๘. สังคามชิสูตร ว่าด้วยการไม่ยินดีต่อบุตรภรรยาเก่า
[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 112
๘. สังคามชิสูตร
ว่าด้วยการไม่ยินดีต่อบุตรภรรยาเก่า
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 112
๘. สังคามชิสูตร
ว่าด้วยการไม่ยินดีต่อบุตรภรรยาเก่า
[๔๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระสังคามชิถึงพระนครสาวัตถีโดยลำดับ เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ภริยาเก่าของท่านพระสังคามชิได้ฟังข่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าสังคามชิถึงพระนครสาวัตถีแล้ว นางได้อุ้มทารกไปยังพระวิหารเชตวัน ก็สมัยนั้นแล ท่านพระสังคามชินั่งพักกลางวันที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง ครั้งนั้น ภริยาเก่าของท่านพระสังคามชิเข้าไปหาท่านพระสังคามชิถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 113
กล่าวกะท่านพระสังคามชิว่า ข้าแต่สมณะ ขอท่านจงเลี้ยงดูดิฉันผู้มีบุตรน้อยเถิด เมื่อภริยาเก่ากล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสังคามชิก็นิ่งเสีย แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ ภริยาเก่าของท่านพระสังคามชิก็ได้กล่าวกะท่านพระสังคามชิว่า ข้าแต่สมณะ ขอท่านจงเลี้ยงดูดิฉันผู้มีบุตรน้อยเถิด ท่านพระสังคามชิก็ได้นิ่งเสีย ลำดับนั้นแล ภริยาเก่าของท่านพระสังคามชิอุ้มทารกนั้นไปวางไว้ข้างหน้าท่านพระสังคามชิ กล่าวว่า ข้าแต่สมณะ นี้บุตรของท่าน ท่านจงเลี้ยงดูบุตรนั้นเถิด ดังนี้ แล้วหลีกไป ลำดับนั้นแล ท่านพระสังคามชิไม่ได้แลดู ทั้งไม่ได้พูดกะทารกนั้นเลย ลำดับนั้น ภริยาเก่าของท่านพระสังคามชิไปคอยดูอยู่ในที่ไม่ไกล ได้เห็นท่านพระสังคามชิผู้ไม่แลดู ทั้งไม่ได้พูดกะทารก ครั้นแล้วจึงได้คิดว่า สมณะนี้แล ไม่มีความต้องการแม้ด้วยบุตร นางกลับจากที่นั้นแล้วอุ้มทารกหลีกไป พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นการกระทำอันแปลกแม้เห็นปานนี้แห่งภริยาเก่าของท่านพระสังคามชิ ด้วยทิพจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์.
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
เรากล่าวพระสังคามชิ ผู้ไม่ยินดีภริยาเก่า ผู้มาอยู่ ผู้ไม่เศร้าโศกถึงภริยาเก่า ผู้หลีกไปอยู่ ผู้พ้นแล้วจากธรรมเป็นเครื่องข้อง ว่าเป็นพราหมณ์.
จบสังคามชิสูตรที่ ๘
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 114
อรรถกถาสังคามชิสูตร
สังคามชิสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สงฺคามชิ ได้แก่ มีชื่ออย่างนี้. จริงอยู่ ท่านผู้มีอายุนี้ เป็นบุตรของเศรษฐีมีสมบัติมากท่านหนึ่งในเมืองสาวัตถี เวลาเจริญวัย มารดา บิดาให้มีเหย้าเรือนโดยสมควร มอบทรัพย์สมบัติให้ ให้อยู่ครองเรือน. วันหนึ่ง เขาเห็นอุบาสกชาวกรุงสาวัตถีกำลังถวายทาน สมาทานศีล ตอนเช้า นุ่งห่มผ้าขาว ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น ตรงไปยังพระเชตวันเพื่อฟังธรรมตอนเย็น จึงถามว่า ท่านทั้งหลายไปไหนกัน เมื่อเขาตอบว่า ไปสำนักพระศาสดาในพระเชตวันเพื่อฟังธรรม จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น แม้ฉันก็จะไป จึงได้ไปกับพวกเหล่านั้น. สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเหนือบวรพุทธอาสน์ที่เขาบรรจงจัดไว้ ณ มณฑป สำหรับฟังพระสัทธรรม แสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัท ๔ เหมือนไกรสรราชสีห์บันลือสีหนาทในถ้ำทอง. ครั้งนั้นแล อุบาสกเหล่านั้น ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่งอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. ฝ่ายสังคามชิกุลบุตร นั่งฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัทนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุปุพพิกถา ประกาศสัจจะ ๔ ในเวลาจบสัจจะ สัตว์หลายพันได้ตรัสรู้ธรรม. ฝ่ายสังคามชิกุลบุตร ก็บรรลุโสดาปัตติผล เมื่อบริษัทออกไปแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วทูลขอบรรพชาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดให้ข้าพระองค์บรรพชาเถิด. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ก็มารดาบิดาอนุญาตให้เธอบรรพชาแล้วหรือ. เขากราบทูลว่า ยังไม่ได้รับอนุญาต พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สังคามชิ พระตถาคตเจ้าทั้งหลายไม่ยอมบวชบุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาต. เขากราบ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 115
ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นั้น จักกระทำโดยที่มารดาบิดาอนุญาตให้ข้าพระองค์บวช ดังนี้ แล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณ แล้วเข้าไปหามารดาบิดา กล่าวว่า คุณแม่ คุณพ่อ โปรดอนุญาตให้กระผมบวชเถิด. แต่นั้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวมาแล้วในรัฏฐปาลสูตร. ลำดับนั้น เขาปฏิญญาว่า บวชแล้วจักแสดงตน ครั้นมารดาบิดาอนุญาตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอบรรพชา. และเขาก็ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า. ก็แล ท่านอุปสมบทได้ไม่นาน เพียรพยายามเพื่อมรรคสูงๆ อยู่จำพรรษาในอรัญญวาสแห่งหนึ่ง ได้อภิญญา ๖ ออกพรรษาแล้วไปยังกรุงสาวัตถี เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า และปลดเปลื้องที่รับคำมารดาบิดาไว้. เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เตน โข ปน สมเยน อายสฺมา สงฺคามชิ สาวตฺถึ อนุปฺปตฺโต โหติ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระสังคามชิถึงกรุงสาวัตถีแล้ว.
ก็ท่านสังคามชินั้น เที่ยวบิณฑบาตในธูรคาม กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต เข้าไปยังพระเชตวันเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ก็ได้ทำปฏิสันถารแล้วพยากรณ์อรหัตตผล ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าอีก แล้วประทักษิณ ออกไปนั่งพักผ่อนกลางวันที่โคนไม้แห่งหนึ่ง. ลำดับนั้น มารดาบิดาและญาติมิตรของท่านทราบว่า ท่านมา ร่าเริง ยินดีว่า ข่าวว่าท่านพระสังคามชิมาในที่นี้ จึงรีบด่วนไปยังวิหาร ค้นหาอยู่ เห็นท่านนั่งในที่นั้น เข้าไปหา ทำปฏิสันถารแล้วอ้อนวอนว่า พระราชาอย่าได้ริบสมบัติของผู้ไม่มีบุตร ทายาทพึงได้รับ พอแล้วละด้วยการบรรพชา มาสึกเถิดพ่อ. พระเถระฟังดังนั้นแล้วคิดว่า คนเหล่านี้ไม่รู้ว่าเราไม่ต้องการด้วยกามทั้งหลาย ปรารถนาจะให้ติดอยู่ในกามเท่านั้น เหมือนคนหาบคูถต้อง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 116
การก้อนคูถฉะนั้น ใครๆ ไม่อาจจะให้คนเหล่านี้เข้าใจธรรมกถาได้ จึงนั่งทำเป็นเหมือนไม่ได้ยิน. คนเหล่านั้นอ้อนวอนโดยประการต่างๆ เห็นท่านไม่เชื่อคำของตน จึงเข้าไปเรือน สั่งภรรยาของท่านพร้อมด้วยบุตรและบริวาร พลางกล่าวว่า พวกเราถึงจะอ้อนวอนต่างๆ ก็เอาใจท่านไม่ได้ จึงพากันมา ไปเถิดแม่ จงอ้อนวอนภัสดาของเจ้าให้ยินยอมโดยเห็นแก่บุตร. ได้ยินว่า เมื่อนางตั้งครรภ์ ท่านผู้นี้บวช. นางรับคำแล้ว จึงได้พาเด็กพร้อมด้วยบริวารมากไปยังพระเชตวัน ที่ท่านหมายกล่าวคำมีอาทิว่า อสฺโสสิ โข อายสฺมโต สงฺคามชิสฺส ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุราณทุติยิกา ความว่า เมื่อก่อน คือ ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ นางได้เป็นภรรยาเก่าโดยเป็นคู่บำเรอ. อธิบายว่า เป็นภรรยา. ด้วยคำว่า อยฺโย เมื่อจะพูดว่า พระลูกเจ้า แต่พูดโดยโวหารอันเหมาะแก่บรรพชิต. ศัพท์ว่า กิร เป็นนิบาต ใช้ในอนุสสวนัตถะ ได้ยินมา. พึงทราบสัมพันธ์ว่า ได้ยินว่า เมื่อท่านมาถึง. บทว่า ขุทฺทปุตฺตํ หิ สมณ โปส มํ ความว่า นางกล่าวว่า ท่านทิ้งฉันกำลังตั้งครรภ์ทีเดียวบวช บัดนี้ ฉันนั้นมีลูกคนเล็กจะรุ่นหนุ่ม การที่ท่านทิ้งดิฉันผู้เป็นเช่นนั้น แล้วทำสมณธรรม ไม่สมควร เพราะฉะนั้น สมณะ ท่านจงเลี้ยงดิฉันผู้มีบุตรเป็นเพื่อนสองด้วยอาหารและเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น. ฝ่ายท่านพระสังคามชิสำรวมอินทรีย์ ไม่มองดู ทั้งไม่เจรจากับนาง. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เอวํ วุตฺเต อายสฺมา สงฺคามชิ ตุณฺหี อโหสิ เมื่อนางกล่าวอย่างนั้น ท่านพระสังคามชิก็ได้นิ่งเสีย.
นางกล่าวเช่นนั้นถึง ๓ ครั้ง เห็นท่านนิ่งอย่างเดียวจึงสำคัญว่า ขึ้นชื่อว่าพวกผู้ชาย ไม่อาลัยในพวกภรรยา แต่ยังมีความอาลัยในบุตร ความ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 117
สิเนหาในบุตรตั้งจดเยื่อกระดูกของบิดา ฉะนั้น เธอยังอยู่ในอำนาจของฉันแม้เพราะรักบุตร จึงวางบุตรบนตักของพระเถระ แล้วหลีกไปส่วนข้างหนึ่ง กล่าวว่า ท่านสมณะ นี้บุตรของท่าน ท่านจงเลี้ยงเขาเถิด แล้วไปเสียหน่อยหนึ่ง. ได้ยินว่า นางไม่อาจยืนตรงหน้าท่านด้วยเดชสมณะ. แม้เด็กพระเถระก็ไม่มองดู ทั้งไม่พูดด้วย. ทีนั้น นางแม้เป็นสตรียืนอยู่ในที่ไม่ไกล เหลียวหน้ามองดู รู้อาการพระเถระ ย้อนกลับมาอุ้มเด็กด้วยหวังว่า สมณะนี้ไม่ต้องการบุตร แล้วก็หลีกไป. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า อถ โข อายสฺมโต สงฺคามชิสฺส ปุราณทุติยิกา ครั้งนั้นแล ท่านพระสังคามชิมีภรรยาเก่า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุตฺเตนปิ ความว่า สมณะนี้ไม่ต้องการบุตรแม้ที่เกิดแต่อกตน อธิบายว่า จะป่วยกล่าวไปไยถึงผู้อื่นเล่า.
ชื่อว่า ทิพย์ ในบทว่า ทิพฺเพน นี้ เพราะเป็นเหมือนทิพย์. จริงอยู่ เทวดาทั้งหลายมีจักขุประสาทเป็นทิพย์อันเกิดแต่กรรม ไม่เปื้อนด้วยน้ำดี เสมหะ และเลือดเป็นต้น สามารถรับอารมณ์ได้แม้ในที่ไกล. อภิญญาจักขุแม้นี้เกิดจากจตุตถฌานสมาธิ ก็เป็นเช่นนั้น เหตุนั้น จึงชื่อว่าทิพย์ เพราะเป็นเหมือนของทิพย์. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าทิพย์ เพราะได้ด้วยการอาศัยทิพวิหารธรรม. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าทิพย์ เพราะมีความ โชติช่วงมากหรือมีคติใหญ่ด้วยทิพย์นั้น. บทว่า วิสุทฺเธน ได้แก่ ชื่อว่าบริสุทธิ์ด้วยดี เพราะปราศจากสังกิเลสมีนิวรณ์เป็นต้น. บทว่า อติกฺกนฺตมานุสเกน ได้แก่ ล่วงวิสัยของพวกมนุษย์. บทว่า อิมํ เอวรูปํ วิปฺปการํ ความว่า มีความแปลกนี้ คือ อย่างนี้ ได้แก่ กิริยาอันผิดรูป กล่าวคือ วางบุตรบนตัก อันไม่สมควรในหมู่บรรพชิตตามที่กล่าวแล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 118
บทว่า เอตมตฺถํ ความว่า รู้อรรถนี้ กล่าวคือ ความที่ท่านพระสังคามชิหมดความอาลัยในสัตว์ทุกจำพวกมีบุตรและภรรยาเป็นต้น โดยอาการทั้งปวง. บทว่า อิมํ อุทานํ อุทาเนสิ ความว่า ทรงเปล่งอุทานนี้ คือ อันแสดงอานุภาพของท่านสังคามชินั้น เป็นผู้คงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์เป็นต้น.
บทว่า อายนฺตึ อธิบายว่า ภรรยาเก่าผู้กำลังมา. บทว่า นาภินนฺทติ ความว่า ไม่เพลิดเพลินไม่ยินดีว่า นางจะมาดูเรา. บทว่า ปกฺกมนฺตึ ความว่า ผู้เห็นแล้วไปด้วยคิดว่า ผู้นี้ไม่เยื่อใยเราไปเสีย. บทว่า น โสจติ ได้แก่ ไม่ถึงความเดือดร้อนใจ.
แต่เพื่อแสดงเหตุที่พระเถระไม่ยินดีไม่เศร้าโศกอย่างนี้ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สงฺคา สงฺคามชิ มุตฺตํ ผู้ชนะถึงความพ้นจากธรรมเป็นเครื่องข้อง.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สงฺคา ความว่า ภิกษุผู้ชื่อสังคามชิ ผู้พ้นจากธรรมเครื่องข้อง ๕ อย่าง คือ เครื่องข้อง คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฏฐิ ด้วยสมุจเฉทวิมุตติและปฏิปัสสัทธิวิมุตติ. บทว่า ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ ความว่า เรากล่าวผู้นั้น คือ ผู้ถึงความคงที่ ผู้สิ้นอาสวะ ว่าเป็นพราหมณ์ เพราะเป็นผู้ลอยบาปโดยประการทั้งปวงแล.
จบอรรถกถาสังคามชิสูตรที่ ๘