๗. ปาวาสูตร ว่าด้วยยักษ์หลอกพระพุทธเจ้า
[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 103
๗. ปาวาสูตร
ว่าด้วยยักษ์หลอกพระพุทธเจ้า
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 103
๗. ปาวาสูตร
ว่าด้วยยักษ์หลอกพระพุทธเจ้า
[๔๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่อชกลาปกเจดีย์ อันเป็นที่อยู่แห่งอชกลาปกยักษ์ ใกล้เมืองปาวา ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ณ ที่แจ้ง ในความมืดตื้อในราตรี และฝนก็กำลังโปรยละอองอยู่ ครั้งนั้นแล อชกลาปกยักษ์ใคร่จะทำความกลัว ความหวาดเสียว ขนลุกชูชันให้เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ทำเสียงอักกุลปักกุละว่า อักกุโล ปักกุโล ขึ้น ๓ ครั้ง ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกล่าวว่า ดูก่อนสมณะ นั่นปีศาจปรากฏแก่ท่าน.
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ในกาลใด บุคคลเป็นผู้ถึงฝั่งในธรรมทั้งหลายของตน เป็นพราหมณ์ ในกาลนั้น ย่อมไม่กลัวปีศาจและเสียงว่า ปักกุละ อย่างนี้.
จบปาวาสูตรที่ ๗
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 104
อรรถกถาปาวาสูตร
ปาวาสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ปาวายํ ได้แก่ ใกล้เมืองของเจ้ามัลละ อันมีชื่ออย่างนั้น. บทว่า อชกลาปเก เจติเย ได้แก่ ในที่ที่พวกมนุษย์ยำเกรง อันได้นามว่า อชกลาปกะ เพราะยักษ์ชื่อว่าอชกลาปกะยึดครอง. ได้ยินว่า ยักษ์นั้นรับพลีกรรมด้วยโกฏฐาสแห่งแพะ โดยการมัดแพะให้เป็นกลุ่มๆ หาใช่รับโดยประการอื่นไม่ เพราะฉะนั้น จึงปรากฏชื่อว่าอชกลาปกยักษ์. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ชื่อว่าอชกลาปกยักษ์ เพราะยังพวกคนให้ร้องเหมือนแพะ ได้ยินว่า ในเวลาที่พวกคนน้อมนำพลีกรรมไปให้แก่อชกลาปกยักษ์ ร้องเสียงเหมือนแพะ แล้วนำพลีกรรมเข้าไป ยักษ์นั้นก็ยินดี เพราะฉะนั้น เขาจึงเรียกว่า อชกลาปกยักษ์. ก็ยักษ์นั้นสมบูรณ์ด้วยอานุภาพ กักขฬะ หยาบคาย และสิงอยู่ที่นั้น เพราะฉะนั้น พวกมนุษย์จึงทำที่นั้นให้เป็นที่เคารพยำเกรง น้อมนำพลีกรรมเข้าไปตลอดกาล. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อชกลาปเก เจติเย. บทว่า อชกลาปกสฺส ยกฺขสฺส ภวเน ได้แก่ อันเป็นวิมานของยักษ์นั้น
ได้ยินว่า ในคราวนั้น พระศาสดาประสงค์จะทรมานยักษ์นั้น ในเวลาเย็น พระองค์เดียวไม่มีเพื่อนสอง ทรงถือบาตรและจีวร แล้วเสด็จไปยังประตูที่อยู่ของอชกลาปกยักษ์ จึงขอร้องนายประตูของยักษ์นั้น เพื่อเสด็จเข้าไปยังที่อยู่. นายประตูนั้นทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อชกลาปกยักษ์ผู้หยาบช้า ไม่ทำความเคารพว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์ เพราะฉะนั้น พระองค์เองจงทราบเอาเถิด แต่ข้าพระองค์ไม่บอกแก่ยักษ์นั้น ไม่สมควร แล้วจึงรีบไปยังที่อยู่ของอชกลาปกยักษ์ผู้ไปสมาคมยักษ์ในขณะนั้นนั่นเอง.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 105
พระศาสดาเสด็จเข้าไปภายในที่อยู่ แล้วประทับนั่งบนบัญญัตตาอาสน์ในมณฑป อันเป็นที่นั่งของอชกลาปกยักษ์. พวกสนมของยักษ์เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. พระศาสดาได้แสดงธรรมีกถาอันควรแก่เวลาแก่สนมเหล่านั้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ประทับอยู่ที่อชกลาปกเจดีย์ อันเป็นที่อยู่ของอชกลาปกยักษ์ ใกล้เมืองปาวา.
สมัยนั้น สาตาคิริและเหมวตายักษ์ ไปสมาคมยักษ์ทางเบื้องบนที่อยู่ของอชกลาปกยักษ์ เมื่อตนยังไปไม่ถึง จึงรำพึงว่า จักมีเหตุอะไรหนอ ได้เห็นพระศาสดาประทับนั่งในที่อยู่ของอชกลาปกยักษ์ จึงไปในที่นั้น ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทูลอำลาว่า ข้าพระองค์จักไปยังสมาคมของยักษ์ พระเจ้าข้า กระทำประทักษิณแล้วไป เห็นอชกลาปกยักษ์ในที่ประชุมยักษ์ จึงแสดงความยินดีว่า ท่านอชกลาปกะ ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นอัครบุคคลในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ประทับนั่งในที่อยู่ของท่าน จัดว่าเป็นลาภของท่าน ท่านจงเข้าไปเฝ้า นั่งใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าและฟังธรรม. อชกลาปกยักษ์นั้น ได้ฟังถ้อยคำของสาตาคิริยักษ์และเหมวตายักษ์แล้ว คิดว่า พวกเหล่านี้ได้บอกว่าพระสมณะโล้นนั่งในที่อยู่ของเรา จึงถูกความโกรธครอบงำ คิดว่า วันนี้เราจะทำสงครามกับสมณะนั้น เมื่อยักษ์เลิกประชุม จึงลุกขึ้นจากที่นั้น ยกเท้าขวาเหยียบยอดภูเขาประมาณ ๖๐ โยชน์ ยอดภูเขานั้นได้แยกออกเป็น ๒ ภาค. ก็คำที่ควรจะกล่าวในที่นั้น พึงทราบโดยนัยที่มาในอรรถกถาอาฬวกสูตรนั่นแล.
จริงอยู่ สมาคมของอชกลาปกยักษ์ เป็นเหมือนสมาคมของอาฬวกยักษ์นั่นแหละ แต่เว้นการถามปัญหา การแก้ปัญหา และการเสด็จออกจากที่อยู่และการเข้าไป ๓ ครั้ง. ก็พออชกลาปกยักษ์มาถึงเท่านั้น ก็คิดว่า เรา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 106
จะไล่พระสมณะนั้นด้วยฝนเหล่านี้ จึงทำฝน ๘ ชนิด มีมณฑลลมเป็นต้นให้ตั้งขึ้น เมื่อไม่อาจทำแม้เพียงให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเคลื่อนไหวด้วยฝนเหล่านั้นได้ จึงเนรมิตหมู่ภูตมีรูปน่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง ถือเครื่องประหารนานาชนิด เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกับภูตเหล่านั้น เที่ยวไปรอบๆ แม้กระทำอาการแปลกๆ มีประการต่างๆ ตลอดคืนยังรุ่ง ก็ไม่สามารถจะกระทำพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เคลื่อนจากที่ที่ประทับนั่ง แม้เพียงปลายเส้นผมสักเส้น ก็พลุ่งโพลงด้วยอำนาจความโกรธอย่างเดียวว่า สมณะนี้ไม่บอกกล่าวเราเลย เข้าไปนั่งยังที่อยู่ของเรา. ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบจิตประวัติของยักษ์นั้น จึงทรงพระดำริว่า บุคคลต่อยตีที่จมูกสุนัขดุ เมื่อเป็นอย่างนี้ สุนัขนั้นพึงเป็นสัตว์ดุเกินประมาณยิ่งขึ้น แม้ฉันใด ยักษ์นี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเรานั่งในที่นี้ก็กริ้วโกรธ ไฉนหนอ เราพึงออกไปข้างนอกเสีย แล้วพระองค์เองก็เสด็จออกจากที่อยู่ ประทับนั่ง ณ โอกาสกลางหาว ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ณ โอกาสกลางหาว ในควานมืดตื้อแห่งราตรี ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รตฺตนฺธการติมิสายํ แปลว่า ในความมืดตื้อในราตรี อธิบายว่า ในความมืดมากเว้นการเกิดจักขุวิญญาณ. ได้ยินว่า คราวนั้น ความมืดประกอบด้วยองค์ ๔ เกิดขึ้น. บทว่า เทโว ได้แก่ เมฆฝนยังหยาดน้ำเป็นเม็ดๆ ให้ตกลง. ลำดับนั้น ยักษ์คิดว่า เราจะให้สมณะนี้หวาดเสียวด้วยเสียงนี้แล้วหนีไป จึงไปยังที่ใกล้พระผู้พระภาคเจ้า แล้วกระทำเสียงอันน่ากลัว โดยนัยมีอาทิว่า อักกุละๆ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า อถโข อชกลาปโก ดังนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 107
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภยํ ได้แก่ ความสะดุ้งแห่งจิต. บทว่า ฉมฺภิตตฺตํ ได้แก่ ภาวะที่สรีระหวาดเสียว มีอาการขาแข็ง. บทว่า โลมหํสํ ได้แก่ ภาวะที่ขนชูชัน ด้วยบททั้ง ๓ ท่านแสดงเฉพาะเกิดความกลัว. บทว่า อุปสงฺกมิ ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ยักษ์นี้มีความประสงค์อย่างนี้ เข้าไปหา ได้กระทำอาการแปลกที่ตนกระทำไว้ในกาลก่อนมิใช่หรือ? ตอบว่า ได้กระทำจริง แต่ยักษ์นั้นสำคัญว่า เราไม่อาจทำอะไรๆ แก่พระสมณะผู้ประทับอยู่ในภายในที่อยู่ ในที่ปลอดภัย ในพื้นที่อันมั่นคง บัดนี้เราอาจให้สมณะผู้อยู่ภายนอกหวาดเสียวอย่างนี้แล้วหนีไป จึงเข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น. ความจริง ยักษ์นี้สำคัญที่อยู่ของตนว่ามั่นคง และสำคัญว่า พระสมณะนี้ไม่กลัวเพราะอยู่ในที่อยู่ของตนนั้น.
บทว่า ติกฺขตฺตุํ อกฺกุโล ปกฺกุโลติ อกฺกุลปกฺกุลิกํ อกาสิ ความว่า ยักษ์ได้ทำเสียงเห็นปานนี้ว่า อักกุโล ปักกุโล ๓ ครั้ง เพื่อประสงค์ให้พระองค์หวาดเสียว. ความจริง นี้เป็นเสียงกระทำตาม. ด้วยว่าคราวนั้น ยักษ์นั้นเป็นเหมือนผู้วิเศษยกเขาสิเนรุ และเหมือนพลิกแผ่นดินใหญ่ ทำเสียงกระหึ่ม เหมือนเสียงอสนีบาตตั้งร้อยฟาดลงมาด้วยอุตสาหะใหญ่ เหมือนเสียงกระหึ่มของช้างประจำทิศ ซึ่งรวมกันเป็นฝูงอยู่ในที่เดียวกันแล้วเปล่งออก เหมือนบันลือสีหนาทของไกรสรราชสีห์ เหมือนเสียงหึง หึง ของพวกยักษ์ เหมือนเสียงดังของภูตผี เหมือนเสียงปรบมือของพวกอสูร เหมือนเสียงกึกก้องแห่งวชิระที่จอมเทวราชฟาดลงมา เหมือนเสียงกึกก้องของกลุ่มพายุใหญ่อันตั้งอยู่ตลอดกัป ประหนึ่งจะกดขี่และครอบงำเสียงอื่นๆ เพราะเป็นเสียงลึกล้ำ กว้างขวาง และทำความน่ากลัวให้แก่ตน และเหมือนเสียงกึกก้องอันเป็นภัยเฉพาะหน้าอันใหญ่หลวง ดุจผ่าดวงหทัย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 108
ของเหล่าปุถุชน. เพราะเสียงที่เปล่งออกด้วยคิดว่า เราจะให้พระสมณะนี้หวาดเสียวด้วยเสียงนี้แล้วหนีไป ภูเขาก็แตกเป็นสะเก็ดหินร่วงลงมา ใบไม้ ผลไม้ และดอกไม้ในพุ่มเครือเถาทั้งหมดที่เกาะอยู่ตามต้นไม้เจ้าป่าก็อับเฉาลง ขุนเขาหิมวันต์กว้าง ๓,๐๐๐ โยชน์ก็ไหว หวั่นไหว ลั่นเลื่อนไปโดยมาก แม้พวกเทวดาตั้งต้นแต่ภุมมเทวดา ได้มีความกลัว หวาดเสียว และขนชูชันด้วยกันทั้งนั้น จะป่วยกล่าวไปไยถึงพวกมนุษย์และสัตว์อื่นๆ ที่ไม่มีเท้า มี ๒ เท้า และมี ๔ เท้า ความหวาดเสียวมากได้เป็นเหมือนคราวแผ่นดินใหญ่ทรุด ความโกลาหลมากมายได้เกิดขึ้น ณ พื้นชมพูทวีปทั้งสิ้น. ส่วนพระผู้พระภาคเจ้า มิได้ทรงสำคัญเสียงนั้นว่าเป็นอะไร ทรงประทับนั่งนิ่ง ทรงอธิษฐานว่า ด้วยเหตุนี้ อันตรายอย่าได้มีแก่ใครๆ เลย.
ก็เพราะเหตุที่เสียงนั้น มาปรากฏทางโสตทวารของสัตว์ทั้งหลายโดยอาการอย่างนี้ว่า อักกุละ พักกุละ ฉะนั้น ท่านอาจารย์จึงยกสู่สังคหะว่า ยักษ์ได้เปล่งเสียงว่า อักกุละ พักกุละ โดยอธิบายว่า ชื่อว่าอักกุละ พักกุละ เพราะกระทำตามเสียงนั้น และว่า การเปล่งเสียงว่า อักกุละ พักกุละ มีอยู่ในการที่ยักษ์เปล่งเสียงอย่างกึกก้องนั้น. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ยักษ์เปล่งเสียงตามภาษานี้ อักกุละ พักกุละ โดยชื่ออีกอย่างหนึ่งของสองบทว่า อากุละ พยากุละ เหมือนคำว่า เอกะ เอกกะ. เพราะเหตุที่อาอักษร ซึ่งเกิดคราวเดียวมีอาทิเป็นอรรถว่า อากุละ เพราะเกิดได้ด้วยการเกิดครั้งแรกนั้นแหละ และทำ อา อักษรนั้นให้มีเสียงสั้น โดยลง ก อาคมแล. แต่ที่เกิด ๒ วาระเป็นพักกุละ. ก็กุละศัพท์ ในที่นี้เป็นปริยายของชาติ เหมือนในประโยคว่า โกลัง โกละ เป็นต้น, และการ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 109
ประกอบศัพท์ เป็นการเลียนความประสงค์ที่ท่านกล่าว เหตุนั้น บทที่ ๑ ท่านกล่าวถึงชลาพุชะกำเนิดมีสีหะและพยัคฆะเป็นต้น. บทที่ ๒ กล่าวถึงอัณฑชะกำเนิดมีงูและงูเห่าเป็นต้น. เพราะฉะนั้น อาจารย์เหล่าอื่นกล่าวว่า ยักษ์แสดงเนื้อความนี้ด้วยสองบทว่า อหนฺเต ชีวิตหารโก เรานำชีวิตของท่านไป เหมือนสีหะเป็นต้น และงูเป็นต้น. แต่อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวบาลีว่า อักขุละ ภักขุละ แล้วกล่าวเนื้อความของสองบทนั้นว่า ที่ชื่อว่า อักขุละ เพราะไป คือ เป็นไปเพื่อทำลายให้สิ้นไป ให้พินาศไป ที่ชื่อว่า ภักขุละ เพราะไปเพื่อจะกิน คือ เคี้ยวกิน ก็อรรถนั้นคืออะไร? คือ ใครๆ มียักษ์ รากษส ปีศาจ สีหะ และพยัคฆะเป็นต้น ตนใดตนหนึ่ง เป็นผู้นำความพินาศมาให้แก่พวกมนุษย์. แม้ในที่นี้ ก็พึงทราบอธิบายความโดยนัยดังกล่าวแล้วในก่อนนั้นแหละ.
บทว่า เอโส เต สมณ ปิสาโจ ความว่า ยักษ์เนรมิตรูปน่ากลัว ใหญ่โต ยืนตรงพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า กล่าวหมายถึงตนว่า สมณะผู้เจริญ ปีศาจผู้มักกินเนื้อปรากฏแก่ท่านแล้ว.
บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า รู้ประการแปลกนี้ที่ยักษ์นั้นให้เป็นไปทางกายและวาจา และรู้ความที่ตนหมดอุปกิเลสในโลกธรรม เป็นเหตุแห่งอาการที่ยักษ์นั้นข่มขู่ไม่ได้โดยอาการทั้งปวง. บทว่า ตายํ เวลายํ ได้แก่ เวลาที่ทำอาการแปลกนั้น. บทว่า อิมํ อุทานํ อุทาเนสิ ความว่า ไม่คำนึงถึงอาการแปลกนั้น ทรงเปล่งอุทานนี้อันแสดงธรรมานุภาพ มีการไม่คำนึงอาการแปลกนั้นเป็นเหตุ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยทา สเก สุธมฺเมสุ ได้แก่ ธรรม คือ อุปาทานขันธ์ ๕ กล่าวคือ อัตภาพของตนในกาลใด. บทว่า ปารคู ความ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 110
ว่า ผู้ถึงฝั่งด้วยความบริบูรณ์แห่งปริญญาภิสมัย, ต่อแต่นั้นนั่นแหล่ะ ผู้ถึงฝั่งด้วยความบริบูรณ์แห่งปหานาภิสมัย สัจฉิกิริยาภิสมัย และภาวนาภิสมัย ในสมุทัยเป็นเหตุแห่งอุปาทานขันธ์เหล่านั้น ในนิโรธอันมีลักษณะไม่เป็นไปตามสมุทัยนั้น และในนิโรธคามินีปฏิปทา. บทว่า โหติ พฺราหฺมโณ ความว่า ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะเป็นผู้ลอยบาปโดยประการทั้งปวงด้วยประการฉะนี้. ความจริง การตรัสรู้สัจจะ ๔ ย่อมมีแม้ด้วยการหยั่งรู้อัตภาพของตนโดยประการทั้งปวง. สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้มีอาทิว่า เราบัญญัติโลกและความเกิดของโลก ในร่างกายนี้แหละ มีประมาณวาหนึ่ง พร้อมสัญญาและใจ. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สเกสุ ธมฺเมสุ ได้แก่ ในธรรมของตน ชื่อว่าธรรมของตน ได้แก่ ธรรมมีศีลเป็นต้นของบุคคลผู้รักตน. จริงอยู่ โวทานธรรม มีศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติเป็นต้น ชื่อว่าธรรมของคนคือของตน เพราะยังหิตสุขให้สมบูรณ์โดยส่วนเดียว ไม่เป็นธรรมของคนอื่น เหมือนสังกิเลสธรรมอันนำความพินาศมาให้. บทว่า ปารคู ได้แก่ ถึงฝั่ง คือ ที่สุดความบริบูรณ์แห่งธรรมมีศีลเป็นต้นนั้น. ในธรรมเหล่านั้น อันดับแรก ชื่อว่าศีล มี ๒ อย่าง คือ โลกิยศีล ๑ โลกุตรศีล ๑. ในศีลเหล่านั้น โลกิยศีลเป็นศีลเบื้องต้น. ศีลเบื้องต้นนั้นว่าโดยย่อ มี ๔ อย่าง มีปาติโมกขสังวรศีลเป็นต้น แต่ว่าโดยพิสดารมีหลายประเภท. โลกุตรศีล มี ๒ อย่าง คือ มรรคศีล ๑ ผลศีล ๑ แต่ว่าโดยอรรถ ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ. ก็สมาธิและปัญญา มี ๒ อย่าง คือ เป็นโลกิยะ ๑ เป็นโลกุตระ ๑ เหมือนศีล. ใน ๒ อย่างนั้น โลกิยสมาธิ ได้แก่ สมาบัติ ๘ พร้อมด้วยอุปจาร โลกุตรสมาธิ ได้แก่ สมาธิที่นับเนื่องในมรรค. ฝ่ายปัญญาที่เป็นโลกิยะ ได้แก่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 111
สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญาที่ยังมีอาสวะ ส่วนโลกุตรปัญญา ได้แก่ ปัญญาที่สัมปยุตด้วยมรรคและผล. ชื่อว่า วิมุตติ ได้แก่ ผลวิมุตติและนิพพาน เพราะฉะนั้น วิมุตตินั้น จึงเป็นโลกุตระอย่างเดียว. วิมุตติญาณทัสสนะ เป็นโลกิยะอย่างเดียว วิมุตติญาณทัสสนะนั้น มี ๑๙ อย่าง เพราะเป็นปัจจเวกขณญาณ. ชื่อว่าผู้ถึงฝั่ง คือ ที่สุด เพราะความบริบูรณ์แห่งธรรมมีศีลเป็นต้นเหล่านี้ ที่เกิดขึ้นโดยสิ้นเชิง เพราะบรรลุพระอรหัตในสันดานของตน ด้วยประการฉะนี้ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ถึงฝั่งในธรรมของตน. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าถึงฝั่งในศีล เพราะบรรลุโสดาปัตติผล. จริงอยู่ พระโสดาบันนั้น ท่านเรียกว่า ทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย. ก็ในที่นี้ แม้พระสกทาคามี ก็เป็นอันท่านถือเอาด้วยโสดาบันศัพท์เหมือนกัน. ชื่อว่าผู้ถึงฝั่งในสมาธิ เพราะบรรลุอนาคามิผล. จริงอยู่ พระอนาคามีนั้น ท่านเรียกว่า ผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ. ชื่อว่าผู้ถึงฝั่งในธรรม ๓ นอกนี้ เพราะบรรลุพระอรหัตตผล. จริงอยู่ พระอรหันต์ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงฝั่งในปัญญาวิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ เพราะบรรลุเจโตวิมุตติ อันเป็นอกุปปธรรมอันเลิศ ด้วยความถึงความไพบูลย์ด้วยปัญญา และเพราะถึงที่สุดแห่งปัจจเวกขณญาณ. ชื่อว่าเป็นผู้ถึงฝั่งในธรรมของตนในกาลใด ตามที่กล่าวแล้ว เพราะสำเร็จกิจ ๑๖ อย่าง มีปริญญากิจเป็นต้น โดยมรรค ๔ ในอริยสัจ ๔ แม้โดยประการทั้งปวงด้วยประการฉะนี้. บทว่า โหติ พฺราหฺมโณ ความว่า ในกาลนั้น บุคคลนั้น ชื่อว่าเป็นพราหมณ์โดยปรมัตถ์ เพราะเป็นผู้ลอยบาปธรรมเสียได้. บทว่า อถ เอตํ ปิสาจญฺจ พกฺกุลญฺจาติ วตฺตติ ความว่า ดูก่อน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 112
อชกลาปกะ ครั้นภายหลังจากถึงฝั่งที่กล่าวแล้วนั้น บุคคลเป็นไปล่วงคือก้าวล่วง ครอบงำ ไม่กลัวปีศาจที่มากินเนื้อที่ท่านแสดงแล้วนั่น และเสียงอักกุละ พักกุละ ที่ตั้งขึ้นให้เกิดความกลัว.
คาถาแม้นี้ ท่านกล่าวยกย่องเฉพาะพระอรหัต. ครั้งนั้น อชกลาปกยักษ์ เห็นความคงที่นั้น เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงหวั่นไหว แม้ด้วยความน่ากลัวอันมีภัยเกิดเฉพาะหน้าเห็นปานนั้น อันตนกระทำแล้ว ก็มีจิตเลื่อมใสว่า พระสมณะนี้เป็นมนุษย์อัศจรรย์หนอ เมื่อจะประกาศถึงศรัทธาอันเป็นของปุถุชนตั้งมั่นในตน จึงประกาศความเป็นอุบาสก เฉพาะพระพักตร์พระศาสดาแล.
จบอรรถกถาปาวาสูตรที่ ๗