พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓๓. เรื่องพระโชติกเถระ [๒๙๖]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35105
อ่าน  628

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 519

๓๓. เรื่องพระโชติกเถระ [๒๙๖]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 519

๓๓.เรื่องพระโชติกเถระ [๒๙๖]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภพระโชติกเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โยธ ตณฺหํ" เป็นต้น.

บุรพกรรมของสองพี่น้อง

อนุปุพพีกถาในเรื่องนั้น ดังต่อไปนี้ :-

ได้ยินว่า ในอดีตกาล กุฎุมพี ๒ คนพี่น้องในกรุงพาราณสียังชนให้ทำไร่อ้อยไว้เป็นอันมาก.

ต่อมาวันหนึ่ง น้องชายไปยังไร่อ้อย คิดว่า "เราจักให้อ้อยลำหนึ่งแก่พี่ชาย ลำหนึ่งจักเป็นของเรา" แล้ว ผูกลำอ้อยทั้งสองลำในที่ๆ ตัดแล้ว เพื่อต้องการไม่ให้รสไหลออก ถือเอาแล้ว.

ได้ยินว่า ในครั้งนั้น กิจด้วยการหีบอ้อยด้วยเครื่องยนต์ ไม่มี, ในเวลาอ้อยลำที่เขาตัดที่ปลายหรือที่โคนแล้วยกขึ้น รส (อ้อย) ย่อมไหลออกเองทีเดียว เหมือนน้ำไหลออกจากธมกรกฉะนั้น. ก็ในเวลาที่เขาถือเอาลำอ้อยจากไร่เดินมา พระปัจเจกพุทธเจ้าที่ภูเขาคันธมาทน์ออกจากสมาบัติแล้ว ใคร่ครวญว่า "วันนี้ เราจักทำการอนุเคราะห์แก่ใครหนอแล" เห็นเขาเข้าไปในข่ายคือญาณของตน และทราบความที่เขาเป็นผู้สามารถเพื่อจะทำการสงเคราะห์ได้ จึงถือบาตรและจีวรแล้ว มาด้วยฤทธิ์ ได้ยืนอยู่ข้างหน้าของเขา.

น้องชายถวายอ้อยแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า

เขาพอเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ก็มีจิตเลื่อมใส จึงลาดผ้าห่ม

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 520

บนภูมิประเทศที่สูงกว่า แล้วนิมนต์ให้พระปัจเจกพุทธเจ้านั่ง ด้วยคำว่า "นิมนต์นั่งที่นี้ ขอรับ" แล้วก็กล่าวว่า "ขอท่านจงน้อมบาตรมาเถิด" ได้แก้ที่ผูกลำอ้อย วางไว้เบื้องบนบาตร. รสไหลลงเต็มบาตรแล้ว. เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าดื่มรส (อ้อย) นั้นแล้ว, เขาคิดว่า "ดีจริง พระผู้เป็นเจ้าของเราดื่มรส (อ้อย) แล้ว, ถ้าพี่ชายของเราจักให้นำมูลค่ามา, เราก็จัก ให้มูลค่า. ถ้าจักให้เรานำส่วนบุญมา, เราก็จักให้ส่วนบุญ" แล้วกล่าวว่า "นิมนต์ท่านน้อมบาตรเข้ามาเถิด ขอรับ" แล้วได้แก้ลำอ้อยแม้ที่ ๒ ถวายรส.

นัยว่า เขามิได้มีความคิดที่จะลวงแม้มีประมาณเท่านี้ว่า "พี่ชายของเราจักนำอ้อยลำอื่นจากไร่อ้อยมาเคี้ยวกิน" ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นผู้ใคร่จะแบ่งรสอ้อยนั้นกับด้วยพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่าอื่น เพราะความที่ตนดื่มรสอ้อยลำแรกนั้น จึงรับไว้เท่านั้น แล้วก็นั่งอยู่. เขาทราบอาการของท่านแล้ว จึงไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ตั้งความปรารถนาว่า "ท่านขอรับ รสอันเลิศนี้ใด ที่กระผมถวายแล้ว, ด้วยผลแห่งรสอันเลิศนี้ กระผมพึงเสวยสมบัติในเทวโลกและมนุษยโลก ในที่สุดพึงบรรลุธรรมที่ท่านบรรลุแล้วนั่นแล." แม้พระปัจเจกพุทธเจ้า ก็กล่าวว่า "ขอความปรารถนาที่ท่านตั้งไว้แล้ว จงสำเร็จอย่างนั้น" แล้วทำอนุโมทนาแก่เขา ด้วย ๒ คาถาว่า "อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุยฺหํ" เป็นต้น, แล้วก็อธิษฐาน โดยประการที่เขาจะเห็นได้ แล้วเหาะไปสู่เขาคันธมาทน์โดยทางอากาศ แล้วได้ถวายรส (อ้อย) แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ รูป. เขาเห็นปาฏิหาริย์นั้นแล้ว ไปสู่สำนักพี่ชาย, เมื่อพี่ชายถามว่า "เจ้าไปไหน" จึงบอกว่า "ฉันไปตรวจดูไร่อ้อย" ถูกพี่ชายกล่าวว่า "จะมีประโยชน์อะไรด้วยคน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 521

อย่างเจ้าไปไร่อ้อย, เจ้าควรจะถือเอาลำอ้อยมา ๑ ลำ หรือ ๒ ลำมิใช่ หรือ" กล่าวว่า "พี่ ถูกละ, ฉันถือเอาอ้อยมา ๒ ลำ, แต่ฉันเห็น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง จึงถวายรสแต่ลำอ้อยของฉัน แล้วถวายรสแต่ลำอ้อยแม้ของพี่ ด้วยคิดว่า เราจักให้มูลค่าหรือส่วนบุญ." พี่จักรับเอามูลค่าอ้อยนั้นหรือจักรับเอาส่วนบุญ"

พี่ชาย. ก็พระปัจเจกพุทธเจ้า ทำอะไร

น้องชาย. ท่านดื่มรสจากลำอ้อยของฉันแล้ว ก็ถือเอารสจากลำอ้อยของพี่ไปสู่เขาคันธมาทน์โดยอากาศ แล้วได้ให้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ รูป.

พี่ชายเลื่อมใสขออนุโมทนาส่วนบุญ

พี่ชายนั้น เมื่อเขากำลังกล่าวอยู่นั้นแหละ, เป็นผู้มีสรีระอันปีติ ถูกต้องแล้ว หาระหว่างมิได้ ได้ทำความปรารถนาว่า "การบรรลุธรรมที่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเห็นแล้วนั่นแหละ พึงมีแก่เรา." น้องชายปรารถนา สมบัติ ๓ อย่าง ส่วนพี่ชายปรารถนาพระอรหัต ด้วยประการฉะนี้.

นี้เป็นบุรพกรรมของชนทั้งสองนั้น.

สองพี่น้องได้เกิดร่วมกันอีกในชาติต่อมา

ชนทั้งสองนั้น ดำรงอยู่ตลอดอายุแล้ว เคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดในเทวโลก ยังพุทธันดรหนึ่งให้สิ้นไป. ในเวลาชนทั้งสองนั้นไปสู่เทวโลกนั่นแหละ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสีเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก.

พี่น้องทั้งสองแม้นั้น เคลื่อนจากเทวโลกแล้ว, ผู้พี่ชายก็คงเป็นพี่ชาย ผู้น้องชายก็คงเป็นน้องชาย ถือปฏิสนธิในเรือนแห่งตระกูลหนึ่งในพันธุมดีนคร.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 522

บรรดาเด็กทั้งสองนั้น มารดาบิดาได้ตั้งชื่อของผู้พี่ชายว่า "เสนะ" ของผู้น้องชายว่า "อปราชิต." เมื่อพี่น้องทั้งสองนั้น กำลังรวบรวมขุมทรัพย์อยู่ ในเวลาเติบโตแล้ว (๑) , เสนกุฎุมพี ได้ฟังการป่าวร้องในพันธุมดีนครของอุบาสกผู้โฆษณาธรรมว่า "พุทธรัตนะเกิดขึ้นแล้วในโลก, ธรรมรัตนะเกิดขึ้นแล้วในโลก, สังฆรัตนะเกิดขึ้นแล้วในโลก, พวกท่านจงให้ทานทั้งหลาย จงทำบุญทั้งหลาย วันนี้เป็นดิถีที่ ๑๔ วันนี้เป็นดิถีที่ ๑๕, พวกท่านจงทำอุโบสถ จงฟังธรรม" เห็นมหาชนถวายทานในกาลก่อนภัตแล้ว ไปเพื่อฟังธรรมในกาลภายหลังภัต จึงถามว่า "พวกท่านจะไปไหน เมื่อมหาชนบอกว่า "พวกฉันจะไปสู่สำนักพระศาสดา เพื่อฟังธรรม." จึงพูดว่า "แม้ฉันก็จักไป" แล้วก็ไปพร้อมกับชนเหล่านั้นทีเดียว นั่งแล้วในที่สุดบริษัท.

พระศาสดาทรงทราบอัธยาศัยของเขา จึงตรัสอนุปุพพีกถา. เขาฟังธรรมของพระศาสดาแล้ว เกิดความอุตสาหะในบรรพชา จึงทูลขอบรรพชากะพระศาสดา.

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามเขาว่า "ก็พวกญาติที่ท่านจะพึงอำลามีไหม" เสนกุฎุมพี. มี พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. ถ้าอย่างนั้น ท่านไปอำลา แล้วจงมา.

พี่ชายลาน้องชายออกบวชแล้วได้บรรลุพระอรหัต

เขาไปสู่สำนักของน้องชายแล้ว กล่าวว่า "ทรัพย์สมบัติใด มีอยู่ในตระกูลนี้ ทรัพย์สมบัตินั้นทั้งหมด จงเป็นของเจ้า."


(๑) หมายความว่า ได้ตั้งหลักฐานในการครองเรือนแล้ว.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 523

น้องชาย. ก็พี่เล่า ขอรับ.

เสนกุฎุมพี. ฉันจักบวชในสำนักของพระศาสดา.

น้องชาย. พี่พูดอะไร ฉันเมื่อมารดาตายแล้ว ก็ได้พี่เป็นเหมือนมารดา, เมื่อบิดาตายแล้ว ก็ได้พี่เป็นเหมือนบิดา. ตระกูลนี้ก็มีโภคะมาก, พี่ดำรงอยู่ในเรือนนี่แหละ ก็สามารถจะทำบุญได้. พี่อย่าทำอย่างนั้น.

เสนกุฎุมพี. ฉันฟังธรรมในสำนักของพระศาสดาแล้ว, ฉันดำรงอยู่ในท่ามกลางเรือน ไม่อาจบำเพ็ญธรรมนั้นได้. ฉันจักบวชให้ได้, เจ้าจงกลับ.

เขายังน้องชายให้กลับไปด้วยอาการอย่างนั้นแล้ว ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักพระศาสดาแล้ว ต่อกาลไม่นานนัก ก็บรรลุพระอรหัต.

ฝ่ายน้องชาย คิดว่า "เราจักทำสักการะแก่บรรพชิตผู้พี่ชาย" จึงถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขสิ้น ๗ วัน ไหว้พี่ชายแล้ว กล่าวว่า "ท่านขอรับ ท่านทำการสลัดออกจากภพแห่งตนได้แล้ว, ส่วนกระผม ยังเป็นผู้พัวพันด้วยกามคุณ ๕ (๑) ไม่อาจออกบวชได้, ขอท่านจงบอกบุญกรรมอันใหญ่ที่สมควร แก่กระผมผู้ดำรงอยู่ในเรือนนี่แหละ."

ลำดับนั้น พระเถระกล่าวกะน้องชายนั้นว่า "ดีละ เจ้าผู้เป็นบัณฑิต เจ้าจงให้สร้างพระคันธกุฎี สำหรับพระศาสดา."

น้องชายสร้างพระคันธกุฎีถวายพระศาสดา

น้องชายนั้นรับว่า "สาธุ" แล้วยังชนให้นำไม้ต่างๆ มาแล้วให้ถากเพื่อประโยชน์แก่ทัพสัมภาระทั้งหลายมีเสาเป็นต้น ให้ทำเสาทั้งหมด ให้ขจิต ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือต้นหนึ่งขจิตด้วยทองคำ ต้นหนึ่งขจิต


(๑) คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าใคร่.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 524

ด้วยเงิน ต้นหนึ่งขจิตด้วยแก้วมณีเป็นต้น แล้วให้สร้างพระคันธกุฎีด้วยเสาเหล่านั้น ให้มุงด้วยกระเบื้องสำหรับมุงอันขจิตด้วยแก้ว ๗ ประการ เหมือนกัน.

ก็ในเวลาสร้างพระคันธกุฎีนั้นแล หลานชายชื่ออปราชิต ผู้มีชื่อเหมือนกับตนนั่นแล เข้าไปหาอปราชิตกุฎุมพีนั้นแล้ว กล่าวว่า "แม้ฉันก็จักสร้าง, ท่านจงให้ส่วนบุญแก่ฉันเถิด ลุง" เขากล่าวว่า "พ่อ ฉันไม่ให้, ฉันจักสร้างไม่ให้ทั่วไปด้วยชนเหล่าอื่น."

หลานชายนั้น อ้อนวอนแม้เป็นอันมาก เมื่อไม่ได้ส่วนบุญ จึงคิด ว่า "การที่เราได้กุญชรศาลา (๑) ข้างหน้าพระคันธกุฎี ย่อมควร" ดังนี้แล้ว จึงให้สร้างกุญชรศาลาที่สำเร็จด้วยแก้ว ๙ ประการ. เขาเกิดเป็นเมณฑกเศรษฐีในพุทธุปบาทกาลนี้.

ก็บานหน้าต่างใหญ่ ๓ บาน ที่สำเร็จด้วยแก้ว ๗ ประการ ได้มีแล้วในพระคันธกุฎี. อปราชิตคฤหบดีให้สร้างสระโบกขรณี ๓ สระ ที่โบกด้วยปูนขาว ณ ภายใต้ที่ตรงบานหน้าต่างเหล่านั้น ให้เต็มด้วยน้ำหอมอันเกิดแต่ชาติทั้ง ๔ (๒) แล้วให้ปลูกดอกไม้ ๕ สี (๓) ให้ย่อยบรรดาแก้ว ๗ ประการ แก้วที่ควรแก่ความเป็นของที่จะพึงย่อยได้แล้วถือเอาแก้วนอกนี้ทั้งหมดทีเดียว โปรยรอบพระคันธกุฎีโดยถ่องแถว เพียงเข่า ยังบริเวณให้เต็มแล้ว.


(๑) ศาลามีรูปคล้ายช้าง.

(๒) กุงฺกุมํ หญ้าฝรั่น ๑. ยวนปุปฺผํ ดอกไม้เกิดในยวนประเทศ ๑. ตครํ กฤษณา ๑. ตุรุกฺโข กำยาน ๑.

(๓) เบื้องหน้าแต่นี้ คำพูดอย่างนี้ ปรากฏโดยมาก. เพื่อจะโปรยพระสรีระด้วยสายแห่งเกสรทั้งหลาย อันตั้งขึ้นแล้วด้วยกำลังลม ในกาลแห่งพระตถาคตประทับนั่งภายในแล้ว กระเบื้องที่ยอดพระคันธกุฎี ได้สำเร็จด้วยทองคำ อันสุกปลั่ง. หาง (กระเบื้อง) สำเร็จด้วยแก้วประพาฬตอนล่าง กระเบื้องมุงสำเร็จด้วยแก้วมณี. พระคันธกุฎีนั้น ได้ตั้งอยู่งดงามดุจนกยูงลำแพน ด้วยประการฉะนี้.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 525

คฤหบดีชื่ออปราชิต ยังพระคันกุฎีให้สำเร็จด้วยอาการอย่างนั้นแล้ว จึงเข้าไปหาพระเถระผู้พี่ชาย เรียนว่า "ท่านขอรับ พระคันธกุฎีสำเร็จแล้ว. กระผมหวังการใช้สอยพระคันธกุฎีนั้น, ได้ยินว่า บุญเป็นอันมาก ย่อมมีเพราะการใช้สอย."

พระเถระนั้น เข้าไปเฝ้าพระศาสดากราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ทราบว่า กุฎุมพีผู้นี้ให้สร้างพระคันธกุฎีเพื่อพระองค์, บัดนี้เธอหวังการใช้สอย."

พระศาสดาเสด็จลุกจากอาสนะแล้ว เสด็จไปสู่ที่เฉพาะหน้าพระคันธกุฎี ทอดพระเนตรกองรัตนะที่เขากองล้อมรอบพระคันธกุฎี ได้ประทับยืนอยู่แล้วที่ซุ้มแห่งประตู (๑) ก็เมื่อกุฎุมพีนั้นกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า การรักษาจักมีแก่ข้าพระองค์เอง, ขอพระองค์จงเสด็จเข้าไปเถิด." พระศาสดาเสด็จเข้าไปแล้ว.

เขาตั้งการรักษารัตนะที่โปรยไว้รอบพระคันธกุฎี

แม้กุฎุมพีก็ตั้งการรักษาไว้โดยรอบ สั่งมนุษย์ทั้งหลายไว้ว่า "พ่อ


(๑) เบื้องหน้าแต่นี้ คำพูดอย่างนี้ ปรากฏโดยมาก: ลำดับนั้น กุฏุมพีกราบทูลพระองค์ว่า "ขอพระองค์โปรดเสด็จเข้าไปเถิด พระเจ้าข้า" พระศาสดาประทับยืนอยู่ ณ ที่นั้นนั่นแล ทอด พระเนตรดูพระเถระพี่ชายของกุฏุมพีนั้นถึง ๓ ครั้ง, พระเถระทราบด้วยอาการที่พระองค์ทอดพระเนตรแล้วนั่นแล กล่าวกะน้องชายว่า "มาเถิด พ่อ เธอจงทูลพระศาสดาว่า การรักษาจักมี แก่ข้าพระองค์เอง ขอเชิญพระองค์ประทับอยู่ตามสบายเถิด" เขาฟังคำพระเถระแล้ว ถวายบังคมพระศาสดาด้วยเบญจางคประดิษฐ์ กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า พวกมนุษย์เข้าไปที่โคนไม้แล้ว ไม่มีความเยื่อใยหลีกไปฉันใด, อนึ่ง พวกมนุษย์ข้ามแม่น้ำ ไม่มีความเยื่อใย สละพ่วงแพเสียได้ ฉันใด, ขอพระองค์ทรงเป็นผู้ไม่มีความเยื่อใยฉันนั้น ประทับอยู่เถิด." ก็พระศาสดาประทับยืนอยู่เพื่ออะไรๆ ได้ยินว่า พระองค์ทรงมีพระปริวิตกอย่างนี้ว่า "ชนเป็นอันมาก ย่อมมาสู่สำนักของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ในเวลาก่อนภัตบ้าง ในเวลาหลังภัตบ้าง เมื่อชนเหล่านั้นถือเอารัตนะทั้งหลายไปอยู่, พวกเราไม่อาจห้ามได้ กุฎุมพีพึงติเตียนว่า "เมื่อรัตนะประมาณเท่านี้เราโปรยลงแล้วที่บริเวณ, พระศาสดาไม่ห้ามปรามอุปัฏฐากของพระองค์ แม้ผู้นำ (รัตนะ) ไปอยู่ ดังนี้แล้ว ทำความอาฆาตในเรา พึงเป็นผู้เข้าถึงอบาย" เพราะเหตุนี้ พระศาสดาจึงได้ประทับยืนอยู่แล้ว.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 526

พวกเธอจงห้ามชนทั้งหลายผู้ถือเอา (รัตนะ) ด้วยพก หรือด้วยกระเช้า และกระสอบไป, แต่อย่าห้ามชนผู้ถือเอาด้วยมือไป." แม้ในภายในนคร ก็ให้บอกว่า "รัตนะ ๗ ประการ อันเราโปรยลงแล้วที่บริเวณพระคันธกุฎี, มนุษย์เข็ญใจทั้งหลายผู้ฟังธรรมในสำนักพระศาสดาแล้วไป จงถือเอาเต็มมือทั้งสอง, มนุษย์ทั้งหลายแม้ถึงสุขแล้วก็จงถือเอาด้วยมือเดียว."

ได้ยินว่า เขาได้มีความคิดอย่างนี้ว่า "ชนทั้งหลายผู้มีศรัทธา ประสงค์จะฟังธรรมก่อนจึงจักไปทีเดียว, ส่วนผู้ไม่มีศรัทธา ไปด้วยความโลภในทรัพย์ ฟังธรรมแล้ว ก็จักพ้นจากทุกข์ได้" เพราะเหตุนั้น เขาจึงให้บอกอย่างนั้น เพื่อต้องการจะสงเคราะห์ชน.

มหาชน ถือเอารัตนะทั้งหลายตามกำหนดที่เขาบอกแล้วนั่นแล. เมื่อรัตนะที่เขาโปรยลงไว้คราวเดียว หมดแล้ว เขาจึงให้โปรยลงเรื่อยๆ โดยถ่องแถวเพียงเข่า ถึง ๓ ครั้ง. อนึ่ง เขาวางแก้วมณีอันหาค่ามิได้ประมาณ เท่าผลแตงโม แทบบาทมูลของพระศาสดา.

ได้ยินว่า เขาได้มีความคิดอย่างนี้ว่า "ชื่อว่า ความอิ่ม จักไม่มีแก่ชนทั้งหลายผู้แลดูรัศมีแห่งแก้วมณี พร้อมด้วยพระรัศมีอันมีสีดุจทองคำ แต่พระสรีระของพระศาสดา" เพราะฉะนั้น เขาจึงได้ทำอย่างนั้น. แม้มหาชนก็แลดูไม่อิ่มเลย.

พราหมณ์มิจฉาทิฏฐิลักแก้วมณี

ต่อมาวันหนึ่ง พราหมณ์มิจฉาทิฏฐิคนหนึ่ง คิดว่า "ได้ยินว่า แก้วมณีที่มีค่ามาก อันกุฎุมพีนั้นวางไว้แทบบาทมูลของพระศาสดา, เราจักลักแก้วมณีนั้น" จึงไปสู่วิหาร เข้าไปโดยระหว่างมหาชนผู้มาแล้วเพื่อ จะถวายบังคมพระศาสดา.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 527

กุฎุมพีกำหนดไว้ว่า "พราหมณ์นี้ มีประสงค์จะถือเอาแก้วมณี" ด้วยอาการแห่งการเข้าไปแห่งพราหมณ์นั้นนั่นแล คิดว่า "โอหนอ พราหมณ์ไม่ควรถือเอา."

แม้พราหมณ์นั้น วางมือไว้แทบบาทมูลคล้ายจะถวายบังคมพระศาสดา ถือเอาแก้วมีซ่อนไว้ในเกลียวผ้า หลีกไปแล้ว. กุฎุมพีไม่อาจยังจิตให้เลื่อมใสในพราหมณ์นั้นได้.

ในกาลจบธรรมกถา กุฏุมพีนั้นเข้าไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า รัตนะ ๗ ประการอันข้าพระองค์โปรยล้อมรอบพระคันธกุฎีสิ้น ๓ ครั้ง โดยถ่องแถวเพียงเข่า, เมื่อชนทั้งหลายถือเอารัตนะเหล่านั้น ขึ้นชื่อว่า ความอาฆาตมิได้มีแล้วแก่ข้าพระองค์, จิตยิ่งเลื่อมใสขึ้นเรื่อยๆ, แต่วันนี้ ข้าพระองค์คิดว่า "โอหนอ พราหมณ์นี้ ไม่ควรถือเอาแก้วมณี" เมื่อพราหมณ์นั้นถือเอาแก้วมณีไปแล้ว, จึงไม่อาจยังจิตให้เลื่อมใสได้."

พระศาสดาทรงสดับคำของกุฎุมพีนั้นแล้ว ตรัสว่า "อุบาสก ท่านไม่อาจเพื่อจะทำของมีอยู่ของตน ให้เป็นของอันชนเหล่าอื่นพึงนำไปไม่ได้ มิใช่หรือ" ดังนี้แล้ว ได้ประทานนัยแล้ว.

กุฎุมพีนั้น ดำรงอยู่ในนัยที่พระศาสดาประทานแล้ว ถวายบังคมพระศาสดา ได้ทำการปรารถนาว่า "พระเจ้าข้า พระราชาหรือโจรแม้หลายร้อย ชื่อว่าสามารถเพื่อจะข่มเหงข้าพระองค์ ถือเอาแม้เส้นด้ายแห่งชายผ้าอันเป็นของข้าพระองค์ จงอย่ามีนับแต่วันนี้เป็นต้นไป, แม้ไฟก็ อย่าไหม้ของๆ ข้าพระองค์, แม้น้ำก็อย่าพัด."

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 528

แม้พระศาสดา ก็ได้ทรงทำอนุโมทนาแก่กุฎุมพีนั้นว่า "ขอความปรารถนาที่ท่านปรารถนาอย่างนั้น จงสำเร็จ."

กุฎุมพีนั้น เมื่อทำการฉลองพระคันธกุฎี ถวายมหาทานแก่ภิกษุ ๖๘ แสน ในภายในวิหารนั่นแหละ ตลอด ๙ เดือน ในกาลเป็นที่สุด ได้ถวายไตรจีวรแก่ภิกษุทุกรูป. ผ้าสาฎกสำหรับทำจีวรของภิกษุผู้ใหม่ในสงฆ์ ได้มีค่าถึงพันหนึ่ง.

อปราชิตกุฎุมพีเกิดเป็นโชติกเศรษฐี

กุฎุมพีนั้น ทำบุญทั้งหลายจนตลอดอายุอย่างนั้นแล้ว เคลื่อนจากอัตภาพนั้น บังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ตลอดกาลประมาณเท่านั้น ในพุทธุปบาทกาลนี้ ถือปฏิสนธิในตระกูลเศรษฐีตระกูลหนึ่ง ในกรุงราชคฤห์ อยู่ในท้องของมารดาตลอด ๙ เดือนครึ่ง.

ก็ในวันที่กุฎุมพีนั้นเกิด สรรพอาวุธทั้งหลายในพระนครทั้งสิ้นรุ่งโรจน์แล้ว. แม้อาภรณ์ทั้งหลายที่สวมกาย (๑) ของชนทั้งปวง เป็นราวกะว่ารุ่งโรจน์ เปล่งรัศมีออกแล้ว. พระนครได้รุ่งโรจน์เป็นอันเดียวกัน. แม้เศรษฐีก็ได้ไปสู่ที่บำรุงพระราชาแต่เช้าตรู่.

ครั้งนั้น พระราชาตรัสถามเศรษฐีนั้นว่า "วันนี้สรรพอาวุธทั้งหลายรุ่งโรจน์แล้ว, พระนครก็รุ่งโรจน์เป็นอันเดียวกัน. ท่านรู้เหตุในเรื่องนี้ ไหม"

เศรษฐี. ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ทราบ.

พระราชา. เหตุอะไร เศรษฐี.


(๑) กายารุฬฺหา อันขึ้นแล้วสู่กาย.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 529

เศรษฐี. ทาสของพระองค์เกิดในเรือนของข้าพระองค์, ความรุ่งโรจน์นั้น ได้มีแล้วด้วยเดชแห่งบุญของเขานั่นแหละ.

พระราชา. เขาจักเป็นโจรกระมัง

เศรษฐี. ข้าแต่สมมติเทพ ข้อนั้นไม่มี, สัตว์มีบุญได้ทำอภินิหารไว้แล้ว.

พระราชาทรงตั้งทรัพย์ค่าเลี้ยงดูวันละพัน ด้วยพระดำรัสว่า "ถ้ากระนั้น เธอเลี้ยงเขาไว้ให้ดีจึงจะควร, นี้จงเป็นค่าน้ำนมสำหรับเขา." ครั้นในวันเป็นที่ตั้งชื่อ ชนทั้งหลายจึงตั้งชื่อของเขาว่า "โชติกะ" นั่นแหละ เพราะพระนครทั้งสิ้นรุ่งโรจน์เป็นอันเดียวกัน.

ต่อมา ในเวลาที่เขาเติบโตแล้ว เมื่อภาคพื้นอันเขาลงชำระอยู่ เพื่อต้องการปลูกเรือน ภพของท้าวสักกะแสดงอาการร้อนแล้ว.

ท้าวสักกะเสด็จมานิรมิตสมบัติให้โชติกเศรษฐี

ท้าวสักกะทรงใคร่ครวญดูว่า "นี้เหตุอะไรหนอแล" ทรงทราบว่า "ชนทั้งหลายกำลังจับจองที่ปลูกเรือนเพื่อโชติกะ" ทรงดำริว่า "โชติกะนี้ จักไม่อยู่ในเรือนที่ชนเหล่านั่นทำแล้ว, การที่เราไปในที่นั้น ควร" แล้วเสด็จไปที่นั้นด้วยเพศแห่งนายช่างไม้ ตรัสว่า "พวกท่านทำอะไรกัน"

เหล่าชน. พวกฉันจับจองที่ปลูกเรือน สำหรับโชติกะ.

ท้าวสักกะตรัสว่า "พวกท่านจงหลีกไป, โชติกะนี้จักไม่อยู่ในเรือน ที่พวกท่านปลูก" แล้วทอดพระเนตรดูภูมิประเทศประมาณ ๑๖ กรีส. ภูมิประเทศนั้น ได้เป็นที่สม่ำเสมอในทันใดนั้นนั่นเอง ดุจวงกสิณ. ท้าวเธอทรงดำริอีกว่า "ขอปราสาท ๗ ชั้นสำเร็จด้วยแก้ว ๗ ประการ จง

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 530

ชำแรกแผ่นดินผุดขึ้น ณ ที่นี้" แล้วทอดพระเนตรดู. ปราสาท (เห็นปานนั้น) ผุดขึ้นแล้วในขณะนั้นนั่นเอง. ท้าวสักกะทรงดำริอีกว่า "ขอกำแพง ๗ ชั้น ที่สำเร็จด้วยแก้ว ๗ ประการ จงผุดขึ้นแวดล้อมปราสาทนี้" แล้วทอดพระเนตรดู. กำแพงเห็นปานนั้นผุดขึ้นแล้ว. ครั้งนั้น ท้าวเธอทรงดำริว่า "ขอต้นกัลปพฤกษ์ทั้งหลาย จงผุดขึ้นในที่สุดรอบกำแพงเหล่านั้น" แล้วทอดพระเนตรดู. ต้นกัลปพฤกษ์ทั้งหลายเห็นปานนั้น ผุดขึ้นแล้ว. ท้าวเธอทรงดำริว่า "ขุมทรัพย์ ๔ ขุม จงผุดขึ้นที่มุมทั้ง ๔ แห่งปราสาท" แล้วทอดพระเนตรดู. ทุกสิ่งได้มีอย่างนั้นเหมือนกัน.

ก็บรรดาขุมทรัพย์ทั้งหลาย ขุมทรัพย์ขุมหนึ่งได้มีประมาณโยชน์หนึ่ง, ขุมหนึ่งได้มีประมาณ ๓ คาวุต, ขุมหนึ่งได้มีประมาณกึ่งโยชน์, ขุมหนึ่งได้มีประมาณคาวุตหนึ่ง, (๑) ที่ซุ้มประตูทั้ง ๗ ยักษ์ ๗ ตนยึดการรักษาไว้แล้ว. ในซุ้มประตูที่ ๑ ยักษ์ชื่อยมโมลีพร้อมด้วยยักษ์พันหนึ่งที่เป็นบริวารของตน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๒ ยักษ์ชื่ออุปปละพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๒ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๓ ยักษ์ชื่อวชิระพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๓ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๔ ยักษ์ชื่อวชิรพาหุพร้อมด้วยยักษ์ที่


(๑) เบื้องหน้าแต่นี้ คำพูดอย่างนี้ ปรากฏโดยมาก. ก็ประมาณนั่น ได้เป็นประมาณแห่งปากขุมทรัพย์ที่เกิดขึ้นแก่พระโพธิสัตว์. เบื้องล่างได้มีที่สุดแผ่นดิน, ประมาณขอบปากแห่งขุมทรัพย์ที่เกิดขึ้นแก่โชติกเศรษฐี ท่านมิได้กล่าวไว้. ขุมทรัพย์ทุกขุมเต็มเปี่ยมเทียวผุดขึ้น เหมือนผลตาลที่เขาฝานหัวฉะนั้น, ลำอ้อย ๔ ลำ เป็นวิการ (ที่ผิดแปลกไปจากธรรมชาติ) แห่งทองคำ ประมาณเท่าต้นตาลรุ่นๆ เกิดขึ้นที่มุมปราสาททั้ง ๔. ลำอ้อยเหล่านั้นมีใบเป็นวิการแห่งแก้วมณี มีข้อเป็นวิการแห่งทองคำ. นับว่าสมบัตินั้นเกิดขึ้นแล้ว เพื่อแสดงบุรพกรรม (ของเขา).

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 531

เป็นบริวารของตน ๔ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๕ ยักษ์ชื่อสกฏะพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๕ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๖ ยักษ์ชื่อสกฏัตถะพร้อมด้วยยักษ์ที่เป็นบริวารของตน ๖ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว, ที่ซุ้มประตูที่ ๗ ยักษ์ชื่อทิสามุขะพร้อมด้วยยักษ์ที่ เป็นบริวารของตน ๗ พัน ยึดการรักษาไว้แล้ว. ทั้งภายในและภายนอกแห่งปราสาท ได้มีการรักษาอย่างมั่นคงแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้.

พระเจ้าพิมพิสารพระราชทานฉัตรตั้งให้เป็นเศรษฐี

พระราชาทรงพระนามว่าพิมพิสาร ทรงสดับว่า "ได้ยินว่า ปราสาท ๗ ชั้น ซึ่งสำเร็จด้วยแก้ว ๗ ประการ ผุดขึ้นแล้วเพื่อโชติกะ, กำแพง ๗ ชั้น ซุ้มประตู ๗ ซุ้ม ขุมทรัพย์ ๔ ขุมก็ผุดขึ้นแล้ว (เพื่อโชติกะเหมือนกัน) " ทรงส่งฉัตรตำแหน่งเศรษฐีไป (ให้) แล้ว, เขาได้เป็นผู้ชื่อว่า โชติกเศรษฐี. ก็หญิงผู้มีบุญกรรมอันทำไว้แล้วกับโชติกเศรษฐีนั้น เกิดแล้วในอุตตรกุรุทวีป.

ครั้งนั้น เทพดานำนางมาจากอุตตรกุรุทวีปนั้นแล้ว ให้นั่งในห้องอันเป็นสิริ.

หญิงนั้นเมื่อมา ถือเอาทะนานข้าวสารทะนานหนึ่ง และแผ่นศิลาอันลุกโพลง ๓ แผ่น (มา), ภัตของชนทั้งสองนั้น ได้มีแล้วด้วยทะนานข้าวสารนั้นนั่นเทียว ตลอดชีวิต.

ดังได้สดับมา ถ้าชนเหล่านั้นเป็นผู้มีประสงค์จะยังแม้เกวียน ๑๐๐ เล่มให้เต็มด้วยข้าวสาร, มันก็คงปรากฏเป็นทะนานอันเต็มด้วยข้าวสารอยู่นั่นเอง. ในเวลาหุงภัต พวกเขาใส่ข้าวสารในหม้อ แล้ววางไว้เบื้องบน

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 532

แผ่นศิลาเหล่านั้น. แผ่นศิลาก็ลุกโพลงขึ้นในขณะนั้นนั่นเอง เมื่อภัตสักว่าสุกแล้ว ย่อมดับไป พวกเขารู้ความที่ภัตสุกแล้ว ด้วยสัญญานั้นนั่นแหละ. แม้ในเวลาแกงของควรแกงเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน. เขาทั้งสองย่อมหุงต้มอาหารด้วยแผ่นศิลาอันลุกโพลงด้วยอาการอย่างนี้.

ชนเหล่านั้น ย่อมอยู่ด้วยแสงสว่างแห่งแก้วมณี, ไม่รู้แสงสว่างของไฟหรือประทีปเลย.

มหาชนต่างแตกตื่นมาชมสมบัติ

ได้ยินว่า สมบัติของโชติกเศรษฐีเห็นปานนั้น ได้ปรากฏทั่วชมพูทวีปทั้งสิ้นแล้ว. มหาชนเทียมยานเป็นต้นมา เพื่อต้องการดู.

โชติกเศรษฐี สั่งให้หุงภัตด้วยข้าวสารที่นำมาจากอุตตรกุรุทวีปแล้ว ให้ๆ แก่ชนทั้งหลายผู้มาแล้วๆ, สั่งว่า "ชนทั้งหลายจงถือเอาผ้า, จงถือเอาเครื่องประดับจากต้นกัลปพฤกษ์ทั้งหลาย," แล้วให้เปิดปากขุมทรัพย์ ที่มีประมาณคาวุตหนึ่ง แล้วสั่งว่า "ชนทั้งหลายจงถือเอาทรัพย์พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้." เมื่อชนทั้งหลายผู้อยู่ในชมพูทวีปทั้งสิ้น ถือเอาทรัพย์ไปอยู่ ปากแห่งขุมทรัพย์มิได้พร่องลงแล้ว แม้เพียงองคุลีเดียว.

ได้ยินว่า นั่นเป็นผลแห่งรัตนะที่เขาโปรยลง ทำให้เป็นทรายในบริเวณพระคันธกุฎี.

พระเจ้าพิมพิสารมีพระประสงค์จะชมปราสาท

เมื่อมหาชน ถือเอาผ้าอาภรณ์ และทรัพย์ตามความปรารถนาไปอยู่อย่างนั้น, พระเจ้าพิมพิสารมีพระประสงค์จะทอดพระเนตรปราสาทของโชติกเศรษฐีนั้นบ้าง เมื่อมหาชนมาอยู่ จึงไม่ได้โอกาสแล้ว.

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 533

ในกาลต่อมา เมื่อพวกมนุษย์น้อยลง เพราะถือเอาวัตถาภรณ์และทรัพย์ตามความปรารถนาไปแล้ว พระราชาจึงตรัสกะบิดาของโชติกะว่า "ฉันมีความประสงค์จะชมปราสาทของบุตรของท่าน." บิดาของโชติกะ นั้นกราบทูลว่า "ดีละ สมมติเทพ" แล้วไปบอกแก่บุตรว่า "พ่อ พระราชามีพระประสงค์จะทอดพระเนตรปราสาทของเจ้า," เขาพูดว่า "ดีละ คุณพ่อ, ขอพระองค์เสด็จมาเถิด."

พระราชา ได้เสด็จไปในที่นั้นพร้อมด้วยข้าราชบริพารเป็นอันมาก. ทาสีผู้ปัดกวาดเทหยากเยื่อที่ซุ้มประตูที่ ๑ ได้ถวายมือแด่พระราชา. พระราชาทรงละอาย ด้วยทรงสำคัญว่า "ภรรยาของเศรษฐี" จึงไม่ทรงวางพระหัตถ์ที่แขนของนาง. พระราชาทรงสำคัญทาสีแม้ที่ซุ้มประตูที่เหลือทั้งหลายว่า "ภรรยาของเศรษฐี" อย่างนั้น จึงไม่ทรงวางพระหัตถ์ที่แขนของทาสีเหล่านั้น.

โชติกเศรษฐี มาต้อนรับพระราชาถวายบังคมแล้ว อยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ กราบทูลว่า "ข้าแต่สมมติเทพ ขอเชิญเสด็จไปข้างหน้าเถิด" แผ่นดินที่ประดับด้วยแก้วมณี ย่อมปรากฏแก่พระราชา เป็นเหมือนเหวที่ลึกตั้ง ๑๐๐ ชั่วบุรุษ. ท้าวเธอทรงสำคัญว่า "โชติกะนี้ ขุดบ่อไว้เพื่อต้องการจับเรา" จึงไม่อาจเพื่อ (๑) จะเสด็จพระราชดำเนินไปได้.

โชติกะ กราบทูลว่า "ข้าแต่สมมติเทพ นี้มิใช่บ่อ, ขอพระองค์ จงเสด็จมาข้างหลังข้าพระองค์" แล้วได้เป็นผู้นำเสด็จ. (๒)

พระราชา ทรงเหยียบพื้นในเวลาที่โชติกะนั้นเหยียบแล้ว เสด็จเที่ยวทอดพระเนตรปราสาทตั้งแต่พื้นชั้นล่าง.


(๑) ปาทํ นิกฺขิปิตุํ เพื่ออันวางพระบาทลง.

(๒) ปุรโต อโหสิ ได้มีข้างหน้า.

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 534

พระเจ้าอชาตศัตรูทรงน้อยพระทัย

ในคราวนั้น พระราชกุมารทรงพระนามว่าอชาตศัตรู ทรงจับองคุลีของพระราชบิดา เสด็จเที่ยวไปอยู่ ทรงดำริว่า "โอ ทูลกระหม่อมของเราเป็นอันพาล, ชื่อว่าคฤหบดียังอยู่ในปราสาทที่ทำด้วยแก้ว ๗ ประการได้ ทูลกระหม่อมของเรานี่เป็นถึงพระราชา ยังประทับอยู่ในพระราชมณเฑียรที่ทำด้วยไม้, บัดนี้ เราจักเป็นพระราชาแล้ว จักไม่ให้คฤหบดีนี้อยู่ในปราสาทนี้." (๑) เมื่อพระราชากำลังเสด็จขึ้นสู่พื้นปราสาทชั้นบนนั่นแหละ เป็นเวลาเสวยพระกระยาหารเช้า. ท้าวเธอตรัสเรียกเศรษฐีมาแล้ว ตรัสว่า "มหาเศรษฐี พวกเราจักบริโภคอาหารเช้าในที่นี้นี่แหละ."

เศรษฐี. ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ก็ทราบอยู่, พระกระยาหารสำหรับสมมติเทพ ข้าพระองค์ตระเตรียมไว้แล้ว."

ท้าวเธอทรงสรงสนานด้วยหม้อน้ำหอม ๑๖ หม้อ แล้วประทับนั่งบนบัลลังก์อันเป็นที่นั่งของเศรษฐีนั่นแหละ ที่เขาตกแต่งไว้ในมณฑป เป็นที่นั่งของเศรษฐี ซึ่งทำด้วยแก้ว.

พระราชาประทับเสวยในบ้านโชติกเศรษฐี

ครั้งนั้น พวกบุรุษถวายน้ำสำหรับล้างพระหัตถ์แด่ท้าวเธอ แล้วคดข้าวปายาสเปียกจากภาชนะทองคำที่มีค่าได้แสนหนึ่ง วางไว้ตรงพระพักตร์. พระราชาทรงเริ่มจะเสวยด้วยสำคัญว่า "เป็นโภชนะ."

เศรษฐีกราบทูลว่า "ข้าแต่สมมติเทพ นี้ไม่ใช่ภาชนะ, นี้เป็นข้าวปายาสเปียก. พวกบุรุษคดโภชนะใสในภาชนะทองคำใบอื่น แล้ววางไว้บนถาดเดิม.".


(๑) อิมสฺส อิมสฺมิํ ปาสาเท วสิตุํ น ทสฺสามิ เราจักไม่ให้อยู่ในปราสาทนี้ แก่คฤหบดีนี้.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 535

ได้ยินว่า การบริโภคภาชนะนั้นด้วยไออุ่นที่พลุ่งขึ้นจากภาชนะข้าวปายาสเปียกนั้น ย่อมเป็นเหตุนำมาซึ่งความสบาย. พระราชาเมื่อเสวยโภชนะที่มีรสอร่อย ก็มิได้ทรงรู้ประมาณ.

ลำดับนั้น เศรษฐีถวายบังคมท้าวเธอแล้ว ประคองอัญชลีกราบทูลว่า "พอที พระเจ้าข้า, เพียงเท่านี้ก็พอ, พระองค์ไม่ทรงสามารถเพื่อจะให้โภชนะที่ยิ่งกว่านี้ไป ให้ย่อยได้."

ทีนั้น พระราชาตรัสกะเขาว่า "คฤหบดี เธอทำความหนักใจหรือ จึงพูดถึงภัตของตน"

เศรษฐี. "ข้อนั้นหามิได้ พระเจ้าข้า, เพราะภัตเพื่อหมู่พลของพระองค์แม้ทั้งหมด ก็อันนี้แหละ, แกงก็อันนี้, ก็แต่ว่าข้าพระองค์กลัวต่อความเสื่อมยศ.

พระราชา. เพราะเหตุไร

เศรษฐี. ถ้าว่า เหตุสักว่าความอึดอัดแห่งพระกาย จะพึงมีแก่สมมติเทพเจ้าไซร้, ข้าพระองค์ย่อมกลัวต่อคำว่า "วานนี้ พระราชาเสวย (ภัต) ในเรือนของเศรษฐี. เศรษฐีคงจักทำอะไร (ถวายเป็นแน่) " พระเจ้าข้า.

พระราชา. ถ้าอย่างนั้น ท่านจงนำภัตไป, จงนำน้ำมา.

ในเวลาเสร็จภัตกิจของพระราชา ราชบริพารทั้งหมดก็บริโภคภัต นั้นนั่นแหละ.

พระราชาทรงสนทนากับเศรษฐี

พระราชาประทับนั่งสนทนาปรารภถึงความสุข ตรัสเรียกเศรษฐีมา แล้วตรัสว่า "ภรรยาของท่านในเรือนนี้ไม่มีหรือ"

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 536

เศรษฐี. มี พระเจ้าข้า.

พระราชา. นางอยู่ที่ไหน

เศรษฐี กราบทูลว่า นางนั่งอยู่ในห้องอันมีสิริ ยังไม่ทราบเกล้าว่า สมมติเทพเสด็จมา.

ก็พระราชาพร้อมด้วยราชบริพาร เสด็จมาแล้วแต่เช้าตรู่ก็จริง, ถึงอย่างนั้น นางก็ยังไม่รู้ว่าท้าวเธอเสด็จมา.

ลำดับนั้น เศรษฐีรู้ว่า "พระราชามีพระประสงค์จะทอดพระเนตรภริยาของเรา" จึงไปสู่สำนักของนางแล้ว บอกว่า "พระราชาเสด็จมาแล้ว, การที่หล่อนเฝ้าพระราชา ไม่ควรหรือ"

ภรรยาเศรษฐีน้อยใจที่ยังมีผู้ใหญ่กว่าตน

นางนอนอยู่นั่นแล กล่าวว่า "นาย ชื่อว่าพระราชานั้นเป็นอย่างไร" เมื่อเขาบอกว่า "คนที่เป็นใหญ่ของพวกเรา ชื่อว่าพระราชา". จึงแจ้งความที่ตนเป็นผู้มีใจไม่แช่มชื่นอยู่ กล่าวว่า "พวกเรา ยังมีแม้บุคคลผู้เป็นใหญ่ (นับว่า) ทำบุญกรรมทั้งหลายไว้ไม่ดีหนอ, พวกเราทำบุญกรรมทั้งหลายชื่อด้วยไม่มีศรัทธา จึงถึงสมบัติเกิดแล้วในที่ของชนอื่นผู้เป็นใหญ่ ทานจักเป็นของอันเราทั้งหลายไม่เชื่อแล้วให้เป็นแน่, นี่เป็นผลของทานนั้น" แล้วกล่าวว่า "นาย บัดนี้ฉันจักทำอย่างไร"

สามี. หล่อนจงถือเอาพัดก้านตาลมาพัดถวายพระราชา.

เมื่อนางถือพัดก้านตาลมาพัดถวายพระราชาอยู่ ลม (มี) กลิ่นแห่งพระภูษาสำหรับโพกของพระราชา กระทบนัยน์ตาของนางแล้ว.

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 537

ภรรยาเศรษฐีน้ำตาไหล

ลำดับนั้น สายแห่งน้ำตาไหลออกจากนัยน์ตาของนาง. พระราชาทอดพระเนตรเห็นอาการนั้น จึงตรัสกะเศรษฐีว่า "มหาเศรษฐี ธรรมดามาตุคาม มีความรู้น้อย ชะรอยจะร้องไห้ เพราะกลัวว่า พระราชาจะพึงยึดเอาสมบัติของสามีของเรา, ท่านจงปลอบนาง, เราไม่มีความต้องการด้วยสมบัติของท่าน."

เศรษฐี. ข้าแต่สมมติเทพ นางมิได้ร้องไห้.

พระราชา. เมื่อเป็นเช่นนั้น นั่นอะไรกันเล่า

เศรษฐี. น้ำตาของนางไหลออกมาแล้ว เพราะกลิ่นแห่งพระภูษา สำหรับโพกของพระองค์, ด้วยว่าภรรยาของข้าพระองค์นี้ ไม่เคยเห็นแสงสว่างของประทีปหรือแสงสว่างของไฟ ย่อมบริโภค นั่งและนอน ด้วยแสงสว่างของแก้วมณีเท่านั้น ส่วนสมมติเทพ คงจักประทับนั่งด้วยแสงสว่างแห่งประทีป.

พระราชา. ถูกละ เศรษฐี.

เศรษฐีกราบทูลว่า "ข้าแต่สมมติเทพ ถ้าเช่นนั้น จำเดิมแต่วันนี้ ขอพระองค์จงประทับนั่งด้วยแสงสว่างแห่งแก้วมณี" แล้วได้ถวายแก้วมณีอันหาค่ามิได้ ใหญ่ประมาณเท่าผลแตงโม.

พระราชาทอดพระเนตรเรือนแล้ว ตรัสว่า "สมบัติของโชติกะมากจริง" แล้วได้เสด็จไป. (๑)

นี้เป็นเรื่องเกิดของพระโชติกเถระก่อน


(๑) เบื้องหน้าแต่นี้ เรื่องพระชฏิลเถระ พึงเป็นเรื่องอันท่านเรียงไว้ในภายหลัง.

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 538

เด็กชฎิละถูกมารดาเอาลอยน้ำ

บัดนี้ พึงทราบการอุบัติของพระเถระชื่อชฎิละ :-

ความพิสดารว่า ในกรุงพาราณสี ได้มีธิดาของเศรษฐีคนหนึ่งเป็นผู้มีรูปสวย. มารดาบิดาให้หญิงคนใช้ไว้คนหนึ่ง เพื่อต้องการรักษานางในเวลานางมีอายุรุ่นราว ๑๕- ๑๖ ปี ให้อยู่ในห้องอันมีสิริบนพื้นชั้นบนแห่งปราสาท ๗ ชั้น.

วันหนึ่ง วิทยาธรตนหนึ่งกำลังเหาะไปทางอากาศ เห็นนางกำลังเปิดหน้าต่าง แลดูภายนอกอยู่ เกิดความสิเนหา จึงเข้าไปทางหน้าต่างแล้ว ได้ทำความเชยชิดกับนาง. นางอาศัยการอยู่ร่วม (หลับนอน) กับวิทยาธรนั้น ตั้งครรภ์แล้ว ต่อกาลไม่นานเลย.

ลำดับนั้น หญิงคนใช้นั้นเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า "คุณนาย นี่อะไรกัน อันนางบอกว่า "ข้อนั้นจงยกไว้, เจ้าอย่าบอกแก่ใครๆ " จึงได้เป็นผู้นิ่งเสียเพราะกลัว. โดยกาลล่วงไป ๑๐ เดือน แม้นางคลอดบุตรแล้ว ให้หญิงคนใช้นำภาชนะใหม่มา ให้เด็กนั้นนอนในภาชนะนั้นแล้ว ปิดภาชนะนั้นเสีย วางพวงดอกไม้ไว้ข้างบน สั่งหญิงคนใช้ว่า "เจ้าจงเอาศีรษะเทินภาชนะนี้ไปลอยเสียในแม่น้ำคงคา, ถ้าถูกใครๆ ถามว่า "นี่อะไร" เจ้าพึงบอกว่า "พลีกรรมของคุณนายของฉัน." หญิงคนใช้นั้นได้ทำอย่างนั้น.

หญิง ๒ คนเถียงกันเพราะเด็กชฎิละ

ก็หญิง ๒ คนกำลังอาบน้ำอยู่ในภายใต้แม่น้ำคงคา เห็นภาชนะนั้น ถูกน้ำพัดมาอยู่, หญิงคนหนึ่งพูดว่า "ภาชนะนั้นเป็นของฉัน." คนหนึ่ง พูดว่า "สิ่งที่มีอยู่ในภาชนะนั้น เป็นของฉัน," เมื่อภาชนะ (ลอยมา)

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 539

ถึงแล้ว, จึงจับภาชนะนั้นวางไว้บนบก เปิดดูเห็นเด็ก, หญิงคนหนึ่ง พูดว่า "เด็กเป็นของฉันทีเดียว เพราะฉันกล่าวว่า "ภาชนะเป็นของฉัน." คนหนึ่ง พูดว่า "เด็กเป็นของฉันเพราะฉันกล่าวว่า "สิ่งที่มีอยู่ในภาชนะเป็นของฉันทีเดียว."

หญิงทั้งสองนั้นเถียงกัน ไปสู่ศาลวินิจฉัยแล้ว แจ้งเนื้อความนั้น เมื่อพวกอำมาตย์ไม่สามารถจะวินิจฉัยได้, จึงได้ไปสู่สำนักพระราชา.

พระราชาทรงสดับคำของหญิงทั้งสองนั้น จึงตรัสว่า "เจ้าจงเอาเด็ก, เจ้าจงเอาภาชนะ."

ก็หญิงผู้ที่ได้เด็ก ได้เป็นอุปัฏฐายิกาของพระมหากัจจายนเถระ, เพราะเหตุนั้น หญิงนั้นจึงเลี้ยงทารกนั้นไว้ ด้วยคิดว่า "จักให้เด็กนี้บวชในสำนักของพระเถระ."

เหตุที่เด็กนั้นได้รับตั้งชื่อว่าชฎิละ

ผมของเด็กนั้น ได้ปรากฏรุงรัง เพราะมลทินแห่งครรภ์อันเขาล้างออกไม่หมด ในวันที่เด็กนั้นเกิด. เพราะเหตุนั้น ชนทั้งหลายจึงตั้งชื่อเขาว่า "ชฎิละ" นั้นแหละ.

ในเวลาที่เดินได้ พระเถระเข้าไปสู่เรือนนั้นเพื่อบิณฑบาต. อุบาสิกานิมนต์พระเถระให้นั่งแล้ว ได้ถวายอาหาร.

พระเถระเห็นเด็ก จึงถามว่า "อุบาสิกา ท่านได้เด็กหรือ"

อุบาสิกาเรียนว่า "ได้ เจ้าค่ะ, ดิฉันเลี้ยงเด็กนี้ไว้ด้วยหวังว่า จักให้บวชในสำนักของท่าน, ขอท่านจงให้เขาบวช" ดังนี้แล้ว ได้ถวายแล้ว.

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 540

พระมหากัจจายนะรับเด็กไปมอบให้อุปัฏฐาก

พระเถระรับว่า "ดีละ" แล้วพาเด็กนั้นไป ตรวจดูว่า "บุญกรรมที่จะเสวยสมบัติของคฤหัสถ์ของเด็กนี้ มีอยู่หรือหนอแล" คิดว่า "สัตว์ผู้มีบุญมาก จักเสวยสมบัติใหญ่, เด็กนี้ยังเล็กนัก, แม้ญาณของเขาก็ยังไม่ถึงความแก่รอบ" จึงได้พาเด็กนั้นไปสู่เรือนของอุปัฏฐากคนหนึ่ง ในกรุงตักกสิลา. อุปัฏฐากนั้นไหว้พระเถระแล้วยืนอยู่, เห็นเด็กนั้นแล้ว เรียนถามว่า "ท่านได้เด็กหรือขอรับ"

พระเถระตอบว่า "เออ อุบาสกเขาจักบวช, แต่ยังเป็นเด็กเล็กนัก, จงอยู่ในสำนักของท่านเถิด."

อุบาสกนั้นรับว่า "ดีละ ขอรับ" แล้วตั้งเด็กไว้ในฐานะเพียงดังบุตรบำรุงแล้ว.

ก็สินค้าในเรือนของอุบาสกนั้น เป็นของที่สั่งสมไว้แล้วสิ้น ๑๒ ปี. เขาไปสู่ระหว่างแห่งบ้าน นำเอาสินค้าแม้ทั้งหมดไปสู่ตลาด ให้เด็กนั่งในตลาดแล้ว บอกราคาแห่งสินค้านั้นๆ แล้วกล่าวว่า "เจ้าพึงถือเอาทรัพย์ ชื่อมีประมาณเท่านี้ แล้วจึงให้สิ่งนี้และสิ่งนี้" ดังนี้แล้วหลีกไป.

เทพดาช่วยให้เด็กขายของได้หมด

ในวันนั้น เทพดาผู้รักษาพระนคร ทำให้ชนผู้มีความต้องการ (ด้วยวัตถุ) โดยที่สุดแม้สักว่าพริกและผักชี ให้บ่ายหน้าไปสู่ตลาดของเด็กเท่านั้น. เด็กนั้นขายสินค้าที่สะสมไว้สิ้น ๑๒ ปี (หมด) โดยวันเดียวเท่านั้น. กุฎุมพีมาไม่เห็นอะไรๆ ในตลาด จึงกล่าวว่า "พ่อ สินค้าทั้งหมด เจ้าให้ฉิบหายเสียแล้วหรือ."

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 541

เด็กตอบว่า "ฉันไม่ได้ให้สินค้าฉิบหาย, ฉันขายสินค้าทั้งหมดตาม นัยที่ท่านบอกไว้แล้วนั่นแหละ, นี้เป็นค่าของสินค้าชื่อโน้น. นี้เป็นค่าของสินค้าชื่อโน้น." กุฎุมพีปลื้มใจ คิดว่า "บุรุษที่หาค่ามิได้สามารถ เพื่อจะเป็นอยู่ในที่ใดที่หนึ่งได้" จึงให้ลูกสาวผู้เจริญวัยแล้วในเรือนของตนแก่เขา สั่งพวกบุรุษว่า "พวกเจ้าจงสร้างเรือนแก่เขา" เมื่อเรือนสำเร็จแล้ว จึงบอกว่า "พวกเจ้าจงไป, จงอยู่ในเรือนของตน."

ชฎิลกุมารได้เป็นเศรษฐีเพราะภูเขาทองผุดใกล้เรือน

ครั้นในเวลาที่ชฎิลกุมารนั้นเข้าไปสู่เรือน เมื่อธรณีประตูพอเขาเหยียบแล้วด้วยเท้าข้างหนึ่ง ภูเขาทองประมาณ ๘๐ ศอก ชำแรกแผ่นดิน ผุดขึ้นแล้ว ณ ที่ส่วนอันมีข้างหลังเรือน.

พระราชาพอสดับว่า "ข่าวว่า ภูเขาทองชำแรกแผ่นดินผุดขึ้นใกล้เรือนของชฎิลกุมาร" จึงทรงส่งฉัตรสำหรับเศรษฐีไปประทานแก่เขา. เขาได้เป็นผู้มีชื่อว่า ชฎิลเศรษฐี. เขาได้บุตร ๓ คน.

ชฎิลเศรษฐีให้บุรุษเที่ยวสืบหาเศรษฐีที่เสมอกับตน

เขายังจิตให้เกิดขึ้นในการบวช ในเวลาที่บุตรเหล่านั้นเจริญวัยแล้ว คิดว่า "ถ้าตระกูลเศรษฐีที่มีโภคะเสมอด้วยเราทั้งหลายจักมีไซร้, บุตรทั้งหลายก็จักให้บวชได้ ถ้าไม่มีไซร้, บุตรทั้งหลายก็จักไม่ให้. ในชมพูทวีป ตระกูลที่มีโภคะเสมอด้วยเราทั้งหลาย มีอยู่หรือหนอ" จึงให้ช่างทำอิฐที่สำเร็จด้วยทองคำ ด้ามปฏักที่สำเร็จด้วยทองคำ และเขียงเท้าที่สำเร็จด้วยทองคำ เพื่อต้องการจะทดลองดู ให้ในมือของบุรุษทั้งหลายแล้ว ส่งไปว่า "พวกเจ้าจงไป, จงถืออิฐที่สำเร็จด้วยทองคำเป็นต้นเหล่านี้ ทำเป็นเหมือนแลดูอะไรๆ นั่นเทียว เที่ยวไปในพื้นชมพูทวีป

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 542

รู้ความที่ตระกูลแห่งเศรษฐีที่มีโภคะเสมอด้วยเรามีอยู่หรือไม่มีแล้ว จงมา." บุรุษเหล่านั้นเที่ยวจาริกไปถึงภัททิยนคร.

พวกบุรุษพบเมณฑกเศรษฐี

ครั้งนั้น เมณฑกเศรษฐีเห็นบุรุษเหล่านั้นแล้ว ถามว่า "พ่อทั้งหลาย พวกท่านเที่ยวไปทำอะไรกัน" เมื่อพวกเขาบอกว่า "พวกฉันเที่ยวดูของสิ่งหนึ่ง," รู้ว่า "กิจด้วยการถืออิฐที่สำเร็จด้วยทองคำเป็นต้นเหล่านี้เที่ยวไป เพื่อจะตรวจดูสิ่งอะไรๆ นั่นแหละ ของบุรุษเหล่านี้ ย่อมไม่มี, บุรุษเหล่านี้เที่ยวสืบสวนดูเศรษฐี" จึงกล่าวว่า "พ่อทั้งหลาย พวกท่าน จงเข้าไปตรวจดูหลังเรือนของเรา."

บุรุษเหล่านั้น เห็นแพะทองคำทั้งหลาย มีประการดังกล่าวแล้วในหนหลัง มีขนาดเท่าช้าง ม้า และโคอุสุภะ ซึ่งเอาหลังจดหลัง ชำแรกแผ่นดินผุดขึ้นแล้วในที่ประมาณ ๘ กรีส ที่หลังเรือนนั้นแล้ว เที่ยวไปในระหว่างๆ แพะเหล่านั้นแล้วออกไป.

ลำดับนั้น เศรษฐีถามบุรุษเหล่านั้นว่า "พ่อทั้งหลาย พวกท่านเที่ยวไปตรวจดูผู้ใด, ผู้นั้น พวกท่านเห็นแล้วหรือ" เมื่อพวกเขากล่าวว่า "เห็น นาย" จึงส่งไปแล้วด้วยพูดว่า "ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงไป."

บุรุษเหล่านั้นไปจากที่นั้นนั่นแหละแล้ว, เมื่อเศรษฐีของตนพูดว่า "พ่อทั้งหลาย ตระกูลเศรษฐีที่โภคะเสมอเราทั้งหลาย พวกเจ้าเห็นแล้วหรือ" บอกว่า "นาย ท่านจะมีอะไร สมบัติชื่อเห็นปานนี้ของเมณฑกเศรษฐีมีอยู่ ในภัททิยนคร" แล้วบอกเรื่องราวนั้นทั้งหมด.

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 543

ชฏิลเศรษฐีให้สืบเสาะเป็นครั้งที่ ๒

เศรษฐีฟังคำนั้นแล้ว เป็นผู้มีใจแช่มชื่น คิดว่า "ตระกูลเศรษฐี เราได้ไว้ก่อนแล้วตระกูลหนึ่ง, ตระกูลเศรษฐีแม้อื่นอีกมีอยู่หรือหนอ" แล้วให้ผ้ากัมพลมีค่าได้แสนหนึ่ง ส่งไปว่า "พ่อทั้งหลาย พวกเจ้าจงไป, จงเสาะหาตระกูลเศรษฐีแม้อื่น." พวกเขาไปสู่กรุงราชคฤห์แล้ว ทำกองฟืนในที่ไม่ไกลแต่เรือนของโชติกเศรษฐี ติดไฟแล้วได้ยืนอยู่.

ก็ในเวลาพวกชนถามว่า "นี้อะไรกัน" ก็บอกว่า "เมื่อพวกฉันจะขายผ้ากัมพลซึ่งมีค่ามากผืนหนึ่ง ผู้ซื้อไม่มี, พวกฉันแม้จะถือเที่ยวไปอยู่ ก็กลัวโจร, เพราะเหตุนั้น พวกฉันจักเผามันเสียแล้วจึงจักไป."

พวกบุรุษพบโชติกเศรษฐี

ครั้งนั้น โชติกเศรษฐีเห็นพวกเขาจึงถามว่า "พวกนี้ทำอะไรกัน" ฟังเนื้อความนั้นแล้ว ให้เรียกมาถามว่า "ผ้ากัมพลมีค่าเท่าไร" เมื่อพวกเขาบอกว่า "มีค่าแสนหนึ่ง" จึงสั่งให้ๆ ทรัพย์แสนหนึ่ง บอกว่า "พวกท่านจงให้ (ผ้าผืนนั้น) แก่ทาสีผู้กวาดซุ้มประตูเทหยากเยื่อ" แล้วส่งให้ในมือของพวกเขานั่นแล. ทาสีนั้นรับเอาผ้ากัมพลแล้วร้องไห้ ไปสู่สำนักของนาย บอกว่า "นาย เมื่อความผิดมีอยู่ ประหารดิฉันเสีย ไม่ควรหรือ เพราะเหตุไร จึงส่งผ้ากัมพลเนื้อหยาบอย่างนี้แก่ดิฉัน, ดิฉันจักนุ่งหรือจักห่มผ้ากัมพลผืนนี้อย่างไรได้"

โชติกเศรษฐี. ฉันมิได้ส่งไปให้เจ้าเพื่อประโยชน์แก่การนุ่งหรือการห่มนั่น แต่ส่งผ้ากัมพลผืนนั้นไปให้เจ้า เพื่อต้องการจะให้พับเข้าแล้ววางไว้ใกล้ที่นอนของเจ้า ในเวลาจะนอน เช็ดเท้าที่ล้างแล้วด้วยน้ำหอม (ต่างหาก), เจ้าไม่อาจทำกิจแม้นั่นได้หรือ

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 544

ทาสีนั้นกล่าวว่า "ถ้ากระนั้น ดิฉันอาจเพื่อจะทำกิจนั่นได้" จึงได้รับเอาไปแล้ว.

ฝ่ายบุรุษเหล่านั้น เห็นเหตุนั้นแล้ว จึงไปสู่สำนักเศรษฐีของตน เมื่อเศรษฐีกล่าวว่า "พ่อทั้งหลาย ตระกูลแห่งเศรษฐีอันพวกเจ้าเห็นแล้วหรือ" เรียนว่า "นาย ท่านจะมีอะไร, สมบัติชื่อเห็นปานนี้ของเศรษฐีชื่อโชติกะ มีอยู่ในกรุงราชคฤห์" จึงบอกสมบัติในเรือนทั้งหมด แล้วบอกเรื่องราวนั้น.

เศรษฐีฟังคำของบุรุษเหล่านั้นแล้วมีใจยินดี คิดว่า "บัดนี้เราจักได้บวช" จึงไปสู่สำนักของพระราชา กราบทูลว่า "ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์มีประสงค์จะบวช."

พระราชาตรัสว่า "ดีละ มหาเศรษฐี ท่านจงบวชเถิด."

เศรษฐีนั้นไปสู่เรือนแล้ว ให้เรียกบุตรทั้งหลายมาแล้ว วางจอบมีด้ามเป็นทองคำ ตัวจอบเป็นเพชรไว้ที่มือของบุตรคนใหญ่แล้ว กล่าวว่า "พ่อ เจ้าจงขุดเอาลิ่มทองจากภูเขาทองที่หลังเรือน." ลูกชายคน ใหญ่นั้น ถือเอาจอบไปสับภูเขาทอง. เวลาเขาสับภูเขาทองนั้น ได้เป็นเหมือนเวลาที่เขาสับที่หินดาดฉะนั้น.

เศรษฐีรับจอบจากมือของลูกชายคนใหญ่นั้น ส่งให้ในมือของลูกชายคนกลาง. แม้ลูกชายคนกลางแม้นั้น สับภูเขาทองอยู่, เวลาเขาสับนั้น ได้เป็นเหมือนเวลาที่เขาสับหินดาดฉะนั้น.

ลำดับนั้น เศรษฐีจึงส่งจอบนั้นให้ในมือของลูกชายคนเล็ก. เมื่อลูกชายคนเล็กนั้น รับเอาจอบนั้นฟันอยู่ เวลาที่เขาฟันนั้น ได้เป็นเหมือนเวลาที่เขาสับดินเหนียวที่เขาทำให้เป็นกองไว้ฉะนั้น.

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 545

ลำดับนั้น เศรษฐีจึงกล่าวกะลูกชายคนเล็กว่า "มาเถิดพ่อ, พอละ ด้วยทรัพย์ประมาณเท่านี้" แล้วให้เรียกพี่ชาย ๒ คนนอกนี้มาแล้ว บอกว่า "ภูเขาทองลูกนี้ ไม่ใช่เกิดเพื่อพวกเจ้า, เกิดขึ้นเพื่อพ่อและลูกชายคนเล็ก, พวกเจ้าจงใช้สอยรวมกันกับลูกชายคนเล็กนี้เถิด."

ถามว่า "ก็เพราะเหตุไร ภูเขาทองนั้นจึงเกิดเพื่อบิดาและลูกชายคนเล็กเท่านั้น เพราะเหตุไร ชฎิลเศรษฐีจึงถูกโยนลงไปในน้ำในเวลาเกิดแล้ว"

แก้ว่า เพราะกรรมที่ตนทำแล้วนั่นเอง.

บุรพกรรมของชฎิลเศรษฐี

ความพิสดารว่า เมื่อมหาชนกำลังสร้างพระเจดีย์ของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ พระขีณาสพองค์หนึ่งไปสู่เจติยสถาน แลดูแล้วถามว่า "พ่อทั้งหลาย เพราะเหตุไร มุขทางทิศอุดรแห่งเจดีย์ จึงยังไม่ก่อขึ้น"

มหาชน. ทองยังไม่พอ.

พระขีณาสพ. ฉันจักเข้าไปสู่ภายในบ้านแล้วชักชวน, พวกท่านจงทำกรรมโดยเอื้อเฟื้อเถิด.

ท่านกล่าวอย่างนั้นแล้วเข้าไปสู่พระนคร ชักชวนมหาชนว่า "แม่ และพ่อทั้งหลาย ทองที่หน้ามุขข้างหนึ่งแห่งพระเจดีย์ของพวกเรา ยังไม่พอ, พวกท่านจงรู้ทองเถิด" ได้ไปสู่ตระกูลแห่งนายช่างทองแล้ว. ฝ่ายนายช่างทอง กำลังนั่งทะเลาะกับภรรยาอยู่ในขณะนั้นเอง.

ครั้งนั้น พระเถระกล่าวกะเขาว่า "ทองสำหรับหน้ามุขที่พระเจดีย์ อันท่านทั้งหลายรับไว้ยังไม่พอ, การที่ท่านรู้ทองนั้นย่อมควร. เขากล่าว

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 546

ด้วยความโกรธต่อภรรยาว่า "ท่านจงโยนพระศาสดาของท่านลงในน้ำ แล้วไปเสีย."

ลำดับนั้น นางจึงกล่าวกะเขาว่า "ท่านทำกรรมอย่างสาหัสยิ่ง ท่านโกรธดิฉัน ควรจะด่าหรือควรจะเฆี่ยนดิฉันเท่านั้น, เหตุไฉนท่านจึงทำเวรในพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบันเล่า" ทันใดนั้นเอง นายช่างทองเป็นผู้ถึงความสลดใจแล้ว กล่าวว่า "ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงอดโทษแก่กระผม" แล้วหมอบลงแทบเท้าของพระเถระ.

พระเถระ. โยม ฉันหาถูกท่านว่ากล่าวอะไรๆ ไม่, ท่านจงยังพระศาสดาให้อดโทษเถิด.

นายช่างทอง. ท่านเจ้าข้า กระผมจะทำอย่างไรเล่า จึงจะให้พระศาสดาอดโทษได้

พระเถระ. ท่านจงทำหม้อดอกไม้ทองคำ ๓ หม้อ บรรจุเข้าไว้ภายในที่บรรจุพระธาตุแล้ว เป็นผู้มีผ้าชุ่ม มีผมชุ่ม ยังพระศาสดาให้อดโทษเถิด โยม.

เขารับว่า "ดีละ ขอรับ" แล้วเมื่อจะทำดอกไม้ทองคำ ให้เรียกบุตรชายคนใหญ่ในบุตร ๓ คนมาแล้ว กล่าวว่า "มานี่แน่ะ พ่อ, พ่อ ได้กล่าวกะพระศาสดาด้วยคำเป็นเวร, เพราะฉะนั้น พ่อจักทำดอกไม้เหล่านี้ บรรจุในที่บรรจุพระธาตุ ให้พระศาสดาอดโทษ, แม้เจ้าแล ก็จงเป็นสหายของเรา."

ลูกชายคนใหญ่นั้นบอกว่า "พ่ออันฉันใช้ให้กล่าวคำเป็นเวร หามิได้, พ่อทำแต่ลำพังเถิด" แล้วไม่ปรารถนาจะทำ.

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 547

ช่างทอง ให้เรียกลูกชายคนกลางมาแล้ว กล่าวเหมือนอย่างนั้น. แม้ลูกชายคนกลางนั้น ก็กล่าวเหมือนอย่างนั้น แล้วไม่ปรารถนาจะทำ. เขาจึงให้เรียกลูกชายคนเล็กมาแล้ว ก็กล่าว (เหมือนอย่างนั้น).

ลูกชายคนเล็กนั้นคิดว่า "ธรรมดาว่ากิจที่เกิดขึ้นแก่บิดา ย่อมเป็นภาระของบุตร" จึงเป็นสหายของบิดา ได้ทำดอกไม้ทั้งหลายแล้ว. นายช่างทองยังหม้อดอกไม้ขนาดคืบหนึ่ง ๓ หม้อ ให้สำเร็จแล้วบรรจุในที่บรรจุพระธาตุ มีผ้าชุ่ม มีผมชุ่ม ยังพระศาสดาให้อดโทษแล้ว. เขาได้ถูกโยนลงไปในน้ำในเวลาเกิดถึง ๗ ครั้ง ด้วยประการฉะนี้.

ก็อัตภาพของเขาที่ตั้งอยู่แล้วในที่สุดนี้ แม้ในบัดนี้ ก็ถูกโยนลงไปในน้ำ เพราะผลของกรรมนั้นเหมือนกัน. ส่วนบุตรของเขาสองคนใด ไม่ปรารถนาจะเป็นสหายในเวลาทำดอกไม้ทองคำ, เพราะเหตุนั้น ภูเขาทองจึงไม่เกิดสำหรับบุตรทั้งสองนั้น, แต่เกิดสำหรับลูกชายคนเล็ก เพราะความที่เขาทำดอกไม้ทองคำร่วมกัน (กับบิดา).

ชฎิลเศรษฐีออกบวชได้บรรลุพระอรหัต

เศรษฐีนั้นพร่ำสอนบุตรแล้ว บวชในสำนักพระศาสดา บรรลุพระอรหัตแล้วโดย ๒ - ๓ วันเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้.

โดยสมัยอื่น พระศาสดาเสด็จเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาต พร้อมด้วย ภิกษุ ๕๐๐ รูป ได้เสด็จไปสู่ประตูเรือนของบุตรทั้งหลายของเศรษฐีนั้น. บุตรเหล่านั้น ได้ถวายภิกษาหารแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอดกึ่งเดือน.

ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า "ชฎิล ผู้มีอายุ แม้ใน

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 548

วันนี้ ความทะยานอยากในภูเขาทองประมาณ ๘๐ ศอก และในบุตรทั้งหลายของท่านมีอยู่หรือ"

พระชฎิล. ผู้มีอายุ ตัณหาหรือมานะในภูเขาทองและบุตรเหล่านั้น ของผมย่อมไม่มี.

ภิกษุเหล่านั้น จึงกล่าวว่า "พระชฎิลเถระนี้ พูดไม่จริง พยากรณ์พระอรหัตตผล."

พระศาสดาทรงสดับคำของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ตัณหาหรือมานะในภูเขาทองและบุตรเหล่านั้นของบุตรของเรา ย่อมไม่มี" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

๓๓. โยธ ตณฺหํ ปหนฺตฺวาน อนาคาโร ปริพฺพเช ตณฺหาภวปริกฺขีณํ ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ.

"ผู้ใด ละตัณหาในโลกนี้ได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีเรือน เว้นเสียได้, เราเรียกผู้นั้น ซึ่งมีตัณหาและภพอันสิ้นแล้วว่า เป็นพราหมณ์."

แก้อรรถ

พึงทราบเนื้อความแห่งพระคาถานั้นว่า :-

ผู้ใดละตัณหาอันเป็นไปในทวาร ๖ ในโลกนี้เสียได้ เป็นผู้ไม่มีความต้องการอยู่ครองเรือน ชื่อว่า เป็นผู้ไม่มีเรือน เว้นเสียได้ เราเรียกผู้ชื่อว่า มีตัณหาและภพอันสิ้นแล้ว เพราะความที่ตัณหาและภพเป็นของสิ้นแล้วนั้น ว่าเป็นพราหมณ์.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดา-

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 549

ปัตติผลเป็นต้นดังนี้แล. (๑)

พระเจ้าอชาตศัตรูจะยึดเอาบ้านเศรษฐี

ฝ่ายพระเจ้าอชาตศัตรูกุมารสมคบกับพระเทวทัต ปลงพระชนม์พระราชบิดา ดำรงอยู่ในราชสมบัติแล้ว ทรงดำริว่า "เราจักยึดเอาปราสาทของโชติกเศรษฐี" จึงทรงเตรียมการรบแล้วเสด็จออกไป พอทอดพระเนตรเห็นพระฉายของพระองค์พร้อมด้วยบริวารที่กำแพงแก้วเข้าพระทัยว่า "คฤหบดี เป็นผู้เตรียมการรบคุมพลออกมาแล้ว" จึงไม่ทรงสามารถจะเสด็จเข้าไปได้.

ในวันนั้น แม้เศรษฐีเป็นผู้รักษาอุโบสถ บริโภคอาหารเช้าแต่เช้าตรู่ ไปสู่วิหาร นั่งฟังธรรมอยู่ในสำนักของพระศาสดา.

ส่วนยักษ์ชื่อยมโมลี ผู้ยึดการรักษายืนอยู่ที่ซุ้มประตูที่ ๑ เห็นพระเจ้าอชาตศัตรูนั้น จึงถามว่า "ท่านจะไปไหน" แล้วกำจัดพระเจ้าอชาตศัตรูพร้อมด้วยราชบริพาร ติดตามไปในทิศใหญ่ทิศน้อยทั้งหลาย. พระราชาได้เสด็จไปสู่วิหารแล้วเหมือนกัน.

ครั้งนั้น เศรษฐีพอเห็นท้าวเธอ จึงทูลว่า "เรื่องอะไรกัน พระเจ้าข้า" ได้ลุกขึ้นจากอาสนะ ยืนอยู่แล้ว.

พระราชา. คฤหบดี ท่านบังคับพวกบุรุษของท่านว่า "จงรบกับเรา" แล้วมาในที่นี้ นั่งทำเป็นเหมือนฟังธรรมอยู่หรือ

เศรษฐี. ก็สมมติเทพ เสด็จไปเพื่อยึดเอาเรือนของข้าพระองค์ มิใช่หรือ

พระราชา. เออ เราไป.


(๑) เบื้องหน้าแต่นี้ บัณฑิตพึงเห็นความสืบต่อด้วยเรื่องเดิม.

 
  ข้อความที่ 32  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 550

เศรษฐี. ข้าแต่สมมติเทพ แม้พระราชาตั้งพัน ก็ไม่สามารถเพื่อจะยึดเอาเรือนของข้าพระองค์ได้ เพราะข้าพระองค์ไม่ปรารถนา.

พระราชาทรงถอดแหวนไม่ออก

ท้าวเธอกริ้วว่า "ก็ท่านจักเป็นพระราชาหรือ"

เศรษฐี. ข้าพระองค์ไม่เป็นพระราชา, แต่พระราชาหรือโจรไม่สามารถจะถือเอาแม้เส้นด้ายที่ชายผ้าอันเป็นของข้าพระองค์ได้ เพราะ ข้าพระองค์ไม่ปรารถนา.

พระราชา. ก็ฉันจักถือเอาตามความพอใจของท่านได้ อย่างไร

เศรษฐี. ข้าแต่สมมติเทพ ถ้าอย่างนั้น แหวน ๒๐ วงเหล่านั้น ที่นิ้วมือทั้ง ๑๐ ของข้าพระองค์มีอยู่, ข้าพระองค์ไม่ถวายแหวนเหล่านี้แก่พระองค์ ถ้าพระองค์ทรงสามารถไซร้, ขอพระองค์จงทรงถือเอาเถิด.

ก็พระราชานั้น ประทับนั่งกระโหย่งบนพื้น เมื่อจะทรงกระโดด ย่อมทรงกระโดดขึ้นสู่ที่ ๑๘ ศอกได้, ประทับยืน เมื่อจะทรงกระโดด ย่อมทรงกระโดดขึ้นสู่ที่ ๘๐ ศอกได้. พระราชาแม้ทรงมีพระกำลังมากอย่างนี้ ทรงกระโดดไปมาอยู่ข้างโน้นและข้างนี้ ก็ไม่ทรงสามารถเพื่อจะถอดแม้ซึ่งแหวนวงหนึ่งได้.

เศรษฐีสลดใจใคร่จะบวช

ลำดับนั้น เศรษฐีกราบทูลกะท้าวเธอว่า "ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงลาดผ้าสาฎก" แล้วได้ทำนิ้วทั้งหลายให้ตรง. แหวนแม้ทั้ง ๒๐ วง หลุดออกแล้ว.

ลำดับนั้น เศรษฐีกราบทูลท้าวเธอว่า "ข้าแต่สมมติเทพ ใครๆ

 
  ข้อความที่ 33  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 551

ไม่สามารถเพื่อจะถือเอาทรัพย์สมบัติอันเป็นของข้าพระองค์ด้วยอาการอย่างนั้นได้ เพราะข้าพระองค์ไม่ปรารถนา" ดังนี้แล้ว เกิดสลดใจเพราะพระกิริยาของพระราชา จึงกราบทูลว่า "ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์จงทรงอนุญาตเพื่อการบวชแก่ข้าพระองค์." ท้าวเธอทรงดำริว่า "เมื่อเศรษฐีนี้บวชแล้ว, เราจักยึดเอาปราสาทได้สะดวก" จึงตรัสว่า "จงบวชเถิด" ด้วยพระดำรัสคำเดียวเท่านั้น. เศรษฐีนั้นบวชในสำนักพระศาสดาแล้ว ต่อกาลไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต มีชื่อว่า พระโชติกเถระ.

ในขณะที่ท่านบรรลุพระอรหัตแล้วนั่นแล สมบัตินั้นแม้ทั้งหมดก็อันตรธานไป. พวกเทพดาก็นำภรรยาของเศรษฐีนั้น ชื่อสตุลกายา แม้นั้นไปสู่อุตตรกุรุทวีปนั่นแล.

พวกภิกษุเข้าใจว่าพระเถระอวดอุตริมนุสธรรม

ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเรียกพระโชติกเถระนั้นมาแล้ว ถามว่า "โชติกะผู้มีอายุ ก็ตัณหาในปราสาทหรือในหญิงนั้นของท่านยังมีอยู่หรือ" เมื่อท่านบอกว่า "ไม่มี ผู้มีอายุทั้งหลาย" จึงกราบทูลแด่พระศาสดาว่า "พระเจ้าข้า พระโชติกะนี้ กล่าวไม่จริง พยากรณ์พระอรหัตตผล."

พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราไม่มีตัณหาในปราสาทหรือในหญิงนั้นเลย" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า:-

"ผู้ใด ละตัณหาได้แล้ว ในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีเรือน เว้นเสียได้, เราเรียกผู้นั้น ซึ่งมีตัณหาและภพอันสิ้นแล้วว่า เป็นพราหมณ์."

 
  ข้อความที่ 34  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 552

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องพระโชติกเถระ จบ.