พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. นัจจชาดก เหตุที่ยังไม่ให้ลูกสาว

 
บ้านธัมมะ
วันที่  4 ส.ค. 2564
หมายเลข  35231
อ่าน  442

[เล่มที่ 55] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 332

๒. นัจจชาดก

เหตุที่ยังไม่ให้ลูกสาว


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 55]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 332

๒. นัจจชาดก

เหตุที่ยังไม่ให้ลูกสาว

[๓๒] เสียงของท่านก็เพราะ หลังของท่านก็งาม คอของท่านก็เปรียบดังสีแก้วไพฑูรย์ และหางของท่านก็ ยาวตั้งวา เราจะไม่ไห้ลูกสาวของเราแก่ท่าน เพราะการรำแพนหาง.

จบนัจจชาดกที่ ๒

๒. อรรถกถานัจจชาดก

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันวิหาร ทรงปรารภภิกษุผู้มีภัณฑะมากรูปหนึ่ง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า รุทํ มนุญฺํ ดังนี้.

เรื่องเป็นเช่นกับเรื่องที่กล่าวไว้ในเทวธรรมชาดกในหนหลังนั่นแหละ. พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่าเธอเป็นผู้มีภัณฑะมากจริงหรือ? ภิกษุนั้นกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ. พระศาสดาตรัสถามว่า เพราะเหตุไร เธอจึงเป็นผู้มีภัณฑะมาก? ภิกษุนั้นพอได้ฟังพระดำรัสมีประมาณเท่านี้ก็โกรธจึงทิ้งผ้านุ่ง ผ้าห่ม คิดว่า บัดนี้ เราจัก เที่ยวไปโดยทำนองนี้แล แล้วได้ยืนเป็นคนเปลือยอยู่ ณ เบื้องพระพักตร์. คนทั้งหลายพากันกล่าวว่า น่าตำหนิ น่าตำหนิ. ภิกษุนั้นหลบไปจากที่นั้น

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 333

แหละ แล้วเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว (คือสึก). ภิกษุทั้งหลายนั่งประชุม กันในโรงธรรมสภา พากันกล่าวโทษของภิกษุนั้นว่า กระทำกรรมเห็นปานนี้เบื้องพระพักตร์ชื่อของพระศาสดา. พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันเรื่องอะไรหนอ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ชื่อภิกษุนั้นละหิริและโอตตัปปะ เป็นคนเปลือย เหมือนเด็กชาวบ้านในท่ามกลางบริษัท ๔ เบื้องหน้าพระองค์ ผู้อันคนทั้งหลายรังเกียจอยู่ จึงเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว เสื่อมจากพระศาสนา ดังนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายจึงนั่งประชุมกันด้วยการกล่าวโทษมิใช่คุณของภิกษุนั้น. พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นเสื่อมจากศาสนาคือพระรัตนะ ในบัดนี้เท่านั้นหามิได้ แม้ในกาลก่อน ก็เป็นผู้เสื่อมแล้วจากอิตถีรัตนะเหมือนกัน แล้วทรงนำอดีตนิทานมาว่า

ในอดีตกาลครั้งปฐมกัป สัตว์ ๔ เท้าทั้งหลายได้ตั้งราชสีห์ให้เป็นราชา พวกปลาตั้งปลาอานนท์ให้เป็นราชา พวกนกได้ตั้งสุวรรณหงส์ให้เป็นราชา. ก็ธิดาของพระยาสุวรรณหงส์นั้นนั่นแล เป็นลูกหงส์มีรูปงาม พระยาสุวรรณหงส์ นั้นได้ให้พรแก่ธิดานั้น. ธิดานั้นขอ (เลือก) สามีตามชอบใจของตน. พระยาหงส์ ให้พรแก่ธิดานั้น แล้วให้นกทั้งปวงในป่าหิมพานต์ประชุมกัน หมู่นกนานาชนิดมีหงส์และนกยูงเป็นต้น มาพร้อมกันแล้ว ประชุมกันที่พื้นหินใหญ่แห่งหนึ่ง พระยาหงส์เรียกธิดามาว่า จงมาเลือกเอาสามีตามชอบใจของตน. ธิดานั้นตรวจดูหมู่นก ได้เห็นนกยูงมีคอดังสีแก้วมณี มีหางงามวิจิตรจึงบอกว่า นกนี้จงเป็นสามีของดิฉัน. หมู่นกทั้งหลายจึงเข้าไปหานกยูงแล้วพูดว่า ท่านนกยูงผู้สหาย ราชธิดานี้เมื่อจะพอใจสามีในท่ามกลางพวกนกมีประมาณเท่านี้ ได้ยังความพอใจให้เกิดขึ้นในท่าน. นกยูงคิดว่า แม้วันนี้พวกนกก็ยังไม่เห็นกำลังของเราก่อน จึงทำลายหิริโอตตัปปะเพราะความดีใจยิ่งนัก เบื้องต้น ได้เหยียดปีกออกเริ่มจะรำแพนในท่ามกลางหมู่ใหญ่ ได้เป็นผู้รำแพน (อย่างเต็มที่) ไม่มี

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

,พระาสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 334

เงื่อนงำปิดบังไว้เลย. พระยาสุวรรณหงส์ละอายกล่าวว่า นกยูงนี้ ไม่มีหิริอันมีสมุฏฐานตั้งขึ้นภายในเลย โอตตัปปะอันมีสมุฏฐานดังขึ้นในภายนอกจะมีได้อย่างไร เราจักไม่ให้ธิดาของเราแก่นกยูงนั้นผู้ทำลายหิริโอตตัปปะ แล้วกล่าว คาถานี้ในท่ามกลางหมู่นกว่า

เสียงของท่านก็เพราะ หลังของท่านก็งาม คอของท่านก็เปรียบดังสีแก้วไพฑูรย์ และหางของท่าน ก็ยาวตั้งวา เราจะไม่ให้ลูกสาวของเราแก่ท่าน เพราะการรำแพนหาง.

บทว่า รุทํ มนุญฺํ ในคาถานั้น ท่านแปลง อักกษร เป็น อักษร. อธิบายว่า เสียงเป็นที่น่าจับใจคือเสียงร้องไพเราะ. บทว่า รุจิรา จ ปิฏฺิ ความว่า แม้หลังของท่านก็วิจิตรงดงาม. บทว่า เวฬุริยวณฺญูปฏิภา แปลว่า เช่นกับสีแก้วไพฑูรย์. บทว่า พฺยามมตฺตานิ แปลว่า มีประมาณ ๑ วา. บทว่า เปกฺขุณานิ ได้แก่ กำหาง. บทว่า นจฺเจน เต ธีตรํ โน ททามิ ความว่า พระยาหงส์กล่าวว่า เราจะไม่ให้ธิดาของเราแก่ท่านผู้ไม่มีความละอายเห็นปานนี้ เพราะท่านทำลายหิริโอตตัปปะแก้วรำแพนนั่นแหละ แล้วได้ให้ธิดาแก่ลูกหงส์ผู้เป็นหลานของตน ในท่ามกลางบริษัทนั้นนั่นเอง.

นกยูงไม่ได้ธิดาหงส์ก็ละอายจึงบินหนีไป. ฝ่ายพระยาหงส์ก็ไปยังที่อยู่ ของตนนั่นแล.

พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ทำลายหิริโอตตัปปะแล้วเสื่อมจากศาสนาคือรัตนะ ในบัดนี้เท่านั้น หามิได้ แม้ในกาลก่อนก็เป็น ผู้เสื่อมแล้วแม้จากรัตนะคือหญิงเหมือนกัน พระองค์ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า นกยูงในครั้งนั้น ได้เป็นภิกขุผู้มีภัณฑะมาก ส่วนพระยาหงส์ในครั้งนั้นได้เป็นเราตถาคตแล.

จบนัจจชาดกที่ ๒