โลภะเป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรมอย่างไร
โลภะ คือ ความต้องการ ความทะยานอยาก ความติดข้อง ซึ่งเป็นสภาพจิตของทุกคนในขณะนี้ ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมอย่างละเอียดจะไม่ทราบเลยว่า การดำเนินชีวิตปกติในชีวิตประจำวัน เช่น รับประทานอาหาร อาบน้ำ แต่งตัว พูดคุย ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ปกติในชีวิตประจำวัน ก็เป็นโลภะประเภทที่ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน เสียหาย หรือเสียประโยชน์ แต่เป็นโลภะโดยสภาวะ คือ เป็นความติดข้อง ต้องการที่จะกระทำ เป็นโลภะขั้นละเอียด ที่ถ้าพระพุทธองค์ไม่ทรงแสดงความจริงนี้ เราจะไม่ทราบเลยว่าแท้จริงแล้วจิตของเราเป็นไปกับโลภะแทบจะตลอดเวลา
เราจะทราบลักษณะของโลภะต่อเมื่อโลภะมีกำลังแล้วเท่านั้น เช่น อยากได้อะไรมากๆ ก็จะรู้สึกถึงความรุ่มร้อน ทุรนทุราย อยากได้มาเป็นของตน เพราะมีความเป็นตัวตน ทุกคนจึงแสวงหาสิ่งที่ตนพอใจ ถ้ามีความต้องการในสิ่งใดและสิ่งนั้นเกินกำลังของตนที่จะได้มาด้วยวิธีที่สุจริต ผู้ที่โลภะมีกำลังมากก็จะคิดหาวิธีเพื่อให้ได้มาด้วยวิธีทุจริต หรือบางคนรวยมากแล้วก็ยังไม่รู้จักพอ ยังต้องการต่อไปอีกเรื่อยๆ ไม่รู้จบ ความไม่รู้จักพอนี่เอง เป็นเหตุให้ทำทุจริตทางกาย (ลักขโมย ทุจริตคอรัปชั่น ปล้นจี้) ทุจริตทางวาจา (พูดโกหก) ทุจริตทางใจ (คิดอยากได้วางแผนปล้น วางแผนทุจริตคอรัปชั่น) มีใครเห็นโลภะของตนเองบ้าง ทุกคนรู้จักโลภะแต่เพียงชื่อ แต่ไม่มีใครรู้จักตัวจริงของโลภะ เป็นเพราะเรามีความคุ้นเคยและชอบที่จะมีโลภะ เรามีความอยาก (โลภะ) ที่ไม่รู้จักจบจักสิ้น อยากได้สิ่งนั้น อยากได้สิ่งนี้ อยากเป็นคนรวย อยากมีอำนาจ ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ก็จะสะสมเพิ่มพูนแต่ความอยาก (โลภะ) ไว้ในจิต แม้กำลังจะตายก็ยังอยากจะไปสวรรค์ จึงเป็นการยากเหลือเกินที่จะละโลภะ พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ว่า โลภะนี่เองเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ (สมุทัยสัจจ์) โลภะนี่เองเป็นเหตุให้สัตว์โลกทั้งหลายต้องเวียนว่าย ตาย เกิด อยู่ในสังสารวัฏฏ์ฎ์
จากหนังสือ .. กรรมคำตอบของชีวิต โดย อัญญมณี มัลลิกะมาส