พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓๗. เรื่องพระธรรมทินนาเถรี [๓๐๐]

 
บ้านธัมมะ
วันที่  26 ก.ค. 2564
หมายเลข  35109
อ่าน  801

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 562

๓๗. เรื่องพระธรรมทินนาเถรี [๓๐๐]


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 43]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 562

๓๗. เรื่องพระธรรมทินนาเถรี [๓๐๐]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภภิกษุณีชื่อ ธรรมทินนา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ยสฺส ปุเร จ" เป็นต้น.

วิสาขอุบาสกบรรลุอนาคามิผล

ความพิสดารว่า ในวันหนึ่ง ในเวลานางเป็นคฤหัสถ์ วิสาขอุบาสก ผู้เป็นสามี ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา บรรลุอนาคามิผลแล้วคิดว่า "การที่เราให้นางธรรมทินนารับทรัพย์สมบัติทั้งปวง ควร." ในกาลก่อนแต่นั้น อุบาสกนั้นเมื่อมา เห็นนางธรรมทินนาผู้แลดูอยู่ทางหน้าต่าง ย่อมทำความยิ้มแย้ม. แต่ในวันนั้น ไม่แลดูนางผู้ยืนอยู่ที่หน้าต่างเลยได้ไปแล้ว.

นางคิดว่า "นี้เรื่องอะไรกันหนอ" คิดว่า "ข้อนั้นจงยกไว้, เราจักรู้ในเวลาบริโภค" แล้วนำภัตเข้าไปในเวลาบริโภค.

ในวันอื่นๆ อุบาสกนั้นพูดว่า "มาเถิด, เราบริโภคด้วยกัน". แต่ในวันนั้น เป็นผู้นิ่งเฉย บริโภคแล้ว. นางคิดว่า "สามีคงจักโกรธด้วยเหตุอะไรๆ แน่นอน."

ครั้งนั้น. วิสาขอุบาสกเรียกนางในเวลานั่งตามสบายมาแล้ว กล่าวกะนางว่า "ธรรมทินนา หล่อนจงรับทรัพย์สมบัติทั้งปวงในเรือนนี้เถิด." นางคิดว่า "ธรรมดาว่า คนทั้งหลายโกรธแล้วย่อมไม่ให้ใครรับทรัพย์สมบัติ, นี่เรื่องอะไรกันหนอ" จึงกล่าวว่า "นาย ก็ท่านเล่า"

อุบาสก. จำเดิมแต่นี้ ฉันจักไม่จัดแจงอะไรๆ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 563

ธรรมทินนา. ใครจักรับน้ำลายที่ท่านบ้วนทิ้ง, เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านก็จงอนุญาตการบวชแก่ดิฉันเถิด.

อุบาสกนั้น รับว่า "ดีละ นางผู้เจริญ" แล้วนำนางไปสู่สำนักภิกษุณีด้วยสักการะเป็นอันมาก ให้บวชแล้ว. นางได้อุปสมบทแล้ว ได้มีชื่อว่า ธรรมทินนาเถรี.

วิสาขอุบาสกถามปัญหาในมรรคกะพระเถรี

นางไปสู่ชนบทกับภิกษุณีทั้งหลาย เพราะความเป็นผู้ประสงค์วิเวก เมื่ออยู่ในชนบทนั้นไม่นานเท่าไร ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย กลับมาสู่กรุงราชคฤห์อย่างเดิมอีก ด้วยคิดว่า "บัดนี้ พวกชนผู้เป็นญาติอาศัยเราแล้ว จักทำบุญทั้งหลาย."

อุบาสก ได้ทราบความที่พระเถรีมาแล้ว คิดว่า "พระเถรีมา เพราะเหตุไรหนอ" จึงไปสู่สำนักภิกษุณี ไหว้พระเถรีแล้วนั่ง ณ ส่วน ข้างหนึ่ง คิดว่า "การที่เราจะพูดว่า แม่เจ้า ท่านกระสันหรือหนอ ดังนี้ ก็เป็นการไม่สมควร, เราจักถามปัญหาสักข้อหนึ่งกะพระเถรีนั้น" แล้วถามปัญหาในโสดาปัตติมรรค. พระเถรี เฉลยปัญหาข้อนั้นได้. อุบาสก จึงถามปัญหาแม้ในมรรคที่เหลือ โดยอุบายนั้นนั่นแล เมื่อพระเถรีนั้น กล่าวในเวลาปัญหาอันอุบาสกนั้นถามก้าวล่วง (วิสัย) ว่า "วิสาขะผู้มีอายุ ท่านแล่นเลย (วิสัย) ไปแล" แล้วกล่าวว่า "เมื่อท่านจำนง ก็พึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้วทูลถามปัญหานี้" ไหว้พระเถรีแล้ว ลุกจากอาสนะ ไปสู่สำนักพระศาสดา กราบทูลการสนทนาปราศรัยนั้นทั้งหมด แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 564

พระศาสดาทรงยกย่องพระธรรมทินนาเถรี

พระศาสดาตรัสว่า "ธรรมทินนาธิดาของเรากล่าวดีแล้ว, ด้วยเรา เมื่อจะแก้ปัญหานั่น ก็จะพึงแก้อย่างนั้นเหมือนกัน" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:-

๓๗. ยสฺส ปุเร จ ปจฺฉา จ มชฺเฌ จ นตฺถิ กิญฺจนํ อกิญฺจนํ อนาทานํ ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ.

"ความกังวลในก่อน ในภายหลัง และในท่ามกลางของผู้ใดไม่มี. เราเรียกผู้นั้น ซึ่งไม่มีความกังวล ไม่มีความยึดมั่นว่า เป็นพราหมณ์"

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุเร ความว่า ในขันธ์ทั้งหลายที่เป็นอดีต.

บทว่า ปจฺฉา คือ ในขันธ์ทั้งหลายที่เป็นอนาคต.

บทว่า มชฺเฌ ได้แก่ ในขันธ์ทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน.

สองบทว่า นตฺถิ กิญฺจนํ เป็นต้น ความว่า ความกังวลกล่าวคือ ความยึดถือด้วยตัณหาในฐานะ ๓ เหล่านั้น ของผู้ใดไม่มี, เราเรียกผู้นั้น ซึ่งไม่มีความกังวลด้วยกิเลสเครื่องกังวลคือราคะเป็นต้น ผู้ชื่อว่าไม่มีความยึดมั่น เพราะไม่มีความยึดถืออะไรๆ ว่า เป็นพราหมณ์.

ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องพระธรรมทินนาเถรี จบ.