๑. มุจจลินทสูตร ว่าด้วยความสุขที่ยอดเยี่ยมในโลก
[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 161
มุจจลินทวรรคที่ ๒
๑. มุจจลินทสูตร
ว่าด้วยความสุขที่ยอดเยี่ยมในโลก
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 161
มุจจลินทวรรคที่ ๒
๑. มุจจลินทสูตร
ว่าด้วยความสุขที่ยอดเยี่ยมในโลก
[๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ประทับอยู่ที่ควงไม้มุจลินท์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขด้วยบัลลังก์อันเดียวตลอด ๗ วัน สมัยนั้น อกาลเมฆใหญ่เกิดขึ้นแล้ว ฝนตกพรำตลอด ๗ วัน มีลมหนาวประทุษร้าย ครั้งนั้นแล พญามุจลินทนาคราชออกจากที่อยู่ของตน มาวงรอบพระกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยขนดหาง ๗ รอบ แผ่พังพานใหญ่เบื้องบนพระเศียร ด้วยตั้งใจว่า ความหนาวอย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาคเจ้า ความร้อนอย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาคเจ้า สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน อย่าได้เบียดเบียนพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นพอล่วงสัปดาห์นั้นไป พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากสมาธินั้น ครั้งนั้น พญามุจลินทนาคราชทราบว่า อากาศโปร่ง ปราศจากเมฆแล้ว จึงคลายขนดหางจากพระกายพระผู้มีพระภาคเจ้า นิรมิตเพศของตน ยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่.
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 162
วิเวกเป็นสุขของผู้ยินดี มีธรรมอันสดับแล้ว พิจารณาเห็นอยู่ ความไม่เบียดเบียน คือ ความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย เป็นสุขในโลก ความเป็นผู้มีราคะไปปราศแล้ว คือ ความก้าวล่วงซึ่งกามทั้งหลายเสียได้ เป็นสุขในโลก ความนำออกซึ่งอัสมิมานะเสียได้ นี้แลเป็นสุขอย่างยิ่ง.
จบมุจจลินทสูตรที่ ๑
มุจลินทวรรควรรณนาที่ ๒ (๑)
อรรถกถามุจลินทสูตร
มุจจลินทวรรคสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
ต้นจิก ท่านเรียกว่า มุจลินท์ ในคำว่า มุจลินฺทมูเล นี้ มุจลินท์นั้นท่านเรียกว่า นิจุละ ดังนี้ก็มี, ที่ใกล้ต้นมุจลินท์นั้น. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า บทว่า มุจโล เป็นชื่อของต้นไม้นั้น, แต่บทว่า มุจโล นั้น ท่านกล่าวว่า มุจลินท์ เพราะเป็นไม้ใหญ่ที่สุดในป่า.
บทว่า มหาอกาลเมโฆ ได้แก่ มหาเมฆที่เกิดขึ้นในเมื่อยังไม่ถึงฤดูฝน. จริงอยู่ มหากาลเมฆนั้นเกิดขึ้นเต็มห้องจักรวาลทั้งสิ้นในเดือนสุดท้ายของคิมหันตฤดู. บทว่า สตฺตาหวทฺทลิกา ความว่า เมื่อมหาอกาลเมฆนั้นเกิดขึ้นแล้ว ได้มีฝนตกไม่ขาดตลอด ๗ วัน. บทว่า สีตวาตทุทฺทินี ความว่า ก็ฝนตกพรำตลอด ๗ วันนั้น ได้ชื่อว่า ทุททินี เพราะเป็นวันที่ลมหนาวเจือด้วยเมล็ดฝนพัดวนเวียนไปรอบๆ ประทุษร้ายแล้ว.
(๑) พระสูตรเป็นมุจจลินทสูตร อรรถกถาเป็นมุจลินทสูตร.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 163
บทว่า มุจลินฺโท นาม นาคราชา ได้แก่ พญานาคผู้มีอานุภาพมาก บังเกิดในนาคภพอยู่ภายใต้สระโบกขรณี ใกล้ต้นมุจลินท์นั้นแหละ. บทว่า สกภวนา แปลว่า จากภพนาคของตน. บทว่า สตฺตกฺขตฺตุํ โภเคหิ ปริกฺขิปิตฺวา ความว่า เอาขนดแห่งร่างของตนล้อมพระกายพระผู้มีพระภาคเจ้า ๗ รอบ. บทว่า อุปริมุทฺธนิ มหนฺตํ ผณํ วิหจฺจ ความว่า แผ่พังพานใหญ่ของตนเบื้องบนส่วนพระเศียรของพระผู้มีพระภาคเจ้า. ปาฐะ ว่า ผณํ กริตฺวา ดังนี้ก็มี. อรรถก็อันนั้นแหละ.
ได้ยินว่า พระยานาคนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ โคนไม้ใกล้ภพของเรา และฝนพรำตลอด ๗ วันนี้ยังเป็นไปอยู่ ควรจะได้ที่พักสำหรับพระองค์. พญานาคนั้นแม้สามารถจะนิรมิตปราสาทอันแล้วด้วยรัตนะ ๗ ก็คิดว่า เมื่อเราทำอย่างนี้ จักชื่อว่าไม่ได้ยึดกายให้เป็นสาระ เราจักทำความขวนขวายทางกายแก่พระทศพล จึงนิรมิตกายให้ใหญ่ ใช้ขนดล้อมพระศาสดา ๗ รอบ แล้วแผ่พังพานไว้ในเบื้องบน. ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาขันธกะว่า ภายในวงล้อม มีขนาดเท่าห้องภัณฑาคารที่เก็บของในโลหปราสาท. แต่ในอรรถกถามัชฌิมนิกายท่านกล่าวไว้ว่า มีขนาดเท่าภายใต้โลหปราสาท. ได้ยินว่า พญานาคมีอัธยาศัยดังนี้ว่า พระศาสดาจักประทับอยู่ด้วยอิริยาบถที่ทรงมุ่งมาดปรารถนา. ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งอยู่ตามเดิมนั่นแหละ ยับยั้งอยู่สัปดาห์หนึ่ง. ก็ที่นั้น ได้เป็นประหนึ่งกูฏาคาร มีหน้าต่างปิดมิดชิด ประตูมีลิ่มสลักสนิทดี. คำมีอาทิว่า มา ภควนฺตํ สีตํ เป็นคำแสดงเหตุที่พญานาคนั้นทำอย่างนั้น. จริงอยู่ พญานาคนั้นคิดว่า ขอความหนาว ความร้อน สัมผัสแห่งเหลือบเป็นต้น อย่าเบียดเบียนพระผู้มี-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 164
พระภาคเจ้าเลย จึงได้กระทำอย่างนั้นอยู่. ในการกระทำอันนั้น เฉพาะความร้อนย่อมไม่มี เพราะฝนตกพรำตลอด ๗ วันก็จริง ถึงอย่างนั้น ถ้าฝนขาดเม็ดเป็นระยะๆ ความร้อนก็จะพึงมี ความร้อนแม้นั้น ก็อย่าได้เบียดเบียนเลย เพราะฉะนั้น พญานาคนั้นคิดอย่างนั้นก็ควรแล้ว. แต่ในข้อนี้ อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ศัพท์ว่า อุณหะ ความร้อน เป็นการระบุถึงเหตุในการเอาขนดล้อมให้ไพบูลย์กว้างขวาง. ก็เมื่อทำวงล้อมของขนดเล็ก ไออุ่นอันเกิดจากร่างของพญานาคจะพึงเบียดเบียนพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่เพราะกระทำวงขนดกว้างขวาง ความร้อนเช่นนั้นก็เบียดเบียนไม่ได้ เพราะฉะนั้น พญานาคจึงได้ทำเช่นนั้นอยู่.
บทว่า วิทฺธํ แปลว่า ปลอดโปร่ง. อธิบายว่า ชื่อว่าอยู่ห่างไกล เพราะปราศจากเมฆ. บทว่า วิคตพลาหกํ แปลว่า ปราศจากเมฆ. บทว่า เทวํ ได้แก่ อากาศ. บทว่า วิทิตฺวา ได้แก่ รู้ว่าบัดนี้อากาศปราศจากเมฆ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มีอันตรายจากวิโรธิปัจจัยมีความหนาวเย็นเป็นต้น. บทว่า วินิเวเตฺวา แปลว่า คลายขนดแล้ว. บทว่า สกวณฺณํ ได้แก่ รูปนาคของตน. บทว่า ปฏิสํหริตฺวา ได้แก่ ให้หายไปแล้ว. บทว่า มาณวกวณฺณํ ได้แก่ รูปกุมารน้อย.
บทว่า เอตมตฺถํ ความว่า รู้ความนี้โดยอาการทั้งปวงว่า ความสุขเท่านั้นย่อมมีในที่แห่งใดแห่งหนึ่งแก่ผู้เสวยสุขอันเกิดแต่วิเวก. บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า ทรงเปล่งอุทานนี้อันแสดงถึงอานุภาพแห่งความสุขอันเกิดแต่วิเวก. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุโข วิเวโก ได้แก่ อุปธิวิเวก กล่าวคือ พระนิพพานเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข. บทว่า ตุฏฺสฺส
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 165
ได้แก่ ผู้ยินดีด้วยสันโดษในจตุมรรคญาณ. บทว่า สุตธมฺมสฺส ได้แก่ ผู้มีธรรมอันพระองค์ทรงประกาศแล้ว คือ ปรากฏแล้ว. บทว่า ปสฺสโต ได้แก่ ผู้เห็นวิเวกนั้น หรือสิ่งที่ชื่อว่าจะพึงเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมดด้วยญาณจักษุที่บรรลุด้วยกำลังแห่งวิริยะของตน. บทว่า อพฺยาปชฺฌํ ได้แก่ ภาวะอันไม่กำเริบ. ด้วยบทว่า อพฺยาปชฺฌํ นั้น พระองค์ทรงแสดงถึงส่วนเบื้องต้น มีเมตตาเป็นอารมณ์. บทว่า ปาณภูเตสุ สํยโม ความว่า และความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย คือ ความไม่เบียดเบียน เป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข. ด้วยบทว่า ปาณภูเตสุ สํยโม นี้ พระองค์ทรงแสดงถึงส่วนเบื้องต้น อันมีกรุณาเป็นอารมณ์. บทว่า สุขา วิราคตา โลเก ความว่า แม้ความเป็นผู้ปราศจากราคะ เป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขในโลก. ถามว่า เช่นไร? ตอบว่า เพราะผ่านพ้นกามทั้งหลายได้ อธิบายว่า แม้ความเป็นผู้ปราศจากราคะที่ท่านเรียกว่า การผ่านพ้นกามทั้งหลาย เป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข. ด้วยคำว่า กามานํ สมติกฺกโม นี้ พระองค์ตรัสหมายเอาอนาคามิมรรค. ก็ด้วยคำว่า อสฺมิมานสฺส วินโย นี้ พระองค์ตรัสหมายเอาพระอรหัต. จริงอยู่ พระอรหัตตรัสว่า อสฺมิมานสฺส ปฏิปสฺสทฺธิวินโย การกำจัดอัสมิมานะด้วยปฏิปัสสัทธิ. ก็ชื่อว่าความสุขอันยิ่งไปกว่านี้ ย่อมไม่มี. เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า เอตํ เว ปรมํ สุขํ บทนี้แล เป็นสุขอย่างยิ่ง. พระองค์ทรงยึดเอายอดแห่งเทศนาด้วยพระอรหัต ด้วยประการฉะนี้แล.
จบอรรถกถามุจลินทสูตรที่ ๑