พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒๑. เรื่องพระติสสเถระอยู่ในเงื้อมเขา [๒๘๔]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35093
อ่าน  462

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 474

๒๑. เรื่องพระติสสเถระอยู่ในเงื้อมเขา [๒๘๔]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 474

๒๑. เรื่องพระติสสเถระอยู่ในเงื้อมเขา [๒๘๔]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระติสสเถระ ผู้อยู่ในเงื้อมเขา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อสํสฏฺิ" เป็นต้น.

เทพดากลัวผู้มีศีลบริสุทธิ์

ได้ยินว่า พระเถระนั้นเรียนกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดาแล้ว เข้าไปสู่ป่า พลางตรวจดูเสนาสนะเป็นที่สบาย ถึงเงื้อมถ้ำแห่งหนึ่ง. ในขณะที่ท่านถึงนั้นเอง จิตของท่านได้ (ถึง) ความเป็นธรรมชาติแน่แน่วแล้ว. ท่านคิดว่า "เราเมื่ออยู่ในที่นี้ จักสามารถเพื่อให้กิจแห่งบรรพชิตสำเร็จได้."

เทพดาผู้สิงอยู่แม้ที่ถ้ำคิดว่า "ภิกษุผู้มีศีลมาแล้ว, การที่เราอยู่ในที่แห่งเดียวกันกับภิกษุนี้ ลำบาก ก็ภิกษุนี้จักอยู่ในที่สิ้นราตรีหนึ่งเท่านั้น ก็จักจากไป" จึงพาบุตรทั้งหลายออกไป.

ในวันรุ่งขึ้น พระเถระเข้าไปสู่โคจรคามแต่เช้าตรู่ เพื่อบิณฑบาต.

ครั้งนั้น อุบาสิกาคนหนึ่งเห็นท่านแล้ว กลับได้ความรักเพียงดังบุตรแล้ว นิมนต์ให้นั่งในเรือน ให้ฉันแล้ว อ้อนวอนเพื่อต้องการให้อาศัยตนอยู่ตลอด ๓ เดือน. ฝ่ายท่านก็รับ ด้วยคิดว่า "เราอาศัยอุบาสิกานี้ สามารถเพื่อทำการสลัดออกจากภพได้" ดังนี้แล้ว ได้ไปยังถ้ำนั้นแล.

เทพดาเห็นท่านกำลังเดินมา คิดว่า "พระเถระนี้จักเป็นผู้อันใครๆ นิมนต์ไว้แน่แท้, ท่านคงจักไปในวันพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้."

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 475

เทพยดาคิดอุบายให้ภิกษุไปจากที่นั้น

เมื่อเวลาประมาณกึ่งเดือนล่วงไปแล้วอย่างนี้, เทพดาก็คิดว่า "ภิกษุนี้ เห็นจักอยู่ในที่นี้จริงๆ สิ้นภายในฤดูฝน, ก็การที่เรากับบุตรน้อยทั้งหลายอยู่ในที่อันเดียวกันกับผู้มีศีล เป็นการทำได้ยาก. อนึ่งเราไม่อาจจะกล่าวกะภิกษุนี้ว่า ท่านจงออกไปเสีย ดังนี้ได้, ความพลั้งพลาดในศีลของภิกษุนี้มีอยู่ไหมหนอ" ดังนี้แล้ว ตรวจดูอยู่ด้วยทิพยจักษุ ก็ยังไม่เห็นความพลั้งพลาดในศีลของท่าน ตั้งแต่เวลาอุปสมบท จึงคิดว่า "ศีลของท่านบริสุทธิ์, เราจักทำเหตุบางอย่างนั่นเทียว ให้ความเสื่อมเสียเกิดขึ้นแก่ท่าน" ดังนี้แล้ว จึง (เข้าไป) สิงในสรีระของบุตรคนใหญ่ของอุบาสิกา ในตระกูลอุปัฏฐาก บิดคอแล้ว. นัยน์ตาทั้งสองของบุตรนั้นเหลือกแล้ว, น้ำลายไหลออกจากปาก. อุบาสิกาเห็นบุตรนั้นแล้ว ร้องว่า "นี้อะไรกัน"

ครั้งนั้น เทพดามีรูปไม่ปรากฏ กล่าวกะอุบาสิกานั้นอย่างนี้ว่า "บุตรนั่นเราจับไว้แล้ว, เราไม่มีความต้องการแม้ด้วยพลีกรรม, แต่ท่านจงขอชะเอมเครือกะพระเถระผู้เข้าถึงตระกูลของท่านแล้ว เอาชะเอมเครือนั้น ทอดน้ำมันแล้ว จงให้แก่บุตรนี้โดยวิธีนัดถุ์เถิด, เมื่อทำอย่างนี้ เราจึง จักปล่อยบุตรนี้."

อุบาสิกา. บุตรนั่น จงฉิบหายหรือตายไปก็ตามเถิด, ฉันไม่อาจจะขอชะเอมเครือกะพระผู้เป็นเจ้าได้.

เทพดา. ถ้าท่านไม่อาจจะขอชะเอมเครือไซร้, ท่านจงบอกเพื่อใส่ผงหิงคุลงในจมูกของบุตรนั้น.

อุบาสิกา. ฉันไม่อาจเพื่อกล่าวคำแม้อย่างนี้ได้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 476

เทพดา. ถ้าอย่างนั้น ท่านจงเทน้ำล้างเท้าของพระเถระนั้น ลงบน ศีรษะ (บุตร) เถิด.

อุบาสิกากล่าวว่า "ฉันอาจทำข้อนี้ได้," นิมนต์ให้พระเถระผู้มาตามเวลานั่งแล้ว ถวายข้าวยาคูและของเคี้ยว ล้างเท้าของพระเถระผู้นั่งอยู่ในระหว่างภัต รองเอาน้ำไว้แล้ว เรียนให้ทราบว่า "ท่านผู้เจริญ ฉันจะรดน้ำนี้ลงบนศีรษะของเด็ก," เมื่อท่านอนุญาตว่า "จงรดเถิด," ได้ทำ อย่างนั้นแล้ว. เทพดาปล่อยเด็กนั้นในขณะนั้นเอง แล้วได้ไปยืนอยู่ที่ประตูถ้ำ

แม้พระเถระ ในเวลาเสร็จภัตกิจ ลุกจากอาสนะ สาธยายอาการ ๓๒ อยู่เทียว เพราะความที่ท่านเป็นผู้ไม่ละเลยกัมมัฏฐาน หลีกไปแล้ว.

ครั้นในเวลาท่านถึงประตูถ้ำ เทพดานั้นกล่าวกะท่านว่า "พ่อหมอใหญ่ ท่านอย่าเข้ามาในที่นี้." ท่านยืนอยู่ ณ ที่นั้นเอง กล่าวว่า "ท่านเป็นใคร"

เทพดา. ข้าพเจ้าเป็นเทพดาผู้สิงอยู่ในที่นี้.

พระเถระคิดว่า "ที่อันเราทำเวชกรรมมีอยู่หรือหนอแล" ดังนี้แล้ว ตรวจดูจำเดิมแต่กาลอุปสมบท ก็ยังไม่เห็นความเศร้าหมองหรือด่างพร้อยในศีลของตน จึงกล่าวว่า "ข้าพเจ้าไม่เห็นที่ที่ข้าพเจ้าทำเวชกรรมเลย, ท่านกล่าวอย่างนี้ เพราะเหตุไร"

เทพดา. ท่านไม่เห็นหรือ

พระเถระ. เออ เราไม่เห็น.

เทพดา. ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าจะบอกแก่ท่าน.

พระเถระ. (เชิญ) ท่านจงบอก.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 477

เทพดา. การพูดในสิ่งที่ไกลจงยกไว้ก่อนเถิด, ในวันนี้เอง ท่านรดน้ำล้างเท้าแก่บุตรของอุปัฏฐาก ซึ่งถูกอมนุษย์สิงแล้ว บนศีรษะ หรือไม่ได้รด.

พระเถระ. เออ เราได้รด.

เทพดา. นั่นเป็นไรเล่า ท่านไม่เห็นหรือ

พระเถระ. ท่านกล่าวประสงค์เหตุนั่นหรือ

เทพดา. จ้ะ ข้าพเจ้ากล่าวประสงค์เหตุนั่น.

ผู้มีศีลบริสุทธิ์ไม่ต้องร้อนใจ

พระเถระคิดว่า "โอหนอ ตนเราตั้งไว้ชอบแล้ว, เราประพฤติสมควรแก่ศาสนาแล้วจริง, แม้เทพดามิได้เห็นความเศร้าหมองหรือด่างพร้อยในจตุปาริสุทธิศีลของเรา ได้เห็นแต่เพียงน้ำล้างเท้า อันเรารดแล้ว บนศีรษะของทารก." ปีติมีกำลังเพราะปรารภศีลเกิดขึ้นแล้วแก่ท่าน. ท่านข่มปีติอันมีกำลังนั้นไว้แล้ว ไม่ทำแม้การยกเท้าขึ้น บรรลุพระอรหัตในที่นั้นนั่นเอง แล้วกล่าวว่า "ท่านประทุษร้ายสมณะผู้บริสุทธิ์เช่นเรา, ท่านอย่าอยู่ในชัฏแห่งป่านี้, ท่านนั่นแล จงออกไปเสีย" เมื่อจะสอนเทวดา จึงเปล่งอุทานนี้ว่า :-

"การอยู่ของเราบริสุทธิ์แล้วหนอ, ท่านอย่าประทุษร้ายเราผู้ไม่มีมลทิน ผู้มีตบะ ผู้บริสุทธิ์แล้ว, ท่านจงออกจากป่าใหญ่เสียเถิด."

ท่านอยู่ในที่นั้นนั่นแล ตลอดไตรมาส ออกพรรษาแล้วไปยังสำนักพระศาสดา ถูกภิกษุทั้งหลายถามว่า "ผู้มีอายุ กิจแห่งบรรพชิตท่านให้

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 478

ถึงที่สุดแล้วหรือ" จึงบอกเรื่องนั้นทั้งหมด จำเดิมแต่การเข้าจำพรรษาในถ้ำนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย, เมื่อภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า "ผู้มีอายุ ท่านถูกเทพดาว่ากล่าวอยู่อย่างนั้น ไม่โกรธหรือ" กล่าวว่า "ผมไม่โกรธ."

ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระตถาคตว่า "พระเจ้าข้า ภิกษุนี้ย่อมพยากรณ์พระอรหัตตผล, แม้ถูกเทพดาว่ากล่าวคำชื่อนี้อยู่ ย่อมกล่าวได้ว่า "เราไม่โกรธ."

ลักษณะพราหมณ์ในพระพุทธศาสนา

พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของพระภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราย่อมไม่โกรธเลย, เพราะขึ้นชื่อว่าความเกี่ยวข้องด้วยคฤหัสถ์หรือด้วยบรรพชิตทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่บุตรของเรานั่น, บุตรของเรานั่น ไม่เกี่ยวข้อง ปรารถนาน้อย สันโดษ" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

๒๑. อสํสฏฺํ คหฏฺเหิ อนาคาเรหิ จูภยํ อโนกสาริํ อปฺปิจฺฉํ ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ.

"เราเรียกบุคคลผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยชน ๒ จำพวก คือคฤหัสถ์ ๑ บรรพชิต ๑ ผู้ไม่มีอาลัยเที่ยวไป ผู้ปรารถนาน้อยนั้นว่า เป็นพราหมณ์."

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสํสฏฺํ ความว่า ชื่อว่า ผู้ไม่เกี่ยวข้อง เพราะความไม่มีความเกี่ยวข้องด้วยการดู การฟัง การสนทนา การบริโภค และด้วยกาย.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 479

บทว่า อุภยํ ได้แก่ ผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยชนแม้ ๒ จำพวก คือ คฤหัสถ์ ๑ บรรพชิต ๑.

บทว่า อโนกสาริํ ได้แก่ ผู้ไม่มีอาลัยเที่ยวไป. อธิบายว่า เราเรียกผู้นั้น คือเห็นปานนั้นว่า เป็นพราหมณ์.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องพระติสสเถระผู้อยู่ในเงื้อมเขา จบ.