พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓๒. เรื่องพระสุนทรสมุทรเถระ [๒๙๕]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35104
อ่าน  494

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 512

๓๒. เรื่องพระสุนทรสมุทรเถระ [๒๙๕]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 512

๓๒. เรื่องพระสุนทรสมุทรเถระ [๒๙๕]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระสุนทรสมุทรเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โยธ กาเม" เป็นต้น.

กุลบุตรออกบวช

ได้ยินว่า ในกรุงสาวัตถี กุลบุตรคนหนึ่งชื่อสุนทรสมุทรกุมาร เกิดในตระกูลใหญ่อันมีสมบัติ ๔๐ โกฏิ.

วันหนึ่ง เขาเห็นมหาชนมีของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้นในมือ ไปสู่พระเชตวันเพื่อต้องการฟังธรรม ในเวลาภายหลังภัตจึงถามว่า "พวกท่านจะไปไหนกัน" เมื่อมหาชนนั้นบอกว่า "พวกฉันจะไปสู่สำนักพระศาสดา เพื่อประโยชน์แก่การฟังธรรม", กล่าวว่า "ฉันก็จักไป" แล้วไปกับมหาชนนั้น นั่ง ณ ที่สุดบริษัท.

พระศาสดาทรงทราบอัธยาศัยของเขา จึงทรงแสดงอนุปุพพีกถา. เขาคิดว่า "บุคคลผู้อยู่ครองเรือน ไม่อาจประพฤติพรหมจรรย์ให้เป็นดุจสังข์ที่ขัดแล้วได้." อาศัยพระกถาของพระศาสดา มีความอุตสาหะเกิดแล้วในบรรพชา, เมื่อบริษัทหลีกไปแล้ว, จึงทูลขอบรรพชากะพระศาสดา ได้สดับว่า "พระตถาคตทั้งหลายไม่ยังกุลบุตรที่มารดาบิดายังไม่อนุญาตให้บรรพชา" จึงไปสู่เรือนแล้ว ยังมารดาบิดาให้อนุญาตด้วยความพยายามมากเหมือนกุลบุตรชื่อรัฏฐบาลเป็นต้น ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักพระศาสดาแล้ว คิดว่า "ประโยชน์อะไรของเรา ด้วยการอยู่ในที่นี้" จึงออกจากกรุงสาวัตถีนั้นไปสู่กรุงราชคฤห์ เที่ยวบิณฑบาตอยู่ ยังกาลให้ ล่วงไปแล้ว.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 513

หญิงแพศยารับอาสาจะให้พระเถระสึกให้ได้

ต่อมาวันหนึ่ง มารดาบิดาของพระสุนทรสมุทรเถระนั้น เห็นพวกกุมารที่เป็นสหายของท่าน กำลังเล่นอยู่ด้วยสิริโสภาคย์ (๑) อันใหญ่ในวันมหรสพวันหนึ่ง ในกรุงสาวัตถี คร่ำครวญว่า "การเล่นชนิดนี้ บุตรของเราได้โดยยาก."

ในขณะนั้น หญิงแพศยาคนหนึ่งไปสู่ตระกูลนั้น เห็นมารดาของพระสุนทรสมุทรเถระนั้นกำลังนั่งร้องไห้อยู่ จึงถามว่า "คุณแม่ เพราะเหตุไร คุณแม่จึงร้องไห้."

มารดาพระสุนทรสมุทร. ฉันคิดถึงลูก จึงร้องไห้.

หญิงแพศยา. ก็บุตรนั้นไปที่ไหนเล่า คุณแม่.

มารดาพระสุนทรสมุทร. บวชใน (สำนัก) ภิกษุทั้งหลาย.

หญิงแพศยา. การให้ท่านสึกเสีย ไม่ควรหรือ

มารดาพระสุนทรสมุทร. ควร แต่เธอไม่ปรารถนา, เธอออกจากกรุงสาวัตถีนี้ ไปสู่กรุงราชคฤห์.

หญิงแพศยา. ถ้าดิฉันพึงให้ท่านสึกได้ไซร้, คุณแม่พึงทำอะไรแก่ดิฉัน.

มารดาพระสุนทรสมุทร. พวกฉันพึงทำเจ้าให้เป็นเจ้าของแห่งขุมทรัพย์ตระกูลนี้.

หญิงแพศยากล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้น คุณแม่จงให้สินจ้างแก่ดิฉัน" ถือเอาสินจ้างแล้ว ไปสู่กรุงราชคฤห์ด้วยบริวารหมู่ใหญ่ กำหนดถนนที่เที่ยวบิณฑบาตของท่านได้แล้ว ยึดเอาเรือนเป็นที่พักหลังหนึ่งในที่นั้น


(๑) ความเป็นผู้มีส่วนงามด้วยสิริ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 514

ตกแต่งอาหารที่ประณีตไว้แต่เช้าตรู่ แล้วถวายภิกษาในเวลาพระเถระเข้าไปบิณฑบาต โดยกาลล่วงไป ๒ - ๓ วัน นิมนต์ว่า "ท่านเจ้าข้า ขอท่าน จงนั่งในที่นี้นี่แหละ ทำภัตกิจ" แล้วรับเอาบาตร. ท่านได้ให้บาตรแล้ว.

หญิงแพศยาออกอุบายเกลี้ยกล่อมพระเถระ

ครั้งนั้น หญิงแพศยานั้นเลี้ยงพระเถระนั้น ด้วยอาหารอันประณีต เรียนว่า "ท่านเจ้าข้า การเที่ยวบิณฑบาตในที่นี้นี่แหละสะดวกดี" นิมนต์ ให้พระเถระนั่งฉันที่ระเบียง ๒ - ๓ วัน แล้ว เอาขนมเกลี้ยกล่อมพวกเด็ก แล้วพูดว่า "พวกเจ้าจงมา, ในเวลาพระเถระมาแล้ว แม้ฉันห้ามอยู่, พวกเจ้าพึงมาในที่นี้ แล้ว (คุ้ย) ธุลีให้ฟุ้งขึ้น."

ในวันรุ่งขึ้นเวลาพระเถระฉัน พวกเด็กเหล่านั้นแม้ถูกหญิงแพศยา นั้นห้ามอยู่ ก็ (คุ้ย) ธุลีให้ฟุ้งขึ้นแล้ว.

ในวันรุ่งขึ้น หญิงแพศยานั้นเรียนว่า "พวกเด็ก แม้ดิฉันห้ามอยู่ ก็ไม่ฟังคำของดิฉัน ยัง (คุ้ย) ธุลีให้ฟุ้งขึ้นในที่นี้ได้, ขอท่านจงนั่งภายในเรือนเถิด" ให้ท่านนั่งภายในแล้ว นิมนต์ให้ฉันสิ้น ๒ - ๓ วัน, นางเกลี้ยกล่อมเด็กอีก พูดว่า "พวกเจ้า แม้ถูกฉันห้ามอยู่ พึงทำเสียงอึกทึกในเวลาพระเถระฉัน." เด็กเหล่านั้น ทำอย่างนั้นแล้ว.

ในวันรุ่งขึ้น นางกล่าวว่า "ท่านเจ้าข้า ในที่นี้มีเสียงอึกทึกเหลือเกิน, พวกเด็ก แม้ดิฉันห้ามอยู่ ก็ไม่เชื่อถือถ้อยคำของดิฉัน. นิมนต์ท่าน นั่งเสียในปราสาทเบื้องบนเถิด," เมื่อพระเถระรับนิมนต์แล้ว, ทำพระเถระไว้ข้างหน้า เมื่อจะขึ้นไปสู่ปราสาท ปิดประตูทั้งหลายเสีย จึงขึ้นไปสู่ปราสาท.

พระเถระ แม้เป็นผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 515

อย่างอุกฤษฏ์ ถูกความอยากในรสพัวพันแล้ว จึงขึ้นไปสู่ปราสาท ๗ ชั้น ตามคำของนาง.

หญิงแพศยาแสดงอาการ ๔๐ อย่าง เกี้ยวพระเถระ

นางให้พระเถระนั่งแล้ว แสดงแง่งอนของหญิง ลีลาของหญิง ซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า "เพื่อนผู้มีหน้าเอิบอิ่ม ได้ยินว่า หญิงย่อมเกี้ยวชาย ด้วยฐานะ ๔๐ (๑) อย่าง คือ สะบัดสะบิ้ง ๑ ก้มลง ๑ กรีดกราย ๑ ชะมดชม้อย ๑ เอาเล็บดีดเล็บ ๑ เอาเท้าเหยียบเท้า ๑ เอาไม้ขีดแผ่นดิน ๑ ชูเด็กขึ้น ๑ ลดเด็กลง ๑ เล่นเอง ๑ ให้เด็กเล่น ๑ จูบเอง ๑ ให้เด็กจูบ ๑ รับประทานเอง ๑ ให้เด็กรับประทาน ๑ ให้ของเด็ก ๑ ขอของคืน ๑ ล้อเลียนเด็ก ๑ (๒) พูดดัง ๑ พูดค่อย ๑ พูดคำเปิดเผย ๑ พูด ลี้ลับ ๑ (ทำนิมิต) ด้วยการฟ้อน ด้วยการขับ ด้วยการประโคม ด้วยการร้องไห้ ด้วยการเยื้องกราย ด้วยการแต่งตัว ๑ ซิกซี้ ๑ จ้องมองดู ๑ สั่นสะเอว ๑ ยังของลับให้ไหว ๑ ถ่างขา ๑ หุบขา ๑ แสดงถัน ๑ แสดงรักแร้ ๑ แสดงสะดือ ๑ ขยิบตา ๑ ยักคิ้ว ๑ เม้มริมฝีปาก ๑ แลบลิ้น ๑ เปลื้องผ้า ๑ นุ่งผ้า ๑ สยายผม ๑ เกล้าผม ๑" ยืนข้างหน้าของพระเถระนั้นแล้วกล่าวคาถานี้ว่า :-

"หญิงแพศยาผู้มีเท้าย้อมแล้วด้วยน้ำครั่ง สวมเขียงเท้า (กล่าวแล้วว่า) แม้ท่านก็เป็นชายหนุ่มสำหรับดิฉัน และแม้ดิฉันก็เป็นหญิงสาวสำหรับท่าน, แม้เราทั้งสองแก่แล้ว มีไม้เท้ากรานไปข้างหน้าจึงจักบวช."


(๑) มาในอัฏฐกถาชาดก ๘/๒๖๑ กุณาลชาดก.

(๒) กตมนุกโรติ ย่อมทำตามซึ่งกรรมอันเด็กทำแล้ว.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 516

พระเถระชนะหญิงแพศยาเพราะอาศัยพระศาสดา

ครั้งนั้น ความสังเวชใหญ่ได้เกิดขึ้นแก่พระเถระว่า "โอหนอ กรรมที่เราไม่ใคร่ครวญแล้วทำ หนัก." ในขณะนั้น พระศาสดาประทับนั่งอยู่ในพระเชตวัน ณ ที่ไกลประมาณ ๔๕ โยชน์นั่นแล ทรงเห็นเหตุนั้น แล้วได้ทรงทำความยิ้มแย้มให้ปรากฏ.

ลำดับนั้น พระอานนทเถระทูลถามพระองค์ว่า "พระเจ้าข้า อะไร หนอแล เป็นเหตุ, อะไรเป็นปัจจัย แห่งการทรงทำความยิ้มแย้มให้ปรากฏ.

พระศาสดาตรัสว่า. อานนท์ สงครามของภิกษุชื่อสุนทรสมุทรและของหญิงแพศยา กำลังเป็นไปอยู่ บนพื้นปราสาท ๗ ชั้น ในกรุงราชคฤห์.

พระอานนท์ทูลถามว่า พระเจ้าข้า ความชนะจักมีแก่ใครหนอแล ความปราชัยจักมีแก่ใคร

พระศาสดาตรัสว่า "อานนท์ ความชนะจักมีแก่สุนทรสมุทร, ความปราชัยจักมีแก่หญิงแพศยา" ดังนี้แล้ว ทรงประกาศความชนะของพระเถระ ประทับนั่งในพระเชตวันนั้นนั่นเอง ทรงแผ่พระรัศมีไป ตรัสว่า "ภิกษุ เธอจงหมดอาลัย ละกามแม้ทั้งสองเสีย" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

๓๒. โยธ กาเม ปหนฺตฺวาน อนาคาโร ปริพฺพเช กามภวปริกฺขีณํ ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ.

"บุคคลใด ละกามทั้งหลายในโลกนี้แล้ว เป็นผู้ไม่มีเรือน งดเว้นเสียได้, เราเรียกบุคคลนั้น ผู้มีกามและภพสิ้นแล้วว่า เป็นพราหมณ์."

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 517

แก้อรรถ

พึงทราบเนื้อความแห่งพระคาถานั้น (ดังนี้) :-

ความว่า บุคคลใด ละกามแม้ทั้งสองในโลกนี้แล้ว เป็นผู้ไม่มีเรือน งดเว้นเสียได้, เราเรียกผู้นั้น ผู้มีกามสิ้นแล้ว และผู้มีภพสิ้นแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์.

ในกาลจบเทศนา พระเถระบรรลุพระอรหัตแล้ว เหาะขึ้นไปสู่เวหาสด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ ทะลุมณฑลช่อฟ้าออกไปแล้ว ชมเชยพระสรีระ พระศาสดาอยู่นั่นเทียว มาถวายบังคมพระศาสดาแล้ว.

พระศาสดาเป็นที่พึ่งของพระเถระ

ภิกษุทั้งหลาย สนทนากันแม้ในโรงธรรมว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย พระสุนทรสมุทรเถระ อาศัยรสที่พึงรู้ด้วยลิ้น เกือบเสียท่า. แต่พระศาสดา เป็นที่พึ่งของเธอ."

พระศาสดาทรงสดับกถานั้นแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นที่พึ่งของสุนทรสมุทรนั่น แต่ในบัดนี้เท่านั้นหามิได้, แม้ในกาลก่อน เราก็เป็นที่พึ่งของสุนทรสมุทรนั่น ผู้ติดอยู่ในรสตัณหาแล้วเหมือนกัน" อันภิกษุเหล่านั้นทูลอ้อนวอนแล้ว ทรงนำอดีตนิทานมา เพื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ทรงยังวาตมิคชาดก (๑) นี้ให้พิสดารว่า :-

"ได้ยินว่า สภาพอื่นที่เลวกว่ารสทั้งหลาย คือ การเคยชินกัน หรือการสนิมสนมกัน ย่อมไม่มี, คนรักษาอุทยานชื่อสญชัย ย่อมนำเนื้อสมันตัวอาศัยอยู่ในรกชัฏ มาสู่อำนาจได้ ก็เพราะรสทั้งหลาย."


(๑) ขุ. ชา. เอก. ๒๗/๕. อรรถกถา. ๑/๒๗๗.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 518

ดังนี้แล้ว ทรงประมวลชาดกว่า "ในกาลนั้น สุนทรสมุทรได้เป็นเนื้อสมัน, ส่วนมหาอำมาตย์ของพระราชาผู้กล่าวคาถานี้แล้ว ให้ปล่อยเนื้อนั้นไป ได้เป็นเรานี้เอง"

รื่องพระสุนทรสมุทรเถระ จบ.