๑๕. เรื่องพราหมณ์ ๒ คน [๒๗๘]
[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 459
๑๕. เรื่องพราหมณ์ ๒ คน [๒๗๘]
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 459
๑๕. เรื่องพราหมณ์ ๒ คน [๒๗๘]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพราหมณ์ ๒ คน ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "เฉตฺวา นทฺธิํ" เป็นต้น.
พราหมณ์สองคนเอาโคแข่งขันกัน
ได้ยินว่า ในพราหมณ์สองคนนั้น พราหมณ์คนหนึ่งมีโคชื่อว่า จูฬโรหิต, คนหนึ่งมีโคชื่อว่ามหาโรหิต.
ในวันหนึ่ง เขาทั้งสองเถียงกันว่า "โคของท่านแข็งแรง หรือโคของเราแข็งแรง" ดังนี้แล้ว ต่างกล่าวกันว่า "ประโยชน์อะไรของเราทั้งหลาย ด้วยการเถียงกัน, เราแข่งกันแล้ว จักรู้" ยังเกวียนให้เต็มด้วยทรายที่ฝั่งแม่น้ำอจิรวดี แล้วเทียมโค.
ในขณะนั้น แม้ภิกษุทั้งหลายก็ได้ไปแล้วในที่นั้น เพื่อสรงน้ำ. พราหมณ์ทั้งหลายแข่งโคกันแล้ว. เกวียนได้หยุดนิ่งอยู่, ส่วนชะเนาะและเชือกทั้งหลายขาดแล้ว.
ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว ไปยังวิหาร กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระศาสดา.
ควรตัดชะเนาะและเชือกภายใน
พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ชะเนาะและเชือกนั่นเป็นแต่ภายนอก, คนใดคนหนึ่งก็ตัดชะเนาะและเชือกเหล่านั้นได้ทั้งนั้น, ฝ่ายภิกษุตัดชะเนาะคือความโกรธ และเชือกคือตัณหาอันเป็นไปภายใน ควร" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 460
๑๕. เฉตฺวา นทฺธิํ วรตฺตญฺจ สนฺทา (๑) นํ สหนุกฺกมํ อุกฺขิตฺตปลิฆํ พุทฺธํ ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ.
"เราเรียกบุคคลผู้ตัดชะเนาะเชือก และเครื่องต่อพร้อมทั้งหลาย ผู้มีลิ่มสลักอันถอนขึ้นแล้ว ผู้รู้แล้วนั้นว่า เป็นพราหมณ์."
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นทฺธิํ ได้แก่ ความโกรธอันเป็นไปโดยความเป็นเครื่องผูกรัด.
บทว่า วรตฺตํ ได้แก่ ตัณหาอันเป็นไปโดยความเป็นเครื่องผูก.
บาทพระคาถาว่า สนฺธานํ สหนุกฺกมํ เป็นต้น ความว่า เราเรียกบุคคลผู้ตัดเครื่องต่อคือทิฏฐิ ๖๒ (๒) อันประกอบด้วยสายคืออนุสัย แม้ทั้งปวงนี้ตั้งอยู่แล้ว ผู้ชื่อว่า มีลิ่มสลักอันถอนขึ้นแล้ว เพราะความที่ลิ่มสลักคือ อวิชชาเป็นของอันตนถอนขึ้นแล้ว ผู้ชื่อว่า รู้แล้วเพราะรู้สัจจะ ๔ นั้นว่า เป็นพราหมณ์.
ในกาลจบเทศนา ภิกษุ ๕๐๐ รูปตั้งอยู่ในพระอรหัตตผลแล้ว. เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่ชนผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล.
เรื่องพราหมณ์ ๒ คน จบ.
(๑) ม. โป. และ อรรถกถา เป็น สนฺธานํ.
(๒) ที. สี. ๙/๔๙.