พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๑. เรื่องพระวักกลิเถระ [๒๖๒]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35069
อ่าน  613

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 392

๑๑. เรื่องพระวักกลิเถระ [๒๖๒]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 392

๑๐. เรื่องพระวักกลิเถระ [๒๖๒]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพระวักกลิเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ปาโมชฺชพหุโล ภิกฺขุ" เป็นต้น.

ผู้เห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระตถาคต

ดังได้สดับมา ท่านวักกลิเถระนั้น เกิดในตระกูลพราหมณ์ในกรุงสาวัตถี เจริญวัยแล้ว, เห็นพระตถาคตเสด็จเข้าไปเพื่อบิณฑบาต แลดูพระสรีระสมบัติของพระศาสดาแล้ว ไม่อิ่มด้วยการเห็นพระสรีระสมบัติ, จึงบรรพชาในสำนักพระศาสดา ด้วยเข้าใจว่า "เราจักได้เห็นพระตถาคตเจ้าเป็นนิตยกาล ด้วยอุบายนี้" ดังนี้แล้ว, ก็ยืนอยู่ในที่อันตนยืนอยู่แล้ว สามารถเพื่อจะแลเห็นพระทศพลได้, ละกิจวัตรทั้งหลาย มีการสาธยาย และมนสิการในพระกัมมัฏฐานเป็นต้น เที่ยวมองดูพระศาสดาอยู่.

พระศาสดาทรงรอความแก่กล้าแห่งญาณของท่านอยู่ จึงไม่ตรัสอะไร (ต่อ) ทรงทราบว่า "บัดนี้ ญาณของเธอถึงความแก่กล้าแล้ว" จึงตรัสโอวาทว่า "วักกลิ ประโยชน์อะไรของเธอ ด้วยการเฝ้าดูกายเน่านี้, วักกลิ คนใดแลเห็นธรรม, คนนั้น (ชื่อว่า) เห็นเรา (ผู้ตถาคต) คนใดเห็นเรา (ผู้ตถาคต), คนนั้น (ชื่อว่า) เห็นธรรม."

พระวักกลินั้น แม้อันพระศาสดาสอนแล้วอย่างนั้น ก็ไม่อาจเพื่อละการดูพระศาสดาไปในที่อื่นได้เลย.

ครั้งนั้น พระศาสดาทรงดำริว่า "ภิกษุนี้ ไม่ได้ความสังเวชแล้ว

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 393

จักไม่ได้ตรัสรู้ (๑) " เมื่อวัสสูปนายิกสมัย ใกล้เข้ามาแล้ว จึงเสด็จไปสู่กรุงราชคฤห์ ในวันเข้าพรรษา ทรงขับไล่ท่านด้วยพระดำรัสว่า "วักกลิ เธอจงหลีกไป." ท่านคิดว่า "พระศาสดา ไม่รับสั่งกะเรา" ไม่อาจเพื่อดำรงอยู่ ณ ที่ตรงพระพักตร์ของพระศาสดาได้ตลอดไตรมาส จึงคิดว่า "ประโยชน์อะไรของเราด้วยชีวิต, เราจักให้ตนตกจากภูเขาเสีย" ดังนี้ แล้ว จึงขึ้นภูเขาคิชฌกูฏ. พระศาสดาทรงทราบความเมื่อยล้าของท่าน แล้วทรงดำริว่า "ภิกษุนี้ เมื่อไม่ได้ความปลอบโยนจากสำนักของเรา, พึงยังอุปนิสัยแห่งมรรคและผลทั้งหลายให้ฉิบหาย" จึงทรงเปล่งพระรัศมี ไปแล้ว เพื่อจะทรงแสดงพระองค์ (ให้ปรากฏ).

ลำดับนั้น จำเดิมแต่เวลาท่านเห็นพระศาสดาแล้ว ความเศร้าโศก แม้มากถึงเพียงนั้น หายไปแล้ว.

พระศาสดาเป็นประดุจว่ายังสระที่แห้งให้เต็มด้วยน้ำ เพื่อทรงยังปีติ และปราโมทย์อันมีกำลังให้เกิดแก่พระเถระ จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

๑๑. ปาโมชฺชพหุโล ภิกฺขุ ปสนฺโน พุทฺธสาสเน อธิคจฺเฉ ปทํ สนฺตํ สงฺขารูปสมํ สุขํ.

"ภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์ เลื่อมใสแล้วในพระพุทธศาสนา พึงบรรลุสันตบท เป็นที่เข้าไปสงบ สังขาร เป็นสุข."

แก้อรรถ

พึงทราบเนื้อความแห่งพระคาถานั้นว่า :-


(๑) น พุชฺฌิสฺสติ แปลว่า จักไม่รู้สึกตัวก็ได้ อธิบายว่า มัวแต่พะวงอยู่ด้วยการดูพระรูปพระศาสดา ความรู้สึกตัว เพื่อจะทำความเพียร บรรลุธรรมพิเศษ ย่อมไม่มี.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 394

ภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์ แม้โดยปกติ ย่อมปลูกความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา, ภิกษุนั่นเลื่อมใส (ในพระพุทธศาสนา) แล้วอย่างนั้น พึงบรรลุพระนิพพานในพระพุทธศาสนา อันได้ชื่อว่า "สันตบท เป็นที่เข้าไปสงบสังขาร เป็นสุข."

ก็แลพระศาสดาครั้นตรัสพระคาถานี้แล้ว ทรงเหยียดพระหัตถ์ ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้แก่พระวักกลิเถระว่า :-

"มาเถิด วักกลิ เธออย่ากลัว จงแลดูพระตถาคต, เราจักยกเธอขึ้น เหมือนบุคคลพยุงช้างตัวจมในเปือกตมขึ้นฉะนั้น. มาเถิด วักกลิ เธออย่ากลัว จงแลดูพระตถาคต, เราจักยกเธอขึ้น เหมือนบุคคลที่ ช่วยพระจันทร์ที่ถูกราหูจับฉะนั้น."

ท่านยังปีติอย่างแรงกล้าให้เกิดขึ้นแล้วว่า "เราได้เห็นพระทศพลแล้ว" และคำร้องเรียกว่า "มาเถิด" จึงคิดว่า "เราพึงไปโดยทางไหนหนอ" เมื่อไม่เห็นทางเป็นที่ไป จึงเหาะขึ้นไปในอากาศในที่เฉพาะพระพักตร์พระทศพล เมื่อเท้าทีแรกตั้งอยู่ที่ภูเขานั่นแล, นึกถึงพระคาถาที่พระศาสดาตรัสแล้ว ข่มปีติได้ในอากาศนั่นแล บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลายแล้ว ถวายบังคมพระตถาคตอยู่นั่นแล ได้ลงมายืนอยู่ในสำนักพระศาสดาแล้ว.

ครั้นในกาลต่อมา พระศาสดาทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสัทธาธิมุต ดังนี้แล.

เรื่องพระวักกลิเถระ จบ.