พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๖. เรื่องอักโกสกภารทวาชพราหมณ์ [๒๗๙]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35088
อ่าน  877
  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 461

๑๖. เรื่องอักโกสกภารทวาชพราหมณ์ [๒๗๙]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภอักโกสกภารทวาชพราหมณ์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อกฺโกสํ" เป็นต้น.

นางธนัญชานีถูกด่า

ความพิสดารว่า นางพราหมณีชื่อธนัญชานี ของภารทวาชพราหมณ์ ผู้พี่ชายของอักโกสกภารทวาชพราหมณ์ ได้เป็นโสดาบันแล้ว. นางจามก็ดี ไอก็ดี พลาดก็ดี เปล่งอุทานนี้ว่า "นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส (ความนอบน้อม จงมีแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ พระองค์นั้น)."

วันหนึ่ง ในเวลาที่อังคาสพราหมณ์ นางพลาดแล้ว เปล่งอุทาน ขึ้นอย่างนั้นนั่นแล ด้วยเสียงอันดัง. พราหมณ์โกรธแล้ว กล่าวว่า "หญิงถ่อยนี้ พลาดแล้วในที่ใดที่หนึ่ง ย่อมกล่าวสรรเสริญพระสมณะหัวโล้นนั้น อย่างนี้ทุกที" ดังนี้แล้ว กล่าวว่า "หญิงถ่อย บัดนี้ข้าจักไปยกวาทะต่อศาสดานั้นของเจ้า."

ลำดับนั้น นางจึงกล่าวกะพราหมณ์นั้นว่า "จงไปเถิดพราหมณ์ ดิฉันไม่เห็นบุคคลผู้จะยกวาทะต่อพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นได้. เออ ก็ครั้นไปแล้ว จงทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาคเจ้า." เขาไปสู่สำนักพระศาสดา ไม่ถวายบังคมเลย ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้ว, เมื่อจะทูลถามปัญหา จึงกล่าวคาถานี้ว่า:-

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 462

"บุคคลฆ่าอะไรได้สิ จึงอยู่เป็นสุข, ฆ่าอะไรได้สิ จึงไม่เศร้าโศก, ข้าแต่พระโคดม พระองค์ย่อมชอบใจซึ่งการฆ่าธรรมอะไรสิ ซึ่งเป็นธรรมอันเอก."

ลำดับนั้น พระศาสดาเมื่อจะทรงพยากรณ์ปัญหาแก่เขา จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

"บุคคลฆ่าความโกรธได้แล้ว จึงอยู่เป็นสุข. ฆ่าความโกรธได้แล้วจึงไม่เศร้าโศก, พราหมณ์ พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญการฆ่าความโกรธ อันมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน, เพราะบุคคลนั้นฆ่าความโกรธนั้นได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก."

พราหมณ์ ๔ คนบรรลุพระอรหัตตผล

เขาเลื่อมใสในพระศาสดา บวชแล้วบรรลุพระอรหัต.

ครั้งนั้น อักโกสกภารทวาชพราหมณ์ผู้น้องชายของเขา ได้ฟังว่า "ได้ยินว่า พี่ชายของเราบวชแล้ว" ก็โกรธ จึงมาด่าพระศาสดาด้วยวาจาหยาบคาย ซึ่งมิใช่วาจาสัตบุรุษ. แม้เขาก็ถูกพระศาสดาให้รู้สำนึกแล้ว ด้วยข้ออุปมาด้วยการให้ของควรเคี้ยวเป็นต้นแก่แขกทั้งหลาย เลื่อมใสในพระศาสดา บวชแล้วบรรลุพระอรหัต.

น้องชายทั้งสองของเธอแม้อื่นอีก คือสุนทริกภารทวาชะ พิลังคกภารทวาชะ (พากัน) ด่าพระศาสดาเหมือนกัน อันพระศาสดาทรงแนะนำบวชแล้วบรรลุพระอรหัต.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 463

ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย คุณของพระพุทธเจ้าน่าอัศจรรย์หนอ เมื่อพราหมณ์พี่น้องชาย ทั้ง ๔ ด่าอยู่, พระศาสดาไม่ตรัสอะไรๆ กลับเป็นที่พึ่งของพราหมณ์ เหล่านั้นอีก."

พระศาสดาเป็นที่พึ่งของมหาชน

พระศาสดา เสด็จมาแล้วตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอ นั่งประชุมกันด้วยกถาอะไรหนอ" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ด้วยกถาชื่อนี้" จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราไม่ประทุษร้าย ในชนทั้งหลายผู้ประทุษร้าย เพราะความที่เราประกอบด้วยกำลังคือขันติ ย่อมเป็นที่พึ่งของมหาชนโดยแท้ ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

๑๖. อกฺโกสํ วธพนฺธญฺจ อทุฏฺโ โย ติติกฺขติ ขนฺตีพลํ พลาณีกํ ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ.

"ผู้ใด ไม่ประทุษร้าย อดกลั้นซึ่งคำด่าและการตีและการจำจองได้, เราเรียกผู้นั้น ซึ่งมีกำลังคือขันติ มีหมู่พลว่า เป็นพราหมณ์."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อทุฏฺโ เป็นต้น ความว่า ผู้ใดเป็นผู้มีใจไม่โกรธ อดกลั้นคำด่าและคำบริภาษ ด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ และการตีด้วยฝ่ามือเป็นต้น และการจำด้วยเครื่องจำคือขื่อเป็นต้น, เราเรียกผู้นั้น คือผู้เห็นปานนั้น ซึ่งชื่อว่ามีกำลังคือขันติ เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยกำลังคือขันติ ผู้ชื่อว่ามีหมู่พล เพราะความเป็นผู้ประกอบ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 464

ด้วยกำลังคือขันติ อันเป็นหมู่ เพราะเกิดขึ้นบ่อยๆ นั่นแล ว่า เป็นพราหมณ์.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องอักโกสกภารทวาชพราหมณ์ จบ.