พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ทัณฑสูตร ว่าด้วยความสุขในโลกหน้า

 
บ้านธัมมะ
วันที่  7 ส.ค. 2564
หมายเลข  35290
อ่าน  457

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 177

๓. ทัณฑสูตร

ว่าด้วยความสุขในโลกหน้า


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 177

๓. ทัณฑสูตร

ว่าด้วยความสุขในโลกหน้า

[๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล เด็ก

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 178

มากด้วยกันเอาท่อนไม้ตีงูอยู่ในระหว่างพระนครสาวัตถีและพระวิหารเชตวัน ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กเหล่านั้นเอาท่อนไม้ตีงูอยู่ในระหว่างพระนครสาวัตถีและพระวิหารเชตวัน.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อตน ย่อมเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุขด้วยท่อนไม้ ผู้นั้นย่อมไม่ได้ความสุขในโลกหน้า ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อตน ย่อมไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่ความสุขด้วยท่อนไม้ ผู้นั้นย่อมได้ความสุขในโลกหน้า.

จบทัณฑสูตรที่ ๓

อรรถกถาทัณฑสูตร

ทัณฑสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้:-

บทว่า กุมารกา ได้แก่ เด็กทั้งหลาย.

อันตรา ศัพท์ ในคำว่า อนฺตรา จ สาวตฺถึ อนฺตรา จ เชตวนํ นี้ มาในเหตุ ในประโยคมีอาทิว่า ใครจะรู้เหตุนั้นนอกจากตถาคต และว่า ชนทั้งหลายประชุมปรึกษาถึงเหตุอะไรกะเราและท่าน. มาในขณะ ในประโยคมีอาทิว่า ท่านผู้เจริญ หญิงคนหนึ่งกำลังล้างภาชนะ ได้เห็นเราในขณะฟ้าแลบ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 179

มาในจิต ในประโยคมีอาทิว่า ความโกรธเคืองไม่มีจากจิตของผู้ใด. มาในท่ามกลาง ในประโยคมีอาทิว่า ถึงที่สุดในท่ามกลาง. มาในระหว่าง ในประโยคมีอาทิว่า ภิกษุทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง แม่น้ำตโปทานี้ ไหลมาจากระหว่างมหานรกทั้งสอง. แม้ในที่นี้ ศัพท์ว่า อันตรา นี้นั้นพึงทราบว่า ใช้ในระหว่าง เพราะฉะนั้น พึงทราบอรรถในอันตราศัพท์นี้อย่างนี้ว่า ในระหว่างกรุงสาวัตถี กับพระเชตวัน. ก็เพราะประกอบด้วยอันตราศัพท์ ในที่นี้จึงเป็นทุติยาวิภัตติว่า อนฺตรา จ สาวตฺถึ อนฺตรา จ เชตวนํ ระหว่างกรุงสาวัตถี และระหว่างพระเชตวันวิหาร. ในที่เช่นนี้ นักคิดอักษรทั้งหลายประกอบอันตราศัพท์ๆ เดียวเท่านั้นว่า อนฺตรา คามญฺจ นทิญฺจ คจฺฉติ ไประหว่างบ้านกับระหว่างแม่น้ำ. อันตราศัพท์ เป็นอันต้องประกอบแม้กับบทที่สอง แต่ในที่นี้ท่านประกอบไว้แล้ว.

บทว่า อหึ ทณฺเฑน หนนฺติ ความว่า พวกเด็กติดตามงูเห่าซึ่งได้รับความหิวกำลังเลื้อยออกจากโพรงไปหากิน ใช้ไม้ตี. ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังเสด็จบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี เห็นเด็กเหล่านั้นในระหว่างทางเอาไม้ตีงู จึงตรัสถามว่า เด็กๆ ทั้งหลาย เพราะเหตุไร จึงเอาไม้ตีงูนี้ และเมื่อเด็กกราบทูลว่า เพราะกลัวมันกัด พระเจ้าข้า จึงเกิดธรรมสังเวชขึ้นว่า พวกเด็กเหล่านี้คิดจะทำความสุขให้ตนจึงตีงูนี้ จักเสวยทุกข์ในที่ที่ตนเกิด โอ ฉลาดในการโกง เพราะความโง่ ก็เพราะเหตุนั้นนั่นแล จึงทรงเปล่งอุทานด้วยธรรมสังเวช. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า อถ โข ภควา ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาไว้อย่างนี้ว่า พระองค์ทรงทราบเนื้อความนี้ว่า พวก

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 180

เด็กเหล่านี้ทำความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นเพื่อความสุขของตน ตนเองจักไม่ได้รับความสุขในโลกหน้า. การที่ชนเหล่าอื่นผู้ปฏิบัติชั่วแสวงหาความสุข ย่อมเป็นไปเพื่อความทุกข์ในอนาคต สำหรับผู้ปฏิบัติดี ย่อมเป็นไปเพื่อความสุขโดยส่วนเดียว เพราะฉะนั้น อาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า พระศาสดาทรงเปล่งอุทานแม้นี้โดยทรงโสมนัสว่า ผู้ที่พ้นจากการเบียดเบียนผู้อื่น เป็นผู้มีส่วนแห่งความสุขโดยแท้จริงทีเดียว ชื่อว่าเป็นการสนองโอวาทของเรา. ฝ่ายอาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า พระองค์ทรงทราบการเบียดเบียนผู้อื่น ที่พวกเด็กเหล่านั้นให้เป็นไปอย่างนี้โดยมีโทษด้วยประการทั้งปวง จึงทรงเปล่งอุทานนี้อันประกาศโทษและอานิสงส์ ตามลำดับของการเบียดเบียนผู้อื่นและการอนุเคราะห์ผู้อื่น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขกามานิ ได้แก่ ผู้ติดอยู่ในความสุข เพราะปรารถนาสุขเพื่อตนโดยส่วนเดียวเท่านั้น.

บทว่า ภูตานิ แปลว่า สัตว์ผู้มีปราณทั้งหลาย.

บทว่า ทณฺเฑน ในคำว่า โย ทณฺเฑน วิหึสติ นี้ เป็นเพียงเทศนา อธิบายว่า ด้วยท่อนไม้ หรือด้วยเครื่องประหารต่างๆ เช่น ก้อนดิน ศาสตรา และการประหารด้วยมือเป็นต้น. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ทณฺเฑน ได้แก่ ด้วยการลงโทษ. ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า บุคคลใดเบียดเบียนสัตว์ทั้งปวงผู้ใคร่ความสุข ทำให้ลำบาก ให้ได้รับความทุกข์ด้วยอาญาอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาอาญาเหล่านี้ คือ อาญาทางวาจา เช่น ด่ากระทบชาติเป็นต้น อาญาทางร่างกาย เช่น โบย ตี ตัด เป็นต้น ด้วยมือ ค้อน และศาสตราเป็นต้น หรืออาญาทางทรัพย์ เช่น ปรับไหมร้อยหนึ่ง พันหนึ่ง.

บทว่า อตฺตโน สุขเมสาโน เปจฺจ โส น ลภเต สุขํ ความว่า บุคคลนั้นเมื่อ

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 181

แสวงหา ค้นคว้า ปรารถนาสุขเพื่อตน ละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมไม่ได้รับความสุขทั้ง ๓ ประการ คือ มนุษยสุข ทิพยสุข นิพพานสุข ในโลกหน้า โดยที่แท้ ย่อมได้รับแต่ความทุกข์ด้วยอาญานั้น.

บทว่า เปจฺจ โส ลภเต สุขํ ความว่า บุคคลใดเพียบพร้อมด้วยขันติ เมตตา และความเอ็นดู คิดว่า เราปรารถนาสุข เกลียดทุกข์ฉันใด แม้สัตว์ทั้งปวงก็ฉันนั้น จึงตั้งอยู่ในสัมปัตติวิรัติเป็นต้น ไม่เบียดเบียน ไม่ทำสัตว์ทั้งปวงให้ลำบากด้วยอาญาอย่างใดอย่างหนึ่งตามนัยที่กล่าวแล้ว บุคคลนั้น เป็นมนุษย์ในปรโลก ย่อมได้รับสุขของมนุษย์ เป็นเทวดาย่อมได้รับทิพยสุข เมื่อผ่านสุขทั้งสองนั้นไป ย่อมได้รับความสุขในพระนิพพาน. ก็ในที่นี้ เพื่อจะแสดงว่า เพราะบุคคลเช่นนั้นได้อบรมไว้อย่างแน่นอน ความสุขนั้นเป็นประหนึ่งเกิดขึ้นเฉพาะหน้า (เป็นปัจจุบัน) ท่านจึงกล่าวว่า ลภเต ดังนี้. แม้ในคาถาต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.

จบอรรถกถาทัณฑสูตรที่ ๓