พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. ชฏิลสูตร ว่าด้วยความสะอาดภายใน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  7 ส.ค. 2564
หมายเลข  35286
อ่าน  576

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 119

๙. ชฏิลสูตร

ว่าด้วยความสะอาดภายใน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


Tag  ชฎิล  
  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 119

๙. ชฎิลสูตร

ว่าด้วยความสะอาดภายใน

[๔๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ คยาสีสะประเทศ ใกล้บ้านคยา ก็สมัยนั้นแล ชฎิลมากด้วยกันผุดขึ้นบ้าง ดำลงบ้าง ผุดขึ้นและดำลงบ้าง รดน้ำบ้าง บูชาไฟบ้าง ที่แม่น้ำคยา ในสมัยหิมะตก ระหว่าง ๘ วัน ในราตรีมีความหนาวในเหมันตฤดู ด้วยคิดเห็นว่า ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยการกระทำนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นพวกชฎิลเหล่านั้นผุดขึ้นบ้าง ดำลงบ้าง ผุดขึ้นและดำลงบ้าง รดน้ำบ้าง บูชาไฟบ้าง ที่ท่าแม่น้ำคยา ในสมัยหิมะตก ระหว่าง ๘ วัน ในราตรีมีความหนาวในเหมันตฤดู ด้วยคิดเห็นว่า ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยการกระทำนี้.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ความสะอาดย่อมไม่มีเพราะน้ำ (แต่) ชนเป็นอันมากยังอาบอยู่ในน้ำนี้ สัจจะและธรรมมีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นเป็นผู้สะอาดและเป็นพราหมณ์.

จบชฎิลสูตรที่ ๙

อรรถกถาชฎิลสูตร

ชฎิลสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า คยา ในคำว่า คยายํ นี้ เขาเรียกว่า บ้านบ้าง ท่าบ้าง. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อประทับอยู่ในที่ไม่ไกลคยาคาม เขาเรียกว่า ประทับ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 120

อยู่ใกล้บ้านคยา. เมื่อประทับอยู่ในที่ไม่ไกลท่าคยา เขาก็เรียกว่าประทับอยู่ใกล้ท่าคยาเหมือนกัน. จริงอยู่ ในคำว่า คยาติตฺถํ สระก็ดี แม่น้ำก็ดี สายหนึ่งมีอยู่ในที่ไม่ไกลบ้าน ชื่อว่าคยา. ทั้งสองอย่างนั้น โลกิยมหาชนเรียกกันว่า ท่าเป็นที่ลอยบาป. บทว่า คยาสีเส ความว่า ในที่นั้น มีเขาลูกหนึ่งชื่อคยาสีสะ มียอดคล้ายศีรษะช้าง เป็นที่มีศิลาดาดเหมือนกระพองช้าง เป็นโอกาสพอภิกษุพันรูปอยู่ได้, พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ประทับอยู่ในที่นั้น. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า คยายํ วิหรติ คยาสีเส.

บทว่า ชฏิลา ได้แก่ พวกดาบส. จริงอยู่ ดาบสเหล่านั้น เขาเรียกว่า ชฎิล ในที่นี้ เพราะเป็นผู้ทรงชฎา. บทว่า อนฺตรฏฺเก หิมปาตสมเย ความว่า ในเวลาหิมะตกมีปริมาณถึง ๘ วัน คือ ในที่สุดของเดือนมาฆะอันเป็นภายในเหมันตฤดู ๔ วัน ในวันต้นของเดือนผัคคุณะ ๔ วัน. บทว่า คยายํ อุมฺมุชฺชนฺติ ความว่า คนบางพวกดำลงทั้งตัวครั้งแรกในน้ำที่สมมติกันว่าท่าน้ำนั้น จากนั้นก็ผุดขึ้นว่ายลอยไป. บทว่า นิมฺมุชฺชนฺติ ความว่า คำลงในน้ำเพียงศีรษะ. บทว่า อุมฺมุชฺชนิมฺมุชฺชมฺปิ กโรนฺติ ความว่า กระทำการผุดขึ้นดำลงบ่อยๆ. จริงอยู่ ในการกระทำนั้น คนบางพวกมีความเห็นอย่างนี้ว่า ด้วยการผุดขึ้นคราวเดียวเท่านั้น เป็นอันบริสุทธิ์จากบาป คนเหล่านั้นจึงกระทำเฉพาะการผุดขึ้นเท่านั้นแล้วก็ไป แต่การผุดขึ้นไม่มีในระหว่างการดำลง เพราะฉะนั้น ชนเหล่านั้นจึงกระทำเพียงการดำลง โดยไม่เว้น ฝ่ายชนผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ด้วยการดำลงคราวเดียวเท่านั้น จึงเป็นอันบริสุทธิ์จากบาป จึงดำลงเฉพาะคราวเดียว กระทำเพียงการผุดขึ้น โดยไม่เว้น ตามนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล แล้วก็หลีกไป. ฝ่ายชนที่มีความเห็นอย่างนี้ว่า ด้วยการดำลงที่

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 121

ท่านั้นแล เป็นการบริสุทธิ์จากบาป จึงดำลงที่ท่านั้น กลั้นลมหายใจสิ้นชีวิตลงในที่นั้นนั่นเอง เหมือนจมเหวทราย. อีกพวกหนึ่ง มีความเห็นอย่างนี้ว่า ในการกระทำการผุดขึ้นคำลงบ่อยๆ แล้วจึงอาบ เป็นการบริสุทธิ์จากบาป ชนเหล่านั้นจึงทำการผุดขึ้นและดำลงตลอดเวลา. ท่านหมายเอาคนเหล่านั้นทั้งหมดจึงกล่าวว่า ผุดขึ้นบ้าง ดำลงบ้าง ทั้งผุดทั้งดำบ้าง. ก็ในข้อนี้ การผุดขึ้นต้องมีการดำลงก่อนก็จริง ถึงกระนั้น ชนผู้กระทำเฉพาะการดำลง มีเล็กน้อย ชนผู้ทำการผุดขึ้น และการดำลงผุดขึ้นทั้งสอง มีมาก เพราะฉะนั้น เพื่อจะแสดงภาวะที่ชนเหล่านั้นเป็นฝ่ายข้างมาก จึงกล่าวการผุดขึ้นก่อน. อนึ่ง คำว่า ชฏิลา ก็เหมือนกัน ท่านกล่าวไว้ก็เพราะพวกชฎิลเป็นฝ่ายข้างมาก อนึ่ง พวกพราหมณ์แม้ทั้งศีรษะโล้นและเกล้าผมเป็นแหยม ผู้ต้องการความบริสุทธิ์ด้วยน้ำ ย่อมกระทำอย่างนั้นที่ท่าน้ำนั้น ในกาลนั้น.

บทว่า โอสิญฺจนฺติ ความว่า บางพวกเอามือวักน้ำในสระแล้วรดศีรษะและตัวของตน อีกพวกหนึ่งเอาหม้อตักน้ำ ยืนที่ริมฝั่ง แล้วกระทำเหมือนอย่างนั้น. บทว่า อคฺคึ ชุหนฺติ ความว่า บางพวกจัดแจงเวทีที่ริมแม่น้ำคยา แล้วน้อมนำเครื่องอุปกรณ์มีบูชาด้วยฟืนและหญ้าคาเป็นต้น เข้าไปบูชาไฟ คือ บำเรอไฟ. บทว่า อิมินา สุทฺธิ ความว่า บางพวกเป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความบริสุทธิ์จากมลทินคือบาป ได้แก่ การลอยบาป หรือความบริสุทธิ์จากสงสาร ย่อมมีด้วยการดำลงเป็นต้นในแม่น้ำคยา และด้วยการบำเรอไฟนี้. ก็ในที่นี้ การดำลงเป็นต้นพึงเห็นว่า ท่านกล่าวไว้เพียงเป็นตัวอย่าง.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 122

ก็บรรดาคนเหล่านั้น บางพวกอยู่ในน้ำ บางพวกทำอัญชลีน้ำ บางพวกยืนในน้ำแล้วหันตามพระจันทร์พระอาทิตย์ บางพวกอ่านฉันท์มีสาวิตติฉันท์เป็นต้นหลายพันครั้ง บางพวกก็ร่ายวิชาโดยนัยมีอาทิว่า อินฺท อาคจฺฉ จงมาเถิดท่านอินท์ บางพวกกระทำมหกรรม. ก็เมื่อกระทำอย่างนี้ บางพวกลง บางพวกขึ้น บางพวกขึ้นมาแล้วก็ทำการชำระล้างให้สะอาด บางพวกยืนอยู่ในน้ำ ถูกความหนาวบีบคั้น จึงแสดงกิริยามีประการต่างๆ มีอาทิอย่างนี้ เช่น บรรเลงพิณที่ทำด้วยงาช้างเป็นต้น. อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่พวกเหล่านั้น เมื่อกระทำกิริยาอันแปลกเห็นปานนี้ ก็ทำเฉพาะการดำลงและผุดขึ้นเป็นเบื้องต้นในน้ำนั้นเท่านั้น ฉะนั้น ท่านกระทำเหตุทั้งหมดนั้น ให้อยู่ภายในการดำลงและผุดขึ้นเท่านั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อุมฺมุชฺชนฺติปิ.

เมื่อเสียงอากุล พยากุละ ดังสนั่นอยู่ในที่นั้นอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนบนยอดเขา ทรงสดับเสียงโกลาหลนั้นของคนเหล่านั้น จึงทรงตรวจดูว่า นี้เหตุอะไรหนอ ได้ทรงเห็นกิริยาอันแปลกนั้น ท่านหมายเอาข้อนั้น จึงได้กล่าวดังนี้ว่า อทฺทสา โข ภควา ฯเปฯ อิมินา สุทฺธิ. คำนั้นมีเนื้อความดังกล่าวแล้วนั้นแล.

บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงรู้แจ้งความนั้น คือ การที่คนเหล่านั้นยึดมั่นทางที่ไม่บริสุทธิ์มีการลงน้ำเป็นต้นว่าเป็นทางบริสุทธิ์ และการที่พระองค์หยั่งรู้ในทางที่บริสุทธิ์มีสัจจะเป็นต้นว่าไม่ผิดพลาด โดยอาการทั้งปวง. บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า ทรงเปล่งอุทานนี้ คือ ที่แสดงความไม่เป็นทางบริสุทธิ์ด้วยความบริสุทธิ์เพราะน้ำ และแสดงถึงธรรมมีสัจจะเป็นต้น เป็นทางบริสุทธิ์ตามความเป็นจริง.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 123

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทเกน ในคำว่า น อุทเกน สุจี โหติ นี้ ได้แก่ ด้วยการผุดขึ้นจากน้ำเป็นต้น. ก็ในที่นี้ การผุดขึ้นจากน้ำท่านกล่าวว่า อุทกํ น้ำ เพราะลบบทปลายเหมือนอุทาหรณ์ว่า รูปภโว รูปํ รูปก็คือรูปภพ. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อุทเกน ความว่า ความสะอาดด้วยน้ำอันเป็นตัวทำกิริยามีการผุดขึ้นเป็นต้น ไม่ชื่อว่าเป็นความบริสุทธิ์ของสัตว์ คือ ไม่มี. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สุจิ ความว่า ความบริสุทธิ์ด้วยน้ำตามที่กล่าวแล้วนั้น ไม่เป็นสัตว์ชื่อว่าผู้บริสุทธิ์จากมลทินคือบาป. เพราะเหตุไร? เพราะชนเป็นอันมากอาบน้ำนี้. เพราะถ้าชื่อว่าความบริสุทธิ์จากบาป จะพึงมีเพราะการลงน้ำเป็นต้นตามที่กล่าวแล้วไซร้ ชนเป็นอันมากก็จะพากันอาบน้ำนี้ คือ คนผู้ทำกรรมชั่วมีมาตุฆาตเป็นต้น และสัตว์อื่นมีโคกระบือเป็นต้น ชั้นที่สุดปลาและเต่าก็จะพากันอาบน้ำนี้ คนและสัตว์ทั้งหมดนั้นก็จะพลอยบริสุทธิ์จากบาปไปด้วย แต่ข้อนั้นหาเป็นอย่างนั้นไม่. เพระเหตุไร? เพราะการอาบน้ำไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อเหตุแห่งบาป. ก็สิ่งใดทำสิ่งใดให้พินาศไปได้ สิ่งนั้นก็เป็นปฏิปักษ์ต่อสิ่งนั้น เหมือนแสงสว่างเป็นปฏิปักษ์ต่อความมืด และวิชชาเป็นปฏิปักษ์ต่ออวิชชา การอาบน้ำหาเป็นปฏิปักษ์ต่อบาปเช่นนั้นไม่. เพราะฉะนั้น จึงควรตกลงในข้อนี้ว่า ความสะอาดย่อมไม่มีเพราะน้ำ. ก็เพื่อจะแสดงธรรมอันเป็นเหตุทำให้สะอาด จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ยมฺหิ สจฺจญฺจ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยมฺหิ ได้แก่ ในบุคคลใด. บทว่า สจฺจํ ได้แก่ วจีสัจจะและวิรัติสัจจะ อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สจฺจํ ได้แก่ ญาณสัจจะและปรมัตถสัจจะ. บทว่า ธมฺโม ได้แก่ ธรรมคืออริยมรรค และธรรมคือผลจิต. ธรรมทั้งหมดนั้น ย่อมได้ในบุคคลใด. บทว่า โส

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 124

สุจี โส จ พฺราหฺมโณ ความว่า บุคคลนั้น คือ พระอริยบุคคล โดยพิเศษ ได้แก่ พระขีณาสพ ชื่อว่าเป็นผู้สะอาด และชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะเป็นผู้หมดจดโดยสิ้นเชิง. ก็เพราะเหตุไร ในข้อนี้สัจจะท่านจึงแยกถือเอาจากธรรม? เพราะสัจจะมีอุปการะมาก. จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงประกาศคุณของสัจจะไว้ในสุตตบทเป็นอันมาก โดยนัยมีอาทิว่า คำสัตย์แล เป็นวาจาไม่ตาย. สัจจะแล ดีกว่ารสทั้งหลาย. บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้ตั้งอยู่ในสัจจะอันเป็นอรรถและธรรมว่า เป็นสัตบุรุษ และว่า สมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในสัจจะ. ประกาศโทษของธรรมที่ตรงกันข้ามกับสัจจะโดยนัยมีอาทิว่า สัตว์ผู้มักพูดเท็จล่วงธรรมเอกเสีย และว่า ผู้พูดคำอันไม่เป็นจริง ย่อมเข้าถึงนรกแล.

จบอรรถกถาชฎิลสูตรที่ ๙