พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. เรื่องพระนางมหาปชาบดีโคตมี [๒๗๑]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35079
อ่าน  464

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 442

๘. เรื่องพระนางมหาปชาบดีโคตมี [๒๗๑]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 442

๘. เรื่องพระนางมหาปชาบดีโคตมี [๒๗๑]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระนางมหาปชาบดีโคตมี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ยสฺส กาเยน" เป็นต้น.

พระศาสดาทรงบัญญัติครุธรรม ๘

ความพิสดารว่า พระนางมหาปชาบดีโคตมีพร้อมกับบริวารรับครุธรรม ๘ ประการ (๑) อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแล้ว ในเมื่อเรื่องยังไม่เกิดขึ้น เหมือนบุรุษผู้มีชาติมักประดับรับพวงดอกไม้หอมด้วยเศียรเกล้า ได้อุปสมบทแล้ว. อุปัชฌายะหรืออาจารย์อื่นของพระนางไม่มี. ภิกษุทั้งหลาย ปรารภพระเถรีผู้มีอุปสมบทอันได้แล้วอย่างนั้น โดยสมัยอื่น สนทนากันว่า "อาจารย์และอุปัชฌายะของพระนางมหาปชาบดีโคตมี ย่อมไม่ปรากฏ, พระนางถือเอาผ้ากาสายะทั้งหลายด้วยมือของตนเอง."

ก็แล ครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว ภิกษุณีทั้งหลายประพฤติรังเกียจอยู่ ย่อมไม่ทำอุโบสถ ไม่ทำปวารณาร่วมกับพระนางเลย. ภิกษุณีทั้งหลายนั้น ไปกราบทูลเนื้อความนั้นแม้แด่พระตถาคตแล้ว.

คนที่ควรเรียกว่าพราหมณ์

พระศาสดาทรงสดับคำของภิกษุณีเหล่านั้นแล้ว จึงตรัสว่า "ครุธรรม ๘ ประการ เราให้แล้วแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี, เราเองเป็นอาจารย์


(๑) ภิกษุณีถึงมีพรรษาตั้ง ๑๐๐ ต้องกราบไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทให้วันนั้น ๑. ต้องอยู่จำพรรษาในอาวาสภิกษุ ๑. ต้องหวังต่อธรรมทั้ง ๒ คือ ถามอุโบสถและไปรับโอวาทจากภิกษุสงฆ์ทุกกิ่งเดือน ๑. ออกพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ๑. ต้องครุธรรมแล้ว พึงประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ๑. ต้องแสวงหาอุปสมบทแก่นางสิกขมานาผู้ศึกษาในธรรม ๖ สิ้น ๒ ปี แล้ว ในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ๑. ด่าแช่งภิกษุไม่ได้ ๑. ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีสอนภิกษุ เปิดทางให้ภิกษุ กล่าวสอนอย่างเดียว ๑. วิ. จุลล. ๗/๓๓๒.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 443

เราเองเป็นอุปัชฌายะของพระนาง, ชื่อว่าความรังเกียจในพระขีณาสพทั้งหลาย ผู้เว้นแล้วจากทุจริตทั้งหลายมีกายทุจริตเป็นต้น อันเธอทั้งหลาย ไม่ควรทำ" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-

๘. ยสฺส กาเยน วาจาย มนสา นตฺถิ ทุกฺกตํ สํวุตํ ตีหิ าเนหิ ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ.

"ความชั่วทางกาย วาจา และใจ ของบุคคลใดไม่มี, เราเรียกบุคคลนั้น ผู้สำรวมแล้วโดยฐานะ ๓ ว่า เป็นพราหมณ์."

แก้อรรถ

กรรมมีโทษ คือมีทุกข์เป็นกำไร อันยังสัตว์ให้เป็นไปในอบาย ชื่อว่า ทุกฺกตํ ในพระคาถานั้น.

สองบทว่า ตีหิ าเนหิ ความว่า เราเรียกบุคคลผู้มีทวารอันปิดแล้ว เพื่อต้องการห้ามความเข้าไปแห่งทุจริตเป็นต้น โดยเหตุ ๓ มีกาย เป็นต้นเหล่านั้นว่า เป็นพราหมณ์.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องพระนางมหาปชาบดีโคตมี จบ.