พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. สุธาโภชนชาดก ว่าด้วยอาหารเป็นทิพย์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  2 ส.ค. 2564
หมายเลข  35186
อ่าน  915

[เล่มที่ 62] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 443

๓. สุธาโภชนชาดก

ว่าด้วยอาหารเป็นทิพย์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 62]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 443

๓. สุธาโภชนชาดก

ว่าด้วยอาหารเป็นทิพย์

[๒๔๙] ข้าพเจ้าไม่ซื้อ ไม่ขาย อนึ่ง แม้ความสั่งสมของข้าพเจ้า ก็ไม่มีในที่นี้ ภัตนี้มีนิดหน่อยทั้งหาได้แสนยาก ข้าวสุกแล่งหนึ่งนี้หาพอแก่เราสองคนไม่.

[๒๕๐] บุคคลควรแบ่งของน้อยให้ตามน้อย ควรแบ่งของส่วนกลางให้ตามส่วนกลาง ควรแบ่งของมากให้ตามมาก การไม่ให้ย่อมไม่ควร ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่ทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานและจงบริโภค. เพราะว่าผู้บริโภคคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 444

[๒๕๑] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้ว บริโภคโภชนะผู้เดียว พลีกรรมของผู้นั้นย่อมไร้ผล ทั้งความเพียร แสวงหาทรัพย์ของผู้นั้นก็ไร้ประโยชน์ ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่ทางแห่งพระอริยเจ้า จงให้ทานและจงบริโภค เพราะว่าผู้บริโภคคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข.

[๒๕๒] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้ว ไม่บริโภคโภชนะ แต่ผู้เดียว พลีกรรมของผู้นั้นย่อมมีผลจริง ทั้งความเพียรแสวงหาทรัพย์ของผู้นั้นก็มีประโยชน์จริง ดูก่อน โกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่ทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานและจงบริโภค เพราะว่าผู้บริโภคคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข.

[๒๕๓] บุรุษเข้าไปสู่สระแล้ว บูชาที่แม่น้ำชื่อ พหุกาก็ดี ที่สระชื่อคยาก็ดี ที่ท่าน้ำชื่อโทณะก็ดี ที่ท่าน้ำชื่อติมพรุก็ดี ที่ห้วงน้ำใหญ่ มีกระแสเชี่ยวก็ดี การบูชา และความเพียรของเขาในที่นั้นๆ ย่อมมีผล ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้ว ไม่บริโภคโภชนะแต่ผู้เดียว จะ กล่าวว่าไร้ผลนั้นไม่ได้ ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่ทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานและจงบริโภค เพราะว่าผู้บริโภคคนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 445

[๒๕๔] ผู้ใด เมื่อแขกนั่งแล้ว บริโภคโภชนะแต่ผู้เดียว ผู้นั้นเปรียบเหมือน กลืนเบ็ดอันมีสายยาว พร้อมทั้งเหยื่อ ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่ทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานและจงบริโภค เพราะว่าผู้บริโภค คนเดียวย่อมไม่ได้ความสุข.

[๒๕๕] พราหมณ์เหล่านี้มีผิวพรรณงามจริงหนอ เพราะเหตุไร สุนัขของท่านนี้จึงเปล่งรัศมีต่างๆ ได้ ข้าแต่พราหมณ์ ท่านทั้งหลายใครเล่าหนอจะบอกแก่ข้าพเจ้าได้.

[๒๕๖] ท่านทั้งสองนี้ คือ จันทเทพบุตรและ สุริยเทพบุตร ส่วนผู้นี้คือ มาตลีเทพสารถี ส่วนเราเป็น ท้าวสักกะจอมเทพชาวไตรทศ และสุนัขตัวนี้เรียกว่า ปัญจสิขเทพบุตร.

[๒๕๗] ฉิ่ง ตะโพน และเปิงมาง ย่อมปลุกเทพ บุตรผู้หลับแล้วให้ตื่นและตื่นแล้วย่อมเพลิดเพลินใจ.

[๒๕๘] ชนเหล่าใด เหล่าหนึ่ง มีความตระหนี่ เหนียวแน่น มักบริภาษสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ชนเหล่านั้นทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้แล้ว เมื่อตายแล้ว ย่อมไปสู่นรก ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งหวังสุคติตั้งอยู่ในธรรม คือ ความสำรวมและการแจกทาน ชนเหล่านั้น ทอดทิ้งร่างกายไว้ในโลกนี้แล้ว เมื่อตายไป ย่อมไปสู่สุคติ.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 446

[๒๕๙] ท่านนั้นชื่อโกสิยเศรษฐี มีความตระหนี่มีธรรมอันลามก ในชาติก่อนเป็นญาติของพวกเรา พวกเรามาแล้วในที่นี้ เพื่อประโยชน์แก่ท่านเท่านั้น ด้วยคิดว่า โกสิยะนี้อย่าได้มีธรรมอันลามกไปนรกเลย.

[๒๖๐] ก็ท่านเหล่านั้น เป็นผู้ใคร่ประโยชน์แก่ข้าพเจ้าโดยแท้ เพราะมาพร่ำสอนข้าพเจ้าอยู่เนืองๆ ข้าพเจ้านั้นจักทำตามคำที่ท่านทั้งหลายผู้แสวงหาประโยชน์กล่าวแล้วทุกประการ ข้าพเจ้านั้นจักของดเว้นจากความเป็นคนตระหนี่เสียในวันนี้แหละ อนึ่ง ข้าพเจ้าจะไม่พึงทำบาปกรรมอะไรๆ ขึ้นชื่อว่าการไม่ให้อะไรๆ จะไม่มีแก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ายังไม่ได้ให้ แล้วจะไม่ขอดื่มน้ำ ข้าแต่ท้าววาสวะ ก็เมื่อข้าพเจ้า ให้อยู่อย่างนี้ตลอดกาลทั้งปวง แม้โภคสมบัติของข้าพเจ้าจักสิ้นไป แต่นั้นข้าพเจ้าจักละกามทั้งหลาย ตามส่วนที่มีอยู่แล้วจักบวช.

[๒๖๑] เทพธิดาเหล่านั้น อันท้าวสักกะผู้ ประเสริฐกว่าเทวดารักษาแล้ว ย่อมบันเทิงอยู่ ณ ภูเขาคันธมาทน์อันเป็นภูเขาประเสริฐสุด ครั้งนั้นนารทดาบสผู้ประเสริฐ ว่าฤาษีผู้ไปได้ในโลกทั้งปวง ได้มาถือเอากิ่งไม้อันประเสริฐ มีดอกบานดีแล้ว ดอกไม้นั้น สะอาด มีกลิ่นหอม เทพยดาชาวไตรทศกระทำสักการะ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 447

เป็นดอกไม้สูงสุด อันท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าอมรเทพเสพแล้ว แต่พวกมนุษย์และพวกอสูรไม่ได้ เว้นไว้แต่ พวกเทวดา เป็นดอกไม้มีประโยชน์ สมควรแก่เทวดาเหล่านั้น ลำดับนั้น นางเทพนารี ๔ องค์ คือ นางอาสา นางศรัทธา นางศิริ และนางหิริ ผู้มีผิวพรรณ เปรียบด้วยทองคำ เป็นใหญ่กว่านางเทพนารีผู้รื่นเริง ต่างลุกขึ้นกล่าวกะนารทมุนี ผู้เป็นพราหมณ์ผู้ประเสริฐว่า ข้าแต่ท่านมหานุนีผู้ประเสริฐ ถ้าดอกปาริฉัตตะนี้ พระคุณเจ้าไม่เจาะจงแล้ว ก็ขอจงให้แก่พวกดีฉันเถิด คติทั้งปวงจงสำเร็จแก่พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงให้แก่พวกดีฉัน เหมือนท้าววาสวะฉะนั้นเถิด นารทดาบส เห็นนางเทพธิดาทั้ง ๔ มาขอดอกไม้ จึงกล่าวว่า ท่าน พูดด้วยคำชวนทะเลาะ เราไม่มีความต้องการด้วยดอกไม้เหล่านี้สักน้อยหนึ่ง บรรดาเจ้าทั้งสี่ ผู้ใดประเสริฐกว่า ผู้นั้นจงประดับดอกไม้นั้นเถิด.

[๒๖๒] ข้าแต่ท่านนารทะผู้อุดม พระคุณเจ้า นั่นแลจงพิจารณาดูพวกดิฉัน พระคุณเจ้าปรารถนา ให้แก่นางใด ก็จงให้แก่นางนั้น ก็บรรดาพวกดีฉัน พระคุณเจ้าจักให้แก่นางใด นางนั้นแหละ จักเป็นผู้ อันดีฉันทั้งหลายยกย่องว่าประเสริฐสุด.

[๒๖๓] ดูก่อนนางผู้มีกายงาม คำนี้ไม่สมควร ใครเป็นพราหมณ์ ใครกล่าวการทะเลาะ เพราะฉะนั้น

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 448

ท่านทั้งหลายจงไปทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งภูตเถิด ถ้าท่านทั้งหลายไม่ทราบในที่นี้ว่า ตนสูงสุดหรือว่าธรรมสูงสูด.

[๒๖๔] นางเทพธิดาเหล่านั้น อันนารทดาบส กล่าวแล้ว เป็นผู้โกรธแค้นอย่างยิ่ง เป็นผู้มัวเมาในผิวพรรณ พากันไปสู่สำนักของท้าวสหัสนัยน์ แล้วทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งภูตว่า ใครหนอเป็นผู้ประเสริฐ.

[๒๖๕] ท้าวปุรินททะผู้ประเสริฐกว่าเทวดา ผู้อันเทวดากระทำอัญชลี ทรงเห็นนางเทพธิดาทั้ง ๔ นั้น ผู้มีใจริษยา จึงตรัสว่า ดูก่อนเจ้าผู้งามเลิศ เจ้าทั้งปวง เป็นเช่นเดียวกัน จงยกไว้ก่อน ใครเล่าหนอได้กล่าว การทะเลาะขึ้น.

[๒๖๖] ท่านนารทมหามุนีใด ผู้เที่ยวไปในโลกทั้งปวง ผู้ตั้งอยู่ในธรรม มีความบากบั่นอย่างแท้จริง ท่านนั้นได้กล่าวกะพวกหม่อมฉัน ณ ภูเขาคันธมาทน์อัน เป็นภูเขาประเสริฐว่า ท่านทั้งหลายจงไปทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งภูตเถิด ถ้าท่านทั้งหลายไม่ทราบ ในที่นี้ว่า ตนประเสริฐหรือธรรมประเสริฐ.

[๒๖๗] ดูก่อนเจ้าผู้มีกายงาม ท่านมหามุนีมี นามว่าโกสิยะ อยู่ในป่าใหญ่โน้น ท่านไม่ให้ก่อนแล้ว ย่อมไม่บริโภคภัต ท่านพิจารณาเสียก่อนแล้วจึงให้ทาน ถ้าท่านจักให้แก่นางใด นางนั้นแลเป็นผู้ประเสริฐ.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 449

[๒๖๘] ก็ท่านโกสิยดาบสนั้นอยู่ในทิศทักษิณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ข้างหิมะวันตบรรพตโน้น ท่านหาน้ำและโภชนะได้โดยยาก ดูก่อนเทพสารถี ท่านจงนำสุธาโภชน์ไปถวายท่าน.

[๒๖๙] มาตลีเทพสารถีนั้น อันท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดารับสั่งให้แล้ว ได้ขึ้นรถเทียมด้วยม้าพันตัว เข้าไปยังอาศรมโดยเร็วพลัน เป็นผู้มีกายไม่ปรากฏ ได้ถวายสุธาโภชน์แก่มุนี.

[๒๗๐] ก็เมื่อเราบำเรอไฟที่เราบูชาแล้ว ยืนอยู่ ใกล้พระอาทิตย์อันมีแสงสว่าง บรรเทาความมืดในโลกอันสูงสุดเสียได้ ท้าววาสวะผู้ครอบงำภูตทั้งปวง หรือว่าใครหนอมาวางภัต อันขาวสะอาดลงในฝ่ามือของเรา ภัตนี้ขาวเปรียบดังสังข์ ไม่มีสิ่งอื่นเปรียบปาน น่าดู สะอาด มีกลิ่นหอมน่ารัก ยังไม่เคยมีเลย เรายังไม่เคยเห็นด้วยตาตนเองเลย เทวดาองค์ไหน เอาสุธาโภชน์มาวางบนฝ่ามือของเรา.

[๒๗๑] ข้าแต่มหามุนีผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพเจ้าอันท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพทรงใช้แล้ว จึงได้รีบนำเอาสุธาโภชน์มาถวาย พระคุณเจ้าจงรู้จักข้าพเจ้า ว่ามาตลีเทพสารถี นิมนต์พระคุณเจ้าบริโภคภัตอันอุดม อย่าห้ามเสียเลย ก็สุธาโภชน์ที่บริโภคแล้วนั้น ย่อมขจัดบาปธรรมได้ ๒ ประการ คือ ความหิว ๑ ความระหาย ๑ ความไม่ยินดี (กระสัน) ๑ ความ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 450

กระวนกระวาย ๑ ความเหน็ดเหนื่อย ๑ ความโกรธ ๑ ความเข้าไปผูกโกรธ ๑ ความวิวาท ความส่อเสียด ๑ ความหนาว ๑ ความร้อน ๑ ความเกียจคร้าน ๑ สุธาโภชน์นี้มีรสสูงสุด.

[๒๗๒] ดูก่อนมาตลี การที่ยังไม่ให้ก่อนแล้ว บริโภค ไม่สมควรแก่เรา วัตรของเราดังนี้เป็นวัตรอันอุดม อนึ่ง การบริโภคคนเดียวพระอริยเจ้าไม่บูชา และบุคคลผู้มิได้แบ่งให้ ย่อมไม่ได้ประสบความสุข.

[๒๗๓] ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นผู้ฆ่าหญิง คบหาภรรยาของชายอื่น ประทุษร้ายต่อมิตร และด่า สมณพราหมณ์ผู้มีวัตรดีงาม ชนเหล่านั้นทั้งปวงทีเดียว มีความตระหนี่เป็นที่ ๕ เป็นคนเลวทราม เพราะเหตุนั้น อาตมาไม่ได้ให้ก่อนแล้ว ไม่ดื่มแม้กระทั่งน้ำ อาตมา จักให้ทานที่ท่านผู้รู้สรรเสริญแล้ว แก่หญิงหรือชาย เพราะว่าท่านเทล่านั้นเป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ บัณฑิตยกย่องว่า เป็นผู้สะอาด และมีความสัตย์ในโลกนี้.

[๒๗๔] ลำดับนั้น นางเทพกัญญา ๔ องค์ คือ นางอาสา นางศรัทธา นางสิริ และนางหิริ ผู้มีผิวพรรณเปรียบดังทองคำ ซึ่งท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดาทรงอนุมัติส่งไปแล้ว ได้ไปยังอาศรมอันเป็นที่อยู่ของโกสิยดาบส โกสิยดาบสได้เห็นนางเทพกัญญา

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 451

ทั้งปวงนั้น ผู้บันเทิงอย่างยิ่ง มีผิวพรรณงามดังเปลวเพลิง จึงได้กล่าวกะนางเทพกัญญาทั้ง ๔ ในทิศทั้ง ๔ ต่อหน้ามาตลีเทพสารถีว่า ดูก่อนเทวดาในบุรพทิศ ท่านผู้ประดับประดาแล้ว งดงามดังดวงดาวประกายพรึกอันประเสริฐกว่าดาวทั้งหลาย ท่านมีชื่อว่า อย่างไร จงบอกไป ดูก่อนเทวดาผู้มีร่างกายคล้ายกับรูปทองคำ อาตมาขอถามท่าน ท่านจงบอกแก่อาตมา ท่านเป็นเทวดาอะไร.

[๒๗๕] ดิฉันชื่อว่าสิริเทวี ได้รับการบูชาในหมู่มนุษย์ เป็นผู้ไม่เสพสัตว์ลามกทุกเมื่อ มาสู่สำนัก ของพระคุณเจ้าเพราะความทะเลาะกันด้วยสุธาโภชน์ ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ขอพระคุณเจ้า จงแบ่งสุธาโภชน์นั้นให้ดิฉันบ้าง ข้าแต่ท่านมหามุนี ผู้สูงสุดกว่าผู้บูชาทั้งหลาย ดิฉันปรารถนาความสุขแก่นรชนใด นรชนนั้นย่อมบันเทิงด้วยกามคุณารมณ์ทั้งปวง ขอพระคุณเจ้าจงรู้จักดิฉันว่า สิริ ข้าแต่ พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ขอได้โปรดแบ่ง สุธาโภชน์นั้นให้ดิฉันบ้าง.

[๒๗๖] นรชนทั้งหลายผู้ประกอบด้วยศิลปะ วิทยา จรณะ ความรู้ และการงานของตน มีความเพียร เป็นผู้ที่ท่านละทิ้งเสียแล้ว ย่อมไม่ได้ประโยชน์อะไร ความขาดแคลนที่ท่านทำแล้วนั้นไม่ดีเลย อาตมาเห็น

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 452

นรชนผู้เป็นคนเกียจคร้านบริโภคมาก ทั้งมีตระกูลต่ำ มีรูปแปลก ดูก่อนนางสิริ บุคคลผู้มีโภคทรัพย์มี ความสุข ย่อมใช้สอยนรชนที่ท่านตามรักษาไว้ แม้จะสมบูรณ์ด้วยชาติ ให้เป็นเหมือนทาส เพราะฉะนั้น อาตมารู้จักท่าน (ว่าเป็น) ผู้ไม่มีสัจจะ ไม่รู้สิ่งที่ควร และไม่ควร แล้วคบคนผู้สมบูรณ์ด้วยศิลปะเป็นต้น เป็นผู้หลง นำผู้รู้ให้ตกไปตาม นางเทพกัญญาเช่นท่าน ย่อมไม่สมควรอาสนะและน้ำ ที่ไหนสุธาโภชน์จะ สมควรเล่า เชิญไปเสียเถิด อาตมาไม่ชอบใจท่าน.

[๒๗๗] ใครเป็นผู้มีฟันขาว สวมกุณฑล มีร่างกายอันวิจิตร ทรงเครื่องประดับอันเกลี้ยงเกลา ทำด้วยทองคำ นุ่งห่มผ้ามีสีดังสายน้ำหยด ทัดช่อดอกไม้สีแดงดังเปลวไฟไหม้หญ้าคา ย่อมงดงาม ท่านเป็นเหมือนนางเนื้อทรายที่นายพรานยิงผิดแล้ว มองดูอยู่เหมือนดังเขลา ฉะนั้น ดูก่อนท่านผู้มีดวงตาอ่อนหวาน ในที่นี้ใครเป็นสหายของท่าน ท่านอยู่ในป่า แต่ผู้เดียว ไม่กลัวหรือ.

[๒๗๘] ข้าแต่ท่านโกสิยดาบส ในที่นี้ ดิฉันไม่มีสหาย ดิฉันเป็นเทวดาชื่อว่า อาสา เกิดในดาวดึงส์พิภพ มายังสำนักของพระคุณเจ้าเพราะหวังจะขอ สุธาโภชน์ ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ขอได้โปรดแบ่งสุธาโภชน์นั้นให้ดิฉันบ้าง.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 453

[๒๗๙] พ่อค้าทั้งหลายผู้แสวงหาทรัพย์ ย่อมขึ้นเรือแล่นไปในทะเลด้วยความหวัง พ่อค้าเหล่านั้น ย่อมจมลงในทะเลนั้น ในกาลบางครั้ง เขาสิ้นทรัพย์ ทั้งทรัพย์อันเป็นต้นทุนก็สูญหายแล้วกลับมา ชาวนาทั้งหลายย่อมไถนาด้วยความหวัง หว่านพืชก็กระทำ โดยแยบคาย เขาไม่ได้ประสบผลอะไรๆ จากข้าวกล้านั้น เพราะเพลี้ยลงบ้าง เพราะฝนแล้งบ้าง อนึ่ง นรชนทั้งหลายผู้แสวงหาความสุข มุ่งหวังเป็น เบื้องหน้า ย่อมกระทำการงานของตนเพื่อนาย นรชนเหล่านั้นอันศัตรูเบียดเบียนแล้ว ไม่ได้ประโยชน์ อะไรๆ ย่อมพากันหนีไปสู่ทิศทั้งหลายก็เพื่อประโยชน์แก่นาย สัตว์ทั้งหลายผู้แสวงหาความสุข เป็นผู้ใคร่ จะไปสวรรค์ ละทิ้งธัญญาติ ทรัพย์และหมู่ญาติแล้ว บำเพ็ญตบะอันเศร้าหมองอยู่ตลอดกาลนาน เดินทางผิด ย่อมไปสู่ทุคติเพราะความหวัง เพราะฉะนั้น ความหวังเหล่านี้ เขาสมมติว่าทำให้เคลื่อนคลาดจากความจริง ดูก่อนนางอาสา ท่านจงนำความหวัง สุธาโภชน์ในตนออกเสียเถิด นางเทพกัญญา เช่นท่าน ย่อมไม่สมควรอาสนะและน้ำ ที่ไหนสุธาโภชน์จะสมควรเล่า เชิญไปเสียเถิด อาตมาไม่ชอบใจท่าน.

[๒๘๐] ท่านรุ่งเรืองด้วยยศ มียศ เขาเรียกโดย ชื่ออันน่าเกลียดเป็นเจ้าทิศ ดูก่อนนางผู้มีร่างกายคล้าย

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 454

ทองคำ อาตมาขอถามท่าน ขอท่านจงบอกอาตมา ท่านเป็นเทวดาอะไร.

[๒๘๑] ดิฉันชื่อว่าศรัทธาเทวี ได้รับการบูชาในหมู่มนุษย์ เป็นผู้ไม่คบสัตว์ลามกทุกเมื่อ มายังสำนัก ของพระคุณเจ้า เพราะวิวาทกันด้วยสุธาโภชน์ ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ขอพระคุณเจ้า โปรดแบ่งสุธาโภชน์นั้นให้ดิฉันบ้าง.

[๒๘๒] ก็ในกาลบางคราว มนุษย์ทั้งหลายถือเอาทานการให้บ้าง ทมะ การฝึกฝนบ้าง จาคะ การ บริจาคบ้าง สัญญมะ ความสำรวมบ้าง แล้วกระทำ ด้วยศรัทธา แต่มนุษย์พวกหนึ่งกระทำโจรกรรมบ้าง พูดเท็จบ้าง ล่อลวงบ่าง ส่อเสียดบ้าง ท่านอย่า ประกอบต่อไป บุรุษผู้มีความเพ่งเล็งในภรรยาทั้งหลาย ผู้สม่ำเสมอกัน ผู้ประกอบด้วยศีล ผู้มีวัตรในการ ปฏิบัติสามีดี ย่อมนำความพอใจในกุลสตรีออกเสีย กลับไปทำความเชื้อตามคำของนางกุมภทาสี ดูก่อน นางศรัทธา ท่านนั่นแล เป็นผู้ให้ชายอื่นคบหาภรรยา ของผู้อื่น ท่านย่อมทำบาป ละทิ้งกุศล นางเทพกัญญา เช่นท่านย่อมไม่สมควรอาสนะและน้ำ ที่ไหนสุธาโภชน์ จะสมควรแก่ท่านเล่า เชิญท่านไปเสียเถิด อาตมาไม่ชอบใจท่าน.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 455

[๒๘๓] เมื่ออรุณขึ้นไปในที่สุดแห่งราตรี นางเทพธิดาใด เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งรูปอันอุดมปรากฏอยู่ ดูก่อนเทวดา ท่านเปรียบเหมือนนางเทพธิดานั้น จะพูดกะอาตมาหรือ ขอท่านจงบอกกะอาตมา ท่านเป็นนางอัปสรอะไร ท่านมีชื่อว่าอะไร ยืนอยู่ดังเถาวัลย์ดำ ในฤดูร้อน และดังเปลวไฟอันห้อมล้อมด้วยใบไม้ สีแดงถูกลมพัดดูงาม ฉะนั้น ท่านดูเหมือนจะพูดแต่ มิได้เปล่งถ้อยคำออกมา แลดูอยู่ดังนางเนื้อเขลา ฉะนั้น.

[๒๘๔] ดิฉันชื่อหิริเทวี ได้รับการบูชาในหมู่ มนุษย์ไม่เสพสัตว์ลามกทุกเมื่อ มายังสำนักของพระคุณเจ้า เพราะวิวาทกันด้วยสุธาโภชน์ ดิฉันนั้นไม่อาจจจะอสุธาโภชน์กับพระคุณเจ้า เพราะการขอของหญิง ดูเหมือนจะเป็นกิริยาที่น่าละอาย.

[๒๘๕] ดูก่อนท่านผู้มีร่างกายอันงดงาม ท่านจักได้ตามอุบายที่ชอบ นี้เป็นธรรมทีเดียว ท่านจะได้ สุธาโภชน์เพราะการขอก็หาไม่ เพราะฉะนั้น อาตมา พึงเชื้อเชิญท่านผู้มิได้ขอสุชาโภชน์ใดๆ อาตมาจะให้ สุธาโภชน์แม้นั้นๆ แก่ท่าน ดูก่อนท่านผู้มีร่างกายอันงดงามคล้ายทองคำ วันนี้ อาตมาขอเชิญท่านไปใน อาศรมของอาตมา อาตมาจะบูชาท่านด้วยรสทุกอย่าง ครั้นบูชาแล้วจึงจักให้บริโภคสุธาโภชน์.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 456

[๒๘๖] นางหิริเทพธิดานั้น ผู้ไม่คบสัตว์ลามก ในกาลทุกเมื่อ อันโกสิยดาบสผู้มีความรุ่งเรืองอนุมัติแล้ว ได้เข้าไปสู่อาศรมอันน่ารื่นรมย์ สมบูรณ์ด้วย น้ำและผลไม้ อันท่านผู้ประเสริฐบูชาแล้ว ณ ที่ใกล้ อาศรมนั้น มีรุกขชาติเป็นอันมาก กำลงผลิดอกออกผล คือ มะม่วง มะหาด ขนุน ทองกวาว มะรุม อีกทั้งต้นโลท บัวบก การะเกด จันทน์กระพ้อ หมาก หอมควาย กำลังออกดอกสะพรั่ง ในที่ใกล้อาศรมนั้น มากไปด้วยต้นไม้ใหญ่ๆ คือ ต้นสาละ ต้นกุ่ม ต้นหว้า ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นมะซาง ไม้ย่างทราย ราชพฤกษ์ แคฝอย ต้นจิก ต้นลำเจียก มีกิ่งก้านห้อยย้อยลงมา กำลังส่งกลิ่นหอมน่ายวนใจ ถั่วแระ อ้อยแขม ถั่วป่า ต้นมะพลับ ข้าวฟ่าง ลูกเดือย ถั่วเหลืองเมล็ดเล็ก กล้วยไม่มีเมล็ด ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ราชดัด ข้าวสาร ที่เกิดเองมีอยู่เป็นอันมากที่อาศรมนั้น มีสระโปกขรณี ที่เกิดเอง งดงามไม่ขุ่น มีท่าราบเรียบ น้ำใสจืดสนิท ไม่มีกลิ่นเหม็น อนึ่ง ในสระโปกขรณีนั้น มีปลา ต่างๆ ชนิด คือ ปลาดุก ปลากระทุงเหว ปลากราย กุ้ง ปลาตะเพียน ปลาฉลาด ปลากา ว่ายอยู่คลาคล่ำ ในสระโปกขรณีอันมีขอบคัน เป็นปลาที่ปล่อย มีเหยื่อมากชนิด มีนกต่างๆ ชนิด คือ หงส์ นกกระเรียน นกยูง นกจากพราก นกออก นกกระเหว่าลาย นก

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 457

เงือก นกโพระดก มีอยู่มากมาย มีขนปีกอันวิจิตร พากันจับอยู่อย่างสบาย ปลอดภัย มีอาหารมาก มีสัตว์ และหมู่เนื้อนานาชนิดมากมาย คือ ราชสีห์ เสือโคร่ง ช้าง หมี เสือปลา เสือดาว แรด โคลาน กระบือ ละมั่ง กวาง เนื้อทราย หมูป่า ระมาด หมูบ้าน กวางทอง แมว กระต่าย วัวกระทิง มีอยู่มาก พื้นดิน หินเขา ดาดาษงามวิจิตรด้วยดอกไม้ ทั้งฝูงนกก็ส่งเสียงร้องกึกก้อง เป็นที่อยู่อาศัยของหมู่ปักษี.

[๒๘๗] นางหิริเทพธิดานั้น ผู้มีผิวพรรณงดงาม ทัดดอกไม้เขียว เดินเข้าไปยังอาศรม ดังสายฟ้าแลบ ในก่อนเมฆใหญ่ โกสิยดาบสได้จัดตั่งอันมีพนักที่ถักไว้เรียบร้อย สำเร็จด้วยหญ้าคาสะอาด มีกลิ่นหอม ลาดด้วยหนังชะมด เพื่อนางหิริเทพธิดานั้น แล้วได้ กล่าวว่า ดูก่อนนางงาม เชิญนั่งที่อาสนะนี้ตามสบายเถิด ในกาลนั้น เมื่อนางหิริเทพธิดานั่งลงบนตั่งแล้ว โกสิยมหามุนีผู้ทรงชฎาอันรุ่งเรือง ได้รีบนำสุธาโภชน์ มาพร้อมกับน้ำด้วยใบบัวใหม่ๆ ด้วยตนเอง เพื่อจะให้ พอความประสงค์ นางหิริเทพธิดามีความปลื้มใจ รับสุธาโภชน์ด้วยมือทั้งสอง แล้วได้กล่าวกะโกสิยดาบสผู้ ทรงชฎาว่า ข้าแต่ท่านผู้ประเสริฐ เอาละ ดิฉันเป็นผู้อันพระคุณเจ้าบูชาแล้ว ได้ชัยชนะแล้ว จะพึงไปสู่ไตรทิพย์ในบัดนี้ นางหิริเทพธิดานั้น เป็นผู้มัวเมาแล้ว

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 458

ด้วยความเมาในผิวพรรณ อันโกสิยดาบสกล่าวอนุญาตแล้ว ได้กลับไปในสำนักของท้าวสหัสนัยน์ แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่ท้าววาสวะ นี่สุธาโภชน์ ขอพระองค์ จงพระราชทานชัยชนะแก่หม่อมฉัน แม้ท้าวสักกะก็ได้ทรงบูชานางหิริเทพธิดาในกาลนั้น เทวดาพร้อมด้วยพระอินทร์ ได้พากันบูชานางสุกัญญาผู้อุดม นาง หิริเทพธิดานั้นเข้าไปนั่งบนตั่งใหม่ในกาลใด ในกาลนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประคองอัญชลีบูชา แล้ว.

[๒๘๘] ท้าวสหัสนัยน์ผู้เป็นจอมแห่งชาวไตรทศ ตรัสกะมาตลีเทพสารถีนั้นต่อไปว่า ท่านจงไปถามท่าน โกสิยดาบสตามคำของเราว่า ข้าแต่ท่านโกสิยะ เว้นนางอาสาเทพธิดา นางศรัทธาเทพธิดา และนางสิริเทพธิดา นางหิริเทพธิดาผู้เดียวได้สุธาโภชน์เพราะเหตุ อะไร.

[๒๘๙] มาตลีเทพสารถี ขึ้นรถอันเลื่อนลอยไปตามสบาย รุ่งเรืองเช่นกับเครื่องใช้สอย มีงอนอันแล้ว ไปด้วยทองชมพูนุทมีสีแดงคล้ายทองคำ ประดับ ประดาแล้ว ประกอบไปด้วยเครื่องลาดทองคำงามวิจิตร ในรถนี้มีภาพมากมาย คือรูปพระจันทร์ รูป ช้าง รูปใด รูปม้า รูปกินนร รูปเสือโคร่ง รูปเสือเหลือง รูปเนื้อทราย ล้วนแล้วไปด้วยทองคำ และมี

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 459

รูปนกทั้งหลาย อันล้วนแล้วด้วยรัตนะต่างๆ ดุจกระโดดโลดเต้นอยู่ รูปเนื้อในรถนั้นจัดไว้เป็นหมู่ๆ ล้วนแล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ เทพบุตรทั้งหลายเทียมม้า อัศวราชมีสีเหลืองดังทองคำ ประมาณพันตัว คล้ายดังช้างหนุ่มมีกำลังประดับประดาแล้ว มีเครื่องทับทรวงล้วนแล้วด้วยข่ายทองคำ มีภู่ห้อยหู ไปโดยเสียง ปกติไม่ขัดข้อง มาตลีเทพสารถีขึ้นสู่ยานอันประเสริฐ นั้นแล้ว บันลือแล้วตลอดสิบทิศนี้ ยังท้องฟ้าภูเขาและ ต้นไม้ใหญ่อันเป็นเจ้าไพร พร้อมทั้งสาคร ตลอดทั้งเมทนีดลให้หวั่นไหว มาตลีเทพสารถีนั้น รีบเข้าไปในอาศรมอย่างนี้แล้ว กระทำผ้าทิพประพารเฉวียง บ่าข้างหนึ่งแล้วกล่าวกะท่านโกสิยดาบส ผู้เป็นพหูสูต ผู้เจริญ มีวัตรอันแนะนำดีแล้ว ผู้เป็นพราหมณ์ ผู้ประเสริฐว่า ข้าแต่ท่านโกสิยดาบส เชิญท่านฟังพระดำรัสของพระอินทร์ ข้าพเจ้าเป็นทูต ท้าวปุรินททะ ตรัสถามท่านว่า ข้าแต่ท่านโกสิยดาบส เว้นนางอาสาเทพธิดา นางศรัทธาเพทธิดาและนางสิริเทพธิดา นางหิริเทพธิดาผู้เดียวได้สุธาโภชน์ เพราะเหตุอะไร.

[๒๙๐] ดูก่อนมาตลีเทพสารถี นางสิริเทพธิดา ตอบอาตมาว่า "แน่" ส่วนนางศรัทธาเทพธิดาตอบ อาตมาว่า "ไม่เที่ยง" นางอาสา อาตมาเข้าใจว่าเป็นผู้ กล่าวเคลื่อนคลานจากความจริง ส่วนนางหิริเทพธิดา ตั้งอยู่ในคุณอันประเสริฐ.

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 460

[๒๙๑] นางกุมารีก็ดี หญิงที่สกุลรักษาแล้วก็ดี หญิงหม้ายก็ดี หญิงมีสามีก็ดี รู้ฉันทราคะ ที่เกิดแรงกล้าในบุรุษทั้งหลาย แล้วห้ามกันจิตของตนได้ด้วยหิริ เปรียบเหมือนบรรดาพวกนักรบผู้แพ้ในสนานรบ ที่ต่อสู้กันด้วยลูกศรและหอกแล้วล้มลงและกำลังหนีไป นักรบเหล่าใดยอมสละชีวิตกลับมาได้ด้วยหิริ นักรบเหล่านั้นเป็นของคนละอายใจ ย่อมมารับนายอีก ฉะนั้น นางหิริเทพธิดานี้ เป็นผู้ห้ามนรชนเสียจากบาป เปรียบเหมือนทำนบเป็นที่กั้นกระแสน้ำเชี่ยวไว้ได้ ฉะนั้น ดูก่อนเทพสารถี เพราะเหตุนั้น ท่านจง กราบทูลแด่พระอินทร์ว่า นางหิริเทพธิดานั้น อันท่าน ผู้ประเสริฐ บูชาแล้วในโลกทั้งปวง.

[๒๙๒] ข้าแต่ท่านโกสิยดาบสผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ท้าวมหาพรหม ท้าวมหินทร์ หรือท้าวปชาบดี ใครเล่าเข้าใจความเห็นนั้นของพระคุณเจ้า นางหิริเทพ. ธิดานี้เป็นธิดาของท่าวมหินทร์ ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ประเสริฐสุดแม้ในเทวดาทั้งหลาย.

[๒๙๓] ขอเชิญพระคุณเจ้ามาขึ้นรถอันเป็นของข้าพเจ้านี้ ไปสู่ไตรทิพย์ในกาลบัดนี้เถิด ข้าแต่ท่านผู้ มีโคตรเสมอด้วยพระอินทร์ ทั้งพระอินทร์ก็ทรงหวังพระคุณเจ้าอยู่ ขอพระคุณเจ้าจงถึงความเป็นสหายกับพระอินทร์ในวันนี้เถิด.

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 461

[๒๙๔] สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่กระทำบาปกรรมย่อม หมดจดได้ด้วยอาการอย่างนี้ อนึ่ง ผลของกรรมที่ บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมไม่เสื่อมสูญ สัตว์เหล่าใด เหล่าหนึ่งได้เห็นสุธาโภชน์แล้ว สัตว์เหล่านั้นทั้งหมด ทีเดียว ถึงความเป็นสหายกับพระอินทร์.

[๒๙๕] นางหิริเทพธิดาเป็นนางอุบลวรรณา โกสิยดาบสเป็นภิกษุเจ้าของทาน ปัญจสิขเทพบุตร เป็นพระอนุรุทธะ มาตลีเทพสารถีเป็นพระอานนท์ สุริยเทพบุตรเป็นพระกัสสป จันทเทพบุตรเป็นพระโมคคัลลานะ นารทดาบส เป็นพระสารีบุตร ท้าว วาสวะเป็นพระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนี้แล.

จบสุธาโภชนชาดกที่ ๓

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 462

อรรถกถาสุธาโภชนชาดก

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภ ภิกษุผู้มีอัธยาศัยในการบำเพ็ญทานรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่ม ต้นว่า นคุตฺตเม คิริวเร คนฺธมาทเน (ณ ภูเขาคันธมาทน์ซึ่งเป็นภูเขาอันประเสริฐสูงสุด) ดังนี้.

ได้ยินว่า ภิกษุรูปนั้นเป็นกุลบุตรคนหนึ่งในเมืองสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา จิตเลื่อมใสแล้ว จึงออกบวชกระทำศีลให้บริบูรณ์ประกอบด้วยธุดงคคุณ มีเมตตาจิตแผ่ไปในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ประมาทในการบำรุงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ วันละ ๓ ครั้ง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยมรรยาท มีอัธยาศัยชอบในการให้ทานได้บำเพ็ญ สาราณียธรรมจนครบบริบูรณ์แล้ว ภิกษุรูปนั้นเมื่อปฏิคาหกทั้งหลายยังมีอยู่ ย่อมให้สิ่งของที่ตนได้แล้วจนหมดสิ้น แม้ตนเองถึงกับอดอาหาร เพราะฉะนั้น เธอจึงได้ปรากฏในหมู่ภิกษุว่า เป็นผู้มีอัธยาศัยในการจำแนกทาน ยินดียิ่งในทาน. ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุชื่อโน้นเป็นผู้มีอัทธยาศัยในการจำแนกทาน ยินดียิ่งแล้วในทาน ตัดความโลภเสียได้แล้ว มีน้ำประมาณเพียงซองมือหนึ่งที่ตนได้มา ก็ถวายแก่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายจนหมด เธอมีอัธยาศัยดุจพระโพธิสัตว์ พระศาสดาทรงได้ยินถ้อยคำนั้นด้วยพระโสตธาตุเพียงดังทิพย์ จึงเสด็จออกจาก พระคันธกุฎีเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุม สนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึง ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เมื่อชาติก่อน เป็นผู้ไม่ให้ทานเป็นประจำ เป็นผู้ตระหนี่ ไม่ให้ของอะไรๆ แก่ใครๆ แม้หยาดน้ำมันด้วยปลายหญ้า

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 463

ต่อมาเราได้ทรมานเธอกระทำให้หมดพยศ พรรณนาผลแห่งทาน ให้ตั้งอยู่ในทานแล้ว เธอได้รับพรในสำนักแห่งเราว่า แม้ได้น้ำมาเล็กน้อยเพียงซองมือหนึ่ง ยังมิได้ให้ทานแล้ว ก็จักไม่ดื่มน้ำนั้น ด้วยผลแห่งการที่ได้รับพรในสำนัก ของเรานี้ เธอจึงเป็นผู้มีอัธยาศัยในการจำแนกทาน เป็นผู้ยินดียิ่งแล้วในทาน ครั้นตรัสฉะนี้แล้ว ทรงดุษณีภาพนิ่งอยู่ เมื่อพวกภิกษุผู้ฉลาดด้วยอนุสนธิในเรื่องเทศนาเหล่านั้น กราบทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสดังต่อไปนี้

ในอดีตกาล เมื่อ พระเจ้าพรหมทัต เสวยราชสมบัติ ในพระนคร พาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นคฤหบดีคนหนึ่ง เป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติประมาณ ๘๐ โกฏิ ภายหลังพระราชาได้ทรงพระราชทานตำแหน่ง เศรษฐีแก่พระโพธิสัตว์นั้น เศรษฐีนั้นได้เป็นผู้อันพระราชาทรงบูชาแล้ว และอันชาวเมืองชาวชนบทนับถือบูชาแล้ว วันหนึ่ง เธอแลดูสมบัติของตนแล้ว คิดว่า ยศนี้เรามิได้นอนหลับอยู่ได้แล้ว หรือว่าเราทำกายที่จริตเป็นต้นไว้ใน อดีตภพแล้วได้มาก็หามิได้ เขาบำเพ็ญกายสุจริตเป็นต้นให้บริบูรณ์แล้วจึงได้มา แม้ในอนาคตกาลเล่า เราก็ควรจะกระทำที่พึ่งของเรา เธอจึงไปยังสำนัก ของพระราชากราบทูลว่า ขอเดชะ ทรัพย์ในเรือนของข้าพระองค์มีอยู่ถึง ๘๐ โกฏิ ขอพระองค์จงรับทรัพย์นั้นไว้ เมื่อพระราชาตรัสสั่งว่า เราไม่มีความ ต้องการทรัพย์ของท่าน ทรัพย์ของเราก็มากมายอยู่แล้ว ตั้งแต่นี้ไป ท่านปรารถนาสิ่งใด ก็จงถือเอาสิ่งนั้นเถิด จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระองค์จะได้ให้ทรัพย์ของข้าพระองค์เป็นประโยชน์อย่างไรดีหนอ ลำดับนั้น พระราชา จึงตรัสว่า ท่านจงกระทำตามความพอใจเถิด ดังนี้ เธอจึงให้สร้างศาลาทาน ขึ้น ๖ แห่ง คือที่ประตูพระนคร ๔ แห่ง ที่ท่ามกลางพระนคร ๑ แห่ง และ ที่ประตูเรือนของตน ๑ แห่ง กระทำการบริจาคทรัพย์วันละหกแสน บำเพ็ญ

 
  ข้อความที่ 22  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 464

มหาทานอยู่ทุกๆ วัน เธอให้ทานอยู่อย่างนี้จนตลอดชีวิต แล้วสั่งสอนพวกลูกๆ ว่า เจ้าอย่าได้ตัดทานวงศ์นี้ของเราเสีย ครั้นสิ้นชีวิตแล้วได้ไปบังเกิด เป็นท้าวสักกเทวราช แม้บุตรของเศรษฐีนั้นก็ให้ทานเหมือนบิดาฉะนั้น ครั้นทำลายขันธ์ก็ไปบังเกิดเป็นพระจันทเทพบุตร บุตรของพระจันทเทพบุตรก็ บำเพ็ญทานเหมือนบิดา ได้บังเกิดเป็นสุริยเทพบุตรแล้ว บุตรแห่งสุริยเทพบุตร นั้นบำเพ็ญทานเหมือนบิดาก็ได้บังเกิดเป็นพระมาตลีเทพบุตร บุตรแห่งพระมาตลีก็บำเพ็ญทานเหมือนบิดา บังเกิดเป็นปัญจสิขเทพบุตร.

ส่วนบุตรคนที่ ๖ แห่งปัญจสิขเทพบุตรนั้นได้เป็นเศรษฐีมีนามว่า มัจฉริยโกสิยะ มีทรัพย์สมบัติถึง ๘๐ โกฏิ เศรษฐีนั้นเป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น มานึกว่า บิดาและปู่ของเราเป็นคนพาล ทิ้งทรัพย์ที่แสวงหามาด้วยความลำบากเสียแล้ว ส่วนเราจักรักษาทรัพย์ไว้ จักไม่ให้อะไรๆ แก่ใครๆ เลย จึงให้รื้อ โรงทานทั้ง ๖ แห่งนั้นเผาไฟเสียสิ้น ลำดับนั้น พวกยาจกมาประชุมกันที่ประตู เรือนของเศรษฐีนั้น ยกแขนทั้งสองขึ้นร้องคร่ำครวญด้วยเสียงอันดังว่า ข้าแต่มหาเศรษฐีขอท่านจงอย่ากระทำทานวงศ์แห่งบิดาและปู่ของตนให้ฉิบหายเสียเลย ท่านจงให้ทานเถิด มหาชนได้ยินก็พากันติเตียนเศรษฐีนั้นว่า มัจฉริยโกสิยเศรษฐี ตัดทานวงศ์ของตนเสียแล้ว เศรษฐีนั้นก็มีความละอายได้ตั้งคนรักษาไว้เพื่อคอยห้ามยาจกผู้มาที่ประตูเรือน พวกยาจกเหล่านั้นหมดที่พึ่งก็มิได้มองดูประตูเรือน ของเศรษฐีนั้นอีกเลย จำเดิมแต่นั้นมา เขาก็รวบรวมทรัพย์เองทีเดียว ไม่บริโภคด้วยตนเอง ทั้งไม่ให้บุตรและภรรยาเป็นต้นบริโภคอีกด้วย ตนเองบริโภค ข้าวปลายเกรียนปนรำ มีน้ำส้มพะอูมเป็นกับข้าว นุ่งผ้าเนื้อหยาบที่ช่างหูกทอ สักว่าเป็นดังรากไม้ผลไม้ กั้นร่มใบตาล ใช้รถเก่าคร่ำคร่าเทียมด้วยโคแก่เป็น ยานพาหนะ ทรัพย์อันเป็นของเศรษฐีผู้เป็นอสัตบุรุษนั้นได้เป็นดังสุนัขได้ผล

 
  ข้อความที่ 23  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 465

มะพร้าวด้วยประการฉะนี้.

วันหนึ่ง มัจฉริยโกสิยเศรษฐีนั้น เมื่อจะไปสู่ที่เฝ้าพระราชาคิดว่า เราจะไปชวนอนุเศรษฐีไปด้วย จึงได้ไปยังเรือนของอนุเศรษฐีนั้น ในขณะนั้น อนุเศรษฐีแวดล้อมด้วยบุตรธิดา กำลังบริโภคข้าวปายาสที่ปรุง ด้วยของที่เจือด้วยเนยใสใหม่ น้ำผึ้งสุกและน้ำตาลกรวด อนุเศรษฐีนั้น ครั้นเห็นมัจฉริยโกสิยเศรษฐีมาจึงลุกจากอาสนะ กล่าวว่า เชิญท่านมหาเศรษฐี มานั่งที่บัลลังก์นี้ เชิญบริโภคข้าวปายาสด้วยกัน มหาเศรษฐีพอเห็นข้าวปายาส นั้นก็เกิดน้ำลายไหล อยากจะใคร่บริโภคบ้าง แต่มาคิดอย่างนี้ว่า ถ้าเราบริโภค เราก็จะต้องกระทำสักการะตอบแทนในเวลาที่อนุเศรษฐีไปยังเรือนของเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ทรัพย์ของเราก็จักพินาศ เราจักไม่บริโภคละ ลำดับนั้นมหาเศรษฐี แม้ถูกอนุเศรษฐีอ้อนวอนอยู่บ่อยๆ จึงกล่าวกะอนุเศรษฐีนั้นว่า เราพึ่งบริโภคมาเดี๋ยวนี้เอง เรายังอิ่มอยู่ แล้วมิได้ปรารถนาจะบริโภค แต่เมื่ออนุเศรษฐี บริโภคอยู่ มหาเศรษฐีนั่งมองดูอยู่มีน้ำลายไหลออกจากปาก เมื่อเสร็จภัตกิจ ของอนุเศรษฐี จึงไปยังพระราชนิเวศน์ด้วยกัน กลับจากพระราชนิเวศน์มาถึงเรือนของตน ถูกความอยากในรสแห่งข้าวปายาสบีบคั้นอยู่ จึงคิดว่า ถ้าเราจักพูดว่า เราอยากบริโภคข้าวปายาส มหาชนก็จะพลอยอยากบริโภคกับเราด้วย สิ่งของเป็นอันมากมีข้าวสารเป็นต้นก็จักหมดเปลืองไป เราจักไม่บอกแก่ใครๆ มหาเศรษฐีนั้นคิดถึงแต่ข้าวปายาสอยู่อย่างเดียว ทำคืนและวันให้ล่วงไป มิได้บอกแก่ใครๆ เพราะกลัวทรัพย์จะหมด อดกลั้นความอยากไว้ เมื่อไม่อาจจะ อดกลั้นโดยลำดับได้ ก็เป็นผู้มีโรคผอมเหลืองเกิดขึ้น แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ มหาเศรษฐีก็ไม่บอกใครเพราะกลัวทรัพย์จะหมดไป ในเวลาต่อมาก็เป็นผู้หมดกำลัง จึงเข้าไปสู่ที่นอนแล้วแอบซ่อนนอนอยู่.

ลำดับนั้น ภรรยาจึงเข้าไปใกล้มหาเศรษฐีนั้นแล้วเอามือบีบนวดพลาง

 
  ข้อความที่ 24  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 466

ถามว่า ข้าแต่นาย ท่านไม่สบายเป็นอะไรไปหรือ. ไม่เป็นอะไรหรอกนาง ผู้เจริญ. ความไม่สบายในร่างกายของท่านเองมีอยู่หรือ. ความไม่สบาย ในร่างกายของเราก็ไม่มี. ข้าแต่นาย ท่านเป็นผู้ผอมเหลืองเกิดขึ้นแล้ว ท่านมีความคิดอะไรบ้างหรือ หรือว่าพระราชา กริ้วท่านหรือพวกลูกๆ กระทำการดูหมิ่น หรือความอยากอะไรบังเกิดขึ้นแล้วแก่ท่าน. เออความอยากเกิดขึ้นแล้วแก่เรา. ถ้าเช่นนั้นขอท่านจงบอกมาเถิด. ท่านจักอาจรักษาถ้อยคำของเราไว้ได้หรือ. ถ้าเป็นวาจาที่ข้าพเจ้าควรจะรักษา ข้าพเจ้าก็จักรักษาไว้ แม้เมื่อภรรยากล่าวรับรองอยู่อย่างนี้ มหาเศรษฐีก็ไม่อาจจะบอกได้เพราะกลัวเสียทรัพย์ ครั้นถูกภรรยารบเร้าอยู่บ่อยๆ จึงได้บอกว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ วันหนึ่ง เราเห็นอนุเศรษฐีบริโภคข้าวปายาสที่ปรุงด้วยของ อันเจือด้วยเนยใสใหม่น้ำผึ้งน้ำตาลกรวด จำเดิมแต่วันนั้นมา ก็เกิดอยากจะบริโภคข้าวปายาสอย่างนั้นบ้าง. ดูก่อนท่านผู้เป็นอสัตบุรุษ ตัวท่านยากจนนักหรือ ข้าพเจ้าจักหุงข้าวปายาสให้เพียงพอแก่ชาวพระนครทั้งสิ้น. คราวนั้น ได้เป็นดุจดังว่ากาลที่มหาเศรษฐีถูกตีที่ศีรษะด้วยท่อนไม้ เขาโกรธภรรยามาก กล่าวว่า เรารู้อยู่ว่าท่านเป็นผู้มีทรัพย์มาก ถ้าว่าทรัพย์ที่นำมาจากเรือนสกุล ของท่านมีอยู่ ท่านจงหุงข้าวปายาสแจกแก่ชาวเมืองทั้งหลายเถิด. ถ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าจะหุงให้พอแก่ชาวบ้านผู้อยู่ในถนนเดียวกัน. ประโยชน์อะไรด้วยชน เหล่านั้นแก่ท่าน พวกเขาก็จงกินของของตนเองซิ. ถ้าอย่างนั้นข้าพเจ้าจะหุง ให้พอแก่ชนผ้อยู่รอบเรือนข้างละเจ็ดๆ ตั้งแต่เรือนนี้ไป. ท่านจะประโยชน์ อะไรด้วยชนเหล่านั้น. ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าจะหุงให้เฉพาะท่านและข้าพเจ้าเพียง สองคนเท่านั้น. ตัวท่านเป็นอะไรเล่า ข้าวปายาสนี้ไม่สมควรแก่ท่าน. ครั้น ภรรยากล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าจะหุงให้พอแก่ท่านคนเดียวเท่านั้น.

มหาเศรษฐีจึงกล่าวว่า ก็ถ้าท่านจะหุงเฉพาะเราคนเดียวแล้ว จงอย่าหุง ในเรือนนี้เลย ด้วยว่าเมื่อท่านหุงในเรือนนี้ ชนมากมายก็คอยหวังจะบริโภค

 
  ข้อความที่ 25  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 467

ก็ท่านจงเอาแป้งข้าวสารของเราแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน น้ำตาลกรวดสักหยิบมือ หนึ่ง นมเนยและน้ำผึ้งอย่างละขวดกับภาชนะสำหรับหุงใบหนึ่งให้แก่เรา เราจักเข้าไปสู่ป่า หุงในที่นั้นแล้วบริโภค ภรรยาได้กระทำตามคำสั่งทุกประการ เศรษฐีให้คนใช้เอาผ้าห่อของนั้นทั้งหมดแล้วให้ถือไปส่ง แล้วกล่าวว่า เจ้าจงไปยืนอยู่ในที่โน้น ส่งคนใช้ไปข้างหน้าแล้วไปแต่ผู้เดียว เอาผ้าคลุมแปลงเพศไม่ให้ ใครรู้จักไปถึงที่ป่านั้น ให้คนใช้ทำเตาที่โคนกอไม้แห่งหนึ่งริมแม่น้ำ ให้หาฟืนและน้ำมาแล้วบอกว่า เจ้าจงไปยืนอยู่ที่หนทางแห่งหนึ่ง ถ้าเห็นใครๆ มา พึงให้สัญญาแก่เรา อนึ่ง เมื่อเวลาที่เราร้องเรียกเจ้าจึงค่อยมา ส่งคนใช้ไปแล้ว จึงคิดไฟหุงข้าวปายาส.

ในขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงทอดพระเนตรสิริสมบัติของ พระองค์อย่างนี้คือ เทพนครอันประดับแล้วประมาณหมื่นโยชน์ ถนนแล้ว ด้วยทองคำหกสิบโยชน์ เวชยันตปราสาทสูงพันโยชน์ สุธรรมาสภากว้างห้าร้อยโยชน์ อาสน์หินอ่อนมีสีเหลืองดุจผ้ากัมพลเหลืองกว้างใหญ่หกสิบโยชน์ เศวตฉัตรมีพวงดอกไม้ทองเวียนรอบห้าร้อยโยชน์ นางเทพอัปสรนับได้สองโกฏิครึ่ง และอัตภาพอันประดับตกแต่งแล้ว ครั้นทรงเห็นฉะนี้จึงใคร่ครวญว่า ยศนี้เราได้มาเพราะกระทำอะไรหนอ จึงได้ทรงเห็นทานที่พระองค์บำเพ็ญให้ เป็นไป เมื่อเป็นเศรษฐีในเมืองพาราณสี ในลำดับนั้น จึงทรงตรวจดูต่อไปว่า ชนทั้งหลายมีบุตรของเราเป็นต้นเกิดแล้วในที่ไหน ได้ทอดพระเนตรเห็นที่เกิดของชนทั้งปวงคือ บุตรของเราได้เกิดเป็นจันทเทพบุตร บุตรของจันทเทพบุตรเกิดเป็นสุริยะ บุตรของสุริยะเกิดเป็นมาตลี บุตรของมาตลีเกิดเป็นปัญจสิขคันธัพพเทพบุตร จึงทรงตรวจดูต่อไปว่า บุตรของปัญจสิขเทพบุตร เป็นเช่นไร ก็ได้ทรงเห็นบุตรของปัญจสิขเทพบุตรเป็นผู้เข้าไปตัดวงศ์ทานของ พระองค์เสีย ลำดับนั้น พระองค์จึงทรงปริวิตกว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ เป็นผู้

 
  ข้อความที่ 26  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 468

ตระหนี่ มิได้บริโภคด้วยตนเอง ทั้งไม่ให้แก่ชนเหล่าอื่นด้วย เข้าไปตัดทานวงศ์ ของเราเสีย ทำกาลกิริยาแล้วจักไปบังเกิดในนรก เราจักให้โอวาทแก่เขา จักให้ประดิษฐานทานวงศ์ของเราต่อไป จักทำเหตุอันจะให้เขามาเกิดในเทพนครนี้ ท้าวเธอจึงให้เรียกจันทเทพบุตรเป็นต้นมา แล้วจึงมีบัญชาสั่งว่า เธอทั้งหลายจงมา เราจักไปยังมนุษยโลกด้วยกัน มัจฉริยโกสิยเศรษฐีเข้าไปตัดวงศ์ของพวกเราเสียแล้ว ให้เผาโรงทานเสียสิ้น ตนเองก็ไม่บริโภค พวกชนเหล่าอื่นก็ไม่ให้เขาเลย ก็บัดนี้เขาเป็นผู้ใคร่จะบริโภคข้าวปายาส คิดว่า เมื่อหุงข้าวปายาส ในเรือนก็จะต้องให้ข้าวปายาสแก่คนอื่นบ้าง จึงเข้าป่าหุงกินแต่คนเดียว เราจักทรมานเศรษฐีนี้ กระทำให้รู้จักผลของทานแล้วจักกลับมา ก็แต่ว่าเศรษฐีนี้ เมื่อถูกพวกเราทั้งหมดขออยู่พร้อมๆ กัน ก็จะพึงตายเสียในที่นั้นทีเดียว ในเวลาที่เราไปขอข้าวปายาสนั่งอยู่ก่อนแล้ว พวกท่านพึงแปลงเป็นพราหมณ์ไปขอ โดยลำดับเถิด ครั้นสั่งแล้วท้าวเธอก็เนรมิตเพศเป็นพราหมณ์เข้าไปหาเศรษฐีนั้นก่อน แล้วถามว่า หนทางที่จะไปยังเมืองพาราณสีไปทางไหน ท่านผู้เจริญ.

ลำดับนั้น มัจฉริยโกสิยเศรษฐีจึงกล่าวกะท้าวเธอว่า ท่านเป็นคนบ้าหรือ จึงไม่รู้จักแม้จนกระทั่งทางไปเมืองพาราณสี จะมาทำอะไรทางนี้เล่า จงไปทางโน้นซิ ท้าวสักกะทรงสดับถ้อยคำของเขาแล้ว ทำเป็นเหมือนไม่ได้ยิน ตรัสถามว่า ท่านพูดว่าอย่างไร แล้วก็เดินกระเถิบเข้าไปใกล้เขาอีก แม้เศรษฐี นั้นก็ร้องตะโกนว่า แน่ะพราหมณ์หูหนวกคนร้าย ท่านจะมาทำไมทางนี้เล่า จงไปข้างหน้าซิ ลำดับนั้นท้าวสักกะจงกล่าวกะเขาว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ ท่านร้องเอะอะทำไม ควันและไฟยังปรากฏอยู่ ท่านคงหุงข้าวปายาสสุกแล้ว ชะรอย ว่าคงจะนิมนต์พราหมณ์ทั้งหลายมาฉันในที่นี้ ในเวลาที่พวกพราหมณ์ฉันแล้ว แม้ข้าพเจ้าก็จักพลอยได้บริโภคสักหน่อยหนึ่ง ท่านไม่นิมนต์ข้าพเจ้าบ้างหรือ เศรษฐีตอบว่า การนิมนต์พวกพราหมณ์ในที่นี้ไม่มีเลย ท่านจงไปข้างหน้าเถิด

 
  ข้อความที่ 27  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 469

ท้าวสักกะจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นท่านโกรธข้าพเจ้าทำไม ในเวลาที่ท่านบริโภคแล้ว ข้าพเจ้าก็คงจักได้บริโภคบ้างสักเล็กน้อย ลำดับนั้นเศรษฐีหมายเอาอาหาร ที่ตนขอภรรยาได้มาแล้ว จึงกล่าวกะท้าวสักกะนั้นว่า ข้าพเจ้าจักไม่ให้แม้เพียง เมล็ดเดียวแก่ท่าน ภัตนี้มีน้อยพอข้าพเจ้าบริโภคเพียงคนเดียวเท่านั้น อนึ่ง ก็ภัตนี้ข้าพเจ้าก็ต้องขอเขาจึงได้มา ท่านจงแสวงหาอาหารของท่านจากที่อื่นเถิด แล้วกล่าวคาถาว่า

ข้าพเจ้าจะไม่ซื้อ จะไม่ขาย อนึ่ง แม้ความสั่งสมของข้าพเจ้า ในที่นี้ก็ไม่มีเลย ภัตนมีนิดหน่อย ทั้งหาได้แสนยากยิ่งนัก ข้าวสุกแล่งหนึ่งนื้หาพอแก่เราสองคนไม่.

ท้าวสักกะได้ทรงสดับคำนั้น จึงรับสั่งว่า ข้าพเจ้าจักกล่าวโศลกสักบทหนึ่งด้วยเสียงอันไพเราะให้ท่าน ขอท่านจงฟังโศลกคาถาสรรเสริญคุณนั้น เมื่อเศรษฐีนั้นกำลังคัดค้านห้ามปรามอยู่ที่เดียวว่า ข้าพเจ้ามิได้มีความต้องการด้วยโศลกคาถาสรรเสริญของท่าน ท้าวเธอก็ได้กล่าวคาถาสองคาถาว่า

บุคคลควรแบ่งของน้อยให้ตามน้อย ควรแบ่งของส่วนกลางให้ตามส่วนกลาง ควรแบ่งของมากให้ตามมาก การไม่ให้เสียเลยหาควรไม่ ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุฉะนั้น ข้าพเจ้าจะบอกกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่หนทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานและจง บริโภค เพราะผู้บริโภคคนเดียวหาได้ความสุขไม่.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุมชฺฌโต มชฺฌกํ (ควรแบ่งครึ่งจากครึ่งที่เหลือ) ความว่า แม้ ของมีประมาณน้อย บุคคลควรแบ่งออกในท่ามกลางกระทำให้เป็นสองส่วน ให้ทานเสียส่วนหนึ่ง แม้ส่วนที่เหลืออยู่จากส่วนที่ให้ทานไปแล้วนั้น

 
  ข้อความที่ 28  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 470

พึงแบ่งออกในท่ามกลาง แม้จากส่วนกลางอันน้อยนั้นอีกครั้งหนึ่ง พึงให้ส่วน หนึ่งทีเดียว. บทว่า อทานํ นูปปชฺชติ (การไม่ให้เสียเลยหาควรไม่) ความว่า สิ่งที่ให้ทานนั้นจะน้อย หรือมากก็ตาม ก็เป็นอันได้ชื่อว่าให้แล้ว ขึ้นชื่อว่าการไม่ให้เสียเลยย่อมไม่ควร ทานแม้นั้นย่อมมีผลมากทีเดียว.

มัจฉริยโกสิยเศรษฐี สดับคำของท้าวสักกะนั้นแล้วจึงกล่าวว่า ดูก่อน พราหมณ์ ท่านพูดจาน่าพอใจมาก เมื่อข้าวปายาสสุกแล้ว ท่านจักได้หน่อยหนึ่ง ท่านจงนั่งลงเถิด ท้าวสักกะจึงนั่งลง ณ สถานที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท้าวสักกะนั่งแล้ว จันทเทพบุตรจึงเข้าไปใกล้เศรษฐีโดยทำนองนั้นทีเดียว ยังถ้อยคำให้เป็นไปเหมือนอย่างนั้น เมื่อเศรษฐีนั้นคัดค้านห้ามปรามอยู่ ได้กล่าว คาถาสองคาถาว่า

บุคคลใด เมื่อแขกนั่งแล้ว บริโภคโภคชนะอยู่แต่ผู้เดียว พลีกรรมของบุคคลผู้นั้นย่อมไร้ผล ทั้งความเพียรแสวงหาทรัพย์ก็ไร้ประโยชน์ ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจะขอบอกกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่หนทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานและบริโภค เพราะผู้บริโภคคนเดียวหาได้ความสุขไม่.

คำว่า ความเพียรแสวงหาทรัพย์ ในคาถานั้น หมายเอาความเพียร ที่ให้เกิดทรัพย์.

เศรษฐีฟังคำของจันทเทพบุตรนั้นแล้ว ก็ได้กล่าวถ้อยคำอย่างนั้น เหมือนกัน แล้วจึงพูดด้วยความลำบากยากแค้นว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจงนั่งลงเถิด ท่านจักได้หน่อยหนึ่ง จันทเทพบุตรไปนั่งในสำนักของท้าวสักกะ ในลำดับนั้น สุริยเทพบุตรจึงเข้าไปบอกเศรษฐีนั้นโดยทำนองนั้นเหมือนกัน แล้วจึงกล่าวเหมือนอย่างนั้น เมื่อเศรษฐีนั้นกำลังคัดค้านห้ามปรามอยู่ทีเดียว ได้กล่าวคาถาสองคาถาว่า

 
  ข้อความที่ 29  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 471

ผู้ใดเมื่อแขกนั่งแล้ว มิได้บริโภคโภชนะแต่ผู้เดียว พลีกรรมของผู้นั้นย่อมมีผลจริง ทั้งความเพียร แสวงทาทรัพย์ก็ย่อมมีประโยชน์โดยแท้ ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจะขอกล่าวกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่หนทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานและจงบริโภค เพราะผู้บริโภคคนเดียวหาได้ความสุขไม่.

เศรษฐีได้สดับคำของสุริยเทพบุตรนั้นแล้ว จึงพูดด้วยความลำบากยากเย็นว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจงนั่งลงเถิด จักได้หน่อยหนึ่ง สุริยเทพบุตรนั้นจึงไปนั่ง ในสำนักจันทเทพบุตร ลำดับนั้น มาตลีเทพบุตร จึงเข้าไปหาเศรษฐีนั้น โดยอุบายอย่างเดียวกันนั้นแล แล้วกล่าวถ้อยคำเหมือนอย่างนั้น เมื่อเศรษฐีนั้น กำลังคัดค้านห้ามปรามอยู่ทีเดียว ก็ได้กล่าวคาถาเหล่านั้นว่า

ก็บุรุษไปสู่สระแล้วบูชาที่แม่น้ำชื่อพหุกาก็ดี ที่สระชื่อคยาก็ดี ที่ท่าชื่อโทณะก็ดี ที่ท่าชื่อติมพรุก็ดี ที่ห้วงน้ำใหญ่ มีกระแสอันเชี่ยวก็ดี การบูชาและความ พียรของเขาในที่นั้นๆ ย่อมมีผลมีกำไรได้ ผู้ใดเมื่อแขกนั่งแล้ว ไม่บริโภคโภชนะแต่คนเดียว จะกล่าว ว่าไร้ผลนั้นไม่ได้ ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจะขอพูดกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่หนทางของพระ อริยเจ้าจงให้ทานด้วย จงบริโภคด้วย เพราะผู้กินคนเดียวหาได้ความสุขไม่.

เนื้อความแห่งคาถาเหล่านั้นว่า บุรุษใดคิดว่า เราจักกระทำพลีกรรมแก่นาคและยักษ์เป็นต้น จึงเข้าไปสู่สระแห่งใดแห่งหนึ่ง ในบรรดาสมุทร แอ่ง

 
  ข้อความที่ 30  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 472

และสระโบกขรณีเป็นต้นแล้วบูชาอยู่ กระทำพลีกรรมอยู่ในที่นั้นๆ อนึ่ง บุคคลบูชาอยู่ที่แม่น้ำชื่อพหุกา ที่สระโบกขรณีชื่อคยา หรือที่ท่าโทณะก็ดี ที่ท่าชื่อ ติมพรุก็ดี หรือที่ห้วงน้ำใหญ่มีกระแสอันเชี่ยวก็ดี. บทว่า อตฺร จสฺส (ของเขาในที่นั้นๆ ) ความว่า ถ้าว่าการบูชาและความเพียรของบุรุษนั้นในที่นั้นๆ คือในสระเป็นต้นเหล่านั้นย่อมมี คือมีผลกำไรถึงพร้อมอยู่ไซร้ คำที่บุคคลจะพึงกล่าวในคำนี้ว่า ผู้ใดเมื่อแขกนั่งแล้ว ไม่บริโภคโภชนะแต่คนเดียวย่อมไร้ผลดังนี้ ก็จะไม่มีเลย ดูก่อน โกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจะขอบอกกะท่าน ท่านจงให้ทานด้วย จงบริโภคเองด้วย ท่านจงขึ้นสู่ทางของพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ผู้ยินดียิ่งแล้วในทาน เพราะว่า ผู้กินคนเดียว คือผู้บริโภคอยู่แต่เพียงคนเดียว ย่อมไม่ได้รับความสุขเลย.

เศรษฐีสดับคำของมาตลีเทพบุตรนั้นแล้ว ประหนึ่งถูกยอดภูเขาทับ จึงพูดด้วยความลำบากใจว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจงนั่งลงเถิด จักได้หน่อยหนึ่ง มาตลีเทพบุตรจึงไปนั่งในที่ใกล้กับสุริยเทพบุตร ในลำดับนั้น ปัญจสิขเทพบุตรจึงเข้าไปหาเศรษฐีโดยทำนองนั้นอีก แล้วกล่าวถ้อยคำเหมือนอย่างนั้น เมื่อเศรษฐีกำลังคัดค้านห้ามปรามอยู่ทีเดียว จึงกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า

ผู้ไดเมื่อแขกนั่งแล้ว บริโภคโภชนะอยู่แต่ผู้เดียว ผู้นั้นเท่ากับกลืนกินเบ็ดอันมีสายยาวพร้อมทั้งเหยื่อ ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอบอกกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่หนทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานด้วย จงบริโภคด้วย เพราะผู้กินคนเดียวหาได้ความสุขไม่.

มัจฉริยโกสิยเศรษฐีได้สดับคำนั้น ทอดถอนใจอยู่ด้วยกำลังแห่งความทุกข์ทีเดียว กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงนั่งลงเถิด จักได้หน่อยหนึ่ง ปัญจสิขเทพบุตรจึงไปนั่งในที่ใกล้มาตลีเทพบุตร เมื่อพราหมณ์ทั้ง ๕ คนเหล่านั้นพอ

 
  ข้อความที่ 31  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 473

นั่งพร้อมกันเท่านั้น ข้าวปายาสก็สุกพอดีด้วยประการฉะนี้ ลำดับนั้นโกสิยเศรษฐี จึงยกข้าวปายาสนั้นลงจากเตาแล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงนำใบไม้มาไม้เราเถิด พราหมณ์เหล่านั้นมิได้ลุกขึ้น นั่งอยู่ในที่เดิมนั่นแลเหยียดมือไปนำใบย่างทราย มาจากป่าหิมวันต์ โกสิยเศรษฐีเห็นใบไม้ใหญ่นัก จึงพูดว่า ข้าวปายาสนี้ เราควรจะให้แก่ท่านในใบไม้เหล่านั้นไม่มี ท่านจงนำใบตะเคียนเป็นต้นมา พราหมณ์เหล่านั้นก็นำเอาใบไม้ทั้งหลายมาแล้ว ใบไม้แต่ละใบที่นำมานั้นใหญ่ ประมาณเท่าโล่ของทหาร โกสิยเศรษฐีนั้นจึงเอาทัพพีตักข้าวปายาสให้แก่ พราหมณ์ทั้งหมดคนละทัพพี แม้ในเวลาที่ให้แก่พราหมณ์ปัญจสิขอันเป็นคนสุดท้ายกว่าพราหมณ์ทั้งหมด ข้าวปายาสนั้นก็หาปรากฏว่าพร่องลงไปถึงก้นหม้อไม่.

เศรษฐีนั้นครั้นให้แก่พราหมณ์ทั้ง ๕ คนแล้ว ส่วนตนนั่งจับหม้อไว้ ในขณะนั้น ปัญจสิขเทพบุตรจึงลุกขึ้นแปลงร่างเป็นสุนัขเข้าไปยืนข้างหน้า พราหมณ์เหล่านั้นถ่ายปัสสาวะแล้วก็ไป พวกพราหมณ์เอามือปิดข้าวปายาสของตนไว้ หยาดน้ำปัสสาวะกระเซ็นถูกหลังมือของโกสิยเศรษฐี พวกพราหมณ์จึงเอา เต้าน้ำไปตักน้ำเอามาเกลี่ยข้าวปายาส กระทำประดุจจะบริโภค โกสิยเศรษฐี จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงให้น้ำแก่ข้าพเจ้าบ้าง ข้าพเจ้าล้างมือแล้วจักบริโภค. ท่านจงนำน้ำของท่านมาล้างมือแล้วบริโภคเองเถิด. ข้าพเจ้าให้ข้าวปายาสแก่ พวกท่านแล้ว ท่านจงให้น้ำแก่ข้าพเจ้าสักหน่อยหนึ่งเถิด. พวกเราชื่อว่าย่อมไม่กระทำกรรมคือการให้ก้อนข้าวตอบก้อนข้าว (ท่านให้ก้อนข้าวเรา และเราให้ก้อนข้าวตอบ). เศรษฐีกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงช่วยดูหม้อข้าวนี้ เราไปล้างมือแล้วจักกลับมา แล้วจึงลงไปสู่แม่น้ำ ในขณะนั้น สุนัขจึงถ่ายปัสสาวะลงไว้จนเต็มหม้อข้าว เศรษฐีนั้นกลับมาเห็นสุนัขกำลังถ่ายปัสสาวะ จึงถือเอาท่อนไม้ใหญ่มาขู่ตวาดสุนัขนั้นอยู่ สุนัขนั้นกลับเป็นสัตว์ใหญ่โต

 
  ข้อความที่ 32  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 474

ประมาณเท่าม้าอาชาไนยไล่ติดตามเศรษฐีนั้น แล้วแปลงร่างเป็นสัตว์มีสีต่างๆ เป็นสีดำบ้าง สีขาวบ้าง สีคล้ายทองคำบ้าง ด่างบ้าง ต่ำบ้าง สูงบ้าง เป็น สัตว์มีสีต่างๆ อย่างนี้ ไล่ติดตามมัจฉริยโกสิยเศรษฐีไป เศรษฐีมีความกลัว ต่อมรณภัย จึงเข้าไปหาพวกพราหมณ์ แม้พวกพราหมณ์เหล่านั้นก็พากันเหาะ ขึ้นไปยืนอยู่บนอากาศ เศรษฐีเห็นอิทธิฤทธิ์ของพวกพราหมณ์เหล่านั้น จึง กล่าวคาถาว่า

พราหมณ์เหล่านี้มีผิวพรรณงามจริงหนอ เหตุไฉน สุนัขของท่านนี้จึงเปล่งรัศมีสีต่างๆ ได้ ข้าแต่พราหมณ์ พวกท่านใครเล่าจะบอกข้าพเจ้าได้. ท้าวสักกเทวราชทรงสดับคำนั้น จึงตรัสคาถาว่า

ผู้นี้คือจันทเทพบุตร ผู้นี้คือสุริยเทพบุตร และผู้นี้คือมาตลีเทพสารถีมาแล้วในที่นี้ เราคือท้าวสักกะ เป็นจอมของเทวดาพวกไตรทศ ส่วนสุนัขแลเราเรียก ปัญจสิขเทพบุตร.

ท้าวสักกเทวราชครั้นตรัสคาถานี้แล้ว เมื่อจะทรงชมเชยยศของปัญจสิขเทพบุตรนั้น จึงตรัสคาถาว่า

ฉิ่ง ตะโพน และเปิงมาง ย่อมปลุกเทพบุตรผู้หลับแล้วนั้นให้ตื่น และตื่นขึ้นแล้วย่อมเพลิดเพลินใจ.

เศรษฐีได้สดับคำของท้าวสักกะนั้น จึงถามว่า ข้าแต่ท้าวสักกะ ปัญจสิขเทพบุตรนี้ได้ทิพยสมบัติเห็นปานนี้ เพราะทำกรรมอะไรไว้ เมื่อท้าวสักกะจะทรงแสดงว่าบุคคลผู้ไม่ให้ทานเป็นปกติ มีกรรมอันเป็นบาป มีความตระหนี่ จะไปเทวโลกไม่ได้ ย่อมไปเกิดในนรก จึงตรัสคาถาว่า

 
  ข้อความที่ 33  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 475

ชนเหล่าใด ผู้มีความตระหนี่เหนียวแน่น มักบริภาษสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ชนเหล่านั้นทอดทิ้ง สรีระร่างกายไว้ในโลกนี้แล้ว เมื่อกายแตกย่อมไปสู่นรก.

ท้าวสักกะครั้นตรัสคาถานี้แล้ว หวังจะทรงแสดงการได้เฉพาะซึ่งเทวโลกของบุคคลทั้งหลายผู้ตั้งอยู่ในธรรม จึงตรัสคาถาว่า

ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งหวังสุคติ ตั้งอยู่แล้วในธรรม คือความสำรวมและความจำแนก ชนเหล่านั้นทอดทิ้ง สรีระร่างกายไว้ในโลกนี้แล้ว เมื่อกายแตกย่อมไปสู่ สุคติ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาสีสมานา (หวัง) ความว่า ชนเหล่าใด เหล่าหนึ่งเมื่อจะหวัง ย่อมหวังสุคติ ชนเหล่านั้นทั้งหมดเป็นผู้ตั้งอยู่แล้วใน ธรรมคือศีล ๑๐ ประการ ที่นับว่าความสำรวมอย่างหนึ่ง ในธรรมคือการให้ ทานที่มีแต่การจำแนกอย่างหนึ่ง ทอดทิ้งร่างกายกล่าวคือสรีระไว้ในโลกนี้ทีเดียว เพราะการแตกกายของเขา ย่อมเข้าถึงสุคติ.

ท้าวสักกะครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว หวังจะทรงประกาศแก่เศรษฐีนั้นว่า ดูก่อนโกสิยเศรษฐี พวกเรามายังสำนักของท่านเพื่อต้องการข้าวปายาสก็หาไม่ แต่พวกเราเอ็นดูท่านจึงพากันมาด้วยความกรุณา จึงตรัสคาถาว่า

ตัวท่านนั้นชื่อโกสิยะ มีความตระหนี่ มีธรรมอันลามก เป็นญาติของเราทั้งหลายในชาติก่อน เราทั้งหลายพากันมาในที่นี้เพื่อประโยชน์นี้แก่ท่านผู้เดียว ด้วยคิดว่า โกสิยะนี้อย่าได้มีธรรมอันลามกไปนรกเลย.

 
  ข้อความที่ 34  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 476

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส (นั้น) ความว่า ท่านนั้นเป็นญาติของ พวกเรา. บทว่า มา ปาปธมฺโม (อย่าได้มีธรรมอันลามก) ความว่า เราพากันมาด้วยคิดอย่างนี้ว่า เศรษฐีเป็นญาติของเรา อย่าได้เป็นผู้มีธรรมอันลามกไปนรกเสียเลย.

โกสิยเศรษฐีสดับคำนั้น มีจิตยินดีว่า ได้ยินว่าเทพบุตรเหล่านั้นใคร่ประโยชน์แก่เราปรารถนาจะยกเราขึ้นจากนรก ให้ประดิษฐานบนสวรรค์ จึงกล่าวคาถาว่า

ก็ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ใคร่ประโยชน์แก่ข้าพเจ้าโดยแน่แท้ เพราะเหตุที่มาตามพร่ำสอนข้าพเจ้าอยู่เนืองๆ ข้าพเจ้านั้นจักกระทำตามคำทั้งหมดที่ท่านผู้แสวงหาประโยชน์กล่าวแล้วทุกประการ.

ข้าพเจ้านั้น จะเว้นจากความเป็นคนตระหนี่เสียในวันนี้แหละ อนึ่ง ข้าพเจ้าจะไม่พึงกระทำบาปอะไรๆ อนึ่ง ชื่อว่าการไม่ให้ของอะไรๆ จะไม่มีแก่ข้าพเจ้าอีก อนึ่ง ข้าพเจ้ายังไม่ให้แล้ว จะไม่ดื่มแม้จนกระทั่งน้ำ ข้าแต่ท้าววาสวะ ก็เมื่อข้าพเจ้าให้อยู่อย่างนี้ ตลอดกาลทั้งปวง แม้โภคทรัพย์ทั้งหลายของข้าพเจ้าจักหมดไป ข้าแต่ท้าวสักกะ แต่นั้นข้าพเจ้าจักละกามทั้งหลายที่ยังคงมีอยู่อย่างนี้ไปแล้วจักบวช.

ในคาถานั้นมีอรรถาธิบายว่า คำว่า แก่ข้าพเจ้า หมายเอาแก่ตัวข้าพเจ้า เองคำว่า ท่าน หมายเอาท่านทั้งหลาย. คำว่า ข้าพเจ้า อธิบายว่า ท่านทั้งหลาย มาตามพร่ำสอนข้าพเจ้าอยู่ด้วยเหตุใด ท่านทั้งหลายก็ย่อมเป็นผู้ใคร่ประโยชน์ แก่ข้าพเจ้าด้วยเหตุนั้น. คำว่า ทุกประการ อธิบายว่า ท่านกล่าวอย่างใด ข้าพเจ้าจักกระทำอย่างนั้นทุกประการ. คำว่า เว้น คือ ข้าพเจ้าจะเว้นจากความเป็นคน ตระหนี่. คำว่า การไม่ให้จะไม่ม ี อธิบายว่า อนึ่ง จําเดิมแต่นี้ไป ขึ้นชื่อว่าการ

 
  ข้อความที่ 35  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 477

ไม่ให้แม้ประมาณสักว่าครึ่งหนึ่งแห่งคำข้าวของข้าพเจ้า จะไม่มีอีกต่อไปเลย. คำว่า อนึ่ง ยังไม่ให้ อธิบายว่า อนึ่ง ข้าพเจ้าได้น้ำมาแม้ประมาณเพียงซองมือหนึ่ง ถ้ายังมิให้ทานก่อนแล้ว จะไม่ดื่มกินน้ำนั้นเลย. คำว่า จักหมดไป คือจัก สิ้นไป. คำว่า ยังคงมีอยู่อย่างนี้ อธิบายว่า ข้าพเจ้าจักละกามอันมีส่วนตามที่ยังเหลืออยู่ด้วยอำนาจวัตถุกามและกิเลสกามทีเดียว.

ท้าวสักกะทรงทรมานมัจฉริยโกสิยเศรษฐี กระทำให้หมดพยศ ให้ รู้จักผลแห่งทาน ให้ตั้งอยู่ในศีล ๕ ด้วยธรรมเทศนาแล้ว จึงพากันเสด็จ กลับเทพนครของพระองค์พร้อมด้วยเทพบุตรเหล่านั้น ฝ่ายมัจฉริยโกสิย เศรษฐีเข้าไปยังพระนคร ขอพระบรมราชานุญาตแล้ว ให้ทรัพย์แก่ยาจกทั้งหลาย ด้วยคำว่า ท่านทั้งหลายจงถือเอาทรัพย์จนเต็มภาชนะที่ตนถือมา แล้วๆ นั้นเถิด แล้วออกจากเรือนไปในขณะนั้น ไปสร้างบรรณศาลในระหว่างแม่น้ำคงคาและชาตสระแห่งหนึ่ง ที่ข้างทิศทักษิณ แต่หิมวันตประเทศแล้วจึงบรรพชา มีรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร ได้อยู่ในที่นั้น เป็นเวลานานตลอดกาลถึงชรา.

ในกาลนั้นธิดาของท้าวสักกะมีอยู่ ๔ นาง คือ นางอาสา นางศรัทธา นางสิริ นางหิริ นางทั้ง ๔ นั้นถือเอาของหอมและระเบียบดอกไม้ อันเป็นทิพย์มากมายไปยังสระอโนดาต เพื่อประสงค์จะเล่นน้ำ ครั้นเล่นน้ำในสระนั้นแล้ว จึงพากันนั่งอยู่บนพื้นมโนศิลา ในขณะนั้น พราหมณ์ดาบสชื่อนารทะ ไปยังพิภพดาวดึงส์ เพื่อต้องการจะพักผ่อนในกลางวันจึงกระทำที่อยู่ในกลางวัน ในสวนนันทนวันและสวนจิตรลดาวัน แล้วถือเอาดอกปาริฉัตตกะเพื่อบังเงา ประหนึ่งร่มไปยังกาญจนคูหาอันเป็นที่อยู่ของตน โดยที่สุดแห่งพื้นมโนศิลา ลำดับนั้น พวกนางเทพธิดาทั้ง ๔ เห็นดอกไม้ในมือของดาบสนั้นจึงพากันขอ พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้นจึงตรัสคาถาว่า

 
  ข้อความที่ 36  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 478

นางเทพธิดาเหล่านั้น อันท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดารักษาแล้ว บันเทิงอยู่ ณ ภูเขาคันธมาทน์ ซึ่งเป็นภูเขาสูงสุด ในกาลนั้น นารทดาบสผู้ ประเสริฐกว่าฤาษี ผู้สามารถไปตลอดโลกทั้งปวง ได้มาถือเอากิ่งไม้อันประเสริฐมีดอกบานงามดีแล้ว ดอกไม้นั้นสะอาดมีกลิ่นหอม เทพยดาชั้นดาวดึงส์พากันกระทำสักการะ เป็นดอกไม้สูงสุด ท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดาทั้งหลายได้เสพแล้ว ส่วนพวกมนุษย์เหล่าอื่น หรือพวกอสูรไม่ได้แล้ว เว้นไว้แต่พวกเทวดา เป็นดอกไม้ที่มีประโยชน์อันสมควรแก่พวกเทวดาเหล่านั้น ในลำดับนั้น นางเทพนารีทั้ง ๔ คือ นางอาสา นางศรัทธา นางสิริ และนางหิริ ผู้มีผิวพรรณประหนึ่งทองคำ เป็นใหญ่กว่านางเทพธิดา ผู้รื่นเริง ลุกขึ้นกล่าวกะนารทมุนีผู้เป็นพราหมณ์ ประเสริฐกว่าพวกเทวดามากว่า ข้าแต่มหามุนีผู้ประเสริฐ ถ้าดอกปาริฉัตตกะนี้ พระผู้เป็นเจ้าไม่เจาะจงแล้ว ก็จงให้แก่พวกข้าพเจ้าเถิด คติทั้งปวงจงสำเร็จแก่พระผู้เป็นเจ้า ขอพระผู้เป็นเจ้าจงให้แก่พวกข้าพเจ้าดุจท้าววาสวะฉะนั้นเถิด นารทดาบสเห็นนาง เทพธิดาทั้ง ๔ พากันขอดอกไม้นั้น จึงกล่าวว่า ท่านพูดถ้อยคำชวนทะเลาะ เราหามีความต้องการด้วยดอกไม้เหล่านี้สักน้อยหนึ่งไม่ บรรดาพวกเจ้าทั้ง ๔ นางใดประเสริฐกว่า นางนั้นก็จงประดับดอกไม้นั้นเถิด.

 
  ข้อความที่ 37  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 479

ในคาถาเหล่านั้นมีอรรถาธิบายว่า คำว่า เป็นภูเขาอันประเสริฐ นี้เป็นไวพจน์ของคำแรกที่ว่าเป็นภูเขาสูงสุด. คำว่า ท้าวสักกเทวราชผู้ประเสริฐกว่าเทวดาทรงรักษาแล้ว คือนางเทพธิดาทั้ง ๔ นั้นเป็นผู้อันท้าวสักกะทรงรักษาแล้ว. คำว่า สามารถไปตลอดโลกทั้งปวง อธิบายว่า เป็นผู้สามารถ ที่จะไปได้ในโลกทั้งหมด คือทั้งในเทวโลกทั้งในมนุษยโลก. คำว่า ถือเอากิ่งไม้อันประเสริฐ อธิบายว่า ถือเอาดอกไม้มีชื่ออันได้แล้วว่า ทุมวรสาขะ เพราะดอกไม้นี้เกิดจากกิ่ง. คำว่า พากันทำสักการะ คือมี สักการะอันกระทำแล้ว. คำว่า ผู้ประเสริฐกว่าหมู่อมร ดังนี้ พระศาสดา ตรัสหมายเอาท้าวสักกะ. คำว่า เว้นไว้แต่พวกเทวดา อธิบายว่า นอกจากพวกเทวดาและท่านผู้มีฤทธิ์แล้ว พวกมนุษย์หรือพวกอมนุษย์มียักษ์ เป็นต้นเหล่าอื่นไม่ได้แล้ว. คำว่า มีประโยชน์อันสมควรแก่พวกเทวดา เหล่านั้น อธิบายว่า เป็นประโยชน์คือสมควรเหมาะแก่พวกเทวดาเหล่านั้นทีเดียว. คำว่า ผู้มีผิวพรรณประหนึ่งทองคำ อธิบายว่า มีผิวหนังประดุจทองคำ. คำว่า ลุกขึ้น อธิบายว่า นางเทพนารีเหล่านั้นปรึกษากันว่า พระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้เว้นขาดแล้วจากระเบียบดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้ เป็นต้น คงจักไม่ประดับดอกไม้ จักทิ้งเสียในประเทศแห่งหนึ่ง เราจักขอกะท่านแล้วจักประดับดอกไม้ เมื่อจะเหยียดมือออกไปขอ จึงลุกขึ้นพร้อมกันทีเดียว. คำว่า เป็นใหญ่กว่านางเทพธิดาผู้รื่นเริง คือเป็นผู้สูงสุดกว่านางผู้รื่นเริงทั้งหลาย. คำว่า มุนี หมายเอาฤาษี. คำว่า ไม่เจาะจง คือไม่เจาะจงว่า เราจักให้ดอกไม้นี้แก่ชนชื่อโน้น. คำว่า คติทั้งปวงจงสำเร็จแด่พระผู้เป็นเจ้า อธิบายว่า นางเทพธิดาเหล่านั้น กล่าวถ้อยคำอันเป็นมงคลแก่ นารทมุนีนั้นว่า ขอคติแห่งใจของพระผู้เป็นเจ้าทั้งหมดจงสำเร็จเถิด ขอพระผู้เป็นเจ้าจงเป็นผู้ได้สิ่งที่ตนปรารถนาแล้วและปรารถนาแล้วเถิด. คำว่า ดุจท้าววาสวะฉะนั้น อธิบายว่า ท้าววาสวะผู้เป็นบิดาของหม่อมฉันทั้งหลาย

 
  ข้อความที่ 38  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 480

ประทานสิ่งที่หม่อมฉันปรารถนาแล้ว อยากได้แล้ว ฉันใด แม้พระผู้เป็นเจ้า ก็จงให้แก่พวกหม่อมฉันเหมือนกันฉันนั้นเถิด. คำว่า นั้น หมายเอาดอกไม้นั้น. คำว่า เห็น คือมองเห็น. คำว่า ชวนทะเลาะ อธิบายว่า ท่านกล่าว ถ้อยคำมีการถือเอาต่างๆ ก่อให้เกิดความทะเลาะวิวาท คำว่า เหล่านี้ อธิบายว่า เราไม่มีความต้องการด้วยดอกไม้เหล่านี้ นารทมุนีแสดงว่า เราเป็นผู้เว้นขาดแล้วจากการทัดทรงประดับดอกไม้. คำว่า บรรดา พวกท่านนางใดประเสริฐกว่า อธิบายว่า นางใดเป็นผู้เจริญที่สุดในระหว่างท่านทั้งหลาย. คำว่า นางนั้นจงประดับ อธิบายว่า นางนั้นจงประดับดอกไม้นี้.

แม้นางเทพนารีทั้ง ๔ นั้น ครั้นได้สดับคำของดาบส จึงกล่าวคาถาว่า

ข้าแต่นารทดาบสผู้สูงสุด พระผู้เป็นเจ้านั่นแล จงพิจารณาดูพวกข้าพเจ้า ปรารถนาจะให้แก่นางใด จงเริ่มให้แก่นางนั้น ก็บรรดาพวกข้าพเจ้า พระผู้เป็นเจ้าจักให้แก่นางใด นางนั้นแล พวกข้าพเจ้าสมมุติว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด.

คำว่า ผู้สูงสุด ในคาถานั้น มีอธิบายว่า ข้าแต่มหามุนีผู้อุดม พระผู้เป็นเจ้านั่นแล จงใคร่ครวญดูพวกข้าพเจ้า. นารทดาบสสดับคำของนางทั้ง ๔ นั้น เมื่อจะเจรจากะนางเหล่านั้น จึงกล่าวคาถาว่า

ดูก่อนนางผู้มีกายอันงาม คำนี้ไม่สมควร ใครเล่าเป็นพราหมณ์ ใครกล่าวการทะเลาะ ถ้าพวกท่านยังไม่ทราบในที่นี้ว่า ตนประเสริฐหรือธรรมประเสริฐ ก็จงไปทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตเถิด.

 
  ข้อความที่ 39  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 481

อธิบายความแห่งคาถานั้นว่า ดูก่อนนางผู้มีกายอันงามผู้เจริญ คำที่พวกท่านกล่าวแล้วนี้ไม่สมควรแก่เรา ด้วยว่าเมี่อเป็นอย่างนี้ เมื่อเรากระทำนางหนึ่งในบรรดาพวกท่านให้เป็นผู้ประเสริฐ นางที่เหลือให้เป็นคนเลวแล้ว ความทะเลาะวิวาทก็จะพึงมีขึ้น ใครจะเป็นพราหมณ์ผู้ลอยบาป ใครพึงกล่าวการทะเลาะคือพึงทำความทะเลาะให้เจริญ ด้วยว่าการทำความทะเลาะให้เกิดขึ้น ย่อมไม่สมควรแก่เราผู้มีรูปเห็นปานนี้ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงไปจากที่นี้แล้ว จงถามท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตทั้งหลายซึ่งเป็นบิดาของตนเอาเองเถิด ถ้าพวกท่านยังไม่ทราบว่าคนประเสริฐหรือธรรมประเสริฐ.

ลำดับนั้น พระศาสดา ตรัสพระคาถาว่า

นางเทพธิดาเหล่านั้น ที่นารทดาบสได้กล่าวขึ้น เป็นผู้มีความโกรธแค้นอย่างยิ่ง เป็นผู้มัวเมาแล้ว ด้วยความเมาในผิวพรรณ จึงไปสู่สำนักแห่งท้าวสหัสนัยน์ แล้วทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งภูตว่า บรรดาพวกหม่อมฉัน ใครเล่าเป็นผู้ประเสริฐกว่ากัน.

ในคาถานั้น มีอธิบายว่า คำว่า มีความโกรธแค้นอย่างยิ่ง คือ นางทั้ง ๔ นั้น เมื่อนารทดาบสไม่ให้ดอกไม้ ก็เป็นผู้มีความโกรธยิ่งนักหนา. คำว่า ได้กล่าวขึ้น คือ เมื่อนารทดาบสกล่าวว่า พวกท่านจงไปถามท้าวสักกะ ผู้เป็นจอมแห่งภูตเอาเองเถิด. คำว่า ท้าวสหัสนัยน์ คือไปสู่สำนักของท้าวสักกะ. คำว่า ใครเล่า อธิบายว่า นางเทพธิดาทั้ง ๔ ทูลถามว่า ในระหว่างข้าพระองค์ทั้งหลาย ใครคนไหนเล่าเป็นผู้สูงสุด.

นางเทพธิดาทั้ง ๘ ยืนทูลถามดังนั้นแล้ว. (พระศาสดา จึงตรัสพระ คาถาว่า)

 
  ข้อความที่ 40  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 482

ท้าวปุรินททะผู้ประเสริฐกว่าเทวดา ผู้อันเทวดากระทำอัญชลีแล้ว ทรงเห็นพระธิดาทั้ง ๔ นั้น มีใจพะวักพะวงอยู่ จึงตรัสว่า ดูก่อนธิดาผู้งามเลิศ พวกเจ้าทั้งปวงเป็นผู้เช่นเดียวกัน จงยกไว้ก่อน ในที่นี้ใครเล่าหนอ ได้กล่าวการทะเลาะขึ้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตา ทิสฺวา (ทรงเห็นพระธิดาทั้ง ๔ นั้น) ความว่า ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย ท้าวสักกเทวราชเห็นนางเทพธิดาทั้ง ๔ ซึ่งมายังสำนักของตน. บทว่า อายตฺตมนา (มีใจพะวักพะวงอยู่) ความว่า มีใจหงุดหงิดมีจิตฟุ้งซ่าน. บทว่า กตญฺชลี (ผู้อันเทวดาทั้งหลายกระทำอัญชลีแล้ว) ความว่า ผู้อันเทวดาทั้งหลายนอบน้อมอยู่กระทำอัญชลีแล้ว. บทว่า สาทิสี (เป็นผู้เช่นเดึยวกัน) ความว่า พวกเจ้าทั้งหมดเป็นผู้เหมือนกันจงยกไว้ก่อน. บทว่า โกเนธ (ใครเล่าหนอ) ความว่า ก็ใครเล่าหนอ ในที่นี้. บทว่า กลหํ อุทีรเย (ได้กล่าวการทะเลาะขึ้น) ความว่า กล่าว การทะเลาะวิวาทนี้ขึ้น คือทำความทะเลาะให้เกิดขึ้น.

ลำดับนั้น นางเทพนารีทั้ง ๔ เมื่อจะกราบทูลแด่ท้าวสักกะนั้นจึงกล่าว คาถาว่า

นารทมหามุนีใด ผู้เที่ยวไปยังโลกทั้งปวงดำรงอยู่ในธรรม มีความเพียร บากบั่นนั่นอยู่ในความสัตย์อย่างแท้จริง ท่านนั้นได้บอกแก่พวกหม่อมฉัน ณ ที่ภูเขาคันธมาทน์ ซึ่งเป็นภูเขาอันประเสริฐว่า ถ้าพวกท่านยังไม่ทราบในที่นี้ว่า ตนประเสริฐหรือธรรม ประเสริฐ ก็จงไปทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งภูตเอาเองเถิด.

คำว่า มีความเพียร ในคาถานั้น หมายเอามีความบากบั่นเป็นเครื่อง ก้าวไปข้างหน้าอย่างแท้จริง.

ท้าวสักกเทวราชทรงสดับดังนั้น จึงทรงพระดำริว่า นางทั้ง ๔ นี้

 
  ข้อความที่ 41  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 483

ล้วนเป็นธิดาของเราทั้งหมด ถ้าเราจักกล่าวนางคนหนึ่ง ในบรรดานางเหล่านี้ว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณ เป็นผู้สูงสุดแล้วไซร้ นางที่เหลือก็จักโกรธ เราไม่อาจตัดสินความเรื่องนี้ได้ เราจักส่งธิดาของเราทั้ง ๔ เหล่านี้ ไปยังสำนักของโกสิยดาบส ในหิมวันตประเทศ เธอจักวินิจฉัยความเรื่องนี้แก่นางเหล่านั้นเอง จึงตรัสบอกว่า พ่อจะตัดสินความของเจ้าทั้งหลายไม่ได้ ในหิมวันตประเทศมีดาบสองค์หนึ่งชื่อว่า โกสิยะ พ่อจักมอบสุธาโภชน์ไปถวายแก่เธอ เธอยังไม่ให้แก่ผู้อื่นก่อนแล้ว จักไม่บริโภค ก็เมื่อจะให้เธอ จะใคร่ครวญเสียก่อนแล้ว จึงให้แก่บุคคลผู้มีคุณ ในบรรดาเจ้าทั้งหลาย นางคนใดได้รับภัตจากมือของเธอ นางคนนั้นจักเป็นผู้สูงสุด แล้วจึงตรัสคาถาว่า

ดูก่อนเจ้าผู้มีกายอันงดงาม มหามุนีผู้อยู่ในป่าใหญ่โน้น ยังมิได้ให้ก่อนแล้ว หาบริโภคภัตไม่ เมื่อโกสิยดาบสจะให้ก็พิจารณาเสียก่อนแล้วจึงให้ ถ้าเธอจักให้แก่นางคนใด นางคนนั้นแลเป็นผู้ประเสริฐ.

คำว่า ผู้อยู่ในป่าใหญ่ ในคาถานั้น หมายเอาผู้มีปกติอยู่ในราวป่าอันใหญ่.

ท้าวสักกะส่งนางทั้ง ๔ ไปยังสำนักของดาบส ด้วยประการฉะนี้ แล้วให้เรียกมาตลีเทพบุตรมา เมื่อจะส่งไปยังสำนักของดาบสนั้น จึงตรัสคาถาติดต่อกันไปว่า

ก็โกสิยดาบสนั้นอยู่ในทิศทักษิณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ข้างหิมวันตบรรพตโน้น โกสิยดาบสนั้น มีน้ำดื่มและโภชนะหาได้ยาก ดูก่อนเทพสารี ท่านจงนำสุธาโภชน์ไปให้ถึงเธอ.

 
  ข้อความที่ 42  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 484

บรรดาบทเหล่านั้น คำว่า อยู่ หมายเอาอาศัยอยู่. คำว่า ทิศทักษิณ ได้แก่ ทิศทักษิณ ของภูเขาหิมวันท์. คำว่า ข้าง คือข้างภูเขาหิมวันต์.

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสว่า

มาตลีเทพสารถีนั้น อันท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่า เทวดาใช้ให้ไปแล้ว จึงขึ้นรถเทียมด้วยม้าพันตัว ไป ยังอาศรมบทโดยรวดเร็วอย่างนี้ เป็นผู้มีร่างกายอันไม่ปรากฏ ได้ถวายสุธาโภชน์แก่มุนี.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อทิสฺสมาโน (อันไม่ปรากฏ) ความว่า ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย มาตลีนั้นรับคำสั่งของท้าวสักกเทวราชแล้ว ก็ไปยังอาศรมบทนั้น มีกายอันมิได้ปรากฏให้เห็น ได้ถวายสุธาโภชน์แก่ดาบสนั้น ก็เมื่อจะถวาย ได้วางถาดสุธาโภชน์ลงในมือของเธอ ผู้ประกอบความเพียรอยู่ตลอดราตรี บำเรอไฟในเวลาใกล้รุ่ง เมื่อราตรีสว่างแล้ว ยืนนอบน้อมนมัสการพระอาทิตย์ ซึ่งกำลังขึ้นสู่ท้องฟ้า.

โกสิยดาบสรับโภชนะนั้นแล้ว ยืนกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า

ก็เมื่อเราบำเรอไฟที่เราบูชาแล้ว ยืนอยู่ใกล้พระอาทิตย์ซึ่งแรกขึ้น มีแสงสว่าง บรรเทาความมืดใน โลกอันสูงสุดเสียได้ ท้าววาสวะผู้ครอบงำภูตทั้งหมด หรือว่าใครเล่ามาวางภัตขาวสะอาดลงในฝ่ามือของเรา ภัตนี้ขาวสะอาด มีพรรณขาวประดุจสังข์ขาวน่าดูยิ่งกว่าปุยนุ่น สะอาดมีกลิ่นหอมน่ารักใคร่ ยังไม่เคยมีเลย แม้เราเองก็ยังไม่เคยเห็นมาก่อน ด้วยชาตจักษุของเรา เทวดาองค์ไหนเล่ามาวางไว้ในฝ่ามือของเรา.

 
  ข้อความที่ 43  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 485

( บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทคฺคิหุตฺตํ (ไฟที่เราบูชาแล้ว) ความว่า เมื่อเราบำเรอ ไฟที่เราบูชาแล้ว ออกจากโรงไฟยืนอยู่ที่ประตูบรรณศาลา ยืนอยู่ใกล้ดวง อาทิตย์ซึ่งมีแสงสว่าง บรรเทาความมืดในโลกอันสูงสุดเสียได้ ท้าววาสวะผู้ครอบงำก้าวล่วงเสียซึ่งภูตทั้งหมดเป็นไปอยู่ หรือมิใช่หนอ มาวางภัตอันขาวสะอาดลงบนมือของเราอย่างนี้ โกสิยดาบสนั้นเป็นผู้ยืนอยู่ทีเดียว ได้กล่าวสรรเสริญสุธาโภชน์อันวิเศษด้วยคำเป็นต้นว่า มีพรรณขาวประดุจสังข์ ดังนี้.

ลำดับนั้น มาตลีเทพสารถีจึงตอบว่า

ข้าแต่มหามุนี ผู้แสวงทาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพเจ้าถูกท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทวดา ใช้ให้นำสุธาโภชน์มาโดยด่วน พระคุณเจ้าจงรู้จักข้าพเจ้าว่า ชื่อมาตลีเทพสารถี และจงบริโภคภัตอันอุดม อย่าห้ามเสียเลย เพราะสุธาโภชน์ที่บริโภคแล้วนั้น ย่อม ขจัดบาปธรรมได้ถึง ๑๒ ประการ คือ ความหิว ๑ ความกระหาย ๑ ความกระสัน ๑ ความกระวนกระวาย ๑ ความเหน็ดเหนื่อย ๑ ความโกรธ ๑ ความเข้าไป ผูกโกรธ ๑ ความวิวาท ความส่อเสียด ๑ ความหนาว ๑ ความร้อน ๑ ความเกียจคร้าน ๑ ภัตนี้มีรสอันสูงสุด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุธาภิหาสึ (นำเอาสุธาโภชน์มาถวาย) ความว่า ข้าพเจ้านำสุธาโภชน์ นี้มาเฉพาะพระคุณเจ้า. บทว่า ชานาสิ มํ (พระคุณเจ้าจงรู้จักข้าพเจ้า) ความว่า ขอพระคุณเจ้าจงรู้จักข้าพเจ้าว่า ผู้นี้คือเทพสารถีมีนามว่า มาตลี. บทว่า มาภิวารยิ ( อย่าห้ามเสียเลย) ความว่า ขอพระคุณเจ้า อย่าได้ห้ามเสียเลยว่า เราจักไม่บริโภคภัตนี้ดังนี้ จงฉันเถิด อย่ากระทำความชักช้าเลย. บทว่า ปาปเก (บาปธรรม) ความว่า ด้วยว่าสุธาโภชน์

 
  ข้อความที่ 44  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 486

ที่บุคคลบริโภคแล้วนี้ ย่อมขจัดเสียได้ซึ่งธรรมอันลามกถึง ๑๒ ประการ คือ ย่อมขจัดความหิวเป็นที่ ๑ ก่อน ขจัดความกระหายน้ำเป็นที่ ๒ ความกระสัน เป็นที่ ๓ ความกระวนกระวายกายเป็นที่ ๔ ความเหน็ดเหนื่อยเป็นที่ ๕ ความโกรธเป็นที่ ๖ ความเข้าไปผูกโกรธเป็นที่ ๗ ความวิวาทเป็นที่ ๘ ความส่อเสียดเป็นที่ ๙ ความหนาวเป็นที่ ๗ ความร้อนเป็นที่ ๑๑ ความเกียจคร้านเป็นที่ ๑๒ สุธาโภชน์มีรสอันสูงสุด คือมีรสอันอุดมถึงเพียงนี้ ย่อมขจัดบาปธรรม ๑๒ ประการเหล่านี้เสียได้.

โกสิยดาบสดับคำนั้นแล้ว เมื่อจะกระทำให้แจ้งซึ่งการสมาทานวัตรของตน จึงกล่าวคาถาว่า

ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เรายังไม่ได้ให้ก่อนแล้ว บริโภคย่อมไม่สมควร วัตรของเรานี้เป็นวัตรอันอุดม อนึ่ง การบริโภคคนเดียว พระอริยเจ้าไม่บูชาแล้ว ก็ชนผู้มิได้แบ่งบริโภคเสียแต่ผู้เดียว ย่อมไม่ประสบความสุขเลย.

โกสิยดาบสครั้นกล่าวคาถาแล้ว ผู้อันมาตลีถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระคุณเจ้าเห็นโทษอะไรในการไม่ให้คนอื่นเสียก่อนแล้วบริโภค จึงได้สมาทานวัตรนี้ จึงตอบว่า

ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้ฆ่าหญิง คบหาภรรยาของชายอื่น ประทุษร้ายต่อมิตร อนึ่ง ย่อมฆ่าสมณพราหมณ์ ผู้มีวัตรอันดีงาม ชนเหล่านั้นทั้งหมดทีเดียว มีความตระหนี่เป็นที่ห้า ชื่อว่าเป็นผู้เลวทราม เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าไม่ให้ก่อนแล้วจึงไม่ดื่มแม้จน กระทั่งน้ำ ข้าพเจ้านั้น จักให้ทานแก่หญิงหรือชาย ที่ผู้

 
  ข้อความที่ 45  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 487

รู้สรรเสริญแล้ว เพราะท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีศรัทธา รู้ถ้อยคำที่ปฏิคาหกขอ ปราศจากความตระหนี่ สมมติ ว่าเป็นผู้สะอาดและมีความสัตย์ในโลกนี้.

ในคาถานั้นมีคำอรรถาธิบายว่า คำว่า ก่อน คือไม่ให้ก่อนแล้วอย่างหนึ่ง โกสิยดาบสแสดงว่า วัตรนี้เป็นวัตรอันอุดมของเรามาก่อน คือเราสมาทานวัตรนี้มาก่อนด้วยประการฉะนี้แล. คำว่า การบริโภคคนเดียว คือการกินของบุคคลคนเดียว พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ไม่บูชาแล้ว. คำว่า ความสุข คือย่อมไม่ได้รับความสุขทั้งที่เป็นทิพย์และ เป็นของมนุษย์.

คำว่า ฆ่าหญิง ได้แก่ ฆ่าสตรี. คำว่า เหล่าใด คือเหล่าใดเหล่าหนึ่ง. คำว่า ด่า คือ ย่อมด่า. คำว่า ผู้มีวัตรอันดีงาม หมายเอาสมณพราหมณ์ผู้ประกอบในธรรม. คำว่า มีความตระหนี่เป็นที่ห้า อธิบายว่า ความตระหนี่เป็นที่ห้าของชนเหล่านั้น เหตุนั้น ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่ามีความตระหนี่เป็นที่ห้า. คำว่า เลวทราม คือ ธรรมทั้ง ๕ ประการเหล่านี้จึงชื่อว่า อธรรม. คำว่า เพราะเหตุนั้น เราจึงสมาทานวัตรนี้ว่า ถ้ายังมิได้ให้ก่อนแล้ว จักไม่บริโภคแม้น้ำดังนี้ เพราะกลัวความเป็นอธรรมที่ห้า. คำว่า ข้าพเจ้านั้น อธิบายว่า ข้าพเจ้านั้นจักให้ทานแก่หญิงหรือ. คำว่า ผู้รู้สรรเสริญแล้ว หมายเอาผู้รู้ซึ่งได้แก่บัณฑิตมี พระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญแล้ว. คำว่า สมมติ เป็นผู้สะอาดแล้วมีความสัตย์ อธิบายว่า บุรุษทั้งหลายเหล่านั้นเป็นผู้ประกอบไปด้วยศรัทธาอันหยั่งลง เชื่อมั่น เป็นผู้รู้ถ้อยคำปราศจากความตระหนี่ ย่อมชื่อว่าเป็นผู้สะอาดและสมมติ ว่าสูงสุด.

 
  ข้อความที่ 46  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 488

มาตลีสดับคำนั้น จึงยืนแสดงกายให้ปรากฏ. ในขณะนั้น นางเทพกัญญาทั้ง ๔ เหล่านั้น ได้มายืนอยู่ในทิศทั้ง ๔ คือนางสิริยืนอยู่ในทิศปราจีน นางอาสายืนอยู่ในทิศทักษิณ นางศรัทธายืนอยู่ในทิศประจิม นางหิริ ยืนอยู่ในทิศอุดร.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสคาถาว่า

ลำดับนั้น นางเทพกัญญาทั้ง ๔ คือนางอาสา นางศรัทธา นางสิริ และนางหิริ ผู้มีผิวพรรณประดุจทองคำ ซึ่งท้าวสักกะผู้ประเสริฐกว่าเทวดาทั้งหลาย อนุมัติส่งไปแล้ว ได้ไปยังอาศรมซึ่งเป็นที่อยู่ของโกสิยดาบสนั้น โกสิยดาบสได้เห็นนางเทพกัญญา ทั้งปวงนั้น มีผิวพรรณอันงามประดุจเปลวเพลิง เป็นบันเทิงอย่างยิ่ง จึงได้กล่าวกับนางเทพกัญญาทั้ง ๔ ในทิศทั้ง ๔ ต่อหน้ามาตลีว่า ดูก่อนเทวดาในบูรพาทิศ ท่านมีชื่อว่าอย่างไร จงบอกไป ท่านเป็นผู้ มีสรีระอันประดับแล้ว งดงามดุจดาวประกายพรึก อันประเสริฐกว่าดาวทั้งหลาย ดูก่อนท่านผู้มีร่างกายคล้ายกับรูปทองคำ เราถามท่าน ท่านจงบอกแก่เราว่า ท่านเป็นเทวดาอะไร.

นางสิริได้สดับคำดังนั้นแล้ว เมื่อจะกระทำตนให้ปรากฏ จึงกล่าวคาถาว่า

ข้าพเจ้ามีสิริชื่อว่า นางสิริเทวี เป็นผู้ไม่เสพคบหา สัตว์ลามกอันหมู่มนุษย์บูชาแล้วทุกเมื่อ มาสู่สำนักของ

 
  ข้อความที่ 47  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 489

ท่านเพราะความทะเลาะกันด้วยเรื่องสุธาโภชน์ ข้าแต่ท่านผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ขอท่านจงแบ่งสุธาโภชน์นั้นให้ข้าพเจ้าบ้าง.

ข้าแต่มหามุนี ผู้สูงสุดกว่าผู้บูชาทั้งหลาย ข้าพเจ้าปรารถนาควานสุขแก่นรชนใด นรชนนั้นบันเทิงอยู่ด้วยสรรพกามสมบัติทั้งหลาย ท่านจงรู้จัก ข้าพเจ้าว่า สิรี ข้าแต่ท่านผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ขอท่านจงแบ่งสุธาโภชน์ให้ข้าพเจ้าบ้างเถิด.

ในคาถานั้นมีคำอธิบายว่า คำว่า ลำดับนั้น คือ ในกาลนั้น. คำว่า อนุมัติ คือ รับรู้แล้ว อธิบายว่า เป็นผู้อันท้าวสักกะผู้ประเสริฐ กว่าเทวดาทั้งหลาย อนุมัติแล้วด้วย ส่งไปแล้วด้วยในกาลนั้น. คำว่า เป็นผู้บันเทิงอย่างยิ่ง อธิบายว่า เป็นผู้รื่นเริงอย่างยิ่ง ทุกนางมิได้มีเหลือเลย พระบาลี บางฉบับเป็น สามํ แปลว่า เอง อธิบายว่า ก็โกสิยดาบสนั้นเห็นนางเทพกัญญาเหล่านั้นเองทีเดียว. คำว่า ๔ หมายเอานางเทพกัญญาทั้ง ๔ อีกอย่างหนึ่ง พระบาลีเป็นจตุราก็มี อธิบายว่า ประกอบพร้อมด้วยทิศทั้ง ๔. คำว่า ประเสริฐกว่าดาวทั้งหลาย คือ ประเสริฐกว่าดวงดาราทั้งหมด. คำว่า มีร่างกายคล้ายรูปทองคำ คือมีสรีระเหมือนกับรูปเปรียบทองคำ. คำว่า ข้าพเจ้ามีชื่อว่า นางสิรี คือ ข้าพเจ้ามีนามว่า สิรี. คำว่า มาสู่สำนักของท่าน คือมายังสำนักของพระผู้เป็นเจ้า. คำว่า จงแบ่ง คือ แบ่งให้ ข้าพเจ้าได้ด้วยประการใด. ขอท่านจงทำด้วยประการนั้นเถิด อธิบายว่า จงให้สุธาโภชน์แก่ข้าพเจ้าบ้าง. คำว่า จงรู้ คือจงรู้จัก. คำว่า สูงสุดกว่าผู้บูชาทั้งหลาย คือเป็นผู้อุดมกว่าผู้บูชาอยู่ซึ่งไฟ.

โกสิยดาบสสดับคำนั้น จึงกล่าวคาถาว่า

 
  ข้อความที่ 48  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 490

นรชนทั้งหลายผู้มีความเพียรประกอบด้วยศิลปะวิทยาและความประพฤติดี ความรู้และการงานของตน เป็นผู้ท่านละทิ้งเสียแล้ว ย่อมไม่ได้ประโยชน์อะไร กิจทีมีความขาดแคลนอันใดที่ท่านทำแล้ว กิจนั้นไม่ดีเลย. เราเห็นนรชนผู้เป็นบุรุษเกียจคร้าน บริโภคมาก ทั้งมีตระกูลต่ำมีรูปแปลก ดูก่อนนางสิรี นรชนที่ท่าน รักษาไว้แม้สมบูรณ์ด้วยชาติผู้มีโภคทรัพย์ มีความสุข ย่อมใช้เหมือนทาส. เพราะฉะนั้น เรารู้จักท่านเป็นผู้ไม่มีสัจจะ ไม่รู้สิ่งที่ควรและไม่ควรแล้ว และเสพคบหาเป็นผู้หลงนำผู้รู้ให้ตกไปตาม นางเทพธิดาเช่นท่าน ย่อมไม่สมควรอาสนะและน้ำ สุธาโภชน์จักมีแต่ไหนเล่า จงไปเสียเถิด ท่านไม่ชอบใจแก่เรา.

ในคาถานั้นมีอรรถาธิบายว่า คำว่า ศิลปะ คือประกอบด้วยศิลปะ มีศิลปะที่เกี่ยวกับช้างม้ารถและธนูเป็นต้น. คำว่า วิทยาและความประพฤติดี หมายเอาวิชาที่นับเอาพระเวททั้ง ๓ และศีล. คำว่า ความรู้และการงานของตน คือเป็นผู้ประกอบด้วยความเพียรแห่งบุรุษของตน. คำว่า อะไร คือว่า ย่อมไม่ได้ยศหรือความสุข แม้มีประมาณเล็กน้อย. คำว่า กิจนั้น คือ ความกังวลอันใดที่ท่านกระทำแล้ว แก่บุคคลผู้เรียนศิลปะทั้งหลายแล้วเที่ยวไป เมื่อต้องการความเป็นใหญ่กิจนั้นไม่ดีเลย. คำว่า มีรูปแปลก คือมีรูปผิดปกติ. คำว่า ที่ท่านรักษาไว้ คือที่ท่านตามรักษาไว้แล้ว. คำว่า สมบูรณ์ด้วยชาติ คือถึงพร้อมแล้วด้วยชาติบ้าง ถึงพร้อมแล้วด้วยศิลปะวิทยาความประพฤติและ

 
  ข้อความที่ 49  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 491

การงานอันประกอบด้วยปัญญาบ้าง. คำว่า ย่อมใช้ คือย่อมกระทำการใช้สอย. คำว่า เพราะฉะนั้น คือเหตุนั้น. คำว่า ไม่มีสัจจะ คือท่านไม่มีสัจจะ เพราะ ไม่ประพฤติอยู่ในสัจจะที่นับว่า สภาวะ คือเว้นจากความเป็นผู้สูงสุด. คำว่า ไม่รู้และเสพคบหา คือไม่แบ่งไม่รู้จักสิ่งที่ควรและไม่ควร เสพอยู่ซึ่งนรชน นอกนี้แม้ถึงพร้อมแล้วด้วยศิลปะเป็นต้น. คำว่า ทำผู้รู้ให้ตกไปตาม คือทำบัณฑิตให้ตกไปตาม คือทำบัณฑิตให้ตกไปแล้วเที่ยวเบียดเบียนอยู่. คำว่า สุธาโภชน์จักมีแต่ที่ไหนเล่า อธิบายว่า สุธาโภชน์ของท่านผู้มีคุณเลวทราม เช่นนั้นจะมีแต่ที่ไหน ท่านย่อมไม่ชอบใจเรา ท่านจงกลับไปเสีย อย่าอยู่ในที่นี้ เลย.

นางสิรีเทพธิดานั้น ครั้นถูกโกสิยดาบสนั้นห้ามแล้ว ก็อันตรธานหายไปในที่นั้นนั่นเอง ลำดับนั้น โกสิยดาบสนั้นเมื่อจะเจรจากับนางอาสาเทพธิดา จึงกล่าวคาถาต่อไปว่า

ใครนั่นเป็นผู้มีฟันขาว สวมกุณฑลมีร่างกาย อันวิจิตร ทรงเครื่องประดับเกลี้ยงเกลาทำด้วยทองคำ นุ่งห่มผ้ามีสีดังสายน้ำหยด ย่อมงดงามเหมือนดัง ประดับช่อดอกไม้มีสีแดงดุจเปลวไฟไหม้หญ้าคา ฉะนั้น. ท่านเป็นเหมือนนางเนื้อทรายคะนอง ที่นาย ขมังธนูยิงผิดแล้ว มองดูอยู่ดุจทำเขลา ฉะนั้น ดูก่อน นางเทพธิดาผู้มีดวงตาอันขาว ในที่นี้ ใครเป็นสหายของท่าน ท่านอยู่ในป่าใหญ่ แต่ผู้เดียวไม่กลัวหรือ.

ในคาถานั้นมีอธิบายว่า คำว่า มีร่างกายอันวิจิตร คือประกอบด้วยองค์อวัยวะอันวิจิตร. คำว่า ทรงเครื่องประดับเกลี้ยงเกลาทำด้วยทองคำ คือทรงเครื่องอลังการทองคำอันเกลี้ยงเกลา อันสำเร็จขึ้นจากการกระทำ. คำว่า

 
  ข้อความที่ 50  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 492

มีสีดังสายน้ำหยด คือ นุ่งห่มผ้าทุกูลพัสตร์อันเป็นทิพย์ มีสีดุจสายน้ำที่หยดลงแล้ว คำว่า นุ่งห่ม คือทั้งนุ่งแล้วด้วย ห่มแล้วด้วย. คำว่า แดงดุจเปลวไฟไหม้หญ้าคา คือ มีสีแดงเหมือนเปลวแห่งไฟที่กำลังไหม้หญ้าคา. คำว่า ประดับช่อดอกไม้ มีคำอธิบายว่า ประดับช่อดอกไม้ เช่นช่อดอกอโศก ที่หูทั้งสองข้าง. คำว่า นายขมังธนู หมายเอานายพราน. คำว่า ยิงผิด คือ ยิงพลาดไป. คำว่า ดุจทำเขลา อธิบายว่า นางเนื้อนั้นกลัวแล้ว จึงยืนอยู่ในระหว่างป่ามองดูนายพรานนั้นดุจทำเป็นเขลา ฉันใด ท่านก็แลดูเรา ฉันนั้นเหมือนกัน.

ในลำดับนั้น นางอาสา จึงตอบว่า

ข้าแต่โกสิยดาบส ในที่นี้สหายของข้าพเจ้าย่อมไม่มี ข้าพเจ้าเป็นเทวดามีชื่อว่า อาสา เกิดในดาวดึงส์พิภพ มาสู่สำนักของท่านเพราะหวังสุธาโภชน์ ข้าแต่ท่านผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ท่านจงแบ่งสุธาโภชน์นั้นให้แก่ข้าพเจ้าบ้าง.

คำว่า เกิดในดาวดึงส์พิภพ ในคาถานั้น หมายความว่า เป็นผู้เกิดพร้อมแล้วในพิภพชั้นดาวดึงส์.

โกสิยดาบสสดับคำนั้น เมื่อจะแสดงว่า ท่านให้ความหวังด้วยความสำเร็จผลแห่งความหวังแก่บุคคลที่ท่านชอบใจ หาให้แก่ผู้ที่ท่านไม่ชอบใจไม่ ความพินาศแห่งความปรารถนาที่ท่านตั้งใจไว้โดยชอบมิได้มี ดังนี้ ได้กล่าวเป็นคาถาว่า

พ่อค้าทั้งหลาย มีความหวังแสวงหาทรัพย์ ย่อมขึ้นเรือแล่นไปในทะเล อนึ่ง พ่อค้าเหล่านั้น ย่อมจม

 
  ข้อความที่ 51  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 493

ในท่ามกลางมหาสมุทรนั้น ในกาลบางครั้ง เขามีทรัพย์สิ้นไป ทั้งทรัพย์อันเป็นต้นทุนก็สูญหายไปแล้วก็กลับมา ชาวนาทั้งหลาย ย่อมไถนาด้วยความหวัง หว่านพืชก็กระทำโดยแยบคาย เขาไม่ได้ประสบผลอะไรๆ จากข้าวกล้านั้น เพราะเพลี้ยตกลงบ้าง เพราะฝนแล้งบ้าง ในภายหลัง นรชนทั้งหลายผู้แสวงหาความสุข ทำความหวังข้างหน้า ย่อมทำการงานของตนเพื่อนาย นรชนเหล่านั้น ถูกศัตรูเบียดเบียนแล้ว ไม่ได้ประโยชน์อะไรๆ ย่อมหนีไปสู่ทิศทั้งหลาย เพื่อประโยชน์แก่นายอีก สัตว์ผู้แสวงหาความสุขเหล่านี้ เป็นผู้ใคร่จะไปสวรรค์ ละทิ้งธัญชาติทรัพย์และหมู่ญาติเสียแล้ว ย่อมทำความเพียรอันเศร้าหมองตลอดกาลนาน เดินทางผิดย่อมไปสู่ทุคติเพราะความหวัง เพราะฉะนั้น ท่านชื่อว่า อาสา ที่เขาสมมติว่า เป็นผู้มักกล่าวให้เคลื่อนคลาดจากความจริง ดูก่อนนางอาสา ท่านจงนำความหวังในสุธาโภชน์ในตนออกเสีย นางเทพธิดาเช่นท่าน ยังไม่สมควรอาสนะและนำสุธาโภชน์ จักมีแต่ที่ไหนเล่า ท่านจงไปเสียเถิด ท่านไม่เป็นที่ชอบใจของเรา.

ในคาถานั้นมีอธิบายว่า คำว่า แล่นไป คือ แล่นเรือไป. คำว่า มีทรัพย์สิ้นไป คือ ทรัพย์สูญไปแล้ว โกสิยดาบสกล่าวอธิบายไว้ว่า ชนเหล่าหนึ่ง ย่อมอิ่มเอิบด้วยอำนาจของท่าน และชนอีกพวกหนึ่งก็เสื่อมโทรมด้วยอำนาจ

 
  ข้อความที่ 52  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 494

ของท่าน ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น คนที่มีธรรมอันลามกเหมือนอย่างท่านจึงไม่มี. คำว่า ทำโดยแยบคาย คือ ย่อมกระทำกิจนั้นๆ โดยอุบาย. คำว่า เพราะเพลี้ยตกลงบ้าง อธิบายว่า เพราะอันตรายที่เกิดแก่ข้าวกล้าทั้งหลาย มีฝนตกไม่เสมอกันและสัตว์จำพวกหนู มอด หมู และสัตว์พวกแมลงต่างๆ และโรคเกิดจากข้าวสาลีเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งตกลง. คำว่า นั้น อธิบายว่า โกสิยดาบสกล่าวว่า ชาวนาเหล่านั้น ย่อมไม่ประสบผลอะไรๆ จากข้าวกล้านั้น ท่านผู้เดียวย่อมกระทำกรรมคือ การตัดความหวังของชาวนาแม้เหล่านั้น. คำว่า ในภายหลัง กระทำการงานของตน อธิบายว่า กระทำความบากบั่นของบุรุษในยุทธภูมิทั้งหลาย. คำว่า กระทำความหวังข้างหน้า คือ กระทำความหวังที่จะเป็นใหญ่ข้างหน้า. คำว่า เพื่อประโยชน์แก่นาย คือ เพื่อความต้องการของนาย. คำว่า ถูก ศัตรูเบียดเบียน คือ เป็นผู้ถูกข้าศึกทั้งหลายเบียดเบียนแล้ว มีทรัพย์สมบัติ ก็ถูกยื้อแย่งแล้ว มีเสนาและพาหนะถูกกำจัดแล้ว. คำว่า หนีไป คือ ย่อมหนีไป. คำว่า ไม่ได้ประโยชน์อะไรๆ คือ ไม่ได้ความเป็นใหญ่ โกสิยดาบสกล่าวว่า ท่านผู้เดียวย่อมกระทำให้ชนแม้เหล่านี้ ไม่ได้ความเป็นใหญ่ด้วยประการฉะนี้. คำว่า ผู้ใคร่จะไปสวรรค์ คือ เป็นผู้ปรารถนาจะไปยังสวรรค์. คำว่า เศร้าหมอง หมายเอาความลำบากกายมีความเพียร ๕ อย่าง ซึ่งหมดโอชะแล้วเป็นต้น. คำว่า ตลอดกาลนาน ได้แก่ สิ้นกาลนานยิ่งนัก. คำว่า ท่านชื่อ อาสา ที่เขาสมมติว่าเป็นผู้มักกล่าวให้ คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อธิบายว่า สัตว์เหล่านั้นย่อมไปสู่ทุคติเพราะ ความหวังอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ท่านมีชื่อว่า อาสา เป็นผู้ที่เขาสมมติแล้วว่า

 
  ข้อความที่ 53  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 495

เป็นผู้มักกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความจริง คือถึงการนับว่าเป็นผู้กล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความจริง โกสิยดาบสย่อมเรียกนางเทพธิดานั้นว่า ดูก่อน อาสา ดังนี้.

แม้นางอาสานั้น ครั้นถูกโกสิยดาบสห้ามเสียแล้ว จึงอันตรธานหายไป. ในลำดับนั้น โกสิยดาบสเมื่อจะเจรจากับนางศรัทธา จึงกล่าวคาถาว่า

ท่านผู้มียศ รุ่งเรืองอยู่ด้วยยศ ยืนอยู่เป็นเจ้าในทิศ เราเรียกโดยชื่ออันน่าเกลียด ดูก่อนนางผู้มีร่างกายคล้ายทองคำ เราขอถามท่าน ท่านจงบอกเราว่า ท่านเป็นเทวดาอะไร.

ในคาถานั้นคำว่า รุ่งเรือง คือ รุ่งโรจน์อยู่. คำว่า เราเรียกโดยชื่ออันน่าเกลียด อธิบายว่า เราเรียกอยู่โดยชื่ออันน่าเกลียดคือลามกอย่างนี้ว่า นางอื่นอีกบ้าง นางคนหลังบ้าง. คำว่า เป็นเจ้าในทิศ ได้แก่ ท่านยืนรุ่งเรืองอยู่.

ลำดับนั้น นางศรัทธาจึงกล่าวคาถาว่า

ข้าพเจ้ามีชื่อว่า ศรัทธาเทวี ที่มนุษย์บูชาแล้วเป็นผู้ไม่เสพคบสัตว์ผู้ลามกในกาลทุกเมื่อ มาสู่สำนักของท่าน เพราะวิวาทด้วยสุธาโภชน์ ข้าแต่ท่านผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ท่านจงแบ่งสุธาโภชน์นั้นให้ ข้าพเจ้าบ้างเถิด.

ในคาถานั้นมีคำอธิบายว่า คำว่า ศรัทธา ได้แก่ การเชื่อถ้อยคำของบุคคลคนใดคนหนึ่ง มีโทษก็มี ไม่มีโทษก็มี. คำว่า บูชา คือ บูชาแล้ว ด้วยอำนาจแห่งส่วนอันไม่มีโทษ. คำว่า ไม่เสพคบสัตว์ผู้ลามกในกาลทุก

 
  ข้อความที่ 54  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 496

เมื่อ อธิบายว่า เป็นผู้มีศรัทธาอันหาโทษมิได้ จริงอยู่ คำว่า ศรัทธา นี้ เป็นชื่อของเทวดาผู้สามารถตบแต่งจัดแจง แม้ในบุคคลอื่นมีการจัดแจงโดยส่วนเดียวเป็นสภาพ.

ลำดับนั้น โกสิยดาบสจึงกล่าวว่ากะนางศรัทธานั้นว่า

ก็บางคราวมนุษย์ทั้งหลาย ถืออาการให้บ้าง การฝึกฝนบ้าง การบริจาคบ้าง การสำรวมบ้าง ย่อมกระทำด้วยความเชื่อ แต่มนุษย์พวกหนึ่งกระทำโจรกรรมบ้าง พูดเท็จบ้าง ล่อลวงบ้าง กล่าวส่อเสียดบ้าง ท่านอย่าประกอบต่อไปเลย.

บุรุษผู้มีความเพ่งเล็งในภรรยาทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยศีล ผู้มีวัตรในการปฏิบัติสามีดีแล้ว และเป็นผู้เสมอกัน ย่อมนำความพอใจในนางกุลธิดาออกเสีย เพราะเขาทำความเชื่อตามคำของนางกุมภทาสีอีก ดูก่อนนางศรัทธา ตัวท่านนั่นแล ให้ชนอื่นเสพคบ ภรรยาของผู้อื่น ท่านย่อมทำบาป ละทิ้งกุศลเสีย นางเช่นท่านไม่สมควรแก่อาสนะและน้ำ สุธาโภชน์จักมีแต่ไหนเล่า ท่านจงไปเสีย ท่านไม่เป็นที่ชอบใจของเรา.

ก็ดาบสนั้น กล่าวกะนางเทพธิดาผู้มีชื่อว่า ศรัทธานั้นว่า สัตว์เหล่านี้เชื่อถ้อยคำของผู้ใดผู้หนึ่งแล้ว ย่อมกระทำกรรมนั้นๆ เขาย่อมทำกรรมซึ่งไม่สมควรกระทำให้มากกว่ากรรมที่ควรกระทำเสียอีก กรรมนั้นทั้งหมด ย่อมชื่อว่า เป็นกรรมที่ท่านใช้ให้เขาทำแล้วทุกอย่าง ดังนี้ กล่าวไว้แล้ว ด้วยความมุ่งหมายอย่างนี้.

 
  ข้อความที่ 55  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 497

ในคาถานั้นมีคำอธิบายว่า ก็การให้ที่ประกอบด้วยเจตนามีวัตถุ ๑๐ ประการ ชื่อว่าทาน. การฝึกอินทรีย์ ชื่อว่าการฝึกฝน การบริจาคไทยธรรม ชื่อว่าการบริจาค ศีล ชื่อว่าการสำรวม. คำว่า ถือเอาด้วยความเชื่อ อธิบายว่า แม้ถือเอาแล้ว ก็ย่อมกระทำตามคำของบุคคลผู้กล่าวอยู่ว่า การ ให้ทานเป็นต้นเหล่านี้ มีอานิสงส์มาก ท่านพึงกระทำเถิด ดังนี้ เพราะความ เชื่อ. คำว่า ล่อลวง ความว่า มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมกระทำกรรมมีการโกง ด้วยตาชั่งเป็นต้น หรือกรรมมีการโกงชาวบ้านเป็นต้น. คำว่า แต่มนุษย์พวก หนึ่ง มีอธิบายว่า ฝ่ายมนุษย์อีกพวกหนึ่งเชื่อถ้อยคำของชนบางพวกว่า ท่าน พึงกระทำโจรกรรมเป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่คนเหล่านั้นด้วยเหล่านี้ด้วย ใน กาลทั้งหลายซึ่งเห็นปานนี้ ดังนี้ แล้วกระทำกรรมแม้เหล่านี้. คำว่า ท่านอย่า ประกอบต่อไป อธิบายว่า แม้ชนเหล่าอื่นไม่เชื่อถ้อยคำของบุคคลผู้กล่าวอยู่ ว่า กรรมเหล่านั้น เต็มไปด้วยโทษมีทุกข์เป็นผล ท่านไม่ควรทำดังนี้ ก็ยัง ขืนกระทำ กรรมนั้น ท่านอย่าได้ชักชวนต่อไป เพราะกรรมที่บุคคลกระทำ ด้วยอำนาจของท่านนั้น มีโทษก็มี ไม่มีโทษก็มี ด้วยประการฉะนี้. คำว่า เสมอกัน คือเป็นผู้เสมอกันด้วยชาติ โคตรและศีลเป็นต้น. คำว่า เพ่งเล็ง อธิบายว่า ตัณหา ท่านกล่าวว่าความเพ่งเล็ง อธิบายว่า เป็นผู้มีความห่วงใย ยังมีตัณหา. คำว่า ความพอใจ ได้แก่ เป็นผู้มีจิตรักใคร่แล้ว ย่อมกระทำ ความกำหนดด้วยสามารถแห่งความพอใจ. คำว่า ความเชื่อ ได้แก่ ย่อม กระทำความเชื่อตามถ้อยคำแม้ของนางกุมภทาสี จริงอยู่ เมื่อนางกุมภทาสีนั้น กล่าวอยู่ว่า ดิฉันจักกระทำอุปการะชื่อนี้แก่ท่าน ดังนี้ บุรุษนั้นเชื่อแล้วก็ทิ้งแม้ หญิงผู้มีตระกูลเสีย กลับมาเห็นกับนางทาสีนั้นแล. อนึ่ง บุรุษกระทำความเชื่อ ตามถ้อยคำของนางกุมภทาสีว่า หญิงมีชื่อนั้น มีจิตรักใคร่ในตัวท่าน ดังนี้แล้ว ย่อมเสพภรรยาของชนอื่น. คำว่า ดูก่อนนางศรัทธา ตัวท่านนั่นแลให้ชนอื่น เสพในภรรยาของผู้อื่น มีอธิบายว่า เพราะเหตุที่ชนทั้งหลายเชื่อฟังคำนั้นๆ

 
  ข้อความที่ 56  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 498

จึงเสพภรรยาของชนอื่นกระทำกรรมอันเป็นบาปละกุศลเสีย เพราะอำนาจของท่าน เพราะฉะนั้น ตัวท่านนั่นแล ชื่อว่าเป็นผู้เสพซึ่งภรรยาของชนอื่น ท่านย่อมกระทำกรรมอันเป็นบาปทั้งหลาย ย่อมละทิ้งกุศลเสีย บุคคลที่มีธรรมอันลามก ผู้ทำโลกให้ฉิบหายเหมือนกับท่านไม่มีอีกแล้ว ท่านจงไปเสียเถิด ท่านไม่เป็นที่ชอบใจแก่เรา.

นางศรัทธานั้น ก็ได้อันตรธานหายไปในที่นั้นเอง. ฝ่ายโกสิยดาบส เมื่อจะเจรจากับนางหิรีผู้ยืนอยู่ด้านทิศอุดร จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า

เมื่ออรุณขึ้นไปในที่สุดแห่งราตรี นางเทพธิดาใด เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งรูปอันงดงามปรากฏอยู่ ดูก่อน เทวดา ท่านเปรียบเหมือนนางเทพธิดานั้น จะพูดกะเราหรือ ท่านจงบอกแก่เราว่าท่านเป็นนางอัปสรอะไร ท่านมีชื่อว่าอย่างไร ยืนอยู่ประดุจเถาวัลย์ดำในฤดูร้อน และประดุจเปลวไฟที่ห้อมล้อมอยู่ด้วยใบไม้สีแดง ถูกลมพัดแล้วดูงามฉะนั้น ท่านเป็นผู้ราวกะว่าจะพูดแต่มิได้เปล่งวาจาออกมา แลดูอยู่เหมือนนางเนื้อเขลา ฉะนั้น.

ในคาถานั้นมีคำอธิบายว่า คำว่า ในที่สุดแห่งราตรี หมายถึงราตรี อันเป็นที่สุดท้าย อธิบายว่า กาลเป็นที่สุดแห่งกลางคืน. คำว่า ขึ้นไป คือเมื่อ อรุณขึ้นไปแล้ว. คำว่า ใด อธิบายว่า นางเทพธิดาใดเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งรูปอันงดงาม เพราะมีผิวพรรณดังทองคำปรากฏอยู่ทางด้านทิศบูรพาในเวลากลางคืน. คำว่า ประดุจเถาวัลย์ดำในฤดูร้อน คือประหนึ่งว่า เถาวัลย์มีสีดำในสมัย แห่งฤดูร้อน ฉะนั้น. คำว่า ประดุจเปลวไฟ ได้แก่ ประดุจเปลวเพลิง แม้นางเทพธิดานั้น ยืนอยู่ประดุจเถาวัลย์คำที่งอกขึ้นอ่อนๆ มีสีแดงดีในนาที่ไฟไหม้แล้วใหม่ๆ. คำว่า ห้อมล้อมอยู่ด้วยใบไม้สีแดง คือมีใบไม้ต่างๆ

 
  ข้อความที่ 57  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 499

ซึ่งมีสีแดงแวดล้อมแล้ว. คำว่า ท่านมีชื่อว่าอย่างไรยืนอยู่ อธิบายว่า เถาวัลย์คำอ่อนนั้น ถูกลมพัดแล้วไหวไปมาอยู่ดูงดงามตั้งอยู่ด้วยประการใด ท่านมีชื่อว่าอย่างไร ยืนอยู่ด้วยประการนั้น. คำว่า ราวกะว่าจะพูด อธิบาย ว่า ท่านได้เป็นผู้ราวกะว่าปรารถนาจะพูดกับเรา แต่หาเปล่งถ้อยคำไม่.

ลำดับนั้น นางหิรีเทพธิดานั้น จึงกล่าวคาถาว่า

ข้าพเจ้ามีชื่อว่านางหิรีเทวี ได้รับการบูชาแล้ว ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่เสพสัตว์ผู้ลามกในกาลทุกเมื่อ มายังสำนักของท่าน เพราะวิวาทกันด้วย เรื่องสุธาโภชน์ ข้าพเจ้านั้น มิอาจที่จะขอสุธาโภชน์กะท่านได้ เพราะการขอของหญิงดูเหมือนจะเป็นของ น่าละอาย.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หิราห คือ ข้าพเจ้าชื่อหิรี. บทว่า สุธํปิ (สุธาโภชน์) ความว่า ข้าพเจ้านั้นไม่อาจแม้เพื่อขอสุธาโภชน์กะท่าน. เพราะเหตุไร บทว่า โกปินรูปาวิย ยาจนิตฺถิยา (เพราะการขอของหญิงดูเหมือนจะเป็นของน่าละอาย) ความว่า เพราะการขอของหญิงดูเหมือนจะ เป็นของน่าละอาย เป็นเช่นกับการเปิดเผยอวัยวะลับ เป็นเหมือนปราศจาก ความละอาย.

โกสิยดาบสได้สดับคำนั้น จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า

ดูก่อนนางผู้มีกายงดงาม ท่านจักได้ตามธรรม ตามอุบายที่ชอบ นี้เป็นธรรมดาทีเดียว ก็สุธาโภชน์นั้น ท่านจะได้เพราะการขอก็หาไม่ เพราะฉะนั้น เราพึงเชื้อเชิญท่านผู้มิได้ขอสุราโภชน์นั้น ท่านต้องการสุธาโภชน์ใดๆ เราจะให้สุธาโภชน์นั้นๆ แก่ท่าน. ดูก่อน นางผู้มีสรีระคล้ายทองคำ วันนี้เราขอเชิญท่านไปใน

 
  ข้อความที่ 58  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 500

อาศรมของเรา เราจะบูชาท่านด้วยสรรพรส ครั้นบูชาท่านแล้ว จึงจักบริโภคสุธาโภชน์.

ในคาถานั้นมีคำอธิบายว่า คำว่า ตามธรรม คือตามสภาพ. คำว่า ตามอุบายที่ชอบ คือตามเหตุ. คำว่า สุธาโภชน์นั้นท่านจะได้เพราะการขอก็หาไม่ อธิบายว่า สุธาโภชน์นี้ ท่านจะไม่ได้เพราะการขอเลย นางเทพธิดาทั้ง ๓ นอกนี้ ไม่ได้แล้วเพราะเหตุนั้นแล. คำว่า เพราะฉะนั้น คือเพราะเหตุนั้น. คำว่า ท่านต้องการสุธาโภชน์ใดๆ อธิบายว่า เรามิได้เชื้อเชิญท่านแต่อย่างเดียวเท่านั้น ก็ท่านปรารถนาสุธาโภชน์ชนิดใด เราจะให้สุธาโภชน์แม้นั้นแก่ท่าน. คำว่า นางผู้มีสรีระคล้ายทองคำ คือนางผู้มีสรีระเต็มไปด้วยสิริประดุจ กองแห่งทองคำ. คำว่า บูชาแล้ว อธิบายว่า เรามิได้บูชาท่านด้วยสุธาโภชน์ อย่างเดียวเท่านั้น ท่านยังเป็นผู้สมควรที่เราควรจะบูชาด้วยสรรพรส แม้เหล่าอื่นอีกด้วย. คำว่า จักบริโภค อธิบายว่า เราบูชาท่านแล้ว ส่วนที่เหลือของสุธาโภชน์จักมี เราจักบริโภคส่วนที่เหลือนั้น.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า

ในกาลนั้น นางหิรีเทพธิดาผู้ไม่ข้องเกี่ยวกับ สัตว์ผู้ลามกในกาลทุกเมื่อนั้น เป็นผู้อันดาบสชื่อ โกสิยะ ผู้มีความรุ่งเรืองยอมให้เข้าไปสู่อาศรมอันน่ารื่นรมย์ มีน้ำและผลไม้สมบูรณ์อันท่านผู้ประเสริฐบูชาแล้ว ณ ที่ใกล้อาศรมสถานนั้นมากไปด้วยหมู่รุกขะ ชาตินานาชนิด อันผลิดอกออกผล มีทั้งมะม่วง มะหาด ขนุน ทองกวาว มะรุม อีกทั้งต้นโลท และ บัวบก การะเกด จันทน์กะพ้อ และหมากหอมแก่ ล้วนกำลังออกดอกบานสะพรั่ง. ในที่นั้นมากไปด้วยต้นไม้ ชนิดใหญ่ๆ คือต้นรัง ต้นกุ่ม ต้นหว้า ต้นโพธิ์ ต้น

 
  ข้อความที่ 59  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 501

ไทร อีกทั้งมะซาง ราชพฤกษ์ แคฝอย ไม้ย่างทราย ไม้จิก และลำเจียก ต่างก็มีกิ่งอันห้อยย้อยลงมา กำลังส่งกลิ่นหอมฟุ้งน่ายวนใจนัก ถั่วแระ อ้อยแขม ถั่วป่า ตะโก ข้าวฟ่าง ลูกเดือย ถั่วขาวเล็ก กล้วยมีเมล็ด กล้วยไม่มีเมล็ด ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ราชดัด และ ข้าวสารอันเกิดเอง ก็มีอยู่ในอาศรมนั้นมากมาย ก็เบื้องหน้าด้านทิศอุดรแห่งอาศรมสถานนั้น มีสระโบกขรณีอันงามราบรื่น มีพื้นท่าขึ้นลงเรียบเสมอกัน มีน้ำใสจืดสนิทไม่มีกลิ่นเหม็น อนึ่ง ในสระโบกขรณีนั้น มีปลาต่างชนิด คือ ปลาดุก ปลากะทุงเหว ปลากราย กุ้ง ปลาตะเพียน ปลาฉลาด ปลากา ว่ายเกลื่อนกลาดไปในสระโบกขรณีที่มีขอบคัน พากันแหวกว่ายอย่างสบายทั้งเหยื่อก็มาก และที่ใกล้เคียง สระโบกขรณีนั้น มีนกต่างชนิด คือหงส์ นกกระเรียน นกยูง นกจากพราก นกออก กระเหว่าลาย นกยูง ทอง นกพริกและนกโพระดกมากมาย ล้วนมีขนปีก อันงดงาม พากันจับอยู่อย่างสบาย ทั้งอาหารก็มีมาก ในที่ใกล้เคียงสระโบกขรณีนั้น มีปาณชาติและหมู่เนื้อ ต่างๆ มากมาย คือราชสีห์ เสือโคร่ง ช้าง หมี เสือ ปลา เสือดาว แรดและโคลาน กระบือ ละมั่ง กวาง เนื้อทราย หมูป่า ระมาด หมูบ้าน กวางทอง แมว กระต่าย วัวกระทิง เป็นอันมากล้วนงามวิจิตรหลาก

 
  ข้อความที่ 60  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 502

หลาย พื้นดินและหินเขาดารดาษงามวิจิตรไปด้วยดอกไม้ ทั้งฝูงนกก็ส่งเสียงร้องกึกก้อง เป็นที่อาศัยของหมู่ ปักษี.

ในคาถาเหล่านั้น มีอรรถาธิบายว่า คำว่า ผู้มีความรุ่งเรือง คือ เป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยอานุภาพ. คำว่า ให้เข้าไปสู่อาศรม คือ เชิญให้ เข้าไปยังอาศรมบท. อักษรเป็นพยัญชนะสนธิ. คำว่า มีน้ำ คือ สมบูรณ์ ด้วยน้ำในที่นั้นๆ ผลไม้ คือ สมบูรณ์ด้วยผลไม้มากมาย. คำว่า พระอริยะ บูชาแล้ว คือ พระอริยะทั้งหลาย ผู้มีปกติได้ฌาน ผู้เว้นแล้วจากโทษคือ นิวรณ์ บูชาแล้วคือสรรเสริญแล้ว. คำว่า หมู่รุกขชาติ หมายถึงหมู่ไม้ที่ กำลังผลิดอกออกผล. คำว่า มะรุม ก็คือต้นมะรุม. คำว่า อีกทั้งต้นโลท และบัวบก คือ ต้นโลทด้วย ต้นบัวบกด้วย. คำว่า การะเกด และจันทน์- กะพ้อ คือ ต้นไม้ที่มีชื่ออย่างนั้นทีเดียว. คำว่า กุ่ม ก็คือต้นกุ่มนั่นแล. คำว่า ราชพฤกษ์ คือ ต้นราชพฤกษ์ (ต้นคูน). คำว่า ไม้จิกและลำเจียก ได้แก่ ต้นจิกและลำเจียก ๕ ชนิด. คำว่า ถั่วแระ หมายถึงอปรัณชาติ ชนิดหนึ่ง. คำว่า อ้อยแขม ได้แก่ ต้นอ้อย. คำว่า ถั่วป่า ก็คือถั่วราชมาษ กล้วยมีเมล็ดเรียกว่า โมจะ คำว่า ข้าวสาลี คือ ข้าวสาลีต่างๆ ชนิด ซึ่งอาศัยชาตสระเกิดแล้วมีประการต่างๆ. คำว่า ข้าวเปลือก ได้แก่ ข้าวเปลือกต่างชนิด. คำว่า ราชดัด คือต้นราชดัด (ต้นสมอ). คำว่า ข้าวสาร หมายถึง รวงข้าวสารอันเกิดขึ้นเอง ไม่มีรำและแกลบ. คำว่า อาศรมสถานนั้น อธิบายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ในส่วนแห่งทิศอุดรของอาศรมนั้น. คำว่า สระโบกขรณี หมายถึงสระโบกขรณีที่เกิดขึ้นเอง ดารดาษไปด้วยดอกบัว ๕ ชนิด. คำว่า ราบรื่น คือ เว้นจากของโสโครกมีดีปลา และสาหร่ายเป็นต้น.

 
  ข้อความที่ 61  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 503

คำว่า มีท่าเรียบ คือ มีท่าเรียบเสมอกัน มีพื้นที่มิได้ขาด. คำว่า ไม่มีกลิ่นเหม็น คือ ประกอบด้วยน้ำ มีกลิ่นอันไม่น่ารังเกียจคือมีกลิ่นหอม. คำว่า นั้น หมายถึงในสระโบกขรณีนั้น. คำว่า สบาย คือไม่มีภัย. คำว่า ปลาดุก นี้เป็นชื่อของปลาจำพวกนั้น. คำว่า กระเหว่าลาย หมายถึง จำพวกนกดุเหว่า. คำว่า งดงาม คือมีขนปีกอันงดงาน. คำว่า นกยูงทอง ได้แก่ นกยูงที่มีหงอนตั้งขึ้น. อีกอย่างหนึ่ง แม้นกเหล่าอื่นที่มีหงอนงอกขึ้นบนหัว ก็เรียกว่า สิขิณฑะเหมือนกัน. คำว่า มีปาณชาติ คือเหล่าสัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลายพากันมา. คำว่า แรด หมายถึงพวกแรดต่างๆ. คำว่า โคลาน ได้แก่ พวกโคลานทั้งหลาย. คำว่า ระมาด หมายถึงสัตว์ที่มีหูเหมือนโค. คำว่า วัวกระทิง หมายถึงเนื้อที่มีเขาแหลม. คำว่า พื้นดินและหินเขา อธิบายว่า หลังแผ่นหินมีพื้นเรียบเสมอพื้นดิน ดารดาษด้วยดอกไม้อันงามวิจิตร. คำว่า ทั้งฝูงนกก็ส่งเสียงร้องกึกก้อง อธิบายว่า ภาคพื้นและ ภูเขาในที่นั้นมีรูปเห็นปานนี้ อันฝูงนกทั้งหลายร้องกึกก้องไปทั่วแล้ว.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงพรรณนาอาศรมของโกสิยดาบสอย่างนี้แล้ว บัดนี้ พระองค์หวังจะทรงแสดงอาการ ที่นางหิรีเข้าไปในอาศรมนั้นเป็นต้น จึงตรัสว่า

นางหิรีเทพธิดานั้นมีผิวพรรณงาม ทัดดอกไม้เขียว เดินเข้าไปยังอาศรมประหนึ่งมหาเมฆ ขณะเมื่อฟ้าแลบสว่าง ฉะนั้น โกสิยดาบสได้พูดคำนี้ กะนางหิรีเทพธิดา ผู้ผูกช้องผมเรียบร้อยดีแล้วด้วยหญ้าคาอันสะอาด มีกลิ่นหอม มีเก้าอี้นั่งตั้งไว้ที่ประตู บรรณศาลา ใช้ลาดด้วยหนังเสืออชินะ เพื่อนางหิรีนั้นว่า ดูก่อนนางงาม เชิญท่านนั่งบนอาสนะนี้ตาม

 
  ข้อความที่ 62  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 504

สบายเถิด ในกาลนั้น เมื่อนางนั่งเก้าอี้แล้ว โกสิยดาบสมหามุนี ผู้ทรงชฎาอันรุ่งเรืองได้รีบนำสุธาโภชน์มาพร้อมกับน้ำ ด้วยใบบัวใหม่เอง เพื่อจะให้เพียงพอตามความประสงค์ นางหิรีเทพธิดานั้น เป็นผู้นีใจเบิกบาน รับสุธาโภชนีนั้นด้วยมือทั้งสอง แล้วจึงกล่าวกะโกสิยฤๅษีผู้ทรงชฎาว่า ข้าแต่มุนีผู้ประเสริฐ เอาเถิด ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ชัยชนะที่พระผู้เป็นเจ้าบูชาแล้ว จะพึงไปสู่ไตรทิพยสถานในบัดนี้ นางหิรีเทพธิดานั้น เป็นผู้มัวเมาแล้วด้วยความเมาในผิวพรรณ เป็นผู้อันโกสิยดาบส ผู้มีความรุ่งเรือง กล่าวอนุมัติแล้ว กลับไป ณ สำนักของท้าวสหัสนัยน์ ทูลว่า ข้าแต่ท้าววาสวะ สุธาโภชน์นี้โกสิยดาบสให้แล้ว ขอพระบิดาจงประทานความชำนะให้แก่หม่อมฉันเถิด แม่ท้าวสักกะ ก็ได้ทรงบูชานางหิรีนั้นในกาลนั้น เทวดาทั้งหลายพร้อมด้วยพระอินทร์ ได้พากันบูชานางสุรกัญญาผู้สูงสุด นางหิรีเทพธิดานั้น ท้าวสักกะให้นั่งบนเก้าอี้ทองคำอันใหม่ ในกาลใดเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายบูชาแล้ว ด้วยการประนมหัตถ์ในกาลนั้น.

ในคาถานั้นมีอรรถาธิบายว่า คำว่า มีผิวพรรณงาม คือมีผิวดี. คำว่า ทัดดอกไม้เขียว ความว่า ห้อยดอกไม้สีเขียว ลูบคลำกิ่งไม้เขียวนั้นๆ. คำว่า ประหนึ่งมหาเมฆ อธิบายว่า นางหิรีเทพธิดานั้น เป็นผู้อันโกสิยดาบสนั้น เชื้อเชิญแล้ว จึงเดินเข้าไปสู่อาศรมของท่าน ประหนึ่งสายฟ้าแลบในระหว่าง

 
  ข้อความที่ 63  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 505

มหาเมฆฉะนั้น. คำว่า นั้น คือ เพื่อนางหิรีเทพธิดานั้น. คำว่า ผู้ผูกช้องผมเรียบร้อยดีแล้ว คือ ผู้มีศีรษะอันผูกไว้ดีแล้ว. คำว่า หญ้าคา คือ สำเร็จ ด้วยหญ้าคา เจือด้วยหญ้าไทรเป็นต้น. คำว่า มีกลิ่นหอม คือ มีกลิ่นหอม เพราะเจือด้วยหญ้าไทรและหญ้าที่มีกลิ่นหอมอย่างอื่น. คำว่า ลาดด้วยหนังเสือ ได้แก่ ใช้หนังเสืออชินะปูไว้ข้างบน. คำว่า มีเก้าอี้นั่ง คือ ลาดเก้าอี้เห็นปานนี้ ไว้ที่ประตูบรรณศาลา. คำว่า นั่งบนอาสนะนี้ตามสบาย มีอธิบายว่า ท่านจงนั่งบนอาสนะนี้ตามความสุขสบายเถิด. คำว่า เพื่อจะให้เพียงพอตามความประสงค์ อธิบายว่า นางปรารถนาอยู่ซึ่งสุธาโภชน์พออิ่ม. คำว่า ด้วยใบบัวใหม่ ได้แก่ ด้วยใบบัวอันสดที่นำมาจากสระโบกขรณีใน ขณะนั้นเอง. คำว่า เอง คือด้วยมือของตนเอง. คำว่า พร้อมกับน้ำ คือ ประกอบด้วยน้ำทักษิณา. คำว่า นำสุธาโภชน์มา คือ นำสุธาโภชน์มา เฉพาะแล้ว. คำว่า รีบ คือรีบนำมาด้วยกำลังแห่งความโสมนัส. คำว่า เอาเถิด นี้เป็นนิบาตใช้ในข้อความเป็นอุปสรรค. คำว่า ผู้ได้ชัยชนะ คือเป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความชนะ. คำว่า อนุมัติแล้ว คือ อนุญาตแล้วว่า ท่านจงไปตามความพอใจ ณ บัดนี้เถิด. คำว่า ทูล ความว่า นางหิรีนั้นกลับไปยังไตรทศบุรีแล้ว กล่าวในสำนักของท้าวสักกะว่า สุธาโภชน์นี้โกสิยดาบสให้แล้ว. คำว่า นางสุรกัญญา หมายถึงนางเทพธิดา. คำว่า สูงสุด คือ ประเสริฐ. คำว่า นางเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้วด้วยประนมหัตถ์ อธิบายว่า เป็นผู้อันเทวดาทั้งหลายด้วย อันมนุษย์ทั้งหลายด้วย บูชาแล้ว ด้วยยกมือประนม. คำว่า ในกาลนั้น อธิบายว่า นางเข้าไปยังเก้าอี้ กล่าวคือตั่งทองคำใหม่ที่ท้าวสักกะประทานแล้ว เพื่อต้องการนั่งในกาลใด ในกาลนั้น ท้าวสักกะและเทวดาที่เหลือจึงพากันบูชานางผู้นั่งบนตั่งนั้น ด้วยดอกปาริฉัตตกะเป็นต้น.

 
  ข้อความที่ 64  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 506

ท้าวสักกะครั้นบูชานางอย่างนี้แล้ว จึงทรงดำริว่า เพราะเหตุอะไรเล่าหนอ โกสิยดาบสจึงไม่ให้แก่นางเทพธิดาที่เหลือ ได้ให้สุธาโภชน์แก่นางหิรีนี้ผู้เดียว ท้าวเธอจึงส่งมาตลีเทพสารถีไปอีกครั้งหนึ่ง เพื่อต้องการจะรู้เหตุนั้น.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า

ท้าวสหัสนัยน์ผู้เป็นจอมแห่งชาวไตรทศ ได้ตรัสกะมาลีนั้นต่อไปอีกว่า ท่านจงไปถามโกสิยดาบส ตามคำของเราว่า ข้าแต่โกสิยดาบส เว้นนางอาสา นางศรัทธา และนางสิริเสีย นางหิรีผู้เดียวได้สุธาโภชน์แล้ว เพราะเหตุอะไร.

ในคาถานั้นมีคำอธิบายว่า คำว่า ตรัส คือได้ตรัสไว้แล้ว. คำว่า ตามคำของเรา คือท่านจงกล่าวคำพูดของเรากะโกสิยดาบส. คำว่า นางอาสา นางศรัทธา และนางสิรี ความว่า เว้นจากนางอาสา นางศรัทธาและนางสิรีเสีย นางหิรีผู้เดียวเท่านั้นได้สุธาโภชน์แล้ว เพราะเหตุอะไร.

มาตลีเทพสารถีนั้น รับคำของท้าวสักกะนั้นแล้ว จงได้ขึ้นรถไพชยนต์ไป.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า

มาตลีขึ้นรถนั้น เลื่อนลอยไปตามสบายรุ่งเรืองอยู่ เช่นกับด้วยเครื่องใช้สอย มีงอนรถสำเร็จไปด้วยทองชมพูนุท มีสีแดงคล้ายทองวิเศษ มีเครื่องลาดวิจิตรด้วยทองคำอันประดับแล้ว รูปทั้งหลายมีอยู่มากมายในรถนั้น คือ รูปพระจันทร์ ช้าง โค ม้า

 
  ข้อความที่ 65  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 507

กินนร เสือโคร่ง เสือเหลือง เนื้อทราย ล้วนสำเร็จ ด้วยทองคำ นกทั้งหลายในรถนั้น ทำด้วยรัตนะต่างๆ ดุจกระโดดโลดเต้นอยู่ หมู่มฤคในรถนั้น จัดไว้ตามฝูง ล้วนสำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์ พวกเทพบุตรได้เทียมพระยาม้าอัศวราช ซึ่งมีสีดังทองคำในรถนั้น คล้ายช้างหนุ่มมีกำลัง ประมาณพันตัว อันประดับแล้ว มีเครื่องประดับทับทรวง อันทำด้วยข่ายทองคำ ทั้งห้อยเครื่องประดับหู ไปโดยเสียงปกติไม่ขัดข้อง มาตลีขึ้นสู่ยานอันประเสริฐนั้น บันลือแล้วตลอด ทิศทั้งสิบเหล่านี้ ให้ท้องฟ้าภูเขาและต้นไม้ใหญ่อัน เป็นเจ้าแห่งไพร พร้อมทั้งสาครตลอดทั้งเมทนีดลให้ สนั่นหวั่นไหวทั่วไป.

มาตลีนั้นเข้าไปยังอาศรมโดยเร็วพลันอย่างนี้ กระทำผ้าทิพยปาวารเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง กระทำอัญชลีแล้ว กล่าวกะโกสิยดาบสผู้เป็นพราหมณ์ประเสริฐกว่าหมู่เทวดา ผู้เป็นพหูสูตผู้เจริญ ผู้มีวัตรอันฝึกหัดดีแล้วว่า ข้าแต่โกสิยดาบส ท่านจงฟังถ้อยคำของพระอินทร์ ข้าพเจ้าเป็นทูตท้าวปุรินททเทวราช ตรัสถามท่านว่า ข้าแต่โกสิยดาบส ยกเว้นนางอาสา นางศรัทธา นางสิรีเสีย เพราะเหตุไร นางหิรีจึง ได้สุธาโภชน์แต่ผู้เดียว.

ในคาถานั้นมีอรรถาธิบายว่า คำว่า เลื่อนลอยไปตามสบาย ความว่า มาตลีขึ้นรถไฟชยนต์นั้นเลื่อนลอยไปตามสบาย. คำว่า ขึ้น คือ ขึ้นสู่รถนั้น

 
  ข้อความที่ 66  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 508

ได้แก่ ได้กระทำการตระเตรียมจะเหาะไป. คำว่า เช่นกับด้วยเครื่องใช้สอย คือ เช่นกับด้วยภัณฑะเครื่องอุปกรณ์ทั้งหลาย. คำว่า รุ่งเรือง อธิบายว่า รถนี้รุ่งเรืองแล้วเหมือนเครื่องอุปกรณ์ อันมีสีเสมอด้วยเปลวไฟของมาตลี นั้นรุ่งเรืองอยู่ฉะนั้น. คำว่า แล้วไปด้วยทองคำชมพูนุท อธิบายว่า มีงอนรถสำเร็จไปด้วยทองคำมีสีแดง กล่าวคือทองชมพูนุท. คำว่า มีเครื่องลาดอันวิจิตรด้วยทองคำ คือประกอบแล้วด้วยเครื่องลาดอันเป็นมงคล อันวิจิตรด้วยรัตนะ ๗ ประการ สำเร็จด้วยทอง. คำว่า รูปพระจันทร์ อธิบายว่า รูปพระจันทร์อันสำเร็จไปด้วยทองคำมีอยู่ในรถนั้น. คำว่า ช้าง คือ รูปช้าง อันสำเร็จด้วยทองคำ สำเร็จด้วยเงินและสำเร็จด้วยแก้วมณี แม้ในคำว่า โค เป็นต้น ก็มีนัยเหมือนกันทีเดียว. คำว่า นกทั้งหลายในรถนั้นดุจกระโดด โลดเต้นอยู่ อธิบายว่า แม้ฝูงนกอันสำเร็จด้วยรัตนะต่างๆ กำลังกระโดดโลดเต้นอยู่ในรถนั้นตามลำดับทีเดียว. คำว่า จัดไว้ตามฝูง อธิบายว่า ประกอบแล้วกับฝูงของตนๆ แสดงไว้แล้ว. คำว่า พระยาม้าอัศวราชมีสี ดังทองคำ ได้แก่พระยาม้าอัศวราชมโนมัยมีสีทอง. คำว่า คล้ายช้างหนุ่มมีกำลัง คือเช่นกับช้างรุ่นหนุ่มอันถึงพร้อมด้วยกำลัง. คำว่า มีเครื่องประดับทับทรวงอันกระทำด้วยข่ายทองคำ คือประกอบด้วยเครื่องอลัง การทับทรวงอันแล้วด้วยข่ายทองคำ. คำว่า ห้อยเครื่องประดับหู ได้แก่ ประกอบด้วยเครื่องประดับหู กล่าวคือพวงระย้า. คำว่า ไปโดยเสียงปกติ คือมีการวิ่งไปเป็นปกติ ด้วยอาการสักว่าเสียงเท่านั้น ปราศจากการประหาร ด้วยปฏัก. คำว่า ไม่ขัดข้อง อธิบายว่า พวกเทพบุตรเทียมพระยาม้า อัศวราชเห็นปานนี้ จึงไม่มีความขัดข้องวิ่งไปเร็วในรถนั้น. คำว่า บันลือ มีอธิบายว่า มาตลีได้กระทำการบันลือเป็นอันเดียวกันด้วยเสียงแห่งยาน. คำว่า เจ้าแห่งไพร อธิบายว่า เป็นเจ้าแห่งป่า และชัฏป่า. คำว่า ให้

 
  ข้อความที่ 67  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 509

สนั่นหวั่นไหว คือให้สะเทือนสะท้านทั่วไป บัณฑิตพึงทราบความหวั่นไหว ด้วยความหวั่นไหวแห่งวิมาน อันตั้งอยู่ในอากาศในรถนั้น. คำว่า กระทำผ้าทิพยปาวารเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง อธิบายว่า มีผ้าทิพยปาวารกระทำเฉลียงบ่าไว้ข้างหนึ่ง. คำว่า ผู้เจริญ คือเจริญด้วยคุณ. คำว่า มีวัตรอันฝึกหัดดีแล้ว คือประกอบด้วยวัตร ได้แก่มารยาทอันฝึกหัดไว้ดีแล้ว. คำว่า กล่าว ความว่า มาตลีหยุดรถนั้นในอากาศแล้ว จึงลงไปกล่าวอย่างนี้. คำว่า ผู้เป็นพราหมณ์ประเสริฐกว่าหมู่เทวดา อธิบายว่า ผู้เป็นพราหมณ์ ประเสริฐแก่เทวดาทั้งหลาย.

โกสิยดาบสสดับคำของมาตลีนั้นแล้ว จึงได้กล่าวคาถาว่า

ดูก่อนมาตลีเทพสารถี นางสิรีเทพธิดากล่าวตอบข้าพเจ้าว่า แน่ ส่วนนางศรัทธากล่าวตอบข้าพเจ้าว่า ไม่เที่ยง แต่นางอาสาเราสมมติว่า เป็นผู้กล่าวให้ คลาดเคลื่อนจากความจริง ส่วนนางหิรีเป็นผู้ตั้งอยู่ ในคุณอันประเสริฐ.

ในคาถานั้น มีคำอธิบายว่า นางสิรีตอบกะเราว่าแน่ เพราะคบชนที่ถึงพร้อมแล้ว ด้วยศิลปศาสตร์เป็นต้นบ้าง ชนที่ไร้จากคุณเช่นนั้นบ้าง ส่วนนางศรัทธาตอบกะเราว่า ไม่เที่ยง เพราะบุคคลละวัตถุนั้นๆ แล้ว จึงไปบังเกิดขึ้นในที่อื่น เพราะอาการที่มีแล้วกลับไม่มี ฝ่ายนางอาสาพูดตอบกะเราว่า พวกชนผู้มีความต้องการด้วยทรัพย์ แล่นเรือไปยังมหาสมุทร พอขาดทุนหมดแล้วจึงกลับ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้พูดให้ผิด ส่วนนางหิรีเป็นผู้ตั้งอยู่ในคุณอันบริสุทธิ์ และในคุณอันประเสริฐ กล่าวคือเป็นผู้มีหิรีและโอตตัปปะเป็นปกติ.

เมื่อโกสิยดาบสจะพรรณนาคุณของนางหิรีนั้นในบัดนี้ จึงกล่าว คาถาว่า

 
  ข้อความที่ 68  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 510

นางกุมารีก็ดี หญิงที่สกุลรักษาแล้วก็ดี หญิงแก่ ที่ไม่มีสามีก็ดี หญิงมีสามีก็ดี เหล่านี้ได้รู้ฉันทราคะที่เกิดขึ้นแรงกล้าในบุรุษทั้งหลายแล้ว ห้ามกันจิตของตน เสียได้ด้วยความละอายใจ เปรียบเหมือนนักรบเหล่าใด ที่ต้องสละชีวิตในสนานรบ อันกำลังต่อสู้ด้วยลูกศรและหอก เมื่อพวกนักรบแพ้แล้วในระหว่างผู้ที่ล้มไปอยู่ และหนีไป ย่อมกลับมาด้วยความละอายใจ พวกนักที่แพ้สงครามเหล่านั้น เป็นผู้มีใจละอาย ย่อมมารับนายอีกฉะนั้น. นางหิรีนี้เป็นผู้มีปกติห้ามชนเสียจากบาป เหมือนทำนบเป็นสถานที่กั้นกระแสน้ำเชี่ยวไว้ได้ ฉะนั้น ดูก่อนเทพสารถี เพราะฉะนั้น ท่านจงทูลตามคำที่เรากล่าวแล้วนั้นแด่พระอินทร์ว่า นางหิรีนั้น อันท่านผู้ประเสริฐบูชาแล้วในโลกทั้งปวง ฉะนั้น.

ในคาถาเหล่านั้น มีคำอธิบายว่า คำว่า หญิงแก่ หมายถึง หญิงหม้าย. คำว่า หญิงมีสามี หมายถึงหญิงรุ่นสาวที่มีสามี. คำว่า ของตน อธิบายว่า หญิงเหล่านั้นแม้ทั้งหมด รู้สึกมีความกำหนัดด้วย สามารถแห่งความพอใจของคนบังเกิดขึ้นแล้วในบุรุษอื่น ย่อมห้ามกันจิตของคนเสียได้ คือไม่กระทำกรรมอันลามก เพราะความละอายว่า กรรมนี้ไม่สมควรแก่เรา. คำว่า ล้มไปอยู่และหนีไป อธิบายว่า ในระหว่างแห่งผู้ที่ล้มไปอยู่ด้วย ผู้หนีไปอยู่ด้วย. คำว่า สละชีวิต อธิบายว่า นักรบเหล่าใด ย่อมเป็นผู้มีใจละอาย ยอมสละชีวิตของตนแล้วกลับมาด้วยความละอาย ก็แลครั้นกลับมาแล้วอย่างนี้ นักรบเหล่านั้น จึงเป็นผู้มีใจละอาย ย่อมรับนายของ

 
  ข้อความที่ 69  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 511

ตนอีก. คือแก้ไขนายให้พ้นจากเงื้อมมือของศัตรูแล้วรับเอาไป. คำว่า ห้ามชนเสียจากบาป อธิบายว่า นางหิรีนั้นเป็นผู้มีปกติห้ามชนเสียจากกรรมอันลามก อีกอย่างหนึ่ง พระบาลีเป็น ปาปโต ชนํ นิวาริณี (เป็นผู้มีปกติห้ามชนเสียจากบาป) ดังนี้ก็มี. คำว่า นั้น หมายถึงนางหิรีนั้น. คำว่า อันท่านผู้ประเสริฐบูชาแล้ว อธิบายว่า อันท่านผู้ประเสริฐทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นบูชาแล้ว. คำว่า ท่านจงทูลตามคำที่เรากล่าวแล้วนั้นแด่พระอินทร์ อธิบายว่า เพราะเหตุที่นางหิรีมีคุณมาก มีเพศที่ท่านผู้ประเสริฐบูชาแล้วอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจงไปบอกแก่พระอินทร์ว่า นางหิรีนั้นมีเพศอันสูงสุดอย่างนี้.

มาตลีสดับคำนั้น จึงกล่าวคาถานี้ว่า

ข้าแต่โกสิยะผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ท้าวมหาพรหม ท้าวมหินทรเทวราชหรือท้าวปชาบดี ใครเล่าจะเข้าใจความเห็นข้อนี้ของท่าน นางหิรีนี้ เป็น ธิดาของท้าวมหินทรเทวราช ย่อมได้สมมติว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแม่ในหมู่เทวดาทั้งหลาย.

ในคาถานั้น มีคำอธิบายว่า คำว่า ความเห็น. ได้แก่ ใครเล่าจะเข้าใจความเห็นว่า ขึ้นชื่อว่า นางหิรีนี้เป็นผู้มีคุณมาก อันท่านผู้ประเสริฐบูชาแล้ว. คำว่า เข้าใจ คือให้เข้าไปในน้ำใจ. คำว่า สมมติว่าประเสริฐที่สุด อธิบายว่า นางหิรีนั้น นับจำเดิมแต่ได้สุธาโภชน์ในสำนักของท่านแล้ว ก็ได้เสนาสนะทองคำในสำนักของพระอินทร์อีก เป็นผู้เทพยดาทั้งปวงบูชาอยู่ ย่อมได้รับสมมติว่าเป็นผู้สูงสุด.

เมื่อมาตลีกำลังกล่าวอยู่อย่างนี้ทีเดียว ธรรมคือความเสื่อมได้บังเกิดขึ้นแล้ว แก่โกสิยดาบสในขณะนั้นนั่นเอง ลำดับนั้น มาตลีจึงกล่าวว่า

 
  ข้อความที่ 70  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 512

ข้าแต่โกสิยะ ท่านปลงอายุสังขารเสียได้แล้ว แม้ธรรมคือการเคลื่อนก็ถึงพร้อมแก่ท่านแล้ว ท่านจะประโยชน์อะไรด้วยมนุษยโลก เราจะไปยังเทวโลก ด้วยกันเถิด ดังนี้ เป็นผู้ปรารถนาจะนำโกสิยดาบสนั้นไปในเทวโลกนั้น จึง กล่าวคาถาว่า

เชิญเถิด ท่านจงมา จงขึ้นรถคันนี้อันเป็นของข้าพเจ้าไปสู่ไตรทิพย์ ในกาลบัดนี้เถิด ข้าแต่ท่านผู้ มีโคตรเสมอด้วยพระอินทร์ ทั้งพระอินทร์ก็ทรงหวังท่านอยู่ ท่านจงถึงความเป็นสหายกับพระอินทร์ในวันทีเดียว.

ในคาถานั้น มีอธิบายว่า คำว่า เป็นของข้าพเจ้า คือเป็นสิ่งที่น่ารักน่าพอใจ. คำว่า ผู้มีโคตรเสมอด้วยพระอินทร์ อธิบายว่า ผู้มีโคตรเสมอกับพระอินทร์ในภพก่อน. คำว่า หวัง ได้แก่ ทั้งพระอินทร์ ก็ทรงปรารถนาหวังให้ท่านมาอยู่.

เมื่อมาตลีนั้นกำลังพูดอยู่กับโกสิยดาบสด้วยประการฉะนี้ทีเดียว โกสิยดาบสก็จุติจากอัตภาพนั้น บังเกิดเป็นอุปปาติกเทพบุตรขึ้นยืนอยู่บนทิพยรถ ลำดับนั้น มาตลีจึงนำท่านไปยังสำนักของท้าวสักกะ ท้าวสักกะพอเห็นท่าน ก็มีพระทัยยินดี ได้ประทานนางหิรีเทวี ซึ่งเป็นธิดาของพระองค์ให้เป็นอัครมเหสีของท่านแล้ว โกสิยเทพบุตรนั้น ได้มีอิสริยยศมามายหาประมาณมิได้.

พระศาสดาทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงตรัสว่า ขึ้นชื่อว่ากรรมของสัตว์ผู้มีคุณไม่ทราม ย่อมหมดจดได้อย่างนี้ แล้วจึงตรัสพระคาถาสุท้ายว่า

 
  ข้อความที่ 71  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้า 513

สัตว์ทั้งหลาย ผู้ไม่กระทำกรรมอันเป็นบาป ย่อมหมดจดได้ด้วยอาการอย่างนี้ อนึ่ง ผลของกรรมที่บุคคล ประพฤติดีแล้ว ย่อมไม่เสื่อมสูญไป สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ได้เห็นสุธารโภชน์แล้ว สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดทีเดียว ถึงความเป็นสหายกับพระอินทร์แล้ว.

ในคาถานั้น มีคำอธิบายว่า สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่ได้กระทำกรรมอันลามก ย่อมบริสุทธิ์อย่างนี้ สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ได้เห็นสุธาโภชน์ที่โกสิยดาบสให้แก่นางหิรีเทพธิดาในประเทศหิมวันต์นั้น ในกาลนั้น สัตว์เหล่านั้น แม้ทั้งหมดอนุโนทนาทานนั้นแล้ว กระทำจิตให้เลื่อมใสในทานนั้นแล้ว ถึงความเป็นสหายของพระอินทร์.

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่ ถึงเมื่อก่อน ตถาคตก็ได้ทรมานภิกษุ ผู้ไม่ยินดียิ่งแล้วในการให้ทาน ผู้มีความตระหนี่อันกระด้างนี้แล้วเหมือนกัน แล้วทรงประมวลชาดกว่า นางเทพธิดาชื่อว่า หิรี ในกาลนั้นได้เป็น นางอุบลวรรณา โกสิยดาบสได้เป็นภิกษุเจ้าของทาน ปัญจสิขเทพบุตรเป็น อนุรุทธะ มาตลีเทพสารถีเป็นอานนท์ สุริยเทพบุตรเป็นกัสสป จันทเทพบุตรเป็นโมคคัลลานะ นารทดาบสได้เป็นสารีบุตร ส่วนท้าวสักกเทวราชได้เป็นเราตถาคตเอง ด้วยประการฉะนี้แล.

จบอรรถกถาสุธาโภชนชาดก