พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ตติยโพธิสูตร ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาททั้งอนุโลมและปฏิโลม

 
บ้านธัมมะ
วันที่  7 ส.ค. 2564
หมายเลข  35280
อ่าน  597

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 77

๓. ตติยโพธิสูตร

ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาททั้งอนุโลมและปฏิโลม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 77

๓. ตติยโพธิสูตร

ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาททั้งอนุโลมและปฏิโลม

[๔๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ประทับอยู่ที่โคนไม้โพธิ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ที่ตำบลอุรุเวลา ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขด้วยบัลลังก์อันเดียวตลอด ๗ วัน ครั้งนั้นแล พอล่วงสัปดาห์นั้นไป พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากสมาธินั้นแล้ว ทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาททั้งอนุโลมและปฏิโลมด้วยดี ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี ดังนี้ว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีได้ด้วยประการอย่างนี้ เพราะอวิชชานั้นแลดับโดยสำรอกไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 78

โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ในกาลใดแล ธรรมทั้งหลายมาปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ ในกาลนั้น พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ ดุจพระอาทิตย์กำจัดความมืด ส่องแสงสว่างอยู่ในอากาศฉะนั้น.

จบตติยโพธิสูตรที่ ๓

อรรถกถาตติยโพธิสูตร

ตติยโพธิสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อนุโลมปฏิโลมํ ได้แก่ อนุโลมและปฏิโลม อธิบายว่า ด้วยสามารถอนุโลมตามที่กล่าวแล้ว และด้วยสามารถปฏิโลม. มีคำถามว่า ก็ท่านกล่าวความเป็นไปของมนสิการในปฏิจจสมุปบาทไว้ในสูตรทั้งสองโดยอนุโลมและปฏิโลม แม้ในก่อนมิใช่หรือ เพราะเหตุไร ในที่นี้ท่านจึงกล่าวความเป็นไปของมนสิการด้วยอำนาจสูตรนั้นอีก? ตอบว่า เพราะประกาศมนสิการไว้ในปฏิจจสมุปบาทถึงวาระที่ ๓ ด้วยอำนาจสูตรทั้งสองนั้น. ถามว่า ก็ท่านประกาศมนสิการไว้โดยสูตรทั้งสองอย่างไร เพราะใครๆ ไม่อาจประกาศมนสิการปฏิจจสมุปบาททั้งอนุโลมและปฏิโลม ไม่ก่อน ไม่หลัง? ตอบว่า ข้อนั้นไม่พึงเห็นอย่างนั้นว่า ทรงมนสิการถึง

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 79

อนุโลมและปฏิโลมทั้งสองนั้นรวมกัน โดยที่แท้ทรงมนสิการเป็นวาระ. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมนสิการถึงปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลมก่อน แล้วทรงเปล่งอุทานครั้งแรกอันสมควรแก่มนสิการนั้น. แม้ครั้งที่สอง ทรงมนสิการถึงปฏิจจสมุปบาทนั้นโดยปฏิโลม แล้วทรงเปล่งอุทานอันสมควรแก่มนสิการนั้นเหมือนกัน ส่วนครั้งที่สาม ทรงมนสิการถึงอนุโลมปฏิโลม ด้วยสามารถมนสิการเป็นอนุโลมโดยกาล เป็นปฏิโลมโดยกาล. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า บทว่า อนุโลมปฏิโลมํ ได้แก่ อนุโลมและปฏิโลม ด้วยอำนาจอนุโลมและปฏิโลมตามที่กล่าวแล้ว. ด้วยคำนี้ เป็นอันประกาศความที่มนสิการคล่องแคล่วมีกำลังและมีความชำนาญ. แต่ในที่นี้ พึงทราบวิภาคแห่งอนุโลมและปฏิโลมเหล่านั้น ด้วยสามารถส่วนเบื้องต้นที่เป็นไปอย่างนี้ว่า เรามนสิการถึงอนุโลม มนสิการถึงปฏิโลม มนสิการถึงอนุโลมปฏิโลม.

บรรดาคาถาเหล่านั้น บทว่า อวิชฺชายเตฺวว ตัดเป็น อวิชฺชาย ตุ เอว. บทว่า อเสสวิราคนิโรธา ได้แก่ เพราะดับโดยไม่เหลือด้วยมรรค กล่าวคือ วิราคธรรม อธิบายว่า เป็นการละโดยไม่เกิดขึ้นด้วยอรหัตตมรรคอย่างสิ้นเชิง. บทว่า สงฺขารนิโรโธ ได้แก่ ดับสังขารทั้งปวงโดยไม่เกิดขึ้นอย่างสิ้นเชิง. จริงอยู่ สังขารบางอย่างดับด้วยมรรค ๓ เบื้องต่ำ บางอย่างไม่ดับ เพราะอวิชชาดับยังมีส่วนเหลือ. แต่สังขารบางเหล่าจะไม่ดับไม่มี เพราะอรหัตตมรรคดับอวิชชาไม่มีส่วนเหลือแล.

บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า รู้แจ้งอรรถนี้โดยอาการทั้งปวงที่ท่านกล่าวไว้ด้วยอำนาจอวิชชาเป็นต้นว่า กองทุกข์มีสังขารเป็นต้นเกิด เพราะอวิชชาเป็นต้นเกิด กองทุกข์มีสังขารเป็นต้นดับ เพราะอวิชชา

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 80

เป็นต้นดับ. บทว่า อิมํ อุทานํ อุทาเนสิ ความว่า ทรงเปล่งอุทานนี้มีประการดังกล่าวแล้ว อันแสดงอานุภาพอริยมรรคนั้น อันเป็นเหตุให้รู้แจ้งถึงอรรถ กล่าวคือ การเกิดและการดับกองทุกข์ ด้วยอำนาจกิจและการกระทำให้เป็นอารมณ์.

ในข้อนั้น มีความสังเขปดังต่อไปนี้ เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นพราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้ด้วยโพธิปักขิยธรรมที่เกิดขึ้นเหล่านั้น หรือด้วยอริยมรรคอันเป็นเหตุปรากฏแห่งจตุสัจธรรม. บทว่า วิธูปยํ ติฏฺติ มารเสนํ ความว่า กำจัด ขจัด ทำลายมารและเสนามารมีประการดังกล่าวแล้วโดยนัยมีอาทิว่า กามเหล่านั้นเป็นกองทัพที่หนึ่งตั้งอยู่. ถามว่า อย่างไร? ตอบว่า เหมือนพระอาทิตย์ทำอากาศให้สว่างไสว อธิบายว่า พระอาทิตย์โคจรขึ้นไป ทำอากาศให้สว่างไสวด้วยรัศมีตน แล้วกำจัดความมืดลอยอยู่ฉันใด พราหมณ์ผู้ขีณาสพแม้นั้นก็ฉันนั้น แทงตลอดสัจจะด้วยธรรมเหล่านั้น หรือด้วยมรรคนั้น ชื่อว่าย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้.

ในยามทั้ง ๓ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอุทานทั้ง ๓ เหล่านี้ อันประกาศอานุภาพแห่งการรู้ชัดปัจจยาการในยามที่ ๑ การบรรลุความสิ้นปัจจัยในยามที่ ๒ และการบรรลุอริยมรรคในยามที่ ๓ ด้วยประการฉะนี้. ในราตรีไหน? ในราตรีที่ ๗ แห่งการตรัสรู้อภิสัมโพธิญาณ. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงระลึกบุพเพนิวาสญาณในยามต้นแห่งราตรีวิสาขปุณณมี ทรงชำระทิพยจักษุญาณในมัชฌิมยาม ทรงหยั่งพระญาณลงในปฏิจจสมุปบาทในปัจฉิมยาม ทรงพิจารณาสังขารอันเป็นไปในภูมิ ๓ โดยนัยต่างๆ ทรงพระดำริว่า บัดนี้อรุณจักขึ้น ก็ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิ -

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 81

ญาณ. และในลำดับที่เกิดพระสัพพัญญุตญาณ อรุณก็ขึ้นแล. ลำดับนั้น ทรงยับยั้งอยู่สัปดาห์หนึ่ง ณ ควงโพธิพฤกษ์ โดยบัลลังก์นั้นเอง เมื่อถึงราตรีวันปาฏิบท (วัน ๑ ค่ำ) ทรงมนสิการถึงปฏิจจสมุปบาท โดยนัยที่กล่าวแล้วในยามทั้ง ๓ แล้วทรงเปล่งอุทานนี้ตามลำดับ.

แต่เพราะมาในขันธกะทั้ง ๓ วาระว่า ทรงมนสิการถึงปฏิจจสมุปบาทเป็นอนุโลมปฏิโลม ท่านจึงกล่าวไว้ในอรรถกถาขันธกะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมนสิการอย่างนี้ในยามทั้ง ๓ แล้วทรงเปล่งอุทานเหล่านี้อย่างนี้ คือ อุทานที่ ๑ ด้วยอำนาจพิจารณาปัจจยาการ อุทานที่ ๒ ด้วยอำนาจพิจารณาพระนิพพาน อุทานที่ ๓ ด้วยอำนาจพิจารณามรรค. แม้คำนั้นก็ไม่ผิด.

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาธรรมในระหว่างภายในสัปดาห์ทั้ง ๖ ที่เหลือ เว้นสัปดาห์ที่ประทับ ณ รัตนฆรเจดีย์ โดยมากทรงเสวยวิมุตติสุขอยู่. แต่ในสัปดาห์ที่ประทับ ณ รัตนฆรเจดีย์ ทรงประทับอยู่ด้วยการพิจารณาพระอภิธรรมเท่านั้นแล.

จบอรรถกถาตติยโพธิสูตรที่ ๓