พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. ขทิรังคารชาดก ว่าด้วยผู้มีจิตมั่นคง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  4 ส.ค. 2564
หมายเลข  35239
อ่าน  468

[เล่มที่ 55] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 365

๑๐. ขทิรังคารชาดก

ว่าด้วยผู้มีจิตมั่นคง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 55]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 365

๑๐. ขทิรังคารชาดก

ว่าด้วยผู้มีจิตมั่นคง

[๔๐] ข้าพเจ้าจะตกนรก มีเท้าขึ้นเบื้องบน มีศีรษะลงเบื้องล่างก็ตาม ข้าพเจ้าจักไม่ทำกรรมอันไม่ประเสริฐ ขอนิมนต์ท่านรับก้อนข้าวเถิด.

จบขทิรังคาชาดกที่ ๑๐

จบกุลาวกวรรคที่ ๔

๑๐. อรรถกถาขทิรังคารชาดก

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวันวิหาร ทรงปรารภทานของอนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า นามํ ปตามิ นิรยํ ดังนี้.

ความพิศดารว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ปรารภเฉพาะวิหารเท่านั้น เรี่ยรายทรัพย์ ๕๔ โกฏิ ไว้ในพระพุทธศาสนา มิได้ทำความสำคัญในสิ่งอื่นว่าเป็นรัตนะนอกจากรัตนะทั้ง ๓ ให้เกิดเลย เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวันวิหาร ย่อมไปยังที่บำรุงใหญ่ ๓ ครั้ง ทุกวัน ตอนเช้าตรู่ไปครั้งหนึ่ง รับประทานอาหารเช้าแล้ว ไปครั้งหนึ่ง เวลาเย็นไปครั้งหนึ่ง ที่บำรุงในระหว่างแม้แห่งอื่นก็มีเหมือนกัน. ก็เมื่อจะไปไม่เคยมีมือเปล่าไป ด้วยคิดว่าสามเณรหรือภิกษุหนุ่มทั้งหลายจะพึงแลดูแม้มือของเราด้วยคิดว่า ท่านเศรษฐี

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 366

ถืออะไรมาหนอ เมื่อไปตอนเช้า ให้คนถือข้าวยาคูไป รับประทานอาหารเช้า แล้วเมื่อจะไป ให้คนถือเอาเนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง และน้ำอ้อยเป็นต้นไป เมื่อจะไปเวลาเย็น ถือของหอม ดอกไม้ และผ้าไป. ก็เมื่อท่านเศรษฐีนั้นบริจาคอยู่อย่างนี้ทุกวันๆ ประมาณในการบริจาคย่อมไม่มี. ฝ่ายคนผู้อาศัยการค้าขาย เลี้ยงชีพเป็นอันมาก ทำหนังสือให้ไว้กับมือของท่านเศรษฐี กู้เอาทรัพย์ไปนับได้ ๑๘ โกฏิ. ท่านเศรษฐีให้ทวงเอาทรัพย์ของคนเหล่านั้นมา อนึ่ง ทรัพย์ ๑๘ โกฏิ จำนวนอื่น ซึ่งเป็นของประจำตระกูลของท่านเศรษฐีนั้น ฝังไว้ที่ฝั่งแม่น้ำ เมื่อฝั่งแม่น้ำถูกน้ำในแม่น้ำอจิรวดีเซาะพังทลายก็เคลื่อนลงมหาสุมทรไป. ตุ่มโลหะ (ที่บรรจุทรัพย์) ตามที่ปิดไว้และประทับตราไว้นั้นก็กลิ้งไปในท้องทะเล. ก็ในเรือนของท่านเศรษฐีนั้น ยังคงมีนิตยภัตเป็นประจำสำหรับ ภิกษุ ๕๐๐ รูป. จริงอยู่ เรือนของท่านเศรษฐีเป็นเช่นกับสระโบกขรณีที่ขุดไว้ ในหนทาง ๔ แพร่งสำหรับภิกษุสงฆ์ ตั้งอยู่ในฐานะบิดามารดาของภิกษุทั้งปวง ด้วยเหตุนั้น แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จไปเรือนของท่านเศรษฐีนั้น. ฝ่ายพระมหาเถระทั้ง ๘๐ องค์ก็ไปเหมือนกัน. ส่วนภิกษุทั้งหลายที่เหลือต่างมาๆ ไปๆ หาประมาณมิได้.

ก็เรือนนั้น มี ๗ ชั้น. ประดับด้วยซุ้มประตู ๗ ซุ้ม มีเทวดาผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิองค์หนึ่ง สิงอยู่ที่ซุ้มประตูที่ ๔ ของเรือนนั้น. เทวดานั้น เมื่อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเจ้าเรือนและเสด็จออกไป ไม่อาจดำรงอยู่ในวิมานของตน จับเอาทารกลงมายืนอยู่เฉพาะบนภาคพื้น แม้เมื่อพระมหาเถระทั้ง ๘๐ องค์ เข้าไปและออกมา ก็กระทำเหมือนอย่างนั้น. เทวดานั้นคิดว่า ก็เมื่อ พระสมณโคดมและเหล่าสาวกของพระสมณโคดมนั้น ยังคงเข้าเรือนนี้อยู่ ชื่อ ว่าความสุขของเราย่อมไม่มี เราจักไม่อาจลงมายืนอยู่บนภาคพื้นตลอดกาลเป็นนิตย์ได้ เรากระทำโดยประการที่พระสมณะเหล่านี้เข้ามายังเรือนนี้ไม่ได้ จึงจะควร. อยู่มาวันหนึ่ง เทวดานั้นไปยังสำนักของผู้เป็นมหากัมมันติกะ (ผู้

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 367

อำนวยการ) ผู้กำลังเข้านอนแล้วได้ยืนแผ่โอภาสสว่างไสว และเมื่อท่านผู้เป็น มหากัมมันติกะกล่าวว่า ใครอยู่ที่นี่ จึงกล่าวว่า เราเป็นเทวดาผู้บังเกิดอยู่ที่ ซุ้มประตูที่ ๔. มหากัมมันติกะกล่าวว่า ท่านมาเพราะเหตุอะไร. เทวดากล่าวว่า ท่านไม่เห็นการกระทำของท่านเศรษฐีหรือ. ท่านเศรษฐีไม่มองดูกาลอันจะมีมาภายหลังของตน นำทรัพย์ออกถมเฉพาะพระสมณโคดมเท่านั้นให้เต็ม บริบูรณ์ ไม่ประกอบการค้าขาย ไม่ริเริ่มการงาน ท่านจงโอวาทท่านเศรษฐี ท่านจงกระทำโดยประการที่ท่านเศรษฐีจะทำการงานของตนและพระสมณโคดม พร้อมทั้งสาวกจะไม่เข้ามายังเรือนนี้. ลำดับนั้น ท่านมหากัมมันติกะนั้นได้กล่าวกะเทวดานั้นว่า ดูก่อนเทวดาพาล ท่านเศรษฐีเมื่อสละทรัพย์ ก็สละในพระพุทธศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ ท่านเศรษฐีนั้น ถ้าจักจับเราที่มวยผมเอาไปขาย เราจักไม่กล่าวอะไรๆ เลย ท่านจงไปเสียเถิด. อีกวันหนึ่ง เทวดานั้นเข้าไปหาบุตรชายคนใหญ่ของท่านเศรษฐี. แล้วกล่าวสอนเหมือนอย่างนั้น. ฝ่ายบุตรชายท่านเศรษฐีก็คุกคามเทวดานั้น โดยนัยอันมีในก่อนนั่นแหละ. แต่ เทวดานั้นไม่อาจกล่าวกับท่านเศรษฐีได้เลย. ฝ่ายท่านเศรษฐีให้ทานอยู่ไม่ขาดสาย ไม่กระทำการค้าขาย เมื่อทรัพย์สมบัติมีน้อย ทรัพย์ก็ได้ถึงการหมดสิ้น ไป. ครั้งเมื่อท่านเศรษฐีนั้นถึงความยากจนเข้าโดยลำดับ ผ้าสาฎก ที่นอน และภาชนะอันเป็นเครื่องบริโภคใช้สอยไม่ได้เป็นเหมือนดังแต่ก่อน. ท่านเศรษฐีแม้จะเป็นอย่างนี้ ก็ยังคงให้ทานแก่ภิกษุสงฆ์ แต่ไม่อาจทำให้ประณีต แล้วถวาย. ครั้นวันหนึ่ง พระศาสดาตรัสถามเศรษฐีนั้นผู้ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ว่า ดูก่อนคฤหบดี ก็ทานในตระกูล ท่านยังให้อยู่หรือ?. เศรษฐีนั้นกราบทูลว่า ยังให้อยู่พระเจ้าข้า แต่ว่าทานนั้นเศร้าหมอง เป็นข้าวปลายเกรียนมีน้ำ ผักดองเป็นที่สอง. ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะเศรษฐีนั้นว่า คฤหบดี ท่านอย่าทำจิตให้ยุ่งยากว่า เราให้ทานเศร้าหมองเลย เพราะว่า เมื่อจิตประณีตทานที่ถวายให้แก่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลาย ย่อม

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 368

ไม่ชื่อว่าเศร้าหมอง. เพราะเหตุไร. เพราะมีผลมาก. ก็ข้อนี้ ควรจะทราบอย่างนี้ ว่าก็เมื่อสามารถทำจิตให้ประณีต ทานชื่อว่าเศร้าหมอง ย่อมไม่มี และว่า

เมื่อจิตผ่องใสแล้ว ทักษิณา การทำบุญใน พระตถาคตสัมพุทธเจ้า หรือในสาวกของพระสัมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่ามีประมาณน้อย ย่อมไม่มี. ได้ยิน มาว่า การบำเรอในพระอโนมทัสสีพุทธเจ้าทั้งหลาย มีผลน้อย ย่อมไม่มี ท่านจงเห็นผลของก้อนข้าวกุมมาสอันเศร้าหมองและไม่เค็มเถิด.

แม้อีกข้อหนึ่ง พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี ก่อนอื่นท่านเมื่อ ให้ทานเศร้าหมอง ยังได้ให้แก่พระอริยบุคคล ๘ จำพวก เราครั้งเป็นเวลามพราหมณ์ ให้รัตนะทั้ง ๗ กระทำชมพูทวีปทั้งสิ้น ให้ไม่ต้องทำไร่ไถนา ยังมหาทานให้เป็นไปดุจทำแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ สายให้เต็มเป็นห้วงเดียวกัน ก็ไม่ได้ ใครๆ ผู้ถึงสรณะ ๓ หรือผู้รักษาศีล ๕ ชื่อว่าบุคคลผู้ควรแก่ทักษิณา หาได้ ยากอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ท่านอย่าได้ทำจิตให้ยุ่งยากว่าทานของเราเศร้าหมอง ก็แหละครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จึงตรัสเวลามสูตร.

ครั้งนั้นแล เทวดานั้นไม่อาจกล่าวกับเศรษฐีในกาลที่ท่านเศรษฐียังเป็นใหญ่ สำคัญว่า บัดนี้ เศรษฐีนี้จักเชื่อถือคำของเรา เพราะเป็นผู้ตกยาก ในเวลาเที่ยงคืนจึงเข้าไปยังห้องอันเป็นสิริ ได้แผ่แสงสว่างยืนอยู่ในอากาศ. เศรษฐีเห็นดังนั้นจึงกล่าวว่า นั้นใคร. เทวดานั้นกล่าวว่า ท่านมหาเศรษฐี ข้าพเจ้าเป็นเทวดาผู้สิงอยู่ที่ซุ้มประตูที่ ๔. เศรษฐีกล่าวว่า ท่านมาเพื่ออะไร. เทวดากล่าวว่า ข้าพเจ้าประสงค์จะกล่าวโอวาทท่านจึงได้มา. เศรษฐีกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงกล่าว. เทวดากล่าวว่า มหาเศรษฐี ท่านไม่คิดถึงเวลาหลัง ไม่เห็นแก่บุตรธิดา เรี่ยรายทรัพย์เป็นอันมากลงในศาสนาของพระสมณ-

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 369

โคดม ท่านนั้นเกิดเป็นคนยากไร้ เพราะอาศัยพระสมณโคดม โดยสละทรัพย์ เกินขอบเขต หรือโดยไม่ทำการค้าขายและการงาน ท่านถึงแม้จะเป็นอย่างนี้ก็ ยังไม่ปล่อยพระสมณโคดม แม้ทุกวันนี้ สมณะเหล่านั้นก็ยังเข้าเรือนอยู่นั่นแหละ ทรัพย์ที่พวกสรณะเหล่านั้นนำออกไปแล้ว ใครๆ ไม่อาจให้นำกลับมาได้ ย่อมเป็นอันถือเอาเลย ก็ตั้งแต่นี้ไป ตัวท่านเองก็อย่าได้ไปสำนักของพระสมณโคดม ทั้งอย่าได้ให้สาวกทั้งหลายของพระโคดมนั้นเข้ามายังเรือนนี้ ท่านแม้ให้พระสมณโคดมกลับไปแล้ว ก็อย่าได้เหลียวแล จงกระทำคดีฟ้องร้องและการค้าขายของตน รวบรวมทรัพย์สมบัติ. เศรษฐีนั้นจึงกล่าวกะเทวดานั้นอย่างนี้ว่า นี้เป็นโอวาทที่ท่านให้เราหรือ. เทวดากล่าวว่า จ้ะ นี้เป็นโอวาท. ท่านเศรษฐี กล่าวว่า เราอันพระทศพลทรงกระทำให้เป็นผู้อันพวกเทวดาเช่นท่านตั้งร้อยก็ ดี พันก็ดี แสนก็ก็ดี ให้หวั่นไหวไม่ได้และศรัทธาของเราไม่คลอนแคลนตั้งมั่นดีแล้วดุจภูเขาสิเนรุ เราสละทรัพย์ในรัตนศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ ท่านพูดคำอันไม่ควร ท่านผู้ไม่มีอาจาระ ทุศีล เป็นกาลกิณีเห็นปานนี้ ให้การประหารพระพุทธศาสนา เราไม่มีกิจคือการอยู่ในเรือนเดียวกันกับท่าน ท่านจงรีบออกจากเรือนของเราไปอยู่ที่อื่น.

เทวดานั้นได้ฟังคำของพระอริยสาวกผู้โสดาบัน ไม่อาจดำรงอยู่ได้ จึงไปยังที่อยู่ของตนแล้วเอามือจับทารกออกไป ก็แหละครั้นออกไปแล้วไม่ได้ที่อยู่ในที่อื่น คิดว่า จักให้เศรษฐีอดโทษแล้ว อยู่ที่ซุ้มประตูนั้นนั่นแหละ จึงไปยังสำนักของเทวบุตรผู้รักษาพระนคร ไหว้เทวบุตรนั้นแล้วยืนอยู่ และอันเทวบุตรผู้รักษาพระนครกล่าวว่า ท่านมาเพราะ ต้องการอะไร จึงกล่าวว่า นาย ข้าพเจ้าไม่ได้ใคร่ครวญ พูดกับ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนั้นโกรธเรา ฉุดคร่าเราออกจากที่อยู่ ท่านจงนำข้าพเจ้าไปยังสำนักของท่านเศรษฐี ให้ท่านอดโทษแล้วให้ที่อยู่แก่ข้าพเจ้า. เทวบุตรผู้รักษาพระนครถามว่า ก็ท่านพูดกะท่านเศรษฐีอย่างไร?

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 370

เทวดานั้นกล่าวว่า ข้าแต่นาย ข้าพเจ้ากล่าวกะท่านเศรษฐีอย่างนี้ว่า นาย ตั้งแต่นี้ท่านอย่ากระทำการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ ท่านอย่าให้พระสมณโคดมเข้าไปในเรือน. เทวบุตรผู้รักษาพระนครกล่าวว่า ท่านกล่าวคำอันไม่สมควร ท่านให้การประหารในพระศาสนา เราไม่อาจพาท่านไปยังสำนักของท่านเศรษฐี. เทวดานั้นไม่ได้การช่วยเหลือจากสำนักของเทวบุตรนั้น จึง ได้ไปยังสำนักของท้าวมหาราชทั้ง ๔ แม้ท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้นก็ปฏิเสธเหมือนอย่างนั้น จึงเข้าไปเฝ้าท้าวสักกเทวราชกราบทูลเรื่องราวนั้น แล้วอ้อนวอนอย่างดีว่า ข้าแต่เทวราช ข้าพระองค์ไม่ได้ที่อยู่ จูงทารกเป็นคนอนาถาเที่ยวไป ขอพระองค์จงยังเศรษฐีให้ให้ที่อยู่แก่ข้าพระองค์ ด้วยสิริของพระองค์. แม้ท้าวสักกะนั้นก็ตรัสกะเทวดานั้นว่า ท่านการทำกรรมอันไม่สมควร ท่านให้การประหารในศาสนาของพระชินเจ้า แม้เราก็ไม่อาจกล่าวกับเศรษฐี เหตุอาศัยท่าน แต่เราจะบอกอุบายให้ท่านเศรษฐีนั้นอดโทษแก่ท่านสักอย่างหนึ่ง. เทวดานั้นกราบทูลว่า สาธุ ข้าแต่เทวะ ขอพระองค์จงตรัสบอก. ท้าวสักกะ ตรัสว่า คนทั้งหลายทำหนังสือไว้กับมือของท่านเศรษฐี ถือเอาทรัพย์ไปนับได้ ๑๘ โกฏิ มีอยู่ ท่านจงแปลงเพศเป็นคนเก็บส่วยของท่านเศรษฐีนั้น อย่าให้ ใครๆ รู้จัก ถือเอาหนังสือเหล่านั้น อันพวกยักษ์หนุ่มๆ ๒ - ๓ คน ห้อมล้อม มือหนึ่งถือหนังสือ (สัญญา) มือหนึ่งถือเครื่องเขียน ไปเรือนของคนเหล่านั้น ยืนอยู่ในท่ามกลางเรือน ทำคนเหล่านั้น ให้สะดุ้งกลัวด้วยอานุภาพแห่งยักษ์ของตน แล้วชำระเงิน ๑๘ โกฏิ ทำคลังเปล่าของเศรษฐีให้เต็ม ทรัพย์ที่ฝังไว้ริมฝั่งแม่น้ำอจิรวดีอีกแห่งหนึ่ง เมื่อฝั่งแม่น้ำพังจึงเลื่อนลงสู่สมุทรมีอยู่ จงนำเอาทรัพย์แม้นั้นมาด้วยอานุภาพของตนแล้วทำคลังให้เต็ม ทรัพย์แม้อีก แห่งหนึ่งประมาณ ๑๘ โกฏิ ไม่มีเจ้าของหวงแหนมีอยู่ในที่ชื่อโน้น จงนำเอา ทรัพย์แม้นั้นมา ทำคลังเปล่าให้เต็ม ท่านจงทำคลังเปล่าอันเต็มด้วยทรัพย์ ๕๔ โกฏินี้ให้เป็นทัณฑกรรม แล้วให้มหาเศรษฐีอดโทษ.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 371

เทวดานั้นรับคำของท้าวสักกะนั้นว่า ดีละ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ แล้วนำทรัพย์ทั้งหมดมาโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ ในเวลาเที่ยงคืน จึงเข้าไป ห้องอันประกอบด้วยสิริของเศรษฐี ได้แผ่แสงสว่างยืนอยู่ในอากาศ เมื่อเศรษฐี กล่าวว่า นั่นใคร จึงกล่าวว่า ท่านมหาเศรษฐี ข้าพเจ้าเป็นเทวดาซึ่งสิงสถิต อยู่ที่ซุ้มประตูที่ ๔ ของท่าน ข้าพเจ้าผู้หลงเพราะโมหะใหญ่ ไม่รู้จักคุณของ พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้กล่าวคำอะไรๆ กับท่านในวันก่อนๆ มีอยู่ ท่านจงอดโทษนั้นแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้านำทรัพย์ ๕๔ โกฏิ มาตามพระดำรัสของท้าวสักกะเทวราช คือ ทรัพย์ ๑๘ โกฏิโดยชำระสะสางหนี้ของท่าน (และ) ทรัพย์ ๑๘ โกฏิของตนผู้ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ ในที่นั้นๆ กระทำทัณฑกรรมโดยทำคลัง ว่างเปล่าให้เต็ม ทรัพย์ที่ถึงความสิ้นไป เพราะปรารภ (การสร้าง) พระวิหารเชตวัน ข้าพเจ้าได้รวบรวมมาทั้งหมด ข้าพเจ้าเมื่อไม่ได้ที่อยู่ย่อมลำบาก ข้าแต่ท่านมหาเศรษฐี ท่านอย่าใส่ใจคำที่ข้าพเจ้ากล่าวเพราะความไม่รู้. จงอดโทษด้วยเถิด.

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ฟังคำของเทวดานั่นแล้วคิดว่า เทวดานี้ กล่าวว่า ก็ข้าพเจ้าได้ทำทัณฑกรรมแล้ว และปฏิญญายอมรับรู้โทษของตน พระศาสดาจักทรงแนะนำเทวดานี้แล้วให้รู้จักคุณของตน ก็เราจักแสดง (เทวดานี้) แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า. ลำดับนั้น ท่านมหาเศรษฐีจึงกล่าวกะ เทวดานั้นว่า ดูก่อนเทวดาผู้สหาย ถึงแม้ท่านจักให้เราอดโทษ จงให้อดโทษ ในสำนักของพระศาสดา. เทวดานั้นกล่าวว่า ดีละ ข้าพเจ้าจักกระทำอย่างนั้น อนึ่ง ท่านจงพาเราไปยังสำนักของพระศาสดาเถิด. มหาเศรษฐีนั้นกล่าวว่า ดีละ เมื่อราตรีสว่างแล้ว จึงพาเทวดานั้น ไปยังสำนักของพระศาสดาแต่เช้าตรู่ แล้วกราบทูลกรรมที่เทวดานั้นกระทำทั้งหมด แก่พระตถาคต.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 372

พระศาสดาได้ทรงสดับคำของท่านมหาเศรษฐีนั้นแล้วจึงตรัสว่า ดูก่อน คฤหบดี แม้บุคคลผู้ลามกในโลกนี้ ย่อมเห็นกรรมอันเจริญ ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล ก็เมื่อใด บาปย่อมให้ผลแก่บุคคลผู้ลามกนั้น เมื่อนั้นบุคคลผู้ลามกนั้นย่อมเห็นแต่บาปเท่านั้น ฝ่ายบุคคลผู้เจริญ ย่อมเห็นบาปทั้งหลาย ตราบเท่าที่กรรมอันเจริญยังไม่ให้ผล ก็ในกาลใด กรรมอันเจริญย่อมให้ผลแก่ บุคคลผู้เจริญนั้น ในกาลนั้น บุคคลผู้เจริญนั้นย่อมเห็นแต่กรรมอันเจริญเท่านั้น แล้วได้ตรัสคาถา ๒ คาถาในพระธรรมบทดังนี้ว่า

แม้บุคคลผู้ลามกย่อมเห็นธรรมอันเจริญตราบเท่าที่กรรมอันลามกยังไม่ให้ผล ก็ในกาลใด ธรรม อันลามกย่อมให้ผล ในกาลนั้น บุคคลผู้ลามกนั้นย่อม เห็นกรรมอันลามกทั้งหลาย ฝ่ายบุคคลผู้เจริญย่อมเห็น กรรมอันลามก ตราบเท่าที่กรรมอันเจริญยังไม่ให้ผล ก็ในกาลใดกรรมอันเจริญย่อมให้ผล ในกาลนั้นบุคคลผู้เจริญนั้น ย่อมเห็นกรรมอันเจริญทั้งหลาย.

ก็แหละในเวลาจบคาถาเหล่านี้ เทวดานั้นตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล. เทวดานั้นหมอบลงที่พระบาททั้งสองของพระศาสดาอันเรี่ยรายด้วยจักรให้พระศาสดาทรงอดโทษว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อันราคะย้อมแล้ว อันโทสะประทุษร้ายแล้ว หลงแล้วด้วยโมหะ มืดมนเพราะอวิชชาไม่รู้คุณทั้งหลายของพระองค์ ได้กล่าวคำอันลามก ขอพระองค์จงอดโทษคำนั้นแก่ข้าพระองค์ แล้วยังมหาเศรษฐีให้อดโทษ สมัยนั้น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกล่าวคุณของ ตนเบื้องพระพักตร์ของพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวดานี้แม้จะห้ามอยู่ว่า จงอย่ากระทำการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าเป็นต้น ก็ไม่อาจห้าม พระองค์ได้ ข้าพระองค์แม้ถูกเทวดานี้ห้ามอยู่ว่า ไม่ควรให้ทาน ก็ได้ให้อยู่

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 373

นั้นแหละ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นี้คุณของข้าพระองค์มิใช่หรือ. พระศาสดา ตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี ท่านแลเป็นพระอริยสาวกผู้โสดาบัน มีศรัทธาไม่หวั่นไหว มีทัสสนะอันหมดจด ความที่ท่านถูกเทวดาผู้มีศักดิ์น้อยนี้ห้ามอยู่ก็ห้ามไม่ได้ ไม่น่าอัศจรรย์ ก็ข้อที่บัณฑิตทั้งหลายในปางก่อน เมื่อพระพุทธเจ้ายัง ไม่อุบัติขึ้น ดำรงอยู่ในญาณอันยังไม่แก่กล้า ถูกมารผู้เป็นใหญ่ในกามาวจรภพ ยืนอยู่ในอากาศ แสดงหลุมถ่านเพลิงลึก ๘๐ ศอก โดยกล่าวว่า ถ้าท่านจัก ให้ทานไซร้ ท่านจักไหม้ในนรกนี้ แล้วห้ามว่า ท่านอย่าได้ให้ทาน ก็ได้ยืน อยู่ในท่ามกลางฝักดอกปทุมให้ทาน นี้น่าอัศจรรย์ อันท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีทูลอ้อนวอน จึงทรงนำอดีตนิทานมาดังต่อไป.

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลเศรษฐีในนครพาราณสี อันญาติทั้งหลายให้เจริญพร้อมด้วยเครื่องอุปกรณ์ทั้งปวงมีประการต่างๆ ดุจเทพกุมาร ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาโดยลำดับ ในเวลามีอายุ ๑๖ ปีเท่านั้น ก็ถึงความสำเร็จในศิลปะทั้งปวง เมื่อบิดาล่วงไป พระโพธิสัตว์นั้นดำรงอยู่ในตำแหน่งเศรษฐี ให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือ ที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ประตู ๔ โรงทาน ท่ามกลางพระนคร ๑ โรงทาน ที่ประตูนิเวศน์ของตน ๑ โรงทาน แล้วให้มหาทาน รักษาศีล รักษาอุโบสถกรรม อยู่มาวันหนึ่ง ในเวลาอาหารเช้า เมื่อคนใช้นำเอาโภชนะอันเป็นที่ชอบใจมีรสเลิศต่างๆ เข้าไปให้พระโพธิสัตว์. พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเมื่อล่วงไป๗ วัน ได้ออกจากนิโรธสมาบัติ กำหนดเวลาภิกขาจารแล้วคิดว่า วันนี้เราไปยังประตูเรือนของพาราณสีเศรษฐี จึงควร. จึงเคี้ยวไม้ชำระฟันชื่อนี้นาคลดา ล้างหน้าที่สระอโนดาต ยืนที่พื้นมโนศิลา นุ่งแล้วผูกรัดประคด ห่มจีวร ถือบาตรดินอันสำเร็จด้วยฤทธิ์มาทางอากาศ พอคนใช้น้ำภัตเข้าไปให้พระโพธิสัตว์ก็ได้ยืนอยู่ที่ประตูเรือน พระโพธิสัตว์พอ

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 374

เห็นดังนั้นก็ลุกจากอาสนะ แสดงอาการนอบน้อมแล้วแลดูบุรุษผู้ทำการงาน เมื่อ บุรุษผู้ทำการงานกล่าวว่า กระผมจะทำอะไร ขอรับนาย จึงกล่าวว่า ท่านจง นำบาตรของพระผู้เป็นเจ้ามา.

ทันใดนั้น มารผู้มีบาปสั่นสะท้านลุกขึ้นแล้วคิดว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า นี้ ไม่ได้อาหารมา ๗ วันแล้วจากวันนี้ไป วันนี้ เมื่อไม่ได้จักฉิบหาย เราจักทำพระปักเจกพุทธเจ้านี้ให้พินาศ และจักทำอันตรายแก่ทานของเศรษฐี จึงมาในขณะนั้นทันที แล้วเนรมิตหลุมถ่านเพลิงประมาณ ๘๐ ศอก ในระหว่าง วัตถุสถานที่ตั้ง หลุมถ่านเพลิงนั้นเต็มด้วยถ่านเพลิงไม้ตะเคียน ไฟลุกโพลงมี แสงโชติช่วงปรากฏเหมือนอเวจีมหานรก ก็ครั้นเนรมิตหลุมถ่านเพลิงนั้นแล้ว ตนเองได้ยืนอยู่ในอากาศ บุรุษผู้มาเพื่อจะรับบาตรเห็นดังนั้นได้รับความกลัว อย่างใหญ่หลวงจึงกลับไป. พระโพธิสัตว์ถามว่า พ่อ เธอกลับมาแล้วหรือ? บุรุษนั้น กล่าวว่า นาย หลุมถ่านเพลิงใหญ่นี้ไฟติดโพลงมีแสงโชติช่วงมีอยู่ในระหว่างสถานที่ตั้ง เมื่อเป็นเช่นนั้น คนอื่นๆ ไปบ้าง รวมความว่า คนผู้มาแล้วๆ แม้ทั้งหมด ก็ถึงซึ่งความกลัวรีบหนีไปโดยเร็ว.

พระโพธิสัตว์คิดว่า วันนี้วสวัตดีมารผู้ประสงค์จะทำอันตรายแก่ทานของเรา จักเป็นผู้ประกอบขึ้น แต่วสวัตดีมารนั้นย่อมไม่รู้ว่าเราเป็นผู้อันร้อยมาร พันมาร แม้แสนมารให้หวั่นไหวไม่ได้ วันนี้ เราจักรู้ว่าเราหรือมารมีกำลังมาก มีอานุภาพมาก ครั้นคิดแล้ว ตนเองจึงถือเอาถาดภัตตามที่เขาตระเตรียมไว้นั้นนั่นแหละออกไปจากเรือน ยืนอยู่ฝั่งของหลุมถ่านเพลิงแล้วแลดู อากาศ เห็นมาร จึงกล่าวว่า ท่านเป็นใคร. มารกล่าวว่า เราเป็นมาร. พระ โพธิสัตว์ถามว่า หลุมถ่านเพลิงนี้ท่านเนรมิตไว้หรือ? มารกล่าวว่า เออ เราเนรมิต. พระโพธิสัตว์ถามว่า เพื่อต้องการอะไร? มารกล่าวว่า เพื่อต้องการทำ อันตรายแก่ทานของท่านและเพื่อต้องการให้ชีวิตของพระปัจเจกพุทธเจ้าพินาศ.

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 375

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า เราจักไม่ให้ท่านทำอันตรายทานของตน และจักไม่ให้ท่านทำอันตรายแก่ชีวิตของพระปัจเจกพุทธเจ้า วันนี้ เราจักรู้ว่าเราหรือท่านมีกำลังมาก มีอานุภาพมาก จึงยืนที่ฝั่งหลุมถ่านเพลิงแล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าแม้จะมีหัวลง ตกไปในหลุมถ่านเพลิงแม้นี้ ก็จักไม่หวนกลับหลัง ขอท่านจงรับโภชนะที่ข้าพเจ้าถวายอย่างเดียว แล้ว กล่าวคาถานี้ว่า

ข้าพเจ้าจะตกนรก มีเท้าขึ้นเบื้องบน มีศีรษะลงเบื้องล่างก็ตาม ข้าพเจ้าจักไม่ทำกรรมอันไม่ประเสริฐ ขอนิมนต์ท่านรับก้อนข้าวเถิด.

ในคาถานั้น มีประมวลความดังต่อไปนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ถ้าข้าพเจ้า เมื่อจะถวายบิณฑบาตแก่ท่าน จะเป็นผู้มีศีรษะลงเบื้องล่าง มีเท้าขึ้นเบื้องบน ตกลงไปยังนรกนี้โดยแน่แท้ แม้ถึงอย่างนั้น ข้าพเจ้าจักไม่กระทำการไม่ให้ทานและการไม่รักษาศีลซึ่งเรียกว่า อนริยะ ไม่ประเสริฐ เพราะท่านผู้ประเสริฐไม่กระทำ แต่ผู้ไม่ประเสริฐกระทำนั้น ขอนิมนต์ท่านรับก้อนข้าวที่ข้าพเจ้า ถวายอยู่นี้เถิด. ก็ศัพท์ว่า หนฺท ในคาถานี้ เป็นนิบาตใช้ในอรรถแห่ง อุปสรรค.

พระโพธิสัตว์ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว มีการสมาทานอย่างมั่นคง ถือถาดภัตแล่นไปทางเบื้องบนหลุมถ่านเพลิง ทันใดนั้นเอง มหาปทุมดอกหนึ่งบานเต็มที่เกิดขึ้นเป็นชั้นๆ จากพื้นหลุมถ่านเพลิงอันลึก ๘๐ ศอก ผุดขึ้นรับ เท้าทั้งสองของพระโพธิสัตว์ แต่นั้น เกสรมีขนาดเท่าทนานใหญ่ผุดขึ้นตั้งอยู่ เหนือศีรษะของพระมหาสัตว์แล้วร่วงลงมาได้กระทำร่างกายทั้งสิ้นให้เป็นเสมือนโปรยด้วยละอองทอง พระโพธิสัตว์นั้นยืนอยู่ที่ฝักดอกปทุมยังโภชนะมีรส เลิศต่างๆ ให้ประดิษฐานลงในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจก-

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 5 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 376

พุทธเจ้านั้นรับโภชนะนั้นแล้วกระทำอนุโมทนา โยนบาตรขึ้นในอากาศ เมื่อ มหาชนเห็นอยู่นั่นแล แม้ตนเองก็เหาะขึ้นสู่เวหาส ตรงไปป่าหิมพานต์ เหมือนเหยียบย่ำกลีบเมฆฝนมีประการต่างๆ ไปฉะนั้น. ฝ่ายมารแพ้แล้วก็ถึง ความโทมนัสไปยังสถานที่อยู่ของในนั่นเอง ส่วนพระโพธิสัตว์ยืนอยู่บนฝัก ดอกปทุม แสดงธรรมแก่มหาชน โดยพรรณนาถึงทานและศีล อันมหาชน แวดล้อมเข้าไปยังนิเวศน์ของตน กระทำบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้น ตลอด ชีวิตแล้วไปตามยถากรรม.

พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี ข้อที่ท่านผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะ อย่างนี้ อันเทวดาให้หวั่นไหวไม่ได้ในบัดนี้ ไม่น่าอัศจรรย์ สิ่งที่บัณฑิตทั้งหลายได้กระทำไว้แม้ในกาลก่อนเท่านั้น น่าอัศจรรย์ ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงทรงสืบอนุสนธิประชุมชาดกว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าในกาลนั้น ได้ปรินิพพานแล้ว ณ ที่นั่งเอง ส่วนพาราณสีเศรษฐีผู้ทำมารให้พ่ายแพ้ ยืนอยู่บนฝักดอกปทุมแล้วถวายบิณฑบาตแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า คือเราเองแล.

จบขทิรังคารชาดกที่ ๑๐

จบกุลาวกวรรคที่ ๔๑

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กุลาวกชาดก ๒. นัจจชาดก ๓. สัมโมทมานชาดก ๔. มัจฉชาดก ๕. วัฏฏกชาดก ๖. สกุณชาดก ๗. ติตติรชาดก ๘. พกชาดก ๙. นันทชาดก ๑๐. ขทิรังคารชาดก


๑. จบอรรถกถาชาดกภาค ๑ บาลีเล่มที่ ๒๗.