไม่ประมาท ในกายกรรมเป็นต้นอยู่.

บทว่า ภมสฺสุ คือ จิตของเธอ จงอย่าหมุนไปในกามคุณ ๕ อย่าง.

บทว่า มา โลหคุฬํ ความว่า ก็ชนทั้งหลายผู้ประมาทแล้วด้วยความเลินเล่อมีปล่อยสติเป็นลักษณะ ย่อมกลืนกินก้อนโลหะที่ร้อนแล้วในนรก, เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าวกะเธอ เธออย่าเป็นผู้ประมาท กลืนกินก้อนโลหะ, อย่าถูกไฟแผดเผาในนรก คร่ำครวญว่า "นี้ทุกข์ นี้ทุกข์."

สองบทว่า นตฺถิ ฌานํ ความว่า ชื่อว่าฌาน ย่อมไม่มีแก่ผู้หาปัญญามิได้ ด้วยปัญญาเป็นเหตุพยายามอันยังฌานให้เกิดขึ้น.

สองบทว่า นตฺถิ ปญฺา ความว่า ก็ปัญญาซึ่งมีลักษณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ ย่อมเห็นตามความเป็นจริง" ย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่เพ่ง.

บาทพระคาถาว่า ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺา จ ความว่า ฌานและปัญญาแม้ทั้งสองนี้มีอยู่ในบุคคลใด, บุคคลนั้นชื่อว่าตั้งอยู่แล้วในที่ใกล้แห่งพระนิพพานโดยแท้ทีเดียว.


(๑) อารัมมณปนิชฌาน และลักขณปนิชฌาน.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 381

บาทพระคาถาว่า สุญฺาคารํ ปวิฏฺสฺส คือ ผู้ไม่ละพระกัมมัฏฐานนั่งอยู่ ด้วยการทำพระกัมมัฏฐานไว้ในใจในโอกาสที่สงัดบางแห่งนั่นแล.

บทว่า สนฺตจิตฺตสฺส คือ ผู้มีจิตอันสงบแล้ว.

บทว่า สมฺมา เป็นต้น ความว่า ความยินดีมิใช่เป็นของมีอยู่แห่งมนุษย์ กล่าวคือวิปัสสนาก็ดี ความยินดีอันเป็นทิพย์ กล่าวคือสมาบัติ ๘ ก็ดี ย่อมมี อธิบายว่า ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้เห็นแจ้งซึ่งธรรมโดยเหตุโดยการณ์.

บาทพระคาถาว่า ยโต ยโต สมฺมสติ ความว่า ทำกรรมในอารมณ์ ๓๘ ประการ โดยอาการใดๆ , คือทำกรรมในกาลทั้งหลาย มีกาลก่อนภัตเป็นต้น ในกาลใดๆ ที่ตนชอบใจแล้ว, หรือทำกรรมในพระกัมมัฏฐานที่ตนชอบใจแล้ว ชื่อว่าย่อมพิจารณาเห็น.

บทว่า อุทยพฺพยํ คือ ซึ่งความเกิดขึ้นแห่งขันธ์ ๕ โดยลักษณะ ๒๕ (๑) และความเสื่อมแห่งขันธ์ ๕ โดยลักษณะ ๒๕ (๒) เหมือนกัน.

บทว่า ปีติปาโมชฺชํ คือ เมื่อพิจารณาความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลายอย่างนั้นอยู่ ชื่อว่าย่อมได้ปีติในธรรมและปราโมทย์ในธรรม.

บทว่า อมตํ ความว่า เมื่อนามรูปพร้อมทั้งปัจจัย เป็นสภาพปรากฏตั้งขึ้นอยู่ ปีติและปราโมทย์ที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ชื่อว่าเป็นอมตะของ


(๑) รูปเกิดขึ้นเพราะอวิชชา ๒,... เพราะตัณหา ๓,... เพราะกรรม ๔,... เพราะอาหาร ๕, ความเกิดขึ้นของรูปอย่างเดียว ไม่อาศัยเหตุปัจจัย. ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เหมือนกัน ต่างแต่ข้อ ๔ ให้เปลี่ยนว่า เกิดขึ้นเพราะผัสสะ วิญญาณเกิดขึ้นเพราะนามรูป ๕x๕ จึงเป็น ๒๕.

(๒) ในลักษณะความเสื่อม พึงทราบโดยนัยตรงกันข้าม.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 382

ท่านผู้รู้ทั้งหลาย คือของผู้เป็นบัณฑิตโดยแท้ เพราะความที่ปีติและปราโมทย์เป็นธรรมที่ให้สัตว์ถึงอมตมหานิพพาน.

บาทพระคาถาว่า ตตฺรายมาทิ ภวติ คือ นี้เป็นเบื้องต้น คือปีติและปราโมทย์นี้ เป็นฐานะมีในเบื้องต้นในอมตธรรมนั้น.

สองบทว่า อิธ ปญฺสฺส คือ แก่ภิกษุผู้ฉลาดในพระศาสนานี้.

บัดนี้ พระศาสดาเมื่อจะทรงแสดงฐานะอันมีในเบื้องต้นที่พระองค์ ตรัสว่า "อาทิ" นั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า "อินฺทฺริยคุตฺติ." จริงอยู่ ปาริสุทธิศีล ๔ ชื่อว่า เป็นฐานะมีในเบื้องต้น.

ความสำรวมอินทรีย์ ชื่อว่า อินฺทฺริยคุตฺติ ในพระคาถานั้น. ความสันโดษด้วยปัจจัย ๔ ชื่อว่า สนฺตุฏฺิ อาชีวปาริสุทธิศีลและปัจจยสันนิสิตศีล พระศาสดาตรัสไว้ด้วยบทว่า สนฺตุฏฺิ นั้น.

ความเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีลที่ประเสริฐสุด กล่าวคือพระปาติโมกข์ พระศาสดาตรัสไว้ด้วยบทว่า ปาติโมกฺเข.

บาทพระคาถาว่า มิตฺเต ภชสฺสุ กลฺยาเณ ความว่า ท่านละสหาย ผู้ไม่สมควร มีการงานอันสละแล้ว จงคบ คือ จงเสพ มิตรที่ดีงาม ผู้ชื่อว่า มีอาชีวะอันบริสุทธิ์ เพราะมีชีวิตประกอบด้วยสาระ และชื่อว่า ผู้ไม่เกียจคร้าน เพราะอาศัยกำลังแข้งเลี้ยงชีพ.

บาทพระคาถาว่า ปฏิสนฺถารวุตฺยสฺส คือ พึงเป็นผู้ชื่อว่าประพฤติในปฏิสันถาร เพราะความเป็นผู้ประพฤติเต็มที่แล้วด้วยอามิสปฏิสันถาร และธรรมปฏิสันถาร, อธิบายว่า พึงเป็นผู้ทำปฏิสันถาร.

บทว่า อาจารกุสโล ความว่า แม้ศีลก็ชื่อว่า มรรยาท ถึงวัตรปฏิวัตร

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 383

ก็ชื่อว่า มรรยาท, พึงเป็นผู้ฉลาด, อธิบายว่า พึงเป็นผู้เฉียบแหลม ในมรรยาทนั้น.

บาทพระคาถาว่า ตโต ปาโมชฺชพหุโล ความว่า เธอชื่อว่าเป็นผู้ มากด้วยปราโมทย์ เพราะความเป็นผู้บันเทิงในธรรม อันเกิดขึ้นแล้วจากการประพฤติปฏิสันถาร และจากความเป็นผู้ฉลาดในมรรยาทนั้น จักทำที่สุดแห่งวัฏทุกข์แม้ทั้งสิ้นได้.

บรรดาบทพระคาถาเหล่านี้ ที่พระศาสดาทรงแสดงด้วยอย่างนี้ ในกาลจบพระคาถาหนึ่งๆ ภิกษุร้อยหนึ่งๆ บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ในที่แห่งตนนั่งแล้วๆ นั่นแล เหาะขึ้นไปสู่เวหาสแล้ว ภิกษุเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ก้าวล่วงทางกันดาร ๑๒๐ โยชน์ทางอากาศนั่นแล ชมเชยพระสรีระซึ่งมีสีดุจทองของพระตถาคตเจ้า ถวายบังคมพระบาทแล้ว ดังนี้แล.

เรื่องสัมพหุลภิกษุ จบ.