พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. เอกปุตตสูตร ว่าด้วยการขุดอามิสแห่งมัจจุราช

 
บ้านธัมมะ
วันที่  7 ส.ค. 2564
หมายเลข  35294
อ่าน  481

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 197

๗. เอกปุตตสูตร

ว่าด้วยการขุดอามิสแห่งมัจจุราช


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 197

๗. เอกปุตตสูตร

ว่าด้วยการขุดอามิสแห่งมัจจุราช

[๕๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล บุตรคนเดียวของอุบาสกคนหนึ่ง เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ ทำกาละแล้ว ครั้งนั้นแล อุบาสกมากด้วยกันมีผ้าชุ่ม มีผมเปียก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับในเวลาเที่ยง ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามอุบาสกเหล่านั้นว่า ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย ท่านทั้งหลายมีผ้าชุ่ม มีผมเปียก เข้ามาในที่นี้ในเวลาเที่ยงเพราะเหตุไรหนอ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามอย่างนี้แล้ว อุบาสกนั้นได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า บุตรคนเดียวของข้าพระองค์ผู้เป็นที่รักเป็นที่พอใจทำกาละแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายจึงมีผ้าชุ่ม มีผมเปียก เข้ามาในที่นี้ในเวลาเที่ยง.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

หมู่เทวดาและหมู่มนุษย์เป็นจำนวนมาก ยินดีแล้วด้วยความเพลิดเพลินในรูปอันเป็นที่รัก ถึงความ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 198

ทุกข์ เสื่อมหมดแล้ว (จากสมบัติ) ย่อมไปสู่อำนาจแห่งมัจจุราช พระอริยบุคคลเหล่าใดแล ไม่ประมาททั้งกลางคืนและกลางวัน ย่อมละรูปอันเป็นที่รักเสียได้ พระอริยบุคคลเหล่านั้นแล ย่อมขุดขึ้นได้ซึ่งอามิสแห่งมัจจุราช อันเป็นมูลแห่งวัฏทุกข์ที่ล่วงได้โดยยาก.

จบเอกปุตตสูตรที่ ๗

อรรถกถาเอกปุตตสูตร

เอกปุตตสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า เอกปุตฺตโก แปลว่า บุตรคนหนึ่ง ก็บุตรนั้นชื่อว่าเอกปุตตกะ เพราะอรรถว่า อันเขาอนุเคราะห์, ชื่อว่า ปิยะ เพราะอรรถว่า อันเขารักใคร่. ชื่อว่า มนาปะ เพราะอรรถว่า เป็นที่เจริญใจ. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ปิยะ เพราะอรรถว่า น่าชม เพราะสมบูรณ์ด้วยความงามแห่งร่างกาย, ชื่อว่า มนาปะ เพราะเป็นผู้มีกัลยาณธรรม เพราะสมบูรณ์ด้วยศีลและอาจาระ. ชื่อว่า กาละ เพราะทำสัตว์ให้สิ้นไป ได้แก่ มรณะ. ชื่อว่า กาลังกตะ เพราะทำคือถึงกาละนั้น. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า กาลังกตะ เพราะกาละ คือ มัจจุทำแล้ว คือ พินาศไปแล้ว ได้แก่ ถึงความไม่เห็น อธิบายว่า ตาย.

บทว่า สนฺพหุลา อุปาสกา ความว่า อุบาสกชาวเมืองสาวัตถีเป็นอันมาก ไปตามหลังอุบาสกผู้ที่ลูกตายจนถึงป่าช้าพร้อมด้วยความโศก ให้ทำฌาปนกิจศพแล้วก็กลับ ลงน้ำทั้งที่นุ่งห่มอยู่นั่นแหละ ดำหัว บีบผ้า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 199

ยังไม่ทันจะแห้งเลย นุ่งผืนหนึ่ง ทำเฉวียงบ่าผืนหนึ่ง ให้อุบาสกนั้นนำหน้า คิดจะฟังธรรมอันเป็นเหตุบรรเทาความโศกในสำนักพระศาสดา จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า อลฺลเกสา มีผมชุ่มน้ำ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อลฺลวตฺถา แปลว่า มีผ้าชุ่มด้วยน้ำ. บทว่า ทิวา ทิวสฺส แปลว่า เป็นเวลากลางวัน อธิบายว่า เวลาเที่ยงวัน. เพราะเหตุที่พระตถาคตทั้งหลาย ทรงทราบตรัสถามก็มี ทรงทราบไม่ตรัสถามก็มี. ทรงรู้เวลาตรัสถาม ทรงรู้เวลาไม่ตรัสถามก็มี. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบอยู่ทีเดียว เมื่อจะตรัสถามเพื่อตั้งเรื่องขึ้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า กึ นุ โข ตุมฺเห อุปาสกา ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย เพราะเหตุไรหนอ พวกท่าน ดังนี้.

พระดำรัสนั้นมีความหมายดังนี้ว่า ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย ในวันอื่นๆ พวกเธอเมื่อมายังสำนักของเรา นุ่งผ้าแห้งและสะอาดมาในเวลาเย็น แต่วันนี้มีผ้าเปียก ผมเปียก มาในที่นี้เวลาเที่ยงตรง นั้นเป็นเหตุอะไร.

บทว่า เตน มยํ ความว่า เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นอย่างนั้น เพราะถูกความโศกอย่างแรงครอบงำ เพราะความเดือดร้อนจิตอันเกิดจากการพลัดพรากจากบุตร จึงได้มาเฝ้าในที่นี้.

บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบโดยประการทั้งปวงถึงเรื่องนี้ว่า สภาวธรรม มีโศก ทุกข์ และโทมนัส เป็นต้น มีวัตถุเป็นที่รักเป็นแดนเกิด เมื่อวัตถุอันเป็นที่รักไม่มี ความโศกเป็นต้นเหล่านั้น ย่อมไม่มีโดยประการทั้งปวง จึงทรงเปล่งอุทานนี้ อันประกาศความนั้น.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 200

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปิยรูปสาตคธิตาเส ความว่า ติด คือ มีจิตปฏิพัทธ์ในสภาวะอันเป็นที่รักมีรูปขันธ์เป็นต้น ด้วยความยินดีในสุขเวทนา. ก็บทว่า คธิตาเส หมายเอา คธิตา นั่นเอง. อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์ว่า เส เป็นเพียงนิบาต. จักขุประสาทเป็นต้น และปิยชนมีบุตรและภรรยาเป็นต้น ชื่อว่า ปิยรูป. สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า อะไรเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก คือ จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธรรมตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก และว่า

นระใดติดข้องกามเป็นอันมาก คือ นา สวน เงิน โค ม้า ทาสหญิงชาย ผู้หญิง และพวกพ้อง.

เพราะเหตุนั้น ผู้ติด สยบ อธิบายว่า ถูกต้องด้วยความยินดีในปิยรูปเหล่านั้น. เพื่อจะเฉลยคำถามว่าชนเหล่านั้นคือเหล่าไหนผู้ติดอยู่ในปิยรูปและสาตรูป จึงทรงแสดงชนเหล่านั้นว่า เทวกายา ปุถุมนุสฺสา จ หมู่เทพและมนุษย์เป็นอันมาก, ได้แก่ หมู่เทพเป็นอันมาก มีเทพชั้นจาตุมหาราชิกาเป็นต้น และมนุษย์เป็นอันมาก มีชาวชมพูทวีปเป็นต้น.

บทว่า อฆาวิโน ได้แก่ ผู้มีทุกข์ทางกายและทางใจ.

บทว่า ปริชุนฺนา ได้แก่ ผู้เสื่อมจากสมบัติ มีความเป็นหนุ่มสาวและความไม่มีโรคเป็นต้น เพราะความวิบัติแห่งชราและโรคเป็นต้น. พึงทราบความข้อนั้นตามที่ได้ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. อีกอย่างหนึ่ง เทวดาทั้งหลายเพียบพร้อมด้วยสุขโดยส่วนเดียว ไม่มีทุกข์ ชรา และโรคก็จริง ถึงอย่างนั้น แม้เทวดาเหล่านั้นท่านก็เรียกว่า ผู้มีทุกข์ และว่าผู้มีความเสื่อม เพราะมีการไม่พ้นจากทุกข์นั้นเป็นสภาวะ. อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบความเกิดมีทุกข์เป็นต้น แม้ของเทวดาเหล่านั้น ด้วยอำนาจการเกิดขึ้นแห่งบุรพนิมิต ปฏิจฉันนชรา

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 201

และโรคทางใจ. บทว่า มจฺจุราชสฺส วสํ คจฺฉนฺติ ความว่า ชนเหล่านั้นไปสู่อำนาจ คือ มือแห่งความตาย กล่าวคือ มัจจุราช เพราะมีธาตุ ๓ เป็นใหญ่ เหตุจะเกิดในครรภ์บ่อยๆ เพราะยังละตัณหาซึ่งมีปิยวัตถุเป็นอารมณ์ไม่ได้.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงวัฏฏะด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล้ว บัดนี้จึงแสดงวิวัฏฏะ (นิพพาน) โดยนัยมีอาทิว่า เย เว ทิวา ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เย เว ทิวา จ รตฺโต จ อปฺปมตฺตา ความว่า คนผู้ไม่ประมาทอย่างมั่นคง ย่อมบำเพ็ญอัปปมาทปฏิปทาทั้งกลางวันและกลางคืนโดยนัยดังกล่าวแล้วมีอาทิว่า ชำระจิตให้หมดจดจากธรรมอันเป็นเครื่องกางกั้น โดยการจงกรมและการนั่งตลอดวัน.

บทว่า ชหนฺติ ปิยรูปํ ความว่า ให้ขวนขวายกรรมฐานภาวนาอันสัมปยุตด้วยสัจจะ ๔ ละปิยรูป คือ ปิยวัตถุ มีจักขุประสาทเป็นต้น อันเกิดจากสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก ด้วยการละฉันทราคะอันเนื่องกับปิยรูปนั้น เพราะบรรลุพระอริยมรรค.

บทว่า เต เว ขณนฺติ อฆมูลํ มจฺจุโน อามิสํ ทุรติวตฺตํ ความว่า พระอริยบุคคลเหล่านั้นใช้จอบ คือ อริยมรรคญาณ ขุดตัณหาพร้อมกับอวิชชาอันเป็นมูลรากแห่งทุกข์ คือ วัฏทุกข์ ชื่อว่าเป็นอามิส เพราะมัจจุคือมรณะจับต้อง ชื่อว่าล่วงได้ยาก เพราะสมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งนอกจากศาสนานี้ไม่อาจกลับได้ คือ ถอนรากขึ้นไม่ให้เหลือแม้แต่สิ่งเล็กน้อย ความนี้นั้น พึงให้พิสดารโดยสุตตบทมีอาทิว่า

อปฺปมาโท อมตํ ปทํ

ปมาโท มจฺจุโน ปทํ

อปฺปมตฺตา น มียนฺติ

เย ปมตฺตา ยถา มตา.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 202

ความไม่ประมาทเป็นทางแห่งความไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย คนผู้ไม่ประมาทชื่อว่าย่อมไม่ตาย คนประมาทเหมือนคนตายแล้วแล.

จบอรรถกถาเอกปุตตสูตรที่ ๗