พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. มาลุตชาดก ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  4 ส.ค. 2564
หมายเลข  35216
อ่าน  401

[เล่มที่ 55] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 265

๗. มาลุตชาดก

ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 55]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 265

๗. มาลุตชาดก

ว่าด้วยความหนาวเกิดแต่ลม

[๑๗] ข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ตาม สมัยใดลมย่อมพัดมา สมัยนั้นย่อมมีความหนาว เพราะความหนาวเกิดแต่ลม ในปัญหาข้อนี้ ท่านทั้งสองชื่อว่าไม่แพ้กัน.

จบมาลุตชาดกที่ ๗

๗. อรรถกถามาลุตชาดก

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระวิหารเชตวันทรงปรารภบรรพชิต ผู้บวช เมื่อแก่ ๒ รูป จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กาเฬ วา ยทิ วา ชุณฺเห ดังนี้.

ได้ยินว่า บรรพชิตทั้งสองรูปนั้น อยู่ในป่าแห่งหนึ่ง ในโกศลชนบท รูปหนึ่งชื่อ กาฬเถระ รูปหนึ่งชื่อ ชุณหเถระ อยู่มาวันหนึ่ง พระชุณหะ ถามพระกาฬะว่า ท่านกาฬะผู้เจริญ ธรรมดาว่าความหนาวมีในเวลาไร? พระกาฬะนั้นกล่าวว่า ความหนาวมีในเวลาข้างแรม. อยู่มาวันหนึ่ง พระกาฬะถาม พระชุณหะว่า ท่านชุณหะผู้เจริญ ธรรมดาว่าความหนาวย่อมมีในเวลาไร? พระชุณหะนั้น กล่าวว่า มีในเวลาข้างขึ้น พระแม้ทั้งสองรูปนั้นเมื่อไม่อาจตัดความสงสัยของตนได้ จึงพากันไปยังสำนักของพระบรมศาสดาถวายบังคมแล้ว ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมดาว่าความหนาวย่อมมีในกาลไร

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 266

พระเจ้าข้า? พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของภิกษุทั้งสองนั้นแล้วตรัสว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน เราก็ตอบปัญหานี้แก่เธอทั้งสองแล้ว แต่เธอทั้งหลายกำหนดไม่ได้ เพราะอยู่ในสังเขปแห่งภพ แล้วทรงนำอดีตนิทานมา ดังต่อไปนี้

ในอดีตกาล ณ เชิงเขาแห่งหนึ่ง มีสัตว์ผู้เป็นสหายกันสองตัว คือ ราชสีห์ตัวหนึ่ง เสือโคร่งตัวหนึ่ง อยู่ในถ้ำเดียวกันนั่นเอง ในกาลนั้น แม้ พระโพธิสัตว์ก็บวชเป็นฤๅษี อยู่ที่เชิงเขานั้นเหมือนกัน ภายหลังวันหนึ่ง ความวิวาทเกิดขึ้นแก่สหายเหล่านั้น เพราะอาศัยความหนาว เสือโคร่งกล่าวว่า ความหนาวย่อมมีเฉพาะในเวลาข้างแรม. ราชสีห์กล่าวว่า มีเฉพาะในเวลาข้างขึ้น. สหายแม้ทั้งสองนั้น เมื่อไม่อาจัดความสงสัยของตน จึงถามพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์จึงกล่าวคาถานี้ว่า

ข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ตาม สมัยใดลมย่อมพัดมา สมัยนั้นย่อมมีความหนาว เพราะความหนาวเกิดแต่ลม ในปัญหาข้อนี้ท่านทั้งสอง ชื่อว่าไม่แพ้กัน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาเฬ วา ยทิ วา ชุณฺเห ได้แก่ ในปักษ์ข้างแรม หรือในปักษ์ข้างขึ้น. บทว่า ยทา วายติ มาลุโต ความว่า สมัยใด ลมอันต่างด้วยลมทิศตะวันออกเป็นต้น ย่อมพัดมา สมัยนั้น ความหนาวย่อมมี. เพราะเหตุไร? เพราะความหนาวเกิดแต่ลม อธิบายว่า เพราะเหตุที่ เมื่อลมมีอยู่นั่นแหละ ความหนาวจึงมี, ในข้อนี้ปักษ์ข้างแรม หรือปักษ์ข้างขึ้น ไม่เป็นประมาณ บทว่า อุโภตฺถมปราชิตา ความว่า ท่านแม้ทั้งสองไม่แพ้กันในปัญหาข้อนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 267

พระโพธิสัตว์ให้สหายเหล่านั้นยินยอมกันด้วยประการอย่างนี้. ฝ่ายพระศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน เราก็ตอบปัญหานี้ แก่เธอทั้งหลายแล้ว ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย ในเวลาจบสัจจะ พระเถระแม้ทั้งสองเหล่านั้นก็ดำรงอยู่ใน พระโสดาปัตติผล. แม้พระศาสดาก็ทรงสืบอนุสนธิแล้วประชุมชาดกว่า เสือโคร่งในครั้งนั้น ได้เป็นพระกาฬะ ราชสีห์ในครั้งนั้น ได้เป็น พระชุณหะ ส่วนดาบสผู้แก้ปัญหาในครั้งนั้น ได้เป็นเราแล.

จบมาลุตชาดกที่ ๗