พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. คัพภินิสูตร ว่าด้วยเรื่องทุกขเวทนาของหญิงมีครรภ์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  7 ส.ค. 2564
หมายเลข  35293
อ่าน  472

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 192

๖. คัพภินิสูตร

ว่าด้วยเรื่องทุกขเวทนาของหญิงมีครรภ์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 192

๖. คัพภินิสูตร

ว่าด้วยเรื่องทุกขเวทนาของหญิงมีครรภ์

[๕๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล นางมาณวิกาสาว ภรรยาของปริพาชกคนหนึ่ง มีครรภ์ใกล้เวลาคลอดแล้ว ครั้งนั้นแล นางปริพาชิกานั้นได้กล่าวกะปริพาชกว่า ท่านพราหมณ์ ท่านจงไปนำน้ำมันซึ่งจักเป็นอุปการะสำหรับดิฉันผู้คลอดแล้วมาเถิด เมื่อนางปริพาชิกากล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกนั้นได้กล่าวกะนางปริพาชิกาว่า ฉันจะนำน้ำมันมาให้นางผู้เจริญแต่ที่ไหนเล่า แม้ครั้งที่ ๒... แม้ครั้งที่ ๓ นางปริพาชิกานั้นก็ได้กล่าวกะปริพาชกนั้นว่า ท่านพราหมณ์ ท่านจงไปนำน้ำมันซึ่งจักเป็นอุปการะสำหรับดิฉันผู้ตลอดแล้วมาเถิด.

[๕๗] ก็สมัยนั้นแล ราชบุรุษได้ให้เนยใสบ้าง น้ำมันบ้างในพระคลังของพระเจ้าปเสนทิโกศล แก่สมณะบ้าง พราหมณ์บ้าง เพื่อดื่มพอความต้องการ ไม่ให้เพื่อนำไป ครั้งนั้นแล ปริพาชกนั้นดำริว่า ก็ราชบุรุษให้เนยใสบ้าง น้ำมันบ้าง ในพระคลังของพระเจ้าปเสนทิโกศล

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 193

แก่สมณะบ้าง พราหมณ์บ้าง เพื่อดื่มพอความต้องการ ไม่ให้เพื่อนำไป ไฉนหนอ เราพึงไปยังพระคลังของพระเจ้าปเสนทิโกศล ดื่มน้ำมันพอความต้องการแล้ว กลับมาเรือน สำรอกน้ำมันซึ่งจักเป็นอุปการะแก่นางปริพาชิกาผู้คลอดนี้เถิด ครั้งนั้นแล ปริพาชกนั้นไปยังพระคลังของพระเจ้าปเสนทิโกศล ดื่มน้ำมันพอความต้องการแล้ว กลับมาเรือน ไม่สามารถเพื่อจะไว้เบื้องต่ำ [ด้วยอำนาจการถ่ายท้อง] ปริพาชกนั้นอันทุกข์เวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนถูกต้องแล้ว ย่อมหมุนมาและหมุนไปโดยรอบ ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงผ้าอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ได้ทอดพระเนตรเห็นปริพาชกนั้น ผู้อันทุกข์เวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนถูกต้องแล้ว หมุนมาหมุนไปอยู่โดยรอบ.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ชนผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล มีความสุขหนอ ชนผู้ถึงเวท (คือ อริยมรรคญาณ) เท่านั้น ชื่อว่าผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ท่านจงดูชนผู้มีกิเลสเครื่องกังวลเดือดร้อนอยู่ ชนเป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์ในชน ย่อมเดือดร้อน.

จบคัพภินีสูตรที่ ๖

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 194

อรรถกถาคัพภินีสูตร

คัพภินีสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อญฺตรสฺส ปริพฺพาชกสฺส ได้แก่ ของกุฎุมพีปริพาชกผู้หนึ่ง.

บทว่า ทหรา แปลว่า เป็นสาว.

บทว่า มาณวิกา เป็นโวหารเรียกธิดาของพราหมณ์.

บทว่า ปชาปตี แปลว่า ภรรยา.

บทว่า คพฺภินี แปลว่า ผู้มีครรภ์.

บทว่า อุปวิชญฺา เชื่อมความว่า เป็นผู้มีเวลาจะคลอดปรากฏว่า วันนี้ พรุ่งนี้.

ได้ยินว่า ปริพาชกนั้นเป็นชาติพราหมณ์ มีภรรยา ตั้งอยู่ที่อาศรม ชื่อวาทปัตถะ เพราะเหตุนั้น คนจึงเรียกเขาผู้มีภรรยาโดยโวหารว่า ปริพาชก. ส่วนภรรยาของเขาเรียกว่า พราหมณ์ เพราะมีชาติเป็นพราหมณ์.

บทว่า เตลํ ได้แก่ น้ำมันงา. ก็ในข้อนี้ ว่าโดยวัตถุมีน้ำมันเป็นประธาน นางจึงสั่งว่า ท่านจงนำเอาสิ่งที่หญิงผู้จะคลอดต้องการเพื่อบำบัดทุกข์ในเวลาคลอดทั้งหมด มีเนยใสและเกลือเป็นต้นมา.

บทว่า ยํ เม วิชาตาย ภวิสฺสติ ความว่า สิ่งใดมีน้ำมันเป็นต้นจักเป็นอุปการะแก่เราผู้มีครรภ์จะคลอดออกไป. ปาฐะว่า ปริพฺพาชิกาย ดังนี้ก็มี.

บทว่า กุโต แปลว่า จากที่ไหน. อธิบายว่า เราพึงนำน้ำมันเป็นต้นมาจากที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นตระกูลญาติ ตระกูลมิตร ที่นั้นไม่มีแก่เรา.

บทว่า เตลํ อาหรามิ ท่านกล่าวให้เป็นปัจจุบันกาล เพราะใกล้กาลอันเป็นปัจจุบัน หมายความว่า จักนำน้ำมันมา.

วา ศัพท์ในบทว่า สมณสฺส วา ก็ดี พฺราหฺมณสฺส วา ก็ดี สปฺปิสฺส วา ก็ดี เตลสฺส วา ก็ดี เป็นสมุจจยัตถะ เหมือนในประโยคมีอาทิว่า อคฺคิโต วา อุทกโต วา มิถุเภทา วา.

บทว่า สปฺปิสฺส วา เตลสฺส วา เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ใช้ในอรรถปฐมาวิภัตติ. อธิบายว่า เนยใสและน้ำมันอันเขาให้ดื่มเท่าที่

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 195

ต้องการ.

ส่วนอาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า บทว่า สปฺปิสฺส วา เตลสฺส วา เป็นฉัฏฐีวิภัตติใช้ในอรรถว่า ส่วนย่อยและสิ่งที่มีส่วนย่อย จริงอย่างนั้น ส่วนย่อยของกลุ่มเนยใสและน้ำมัน ในที่นี้ท่านเรียกโดยศัพท์เท่าที่ต้องการ.

บทว่า โน นีหริตุํ ความว่า เขาไม่ให้ใช้ภาชนะหรือมือนำออกไปข้างนอก.

บทว่า อุจฺฉินฺทิตฺวา ได้แก่ สำรอกออก, เชื่อมความว่า ไฉนหนอ เราพึงสำรอกออก. ได้ยินว่า ปริพาชกนั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เราจะไปเรือนคลังของพระราชา ดื่มน้ำมันแค่คอแล้วมาเรือนในทันที สำรอกตามที่ดื่มลงไว้ในภาชนะหนึ่ง จักยกขึ้นเตาไฟต้ม สิ่งที่เจือด้วยดีและเสมหะเป็นต้น ไฟจักไหม้ แต่เราจักเอาแต่น้ำมันไปใช้ในการงานของนางปริพาชิกานี้.

บทว่า อุทฺธํ กาตุํ ได้แก่ เพื่อนำขึ้นข้างบนโดยจะสำรอกออก.

บทว่า น ปน อโธ ความว่า แต่ไม่อาจเพื่อจะนำออกข้างล่างด้วยการถ่ายออก. จริงอยู่ ปริพาชกนั้นดื่มด้วยคิดว่า จักสำรอกสิ่งที่เราดื่มเข้าไปมากๆ ออกจากปากเสียเอง เมื่อสิ่งที่ดื่มเข้าไปไม่ออกมา เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่กระเพาะ ไม่รู้หรือไม่ได้สิ่งที่ควรจะสำรอกและถ่ายออกได้ ได้รับทุกขเวทนาอย่างเดียว จึงหมุนไปหมุนมา.

บทว่า ทุกฺขาหิ แปลว่า มีทุกข์.

บทว่า ติปฺปาหิ ได้แก่ มาก หรือแรงกล้า.

บทว่า ขราหิ ได้แก่ กล้าแข็ง.

บทว่า กฏุกาหิ ได้แก่ ทารุณ เพราะเป็นของไม่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง.

บทว่า อาวฏฺฏติ ความว่า เมื่อไม่นอนอยู่ในที่เดียว พาร่างของตนไปข้างโน้นข้างนี้ ชื่อว่าหมุนไป.

บทว่า ปริวฏฺฏติ ความว่า แม้นอนอยู่ในที่แห่งหนึ่ง เมื่อสลัดอวัยวะน้อยใหญ่ไปรอบๆ ชื่อว่าหมุนไปรอบ.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 196

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อหมุนไปตรงหน้า ชื่อว่าหมุนไป เมื่อหมุนไปรอบๆ ชื่อว่าหมุนไปรอบ.

บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ครั้นทรงทราบโดยประการทั้งปวงถึงความนี้ว่า ความเกิดทุกข์อันนี้ เหตุเพราะบริโภคโดยไม่พิจารณาของคนผู้มีกิเลสเครื่องกังวลมีอยู่ แต่สำหรับคนไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ย่อมไม่มีทุกข์นี้โดยประการทั้งปวง ดังนี้ แล้วจึงทรงเปล่งอุทานนี้ อันประกาศความนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขิโน วต ความว่า สัตบุรุษทั้งหลายมีความสุขหนอ.

ถามว่า ก็สัตบุรุษเหล่านั้น คือพวกไหน?

ตอบว่า คือ พวกที่ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ที่ชื่อว่า อกิญจนะ เพราะไม่มีกิเลสเครื่องกังวลมีราคะเป็นต้น และกิเลสเครื่องกังวลในสิ่งที่หวงแหน พระองค์จึงตรัสว่า เวทคุโน หิ ชนา อกิญฺจนา พวกชนผู้ถึงเวท ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล. บุคคลผู้ชื่อว่า เวทคู เพราะถึง คือ บรรลุเวท กล่าวคือ อริยมรรคญาณ หรือถึง คือ บรรลุพระนิพพานด้วยเวทนั้น. อริยชนเหล่านั้น คือ บุคคลผู้สิ้นอาสวะ ชื่อว่าอกิญจนะ เพราะตัดกิเลสเครื่องกังวลมีราคะเป็นต้นได้เด็ดขาด ด้วยอรหัตตมรรค. ก็เมื่อกิเลสเครื่องกังวลมีราคะเป็นต้นไม่มี กิเลสเครื่องกังวลในสิ่งที่หวงแหนจักมีแต่ที่ไหน.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงสรรเสริญบุคคลผู้เป็นพระอรหันต์ด้วยบุรพภาคแห่งคาถาอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงติเตียนอันธปุถุชนด้วยอปรภาคแห่งคาถา จึงตรัสคำมีอาทิว่า สกิญูจนํ ปสฺส คำนั้นมีอรรถดังกล่าวไว้

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 197

แล้วในสูตรแรกนั่นแหละ ด้วยคาถาแม้นี้ พระองค์ตรัสทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะ ดังพรรณนามาฉะนี้.

จบอรรถกถาคัพภินีสูตรที่ ๖