พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. สักการสูตร ว่าด้วยการได้สัมผัสพระนิพพาน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  7 ส.ค. 2564
หมายเลข  35291
อ่าน  681

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 181

๔. สักการสูตร

ว่าด้วยการได้สัมผัสพระนิพพาน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 181

๔. สักการสูตร

ว่าด้วยการได้สัมผัสพระนิพพาน

[๕๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้อันมหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แม้ภิกษุสงฆ์ก็

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 182

เป็นผู้อันมหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ส่วนพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก เป็นผู้อันมหาชนไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่ยำเกรง ไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ครั้งนั้นแล พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก อดกลั้นสักการะของพระผู้มีพระภาคเจ้าและของภิกษุสงฆ์ไม่ได้ เห็นภิกษุทั้งหลายในบ้านและในป่าแล้ว ย่อมด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนด้วยวาจาหยาบคาย ไม่ใช่ของสัตบุรุษ ครั้งนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้อันมหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แม้ภิกษุสงฆ์ก็เป็นผู้อันมหาชนสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ส่วนพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก เป็นผู้อันมหาชนไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่ยำเกรง ไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอดกลั้นสักการะของพระผู้มีพระภาคเจ้าและของภิกษุสงฆ์ไม่ได้ เห็นภิกษุสงฆ์ในบ้านและในป่าแล้ว ย่อมด่า บริภาษ เกรี้ยวกราด เบียดเบียนด้วยวาจาหยาบคาย ไม่ใช่ของสัตบุรุษ.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 183

ท่านทั้งหลาย ผู้อันสุขและทุกข์ถูกต้องแล้วในบ้าน ในป่า ไม่ตั้งสุขและทุกข์นั้นจากตน ไม่ตั้งสุขและทุกข์นั้นจากผู้อื่น ผัสสะทั้งหลายย่อมถูกต้องเพราะอาศัยอุปธิ ผัสสะทั้งหลายพึงถูกต้องนิพพาน อันไม่มีอุปธิเพราะเหตุไรเล่า.

จบสักการสูตรที่ ๔

อรรถกถาสักการสูตร

สักการสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า เตน โข ปน สมเยน ภควา สกฺกโต โหติ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์สักการะด้วยเครื่องสักการะเป็นต้นอันเจริญยิ่งๆ ขึ้น อันเป็นผลแห่งบุญสมภารและคุณวิเศษที่พระองค์บำเพ็ญมา ๔ อสังไขยกำไรแสนกัป ประหนึ่งเกิดความอุตสาหะขึ้นว่า เบื้องหน้าแต่นี้ เราไม่มีโอกาส. จริงอยู่ บารมีทั้งปวงเป็นเหมือนประมวลกันว่า จักให้วิบากในอัตภาพเดียว จึงบันดาลห้วงน้ำใหญ่ คือ ลาภสักการะ ให้บังเกิดแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนเมฆใหญ่เป็นคู่ๆ ตั้งขึ้นทุกทิศ ทำให้เกิดห้วงน้ำใหญ่ฉะนั้น. แต่นั้น กษัตริย์และพราหมณ์เป็นต้นต่างถือข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้เป็นต้นมาแสวงหาพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้เป็นเทพแห่งเทพ พระผู้องอาจในหมู่ชน พระผู้ประหนึ่งราชสีห์ในหมู่ชน ประทับอยู่ที่ไหน จึงเอาเกวียนร้อยเล่มบรรทุกปัจจัยมา เมื่อยังไม่ได้

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 184

โอกาส จึงเอาทบเกวียนกับทูบเกวียนจดกันแม้ในที่ประมาณคาวุตหนึ่งโดยรอบ พักอยู่ และติดตามไป เหมือนอันธกพราหมณ์และวินทพราหมณ์เป็นต้น. คำทั้งหมดนั้นพึงทราบโดยนัยที่มาในขันธกะและในสูตรนั้นๆ เกิดแก่ภิกษุสงฆ์เหมือนเกิดแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล. สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนจุนทะ บัดนี้ สงฆ์หรือคณะมีประมาณเท่าใดเกิดในโลกแล้ว ดูก่อนจุนทะ เราไม่มองเห็นสงฆ์หมู่อื่นแม้หมู่เดียวผู้ถึงความเลิศด้วยลาภและยศอย่างนี้เหมือนภิกษุสงฆ์นั้น จุนทะ ลาภสักการะนี้นั้นเกิดแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์หาประมาณมิได้ เหมือนห้วงน้ำของแม่น้ำใหญ่ ๒ สายรวมเป็นสายเดียวกัน. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าอันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายสักการะแล้ว ฯลฯ ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แม้ภิกษุสงฆ์ก็เป็นผู้อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายสักการะแล้ว ฯลฯ ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร.

ฝ่ายเดียรถีย์ทั้งหลาย อันใครๆ ไม่สักการะ ไม่เคารพ เพราะเป็นผู้ไม่ได้ทำบุญไว้ในปางก่อนและเป็นผู้ปฏิบัติผิด ว่าโดยพิเศษทางพุทธุปบาทกาล เป็นผู้มีความงามวิบัติ หมดรัศมี หมดเดช เสื่อมลาภสักการะ เหมือนหิ่งห้อยในยามพระอาทิตย์ขึ้น. พวกเขาอดกลั้นลาภสักการะเช่นนั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ไม่ได้ ถูกความริษยาครอบงำ จึงริษยาว่า เราจักด่ากระทบพวกเหล่านี้ด้วยผรุสวาจาอย่างนี้ แล้วไล่ให้หนีไป ทำการริษยา เป็นข้าศึก เที่ยวด่าบริภาษภิกษุทั้งหลายในที่นั้นๆ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ส่วนพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกใครๆ ไม่สักการะ ฯลฯ ไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ครั้นนั้นแล

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 185

พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกไม่อดทนสักการะของพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ เห็นภิกษุทั้งหลายในบ้านหรือในป่า ใช้ผรุสวาจาอันมิใช่ของสัตบุรุษ ด่า บริภาษ เกรี้ยวกราดเบียดเบียน ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสพฺภาหิ ความว่า ด้วยผรุสวาจาอันไม่สมควรในสภา คือ ไม่ควรกล่าวในที่ชุมนุมสาธุชนในที่ประชุม อธิบายว่า ด้วยวาจาชั่วหยาบ.

บทว่า ผรุสาหิ ได้แก่ ด้วยวาจาหยาบ คือ ตัดเสียซึ่งความรัก.

บทว่า อกฺโกสนฺติ ได้แก่ ด่าด้วยอักโกสวัตถุมีชาติเป็นต้น.

บทว่า ปริภาสนฺติ ได้แก่ คุกคามให้เกิดความกลัว ด้วยความทะเลาะ.

บทว่า โรเสนฺติ ความว่า ให้เกิดความเกรี้ยวกราดโดยตามกำจัด เหมือนเกรี้ยวกราดแก่คนอื่น.

บทว่า วิเหเสนฺติ ความว่า ย่อมเบียดเบียน คือ ทำความไม่สบายใจโดยอาการต่างๆ.

ถามว่า ก็อย่างไร พวกเหล่านี้จึงพากันทำการด่าเป็นต้น ให้เกิดขึ้นในพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสรอบด้าน.

ตอบว่า พวกเหล่านั้นเป็นผู้มีจิตถูกกระทบกระทั่งเพราะตนเสื่อมลาภสักการะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าอุบัติขึ้น จึงนัดแนะกะนางสุนทริกาปริพาชิกา ให้นางประกาศโทษของพระศาสดาและภิกษุทั้งหลายแล้วจึงทำการด่าเป็นต้น เหมือนคนขุดดินพลาดล้มไป และเหมือนคนทำตำหนิให้เกิดในแก้วไพฑูรย์ที่ไม่มีตำหนิฉะนั้น. ก็เรื่องแห่งนางสุนทริกาปริพาชิกานี้นั้น จักมีแจ้งในบาลีในสุนทริกาสูตรข้างหน้านั่นแล. เพราะเหตุนั้น คำที่ควรกล่าวในที่นี้ ข้าพเจ้าจักพรรณนาในสุนทริกาสูตรนั้นนั่นแหละ.

ภิกษุทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลเรื่องนั้น. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ครั้งนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ฯลฯ เบียดเบียนอยู่. คำนั้นมีอรรถดังกล่าวแล้วนั่นแล.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 186

บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบโดยประการทั้งปวง ถึงการปฏิบัติผิดนี้ของพวกเดียรถีย์ผู้ถูกความริษยาครอบงำ.

บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า ทรงเปล่งอุทานนี้ อันแสดงถึงความเป็นผู้คงที่ในประการอันผิดที่พวกเดียรถีย์เหล่านั้นกระทำ และในอุปการะที่ชนเหล่าอื่นผู้มีจิตเลื่อมใสกระทำ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คาเม อรญฺเ สุขทุกฺขผุฏฺโ ความว่า ผู้ถูกสุขและทุกข์สัมผัสแล้ว คือ เสวยสุขและทุกข์ในที่ใดที่หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือป่า หรือพรั่งพร้อมด้วยเหตุแห่งสุขและทุกข์เหล่านั้น.

บทว่า เนวตฺตโต โน ปรโต ทเหถ ความว่า พวกท่านอย่าตั้งสุขและทุกข์นั้นทั้งจากตนทั้งจากผู้อื่นเลยว่า เรา ได้รับสุข ได้รับทุกข์, สุขของเรา ทุกข์ของเรา และว่า สุขทุกข์นี้ คนอื่นให้เกิดแก่เรา.

ถามว่า เพราะเหตุไร?

ตอบว่า เพราะในขันธบัญจกนี้ ไม่มีสิ่งอะไรๆ ที่ควรจะเห็นว่าเป็นเรา ว่าเป็นของเรา ว่าเป็นคนอื่น หรือว่าเป็นของคนอื่น แต่เฉพาะสังขารอย่างเดียวเท่านั้น เกิดขึ้นตามปัจจัยแล้วแตกไปทุกๆ ขณะ. ก็ในที่นี้ ศัพท์ว่า สุขและทุกข์ เป็นยอดเทศนา. พึงทราบอรรถแห่งโลกธรรมแม้ทั้งหมด.

ดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงประกาศสุญญตะอันมีเงื่อน ๔ คือ

ข้อว่า นาหํ กฺวจนิ พระโยคาวจรนี้ไม่เห็นตัวตนมีอยู่ในที่ไหนๆ ๑

ข้อว่า กสฺสจิ กิญฺจนตสฺมึ ไม่เห็นตัวตนของตนที่จะพึงนำเข้าไปในความเป็นอะไรๆ ของใครๆ ๑

ข้อว่า น จ มม กฺวจนิ ไม่เห็นตัวตนของตนในที่ไหนๆ ๑

ข้อว่า กตฺถจิ กิญฺจนตตฺถิ ไม่เห็นตัวตนของผู้อื่นที่มีอยู่ในที่ไหนๆ ๑

บัดนี้ พระองค์ทรงแสดงเหตุแห่งความไม่ตั้งมั่นจากตนและจากคนอื่นนั้น.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 187

บทว่า ผุสนฺติ ผสฺสา อุปธึ ปฏิจฺจ ความว่า ขึ้นชื่อว่าผัสสะ อันเป็นเครื่องอำนวยสุขและอำนวยทุกข์นี้ อาศัยอุปธิ กล่าวคือ ขันธปัญจกย่อมถูกต้องอารมณ์ตามที่เป็นของตนในเมื่ออุปธินั้นมีอยู่ คือ เป็นไปในอุปธินั้นเอง. จริงอยู่ อทุกขมสุขเวทนาสงเคราะห์เข้าในสุขเหมือนกัน เพราะมีสภาวะสงบ. เพราะฉะนั้น ท่านจึงพรรณนาอรรถนี้โดยผัสสะ ๒ อย่างนั้นเอง. ก็เพื่อแสดงประการที่ผัสสะเหล่านั้นไม่ถูกต้อง ท่านจึงกล่าวว่า นิรูปธึ เกน ผุเสยฺยุํ ผสฺสา ผัสสะพึงถูกต้องธรรมที่ไม่มีอุปธิเพราะเหตุไร. จริงอยู่ เมื่ออุปธิคือขันธ์ไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะเหตุไรเล่า ผัสสะเหล่านั้นจึงพึงถูกต้อง, เพราะว่าเหตุนั้นไม่มี. ก็ถ้าว่า ท่านทั้งหลายไม่ปรารถนาสุขและทุกข์อันเกิดเพราะการด่าเป็นต้นไซร้ พวกท่านพึงกระทำความพากเพียรในความไม่มีอุปธิโดยประการทั้งปวงนั้นแหละ. คาถาได้จบลงด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ. ตรัสวัฏฏะและวิวัฏฏะด้วยอุทานนี้ ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถาสักการสูตรที่ ๔