การถูกตำหนิต่อว่าแล้วเราโกรธ ขณะนั้นมีทิฏฐิเจตสิกเกิดด้วยหรือไม่
.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
ซึ่งตัณหา ก็คือ โลภเจตสิก มานะเจตสิก ก็มานะเจตสิก ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่สภาพธรรมอื่นๆ ทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด ที่เป็นทิฏฐิเจตสิก แต่ เวลาเกิดร่วมด้วย เกิดกับโลภเจตสิก เสมอเพราะ ขณะที่มีความเห็นผิด ย่อมยินดีพอใจในความเห็นนั้น ครับ
ขณะที่โกรธ ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย การคิดว่าคนนั้นทำให้เราโกรธ ความเป็นเรา เป็นเขา ไม่จำเป็นจะต้องเป็นความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยเสมอ เป็นเราเป็นเขาด้วยตัณหา มานะและทิฎฐิ รวมถึงเป็นเราเป็นเขาด้วยกิเลสอื่นได้ ไม่ได้จำเพาะเจาะจงแค่เป็นความเห็นผิดเท่านั้นครับ เพราะฉะนั้น ขณะที่โกรธ ขณะนั้นไม่พอใจในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ขุ่นเคืองใจ ในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดที่เป็นปรมัต หรือ บัญญัติก็ได้ แต่ไม่มีความเห็นผิด เพราะความเห็นผิด เกิดร่วมกับโลภะ เพราะเหตุว่าขณะใดที่มีความยึดถือในความเห็นที่ไม่ตรงตามเป็นจริง ขณะนั้นต้องพอใจในความเห็นนั้น จึงยึดในความเห็นนั้น พอใจ ติดข้องในความเห็นว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคลจริงๆ พอใจ ติดข้องว่า ตายแล้วไม่เกิด เป็นต้น แต่ขณะที่โกรธ ไม่ได้พอใจ ติดข้อง แต่ขุ่นใจในอารมณ์ที่เป็นปรมัตหรือบัญญัติก็ได้ ขณะที่โกรธ ไม่ได้มีความยินดีพอใจในความเห็นใด ครับ นี่คือเหตุผลที่ความเห็นผิด ไม่เกิดร่วมกับโทสะ ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับความโกรธได้ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ก็เกิดความโกรธได้ เป็นธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ขณะที่ความโกรธ เกิดขึ้น ความรู้สึก จะเป็นโทมนัสเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อความโกรธเกิดขึ้น ไม่มีได้มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยแต่อย่างใด เพราะเวทนาที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด จะเป็นโสมนัสหรืออุเบกขา อย่างใดอย่างหนึ่ง นี่ก็แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น
ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
โทสมูลจิต คือ จิตที่เกิดร่วมกับโทสเจตสิก
ความเห็นผิดอันตรายอย่างยิ่ง
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...