พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. กุสชาดก ว่าด้วยพระเจ้ากุสราชลุ่มหลงรูปโฉมของนางประภาวดี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  2 ส.ค. 2564
หมายเลข  35182
อ่าน  964

[เล่มที่ 62] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 195

สัตตตินิบาตชาดก

๑. กุสชาดก

ว่าด้วยพระเจ้ากุสราชลุ่มหลงรูปโฉมของนางประภาวดี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 62]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 195

สัตตตินิบาตชาดก

๑. กุสชาดก

ว่าด้วยพระเจ้ากุสราชลุ่มหลงรูปโฉมของนางประภาวดี

[๙๔] รัฐของพระองค์นี้ มีทรัพย์ มียาน มีเครื่องราชกกุธภัณฑ์ สมบูรณ์ด้วยสิ่งที่น่าปรารถนา ทั้งปวง ข้าแต่พระมารดา ขอพระองค์จงทรงปกครอง ราชสมบัติของพระองค์นี้ หม่อนฉันจะขอทูลลาไปยัง เมืองสาคละ ซึ่งเป็นที่สถิตแห่งพระนางประภาวดี ที่รัก.

[๙๕] พระองค์ทรงนำหาบใหญ่มาด้วยพระทัยอันไม่ซื่อตรง จักต้องทรงเสวยทุกข์ใหญ่ทั้งกลางวัน และกลางคืน ขอเชิญพระองค์เสด็จกลับไปยังกุสาวดีนครเสียโดยเร็วเถิด หม่อมฉันไม่ปรารถนาให้พระองค์ ซึ่งมีผิวพรรณชั่วอยู่ในที่นี้.

[๙๖] ประภาวดีเอ๋ย พี่ติดใจในผิวพรรณของ เธอ จึงจะจากที่นี้ไปยังเมืองกุสาวดีไม่ได้ พี่ยินดีในการเห็นเธอ ได้ละทิ้งบ้านเมืองมารื่นรมย์อยู่ในพระราชนิเวศน์อันน่ารื่นรมย์ของพระเจ้ามัททราช ดูก่อน น้องประภาวดี พี่ติดใจในผิวพรรณของเธอจนลุ่มหลง เที่ยวไปยังพื้นแผ่นดิน พี่ไม่รู้จักทิศว่า คนมาแล้วจาก

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 196

ที่ไหน พี่หลงไหลในตัวเธอ ผู้มีดวงเนตรอันแจ่มใส เหมือนดวงตามฤค ผู้ทรงผ้ากรองทอง ดูก่อนพระน้อง ผู้มีตะโพนอันผึ่งกาย พี่ปรารถนาแต่ตัวเธอ พี่ไม่ต้อง การด้วยราชสมบัติ.

[๙๗] ดูก่อนพระเจ้ากุสราช ผู้ใดปรารถนาคนที่เขาไม่ปรารถนาตน ผู้นั้นย่อมมีแต่ความไม่เจริญ หม่อมฉันไม่รักพระองค์ พระองค์ก็จะให้หม่อมฉันรัก เมื่อเขาไม่รัก พระองค์ก็ยังปรารถนาให้เขารัก.

[๙๘] นรชนใดได้คนที่เขาไม่รักตัว หรือที่รักตัวมาเป็นที่รัก เราสรรเสริญการได้ในสิ่งนี้ ความไม่ได้ในสิ่งนั้นเป็นความชั่วช้า.

[๙๙] พระองค์ทรงปรารถนา ซึ่งหม่อมฉันผู้ไม่ปรารถนา เปรียบเหมือนพระองค์เอาไม่กรรณิการ์มาแคะเอาเพชรในหิน หรือเหมือนเอาตาข่ายมาดักลม ฉะนั้น.

[๑๐๐] หินคงฝังอยู่ในหฤทัยมีลักษณะอ่อนละมุนละไม ของเธอเป็นเเน่ เพราะตั้งแต่ฉันมาจากชนบทภายนอก ยังไม่ได้ความชื่นชมจากเธอเลย พระราชบุตรียังทำหน้านิ่วคิ้วขมวด มองดูฉันอยู่ตราบใด ฉันก็คงต้องเป็นพนักงาน เครื่องต้นภายในบุรีของ พระเจ้ามัททราชอยู่ตราบนั้น ต่อเมื่อใดพระราชบุตร ยิ้มแย้มแจ่มใสมองดูฉัน ฉันก็จะเลิกเป็นพนักงานเครื่องต้น กลับเป็นพระเจ้ากุสราชเมื่อนั้น.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 197

[๑๐๑] ก็ถ้าถ้อยคำของโหรทั้งหลายจักเป็นจริงไซร้ พระองค์คงไม่ใช่พระสวามีของหม่อนฉันแน่แท้ เขาเหล่านั้นคงจะบั่นเราออกเป็นเจ็ดท่อนแน่.

[๑๐๒] ก็ถ้าถ้อยคำของโหรเหล่าอื่นหรือของหม่อมฉันจักเป็นจริงไซร้ พระสวามีของเธอ นอกจาก พระเจ้ากุสราชผู้มีพระเสียงดังราชสีห์ จะเป็นคนอื่นไม่มีเลย.

[๑๐๓] แน่ะนางขุชชา เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดี แล้ว จักให้นายช่างทำเครื่องประดับคอทองคำให้แก่เจ้า ถ้าเจ้าทำให้พระนางประภาวดีผู้มีขาอ่อนงามดังงวงช้าง แลดูเราได้... ถ้าเจ้าทำพระนางประภาวดีผู้มีขาอ่อนงามดังงวงช้างให้เจรจาแก่เราได้... ถ้าเจ้าทำพระนางประภาวดีผู้มีขาอ่อนงามดังงวงช้างให้ยิ้มแย้มแก่เราได้... ถ้า เจ้าทำพระนางประภาวดีผู้มีขาอ่อนงามดังงวงช้าง ให้หัวเราะร่าเริงแก่เราได้ แน่ะนางขุชชา เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว จักให้นายช่างทำเครื่องประดับคอทองคำให้แก่เจ้า ถ้าเจ้าทำพระนางประภาวดีผู้มีขาอ่อนงามดังงวงช้าง มาลูบคลำจับตัวเรา ด้วยมือของเธอได้.

[๑๐๔] พระราชบุตรีนี้ คงไม่ได้ประสบแม้ความสำราญในสำนักแห่งพระเจ้ากุสราชเสียเลยเป็นแน่ พระนางจึงไม่ทรงกระทำแม้เพียงการปฏิสันถาร ใน

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 198

บุรุษผู้เป็นพนักงานเครื่องต้น เป็นคนรับใช้ ไม่ต้องการด้วยค่าจ้าง.

[๑๐๕] นางขุชชานี้ เห็นจะไม่ต้องถูกตัดลิ้น ด้วยมีดอันคมเป็นแน่ จึงมาพูดคำหยาบช้าอย่างนี้.

[๑๐๖] ข้าแต่พระนางประภาวดี พระนางอย่าทรงเทียบพระเจ้ากุสราชนั้น ด้วยพระรูปอันเลอโฉม ของพระนางซิ ข้าแต่พระนางผู้มีความรุ่งเรือง พระนางจงกระทำไว้ในพระทัยว่า พระเจ้ากุสราช พระองค์นั้นทรงมีพระอิสริยยศใหญ่ แล้วจงกระทำ ความรักในพระเจ้ากุสราช ผู้มีความงามอันนี้ ข้าแต่พระนางประภาวดี พระนางอย่าทรงเทียบพระเจ้ากุสราชพระองค์นั้นด้วยพระรูปอันเลอโฉมของพระนางซิ ข้าแต่พระนางผู้มีความรุ่งเรือง พระนางจงกระทำ ไว้ในพระทัยว่า พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้นทรงมี พระราชทรัพย์เป็นอันมาก... มีทแกล้วทหาร.. มี พระราชอาณาจักรสว่างใหญ่... เป็นพระมหาราชา มีพระสุรเสียงเหมือนเสียงราชสีห์... มีพระสุรเสียง ไพเราะ... มีพระสุรเสียงหยดย้อย... มีพระสุรเสียง กลมกล่อม... มีพระสุรเสียงล่อนหวาน... ทรง ชำนาญศิลป์ตั้งร้อยอย่าง... เป็นกษัตริย์... พระแม่เจ้า ประภาวดี พระนางอย่าเทียบพระเจ้ากุสราชนั้นด้วย พระรูปอันเลอโฉมของพระนางซิ พระนางจงกระทำ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 199

ไว้ในพระทัยว่า พระราชาพระองค์นั้น มีพระนามเหมือนกับหญ้าคาที่ท้าวสักกะทรงประทาน แล้วจงกระทำความรักในพระเจ้ากุสราชผู้มีความงามอันนี้.

[๑๐๗] ช้างเหล่านี้ทั้งหมดเป็นสัตว์แข็งกระด้าง ตั้งอยู่เหมือนจอมปลวก จะพากันพังกำแพงเข้ามาเสียก่อน ขอพระองค์ส่งข่าวแก่พระราชาเหล่านั้นว่า เชิญเสด็จมานำเอานางประภาวดีนี้ไปเถิด.

[๑๐๘] เราจะบั่นนางประภาวดีนี้ออกเป็นเจ็ดท่อน แล้วจักให้แก่กษัตริย์ผู้เสด็จมา ณ ที่นี้เพื่อจะฆ่าเรา.

[๑๐๙] พระราชบุตรผู้มีผิวผ่องดังทองคำ ทรงผ้าโกไสยพัสตร์ มีพระเนตรนองด้วยน้ำตา อันหมู่ทาสีแวดล้อม เสด็จไปยังห้องพระมารดา.

[๑๑๐] ข้าแต่พระมารดา หน้าของลูกอันผัดแล้วด้วยแป้ง ส่องแล้วที่กระจกเงา งดงาม มีดวงเนตรคมคาย ผุดผ่องเป็นนวลใย จักถูกกษัตริย์ทั้งหลาย โยนทิ้งเสียในป่าเป็นแน่แล้ว ฝูงแร้งก็จะพากันเอาเท้ายื้อแย่งผมของลูกอันดำ มีปลายงอน ละเอียดอ่อน ลูบไล้ด้วยน้ำมันหอมแก่นจันทน์ ในท่ามกลางป่าช้า อันเปรอะเปื้อนเป็นแน่ แขนอ่อนนุ่มทั้งสองของลูก อันมีเล็บแดง มีขนละเอียด ลูบไล้ด้วยจุรณจันทน์ ก็จะถูกกษัตริย์ทั้งหลายตัดทิ้งเสียในป่า และฝูงกาก็

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 200

จะโฉบคาบเอาไปตามความปรารถนาเป็นแน่ สุนัขจิ้งจอกมาเห็นถันทั้งสองของลูกเช่นกับผลตาลอันห้อยอยู่ ซึ่งลูบไล้ด้วยกระแจะจันทน์แคว้นกาสี ก็จะยืนคร่อมที่ถันทั้งสองของลูกเป็นแน่ เหมือนลูกอ่อนที่เกิดแต่ตนของมารดา ตะโพนอันกลมผึ่งผายของลูก ผูกรัดด้วยสร้อยสะอิ้งทอง ก็จะถูกกษัตริย์ทั้งหลายตัด เป็นชิ้นๆ แล้วโยนทิ้งไปในป่า ฝูงสุนัขจิ้งจอกก็จะ พากันมาฉุดคร่าไปกิน ฝูงสุนัขป่า ฝูงกา ฝูงสุนัขจิ้งจอกและสัตว์ที่มีเขี้ยวเหล่าอื่นซึ่งมีอยู่ ได้กินนางประภาวดีแล้ว คงไม่รู้จักแก่กันเป็นแน่ ข้าแต่พระมารดา ถ้ากษัตริย์ทั้งหลายผู้มาแต่ที่ไกลได้นำเอาเนื้อของลูกไปหมดแล้ว พระมารดาได้ทรงโปรดขอเอากระดูกมาเผาเสียในระหว่างทางใหญ่ พระมารดาได้สร้างสวนดอกไม้แล้ว จงปลูกต้นกรรณิการ์ในสวนเหล่านั้น ข้าแต่พระมารดา ในกาลใด ดอกกรรณิการ์เหล่านั้นบานแล้วในเวลาหิมะตกในฤดูเหมันต์ ในกาลนั้น ขอพระมารดาพึงรำลึกถึงลูกว่า ประภาวดีมีผิวพรรณอย่างนี้.

[๑๑๑] พระมารดาของพระนางประภาวดีเป็นขัตติยานี มีพระฉวีวรรณดังเทพอัปสรได้ประทับยืนอยู่แล้ว ทอดพระเนตรเห็นดาบและธนูวางอยู่ตรงพระพักตร์พระเจ้ามัททราช ภายในบุรี.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 201

[๑๑๒] จึงทรงพิลาปรำพันว่า พระองค์จะทรงฆ่าธิดาของหม่อมฉัน บั่นให้เป็นท่อนๆ ด้วยดาบนี้ แล้วจะประทานแก่กษัตริย์ทั้งหลาย แน่หรือเพค๊ะ.

[๑๑๓] ลูกน้อยเอ๋ย พระบิดาไม่ทรงกระทำตามคำของแม่ใคร่ประโยชน์ เจ้านั้นเปรอะเปื้อนโลหิตไปสู่สำนักพระยายมในวันนี้ ถ้าบุรุษผู้ใดไม่ทำตามคำของบิดามารดาผู้เกื้อกูลมองเห็นประโยชน์ บุรุษนั้น ย่อมได้รับโทษอย่างนี้ และจะต้องเข้าถึงโทษที่ลามกกว่า ในวันนี้ถ้าลูกจะทรงไว้ซึ่งกุมารทรงโฉมงดงาม ดังสีทอง เป็นกษัตริย์เกิดกับพระเจ้ากุสราช สวมสร้อยสังวาลย์แก้วมณีแกมทอง อันหมู่พระญาติบูชาแล้วไซร้ ลูกก็จะไม่ต้องไปยังสำนักพระยายม ลูกหญิงเอ๋ย เสียงกลองชัยเภรีดังอยู่อึ่งมี่ และเสียงช้างร้องก้องอยู่ในตระกูลแห่งกษัตริย์ทั้งหลายใด ลูกเห็นอะไรเล่าหนอที่มีควานสุขยิ่งกว่าตระกูลนั้น จึงได้มาเสีย เสียงม้าศึกคะนองร้องคำรนอยู่ที่ประตู เสียงกุมารร้องรำทำเพลงอยู่ในตระกูลกษัตริย์ทั้งหลาย ลูกเห็น อะไรเล่าหนอที่มีความสุขยิ่งไปกว่าตระกูลนั้น จึงได้มาเสีย ในตระกูลแห่งกษัตริย์ทั้งหลาย มีนกยูง นกกระเรียนและนกดุเหว่าส่งเสียงร้องก้องเสนาะเพราะจับใจ ลูกเห็นอะไรเล่าหนอที่จะมีความสุขยิ่งไปกว่าตระกูลนั้น จึงได้มาเสีย.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 202

[๑๑๔] พระเจ้ากุสราชพระองค์ใด ผู้มีพระปรีชาอย่างยอดเยี่ยม ผู้ย่ำยีกษัตริย์ทั้งเจ็ดพระนคร ทรงปราบปรามแคว้นอื่นให้พ่ายแพ้ พึงทรงปลดเปลื้องเราทั้งหลายให้พ้นจากทุกข์ได้ พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหนหนอ.

[๑๑๕] พระเจ้ากุสราชพระองค์ใดผู้มีพระปรีชา อย่างยอดเยี่ยม ผู้ย่ำยีกษัตริย์ทั้งเจ็ดพระนคร ทรงปราบปรามแคว้นอื่นให้พ่ายแพ้ จักทรงกำจัดกษัตริย์ เหล่านั้นทั้งหมดได้ พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่นี่แหละเพค้ะ.

[๑๑๖] เจ้าเป็นบ้าไปแล้วหรือจึงได้พูดอย่างนี้ หรือว่าเจ้าเป็นอันธพาล จึงได้พูดอย่างนี้ ถ้าพระเจ้ากุสราชพึงเสด็จมาจริง ทำไมพวกเราจะไม่รู้จักพระองค์เล่า.

[๑๑๗] พระเจ้ากุสราชนั้นทรงปลอมพระองค์ เป็นบุรุษพนักงานเครื่องต้น ทรงพระภูษาหยักรั้งมั่นคง กำลังก้มพระองค์ล้างหม้ออยู่ ในระหว่างพระตำหนักของพระกุมารีทั้งหลายเพค้ะ.

[๑๑๘] เจ้าเป็นหญิงชั่วช้าจัณฑาลหรือ หรือว่าเจ้าเป็นหญิงประทุษร้ายตระกูล เจ้าเกิดแล้วในตระกูลพระเจ้ามัททราช เหตุใดจึงกระทำพระสวามีให้เป็นทาส.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 203

[๑๑๙] หม่อมฉันไม่ได้เป็นหญิงชั่วช้าจัณฑาล ไม่ใช่เป็นหญิงประทุษร้ายตระกูล นั่นพระเจ้ากุสราช โอรสของพระเจ้าโอกกากราช ขอความเจริญจงมีแด่ พระมารดา แต่พระมารดาทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส.

[๑๒๐] ขอความเจริญจงมีแด่พระมารดา พระราชาพระองค์ใด ทรงเชื้อเชิญพราหมณ์สองหมื่นคน ให้บริโภคภัตตาหารในกาลทุกเมื่อ พระราชาพระองค์นั้น คือ พระเจ้ากุสราชพระโอรสแห่งพระเจ้าโอกกากราช แต่พระมารดาเข้าพระทัยว่าเป็นทาส เจ้า พนักงานเตรียมช้างไว้สองหมื่นเชือก... เตรียมม้าสองหมื่นตัว... ขอความเจริญจงมีแด่พระมารดา เจ้าพนักงานรีดนมโคสองหมื่นตัว ในกาลทุกเมื่อเพื่อพระราชาพระองค์ใด พระราชาพระองค์นั้น คือ พระเจ้ากุสราชโอรสของพระเจ้าโอกกากราช แต่พระมารดา เข้าพระทัยว่าเป็นทาส.

[๑๒๑] ดูก่อนเจ้าผู้เป็นพาล เจ้ากระทำกรรม อันชั่วร้ายเหลือเกิน ที่เจ้าไม่บอกพ่อว่า พระเจ้ากุสราชผู้เป็นกษัตริย์มีทแกล้วทหารมาก ผู้เป็นพระยาช้าง มาด้วยเพศแห่งกบ.

[๑๒๒] ข้าแต่พระมหาราชผู้จอมทัพ ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณา โปรดงดโทษแก่หม่อมฉัน ที่ไม่ทราบว่าพระองค์เสด็จมาในที่นี้ด้วยเพศที่ไม่มีใครรู้ จักด้วยเถิด.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 204

[๑๒๓] คนเช่นหม่อนฉันมิได้ปกปิดเลย หม่อมฉันนั้นเป็นพนักงานเครื่องต้น พระองค์เท่านั้นทรงเลื่อมใสแก่หม่อมฉัน ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ แต่พระองค์ไม่มีกรรมชั่วช้า ที่หม่อมฉันจะต้องอดโทษ.

[๑๒๔] ดูก่อนเจ้าคนพาล เจ้าจงไปขอขมาโทษ พระเจ้ากุสราชผู้มีกำลังมากเสีย พระเจ้ากุสราชที่เจ้าขอขมาแล้ว จักประทานชีวิตให้เจ้า.

[๑๒๕] พระนางประภาวดีผู้มีผิวพรรณดังเทพธิดา ทรงรับพระดำรัสของพระบิดาแล้ว ได้ซบพระเศียรลงกอดพระบาทพระเจ้ากุสราช ผู้มีพระกำลังมาก.

[๑๒๖] ราตรีเหล่านี้ที่ล่วงไป เว้นจากพระองค์นั้นเพียงใด หม่อมฉันขอถวายบังคมพระยุคลบาท ของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า เพียงนั้น ของพระองค์โปรดอย่าทรงพิโรธหม่อมฉันเลย หม่อมฉันขอตั้งสัตย์ปฏิญาณแก่พระองค์ โปรดทรงสดับหม่อมฉัน เถิดเพค๊ะ หม่อมฉันจะไม่พึงทำความชิงชังแก่พระองค์อีกต่อไปละ ถ้าพระองค์จะไม่ทรงโปรดกระทำตามคำของหม่อมฉันผู้ทูลวิงวอนอยู่อย่างนี้ พระบิดาคงเข่นฆ่าหม่อมฉัน แล้วทรงประทานแก่กษัตริย์ทั้งหลาย ณ กาลบัดนี้เป็นแน่.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 205

[๑๒๗] เมื่อพระน้องอ้อนวอนอยู่อย่างนี้ ไฉนพี่จะไม่ทำตามคำของพระน้องเล่า พี่ไม่โกรธพระน้องเลยนะคนงาม อย่ากลัวเลยประภาวดี พี่ขอตั้งสัตย์ปฏิญาณต่อพระน้อง โปรดขอจงทรงฟังพี่เถิดนะ พระราชบุตรี พี่จะไม่พึงกระทำความเกลียดชังแก่พระน้องนางอีกต่อไปละ ดูก่อนน้องประภาวดีผู้ตะโพกอันผึ่งผาย พี่สามารถจะทำลายตระกูลกษัตริย์มัททราช มากมายแล้วนำพระน้องนางไปได้ แต่เพราะความรักพระน้องนาง พี่จึงสู้ยอมทนทุกข์มากมายได้.

[๑๒๘] เจ้าพนักงานทั้งหลาย จงตระเตรียมรถ และม้า อันวิจิตรด้วยเครื่องอลังการต่างๆ ทั้งมั่นคง แข็งแรง ท่านทั้งหลายจงเห็นความพยายามของเราผู้กำจัดศัตรูทั้งหลายให้พ่ายแพ้ไปในบัดนี้ ก็นารีทั้งหลายภายในพระราชวังของพระเจ้ามัททราชนั้น พากันมองดูพระโพธิสัตว์ ผู้เสด็จเยื้องกรายดุจราชสีห์ ทรงปรบพระหัตถ์เสวยพระกระยาหารถึงสองเท่าพระองค์นั้น.

[๑๒๙] ก็พระเจ้ากุสราช ครั้นเสด็จขึ้นประทับ บนคอช้างสาร โปรดให้นางประภาวดีประทับเบื้องหลังแล้ว เสด็จเข้าสู่สงคราม ทรงบันลือพระสุรสีหนาท กษัตริย์เจ็ดพระนคร ทรงสดับพระสุรสีหนาท ของพระเจ้ากุสราช ผู้บันลืออยู่ ถูกความกลัว แต่

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 206

เสียงของพระเจ้ากุสราชคุกคามแล้ว พากันแตกหนีไป เหมือนดังฝูงมฤคได้ยินเสียงแห่งราชสีห์ก็พากันหนีไปฉะนั้น พวกพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า ผู้อันความกลัวแต่เสียงพระเจ้ากุสราชคุกคามแล้ว ก็พากันแตกตื่นเหยียบย่ำกันและกัน ท้าวสักกะจอมเทพ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ ทรงมีชัยในท่ามกลางสงครามนั้น มีพระทัยชื่นชมยินดี ทรงพระราชทานแก้วมณีอันรุ่งโรจน์ดวงหนึ่ง แก่พระเจ้ากุสราช พระเจ้ากุสราชทรงชนะสงคราม ได้แก้วมณีอันรุ่งโรจน์ แล้วเสด็จประทับบนคอช้างสารเสด็จเข้าสู่พระนคร ตรัสสั่งให้จับกษัตริย์เจ็ดพระนครทั้งเป็น ให้มัดนำเข้าถวายพระสัสสุระ ทูลว่า ขอเดชะ กษัตริย์เหล่านี้เป็นศัตรูของพระองค์ ศัตรูทั้งหมดซึ่งคิดจะกำจัดพระองค์เสียนี้ ตกอยู่ในอำนาจของพระองค์แล้ว เชิญทรงกระทำตามพระประสงค์เถิด พระองค์ทรงกระทำ กษัตริย์เหล่านั้นให้เป็นทาสแล้ว จะทรงปล่อยหรือจะทรงประหารเสียตามแต่พระทัยเถิด.

[๑๓๐] กษัตริย์เหล่านี้เป็นศัตรูของพระองค์ มิได้เป็นศัตรูของหม่อนฉัน ข้าแต่พระมหาราช พระองค์เป็นใหญ่กว่าหม่อมฉัน จะทรงปล่อยหรือจะทรง ประหารศัตรูเหล่านั้นก็ตามเถิด.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 207

[๑๓๑] พระราชธิดาของพระองค์ ล้วนทรงงดงามดังเทพกัญญา มีอยู่ถึง ๗ พระองค์ ขอพระองค์ โปรดพระราชทานแก่กษัตริย์ทั้ง ๗ นั้นองค์ละองค์ ขอกษัตริย์เหล่านั้นจงเป็นพระชามาดา ของพระองค์เถิด.

[๑๓๒] ข้าแต่พระมหาราช พระองค์เป็นใหญ่กว่าหม่อมฉันทั้งหลาย และกว่าพวกลูกของหม่อมฉันทั้งหมด เชิญพระองค์นั่นแหละทรงพระราชทานพวก ลูกของหม่อมฉันแก่กษัตริย์เหล่านั้น ตามพระราชประสงค์เถิด.

[๑๓๓] ในกาลนั้น พระเจ้ากุสราชผู้มีพระสุรเสียงดังเสียงราชสีห์ ได้ทรงยกพระราชธิดาของเจ้ามัททราช ประทานให้แก่กษัตริย์ พระองค์นั้นองค์ละองค์ กษัตริย์ทั้ง ๗ พระองค์ทรงอิ่มพระทัยด้วยลาภนั้น ทรงขอบพระคุณพระเจ้ากุสราชผู้มีพระสุรเสียง ดังเสียงราชสีห์แล้วพากันเสด็จกลับไปยังนครของตนๆ ในขณะนั้นทีเดียว ฝ่ายพระเจ้ากุสราชผู้มีพระกำลังมาก ทรงพาพระนางประภาวดีและดวงแก้วมณีอันงามรุ่งโรจน์เสด็จกลับยังกรุงกุสาวดี เมื่อพระเจ้ากุสราช และพระนางประภาวดีทั้ง ๒ พระองค์นั้น ประทับอยู่ ในพระราชรถคันเดียวกัน เสด็จเข้ากรุงกุสาวดี มีพระฉวีวรรณและพระรูปพระโฉมทัดเทียมกัน มิได้

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 208

ทรงงดงามยิ่งหย่อนกว่ากันเลย พระมารดาของพระมหาสัตว์และพระชยัมบดีราชกุมารทั้ง ๒ พระองค์ได้เสด็จไปต้อนรับถึงนอกพระนคร แล้วเสด็จกลับพระนครพร้อมด้วยพระราชโอรส ในกาลนั้น พระเจ้ากุสราชและพระนางประภาวดี ก็ทรงสมัครสมานกัน ได้ทรงปกครองราชอาณาจักรกุสาวดีให้รุ่งเรือง ตลอดมา.

จบกุสชาดกที่ ๑

อรรถกถาสัตตตินิบาต

อรรถกถากุสชาดก

พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ใน พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระ ปรารภภิกษุผู้ไม่ยินดีในพระธรรมวินัยมีใจคิดจะสึกรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อิทนฺเต รฏฺํ (รัฐของพระองค์นี้) ดังนี้.

ได้ยินว่า กุลบุตรชาวกรุงสาวัตถีคนหนึ่ง ได้ถวายชีวิตในพระศาสนา บรรพชาแล้ว. วันหนึ่ง เธอเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เห็นสตรีนางหนึ่ง ซึ่งแต่งกายงดงาม มองดูด้วยอำนาจถือเอานิมิตอันงาม ถูกกิเลสเข้าครอบงำ จนหมดความยินดียิ่งอยู่แล้ว. เธอมีผมและเล็บงอกยาวขึ้น มีจีวรเศร้าหมอง มีตัวผอมเหลืองเกิดแล้ว มีกายอันสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น. มีอุปมาเหมือนอย่าง

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 209

บุพนิมิต ๕ ประการที่ปรากฏแก่เทวบุตรทั้งหลาย ผู้มีอันจะต้องจุติเป็นธรรมดา ในเทวโลก คือ พวงมาลัย ย่อมเหี่ยวแห้ง ๑ ผ้านุ่งห่มเศร้าหมอง ๑ ผิวกาย อันเศร้าหมองย่อมก้าวลงในสรีระ ๑ เหงื่อไหลออกจากรักแร้ทั้ง ๒ ข้าง ๑ เทวดาไม่รื่นรมย์ในทิพยอาสน์ ๑ ฉันใด บุพนิมิต ๕ ประการก็ย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ไม่ยินดีในพระธรรมวินัยมีใจคิดจะสึก ผู้จะต้องเคลื่อนจากศาสนา เป็นธรรมดา ได้แก่ ดอกไม้คือศรัทธา ย่อมเหี่ยวแห้งไป ๑ ผ้าคือศีลย่อม เศร้าหมอง ๑ ผิวพรรณอันเศร้าหมอง ย่อมก้าวลงในสรีระ ด้วยความเป็นผู้ เก้อเขิน และด้วยอำนาจแห่งความไม่มียศ ๑ เหงื่อคือกิเลสทั้งหลาย ย่อม ไหลออก ๑ ภิกษุนั้น ย่อมไม่ยินดีในป่า ที่โคนต้นไม้ในเรือนอันว่างเปล่า ฉันนั้นเหมือนกัน. นิมิตทั้งหลายปรากฏแล้วแก่ภิกษุนั้น. ลำดับนั้น ภิกษุ ทั้งหลาย จึงได้นำเธอเข้าไปในสำนักของพระศาสดาแล้ว แสดงให้ทรงทราบว่า ภิกษุรูปนี้ คิดต้องการจะสึกพระเจ้าข้า. พระศาสดาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่า เธอคิดจะสึกจริงหรือ เมื่อภิกษุรูปนั้นกราบทูลตามความเป็นจริงแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธออย่าตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลสเลย ธรรมดาว่า มาตุคามนี้เป็นข้าศึก (ต่อการประพฤติพรหมจรรย์) เธอจงหักห้ามจิตที่คิดรักใคร่เยื่อใยในมาตุคามนั้นเสีย จงยินดีในพระศาสนาเถิด จริงอยู่ บัณฑิต ครั้งโบราณทั้งหลาย แม้จะเป็นผู้มีเดช ย่อมต้องเสื่อมไปได้ เพราะเป็นผู้มีจิตคิดรักใคร่ในมาตุคาม และเป็นผู้หมดเดชถึงความพินาศย่อยยับเพราะมาตุคามดังนี้แล้ว ได้ทรงนิ่งเฉยอยู่ ได้รับการอาราธนาจากภิกษุเหล่านั้น จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่า

ในอดีตกาล พระราชาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าโอกกากราช ทรงครองราชสมบัติโดยธรรม ในราชธานีชื่อ กุสาวดี ใน

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 210

แว่นแคว้น มัลละ. ท้าวเธอมีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่า สีลวดี ซึ่งเป็นใหญ่กว่านางสนมจำนวน ๑๖,๐๐๐ นาง. พระนางสีลวดีนั้น หามีพระโอรส และพระธิดาไม่ ลำดับนั้น ชาวเมืองและชาวแว่นแคว้นทั้งหลายจึงพากันมา ประชุมที่พระทวารพระราชนิเวศน์แล้ว ร้องเรียนแด่พระราชาพระองค์นั้นว่า บ้านเมืองจักพินาศ บ้านเมืองจักฉิบหาย พระราชาทรงให้เปิดสีหบัญชรออก แล้วตรัสถามว่า เมื่อเราครองรัฐอยู่ ขึ้นชื่อว่าการกระทำสิ่งอันไม่เป็นธรรม ย่อมไม่มี พวกท่านจะมาร้องเรียกทำไมกัน. พวกประชาชนกราบทูลว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้ประเสริฐ เป็นความจริง ขึ้นชื่อว่าการกระทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรมมิได้มีเลย ก็แต่ว่าพระโอรสผู้จะสืบวงศ์ของพระองค์ ยังไม่มี ชนเหล่าอื่นจักช่วงชิงเอาพระราชสมบัติแล้ว ทำบ้านเมืองให้พินาศล่มจม เพราะฉะนั้น ขอพระองค์จงทรงปรารถนาพระโอรสผู้สามารถ จะปกครองพระราชสมบัติโดยธรรมเถิด พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า เราก็ต้องการปรารถนาพระโอรสอยู่ แต่จะทำอย่างไรดี. ประชาชนกราบทูลวิธีการว่า ขอเดชะ ขั้นแรก ขอพระองค์จงทรง ปล่อยนางฟ้อนรุ่นเล็กสักนางหนึ่ง กระทำให้เป็นนางฟ้อนโดยธรรมไปสัก ๗ วันก่อน ถ้านางได้บุตรก็เป็นการดี ถ้าไม่ได้ ต่อจากนั้น ขอให้ทรงปล่อย นางฟ้อนชั้นกลาง แต่นั้นขอให้ทรงปล่อยนางฟ้อนชั้นสูง บรรดานางสนมมี ประมาณเท่านี้ นางสนมผู้มีบุญคนหนึ่งจักได้พระโอรสเป็นแน่แท้ พระราชา ทรงกระทำตามถ้อยคำของชาวเมืองเหล่านั้นทุกอย่าง ทรงอภิรมย์ตามความสุขสบายตลอด ๗ วัน จึงตรัสถามนางสนมที่พากันกลับมาแล้วว่า พวกเธอพอจะ ให้บุตรได้บ้างไหม? หญิงทั้งหมดกราบทูลว่า ขอเดชะ หม่อนฉันทั้งหลายให้ไม่ได้เลย พระเจ้าข้า พระราชาทรงเสียพระทัยว่า โอรสจักไม่เกิดแก่เรา เป็นแน่. ชาวเมืองทั้งหลายก็พากันร้องเรียนขึ้นเหมือนอย่างนั้นซ้ำอีก พระราชาตรัสว่า พวกท่านทั้งหลาย จะพากันมาร้องเรียนเอาอะไรกัน เราได้ปล่อย

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 211

พวกนางฟ้อนไปตามคำของพวกท่านแล้ว จนถึงเหลือนางคนหนึ่ง ก็ยังไม่ได้บุตร บัดนี้เราจะกระทำการอย่างไรกัน. พวกชาวเมืองกราบทูลว่า ขอเดชะ นางเหล่านั้น จักเป็นผู้ทุศีล ไม่มีบุญ นางเหล่านี้ ไม่มีบุญสำหรับจะได้บุตร เมื่อนางสนมเหล่านี้ไม่ได้บุตร พระองค์ก็อย่าทรงถอยพระอุตสาหะเสียเลย พระนางเจ้าสีลวดีพระอัครมเหสีของพระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยศีล ขอพระองค์ จงทรงปล่อยพระนางไปเสียเถิด พระนางจักได้พระโอรสเป็นแน่แท้ ท้าวเธอทรงรับรองว่า ดีละ ดังนี้แล้วจึงรับสั่งให้คนเที่ยวตีกลองเป่าประกาศว่า ข่าวดี ในวันที่ ๗ แต่วันนี้ไป พระราชาจะทรงนำพระนางเจ้าสีลวดี ให้เป็นนางฟ้อนรำโดยธรรมแล้วปล่อยไป บรรดาผู้ชายทั้งหลาย จงมาประชุมกัน ครั้นพอถึงวันที่ ๗ จึงให้ตกแต่งประดับประดาพระนางเจ้าแล้ว ให้ลงจากพระราชนิเวศน์ปล่อยไป. ด้วยเดชะแห่งศีลของพระนาง พิภพของท้าวสักกะก็แสดงอาการเร่าร้อนขึ้น. ท้าวเธอจึงทรงใคร่ครวญว่า เกิดเหตุอะไรขึ้นหนอ ก็ทรงทราบว่า พระนางเจ้าปรารถนาพระโอรส จึงทรงพระดำริว่า เราควรจะให้พระโอรสแก่พระนางนี้ จึงทรงใคร่ครวญต่อไปว่า พระโอรสที่สมควรแก่ พระนางนี้ ในเทวโลกมีอยู่หรือไม่หนอ ก็ได้ทรงเห็นพระโพธิสัตว์.

ได้ยินว่า พระโพธิสัตว์นั้น สิ้นอายุในภพชั้นดาวดึงส์ ในกาลนั้น และเป็นผู้ใคร่จะได้เสด็จไปบังเกิดในเทวโลกเบื้องบนต่อไป ท้าวสักกเทวราช จึงเสด็จไปยังประตูวิมานของพระโพธิสัตว์นั้น ตรัสว่า ดูก่อนท่านผู้เช่นเรา ท่านควรจะไปยังมนุษยโลกแล้ว ถือปฏิสนธิในครรภ์พระอัครมเหสี ของพระเจ้าโอกกากราช ให้พระโพธิสัตว์ยอมรับแล้ว จึงตรัสกะเทพบุตรอีกคนหนึ่งว่า ถึงท่านก็จักต้องเป็นโอรสของพระนางนี้ แล้วได้เสด็จไปยังประตูพระราชนิเวศน์ ของพระราชาด้วยเพศแห่งพราหมณ์แก่ ด้วยทรงพระดำริว่า

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 212

ก็ใครๆ จงอย่าได้ทำลายศีลของพระนางนี้เสียเลย. แม้มหาชนอาบน้ำตกแต่ง ร่างกายแล้ว ก็ไปประชุมที่ประตูพระราชนิเวศน์ด้วยคิดว่า เราจักรับเอาพระเทวี ครั้นเห็นท้าวสักกะจึงได้กระทำการเยาะเย้ยว่า ท่านผู้เฒ่าจะมาทำไม. ท้าวสักกะตรัสว่า ท่านทั้งหลาย จะติเตียนเราทำไม ถึงแม้ว่าร่างกายของเรา จะแก่เฒ่าก็จริง แต่ความกระชุ่มกระชวย ก็ยังไม่หมดสิ้นไป เรามาด้วยคิดว่า ถ้าเราจักได้พระนางสีลวดีก็จะพาพระนางไป ดังนี้แล้ว จึงได้เสด็จเข้าไปยืน คอยอยู่ข้างหน้าใครๆ ทั้งหมดด้วยอานุภาพของตน. คนอื่นไม่อาจยืนบังหน้าได้เลย ด้วยเดชแห่งท้าวสักกะนั้น. พอพระนางเจ้าประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง เสด็จออกจากพระราชนิเวศน์ ท้าวเธอก็คว้าที่พระหัตถ์ แล้วก็พาหลีกไป. ลำดับนั้น ประชาชนทั้งหลายผู้อยู่ ณ ที่นั้นจึงพากันติเตียนพระนางว่า ดูเอาเถิดท่านผู้เจริญ พราหมณ์แก่ พาเอาพระเทวีผู้ทรงไว้ซึ่งพระรูปโฉมอันอุดมถึงเพียงนี้ไป ตาแกช่างไม่รู้จักสิ่งที่เหมาะสมแก่ตนเสียเลย แม้พระเทวี ก็มิได้ทรงขวยเขินละอายพระทัยว่า พราหมณ์แก่พาเราไป. แม้พระราชา ประทับยืนใกล้ช่องพระแกล ก็ทรงคอยดูอยู่ว่า ใครหนอจะพาพระเทวีไป ครั้นได้เห็นพราหมณ์แก่นั้น ก็ทรงเสียพระทัย. ท้าวสักกะทรงพาพระนางออกจากประตูพระนคร ทรงเนรมิตเรือนขี้นหลังหนึ่ง ใกล้กับประตูเมือง ทำการเปิดบานประตูไว้ และจัดแจงเครื่องลาดที่ทำด้วยไม้ไว้แล้ว. ลำดับนั้น พระนางจึงตรัสถามท้าวเธอว่า นี่เรือนของท่านหรือค่ะ? ท้าวเธอจึงตรัสตอบว่า ใช่แล้วน้องนาง แต่กาลก่อนพี่อยู่คนเดียว บัดนี้พี่กับเธออยู่ด้วยกัน ๒ คน แล้ว พี่จักต้องท่องเที่ยวไปหาข้าวสารเป็นต้นมาไว้ เชิญน้องนางนอนพักผ่อน เสียบนเครื่องลาดไม้นี้ก่อนเถิด แล้วทรงเอาพระหัตถ์อันอ่อนนุ่มค่อยลูบคลำพระนาง ทรงบันดาลให้ทิพยสัมผัสแผ่ซ่านไปทั่ว ให้พระนางบรรทมหลับในที่นั้น. ด้วยความแผ่ซ่านแห่งทิพยสัมผัส พระนางจึงหมดความรู้สึก (หลับไป).

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 213

ลำดับนั้น ท้าวสักกะจึงทรงอุ้มเอาพระนางไปยังพิภพชั้นดาวดึงส์ ด้วยอานุภาพของตน ให้พระนางทรงบรรทมเหนือทิพยไสยาสน์ ในวิมานอันประดับประดาแล้ว. ในวันที่ ๗ พระนางจึงตื่นจากบรรทมแล้ว ทอดพระเนตรเห็นสมบัตินั้น ก็ทรงทราบได้ว่า พราหมณ์คนนั้นคงไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา เห็นทีจักเป็นท้าวสักกะแน่นอน.

ในสมัยนั้น แม้ท้าวสักกเทวราช ทรงมีนางฟ้อนชั้นทิพย์แวดล้อม ประทับนั่งที่โคนไม้ปาริฉัตตกะ. พระนางทรงเห็นท้าวสักกะนั้นแล้ว จึงเสด็จลุกออกจากที่บรรทม เสด็จเข้าไปหาท้าวเธอ ถวายบังคมแล้ว ประทับยืนอยู่ส่วนข้างหนึ่ง. ลำดับนั้น ท้าวสักกะจึงตรัสกะพระนางว่า พระเทวีน้องรัก ที่จะให้พรแก่เธอสักอย่างหนึ่ง ขอเธอจงเลือกรับเอาเถิด. พระนางทูลว่า ขอเดชะ ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์จงประทานโอรสแก่หม่อมฉันสักพระองค์หนึ่งเถิด. ท้าวสักกะตรัสว่า ดูก่อนพระเทวี จะว่าแต่พระโอรสคนหนึ่งเลย พี่จะให้พระโอรสสัก ๒ พระองค์แก่เธอ แต่ว่าในพระโอรสทั้ง ๒ พระองค์นั้น พระองค์หนึ่ง ทรงมีปัญญาแต่รูปร่างไม่สวยงาม พระองค์หนึ่งรูปร่างสวยงาม แต่หาปัญญามิได้ ในพระโอรสทั้ง ๒ พระองค์นั้น เธอจะปรารถนาต้องการคนไหนก่อน. พระนางทูลตอบว่า ขอเดชะ หม่อมฉันปรารถนาอยากได้พระโอรสที่มีปัญญาก่อน. ท้าวสักกเทวราชนั้นตรัสรับว่า ดีละ ดังนี้แล้ว ทรงประทานสิ่งของ ๕ สิ่งอันได้แก่ หญ้าคา ๑ ผ้าทิพย์ ๑ จันทน์ทิพย์ ๑ ดอกปาริฉัตตก์ทิพย์ ๑ พิณชื่อโกกนท ๑ แก่พระนางแล้ว ทรงพาพระนางเหาะ เข้าไปยังห้องบรรทมของพระราชา ให้พระนางบรรทมบนพระยี่ภู่ร่วมพระแท่น ที่เดียวกันกับพระราชา ทรงบรรจงลูบพระนาภีของพระนางด้วยพระอังคุฏฐะ (นิ้วหัวแม่มือ). ในขณะนั้น พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของ

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 214

พระนาง แม้ท้าวสักกะ ก็เสด็จไปยังสถานที่อยู่ของพระองค์ตามเดิม. พระเทวีทรงทราบว่า พระองค์ทรงตั้งพระครรภ์ เพราะพระนางเป็นบัณฑิต. ลำดับนั้น พระราชา ทรงตื่นจากพระบรรทม ทอดพระเนตรเห็นพระนาง จึงตรัสถามว่า ดูก่อนพระเทวี นี่ใครนะพาเธอมา. พระเทวีทูลว่า ท้าวสักกะเพค่ะ พระราชา ตรัสว่า ฉันได้เห็นประจักษ์แก่สายตาว่า ตาพราหมณ์แก่คนหนึ่ง ได้พาเธอไป ทำไมเธอจึงมาหลอกลวงฉัน. พระเทวีทูลว่า ขอพระองค์จงทรงเชื่อเถิดเพค่ะ ท้าวสักกะพาหม่อมฉันไป ได้พาไปถึงเทวโลก. พระราชาตรัสว่า ฉันไม่เชื่อเลย พระเทวี. ลำดับนั้น พระนางจึงได้แสดงหญ้าคาที่ท้าวสักกะ ทรงประทานไว้แก่พระราชานั้น ทูลว่า ขอพระองค์ทรงเชื่อเถิด. พระราชาตรัสว่า นั่นเรียกชื่อว่า หญ้าคา ที่ไหนๆ ใครๆ ก็หาเอามาได้ ดังนี้ จึงไม่ทรงเชื่อ. ลำดับนั้น พระนางจึงทรงนำเอาสิ่งของ ๔ สิ่งมีผ้าทิพย์เป็นต้นแสดงแก่ท้าวเธอ พระราชาพอได้ทอดพระเนตรเห็นสิ่งของเหล่านั้นแล้ว จึงยอมเชื่อ แล้วตรัสถามว่า ดูก่อนพระนางผู้เจริญ เรื่องท้าวสักกะนำพาเธอไป จงพักไว้ก่อน ก็แต่ว่าเธอได้บุตรหรือไม่เล่า. พระเทวีทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า หม่อมฉันได้พระโอรสแล้ว บัดนี้หม่อมฉันกำลังตั้งครรภ์ ท้าวเธอได้ทรงสดับถ้อยคำแล้ว ก็ทรงดีพระทัย จึงทรงพระราชทานเครื่องบริหารพระครรภ์แก่พระนาง พอได้ถ้วนกำหนดทศมาส พระนางเจ้าก็ประสูติพระราชโอรส. พระชนกและพระชนนีมิได้ทรงขนานพระนามอย่างอื่นแก่พระราชโอรสนั้น ทรงขนาน พระนามว่า กุสติณราชกุมาร. ในกาลที่พระกุสติณราชกุมารเสด็จย่างพระบาทไปได้ เทพบุตรอีกองค์หนึ่ง ก็ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางอีก. พอ ได้ครบ ๑๐ เดือนเต็ม พระนางก็ประสูติพระโอรสอีกพระองค์หนึ่ง. พระชนก และพระชนนี ได้ทรงขนานพระนามพระกุมารที่ประสูติใหม่นั้นว่า ชยัมบดี-

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 215

ราชกุมาร. พระราชกุมารทั้ง ๒ พระองค์นั้น ทรงเจริญพระชันษาด้วยพระ อิสริยยศอันยิ่งใหญ่. พระโพธิสัตว์เจ้าทรงมีปัญญา ไม่ต้องทรงศึกษาเล่าเรียน ศิลปศาสตร์อะไรๆ ในสำนักของพระอาจารย์ ก็ทรงถึงความสำเร็จใน ศิลปศาสตร์ทั้งหมดได้ ด้วยพระปัญญาของพระองค์เอง.

ลำดับนั้น ในกาลที่พระโพธิสัตว์เจ้านั้น ทรงเจริญพระชนมายุได้ ๑๖ พระชันษา พระราชาทรงปรารถนาจะมอบพระราชสมบัติให้ จึงรับสั่งให้ พระเทวีมา แล้วตรัสว่า ดูก่อนพระเทวีผู้เจริญ ฉันจะมอบราชสมบัติให้แก่ พระโอรสองค์ใหญ่ของเธอแล้ว จักให้นางฟ้อนทั้งหลายบำรุงบำเรอ ขณะที่เรา ทั้ง ๒ ยังมีชีวิตอยู่นี่แหละ จักได้เห็นลูกของเราครอบครองราชสมบัติ ก็ลูกของเราจะชอบใจพระราชธิดาของกษัตริย์พระองค์ใด ในชมพูทวีปทั้งสิ้น เราจะได้นำพระราชธิดานั้นมาสถาปนาให้เป็นอัครมเหสีของลูก เธอจงรู้จิตใจของลูกว่า จะชอบพระราชธิดาองค์ไหนกัน. พระนางรับว่า ดีละ แล้วทรงส่งนางบริจาริกาคนหนึ่งไปด้วยพระดำรัสว่า เจ้าจงไปบอกเรื่องนี้แก่กุมารแล้ว จงรู้จิตใจ. นางบริจาริกานั้นไป ทูลเรื่องนั้น แก่พระกุมารนั้นแล้ว. พระมหาสัตว์ ได้สดับถ้อยคำนั้นแล้ว จึงคิดว่า เรามีรูปร่างไม่สะสวยงดงาม พระราชธิดา ผู้สมบูรณ์ด้วยรูป แม้ถูกนำตัวมาพอเห็นเรา ก็จักหนีไปด้วยคิดว่า เราจะมีประโยชน์อะไร ด้วยกุมารผู้มีรูปร่างน่าเกลียด ความอับอายก็จะพึงมีแก่เรา ด้วยประการฉะนี้ ประโยชน์อะไร เราจะอยู่เป็นฆราวาส เราบำรุงมารดาบิดา ผู้ยังทรงพระชนม์ไปก่อน พอท่านทั้งสองนั้นสวรรคตแล้ว ก็จักออกบวช. พระองค์จึงตรัสบอกว่า เราไม่มีความต้องการด้วยพระราชสมบัติ ไม่ต้องการด้วยหมู่นางฟ้อน พอพระชนกและพระชนนีสวรรคตไปแล้ว เราก็จักบวช. นางบริจาริกานั้น สดับพระดำรัสแล้ว จึงกลับมากราบทูลพระดำรัสของพระกุมารนั้นแด่พระเทวี. แม้พระเทวีก็กราบทูลแด่พระราชาแล้ว พระราชาทรง

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 216

สดับถ้อยคำทูลนั้นแล้ว ก็ทรงเสียพระทัย พอล่วงผ่านไป ๒ - ๓ วัน ก็ทรงส่งข่าวสาส์นไปอีก แม้พระกุมารนั้น ก็คัดค้านอีกเหมือนเดิม. พระกุมารทรงคัดค้านอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง ในครั้งที่ ๔ จึงทรงดำริว่า ธรรมดาว่าลูกจะขัดขืน คัดค้านมารดาบิดาอยู่ร่ำไป ก็ไม่เหมาะสมเลย เราจักกระทำอุบายสักอย่างหนึ่ง. พระกุมารนั้น จึงเสด็จไปเรียกหัวหน้าช่างทองคนหนึ่งมาแล้ว พระราชทานทองคำไปเป็นอันมาก รับสั่งว่า ท่านจงทำรูปผู้หญิงให้สักรูปหนึ่งเถิด แล้วทรงส่งนายช่างทองนั้นไป เมื่อนายช่างทองนั้นไปแล้ว จึงทรงเอาทองคำส่วน อื่นมาทำเป็นรูปผู้หญิงด้วยพระองค์เอง. ก็ธรรมดาว่า ความประสงค์ของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ย่อมสำเร็จตลอดไป. รูปทองที่พระโพธิสัตว์ทรงกระทำขึ้นเองนั้น ช่างงดงามเสียเหลือล้น จนไม่มีถ้อยคำจะรำพันด้วยลิ้นได้. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงทรงแต่งตัวรูปหญิงนั้น ให้นุ่งผ้าโขมพัสตร์แล้ว ทรงให้วางไว้ในห้องอันเป็นสิริ. พระมหาสัตว์นั้น ครั้นทรงเห็นรูปผู้หญิงที่หัวหน้าช่างทองนำมา จึงทรงติรูปนั้นแล้ว ตรัสว่า เธอจงไปนำเอารูปหญิงที่ตั้งอยู่ในห้องอันเป็นสิริของเรามาเทียบดูซิ นายช่างทองนั้นเข้าไปยังห้องอันเป็นสิริ มองเห็น รูปหญิงนั้นแล้ว สำคัญว่านางเทพอัปสรนางหนึ่ง มาร่วมอภิรมย์กับพระกุมาร จึงไม่อาจจะเหยียดมือไปจับ กลับออกมากราบทูลว่า พระแม่เจ้าพระองค์ไร ประทับอยู่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ในห้องอันเป็นสิริ ข้าพระองค์ไม่อาจจะเข้าไปได้. พระราชกุมารตรัสว่า ดูก่อนพ่อ ท่านจงไปนำมาเถิด รูปทองคำนี้เราทำขึ้นมาเอง แล้วทรงส่งไปอีก. นายช่างทองนั้นจึงกลับเข้าไปยกออกมา. พระราชกุมารให้เก็บรูปที่ช่างทองทำมานั้น ไว้เสียในห้องสำหรับเก็บทอง แล้วให้คนตกแต่งรูปที่พระองค์ทรงกระทำ แล้วทรงให้ยกขึ้นวางบนรถ ส่งไป ยังสำนักของพระมารดา ด้วยพระดำรัสว่า ถ้าผู้หญิงงดงามเหมือนอย่างรูปนี้มีอยู่ หม่อมฉันจักอยู่ครอบครองเรือน.

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 217

พระเทวีนั้น รับสั่งให้เรียกพวกอำมาตย์มาแล้ว ตรัสว่า ท่านทั้งหลาย พระโอรสของเรามีบุญมาก เป็นพระโอรสที่ท้าวสักกะประทานให้ อยากได้นางกุมาริกาที่รูปสวยเหมือนรูปนี้ พวกท่านได้หญิงมีรูปร่างเห็นปานนี้ จงพามา จงตั้งรูปนี้ไว้บนยานอันปกปิดแล้ว เที่ยวไปตลอดชมพูทวีปทั้งสิ้น ถ้าได้พบ พระธิดาของพระราชาพระองค์ใด มีรูปร่างงดงามเห็นปานรูปนี้ไซร้ ก็จงถวาย รูปทองนั้นแด่พระราชาพระองค์นั้นนั่นแล แล้วกราบทูลว่า พระเจ้าโอกกากราช จักกระทำอาวาหวิวาหมงคลกับพระองค์ ทูลกำหนดนัดวันแล้ว จงรีบ กลับมา. อำมาตย์เหล่านั้น รับพระราชเสาวนีย์แล้ว นำรูปนั้นออกจากเมือง พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก เที่ยวเสาะแสวงหาไปถึงราชธานีใด ก็สังเกตว่า ในสถานที่ที่มหาชนมาประชุมกัน ในเวลาเย็นในราชธานีนั้น ก็ตกแต่งรูปหญิงนั้นด้วยเครื่องประดับ อันประกอบด้วยผ้าและดอกไม้ ยกขึ้นตั้งบนวอ ทองคำแล้ว ตั้งไว้ที่ริมหนทางที่จะไปยังท่าน้ำ ส่วนพวกตนต่างพากันหลบไป ยืนอยู่ที่ส่วนข้างหนึ่ง เพื่อคอยสดับฟังถ้อยคำของมหาชนผู้มาแล้วและมาแล้ว ฝ่ายมหาชนครั้นมองดูรูปหญิงนั้น ไม่เข้าใจว่าเป็นรูปทองคำ จึงชวนกัน ชมเชยว่า หญิงนี้แม้เป็นเพียงหญิงมนุษย์ ก็ยังสวยงามอย่างที่สุด เปรียบประดุจนางเทพอัปสร ทำไมจึงมายืนอยู่ในที่นี้ หรือว่ามาจากไหน หญิงงาม เห็นปานนี้ ในเมืองของพวกเราไม่เคยมีเลย ดังนี้แล้วก็พากันหลีกไป. พวกอำมาตย์ได้ฟังถ้อยคำนั้นแล้ว จึงปรึกษากันว่า ถ้านางทาริกางามปานรูปนี้ พึงมีในเมืองนี้ไซร้ ชนทั้งหลายพึงกล่าวว่า นางคนนี้เหมือนกับพระราชธิดาองค์โน้น นางคนนี้เหมือนธิดาของอำมาตย์คนโน้น ในเมืองนี้คงไม่มีนางงาม คล้ายกับรูปนี้เป็นแน่แท้ จึงถือเอารูปหญิงนั้นไปยังเมืองอื่นๆ ต่อไปอีก. พวกอำมาตย์เหล่านั้นเที่ยวไปอย่างนี้ จนถึงเมืองสาคละ ในแคว้นมัททะ โดยลำดับ. ก็พระเจ้ามัททราช ในเมืองสาคละนี้ มีพระธิดาอยู่ ๘ พระองค์

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 218

ทรงพระรูปพระโฉมงดงามสูงสุดเปรียบประดุจนางฟ้า พระราชธิดาผู้เป็นพระพี่ใหญ่กว่าพระธิดาเหล่านั้นทั้งหมด มีพระนามว่า ประภาวดี เพราะมี พระรัศมีแผ่ซ่านออกจากพระสรีระของพระนาง คล้ายแสงดวงอาทิตย์อันอ่อน. แม้ในเวลากลางคืน ในห้องอันมีเนื้อที่กว้างประมาณ ๔ ศอก ก็ไม่ต้องทำการตามประทีปโคมไฟ. บริเวณห้องนั้นทั้งหมด จะมีแสงสว่างเสมอเป็นอันเดียวกันทีเดียว. ก็และพระนางประภาวดีนั้น มีพระพี่เลี้ยงคนหนึ่งเป็นหญิงค่อมพิการ นางพี่เลี้ยงนั้น พอให้พระนางประภาวดีเสวยเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงจะให้นางวรรณทาสี ๘ คนถือหม้อน้ำจำนวน ๘ หม้อ ไปยังท่าน้ำในเวลาเย็น เพื่อตักน้ำไปสรงสนานพระนาง ครั้นมองเห็นรูปทองคำที่ตั้งไว้ข้างริมทางที่จะเดินไปยังท่าน้ำนั้น จึงเข้าใจไปว่า เป็นพระนางประภาวดี พากันโกรธว่า พระนางนี้ช่างว่ายากเสียจริงๆ ตรัสว่า เราจักสรงสนานน้ำแล้ว ส่งพวกเรามาตักน้ำ กลับมายืนดักอยู่ที่หนทางจะไปสู่ท่าน้ำก่อนหน้าเรา แล้วจึงพากันกล่าวว่า ข้าแต่พระนางเจ้าผู้ทำสกุลให้ได้รับความละอาย ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง ที่พระนางจะมายืนอยู่ในที่นี้ก่อนกว่าพวกหม่อมฉัน ถ้าพระเจ้าแผ่นดินจักทรงทราบไซร้ ก็คงจักทำพวกหม่อมฉันให้พินาศเป็นแน่ ดังนี้แล้ว จึงเอามือแตะที่ข้างแก้มของรูปเทียมนั้น. ฝ่ามือก็คล้ายกับว่าจะแตกออกไป. ลำดับนั้น นางจึงรู้ว่าเป็นรูปทองคำ หัวเราะขบขันอยู่ จึงไปหาพวกนางวรรณทาสีแล้วกล่าวว่า พวกเธอจงมาดูการทำของฉัน ฉันได้แตะต้องด้วยสำคัญผิดว่า รูปนี้ คือ พระนางเจ้าของเรา รูปเปรียบนี้ จะมีค่าราคาอะไร ในสำนักแห่งพระธิดา ของเรา เพียงแต่ให้มือของเราได้รับความเจ็บไปอย่างเดียว.

ลำดับนั้น พวกราชทูตจึงพากันถือเอารูปหญิงนั้นแล้ว ถามนางพี่เลี้ยง นั้นว่า ท่านกล่าวว่า ธิดาของเราสวยงามกว่ารูปเทียมนี้ ท่านกล่าวหมายถึง

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 219

ใครกัน นางพี่เลี้ยงตอบว่า พระธิดาของพระเจ้ามัททราช ทรงพระนามว่า ประภาวดี รูปเปรียบนี้มีราคาไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของพระนางเลย. พวกอำมาตย์ เหล่านั้นพากันดีใจ ไปยังพระทวารพระราชวัง สั่งให้กราบทูลว่า พวกราชทูต ของพระเจ้าโอกกากราชมาคอยเฝ้าอยู่ที่พระทวาร พระเจ้าข้า. พระราชาเสด็จ ลุกจากอาสนะ ประทับยืนแล้วตรัสสั่งว่า พวกท่านจงเรียกเขาเข้ามาเถิด. พวกราชทูตเหล่านั้นเข้าไปแล้ว ถวายบังคมพระราชาแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่ มหาราชเจ้า พระราชาของพวกข้าพระองค์ ตรัสถามว่า พระองค์ทรงพระสำราญดีหรือ พระเจ้าข้า พระราชาทรงกระทำสักการะและต้อนรับแล้ว ตรัสถาม พวกอำมาตย์ว่า พวกท่านมานี่เพื่อประสงค์อะไร พวกอำมาตย์จึงกราบทูลว่า พระราชาของข้าพระองค์ มีพระโอรสพระนามว่า กุสกุมาร มีพระสุรเสียง ก้องกังวานคล้ายกับเสียงราชสีห์ พระราชาทรงมีพระประสงค์จะมอบพระราชสมบัติให้แก่พระโอรสนั้น จึงส่งพวกข้าพระองค์มาเฝ้าถวายบังคมพระองค์ นัยว่า พระองค์จงพระราชทานพระนางประภาวดีพระธิดาของพระองค์ แก่พระโอรสนั้นเถิดพระเจ้าข้า และขอจงทรงรับไทยธรรมพร้อมด้วยรูปทองคำนี้เถิด พอกราบทูลเสร็จแล้วจึงได้น้อมถวายรูปทองคำนั้น แด่พระราชา พระองค์นั้น. แม้พระเจ้ามัททราชนั้น ก็ทรงดีพระทัย ทรงยอมรับด้วยทรงพระดำริว่า จักมีวิวาหมงคลกับพระราชาผู้ใหญ่เห็นปานนี้. ลำดับนั้น พวกทูต จึงกราบทูลท้าวเธอว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่อาจจะรอช้าอยู่ได้ จักต้องรีบไปกราบทูลการได้พบพระราชธิดาแด่พระราชาให้ทรงทราบ เพื่อว่าพระองค์จักได้เสด็จมารับพระนางไป. พระเจ้ามัททราชพระองค์นั้น ทรงรับว่า ดีละ แล้วทรงจัดแจงเครื่องทำสักการะแก่พวกทูตเหล่านั้น. พวกทูตเหล่านั้น กลับไปยังกรุงกุสาวดีแล้ว กราบทูลเรื่องราวนั้นแด่พระราชาและพระเทวีให้ ทรงทราบ. พระราชาเสด็จออกจากกุสาวดีนคร พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 220

เสด็จถึงเมืองสาคละโดยลำดับ. ฝ่ายพระเจ้ามัททราช ก็ทรงกระทำการต้อนรับ ให้ท้าวเธอเสด็จเข้าไปสู่พระนครแล้ว ได้ทรงกระทำสักการะอย่างใหญ่ยิ่ง. โดยล่วงไปวันหนึ่ง สองวัน และสามวัน พระนางสีลวดีทรงพระดำริว่า ใคร่ จะรู้ว่า พระราชธิดานั้นจักเป็นอย่างไร เพราะความที่พระนางเจ้าเป็นบัณฑิต จึงกราบทูลพระเจ้ามัททราชว่า หม่อมฉันใคร่จะได้เห็นพระสุณิสา (ในอนาคต) เพคะ. ท้าวเธอทรงรับว่า ดีละ แล้วรับสั่งให้เรียกพระราชธิดาประภาวดีมาเฝ้า. พระราชธิดาประภาวดี ทรงตกแต่งพระองค์ด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ์แวดล้อมไปด้วยหมู่พระพี่เลี้ยงนางนมเสด็จออกมาไหว้แม่ผัว. พระนางสีลวดีนั้น ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นพระนาง จึงทรงพระดำริว่า ราชธิดาองค์นี้ เป็นหญิงมีรูปร่างงดงามมากนัก ส่วนโอรสของเรามีรูปร่างไม่งดงาม ถ้าพระราช ธิดาองค์นี้ ได้ทอดทัศนาการเห็นโอรสของเราเข้า แม้วันเดียวก็คงจะไม่อยู่ร่วมด้วยเด็ดขาด คงจะรีบหนีไปเป็นแน่แท้ เห็นทีเราจักต้องทำกลอุบาย. พระนาง สีลวดี จึงให้เชิญเสด็จพระเจ้ามัททราชมาแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเพคะ พระสุณิสาสมควรแก่พระโอรสของหม่อมฉัน ก็แต่ว่าจารีตอันสืบมาจากประเพณีแห่งสกุลของหม่อมฉันมีอยู่ ถ้าพระราชธิดาองค์นี้จักประพฤติตาม จารีตประเพณีนี้ได้ หม่อมฉันก็จักรับ พระราชธิดาองค์นี้ไว้. พระราชาตรัสว่า ก็จารีตประเพณีของพระองค์เป็นอย่างไรละ พระนางสีลวดีตรัสตอบว่า ประเพณี ในราชวงศ์ของหม่อมฉันมีอยู่ว่า พระวรชายาจะพบหน้าพระราชสวามีในเวลากลางวันไม่ได้ จนกว่าจะทรงตั้งพระครรภ์เสียก่อน จึงจะพบหน้ากันได้ หากว่าพระราชธิดาประภาวดีพระองค์นี้ จักทรงทำตามประเพณีนี้ได้ หม่อมฉันจึงจะรับพระนางไว้. พระราชาจึงตรัสถามพระธิดาว่า ดูก่อนแม่ แม่จักประพฤติตามอย่างที่ว่านั้นได้หรือไม่เล่า. พระราชธิดาประภาวดีนั้น จึงทูลว่า ได้เพคะ เสด็จพ่อ.

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 221

ลำดับนั้น พระเจ้าโอกกากราช จึงได้ถวายพระราชทรัพย์เป็นอันมาก แด่พระเจ้ามัททราช แล้วทรงรับพระนางประภาวดีนั้นเสด็จกลับไป. แม้พระเจ้ามัททราช ก็ทรงส่งพระราชธิดาไปด้วยบริวารใหญ่. พระโอกกากราช เสด็จกลับกรุงกุสาวดีแล้ว มีพระบรมราชโองการให้ตกแต่งพระนคร ปล่อยนักโทษทั้งหมด ทรงกำหนดการอภิเษกพระราชโอรส ทรงสถาปนาพระนาง ประภาวดีให้เป็นอัครมเหสีแล้ว ทรงให้ราชบุรุษเที่ยวตีกลองประกาศว่า บัดนี้ราชอาณาจักรเป็นของพระเจ้ากุสราชแล้ว. พระราชาทั้งหลายในพื้นชมพูทวีป ทั้งหมด พระองค์ใดมีพระราชธิดา พระราชาพระองค์นั้น ขอทรงส่งพระราชธิดาไปถวายแด่พระเจ้ากุสราช พระราชาเหล่านั้นได้มีพระราชโอรส พระราชาเหล่านั้น ทรงหวังความเป็นมิตรไมตรีกับพระเจ้ากุสราชนั้น ก็ทรงส่งพระราช โอรสของพระองค์ไปเป็นพระราชอุปัฏฐาก. พระโพธิสัตว์เจ้า ทรงมีพระนางสนมเป็นบริวารมากมาย ทรงปกครองพระราชสมบัติด้วยพระอิสริยยศอันใหญ่ยิ่งเกรียงไกร. ฝ่ายพระนางประภาวดี ย่อมไม่ได้เพื่อจะเห็นพระโพธิสัตว์เจ้านั้น ในเวลากลางวันเลย แม้พระโพธิสัตว์เจ้าก็ไม่ได้เห็นพระนางในเวลากลางวันเหมือนกัน. พระราชาและพระราชินีทั้ง ๒ พระองค์ เห็นกันก็แต่เฉพาะเวลากลางคืนเท่านั้น. แม้รัศมีที่ฉายออกจากพระสรีระของพระนางประภาวดีในเวลากลางคืนนั้น ก็ไม่สามารถจะส่องให้เห็นพระพักตร์ชัดถนัดได้. พระโพธิสัตว์เจ้า เสด็จออกจากห้องที่ประทับเฉพาะในเวลากลางคืนเท่านั้น. พอ ๒, ๓ วันผ่านพ้นไป พระโพธิสัตว์เจ้าพระองค์นั้น ก็ทรงมีความปรารถนาจะได้เห็นพระพักตร์พระนางประภาวดีในเวลากลางวัน จึงทูลพระมารดาให้ทรงทราบ. พระมารดาก็ทรงห้ามเสียว่า อย่าชอบใจไปนักเลยพ่อ (อย่าทุรนทุรายใจไปนักเลย) ขอจงรอไปจนกว่าจะได้พระโอรสสักพระองค์หนึ่งก่อนเถิด. พระโพธิสัตว์เจ้า

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 222

นั้น ก็ทรงอ้อนวอนอยู่บ่อยๆ. ลำดับนั้น พระเทวีจึงมีพระกระแสรับสั่งกะ พระโพธิสัตว์เจ้านั้นว่า ถ้าอย่างนั้น พ่อจงไปยังโรงช้างแล้วยืนอยู่ด้วยเพศ แห่งคนเลี้ยงช้าง แม่จะพาพระนางประภาวดีไปในที่ตรงนั้น ขอเชิญพ่อจงดูนางเสียให้เต็มเนตร แต่อย่าให้นางรู้จักพ่อได้เป็นเด็ดขาด. พระโพธิสัตว์เจ้า นั้นจึงรับว่า ดีละ แล้วได้เสด็จไปยังโรงช้าง. ลำดับนั้น พระมารดาของพระโพธิสัตว์เจ้านั้น จึงมีพระดำรัสตรัสสั่งให้คนตกแต่งโรงช้างแล้วตรัสชักชวน พระนางประภาวดีว่า มาเถิดลูก เราทั้ง ๒ คนไปดูช้างต้นของพระภัสดากันเถิด แล้วจึงเสด็จไปยังโรงช้างนั้น ทรงชี้แสดงแก่พระนางประภาวดีว่า ช้างเชือกนี้ มีชื่อว่าอย่างโน้น ดังนี้. พระราชาทรงทอดพระเนตรเห็นนางเสด็จดำเนินไป ข้างพระมารดา จึงทรงหยิบเอาขี้ช้างก้อนหนึ่งขว้างไปที่หลังพระนางด้วยการ ปลอมตัวเป็นคนเลี้ยงช้างทีเดียว. พระนางประภาวดีทรงกริ้วโกรธเป็นอย่างมาก จึงมีพระกระแสรับสั่งว่า เราจักให้พระราชาทรงตัดมือของเจ้าเสีย แล้วทูลพระเทวีให้ลงโทษ. ฝ่ายพระราชมารดา ก็ทรงปลอบประโลมเอาพระทัยว่า อย่าทรงกริ้วโกรธไปเลยแม่เจ้า แล้วทรงลูบหลังให้. ต่อมาพระราชาทรงต้องการที่จะได้เห็นพระนางซ้ำอีก จึงเสด็จไปทอดพระเนตรพระนางที่โรงม้า ด้วยการปลอมตัวเป็นคนเลี้ยงม้า แล้วทรงเอาก้อนขี้ม้าขว้างไปเหมือนเดิมนั้นอีก. แม้ในกาลนั้น พระนางก็ได้ทรงกริ้วใหญ่ พระสัสสุ (แม่ผัว) ก็ต้องทรงปลอบประโลมอีก.

ในวันต่อมา พระนางประภาวดี ทรงใคร่จะได้เห็นพระมหาสัตว์เจ้า จึงทูลบอกแก่พระสัสสุ แต่ก็ถูกพระสัสสุทรงห้ามว่า อย่าเลย แม่อย่าชอบใจเลย ดังนี้ ก็ทูลอ้อนวอนอยู่บ่อยๆ แล้ว. ลำดับนั้น พระเทวี จึงตรัสกะพระนางว่า ถ้าอย่างนั้น ในวันพรุ่งนี้ ลูกชายของฉันจักกระทำประทักษิณพระนคร แม่จงเปิดสีหบัญชรคอยดูเขาเถิด. ก็ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ในวันรุ่งขึ้น จึงมีพระ

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 223

กระแสรับสั่งให้คนตกแต่งพระนครแล้ว โปรดให้พระชยัมบดีราชกุมาร (น้องชายพระเจ้ากุสราช) ทรงเครื่องต้นอย่างกษัตริย์ ให้ประทับนั่งบนหลังช้างแล้ว ให้พระโพธิสัตว์เจ้าประทับนั่งบนอาสนะข้างหลัง ให้กระทำประทักษิณ พระนคร แล้วทรงพาพระนางประภาวดีไปประทับยืนที่สีหบัญชร ตรัสว่า แม่จงดูความเลิศด้วยความงามแห่งพระสิริของสามีแม่เถิด. พระนางประภาวดี ทรงสำคัญว่า เราได้พระสวามีที่มีความสมควรกันแล้ว ดังนี้แล้ว ก็ทรงมีพระทัย โสมนัสเป็นอย่างยิ่ง. ก็ในวันนั้น พระมหาสัตว์เจ้าปลอมพระองค์เป็นนายควาญช้าง ประทับนั่งบนอาสน์ข้างหลัง ของพระชยัมบดีราชกุมาร ก็ได้ทอดพระเนตรดูพระนางประภาวดี สำเร็จตามพระประสงค์ ได้ทรงแสดงอาการ ยั่วเย้า ตามความพอพระทัยด้วยอำนาจการทำมือให้ขวักไขว่แปลกๆ เป็นต้น. เมื่อช้างพระที่นั่งคล้อยผ่านไปแล้ว พระราชมารดาจึงตรัสถามพระนางประภาวดีว่า แม่เห็นพระภัสดาของแม่แล้วหรือ พระนางทูลว่า เห็นแล้วเพคะท่านแม่ แต่นายควาญช้าง ผู้นั่งอยู่บนอาสนะหลังของพระภัสดานั้น ช่างเป็นคนที่ดื้อ สอนยากเสียเหลือเกิน แสดงการทำมือขวักไขว่ให้แปลกๆ เป็นต้นแก่หม่อมฉัน เพราะเหตุไร เขาจึงจัดให้คนผู้ไม่มีสง่าราศีเช่นเจ้าคนนั้น ขึ้นไปนั่งบนอาสน์ ข้างหลังพระเจ้าแผ่นดินได้. พระเทวีจึงตรัสว่า ดูก่อนแม่ ธรรมดาว่าการ ระวังภัยบนอาสน์ด้านหลังของพระราชา อันบุคคลพึงปรารถนา. พระนางประภาวดี จึงทรงดำริว่า ควาญช้างคนนี้ ช่างได้อภัยเป็นพิเศษเสียเหลือเกิน ไม่เคยสำคัญพระราชาว่า เป็นพระราชาเสียบ้างเลย หรือว่าควาญช้างคนนี้เป็น พระเจ้ากุสราชกันแน่ ก็พระเจ้ากุสราชนี้ คงจักมีรูปร่างน่าเกลียดอย่างเหลือเกินเป็นแน่ทีเดียว เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่ยอมแสดงองค์พระเจ้ากุสราชนั้นแก่เรา. พระนางประภาวดีจึงทรงกระซิบกะนางค่อมที่ใกล้หูว่า ดูก่อนแม่ค่อม เธอจงไปดูให้รู้ทีหรือว่า พระเจ้ากุสราชประทับบนอาสน์ข้างหน้า หรือว่าประทับบน

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 224

อาสน์ข้างหลังกันแน่. หญิงค่อมจึงทูลถามว่า ก็หม่อมฉันจักทราบได้อย่างไรเล่าเพคะ. พระนางจึงตรัสว่า ถ้าแม้ว่านายควาญช้างคนนั้นจักเป็นพระราชาไซร้ ก็จักเสด็จลงจากหลังช้างก่อน เธอจงรู้ด้วยสัญญา (วิธี) อย่างนี้. นางค่อม นั้นได้มายืนดูอยู่ ณ ที่ส่วนข้างหนึ่งแล้วมองเห็นพระมหาสัตว์เจ้าลงมาก่อน มองเห็นพระชยัมบดีราชกุมารเสด็จลงมาทีหลัง. แม้พระมหาสัตว์เจ้าทรงมองไปข้างโน้นบ้าง ข้างนี้บ้าง ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นนางค่อม ก็ทรงทราบว่า นางค่อมนี้จักมาเพราะเหตุชื่อนี้ จึงรับสั่งให้เรียกนางค่อมมาแล้ว ตรัสกำชับ อย่างกวดขันว่า เธออย่าได้บอกเรื่องนี้แก่พระนางประภาวดีเป็นเด็ดขาด แล้วทรงส่งไป. นางค่อมนั้นกลับไปก็กราบทูลพระนางประภาวดีว่า พระเจ้ากุสราช ผู้เสด็จประทับอยู่บนอาสนะข้างหน้าเสด็จลงก่อน. พระนางประภาวดี ก็ทรงเชื่อถ้อยคำ ของนางค่อมนั้น. ในวันต่อมา พระราชาทรงมีพระประสงค์จะได้ ทอดพระเนตรเห็นพระนางประภาวดีอีก จึงทรงทูลอ้อนวอนพระราชมารดา แล้ว พระราชมารดาไม่อาจจะทรงห้ามได้ จึงตรัสสั่งว่า ถ้าอย่างนั้น พ่อจงปลอมเพศไม่ให้ใครๆ รู้จักแล้วจงไปยังอุทยาน. พระราชาเสด็จไปยังอุทยาน แล้วทรงยืนแช่น้ำอยู่ ในสระโบกขรณีประมาณแค่คอ ทรงเอาใบบัวปกปิด พระเศียร ทรงยืนเอาดอกบัวที่บานบังพระพักตร์ไว้. แม้พระราชมารดาของพระโพธิสัตว์เจ้านั้น ก็ทรงพาพระนางประภาวดีไปยังพระราชอุทยาน ทรงชี้ชวนให้ชมอยู่ว่า แม่จงดูพฤกษาเหล่านี้ จงดูหมู่สกุณา จงดูหมู่มิคะเป็นต้น ได้เสด็จมาถึงฝั่งแห่งสระโบกขรณี.

พระนางประภาวดีนั้น ทอดพระเนตรเห็นสระโบกขรณีอันดาดาษไปด้วยดอกบัว ๕ ชนิด ทรงปรารถนาจะเสด็จลงสรง จึงเสด็จลงสู่สระโบกขรณี พร้อมด้วยนางบริจาริกาทั้งหลาย ทรงเล่นอยู่ครั้นพอทอดพระเนตรเห็นดอกบัว

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 225

ที่พระโพธิสัตว์เจ้าซ่อนอยู่นั้น ทรงใคร่จะเก็บ จึงทรงเอื้อมพระหัตถ์ออกไป. ลำดับนั้น พระราชา จึงทรงเปิดใบบัวออกแล้ว เข้าคว้าพระนางด้วยพระหัตถ์ พลางร้องว่า เราคือพระเจ้ากุสราช. พระนางพอได้ทอดพระเนตรเห็นพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์เจ้านั้นแล้ว ทรงร้องขึ้นด้วยสำคัญว่า ยักษ์จับเรา แล้วทรงถึงวิสัญญีภาพ สิ้นพระสติสมฤดีอยู่ในที่ตรงนั้นเอง. ลำดับนั้น พระราชา จึงทรงปล่อยพระหัตถ์ละจากพระนาง. ครั้นพอพระนางทรงรู้สึกพระองค์ได้แล้ว จึงทรงดำริว่า ได้ยินว่า พระเจ้ากุสราชทรงจับมือเรา ก็เราถูกพระเจ้ากุสราชนี้ ขว้างด้วยก้อนคูถช้างที่โรงช้าง แล้วขว้างด้วยก้อนคูถม้าที่โรงม้า ก็พระเจ้ากุสราชนี้แล ประทับนั่งบนอาสน์หลังช้างทรงเกี้ยวเรา เราไม่มีความต้องการพระภัสดาผู้มีพักตร์อันน่าเกลียดถึงขนาดนี้ เราจักทิ้งพระภัสดานี้เสีย เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็จักได้สามีคนอื่น ดังนี้แล้ว จึงให้คนเรียกพวกอำมาตย์ที่ตามเสด็จมากับพระนางแล้ว ตรัสว่า พวกท่านจงทำการตระเตรียม ยานพาหนะให้เรา เราจักไปในวันนี้แหละ. พวกอำมาตย์เหล่านั้นจึงกราบทูล แด่พระราชาให้ทรงทราบ. พระราชาจึงทรงพระดำริว่า ถ้าพระนางไม่ได้เพื่อ จะกลับไป ดวงหทัยของพระนางคงจักแตกเป็นแน่ ขอให้พระนางกลับไปก่อน เถิด เราจักนำพระนางกลับมาด้วยกำลังของตนเองอีกครั้ง พอทรงดำริแล้ว ต่อนั้นมาจึงทรงอนุญาตให้พระนางประภาวดีนั้นเสด็จกลับไป. พระนางเสด็จกลับไปยังเมืองของพระราชบิดาตามเดิม. แม้พระมหาสัตว์เจ้า ก็เสด็จออกจากพระราชอุทยานเข้าไปสู่พระนคร เสด็จขึ้นสู่พระปราสาทอันประดับแล้ว. จริงอยู่ พระนางมิได้ทรงมีความยินดีพระโพธิสัตว์เจ้า ด้วยอำนาจการที่ได้ทรงตั้งความ ปรารถนาไว้ในปางก่อน. แม้พระโพธิสัตว์เจ้านั้น ที่มีพระรูปกายไม่งดงาม ก็ด้วยอำนาจบุรพกรรมขอพระองค์เอง.

 
  ข้อความที่ 32  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 226

ได้ยินว่า ในอดีตกาล มีหมู่บ้านอันตั้งอยู่ข้างประตูเมืองพาราณสี ตระกูล ๒ ตระกูล คือ ตระกูลที่อาศัยอยู่ข้างถนนหน้าหมู่บ้านตระกูล ๑ อาศัยอยู่ข้างถนนหลังหมู่บ้านตระกูล ๑. ตระกูลหนึ่งมีลูกชาย ๒ คน ตระกูลหนึ่งมีลูกสาว ๑ คน ในบรรดาบุตรชายทั้ง ๒ คนนั้น พระโพธิสัตว์เป็นน้องชาย. มารดาบิดาได้ไปขอนางกุมาริกานั้น มาให้แก่พี่ชาย. พระโพธิสัตว์ผู้เป็นน้องชาย ยังไม่มีภริยา จึงอาศัยอยู่ในบ้านของพี่ชาย. อยู่มาวันหนึ่ง พี่สะใภ้ได้ทอดขนมที่มีรสชาติอร่อยยิ่งนัก ในเรือนนั้น. แต่พระโพธิสัตว์ได้ไปป่าเสีย พี่สะใภ้จึงได้แบ่งขนมไว้ให้แก่พระโพธิสัตว์นั้นส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือนั้นก็แจกกันบริโภคจนหมด. ในขณะนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าได้มาถึง ประตูเรือนเพื่อภิกษา พี่สะใภ้ของพระโพธิสัตว์ จึงคิดว่า เราจักค่อยทำขนมให้น้องผัวใหม่ ดังนี้แล้ว จึงถือเอาขนมส่วนที่เก็บไว้ให้พระโพธิสัตว์นั้น ไปถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าเสีย. แม้พระโพธิสัตว์นั้น ก็กลับมาจากป่าในขณะนั้นพอดี. ตอนนั้น นางจึงพูดกับพระโพธิสัตว์นั้นว่า น้องชายเอ๋ย จงทำจิตใจให้ผ่องใสเถิดหนา ขนมอันเป็นส่วนของน้อง พี่ได้ถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว. พระโพธิสัตว์นั้นกลับโกรธว่า เจ้ากินขนมอันเป็นส่วนของเจ้าหมดแล้ว กลับมาเอาขนมอันเป็นส่วนของข้าไปถวายพระชิชะ แล้วข้าจักกินอะไรเล่า จึงรีบตามพระปัจเจกพุทธเจ้าไปเอาขนมจากบาตรกลับคืนมา. ที่สะใภ้นั้น จึงรีบไปยังเรือนมารดาแล้ว นำเอาเนยใสที่ยังใหม่และใสสะอาด มีสีคล้ายดอกจำปามาแล้ว ใส่บาตรจนเต็มถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าแทน. เนยใสนั้นได้แผ่เป็นรัศมีออกไปแล้ว. นางพอได้เห็นรัศมีนั้นแล้ว จึงตั้งความปรารถนาไว้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ในที่ที่ดิฉันจะเกิดแล้วข้างหน้า ขอให้ ร่างกายของดิฉันจงเกิดมีรัศมีเปล่งปลั่ง และมีรูปร่างสดสวยงดงามเป็นอย่างยิ่ง

 
  ข้อความที่ 33  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 227

เถิด อนึ่ง ขออย่าให้ดิฉันได้อยู่ร่วมในที่แห่งเดียวกันกับคนที่เป็นอสัตบุรุษ ดังน้องผัวของดิฉันคนนี้เลย. พระนางประภาวดี มิได้ทรงยินดีชอบใจพระโพธิสัตว์เจ้านั้น ก็ด้วยอำนาจความปรารถนา ที่ทรงตั้งไว้แล้วในกาลก่อน ด้วยประการฉะนี้. แม้พระโพธิสัตว์ ก็ใส่ขนมนั้นลงในบาตรที่เต็มด้วยเนยใส แล้วตั้งความปรารถนาไว้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พี่สะใภ้ของข้าพเจ้าคนนี้ แม้จะอยู่ในที่ไกลแสนไกลตั้งร้อยโยชน์ก็ตาม ขอให้ข้าพเจ้าพึงมีความสามารถไปนำมาเป็นบาทบริจาริกาของข้าพเจ้าให้จงได้เถิด. ด้วยอำนาจแห่งบุรพกรรมที่ พระโพธิสัตว์นั้นโกรธ แล้วเอาขนมกลับคืนมานั้น พระโพธิสัตว์เจ้าจึงได้เป็น ผู้มีรูปร่างอันไม่งดงาม น่าเกลียดแล้วแล.

ฝ่ายพระนางประภาวดีนั้น ก็มิได้ทรงปรารถนาพระโพธิสัตว์นั้นเลย. พระโพธิสัตว์เจ้านั้น เมื่อพระนางประภาวดีเสด็จไปแล้ว ก็ทรงเศร้าโศกเสียพระทัย. แม้เหล่านางบริจาริกาทั้งหลายจะพากันบำรุงบำเรออยู่โดยประการต่างๆ ก็ตาม แต่หญิงที่เหลือทั้งหลาย ก็ไม่อาจที่จะให้พระโพธิสัตว์เจ้านั้น เหลียวมองดูตนได้เลย. ก็เมื่อพระราชาพระองค์นั้น ทรงพรากเว้นจากพระนางประภาวดีเสียแล้ว พระราชนิเวศน์แม้ทั้งหมดของพระองค์ ก็เงียบสงัดคล้ายเหมือนว่างเปล่า. ท้าวเธอทรงรำพันว่า บัดนี้ นางคงไปถึงเมืองสาคละแล้ว ดังนี้ พอใกล้รุ่งก็เสด็จไปเฝ้าพระมารดา กราบทูลว่า ข้าแต่ท่านแม่ ลูกจักไปตามพระนางประภาวดีมา ขอท่านแม่จงครอบครองราชสมบัติแทนด้วยเถิด ดังนี้ จึงตรัสปฐมคาถาว่า

รัฐของพระองค์นี้ มีทรัพย์ มียาน มีเครื่องราชกกุธภัณฑ์ สมบูรณ์ด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทั้งปวง ข้าแต่พระมารดา ขอพระองค์จงทรงปกครองราช

 
  ข้อความที่ 34  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 228

สมบัติของพระองค์นี้ หม่อมฉันจะขอทูลลาไปยังเมือง สาคละ ซึ่งเป็นที่สถิตแห่งพระนางประภาวดีที่รัก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สโยคฺคํ (มียาน) ได้แก่ พรั่งพร้อมไปด้วยเครื่อง ประกอบเช่นช้างเป็นต้น. บทว่า สกายุรํ ได้แก่ มีเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ อย่างพร้อมบริบูรณ์. บทว่า อนุสาส อมฺม (ข้าแต่พระมารดา ขอพระองค์จงทรงปกครอง) ความว่า ได้ยินว่า พระราชา พระองค์นั้น ทรงพระดำริว่า ขึ้นชื่อว่าการมอบราชสมบัติให้แก่ผู้ชายครอบครอง รองจากตน เป็นการไม่สมควร จึงไม่ทรงมอบ (ราชสมบัติ) ให้แก่พระบิดา หรือพระอนุชา เมื่อจะทรงมอบให้แก่พระมารดา จึงได้ตรัสไว้อย่างนี้.

พระราชมารดานั้น ทรงได้สดับพระราชดำรัสนั้นแล้ว จึงทรงมีรับสั่งว่า ดูก่อนลูก ถ้าอย่างนั้น ลูกจงเป็นผู้ไม่ประมาท เพราะขึ้นชื่อว่า มาตุคามมีใจไม่บริสุทธิ์ ดังนี้แล้ว ทรงเอาโภชนะมีรสอันเลิศต่างๆ บรรจุใส่ภาชนะทองคำจนเต็มแล้ว ทรงรับสั่งว่า ลูกพึงบริโภคโภชนะนี้ ในระหว่างเดินทาง แล้วทรงส่งไป. พระราชาพระองค์นั้น ทรงรับภาชนะนั้นแล้ว ถวายบังคมพระมารดา ทรงทำประทักษิณ ๓ ครั้ง แล้วกราบทูลว่า เมื่อหม่อมฉันยังมีชีวิตอยู่ คงจะได้กลับมาเห็นพระมารดาอีก ดังนี้แล้ว จึงเสด็จเข้าสู่ห้องอันเป็นสิริ ทรงเหน็บพระแสงอาวุธ ๕ อย่าง ทรงหยิบกหาปณะพันหนึ่ง บรรจุลงในย่าม พร้อมทั้งภาชนะพระกระยาหาร ทรงถือพิณโกกนุท เสด็จออกจากพระนคร ทรงดำเนินไปตามมรรคา ทรงมีพระกำลังมาก มีเรี่ยวแรงเข้มแข็งเพียงเช้าชั่วเที่ยง ก็ทรงดำเนินไปได้ถึงตั้ง ๕๐ โยชน์ เสวยพระกระยาหารแล้ว ทรงดำเนินต่อไปอีก ๕๐ โยชน์ โดยส่วนแห่งวันที่เหลือเท่านั้น ก็ทรงเดินทางไปได้สิ้นทางระยะถึง ๑๐๐ โยชน์ ในเวลาเย็นเสด็จพักสรงน้ำแล้ว เสด็จเข้าถึงเมืองสาคละ. เมื่อพระองค์พอได้เสด็จเข้าไปแล้วเท่านั้น ด้วยเดช

 
  ข้อความที่ 35  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 229

แห่งพระโพธิสัตว์ พระนางประภาวดีจะทรงบรรทมอยู่บนพระที่มิได้ ต้องเสด็จลงมาบรรทมเหนือภาคพื้น. พระโพธิสัตว์มีพระอินทรีย์อันเหน็ดเหนื่อย ทรงดำเนินมาตามถนน ผู้หญิงคนหนึ่งแลเห็นพระองค์เข้า จึงให้เรียกมาแล้ว เชิญให้ประทับนั่ง ให้ล้างพระบาทจัดที่บรรทมถวาย. พระโพธิสัตว์เจ้านั้น มีพระวรกายเหน็ดเหนื่อยมา พอบรรทมก็หลับสนิท. ลำดับนั้น หญิงคนนั้น พอเมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าบรรทมหลับแล้ว ก็จัดแจงโภชนะมีรสอันเลิศต่างๆ เสร็จแล้ว จึงปลุกพระโพธิสัตว์ให้ตื่นบรรทม แล้วเชิญให้เสวยพระกระยาหาร พระโพธิสัตว์เจ้าทรงขอบพระทัย ได้พระราชทานกหาปณะพันหนึ่งกับภาชนะทองคำแก่หญิงคนนั้น. ท้าวเธอทรงเก็บพระแสงเบญจาวุธไว้ที่บ้านของหญิงคนนั้นนั่นแล แล้วรับสั่งว่า เรายังมีสถานที่ควรจะไปอีก ดังนี้แล้ว ทรงถือเอาพิณเสด็จไปยังโรงช้าง ตรัสว่า ขอท่านจงให้ข้าพเจ้าพักอยู่ ณ ที่นี้สักวันหนึ่งเถิด ข้าพเจ้าจะทำการขับร้องเพลงให้พวกท่านได้ฟัง ดังนี้ พอเมื่อได้รับอนุญาตจากคนเลี้ยงช้างแล้ว ก็บรรทมหลับอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งได้สักครู่ พอระงับหายความเหน็ดเหนื่อยกระวนกระวายแล้ว ก็ทรงลุกออกมาแก้ห่อพิณ ทรงดีดพิณขับร้องประสานเสียง ด้วยทรงพระดำริว่า ชนชาวนครสาคละ จงฟังเสียงพิณนี้.

พระนางประภาวดี ทรงบรรทมบนภาคพื้น พอได้ทรงสดับเสียนั้น ก็ทรงทราบได้ทีเดียวว่า เสียงพิณนี้มิใช่เสียงพิณของคนอื่น พระเจ้ากุสราช ต้องเสด็จมาเพื่อจะเอาตัวเรากลับไปโดยมิต้องสงสัย. แม้พระเจ้ามัททราชทรงสดับเสียงนั้นแล้ว ทรงพระดำริว่า ใครนะช่างขับร้องเพลงไพเราะเหลือเกิน พรุ่งนี้เราจะให้คนเรียกคนผู้นั้นมาทำการขับร้องให้เราฟัง. พระโพธิสัตว์เจ้า ทรงพระดำริว่า เราอยู่ในที่นี้ไม่อาจจะได้เห็นพระนางประภาวดี สถานที่นี้ดู ไม่เหมาะเสียเลย จึงได้เสด็จออกไปแต่เช้าตรู่ทีเดียว ไปเสวยพระกระยาหาร

 
  ข้อความที่ 36  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 230

เช้าที่ในเรือนของหญิงที่พระองค์ได้เสวยแล้ว ในเวลาเย็นวันแรกนั่นแล ทรงเก็บพิณไว้แล้ว เสด็จไปยังสำนักนายช่างหม้อของพระราชาแล้ว เข้าขอฝากตัวเป็นศิษย์ของนายช่างหม้อคนนั้น เพียงวันเดียวเท่านั้น ก็ทรงขนเอาดินมาจนเต็มเรือน แล้วบอกว่า ท่านอาจารย์ขอรับ ผมจะทำภาชนะให้ เมื่อนายช่างหม้อ พูดว่า ดีซิ จงทำเถิด จึงทรงวางก้อนดินก้อนหนึ่งลงบนไม้แป้นแล้ว ทรงปั้นหมุนไม้แป้น. พระองค์ทรงปั้นหนเดียวเท่านั้น แป้นก็หมุนอยู่ตั้งแต่เช้า จนเลยเที่ยง. พระองค์ทรงปั้นภาชนะเล็กบ้างใหญ่บ้างหลายชนิดหลากสี เมื่อจะทรงปั้นภาชนะเพื่อประโยชน์แก่พระนางประภาวดี ได้ทรงกระทำให้มีลวดลายเป็นรูปต่างๆ. จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่า ความประสงค์ของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ย่อมสำเร็จได้. พระองค์ทรงอธิษฐานว่า ขอให้พระนางประภาวดี จงได้เห็นรูปเหล่านั้น แต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น. พระองค์ทรงผึ่งภาชนะ ทั้งหมดให้แห้งแล้ว ทรงเผาเสร็จแล้ว เก็บไว้จนเต็มเรือน. นายช่างหม้อนำ ภาชนะเหล่านั้นไปยังราชตระกูล. พระเจ้ามัททราชทอดพระเนตรเห็นภาชนะเหล่านั้นแล้ว ตรัสถามว่า ภาชนะเหล่านั้นใครทำ. นายช่างหม้อกราบทูลว่า ข้าพระองค์เองพระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า ภาชนะที่เจ้าได้เคยทำมาแล้ว เราจำได้เป็นอย่างดี เจ้าจงบอกมานะว่า ภาชนะเหล่านั้นใครทำ. นายช่างหม้อ กราบทูลว่า ศิษย์ของข้าพระองค์ทำพระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า ผู้นั้นไม่สมควรเป็นศิษย์ของเจ้า ผู้นั้นจงเป็นอาจารย์ของเจ้า เจ้าจงศึกษาศิลปะในสำนักของเขาเถิด และจำเดิมแต่วันนี้ไป ขอให้เขาทำภาชนะทั้งหลาย สำหรับธิดาของเราทุกๆ องค์ และเจ้าจงให้ทรัพย์พันหนึ่งนี้แก่เขาด้วย ดังนี้ ให้พระราชทานทรัพย์พันหนึ่งแล้ว ตรัสว่า เจ้าจงนำภาชนะเล็กๆ เหล่านั้นไปให้ พระธิดาทั้งหลายของเราด้วย.

 
  ข้อความที่ 37  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 231

นายช่างหม้อคนนั้น นำเอาภาชนะเหล่านั้นไปยังตำหนักของพระราชธิดาเหล่านั้นแล้ว กราบทูลว่า ภาชนะเล็กๆ เหล่านี้ข้าพระองค์ขอถวายไว้ เพื่อสำหรับพระนางได้ทรงเล่น. พระราชธิดาเหล่านั้นทั้งหมดเสด็จมาแล้ว. นายช่างหม้อก็ได้ถวายภาชนะที่พระมหาสัตว์การทำไว้เพื่อประโยชน์แก่พระนางประภาวดี เฉพาะพระนางทีเดียว. พระนางทรงรับภาชนะนั้นมาแล้ว ทรงเห็นพระรูปของพระองค์พระรูปของพระมหาสัตว์ และรูปของหญิงค่อม ในภาชนะนั้นทีเดียว ก็ทรงทราบว่า ภาชนะนี้ไม่ใช่คนอื่นทำ พระเจ้า กุสราชนั่นแล ทรงกระทำ ทรงแค้นเคืองแล้ว ขว้างของเหล่านั้นลงบนภาคพื้น แล้วตรัสว่า เราไม่มีความต้องการด้วยของสิ่งนี้ ใครอยากได้ ท่านจงเอาไปให้เขาเถิด. ลำดับนั้น พระราชธิดาผู้เป็นพระภคินีทั้งหลายของพระนาง ทรงทราบว่า พระนางทรงกริ้ว ก็พากันทรงยิ้มว่า พระพี่เข้าพระทัยว่า ภาชนะเล็กๆ นี้ พระเจ้ากุสราชทรงกระทำกระมัง ภาชนะนี้ ไม่ใช่พระเจ้ากุสราชนั้นทรงกระทำหรอก ช่างหม้อเขากระทำต่างหาก พระพี่นางจงรับเอาไว้เถิด พระนางก็มิได้ตรัสบอก ถึงเรื่องที่พระเจ้ากุสราชนั้น ทรงกระทำภาชนะและเรื่องที่พระเจ้ากุสราชนั้น เสด็จมาถึงแล้ว แก่พวกพระภคินีเหล่านั้น นายช่างหม้อได้ให้กหาณะพันหนึ่งแก่พระโพธิสัตว์แล้วกล่าวว่า นี่แน่ะพ่อเอ๋ย พระราชาทรงชอบใจเจ้า ได้ยินว่าจำเดิมแต่นี้ไป เจ้าพึงกระทำภาชนะสำหรับ พระราชธิดาทุกๆ พระองค์ เราจักนำไปถวายแด่พระราชธิดาเหล่านั้นเอง พระโพธิสัตว์เจ้านั้น จึงตรัสว่า ท่านพ่อครับ ผมจักไม่การทำเพื่อพระราชธิดาเหล่านั้น พระโพธิสัตว์เจ้านั้น ทรงพระราชดำริว่า เราขืนอยู่ในที่นี้ เห็นจะไม่อาจที่จะได้เห็นพระนางประภาวดีได้ จึงพระราชทานทรัพย์พันหนึ่งนั้นแก่ นายช่างหม้อนั้นทีเดียว แล้วจึงเสด็จไปยังสำนักของนายช่างสาน ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระราชา ขอสมัครเป็นศิษย์ของนายช่างสานนั้น แล้วทรงกระทำใบตาล

 
  ข้อความที่ 38  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 232

เพื่อประโยชน์แก่พระนางประภาวดีแล้ว แสดงรูปต่างๆ คือ รูปเศวตฉัตร สถานที่สำหรับดื่ม พระนางประภาวดี ทรงยืนจับผ้าเป็นต้นในใบตาลนั้น นายช่างสานได้ถือเอาใบตาลนั้นและของอย่างอื่นอีก ที่พระโพธิสัตว์นั้น ทรงกระทำแล้ว นำไปยังราชตระกูลพระราชา ทอดพระเนตรเห็นตรัสถามว่า สิ่งของเหล่านั้นใครทำ นายช่างสาน กราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระองค์ทำเองพระเจ้าข้า พระราชาตรัสว่า เราจำของที่เจ้าทำได้ดี จงบอกมาเถิดว่าของเหล่านั้นใครทำกันแน่ นายช่างสานกราบทูลว่า ขอเดชะ ศิษย์ของข้าพระองค์กระทำพระ เจ้าข้า พระราชาทรงรับสั่งว่า ผู้นั้นไม่สมควรเป็นศิษย์ เขาจงเป็นอาจารย์ของเจ้าจึงเหมาะ เจ้าจงศึกษาศิลปะในสำนักของเขาและจำเดิมแต่วันนี้ไป ขอให้เขาทำสิ่งของอย่างนี้ แก่พวกธิดาของเรา และเจ้าจงให้ทรัพย์พันหนึ่งนี้แก่เขาด้วย ดังนี้แล้ว ทรงพระราชทานทรัพย์พันหนึ่งแล้วตรัสว่า เจ้าจงนำเอาสิ่งของเครื่องประดับเหล่านั้น ไปให้พวกธิดาของเราด้วย.

แม้นายช่างสานนั้น ก็ได้ถวายใบตาลที่พระโพธิสัตว์ทรงกระทำเพื่อ ประโยชน์แก่พระนางประภาวดีเฉพาะพระนางทีเดียว ชนอื่น ย่อมไม่เห็นรูปทั้งหลายในใบตาลนั้น ฝ่ายพระนางประภาวดี พอได้ทอดพระเนตรเห็น ก็ทรง.ทราบว่า พระเจ้ากุสราชทรงกระทำ ก็ทรงกริ้วขว้างลงบนพื้นแล้วรับสั่งว่า ใครอยากได้ ก็จงเอาไปเถิด ลำดับนั้น พวกพระภคินีที่เหลือ ก็ทรงหัวเราะเยาะพระนาง นายช่างสาน ถือเอาทรัพย์พันหนึ่ง ไปให้พระโพธิสัตว์แล้วบอก เรื่องราวนั้นให้ทราบ พระโพธิสัตว์เจ้านั้น ยังทรงดำริว่า แม้ที่นี้ก็ไม่ใช่สถานที่ที่เราควรจะอยู่ จึงมอบทรัพย์พันหนึ่งคืนให้นายช่างสานนั้นแล้ว เสด็จไปยัง สำนักของนายช่างร้อยดอกไม้ของพระราชา แจ้งความประสงค์ขอเป็นศิษย์ ทรงร้อยพวงมาลาแปลกๆ หลายอย่างหลายชนิด ได้กระทำทรงเทริดอันหนึ่ง

 
  ข้อความที่ 39  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 233

ซึ่งวิจิตรด้วยรูปต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่พระนางประภาวดี นายมาลาการ ถือเอาพวงมาลาทั้งหมดนั้น ไปยังราชตระกูล พระราชาทอดพระเนตรเห็น จึงตรัสถามว่า ดอกไม้เหล่านี้ ใครร้อยเป็นพวงมาลา นายมาลาการ กราบทูลว่า ข้าพระองค์ร้อยเองพระเจ้าข้า พระราชาตรัสว่า ดอกไม้ที่เจ้าเคยร้อยแล้ว เราจำได้ดี จงบอกมานะว่า ดอกไม้เหล่านี้ใครร้อย นายมาลาการกราบทูลว่า ศิษย์ของข้าพระองค์ร้อยเป็นพวงมาลา พระเจ้าข้า พระราชาตรัสว่า ผู้นั้น ไม่สมควรเป็นศิษย์ของเจ้า เขาจงเป็นอาจารย์ของเจ้าเถิด เจ้าจงเรียนศิลปะ ในสำนักของเขา และจำเดิมแต่วันนี้ไป ขอให้เขาได้ร้อยดอกไม้ให้พวกธิดาของเราเถิด และเจ้าจงให้ทรัพย์พันหนึ่งนี้แก่เขา ดังนี้แล้ว จึงพระราชทานทรัพย์พันหนึ่งแล้วรับสั่งว่า เจ้าจงนำเอาดอกไม้เหล่านั้นไปให้พวกธิดาของเรา ด้วย.

แม้ช่างร้อยดอกไม้นั้น ก็ได้ถวายทรงเทริดที่พระมหาสัตว์ทรงกระทำ เพื่อประโยชน์แก่พระนางประภาวดี เฉพาะพระหัตถ์พระนางที่เดียว พระนางทรงเห็นรูปต่างๆ ของพระองค์และของพระราชาพร้อมทั้งรูปอื่นๆ อีกเป็นอันมาก ในทรงเทริดนั้นก็ทรงทราบว่า พระเจ้ากุสราชนั้น ทรงการทำ จึงทรงกริ้วแล้วขว้างลงบนภาคพื้น พวกภคินีที่เหลือ พากันหัวเราะเยาะพระนาง เหมือนอย่างนั้นทีเดียว แม้นายมาลาการ ก็ได้นำทรัพย์มาให้พระโพธิสัตว์เจ้า บอกเรื่องนั้นให้ทราบแล้ว พระโพธิสัตว์เจ้านั้น จึงทรงพระดำริว่า แม้สถานที่นี้ ก็ไม่ใช่ที่ที่เราจะอยู่ได้ จึงคืนทรัพย์พันหนึ่ง ให้แก่นายมาลาการนั้น แล้วเสด็จไปยังสำนักของเจ้าพนักงานห้องเครื่องต้นของพระราชา ขอฝากตัวเป็นศิษย์ ภายหลังวันหนึ่ง เจ้าพนักงานเครื่องต้นไปถวายแด่พระราชา ก็ได้ให้ชิ้นเนื้อติดกระดูกชิ้นหนึ่ง แก่พระโพธิสัตว์เจ้า เพื่อให้ปิ้งเป็นประโยชน์ส่วนตัว พระโพธิสัตว์เจ้า ทรงปิ้งเนื้อนั้นให้มีกลิ่นหอมตลบฟุ้งไป จนทั่วพระนคร ทั้งหมด พระราชา ทรงได้กลิ่นเนื้อนั้น จึงตรัสถามว่า เจ้าปิ้งเนื้อส่วนอื่น

 
  ข้อความที่ 40  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 234

ของเจ้าไว้ในห้องเครื่องต้นหรือ เจ้าพนักงานเครื่องต้น กราบทูลว่า ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ก็แต่ว่าข้าพระองค์ ได้ให้ชิ้นเนื้อติดกระดูกแก่ลูกมือของข้าพระองค์ เพื่อให้ปิ้งบริโภค กลิ่นนั้นเห็นจะเป็นกลิ่นของเนื้อนั้นนั่นเองพระเจ้าข้า พระราชาทรงรับสั่งให้นำเนื้อนั้นมาแล้ว ทรงแตะวางที่ปลายพระชิวหาหน่อยหนึ่ง จากเนื้อชิ้นนั้น ในขณะนั้นทีเดียวรสแห่งชิ้นเนื้อนั้น ก็แผ่ซาบซ่านไปทั่ว ประสาทสำหรับรสถึงเจ็ดพัน พระราชา ทรงติดใจในรสตัณหา จึงทรงพระราชทานทรัพย์พันหนึ่ง แก่เจ้าพนักงานเครื่องต้นนั้น แล้วทรงรับสั่งว่า จำเดิมแต่นี้ไป เจ้าจงให้ลูกมือของเจ้าปรุงภัตตาหารให้ แก่พวกธิดาของเรา และแก่เราด้วยแล้ว เจ้าจงนำมาให้เรา ส่วนลูกมือของเจ้านั้น จงนำไปให้พวกธิดาของเรา.

เจ้าพนักงานเครื่องต้นไปบอกแก่พระโพธิสัตว์นั้น ให้ทราบแล้ว พระโพธิสัตว์เจ้านั้น จึงทรงพระดำริว่าบัดนี้ ความปรารถนาแห่งใจของเราถึงที่สุดแล้ว เราจักได้เห็นพระนางประภาวดีในบัดนี้แน่ จึงทรงดีพระทัยแล้ว คืนทรัพย์พันหนึ่งนั้นให้แก่เจ้าพนักงานเครื่องต้นนั้น ในวันรุ่งขึ้น ทรงจัดแจงเครื่องเสวยเสร็จแล้ว ส่งเครื่องต้นของพระราชาไปแล้ว ส่วนพระองค์เอง ทรงหาบกระเช้าเครื่องเสวยของพวกพระราชธิดา เสด็จขึ้นไปยังปราสาท ที่ประทับของพระนางประภาวดี พระนางได้ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์เจ้า นั้น ทรงหาบกระเช้าเครื่องกระยาเสวย เสด็จขึ้นปราสาทมา จึงทรงพระดำริว่า พระเจ้ากุสราชนี้ มากระทำการงาน ที่พวกทาสและกรรมกรจะพึงกระทำ ช่างไม่สมควรแก่พระองค์เลย ก็ถ้าเราจักนิ่งเฉยเสียสัก ๒, ๓ วัน เธอก็จะ มีความสำคัญว่า บัดนี้ พระนางประภาวดีนี้ปรารถนาเรา ก็จะไม่ไปไหน มองดูแต่เรา จักอยู่ในที่นี้ทีเดียว บัดนี้ เราจักด่าว่าพระองค์เสียเลยไม่ให้อยู่ในที่นี้ แม้แต่เพียงชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักให้ทรงหนีไป พระนางทรงเปิดพระทวารแง้ม

 
  ข้อความที่ 41  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 235

ไว้ครึ่งหนึ่ง ทรงเอาพระหัตถ์ข้างหนึ่งยึดบานประตูไว้ อีกบานหนึ่ง ทรงใส่ลิ่มเสียแล้ว ตรัสพระคาถาที่ ๒ ว่า

พระองค์ทรงนำหาบใหญ่ มาด้วยพระทัยอันไม่ซื่อตรง จักต้องทรงเสวยทุกข์มาก ทั้งกลางวันและ กลางคืน ขอเชิญพระองค์เสด็จกลับไป ยังกุสาวดีนครเสียโดยเร็วเถิด หม่อมฉันไม่ปรารถนาให้พระองค์ ผู้มีผิวพรรณชั่วอยู่ในที่นี้.

เนื้อความแห่งคาถานั้น มีอธิบายดังต่อไปนี้ ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์เป็นผู้ปรุงภัตตาหาร มิได้ทรงทำการงานนี้ แม้แก่บุคคลผู้ตีศีรษะของพระองค์ให้แตก ด้วยจิตอันซื่อตรง แต่ทรงนำหาบให้หาบหนึ่งมาเพื่อ ประโยชน์แก่เรา ด้วยจิตอันไม่ซื่อตรง จักเสวยความทุกข์ใหญ่ทั้งกลางวัน กลางคืน และในกาลอันเป็นส่วนแห่งราตรี จะมีประโยชน์อะไรด้วยความ ลำบากที่ท่านได้รับอยู่นั้น ขอเชิญท่านกลับไปยังเมืองกุสาวดี อันเป็นเมืองของพระองค์เสียเถิด ขอจงไปสถาปนานางยักษิณี ซึ่งมีหน้าและทรวดทรง คล้ายกับขนมเบื้องเสมอเช่นกันกับพระองค์แล้ว ทรงเสวยราชสมบัติเถิด ส่วนตัวหม่อมฉัน ไม่ปรารถนาที่จะให้ท่านผู้มีผิวพรรณอันชั่วช้า ผู้มีทรวดทรงอัน ไม่งดงามอยู่ในที่นี้ต่อไป.

พระโพธิสัตว์เจ้านั้น ทรงดีพระทัยว่า เราได้รับถ้อยคำจากสำนักของ พระนางประภาวดีแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถา ๓ พระคาถาว่า

ประภาวดีเอ๋ย พี่ติดใจในผิวพรรณของเธอ จึงจะจากที่นี้ไปยังเมืองกุสาวดีไม่ได้ พี่มีความพอใจใน การเห็นเธอ จึงได้ละทิ้งบ้านเมืองมารื่นรมย์อยู่ในพระ

 
  ข้อความที่ 42  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 236

ราชนิเวศน์ อันน่ารื่นรมย์ของพระเจ้ามัททราช ดูก่อน น้องประภาวดี พี่ติดใจในผิวพรรณของเธอจนลุ่มหลง เที่ยวไปยังพื้นแผ่นดิน พี่ไม่รู้จักทิศว่า พี่มาแล้วจากที่ไหน พี่หลงใหลในตัวเธอ ผู้มีดวงเนตรอันแจ่มใส ดุจดวงตามฤค ผู้ทรงภูษากรองทอง และห้อยสังวาลย์ทอง ดูก่อนพระน้องนางผู้มีตะโพกอันผึ่งผาย พี่มีความต้องการแต่ตัวเธอเท่านั้น พี่ไม่ต้องการด้วย พระราชสมบัติเลย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รมามิ (มารื่นรมย์) คือยินดียิ่ง แต่มิได้กระสัน. บทว่า สนฺมุฬฺหรูโป (ลุ่มหลง) ได้แก่ เป็นผู้ลุ่มหลงเพรียบด้วยกิเลส. บทว่า ตยิมฺหิ มตฺโต (พี่หลงไหลในตัวเธอ) ความว่า พี่เป็นผู้มัวเมาในตัวเธอ คือเป็นผู้เมาจนทั่วในตัวเธอ. บทว่า โสวณฺณจีรวสเน (ผู้ทรงภูษากรองทอง) คือผู้นุ่งผ้าอันขจิตด้วยทอง. บทว่า นาหํ รชฺ- เชน มตฺถิโก (พี่ไม่ต้องการด้วยพระราชสมบัติเลย) ความว่า จะมีความต้องการด้วยราชสมบัติก็หามิได้.

เมื่อพระโพธิสัตว์เจ้านั้น ตรัสอย่างนี้แล้ว พระนางเจ้าจึงทรงพระดำริ ว่า เราด่าว่าพระเจ้ากุสราช ด้วยหวังว่าจักให้เธอเจ็บแสบ แต่พระเจ้ากุสราช พระองค์นี้ กลับพูดเกี่ยวพันอีก ก็ถ้าเธอจักบอกกล่าวขึ้นว่า เราเป็นพระเจ้ากุสราช แล้วเข้ามาจับมือเรา ใครจะห้ามเธอได้ ใครจะพึงได้ยินถ้อยคำของเรา ทั้งสองนี้ได้ จึงทรงปิดพระทวารใส่ลิ่มแล้ว เสด็จเข้าข้างใน. ส่วนพระโพธิสัตว์เจ้านั้น ก็ทรงหาบกระเช้าเครื่องเสวยไปเที่ยวแจกภัตตาหาร ให้พระราชธิดาทั้งหลายได้เสวยแล้ว. พระนางประภาวดี ทรงส่งนางค่อมไปด้วยพระดำรัสว่า เธอจงไปนำเอาภัตรที่พระเจ้ากุสราชปรุงแล้วมา. นางค่อมนั้น นำมาแล้ว กราบทูลว่า ขอพระแม่เจ้าจงเสวยเถิด. พระนางตรัสว่า ฉันจะไม่ขอยอม

 
  ข้อความที่ 43  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 237

บริโภคภัตรที่พระเจ้ากุสราชนั้นปรุงแล้ว เธอจงบริโภคเสียเองเถิด จงนำเอา ผักที่ตนได้มาแล้ว จัดแจงหุงต้มภัตร นำมาให้เราแทน และเรื่องที่พระเจ้า กุสราชติดตามมา เธออย่าไปบอกแก่ใครๆ นะ.

จำเดิมแต่นั้นมา นางค่อมก็นำเอาเครื่องเสวยอันเป็นส่วนของพระนางเจ้า มาบริโภคเสียเอง นำเอาอาหารที่เป็นส่วนของตน น้อมเข้าไปถวายพระนางแทน. จำเดิมแต่นั้นมา แม้พระเจ้ากุสราช ก็มิได้ทรงทอดพระเนตร เห็นพระนางอีกเลย จึงทรงพระราชดำริว่า พระนางประภาวดี ยังมีความ เสน่หาในตัวเรา หรือว่าไม่มีกันหนอ จำเราจักทดลองดูพระนาง. พระโพธิสัตว์เจ้านั้น ครั้นทรงให้พระราชธิดาทุกพระองค์เสวยเสร็จแล้ว จึงหาบกระเช้าเครื่องเสวยออกมา พอมาถึงประตูพระตำหนักของพระนาง ก็ทรงกระทืบพื้นปราสาทด้วยพระบาท กระแทกภาชนะทั้งหลายทรงทอดถอนพระทัยใหญ่ ทำเป็นประหนึ่งว่าถึงวิสัญญีสลบ ทรงคู้งอพระองค์ล้ม กลิ้งลงไป ด้วยเสียงที่พระโพธิสัตว์เจ้านั้นทรงทอดถอนพระทัยใหญ่ พระนางจึงทรงเปิดพระทวารออกมา ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์นั้นถูกไม้คาน หาบเครื่องเสวยทับเอา จึงทรงดำริว่า พระเจ้ากุสราชนี้ เป็นพระราชาผู้เลิศ ในชมพูทวีปทั้งสิ้น ได้ทรงเสวยความลำบากทั้งกลางคืนและกลางวัน เพราะ อาศัยเรา และเพราะพระองค์เป็นสุขุมาลชาติ จึงถูกหาบเครื่องเสวยทับเอาแล้ว ล้มลง พระองค์ยังมีพระชนม์อยู่หรือสิ้นพระชนม์เสียแล้วหนอ. พระนางจึง เสด็จออกจากพระตำหนัก ทรงก้มพระศอลงดูพระพักตร์ เพื่อจะตรวจพระวาโย ที่ช่องพระนาสิกของพระเจ้ากุสราชนั้น. พระเจ้ากุสราชนั้น ทรงอมพระเขฬะ ไว้เต็มพระโอฐ แล้วถ่มรดไปที่พระสรีระของพระนาง. พระนางกริ้วต่อพระเจ้ากุสราชนั้นมาก ทรงด่าพระองค์แล้ว เสด็จเข้าไปยังพระตำหนัก ทรงปิดพระทวารเสียครั้งหนึ่งแล้ว ประทับยืนอยู่ ตรัสพระคาถาว่า

 
  ข้อความที่ 44  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 238

ดูก่อนพระเจ้ากุสราช ผู้ใดปรารถนาคนที่เข้าไม่ปรารถนาตน ผู้นั้นย่อมมีแต่ความไม่เจริญ หม่อมฉันไม่รักพระองค์ พระองค์ก็จะให้หม่อมฉันรัก เมื่อเขาไม่รัก พระองค์ยังปรารถนาให้เขารัก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภูติ หมายถึงความไม่เจริญ.

ฝ่ายพระเจ้ากุสราชนั้น แม้จะถูกพระนางด่าว่า ก็มิได้ทรงทำความเดือดร้อนใจให้บังเกิดขึ้นเสีย เพราะเหตุพระทัยปฏิพัทธ์ในพระนาง จึงตรัสพระคาถาอันเป็นลำดับต่อไปว่า

นรชนใด ได้คนที่เขาไม่รักตัว หรือคนที่รักตัว มาเป็นที่รัก เราสรรเสริญการได้ในสิ่งนี้ ความไม่ได้ ในสิ่งนั้นเป็นความชั่วช้า.

เมื่อพระเจ้ากุสราชตรัสอยู่อย่างนี้ก็ตาม พระนางก็มิได้ทรงลดละ กลับตรัสพระวาจาแข็งกระด้างยิ่งขึ้น ทรงปรารถนาที่จะให้พระเจ้ากุสราชนั้น เสด็จหนีไปเสียให้พ้น จึงตรัสพระคาถาอันเป็นลำดับต่อไปว่า

พระองค์ทรงปรารถนาซึ่งหม่อมฉัน ผู้ไม่ปรารถนา เปรียบเหมือนพระองค์เอาไม้กรรณิการ์มาแคะ เอาเพชรในหิน หรือเหมือนเอาตาข่ายมาดักลมฉะนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กณิการสฺส ทารุนา คือไม้แห่งต้น กรรณิการ์. บทว่า พาเธสิ คือปิด ได้แก่ บังลม.

พระราชา ได้ทรงสดับพระดำรัสนั้นแล้ว จึงตรัสพระคาถา ๓ คาถาว่า

หินคงฝังอยู่ในหฤทัยอันมีลักษณะอ่อนละมุน ละไม ของเธอเป็นแน่ เพราะตั้งแต่ฉันมาจากชนบท ภายนอก ยังไม่ได้ความชื่นชมจากเธอเลย แม่ราชบุตร

 
  ข้อความที่ 45  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 239

ยังทำหน้านิ่วคิ้วขมวดมองดูฉันอยู่ตราบใด ฉันก็คงต้องเป็นพนักงานเครื่องต้นภายในบุรี ของพระเจ้ามัททราชอยู่ตราบนั้น ต่อเมื่อใดแม่ราชบุตรียิ้มแย้มแจ่มใส มองดูฉัน ฉันก็จะเลิกเป็นพนักงานเครื่องต้น กลับไปเป็นพระเจ้ากุสราชเมื่อนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า. มุทุลกฺขเณ (อันมีลักษณะอ่อนละมุนละไม) ได้แก่ หฤทัยของเธอ ประกอบด้วยลักษณะแห่งหญิงผู้อ่อนโยน. บทว่า โย คือ โย อหํ. บทว่า ติโรชนปทาคโต (ตั้งแต่ฉันมาจากชนบทภายนอก) ความว่า ตั้งแต่ฉันมาจากแว่นแคว้นภายนอกอยู่ในวังของเธอ ยังไม่ได้ความชื่นชมแม้แต่เพียงการต้อนรับเลย ฉันจึงเข้าใจอย่างนี้ว่า เธอคงเอาหินเข้าไปวางไว้ในหัวใจของเธอเป็นแน่ เพราะเธอห้ามการบังเกิด ขึ้นแห่งความรักในตัวฉันเสียได้. บทว่า ภูกุฏึ กตฺวา (ทำหน้านิ่วคิ้วขมวด) ได้แก่ ทำหน้าผาก ยืนยู่ยี่เหมอนเถาวัลย์ด้วยความโกรธ. บทว่า อาฬาริโก (พนักงานเครื่องต้น) ความว่า พระเจ้า กุสราชตรัสว่า ในขณะนั้น ฉันก็คงเป็นพนักงานเครื่องต้น คล้ายกับทาสผู้ ปรุงภัตรในภายในบุรี ของพระเจ้ามัททราช ฉะนั้น. บทว่า อุมฺหายมานา (ยิ้มแย้มแจ่มใส) ได้แก่ แสดงอาการร่าเริง คือยิ้มแย้มแจ่มใส. บทว่า ราชา โหม (กลับเป็นพระเจ้ากุสราช) ความว่า ในขณะนั้น ฉันก็จะเป็นเหมือนพระราชาผู้เสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครกุสาวดี เพราะเหตุไร น้องจึงหยาบคายอย่างนี้ ดูก่อนพระนางผู้เจริญ ทั้งแต่นี้ต่อไป ขอพระน้องนางอย่าได้ทรงกระทำแบบนี้อีกเลยนะ.

พระนางได้ทรงสดับพระดำรักสของพระเจ้ากุสราชนั้นแล้ว จึงทรงดำริ ว่า พระเจ้ากุสราชนี้ยิ่งพูดยิ่งติดแน่นหนักขึ้น เราจักพูดมุสาวาท ให้ท้าวเธอ หนีไปเสียจากที่นี้โดยอุบาย จึงตรัสคาถาว่า

 
  ข้อความที่ 46  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 240

ก็ถ้าถ้อยคำของโหรทั้งหลาย จักเป็นจริงไซร้ พระองค์คงไม่ใช่พระสวามีของหม่อมฉันแน่แท้ เขาเหล่านั้น คงจะบั่นเราออกเป็น ๗ ท่อนแน่.

เนื้อความแห่งพระคาถานั้น มีอธิบายว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พวกหมอดูเป็นอันมาก เมื่อถูกถามว่า พระเจ้ากุสราชเป็นพระสวามีของฉันหรือไม่เป็น ดังนี้ พวกหมอดูเหล่านั้น ก็จะทำนายว่า ทราบว่าท่านทั้งหลาย จงบั่นเราออกเป็น ๗ ท่อนเถิด ท่านจักไม่เป็นพระสวามีของฉันเป็นแน่แท้.

พระราชา ได้ทรงสดับถ้อยคำนั้นแล้ว เมื่อจะทรงคัดค้านพระนาง จึงตรัสว่า ดูก่อนพระนางผู้เจริญ หากว่าฉันจะถามหมอดูในบ้านเมืองของฉันบ้าง พวกหมอดูเหล่านั้นต้องพยากรณ์ว่า ขึ้นชื่อว่า พระสวามีของเธอ นอกจาก พระเจ้ากุสราช ผู้มีพระสุรเสียงดุจราชสีห์แล้ว จะเป็นคนอื่นไปไม่มีเลย แม้ฉันเอง ก็ต้องกล่าวกะพวกญาติและมิตรของฉันอย่างนี้เหมือนกัน ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถาต่อไปอีกว่า

ก็ถ้าถ้อยคำของโหรเหล่าอื่น หรือของหม่อมฉัน จักเป็นจริงไซร้ พระสวามีของเธอ นอกจากพระเจ้ากุสราช ผู้มีพระสุรเสียงดุจราชสีห์ จะเป็นคนอื่นไปไม่มีเลย.

เนื้อความแห่งพระคาถานั้น มีอธิบายว่า ก็ถ้าถ้อยคำของพวกหมอดู เหล่าอื่นเป็นความจริง ขึ้นชื่อว่า พระสวามีของเธอจะเป็นคนอื่นไปไม่ได้เลย.

พระนางทรงสดับถ้อยคำของพระเจ้ากุสราชนั้นแล้ว จึงทรงดำริว่า เราไม่สามารถที่จะให้พระเจ้ากุสราชนี้ ทรงละอายหรือหนีพ้นไปได้เลย พระเจ้ากุสราชนี้ จะมีประโยชน์อะไรแก่เรา จึงทรงปิดพระทวาร ไม่ทรงแสดง

 
  ข้อความที่ 47  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 241

พระองค์. แม้พระเจ้ากุสราชนั้น ก็ทรงหาบกระเช้าเครื่องเสวยกลับลงมาแล้ว ตั้งแต่นั้น ก็ไม่ได้ทรงพบเห็นพระนางได้อีกเลย. พระองค์ทรงการทำการงาน หน้าที่ผู้จัดแจงภัตร แสนจะสำบากเป็นอย่างยิ่ง เสวยภัตตาหารเช้าแล้ว ต้องทรงผ่าฟืน ล้างภาชนะใหญ่น้อยเสร็จแล้ว เสด็จไปตักน้ำด้วยหาบ เมื่อจะบรรทมก็บรรทมที่ข้างหลังรางน้ำ ตื่นบรรทมก็ตื่นแต่เช้าตรู่ทีเดียว ทรงต้มข้าวยาคูเป็นต้น ทรงหาบไปเองให้พระราชธิดาทั้งหลายเสวย แต่พระองค์ ต้องทรงเสวยทุกข์อย่างสาหัสเช่นนี้ ก็เพราะอาศัยความกำหนัด ด้วยอำนาจ ความเพลิดเพลินติดใจในกามารมณ์. วันหนึ่งพระองค์ทอดพระเนตรเห็นนาง ค่อมเดินไปข้างประตูห้องเครื่อง จึงตรัสเรียกมา แต่นางค่อมนั้นก็ไม่อาจจะ ไปเฝ้าพระองค์ได้ เพราะเธอกลัวพระนางประภาวดี จึงรีบเดินหนีไป. ลำดับนั้น พระองค์จึงรีบเสด็จติดตามไปทัน แล้วตรัสทักนางค่อมนั้นว่า ค่อมเอ๋ย. นางค่อมนั้นเหลียวกลับมายืนอยู่แล้ว ถามว่า นั่นใคร แล้วทูลว่า หม่อมฉันไม่ทัน ได้ยินว่าเป็นพระสุรเสียงของพระองค์. ลำดับนั้น พระเจ้ากุสราชจึงตรัสกะนางค่อมนั้นว่า แน่ะค่อมเอ่ย แหม! นายของเจ้าช่างจิตใจแข็งเหลือเกินนะ เรา มาอยู่ในพระราชวังของพวกเจ้าตลอดกาลเพียงเท่านี้ ยังไม่ได้แม้เพียงการถามข่าวถึงความไม่มีโรคเลย เรื่องอะไรจักให้ไทยธรรม ข้อนั้นจงยกไว้ก่อนเถิด ก็แต่ว่าเจ้าควรจักกระทำพระนางประภาวดีของเราให้ใจอ่อนแล้ว ให้ได้พบกับเราบ้างเถิด. นางค่อมรับพระราชดำรัสแล้ว. ลำดับนั้น พระเจ้ากุสราชจึงตรัส หยอกเย้านางค่อมว่า ถ้าเจ้าสามารถที่จะให้เราได้พบพระนางประภาวดีนั้นได้ เราจักทำความค่อมของเจ้าให้ตรงแล้ว จักให้สายสร้อยคอเส้นหนึ่ง ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถา ๕ พระคาถา ดังต่อไปนี้ว่า

 
  ข้อความที่ 48  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 242

แน่ะนางขุชชา เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว จักให้นายช่างทำเครื่องประดับคอทองคำให้แก่เจ้า ถ้าเจ้าทำให้พระนางประภาวดีผู้มีขาอ่อนงามดังงวงช้าง ให้แลดูเราได้ แน่ะนางขุชชา เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว จักให้นายช่างทำเครื่องประดับคอทองคำให้แก่เจ้า ถ้าเจ้าทำพระนางประภาวดีผู้มีขาอ่อนงามดังงวงช้าง ให้เจรจากับเราได้ แน่ะนางขุชชา เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว จักให้นายช่างทำเครื่องประดับคอทองคำให้แก่เจ้า ถ้าเจ้าทำพระนางประภาวดีผู้มีขาอ่อนงาม ดังงวงช้างให้ยิ้มแย้มแก่เราได้ แน่ะนางขุชชา เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว จักให้นายช่างทำเครื่องประดับคอทองคำให้แก่เจ้า ถ้าเจ้าทำพระนางประภาวดีผู้มีขาอ่อนงามดังงวงช้างให้หัวเราะร่าเริงแก่เราได้ แน่ะนางขุชชา เรากลับไปถึงกรุงกุสาวดีแล้ว จักให้นายช่างทำเครื่องประดับคอทองคำให้แก่เจ้า ถ้าเจ้าทำพระนางประภาวดีผู้มีขาอ่อนงามดังงวงช้าง ให้มาลูบคลำจับตัวเรา ด้วยมือของเธอได้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เนกฺขํ คีวนฺเต (เครื่องประดับคอทองคำให้แก่เจ้า) ความว่า เราจักให้ ช่างทำคอของเจ้า ให้เป็นทองคำทั้งหมดทีเดียว. บาลีว่า เราจักทำทองคำที่คอ ดังนี้ก็มี. อธิบายว่า เราจักประดับเครื่องประดับอันสำเร็จด้วยทองคำที่คอของ เจ้า. บทว่า โอโลเกยฺย (ให้แลดู) ความว่า ถ้าพระนางประภาวดี พึงแลดูเราตาม คำพูดของเจ้า คือ ถ้าเจ้าจักสามารถให้พระนางมองดูเราได้. แม้ในบทเป็นต้น

 
  ข้อความที่ 49  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 243

ว่า พึงให้พระนางเจรจากับเราได้ ก็มีนัยเหมือนกันนี้ทีเดียว. ส่วนในบทว่า อุมฺหาเยยฺย (ให้ยิ้มแย้ม) ความว่า พึงหัวเราะด้วยการหัวเราะเบาๆ. บทว่า ปมฺหาเยยฺย (ให้หัวเราะร่าเริง) ความว่า พึงหัวเราะด้วยการหัวเราะดังๆ.

นางค่อมนั้น ได้ฟังถ้อยคำของพระโพธิสัตว์นั้นแล้ว จึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอเชิญพระองค์เสด็จกลับไปเถิด อีกประมาณสัก ๒ - ๓ วัน หม่อมฉันจักกระทำพระนางให้อยู่ในอำนาจของพระองค์ พระองค์คอยทอดพระเนตรความพยายามของหม่อมฉันเถิด ดังนี้แล้ว จึงตรวจตราดูหน้าที่ การงานของคนนั้นเสร็จแล้ว จึงไปยังพระตำหนักของพระนางประภาวดี ทำทีเหมือนว่าปัดกวาดห้องที่ประทับของพระนาง เก็บแม้ก้อนดินที่พอจะใช้ขว้างได้ไม่ให้เหลือเลย โดยที่สุดแม้กระทั่งรองเท้า ก็นำออกไปแล้วเก็บกวาดห้องทั้งหมด จัดตั้งที่นั่งสูงคร่อมระหว่างธรณีประตูห้อง ลาดตั่งต่ำอันหนึ่งเพื่อพระนางประภาวดี แล้วทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า เชิญพระแม่เจ้าเสด็จมาเถิด หม่อมฉันจักหาเหาบนศีรษะของพระแม่เจ้าให้ แล้วเชิญให้พระนางประทับนั่งบนตั่งต่ำนั้น วางศีรษะของพระนางไว้ในระหว่างแห่งขาของตนแล้ว เลือกหาไข่เหาสักประเดี๋ยวหนึ่งก็ทูลว่า ตายจริง บนศีรษะของพระแม่เจ้านี้ มีเหามากมายเหลือเกิน แล้วหยิบเอาเหาจากศีรษะของตน ออกมาวางไว้บนพระหัตถ์ ของพระนาง แล้วทูลด้วยถ้อยคำอันเป็นที่รักว่า ขอพระแม่เจ้าจงทอดพระเนตรเหาบนศีรษะของพระแม่เจ้าซิว่า มีประมาณเท่าไร เมื่อจะกล่าวถึงคุณงามความดีของพระมหาสัตว์เจ้า (พระเจ้ากุสราช) จึงกราบทูลเป็นคาถาว่า

พระราชบุตรพระองค์นี้ คงไม่ได้ประสบแม้ความสำราญในสำนักแห่งพระเจ้ากุสราชเสียเลยเป็นแน่

 
  ข้อความที่ 50  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 244

พระนางจึงไม่ทรงกระทำ แม้เพียงการปฏิสันถาร ในบุรุษผู้เป็นเจ้าพนักงานเครื่องต้น เป็นคนรับใช้ที่ไม่ต้องการด้วยค่าจ้าง.

เนื้อความแห่งคาถานั้น มีอธิบายว่า พระราชบุตรีพระองค์นี้ ย่อมไม่ได้ความสุขสำราญแม้มีประมาณเล็กน้อย ด้วยเครื่องระเบียบดอกไม้ของหอม เครื่องลูบไล้ ผ้า และเครื่องประดับจากในพระราชวังของพระเจ้ากุสราช ผู้เป็นจอมแห่งประชาชน ในพระนครกุสาวดี ในกาลก่อนแม้สักอย่างเดียวเลย แม้วัตถุเพียงว่าหมากพลูที่พระเจ้ากุสราช จะพระราชทานแก่พระนางนี้ ก็คงจักไม่เคยมีเลย. เพราะเหตุไร? เพราะธรรมดาว่าผู้หญิงทั้งหลาย ย่อมไม่อาจที่จะทำลายหัวใจ ในสามีผู้นอนทับอวัยวะแม้ในวันหนึ่งได้. ส่วนพระราชบุตรีนี้ ย่อมไม่กระทำแม้เพียงว่าการปฏิสันถาร ในบุรุษผู้เป็นพนักงานเครื่องต้น ผู้รับจ้าง คือในบุรุษคนหนึ่ง ผู้เข้าถึงความเป็นผู้จัดแจงภัตร แสดงถึงว่าเป็นคนรับจ้าง แต่ไม่มีความต้องการแม้ด้วยราคาค่าจ้าง ละราชสมบัติมายอมเสวยทุกข์อยู่อย่างนี้ เพราะอาศัยพระแม่เจ้าผู้เดียวเท่านั้น ข้าแต่พระแม่เจ้า ถ้าแม้พระแม่เจ้าไม่มีความรัก ในพระเจ้ากุสราชนั้น พระราชาผู้เลิศเด่นในชมพูทวีปทั้งหมด ก็จะทรงลำบากเพราะอาศัยพระแม่เจ้า เพราะฉะนั้น ขอพระแม่เจ้าควรจะพระราชทานอะไรๆ สักเล็กน้อยแด่พระเจ้ากุสราชนั้นบ้างเถิด.

พระนางประภาวดี ได้ทรงสดับถ้อยคำนั้นแล้ว ก็ทรงโกรธกริ้วต่อนางค่อม. ลำดับนั้น นางค่อมจึงคว้าพระนางที่พระศอจับเหวี่ยงเข้าไปในห้อง ส่วนตนยืนอยู่ข้างนอกปิดประตูแล้ว ฉุดเชือกสำหรับชักลูกดาลมาเก็บไว้. พระนางประภาวดีไม่อาจจะทรงจับเชือกนั้นได้ ประทับยืนอยู่ที่ใกล้พระทวาร เมื่อไม่อาจจะทรงเปิดประตูได้ จึงตรัสพระคาถานอกนี้ว่า

 
  ข้อความที่ 51  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 245

นางขุชชานี้ เห็นจะไม่ต้องถูกตัดลิ้นด้วยมีดอัน คมเป็นแน่ จึงมาพูดคำหยาบช้าอย่างนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุนิสิเตน (อันคม) ได้แก่ ด้วยมีดอันคมกริบ ที่ลับไว้แล้ว เป็นอย่างดี. บทว่า เอวํ ทุพฺภาสิตํ (พูดคำหยาบช้าอย่างนี้) ความว่า นางชุชชานี้ มากล่าวอยู่ซึ่งถ้อยคำอันเป็นทุพภาษิต ไม่สมควรที่ใครๆ จะพึงฟังได้อย่างนี้.

ลำดับนั้น นางค่อมก็ยังคงถือเชือกสำหรับชักดาลยืนอยู่นั่นแลทูลว่า ข้าแต่แม่เจ้าผู้หาบุญมิได้ ผู้ว่ายาก รูปร่างของท่านจักกระทำอะไรได้ เราทั้งหลายจักกินรูปร่างของท่านเลี้ยงชีวิตได้หรือ เมื่อจะประกาศคุณงามความดี ของพระโพธิสัตว์เจ้า ด้วยคาถา ๑๓ คาถา จึงกล่าวคาถาอันมีนามว่า ขุชชา ครรชิต (ถ้อยคำข่มขู่ของนางค่อม) ดังต่อไปนี้

ข้าแต่พระนางประภาวดี พระนางอย่าทรงเทียบ พระเจ้ากุสราชนั้น ด้วยพระรูปอันเลอโฉมของพระนางซิ ข้าแต่พระนางผู้มีความรุ่งเรือง พระนางจงกระทำไว้ในพระทัยว่า พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้น ทรงมีพระอิสริยยศอันเกรียงไกร แล้วจงกระทำความ รักในพระเจ้ากุสราช ผู้มีความงามชนิดนี้ ข้าแต่พระนางประภาวดี พระนางอย่าทรงเทียบพระเจ้ากุสราชพระองค์นั้น ด้วยพระรูปอันเลอโฉมของพระนางซิ ข้าแต่พระนางผู้มีความรุ่งเรือง พระนางจงกระทำไว้ในพระทัยว่า พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้น ทรงมีพระราชทรัพย์เป็นอันมาก ข้าแต่พระนางประภาวดี พระนางอย่าทรงเทียบพระเจ้ากุสราช

 
  ข้อความที่ 52  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 246

พระองค์นั้น ด้วยพระรูปอันเลอโฉมของพระนางซิ ข้าแต่พระนางผู้มีความรุ่งเรือง พระนางจงกระทำไว้ ในพระทัยว่า พระเจ้า กุสราชนั้นทรงมีทแกล้วทหาร มาก... ทรงมีพระราชอาณาจักรกว้างใหญ่... ทรงเป็นพระมหาราช... ทรงมีพระสุรเสียงเหมือนเสียงราชสีห์... ทรงมีพระสุรเสียงไพเราะ... ทรงมีพระสุรเสียงหยดย้อย... ทรงมีพระสุรเสียงกลมกล่อม... ทรงมีพระสุรเสียงอ่อนหวาน... ทรงชำนาญทางศิลปะตั้งร้อยอย่าง... ทรงเป็นกษัตริย์... พระแม้เจ้าประภาวดี พระนางอย่าทรงเทียบพระเจ้ากุสราชพระองค์นั้น ด้วย พระรูปอันเลอโฉมของพระนางซิ พระนางจงกระทำ ไว้ในพระทัยว่า พระราชาพระองค์นั้น มีพระนาม เหมือนกับหญ้าคา ที่ท้าวสักกะทรงประทานแล้ว จงกระทำความรักในพระเจ้ากุสราช ผู้มีความงามอันนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มา นํ รูเปน ปาเมสิ อาโรเหน ปภาวติ (ข้าแต่พระนางประภาวดี พระนางอย่าทรงเทียบพระเจ้า กุสราชพระองค์นั้น ด้วยพระรูปอันเลอโฉมของพระนางซิ) ความว่า แน่ะพระนางประภาวดี แม่อย่าได้เปรียบเทียบพระเจ้า กุสราช ผู้เป็นจอมแห่งชนด้วยความเลอเลิศ และความเสื่อมโทรม ด้วยพระรูป ของตนอย่างนี้ คือว่า จงถือเอาประมาณอย่างนี้. บทว่า มหายโส (พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้นทรงมีพระอิสริยยศใหญ่) ความว่า แม่จงทำไว้ในพระทัยอย่างนี้ว่า พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้น ทรงมีอานุภาพ มาก. บทว่า รุจิเร (ผู้มีความงามอันนี้) ได้แก่ ในการเห็นสิ่งอันเป็นที่รัก. บทว่า กรสฺสุ (จงกระทำไว้ในพระทัย) ความว่า นางค่อมกล่าวว่า แม่เจ้าจงกระทำตัวให้เป็นที่รักแก่พระเจ้ากุสราชนั้น. ในข้อความทั้งหมดก็มีนัยเหมือนกันนี้ทีเดียว. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า มหายโส (ทรงมีพรธอิสริยยศใหญ่)

 
  ข้อความที่ 53  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 247

ได้แก่ มีบริวารมากมาย. บทว่า มหทฺธโน ได้แก่ มีโภคะมากมาย. บทว่า มหพฺพโล ได้แก่ มีเรี่ยวแรงมาก. บทว่า มหารฏฺโ ได้แก่ มีรัฐไพบูลย์. บทว่า มหาราชา ได้แก่ เป็นพระราชาผู้เลิศเด่นในชมพูทวีปทั้งสิ้น. บทว่า สีหสฺสโร ได้แก่ มีเสียงเสมอด้วยเสียงแห่งราชสีห์. บทว่า วคฺคุสฺสโร ได้แก่ มีเสียงประกอบด้วยลีลาศ. บทว่า พินฺทุสฺสโร ได้แก่ มีเสียงกลม ไม่แตก. บทว่า มญฺชุสฺสโร ได้แก่ มีเสียงดี. บทว่า มธุรสฺสโร ได้แก่ มีเสียงอันประกอบด้วยความอ่อนหวาน. บทว่า สตสิปฺโป ได้แก่ พระองค์ ที่ศิลปะตั้งหลายร้อยอย่าง ซึ่งมิได้ทรงศึกษาในสำนักของชนเหล่าอื่น สำเร็จ ขึ้นเองโดยกำลังความสามารถของพระองค์เอง. บทว่า ขตฺติโย ได้แก่ เป็น กษัตริย์ผู้บริสุทธิ์ไม่ได้เจือปน เกิดแล้วในเชื้อสายแห่งพระเจ้าโอกกากราช. บทว่า กุสราชา (ทรงมีพระนามเหมือนกับหญ้าคา) ได้แก่ พระองค์เป็นพระราชามีพระนามเสมอด้วยหญ้าคา ที่ท้าวสักกเทวราชประทาน. จริงอยู่ นางค่อมกล่าวว่า ขอพระนางจงรู้เถิดว่า ขึ้นชื่อว่าพระราชาองค์อื่น ผู้มีรูปเห็นปานนี้ไม่มีเลย ดังนี้แล้ว จงกระทำ ความรักแก่พระเจ้ากุสราชนี้ แล้วกล่าวถ้อยคำพรรณนาคุณงามความดีของ พระเจ้ากุสราชนั้น ด้วยคาถาทั้งหลายมีประมาณเท่านี้.

พระนางประภาวดี ทรงได้สดับคำของนางค่อมนั้นแล้ว จึงทรงตวาด นางค่อมว่า แน่ะแม่ค่อม เจ้าออกจะข่มขู่เกินไปแล้ว เราถึงอยู่ด้วยมือจักให้ รู้ความที่เจ้ามีสามี แม้นางค่อมนั้นข่มขู่พระนางแล้ว ด้วยเสียงอันดังว่า หม่อม ฉันรักษาพระนางอยู่ มิได้กราบทูลว่าพระเจ้ากุสราชเสด็จมา แก่พระราชบิดา ของพระนาง เอาละ ถึงอย่างไร ในวันนี้หม่อมฉันจักกราบทูลให้พระราชา ทรงทราบ แม้พระนางทรงดำริว่า ใครๆ พึงได้ยิน จึงตกลงยินยอมนางค่อม.

ลำดับนั้น แม้พระโพธิสัตว์เจ้า เมื่อไม่ได้เห็นพระนาง ทรงลำบากอยู่ ด้วยพระกระยาหารที่ไม่ดี ด้วยการบรรทมอย่างลำบาก จึงทรงดำริว่า นางค่อม

 
  ข้อความที่ 54  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 248

นี้ จะมีประโยชน์อะไรแก่เรา เราอยู่มาตั้ง ๗ เดือนแล้ว ยังไม่ได้เห็นพระนางเลย นางค่อมนี้ ช่างหยาบคายร้ายกาจเสียเหลือเกิน เราจักไปเยี่ยมพระราช มารดาและพระราชบิดาละ ในขณะนั้นท้าวสักกเทวราช ทรงรำพึงอยู่ ก็ทรงทราบว่า พระโพธิสัตว์นั้นทรงเบื่อหน่ายระอาพระทัย จึงทรงดำริว่า พระราชา ไม่ได้เห็นพระนางประภาวดีมาถึง ๗ เดือน เราจักทำให้พระราชาได้เห็นสมประสงค์ จึงทรงเนรมิตบุรุษทั้งหลาย ให้เป็นทูตไปยังพระราชา ๗ พระนคร ทรงส่งข่าวสาสน์ไปเฉพาะแก่พระราชาแต่ละองค์ว่า พระนางประภาวดี ทรงละทิ้งพระเจ้ากุสราชกลับมาแล้ว ถ้าพระองค์มีพระประสงค์ ก็จงเสด็จมารับเอาพระนางประภาวดีไปเถิด พระราชาทั้ง ๗ พระนครเหล่านั้น จึงพากัน มาพร้อมด้วยบริวารใหญ่ เสด็จถึงกรุงสาคละต่างก็มิได้ทรงทราบถึงเหตุที่ต่างฝ่ายต่างมาของกันและกัน พระราชาเหล่านั้น ต่างตรัสถามกันว่า พระองค์เสด็จ มาทำไม ครั้นทรงทราบเรื่องราวนั้น ต่างองค์ก็ทรงพิโรธพระเจ้ามัททราช พระองค์นั้น ตรัสกันว่า ได้ยินว่า พระเจ้ามัททราช จักยกลูกสาวคนเดียวให้ แก่พระราชา ๗ พระนคร ท่านทั้งหลายจงดูความประพฤติอันไม่สมควรของ พระราชานั้น พระองค์ช่างมาเยาะเย้ยพวกเราได้ เราทั้งหลายจงช่วยกันจับท้าว เธอให้ได้เถิด ดังนั้น ทุกๆ พระองค์จึงส่งพระราชสาสน์เข้าไปว่า พระเจ้ามัททราช จงให้พระนางประภาวดีแก่พวกเรา หรือว่าจะต่อยุทธ์ แล้วยกพลล้อมพระนครเข้าไว้ พระเจ้ามัททราช ทรงสดับพระราชสาสน์ ก็ตกพระทัย พระกายสั่น จึงตรัสเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมาตรัสถามว่า เราจะทำอย่างไรกันดี ลำดับนั้น อำมาตย์ทั้งหลาย จึงกราบทูลพระองค์ว่า ขอเดชะ พระราชาแม้ทั้ง ๗ พระองค์ เสด็จมาเพราะอาศัยพระนางประภาวดี ต่างพระองค์ก็ตรัสว่า ถ้าพระเจ้ามัททราชไม่ให้พระนาง เราทั้งหลายจักพังกำแพงเมืองเข้ามาสู่พระนคร จักยังพระเจ้ามัททราชนั้น ให้ถึงความสิ้นชีวิตแล้ว จักพาเอาพระนาง

 
  ข้อความที่ 55  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 249

ประภาวดีนั้นไป ดังนั้นเมื่อกำแพงยังไม่ทันจะพังนี้แหละ พวกเราควรจะรีบ ส่งพระนางประภาวดีไปให้กษัตริย์เหล่านั้นเสียก่อน ดังนี้แล้ว จึงกราบทูลคาถา นี้ว่า

ช้างเหล่านี้ทั้งหมด เป็นสัตว์แข็งกระด้างตั้งอยู่ เหมือนจอมปลวก จะพากันพังกำแพงเข้ามาเสียก่อน ขอพระองค์จงส่งข่าว แก่พระราชาเหล่านั้นว่า เชิญเสด็จนานำเอาพระนางประภาวดีนี้ไปเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปถทฺธา (เป็นสัตว์แช็งกระด้าง) ได้แก่ เป็นสัตว์เข้มแข็งยิ่งนัก. บทว่า อาเนเตตํ ปภาวติ (นำเอาพระนางประภาวดีนี้ไปเถิด) ความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์ จงส่งพระราชสาสน์นี้ไปว่า เชิญเสด็จมารับพระนางประภา วดีนี้ไปเถิด เพราะ ฉะนั้น ขอพระองค์จงรีบส่งพระนางประภาวดีไปถวายพระราชาเหล่านั้นเสียก่อน ที่ช้างเหล่านั้น ยังไม่ทำลายกำแพงเมืองเข้ามา.

พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงตรัสว่า ถ้าเราส่งนางประภาวดีไปให้แก่กษัตริย์องค์หนึ่ง กษัตริย์ที่เหลือ ก็จักกระทำการรบ เราไม่อาจที่จะให้แก่กษัตริย์เมืองเดียวได้ ก็นางประภาวดีนี้ทิ้งพระราชาผู้เลิศในชมพูทวีปทั้งสิ้นมาเสีย ด้วยรังเกียจว่า เป็นผู้มีรูปร่างน่าเกลียด บัดนี้จงรับผลของการกลับมานั้นเถิด เราจักฆ่านางเสียแล้วตัดออกเป็น ๗ ท่อน ส่งไปให้แก่พระราชา ๗ พระองค์ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถาเป็นลำดับต่อไปว่า

เราจะบั่นนางประภาวดีนี้ออกเป็นเจ็ดท่อน แล้วจักให้แก่กษัตริย์ผู้เสด็จมา ณ ที่นี้เพื่อจะฆ่าเรา.

ถ้อยคำของพระเจ้ามัททราชนั้น ได้ปรากฏไปทั่วพระราชนิเวศน์ทั้งสิ้น นางบริจาริกาทั้งหลาย ก็เข้าไปทูลแด่พระนางประภาวดีว่า ได้ยินว่า พระราชา

 
  ข้อความที่ 56  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 250

จะทรงบั่นพระแม่ออกเป็น ๗ ท่อนแล้ว ส่งไปให้พระราชา ๗ พระนคร, พระนางทรงสดับคำนั้นแล้ว ก็ทรงหวาดกลัวย่อมรณภัย เสด็จลุกจากที่ประทับ มีพระภคินีทั้งหลายแวดล้อมแล้ว เสด็จไปยังพระตำหนักของพระมารดา.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า

พระราชบุตร ผู้มีผิวผ่องดังทองคำ ทรงผ้าโกไสยพัสตร์ มีพระเนตรนองด้วยน้ำตา อันหมู่ทาสีแวดล้อม เสด็จไปยังพระตำหนักของพระมารดา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สามา (ดั่งทองคำ) ได้แก่ มีผิวพรรณดุจทองคำ. บทว่า โกเสยฺยวาสินี (ทรงผ้าไหม) ได้แก่ นุ่งผ้าที่ทอด้วยไหมอันแซมขจิตด้วยทองคำ.

พระนางเสด็จไปเฝ้าพระมารดาแล้ว ถวายบังคมพระมารดา ทรงกำสรวลสะอึกสะอื้น กราบทูลว่า

ข้าแต่พระมารดา หน้าของลูกอันผัดแล้วด้วยแป้ง ส่องแล้วที่กระจกเงา งดงาม มีดวงเนตรคมคาย ผุดผ่องเป็นนวลใย จักถูกกษัตริย์ทั้งหลาย โยนทิ้งเสีย ในป่าเป็นแน่แล้ว ฝูงแร้ง ก็จะพากันเอาเท้ายื้อแย่ง ผมของลูกอันดำ มีปลายงอน ละเอียดอ่อน ลูบไล้ ด้วยน้ำมันหอมแก่นจันทน์ ในท่ามกลางป่าช้าอัน เปรอะเปื้อนเป็นแน่. แขนอ่อนนุ่นทั้งสองของลูกอันมีเล็บแดง มีขนละเอียด ลูบไล้ด้วยจุณจันทน์ ก็จะถูกกษัตริย์ทั้งหลาย ตัดทิ้งเสียในป่า และฝูงกาก็จะโฉบ คาบเอาไปตามความปรารถนาเป็นแน่ สุนัขจิ้งจอกมาเห็นถันทั้งสองของลูก เช่นกับผลตาลอันห้อยอยู่ ซึ่ง

 
  ข้อความที่ 57  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 251

ลูบไล้ด้วยกระแจะจันทน์แคว้นกาสี ก็จะยืนคร่อมที่ถันทั้งสองของลูกเป็นแน่ เหมือนลูกอ่อนที่เกิดแต่ตนของมารดา ตะโพกอันกลมผึ่งผายของลูก ผูกรัดด้วยสร้อยสะอิ้งทอง ก็จะถูกกษัตริย์ทั้งหลายตัดเป็นชิ้นๆ แล้วโยนทิ้งไปในป่า ฝูงสุนัขจิ้งจอก ก็จะพากันมาฉุดคร่าไปกิน ฝูงสุนัขป่า ฝูงกา ฝูงสุนัขจิ้งจอกและสัตว์ที่มีเขี้ยวเหล่าอื่น ซึ่งมีอยู่ได้กินนางประภาวดีแล้ว คงไม่รู้จักแก่กันเป็นแน่ ข้าแต่พระมารดา ถ้ากษัตริย์ทั้งหลายผู้มาแต่ที่ไกล ได้นำเอาเนื้อของลูกไปหมดแล้ว พระมารดาได้ทรงโปรดขอเอากระดูกมาเผาเสียในระหว่างทางใหญ่ ขอพระมารดาได้สร้างสวนดอกไม้แล้ว จงปลูกต้นกรรณิการ์ในสวนเหล่านั้น ข้าแต่พระมารดา ในกาลใด ดอกกรรณิการ์เหล่านั้นเบ่งบานแล้ว ในเวลาหิมะตกในฤดูเหมันต์ ในกาลนั้น ขอพระมารดา พึงระลึกถึงลูกว่า ประภาวดีมีผิวพรรณ อย่างนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กกฺกูปนิเสวิตํ (อันผัดแล้วด้วยแป้ง) ความว่า ผัดแล้วด้วยแป้งสำหรับผัดหน้า ๕ อย่างเหล่านี้คือ สาสปกักกะ แป้งที่ทำด้วยเมล็ดพันธุ์ ผักกาด ๑ โลณกักกะ แป้งที่ทำด้วยเกลือ ๑ มัตติกกักกะ แป้งที่ทำด้วยดิน ๑ ติลกักกะ แป้งที่ทำด้วยเมล็ดงา ๑ หลิททกักกะ แป้งที่ทำด้วยขมิ้น ๑. บทว่า อาทาสทนฺตาถรุปจฺจเวกฺขิตํ (ส่องแล้วที่กระจกเงา) ได้แก่ ส่องแล้วที่กระจกมีด้ามอันทำด้วยงา คือ มองดูที่กระจกนั้นแล้วแต่งตัว. บทว่า สุภํ (งดงาม) ได้แก่ มีใบหน้าอันงดงาม.

 
  ข้อความที่ 58  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 252

บทว่า วิรชํ ได้แก่ ปราศจากละออง คือหมดมลทินเครื่องเศร้าหมอง. บทว่า อนงฺคณํ (เป็นนวลใย) ได้แก่ เว้นจากโทษมีฝีและสิวเป็นต้น. บทว่า ฉุฑฺฑํ (ถูก... โยนทิ้ง) ความว่า ข้าแต่พระมารดา ใบหน้าของลูกสวยออกอย่างนี้ คงจะถูกพวกกษัตริย์ทั้งหลาย โยนทิ้งเสียในบัดนี้เป็นแน่. บทว่า วเน (ในป่า) คือ ในราวป่า. พระนางคร่ำครวญว่า หน้าของพระนางจักทิ้งอยู่ในป่า. บทว่า อสิเต (อันดำ) ได้แก่ ดำเป็นมันขลับ. บทว่า เวลฺลิตคฺเค (มีปลายงอน) ได้แก่ มีปลายงอนขึ้นข้างบน. บทว่า สีวถิกาย (ป่าช้า) คือในสุสาน. บทว่า ปริกฑฺฒยนฺติ (ยื้อแย่ง) ความว่า พวกแร้งทั้งหลาย ที่ชอบเคี้ยวกินเนื้อมนุษย์ ก็จะเอาเท้าทั้ง ๒ ตะกุยยื้อแย่งผมของลูกซึ่งงามถึงเพียงนี้เป็นแน่. บทว่า คยฺห ธํโก คจฺฉติ เยน กามํ (ฝูงกาก็จะโฉบคาบเอาไปตามความปรารถนาเป็นแน่) ความว่า ข้าแต่พระมารดา นกชื่อว่า ธังกะ จักโฉบเอาแขนของลูกที่สวยออกอย่างนี้ไปจิกกินแล้ว จักบินไปตามความปรารถนา. บทว่า ตาลูปนิเภ (เช่นกับผลตาล) ได้แก่ คล้ายกับผลตาลมีสีเหลืองดุจทอง. บทว่า กาสิกจนฺทเนน (ซี่งลูบไล้ด้วยกระแจะจันทร์แคว้นกาสี) ได้แก่ ลูบไล้แล้วด้วยจุณไม้จันทน์มีเนื้ออันละเอียด. บทว่า ถเนสุ เม (ที่ถันทั้ง๒ของลูก) ความว่า ข้าแต่พระมารดา สุนัขจิ้งจอกมาเห็นนมทั้ง ๒ ข้างของลูกงามออกอย่างนี้ ซึ่งตกอยู่ในสุสาน ก็จะเอาปากกัดคร่อมลงที่นมทั้ง ๒ ข้าง ของลูกนั้นเป็นแน่แท้ ประดุจลูกอ่อนของมารดาผู้เกิดแต่ตนของตน ฉะนั้น. บทว่า โสณี (ตะโพก) คือ แผ่นสะเอว. บทว่า สุโกฏฺฏิตํ (ผี่งผาย) ได้แก่ ที่บุคคล เอาไม้คางโคทุบแต่งจนงามดี. บทว่า อวตฺถํ (โยนทิ้ง) คือทิ้งแล้ว. บทว่า ภกฺขยิตฺวา (กิน) ความว่า ข้าแต่พระมารดา สัตว์ทั้งหลายมีจำนวนเท่านี้เหล่านี้ เคี้ยวกินเนื้อ ของลูกแล้ว จักไม่แก่เป็นแน่แท้. บทว่า สเจ มํสานิ หาเรสุํ (ถ้า... นำเอาเนื้อของลูกไปหมอแล้ว) ความว่า ข้าแต่พระมารดา ถ้าพวกกษัตริย์เหล่านั้น ยังมีจิตปฏิพัทธ์ผูกพันในลูก พึงแล่เนื้อของลูกออก เมื่อเป็นเช่นนั้น พระมารดาจงขอเอากระดูกมา. บทว่า อนุปนฺเถ ทหาถ นํ (เผาเสียในระหว่างทางใหญ่) ความว่า พระนางประภาวดีทูลว่า ขอพระมารดา พึงเผาลูกเสียในระหว่างแห่งทางเล็กและทางใหญ่. บทว่า เขตฺตานิ (สวนดอกไม้) ความว่า

 
  ข้อความที่ 59  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 253

ข้าแต่พระมารดา ขอให้พระมารดาจงสร้างสวนดอกไม้ขึ้น ในบริเวณสถานที่ ที่เผาศพของลูกแล้ว. บทว่า เอตฺถ (ในสวนเหล่านั้น) ความว่า พึงปลูกต้นกรรณิการ์ทั้งหลาย ในบริเวณเนื้อที่เหล่านั้นด้วย. บทว่า หิมจฺจเย (ในเวลาหิมะตก) ได้แก่ ในเดือน ๔ ที่พ้นจากหิมะตกแล้ว. บทว่า สเรยฺยาถ (พึงระลึกถึง) ความว่า พระมารดาพึงเอาดอกไม้เหล่านั้นบรรจุจนเต็มผอบแล้ว วางไว้ ณ พระเพลา แล้วพึงระลึกว่า ประภาวดี ลูกของเรา มีผิวพรรณดังดอกกรรณิการ์ ดังนี้.

พระนางประภาวดีนั้นถูกมรณภัยคุกคามแล้ว จึงทรงบ่นเพ้ออยู่บน พระตำหนักของพระมารดา ด้วยประการฉะนี้. ฝ่ายพระเจ้ามัททราชก็ตรัสสั่ง อำมาตย์ให้ถือขวานและระฆังแล้ว ทรงบังคับว่า นายเพชฌฆาตผู้ฆ่าโจร จงมาในที่นี้เดี๋ยวนี้ การที่นายเพชฌฆาตนั้นเข้ามา ก็ปรากฏทั่วไปในเรือนหลวงทั้งสิ้น. ลำดับนั้น พระมารดาของพระนางประภาวดีทรงสดับว่า นายเพชฌฆาตนั้นมาแล้ว ก็เสด็จลุกจากอาสนะ ทรงเพรียบพร้อมด้วยความเศร้าโศก ได้เสด็จไปยังพระสำหนักของพระราชา.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า

พระมารดาของพระนางประภาวดีเป็นขัตติยานี มีพระฉวีวรรณดุจดังเทพอัปสร ได้ประทับยืนอยู่แล้ว ทอดพระเนตรเห็นดาบและธนู วางอยู่ตรงพระพักตร์ พระเจ้ามัททราชภายในบุรี.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทฏฺฐาสิ (ได้ประทับยืนอยู่แล้ว) ความว่า พระนางเสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ เสด็จไปยังพระตำหนักของพระราชาแล้ว ประทับยืนอยู่. บทว่า ทิสฺวา อสิญฺจ สูณญฺจ (ทอดพระเนตรเห็นดาบและเขียง) ความว่า พระนางทอดพระเนตรเห็นขวานและธนู ที่เขาวางไว้บนพื้นใหญ่ข้างพระพักตร์พระราชา อันประดับประดาแล้ว ณ ภายในบุรี จึงทรงรำพันอยู่ตรัสพระคาถาว่า

 
  ข้อความที่ 60  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 254

พระองค์จะทรงฆ่าพระธิดาของหม่อมฉัน บั่นให้เป็นท่อนๆ ด้วยดาบนี้ แล้วจะประทานแก่กษัตริย์ทั้งหลาย แน่หรือเพค่ะ.

คำว่า ดาบ ในคาถานั้น พระองค์ตรัสประสงค์ถึงขวาน. จริงอยู่ ขวานนั้นชื่อว่าดาบ ในที่นี้. บทว่า สุสญฺํ ตนุมชฺฌิมํ (บั่นให้เป็นท่อนๆ) ได้แก่ ฟันให้ เป็นท่อนถึงกลางตัว.

ลำดับนั้น พระราชาเมื่อจะทรงให้พระเทวีนั้นรู้สำนึก จึงตรัสว่า ดูก่อนพระเทวี ท่านพูดอะไร ก็พระธิดาของท่านมาทอดทิ้งพระราชาผู้เลิศใน ชมพูทวีปทั้งสิ้น ด้วยรังเกียจว่า มีรูปร่างชั่วช้า เมื่อหนทางที่มายังไม่พินาศทีเดียว ก็พาเอาความตายมาโดยหน้า ผาก บัดนี้ จงรับผลแห่งความเป็นอิสระ เพราะอาศัยรูปของตนเถิด. พระนางได้ทรงสดับพระราชดำรัสของท้าวเธอแล้ว จึงเสด็จไปยังพระตำหนักของพระธิดา ทรงรำพันเพ้อตรัสว่า

พระลูกน้อยเอ๋ย พระราชบิดาไม่ทรงกระทำตามคำของแม่ผู้ใคร่ประโยชน์ เจ้านั้นจะเปรอะเปื้อนโลหิต ไปสู่สำนักพระยายมในวันนี้ ถ้าบุรุษผู้ใดไม่ทำตามคำของบิดามารดาผู้เกื้อกูลมองเห็นประโยชน์ บุรุษผู้นั้น ย่อมได้รับโทษอย่างนี้ และจะต้องเข้าถึงโทษที่ลามกกว่า ในวันนี้ ถ้าลูกจะทรงไว้ซึ่งกุมาร ทรงโฉมงดงามดังสีทอง เป็นกษัตริย์เกิดกับพระเจ้ากุสราช สวมสร้อยสังวาลย์แก้วมณีแกมทอง อันหมู่พระญาติบูชา แล้วไซร้ ลูกก็จะไม่ต้องไปยังสำนักของพระยายม ลูกหญิงเอ๋ย เสียงกลองชัยเภรีดังอยู่อึงมี่ และเสียง

 
  ข้อความที่ 61  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 255

ช้างร้องก้องอยู่ ในตระกูลแห่งกษัตริย์ทั้งหลายใด ลูกเห็นอะไรเล่าหนอที่มีความสุขยิ่งกว่าตระกูลนั้น จึงได้มาเสีย เสียงม้าศึกคึกคะนอง ร้องคำรนอยู่ที่ประตู เสียงกุมารร้องรำทำเพลงอยู่ ในตระกูลกษัตริย์ทั้งหลาย ลูกเห็นอะไรเล่าหนอ ที่มีความสุขยิ่งไปกว่าตระกูลนั้น จึงได้มาเสีย ในตระกูลแห่งกษัตริย์ทั้งหลาย มีนกยูง นกกระเรียนและนกดุเหว่า ส่งเสียงร้องก้องเสนาะ ไพเราะจับใจ ลูกเห็นอะไรเล่าหนอที่จะมีความสุขยิ่งไปกว่าตระกูลนั้น จึงได้มาเสีย.

ในคาถานั้น พระเทวีตรัสเรียกพระนางประภาวดีนั้นว่า ดูก่อนลูกน้อย ดังนี้. คำนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้ ในวันนี้เจ้าจะกระทำอะไรในที่นี้ เจ้าไปในวังของสามี ย่อมมัวเมาด้วยความเมาในรูป. เพราะฉะนั้น พระราชบิดาจึงไม่ยอมกระทำตามคำของแม่ แม้จะอ้อนวอนอยู่อย่างนี้ ในวันนี้ เจ้านั้นจะต้อง เปื้อนด้วยโลหิตไปสู่สำนักพระยายม คือไปสู่ภพแห่งพระยามัจจุราช. บทว่า ปาปิยญฺจ (โทษที่ลามก กว่า) ได้แก่ ย่อมเข้าถึงโทษอันชั่วช้ากว่าโทษที่ได้รับอยู่นี้อีกด้วย. บทว่า สเจว อชฺช ธาเรสิ (ในวันนี้ ถ้าลูกจะทรงไว้) ความว่า แน่ะแม่ ถ้าเจ้าไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งจิตใจ ก็จะได้พระโอรส มีรูปโฉมงดงามดังสีทองเหมือนกับรูปร่างของตัว ซึ่งได้แล้ว เพราะอาศัยพระเจ้ากุสราชผู้เป็นจอมแห่งชน. บทว่า ยมกฺขยํ (ยังสำนักพญายม) ความว่า แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้าก็จะไม่ต้องไปสู่นิเวศน์แห่งพระยายม. บทว่า ตโต (กว่าตระกูลนั้น) ความว่า ในตระกูลแห่งกษัตริย์ใด มีความสนุกสนานเพลิดเพลินถึงเพียงนี้ เจ้าเห็นอะไรเล่า ที่มีความสุขยิ่งไปกว่าสถานที่เช่นนั้น คือแต่ราชตระกูลกุสาวดี ที่ครึกครื้นอยู่ด้วยเสียงแห่งกลองชัย และเสียงคึกคะนองร้องคำรนแห่งช้างและ

 
  ข้อความที่ 62  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 256

นกกระเรียนในระหว่างทาง จึงได้มาเสียในที่นี้. บทว่า หสิสติ (คึกคนองร้องคำรนอยู่) แปลว่า ร้องดังก้อง. บทว่า กุมาโร (กุมาร) ได้แก่ กุมารคนธรรพ์นักฟ้อนรำ ซึ่งศึกษา ชำนาญดีแล้ว. บทว่า อุปโรทติ (ร้องรำทำเพลงอยู่) ได้แก่ ถือเอาดนตรีชนิดต่างๆ แล้วทำ การขับร้อง. บทว่า โกกิลาภินิกุชฺชิเต (นกดุหว่าส่งเสียงร้องก้องเสนาะไพเราะจับใจ) ความว่า ในตระกูลแห่งพระเจ้ากุสราช มีพวกนกกาเหว่าทั้งหลายร้องระงมอยู่ ประหนึ่งเซ็งแซ่ไปด้วยการบำรุงบำเรอด้วยการฟ้อนรำขับร้องประโคม อันเป็นไปตลอดเวลาเย็น และ เวลาเช้า.

พระเทวีนั้น ทรงเจรจากับพระนางประภาวดี ด้วยคาถามีประมาณเท่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงทรงดำริว่า ถ้าในวันนี้ พระเจ้า กุสราชผู้เป็นจอมแห่งชน พึงประทับอยู่ในที่นี้ไซร้ ก็จะทรงออกตีพระราชาทั้ง ๗ พระนครเหล่านี้ ให้แตกหนีไป พึ่งเปลื้องเสียซึ่งพระลูกของเรา ให้พ้นจากความทุกข์ แล้วพึงพาลูกของเรากลับไป แล้วตรัสคาถาว่า

พระเจ้ากุสราชพระองค์ใด ผู้มีพระปรีชาอย่าง ยอดเยี่ยม ผู้ย่ำยีกษัตริย์ทั้ง ๗ พระนคร ทรงปราบปราม แคว้นอื่นให้พ่ายแพ้ พึงทรงปลดเปลื้องเราทั้งหลาย ให้พ้นจากทุกข์ได้ พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่ไหนหนอ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โสฬารปญฺาโณ ได้เก่ ผู้มีปัญญายิ่ง.

ในลำดับนั้น พระนางประภาวดีจึงทรงดำริว่า เมื่อมารดาของเรา พรรณนาคุณของพระเจ้ากุสราชอยู่ ปากย่อมไม่เพียงพอ เราจักบอกว่าพระเจ้ากุสราชนั้นทรงทำการงาน ในหน้าที่พนักงานห้องเครื่องต้น ประทับอยู่ในที่นี้นั่นแหละ แด่พระมารดานั้นก่อน จึงทูลเป็นคาถาว่า

 
  ข้อความที่ 63  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 257

พระเจ้ากุสราชพระองค์ใด ผู้มีพระปรีชาอย่าง ยอดเยี่ยม ผู้ย่ำยีกษัตริย์ทั้ง ๗ พระนคร ทรงปราบปราบแคว้นอื่นให้พ่ายแพ้ จักทรงกำจัดกษัตริย์เหล่านั้น ทั้งหมดได้ พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้น ประทับอยู่ ที่นี่แหละเพค้ะ.

ลำดับนั้น พระมารดาของพระนางประภาวดีนั้น จึงทรงดำริว่า ลูกเราคนนี้ เห็นจะหวาดกลัวต่อมรณภัย จึงละเมอเพ้อไป ดังนี้แล้ว จึงตรัสเป็น พระคาถาว่า

เจ้าเป็นบ้าไปแล้วหรือไร จึงได้พูดอย่างนี้ หรือ ว่าเจ้าเป็นอันธพาล จึงได้พูดอย่างนี้ ถ้าพระเจ้ากุสราช พึงเสด็จมาจริง ทำไมพวกเราจะไม่รู้จักพระองค์เล่า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พาลา ได้แก่ เป็นผู้โง่เขลาไม่มีความรู้. บทว่า กึ น ชาเนมุ (ทำไม... จึงไม่รู้จัก) ความว่า เพราะเหตุไร แม่จึงไม่รู้จักพระองค์. ด้วยว่า พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้น เพียงแต่ได้เสด็จมาถึงกลางทางเท่านั้น ก็จะต้องส่งพระราชสาส์นมาถึงยังพวกเรา เสนาประกอบไปด้วยองค์ทั้ง ๔ มีธงชักขึ้นไสว ก็ต้องปรากฏ ก็ลูกกล่าวถึงพระเจ้ากุสราชพระองค์นั้น เพราะกลัวตาย กระมัง.

เมื่อพระมารดาตรัสอย่างนี้ พระนางประภาวดีจึงทรงดำริว่า พระมารดาของเราไม่ยอมเชื่อ และไม่ทรงทราบว่าพระเจ้ากุสราชพระองค์นั้น เสด็จมาประทับอยู่ในที่นี้ถึง ๗ เดือนแล้ว เราจักแสดงพระเจ้ากุสราชนั้นแก่ พระมารดา จึงจับพระหัตถ์พระมารดา ทรงเปิดบานพระแกล ทรงยื่นพระหัตถ์ ออกไปแล้ว ทรงชี้ให้ทอดพระเนตร พร้อมกราบทูลเป็นพระคาถาว่า

 
  ข้อความที่ 64  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 258

พระเจ้ากุสราชนั้น ทรงปลอมพระองค์เป็นบุรุษ พนักงานเครื่องต้น ทรงพระภูษาหยักรั้งมั่นคง กำลัง ก้มพระองค์ล้างหม้ออยู่ ในระหว่างพระตำหนักของ พระกุมารทั้งหลายเพค้ะ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุมารีปุรมนฺตเร (ในระหว่างพระตำหนักของพระกุมารีทั้งหลาย) ความว่า จงประทับ ยืนที่หน้าต่าง ทอดพระเนตรไปในระหว่างพระตำหนักของเหล่ากุมารีผู้เป็น พระราชธิดาของพระองค์เถิด. บทว่า สํเวลํ (พระภูษาหยักรั้ง) ความว่า กำลังนุ่งหยักรั้ง ล้างหม้ออยู่.

ได้ยินว่า ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าทรงพระดำริว่า วันนี้ ความปรารถนาของเราคงถึงที่สุด พระนางประภาวดีกลัวตายหนักเข้า คงทูลพระมารดาและพระบิดาให้ทรงทราบว่า เรามาอยู่ที่นี่เป็นแน่แท้ เราจะจัดแจงล้าง ถ้วยชามแล้ว จักเก็บไว้ ดังนี้แล้ว จึงเสด็จไปตักน้ำมาแล้ว ก็ลงมือล้างถ้วยชามทั้งหลายอยู่ ลำดับนั้นพระมารดาจึงบริภาษพระนาง ตรัสเป็นพระคาถาว่า

เจ้าเป็นหญิงชั่วช้าจัณฑาลหรือ หรือว่าเจ้าเป็นหญิงประทุษร้ายตระกูล เจ้าเกิดแล้วในตระกูลพระเจ้ามัททราช เหตุใดจึงทำพระสวามีให้เป็นทาส.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวณี (เป็นหญิงชั่วช้า) ได้แก่ ช่างถาก. บทว่า อาทูสิ กุลคนฺธินี (หรือว่าเจ้าเป็นหญิงประทุษร้ายตระกุล) ได้แก่ หรือว่าเจ้าเป็นหญิงประทุษร้ายตระกูล. บทว่า กามุกํ (เหตุใด) ความว่า เจ้าเกิดในตระกูลเห็นปานนี้ เหตุไรจึงได้ทำพระสวามีของตนให้เป็น ทาสเล่า.

ในลำดับนั้น พระนางประภาวดี ทรงพระดำริว่า พระมารดาของเรา เห็นจะไม่ทรงทราบว่า พระเจ้ากุสราชนี้ เสด็จมาประทับอย่างนี้ เพราะอาศัยเรา จึงทูลคาถานอกนี้ว่า

 
  ข้อความที่ 65  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 259

หม่อมฉันไม่ได้เป็นหญิงชั่วช้าจัณฑาล ไม่ใช่ เป็นหญิงประทุษร้ายตระกูล นั่นพระเจ้ากุสราช พระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช ขอความเจริญจงมีแด่ พระมารดา แต่พระมารดาทรงเข้าพระทัยว่า เป็นทาส.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอกฺกากปุตฺโต (นั่นพระเจ้ากุสราชโอรสของพระเจ้าโอกกากราช) ความว่า ข้าแต่พระ มารดา นั่นคือพระโอรสแห่งพระเจ้าโอกกากราช แต่พระแม่เจ้าทรงเข้าพระทัยว่าเป็นทาส หม่อมฉันจะเรียกพระเจ้ากุสราชนั้นว่า เป็นทาสเพราะเหตุอะไร. บัดนี้ พระนางประภาวดี เมื่อจะทรงพรรณนาถึงพระเกียรติยศของพระเจ้ากุสราชพระองค์นั้น จึงทูลว่า

ขอความเจริญจงมีแด่พระมารดา พระราชาพระองค์ใด ทรงเชื้อเชิญพราหมณ์สองหมื่นคนให้บริโภค ภัตตาหาร ในกาลทุกเมื่อ พระราชาพระองค์นั้น คือ พระเจ้ากุสราชพระโอรสแห่งพระเจ้าโอกกากราช แต่ว่าพระมารดาเข้าพระทัยว่าเป็นทาส ขอความเจริญจงมีแด่พระมารดา เจ้าพนักงานทั้งหลาย เตรียมช้างไว้ สองหมื่นเชือก ในกาลทุกเมื่อ เพื่อพระราชพระองค์ใด พระราชาพระองค์นั้น คือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช แต่ว่าพระมารดาเข้าพระทัยว่าเป็นทาส ขอความเจริญจงมีแด่พระมารดา เจ้าพนักงานทั้งหลาย เตรียมรถไว้สองหมื่นคัน ในกาลทุกเมื่อ เพื่อพระราชา พระองค์ใด พระราชาพระองค์นั้น คือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช แต่ว่าพระมารดาเข้าพระทัยว่า

 
  ข้อความที่ 66  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 260

เป็นทาส ขอความเจริญจงมีแด่พระมารดา เจ้าพนักงานทั้งหลาย เตรียมรีดนมโคไว้สองหมื่นตัว ในกาลทุกเมื่อ เพื่อพระราชาพระองค์ใด พระราชาพระองค์นั้น คือพระโอรสของพระเจ้าโอกกากราช แต่ว่าพระมารดาเข้าพระทัยว่า เป็นทาส.

ก็เมื่อพระนางประภาวดีนั้น ทรงพรรณนาถึงพระอิสริยยศ ของพระ มหาสัตว์ด้วยคาถา ๕ คาถาอย่างนี้แล้ว ลำดับนั้น พระมารดาของพระนาง ก็ทรงเชื่อ ด้วยทรงพระดำริว่า ลูกสาวของเราคนนี้ กล่าวถ้อยคำย่างไม่สะทกสะท้าน ถ้อยคำนี้คงเป็นอย่างนี้แน่ จึงรีบเสร็จไปยังพระตำหนักของพระราชา กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ ท้าวเธอก็เสด็จไปยังพระตำหนักของ พระนางประภาวดีโดยด่วน ตรัสถามว่า เป็นความจริงหรือลูก ได้ยินว่า พระเจ้ากุสราช เสด็จมาในที่นี้ พระนางประภาวดี กราบทูลว่า เป็นความจริงเช่นนั้น ข้าแต่พระบิดา พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้น ทรงทำหน้าที่พนักงานเครื่องต้นแก่พระธิดาทั้งหลายของพระองค์ ถึงวันนี้ล่วงไปได้ ๗ เดือนแล้ว ท้าวเธอยังไม่ทรงเชื่อพระนาง จึงตรัสถามนางค่อม นางก็กราบทูลตามความเป็นจริงทุกประการ พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว เมื่อจะทรงติเตียนพระธิดา จึงตรัสพระคาถาว่า

ดูก่อนเจ้าผู้เป็นพาล เจ้ากระทำกรรมอันชั่วร้ายเหลือเกิน ที่เจ้าไม่บอกพ่อว่า พระเจ้ากุสราชผู้เป็น กษัตริย์ มีทแกล้วทหาร มาก ผู้เป็นพระยาช้าง มาด้วย เพศแห่งกบ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตตฺถ (เหลือเกิน) คือ โดยส่วนเดียวเท่านั้น.

 
  ข้อความที่ 67  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 261

พระราชาพระองค์นั้น ครั้นทรงติเตียนพระธิดาแล้ว ก็รีบเสด็จไปยัง สำนักของพระโพธิสัตว์นั้นโดยด่วน ทรงมีปฏิสันถารอันพระโพธิสัตว์ทรงกระทำแล้ว จึงทรงประคองอัญชลี เมื่อจะทรงแสดงโทษของพระองค์ จึงตรัส พระคาถาว่า

ข้าแต่พระมหาราชผู้จอมทัพ ขอพระองค์ได้ทรง พระกรุณาโปรดงดโทษแก่หม่อมฉันด้วย ที่ไม่ทราบ ว่าพระองค์เสด็จมาในที่นี้ ด้วยเพศที่ไม่มีใครรู้จักด้วยเถิด.

พระมหาสัตว์เจ้า ทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงทรงพระดำริว่า ถ้าเราจัก กล่าวคำตัดพ้อต่อว่าขึ้น หัวใจของท้าวเธอ ก็จักแตกเสียในที่นี้เป็นแน่ เราควรจักเอาใจท้าวเธอไว้ ประทับยืนอยู่ในระหว่างภาชนะทีเดียว ตรัสคาถานอกนี้ว่า

คนเช่นหม่อมฉัน มิได้ปกปิดเลย หม่อมฉันนั้น เป็นพนักงานเครื่องต้น พระองค์เท่านั้นทรงเลื่อมใสแก่หม่อมฉัน ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ แต่พระองค์ไม่มีกรรมชั่วช้า ที่หม่อมฉันจะต้องอดโทษ.

พระราชา ทรงได้รับปฏิสันถารจากสำนักของพระโพธิสัตว์เจ้านั้นแล้ว จึงเสด็จขึ้นสู่ปราสาท รีบตรัสสั่งให้หาพระนางประภาวดีมาเฝ้า ทรงหวังจะส่งไปเพื่อต้องการให้อดโทษ จึงตรัสคาถาว่า

ดูก่อนเจ้าคนพาล เจ้าจงไปขอขมาโทษพระเจ้า กุสราช ผู้มีกำลังมากเสียเถิด พระเจ้ากุสราชที่เจ้าขอมาแล้ว จักประทานชีวิตให้เจ้า.

 
  ข้อความที่ 68  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 262

พระนางประภาวดีนั้น ได้สดับพระดำรัสของพระบิดาแล้ว จึงพร้อมด้วยพระภคินีทั้งหลาย และพวกนางบริจาริกาเป็นจำนวนมาก เสด็จไปยังสำนัก ของพระโพธิสัตว์นั้น ฝ่ายพระโพธิสัตว์เจ้านั้น ประทับยืนด้วยเพศแห่งคนล้างหม้อเช่นนั้นแล ทรงทราบว่า พระนางประภาวดีนั้น เสด็จมายังสำนักของพระองค์ จึงทรงพระดำริว่า วันนี้เราจักทำลายมานะของแม่ประภาวดี ให้นางหมอบลงในโคลนใกล้เท้าของเราให้จงได้ จึงทรงราดน้ำที่พระองค์ตักมาทั้งหมด ทรงเหยียบย่ำที่ประมาณเท่ามณฑลแห่งลานนวดข้าว ทำให้เป็นโคลน ไปหมด พระนางประภาวดีนั้น เสด็จไปยังสำนักของพระเจ้ากุสราชผู้พระโพธิสัตว์นั้น ทรงมอบลงที่ใกล้พระบาทของพระองค์ ประทับนั่งที่โคลนแล้วทรงขอโทษพระโพธิสัตว์นั้น.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า

พระนางประภาวดี ผู้มีผิวพรรณดังเทพธิดา ทรงรับพระดำรัสของพระบิดาแล้ว ได้ซบพระเศียรลง กอดพระบาทพระเจ้ากุสราช ผู้มีพระกำลังมาก.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิรสา (พระเศียร) ความว่า พระนางประภาวดี ทรงหมอบพระเศียรลง แล้วทรงจับพระเจ้ากุสราชที่พระบาท ก็แล ครั้นทรงจับแล้ว เมื่อจะยังพระโพธิสัตว์เจ้านั้น ให้ทรงอดโทษ จึงได้ภาษิตพระคาถา ๓ คาถาว่า

ราตรีเหล่านี้ที่ล่วงไป เว้นจากพระองค์นั้นเพียงใด หม่อมฉัน ขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้าเพียงนั้น ขอพระองค์โปรดอย่าทรง พิโรธหม่อมฉันเลย หม่อมฉันขอตั้งสัตว์ปฏิญาณ

 
  ข้อความที่ 69  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 263

แก่พระองค์ โปรดทรงสดับหม่อมฉันเถิด เพค่ะ หม่อมฉันจะไม่พึงทำความชิงชัง แก่พระองค์อีกต่อไปละ ถ้าพระองค์จะไม่ทรงโปรดกระทำตามคำของหม่อมฉัน ผู้ทูลวิงวอนอยู่เช่นนี้ พระบิดาคงเข่นฆ่าหม่อมฉัน แล้วทรงประทานแก่กษัตริย์ทั้งหลาย ณ กาลบัดนี้เป็นแน่.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รตฺยา (ราตรี) ได้แก่ ทั้งกลางคืนและกลางวัน บทว่า ตา อิมา (เหล่านี้) ได้แก่ ราตรีเหล่านี้นั้นทั้งหมด ล่วงไปแล้วเว้นจากพระ องค์. บทว่า สจฺจนฺเต ปฏิชานามิ (หม่อมฉันขอตั้งสัตย์ปฎิญาณแด่พระองค์) ความว่า ข้าแต่พระมหาราช หม่อมฉัน กระทำการเกลียดชังพระองค์ ตลอดกาลมีประมาณเพียงเท่านี้ บัดนี้หม่อนฉัน จะขอปฏิญาณคำสัตย์อย่างนี้แก่พระองค์ พระองค์จงสดับถ้อยคำอื่นอีก จำ เดิมแต่นี้ไป หม่อมฉัน จักไม่กระทำการเกลียดชังพระองค์อีกต่อไป. บทว่า เอวญฺเจ (ถ้า... อย่างนี้) ความว่า ถ้าพระองค์ไม่ทรงทำตามถ้อยคำของหม่อมฉัน ผู้วิงวอนอยู่อย่างนี้.

พระราชา ได้ทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงทรงพระดำริว่า ถ้าเราจักพูดว่า เธอคนเดียวเท่านั้น จักรู้เรื่องนี้ ดังนี้ หัวใจของนางก็จักแตก เราจัก ปลอบใจเธอ แล้วจึงตรัสว่า

เมื่อพระน้องรักอ้อนวอนอยู่อย่างนี้ ไฉนพี่จัก ไม่ทำตามคำของพระน้องเล่า พี่ไม่โกรธพระน้องเลย นะคนงาม อย่ากลัวเลยประภาวดี พี่ขอตั้งสัตย์ปฏิญาณต่อพระน้อง โปรดขอจงทรงฟังพี่เถิดนะ พระราชบุตร พี่จะไม่พึงกระทำความเกลียดชัง แก่พระ

 
  ข้อความที่ 70  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 264

น้องนางอีกต่อไปละ ดูก่อนน่องประภาวดี ผู้มีตะโพกอัน กลมผึ่งผาย พี่สามารถจะทำลายตระกูลกษัตริย์มัททราช มากมายแล้ว นำพระน้องนางไปได้ แต่เพราะความ รักพระน้องนาง พี่จึงสู้ยอมทนทุกข์มากมาย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กึ น กาหามิ (ไฉนพี่จักไม่ทำ) ความว่า เพราะเหตุไร เราจึงจะไม่ทำตามคำของเธอเล่า. บทว่า วิกุทฺโธ ตฺยสฺมิ (พี่ไม่โกรธพระน้องเลย) ความว่า เราไม่ มีความโกร ไม่มีความแค้นเคืองต่อเธอเลย. บทว่า สจฺจนฺเต (สัตย์ปฎิญาณต่อพระน้อง) ความว่า เราจักขอให้ปฏิญาณคำสัตย์นี้แก่เธอสัก ๒ ข้อ คือ จะไม่ขอโกรธเคือง ๑ ไม่ทำความเกลียดชัง ๑. บทว่า ตว กามา ความว่า เพราะรักใคร่ คือ ปรารถนาเธอ. บทว่า ติติกฺขิสฺสํ (ผู้ยอมทน) แปลว่า อดทน. บทว่า พหุมทฺทกุลํ หนฺตฺวาทำลายตระกูลกษัตริย์มัททราชมากมาย) ความว่า เราสามารถที่จะฆ่าตระกูลพระเจ้ามัททราชแล้ว นำเอาเธอไปโดยพลการก็ได้.

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์เจ้านั้น ทอดพระเนตรเห็นพระนางประภาวดี พระอัครมเหสีของพระองค์ ประหนึ่งว่า เทพกัญญาผู้เป็นบริจาริกาของท้าวสักกเทวราช ก็ทรงยังขัตติยมานะให้บังเกิดขึ้น ทรงพระดำริว่า ได้ทราบว่า เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ทั้งคน พระราชาทั้งหลายเหล่าอื่น จักมาแย่งเอาพระอัครมเหสีของเราไปเชียวหรือ จึงทรงแสดงท่าทางอันสง่าเสด็จลงไปยังพระลานหลวง ประดุจราชสีห์ ทรงประกาศบันลือเปล่งเสียงโห่ร้องตบพระหัตถ์อยู่ เอ็ดอึงว่า ชาวเมืองทั้งสิ้น จงทราบเถิดว่า เรามาแล้ว ตรัสสั่งว่า บัดนี้ เราจักจับกษัตริย์ทั้ง ๗ พระนครเหล่านั้น จับให้ได้ทั้งเป็น ท่านทั้งหลายจงจัดแจงเทียมรถเป็นต้นมาให้เรา แล้วตรัสคาถาอันเป็นลำดับไปว่า

 
  ข้อความที่ 71  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 265

เจ้าพนักงานทั้งหลาย จงตระเตรียมรถและม้า อันวิจิตรด้วยเครื่องอลังการต่างๆ ให้มั่นคงแข็งแรง ท่านทั้งหลายจงเห็นความพยายามของเรา ผู้กำจัดศัตรู ทั้งหลายให้พ่ายแพ้ไปในบัดนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นานาจิตฺเต (อันวิจิตรด้วยเครื่องอลังการต่างๆ) ได้แก่ วิจิตรด้วยเครื่อง อลังการต่างๆ. บทว่า สมาหิเต (ตั้งมั่น) นี้ ท่านกล่าวหมายถึงม้าทั้งหลาย อธิบายว่า ม้าที่ฝึกหัดมาดีแล้ว ไม่พยศ. บทว่า อถ ทกฺขถ เม เวคํ (ท่านทั้งหลายจงเห็นความพยายามของเรา) ความว่า ท่านทั้งหลายจักได้เห็นความหาญศึกของเราในกาลนี้.

พระโพธิสัตว์เจ้านั้น ทรงส่งพระเจ้ามัททราชไปด้วยพระดำรัสว่า ขึ้น ชื่อว่า การจับพระราชาทั้ง ๗ พระนคร เป็นหน้าที่ของหม่อมฉันเอง พระองค์จงเสด็จไปสรงสนาน ทรงประดับร่างกายแล้ว เสด็จขึ้นไปยังปราสาทเถิด. ฝ่ายพระเจ้ามัททราช ก็ได้ทรงส่งพวกอำมาตย์ไป เพื่อทำการอุปัฏฐากพระโพธิสัตว์เจ้านั้น. พวกอำมาตย์เหล่านั้น พากันจัดแจงกั้นพระวิสูตรล้อมรอบ ที่ประตูห้องเครื่องต้นนั้นทีเดียว แล้วให้พวกเจ้าพนักงานช่างกัลบก เข้าไป ตัดพระเกศา ปลงพระมัสสุพระโพธิสัตว์เจ้านั้น. พระองค์ทรงใช้ช่างทำการปลงพระมัสสุเสร็จแล้ว ทรงสรงสนานชำระพระเศียรเกล้า ทรงประดับเครื่องแต่งตัวสำหรับกษัตริย์ทั้งหมด มีอำมาตย์ทั้งหลายห้อมล้อมเป็นบริวาร เสด็จขึ้นสู่ปราสาท ทอดพระเนตรดูไปรอบๆ ทุกทิศแล้ว ทรงปรบพระหัตถ์อยู่ ฉาดฉาน. สถานที่ที่พระองค์ทรงมองดูแล้วก็หวั่นไหว. พระองค์จึงตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงคอยดูการบุกเข้าต่อสู้กับข้าศึกของเราในบัดนี้.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า

 
  ข้อความที่ 72  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 266

ก็นารีทั้งหลาย ภายในพระราชวัง ของพระเจ้ามัททราชนั้น พากันมองดูพระโพธิสัตว์เจ้า ผู้เสด็จเยื้องกรายดุจราชสีห์ ทรงปรบพระหัตถ์เสวยพระกระยาหารถึงสองเท่าพระองค์นั้น.

คำอันเป็นคาถานั้น มีอธิบายว่า ก็พวกหญิงพากันเปิดหน้าต่าง ในภายในบุรีแห่งพระราชาแล้ว มองดูพระโพธิสัตว์เจ้านั้น ผู้ทรงเยื้องกรายและ ปรบพระหัตถ์อยู่ในที่นั้น.

ลำดับนั้น พระเจ้ามัททราช ทรงส่งช้างตัวประเสริฐ อันประดับแล้ว มีควาญช้างประจำพร้อมเสร็จไปถวาย. ท้าวเธอเสด็จขึ้นประทับบนคอช้างซึ่งมีเศวตฉัตรอันยกขึ้นแล้ว ตรัสว่า พวกท่านทั้งหลายจงพาพระนางประภาวดีมาเถิด แล้วให้พระนางประทับนั่ง ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ อันจตุรงคินีเสนา แวดล้อมเป็นกระบวนทัพ เสด็จออกทางประตูด้านทิศปราจีน ทอดพระเนตรเห็นกองทัพของข้าศึก จึงเปล่งพระสุรสีหนาทขึ้น ๓ ครั้งว่า เราคือพระเจ้ากุสราช ใครรักชีวิต ก็จงยอมอ่อนน้อมกับเราเสียเถิด แล้วได้ทรงกระทำการ ปราบปรามกษัตริย์ทั้ง ๗ พระนคร.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า

พระเจ้ากุสราช ครั้นเสด็จขึ้นประทับบนคอช้างสาร โปรดให้พระนางประภาวดีประทับเบื้องหลังแล้ว เสด็จเข้าสู่สงคราม ทรงบันลือพระสุรสีหนาท กษัตริย์ ๗ พระนคร ทรงสดับพระสุรสีหนาทของ พระเจ้ากุสราช ผู้บันลืออยู่ ถูกความกลัวแต่เสียงของพระเจ้ากุสราชคุกคามแล้ว พากันแตกหนีไป

 
  ข้อความที่ 73  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 267

เหมือนดังฝูงมฤค พอได้ยินเสียงของราชสีห์ ก็พากันหนีไป ฉะนั้น พวกพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า ผู้อันความกลัวแต่เสียงพระเจ้ากุสราชคุกคามแล้ว ก็พากันแตกตื่นเหยียบย่ำกันและกัน ท้าวสักกะจอมเทพ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ ทรงมีชัยในท่ามกลางสงครามนั้น มีพระทัยชื่นชมยินดี ทรงพระราชทานแก้วมณี อันรุ่งโรจน์ดวงหนึ่งแก่พระเจ้ากุสราช พระเจ้ากุสราชทรงชนะสงคราม ได้แก้วมณีอันรุ่งโรจน์แล้ว เสด็จประทับบนคอช้างสาร เสด็จเข้าสู่พระนคร รับสั่งให้จับกษัตริย์ ๗ พระนครทั้งเป็น ให้มัดนำเข้าถวายพระสัสสุระ ทูลว่า ขอเดชะ กษัตริย์เหล่านี้ เป็นศัตรูของพระองค์ ศัตรูทั้งหมด ซึ่งคิดจะกำจัด พระองค์เสียนี้ ตกอยู่ในอำนาจของพระองค์แล้ว เชิญทรงกระทำตามพระประสงค์เถิด พระองค์ทรงกระทำ กษัตริย์เหล่านั้นให้เป็นทาสแล้ว จะทรงปล่อย หรือจะ ทรงประหารเสีย ตามแต่พระทัยเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิปลายึสุ (พากันแตกตื่นหนีไป) ความว่า กษัตริย์เหล่านั้น ไม่อาจจะตั้งสติได้ เป็นผู้มีจิตวิปลาสแตกกระจัดกระจายไป. บทว่า กุสสทฺ ทภยฏฺฏิตา (ถูกความกลัวแต่เสียงของพระเจ้ากุสราชคุกคามแล้ว) ความว่า เป็นผู้ถูกภัยอันเกิดขึ้น เพราะอาศัยเสียงแห่งพระเจ้า กุสราชกระทบโสตประสาทแล้ว จึงเป็นผู้มีจิตอันหลงลืม. บทว่า อญฺมญฺ สฺส ฉินฺทนฺติ (พากันแตกตื่น เหยียบย่ำกันและกัน) ความว่า ฆ่าฟันเหยียบย่ำกันเอง. บาลีว่า ภินฺทึสุ (แตกพ่ายไป) ดังนี้ก็มี. บทว่า ตสฺมึ (นั้น) ความว่า ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นการบุกรบข้าศึกจนมีชัย

 
  ข้อความที่ 74  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 268

ของพระมหาสัตว์นั้น ในสงครามครั้งสำคัญ จนแตกไปด้วยอำนาจแห่งเสียง ของพระโพธิสัตว์อย่างนี้ ก็มีพระทัยยินดี จึงพระราชทานแก้วมณีดวงหนึ่ง ชื่อว่า เวโรจนะ แก่พระมหาสัตว์เจ้านั้น. คำว่า พระนคร หมายเอาบุรีคือ พระนคร บทว่า พนฺธิตฺวา (ให้มัด) ได้แก่ ใช้ผ้าสาฎกของพวกกษัตริย์เหล่านั้น นั่นเองมัดกษัตริย์เหล่านั้นเอาแขนไว้ข้างหลัง. บทว่า กามํ กโรหิ เต ตฺยา (เชิญทรงกระทำตามพระประสงค์เถิด พระองค์ทรงกระทำกษัตริญ์เหล่านั้นให้เป็นทาสแล้ว) ความว่า พระมหาสัตว์เจ้าทูลว่า ขอพระองค์จงทรงการทำตามความต้องการ ความปรารถนา ความชอบใจของพระองค์เถิด ด้วยว่ากษัตริย์เหล่านั้น พระองค์ กระทำให้เป็นทาสแล้ว.

พระราชา ตรัสว่า

กษัตริย์เหล่านี้ เป็นศัตรูของพระองค์ มิได้เป็น ศัตรูของหม่อมฉัน ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ (เป็นใหญ่) ว่าหม่อมฉัน จะทรงปล่อย หรือจะทรง ประหารศัตรูเหล่านั้นก็ตามเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตฺวญฺเว โน (พระองค์ทรงเป็นใหญ่กว่าหม่อมฉัน) ความว่า ข้าแต่พระ มหาราชเจ้า พระองค์ผู้เดียวเท่านั้น ทรงเป็นใหญ่กว่าพวกหม่อมฉัน.

เมื่อพระเจ้ามัททราชตรัสอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์จึงทรงพระดำริว่า ประโยชน์อะไร เราจะฆ่าพวกกษัตริย์เหล่านี้ การมาของกษัตริย์ทั้ง ๗ พระนคร เหล่านั้น อย่าได้เปล่าจากประโยชน์เสียเลย พระธิดาของพระเจ้ามัททราช ซึ่งเป็นพระกนิษฐภคินีของพระนางประภาวดี ก็มีอยู่ถึง ๗ พระองค์ เราจักยก พระนางให้แก่กษัตริย์ทั้ง ๗ พระนครเหล่านั้น ดังนี้แล้ว จึงตรัสคาถาว่า

พระราชธิดาของพระองค์ ล้วนทรงงดงามดังเทพ กัญญา มีอยู่ถึง ๗ พระองค์ ขอพระองค์โปรดพระราช

 
  ข้อความที่ 75  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 269

ทานแก่กษัตริย์ทั้ง ๗ นั้นองค์ละองค์ ขอกษัตริย์เหล่านั้น จงเป็นพระชามาดาของพระองค์เถิด.

พระเจ้ามัททราชทรงสดับคำนั้นแล้ว ก็เต็มพระทัยที่จะพระราชทาน พระธิดาทั้งหลายของพระองค์ จึงตรัสคาถาว่า

ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์เป็นใหญ่กว่า หม่อมฉันทั้งหลาย และแก่พวกลูกของหม่อมฉันทั้งหมด เชิญพระองค์นั่นแหละ ทรงพระราชทาน พวกลูกของหม่อมฉัน แก่กษัตริย์เหล่านั้นตามพระราช ประสงค์เถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตฺวํ โน สพฺเพสํ (พระองค์... ของหม่อมฉันทั้งหมด) ความว่า ข้าแต่ มหาราชเจ้า ผู้เป็นจอมแห่งชนชาวแคว้นกุสะ พระองค์พูดอะไร พระองค์ ผู้เดียวเป็นใหญ่เหนือพวกหม่อมฉันทั้งหมด คือ พระราชาทั้ง ๗ พระนคร เหล่านี้ด้วย เหนือหม่อมฉันด้วย และเหนือพวกลูกๆ ของหม่อมฉันเหล่านั้น ด้วย. บทว่า ยทิจฺฉสิ (ตามพระราชประสงค์) ความว่า พระองค์ทรงประสงค์พระธิดาพระองค์ใด เพื่อกษัตริย์พระองค์ใด ก็จงประทานพระธิดาองค์นั้น แก่กษัตริย์พระองค์ นั้นเถิด.

พระมหาสัตว์เจ้า จึงตรัสสั่งให้พวกเจ้าพนักงานตกแต่งพระธิดาของพระเจ้ามัททราชทั้ง ๗ พระองค์เหล่านั้น แล้วพระราชทานแก่พระราชาทั้ง ๗ พระองค์นั้น องค์ละองค์.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงได้ทรงภาษิตพระคาถา ๕ พระคาถาว่า

 
  ข้อความที่ 76  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 270

ในกาลนั้น พระเจ้ากุสราชผู้มีพระสุรเสียงดัง เสียงราชสห์ ได้ทรงยกพระราชธิดาของพระเจ้ามัททราช ประทานให้แก่กษัตริย์ ๗ พระองค์นั้นองค์ละองค์ กษัตริย์ทั้ง ๗ พระองค์ ทรงอิ่มพระทัยด้วยลาภนั้น ทรงขอบพระคุณพระเจ้ากุสรา ผู้มีพระสุรเสียงดัง เสียงราชสีห์แล้วพากันเสด็จกลับไปยัง พระนครของ ตนๆ ในขณะนั้นทีเดียว ฝ่ายพระเจ้ากุสราช ผู้มี พระกำลังมาก ทรงพาพระนางประภาวดี และดวงแก้วมณีอันงามรุ่งโรจน์ เสด็จกลับยังกรุงกุสาวดี เมื่อพระเจ้ากุสราชและพระนางประภาวดีทั้ง ๒ พระองค์ นั้น ประทับอยู่ในพระราชรถคันเดียวกัน เสด็จเข้ากรุงกุสาวดี มีพระฉวีวรรณและพระรูปพระโฉมทัดเทียมกัน มิได้ทรงงดงามยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย พระมารดาของพระมหาสัตว์ และพระชยัมบดีราชกุมารทั้ง ๒ พระองค์ ได้เสด็จไปต้อนรับถึงนอกพระนคร แล้วเสด็จกลับพระนคร พร้อมด้วยพระราชโอรส ในกาลนั้น พระเจ้ากุสสราชและพระนางประภาวดี ก็ทรงสมัครสมานกัน ได้ทรงปกครองราชอาณาจักรกุสาวดี ให้รุ่งเรืองตลอดมา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปีณิตา (ทรงอิ่มพระทัย) ได้แก่ ทรงเอิบอิ่ม. บทว่า ปายึสุ (พากันเสด็จกลับไป) ความว่า กษัตริย์เหล่านั้น เมื่อพระโพธิสัตว์ผู้เป็นจอมแห่งชนชาวกุสะ ประทานโอวาทว่า บัดนี้ ท่านทั้งหลายพึงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด ดังนี้แล้ว

 
  ข้อความที่ 77  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 271

ก็พากันกลับไป. บทว่า อคมาสิ (เสด็จกลับ) ความว่า ฝ่ายพระเจ้ากุสราช เสด็จพักอยู่ ประมาณ ๒ - ๓ วัน ก็ทูลลาพระสัสสุระว่า หม่อมฉันจักกลับไปยังพระนครของ หม่อมฉัน แล้วก็เสด็จกลับ. บทว่า เอกรเถ ยนฺตา (ประทับอยู่ในพระราชรถคันเดียวกัน) ได้แก่ พระเจ้ากุสราช และพระนางประภาวดีแม้ทั้ง ๒ พระองค์ เสด็จขึ้นสู่ราชรถคันเดียวกันเสด็จไป. บทว่า สมานา วณฺณรูเปน (มีพระฉวีวรรณและพระรูปพระโฉมทัดเทียมกัน) ความว่า ทรงทัดเทียมเสมอกันด้วยผิวพรรณ และพระรูปโฉม. บทว่า นาญฺมญฺมติโรจยุํ (มิได้ทรงงดงามยิ่งหย่อนกว่ากันเลย) ความว่า องค์หนึ่งจะงดงาม กว่าองค์หนึ่งก็หามิได้. ได้ยินว่า พระมหาสัตว์มีพระรูปโฉมงดงาม มีผิวพรรณ ดุจดังสีทอง ถึงความเป็นผู้ล้ำเลิศด้วยความงาม เพราะอานุภาพของแก้วมณี. บทว่า สํคญฺฉิ (เสด็จกลับพระนคร) ความว่า ลำดับนั้น พระมารดาของพระมหาสัตว์เจ้านั้น ทรงสดับว่า พระมหาสัตว์เสด็จกลับมา จึงให้พวกราชบุรุษตีกลองป่าวร้องไป ทั่วพระนคร แล้วทรงถือเครื่องบรรณาการเป็นอันมาก เสด็จออกไปต้อนรับ แล้วเสด็จกลับมาด้วยกัน. ก็พระเจ้ากุสราชพระองค์นั้น ทรงกระทำประทักษิณ พระนครพร้อมกับพระชนนี ตรัสให้เล่นการมหรสพสมโภช ๗ วัน แล้วเสด็จขึ้นสู่พื้นปราสาทอันประดับประดาแล้ว. พระภัสดาและพระชายาแม้ทั้ง ๒ พระองค์นั้น ก็ได้มีความสามัคคีกัน. ตั้งแต่นั้นมา พระเจ้ากุสราชและพระนางประภาวดี ก็ทรงสมัครสมานสามัคคีกัน ทรงรื่นเริงบันเทิงอยู่ ทรงปกครอง แผ่นดินให้รุ่งเรืองสุขสำราญ ตลอดพระชนมายุทั้ง ๒ พระองค์ ด้วยประการ ฉะนี้.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศ สัจจะทั้งหลาย ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้เบื่อหน่ายในธรรมวินัยรูปนั้น ก็บรรลุโสดาปัตติผล แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระชนนีและพระชนกนาถของ พระเจ้ากุสราช ในกาลนั้น คือตระกูลมหาราชในบัดนี้ ชยัมบดีราช

 
  ข้อความที่ 78  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 272

กุมารผู้เป็นอนุชาของพระเจ้ากุสราช ในกาลนั้น คือพระอานนท์ ในบัดนี้ นางค่อมคือนางขุชชุตตราอุบาสิกา ในบัดนี้ พระนาง ประภาวดี คือพระมารดาของพระราหุล ในบัดนี้ บริษัทที่เหลือใน กาลนั้นได้เป็นพุทธบริษัท ส่วนพระเจ้ากุสราชก็คือเราตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล.

จบอรรถกถากุสชาดก