พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. วิสาขาสูตร ว่าด้วยประโยชน์ทั้งหมดในอํานาจผู้อื่น

 
บ้านธัมมะ
วันที่  7 ส.ค. 2564
หมายเลข  35296
อ่าน  517

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 261

๙. วิสาขาสูตร

ว่าด้วยประโยชน์ทั้งหมดในอํานาจผู้อื่น


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 261

๙. วิสาขาสูตร

ว่าด้วยประโยชน์ทั้งหมดในอำนาจผู้อื่น

[๖๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของวิสาขามิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ประโยชน์บางอย่างของนางวิสาขามิคารมารดาเนื่องในพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงยังประโยชน์นั้นให้สำเร็จตามความประสงค์ ครั้งนั้นเป็นเวลาเที่ยง นางวิสาขามิคารมารดาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามนางวิสาขามิคารมารดาว่า ดูก่อนนางวิสาขา ท่านมาแต่ที่ไหนหนอในเวลาเที่ยง นางวิสาขามิคารมารดากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ประโยชน์บางอย่างของหม่อมฉันเนื่องในพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงยังประโยชน์นั้นให้สำเร็จตามความประสงค์.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 262

ประโยชน์ทั้งหมดอยู่ในอำนาจของผู้อื่น นำทุกข์มาให้ ความเป็นใหญ่ทั้งหมดนำสุขมาให้ เมื่อมีสาธารณประโยชน์ที่จะพึงให้สำเร็จ สัตว์ทั้งหลายย่อมเดือดร้อน เพราะว่ากิเลสเครื่องประกอบสัตว์ทั้งหลาย ก้าวล่วงได้โดยยาก.

จบวิสาขาสูตรที่ ๙

อรรถกถาวิสาขาสูตร

วิสาขาสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ปุพฺพาราเม ได้แก่ ในอารามที่สร้างไว้ในที่เหมือนอุตตมเทวีวิหารแห่งอนุราธบุรี ด้านทิศตะวันออกของกรุงสาวัตถี.

บทว่า มิคารมาตุ ปาสาเท แปลว่า ในปราสาทของมิคารมารดา. ในข้อนั้นมีอนุบุพพิกถาดังต่อไปนี้

ในอดีตกาล ในที่สุดแสนกัป อุบาสิกาคนหนึ่งเห็นพระทศพลพระนามว่า ปทุมุตตระ ทรงสถาปนาอุบาสิกาคนหนึ่งไว้ในตำแหน่งอัครอุปัฏฐายิกาของพระองค์ จึงทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายทานแก่ภิกษุแสนหนึ่ง มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน กระทำความนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วตั้งความปรารถนาไว้ว่า ในอนาคตขอให้หม่อมฉันเป็นอัครอุปัฏฐายิกาของพระพุทธเจ้าเช่นพระองค์. เธอท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา จึงถือปฏิสนธิในครรภ์ของ สุมนเทวี ในคฤหาสน์ของธนัญชัยเศรษฐี ผู้เป็น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 263

บุตรของ เมณฑกเศรษฐี ในภัททิยนคร. ก็ในเวลาที่นางเกิด ชนทั้งหลายได้ขนานนามของเธอว่า วิสาขา. ในคราวที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จภัตทิยนคร เธอพร้อมด้วยทาริกา ๕๐๐ คน ไปต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เป็นพระโสดาบัน เพราะการได้เฝ้าครั้งแรกนั่นเอง.

ครั้นภายหลัง เธอไปยังคฤหาสน์ของปุณณวัฒนกุมาร ผู้เป็นบุตรของมิคารเศรษฐี ในกรุงสาวัตถี มิคารเศรษฐีผู้เป็นพ่อผัว ตั้งเธอไว้ในฐานะเป็นมารดา โดยเป็นผู้มีอุปการะในคฤหาสน์นั้น. เพราะฉะนั้น เขาจึงขนานนามว่า มิคารมารดา. เธอสละเครื่องประดับ ชื่อว่า มหาลดา ของตน โดยใช้ทรัพย์ ๙ โกฏิสร้างปราสาทประดับไว้ ๑,๐๐๐ ห้อง คือ พื้นชั้นบน ๕๐๐ ห้อง พื้นชั้นล่าง ๕๐๐ ห้อง ณ พื้นที่ประมาณ ๑ กรีส เพื่อเป็นที่ประทับและเป็นที่อยู่ของพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ในปราสาทของมิคารมารดา.

บทว่า โกจิเทว อตฺโต แปลว่า ประโยชน์บางอย่าง.

บทว่า รญฺเ แปลว่า พระราชา.

บทว่า ปฏิพทฺโธ แปลว่า เนื่องถึงกัน.

พวกญาติของนางวิสาขาส่งสิ่งของเช่นนั้นอันวิจิตรด้วยแก้วมณีและแก้วมุกดาเป็นต้นจากตระกูลญาติ ไปเพื่อเป็นบรรณาการแก่นาง. สิ่งของนั้นพอถึงประตูเมือง พวกเก็บส่วยจึงเก็บส่วย ณ ที่นั้น แต่ไม่เก็บให้พอควรแก่สิ่งของนั้น เก็บเอาเกินไป. นางวิสาขาได้ฟังดังนั้น ประสงค์จะทูลความนั้นแก่พระราชา จึงได้ไปยังพระราชนิเวศน์พร้อมด้วยบริวารพอสมควร, ขณะนั้นพระราชาพร้อมด้วยพระนางมัลลิกาเทวีได้เสด็จไปภายในพระตำหนัก, นางวิสาขาเมื่อไม่ได้โอกาส จึงคิดว่า เราจักได้ในบัดนี้ เราจักได้ในบัดนี้ เป็นผู้ขาดการบริโภคอาหารเพราะเลยเวลาบริโภค จึงหลีกไป. แม้นางจะ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 264

ไปอย่างนี้ถึง ๒ - ๓ วันก็ไม่ได้โอกาสเลย. ดังนั้น พระราชาแม้เขาจะไม่กราบทูลให้ทรงทราบ ก็เรียกว่า พระองค์ไม่ยังประโยชน์ให้สำเร็จตามความประสงค์ เพราะไม่ได้โอกาสที่จะทำการวินิจฉัยความนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยถาธิปฺปายํ แปลว่า ตามควรแก่ความประสงค์.

บทว่า น ตีเรติ แปลว่า ยังไม่ตกลง. จริงอยู่ มหาอุบาสิกามีความประสงค์จะถวายส่วยอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชาแก่พระราชา แล้วสละสิ่งของพวกนี้ ความประสงค์นั้นพระราชายังมิได้พิจารณา เพราะพระองค์ยังมิได้เห็นเลย.

ศัพท์ว่า หนฺท เป็นนิบาต ใช้ในอรรถว่า เสียสละ.

บทว่า ทิวา ทิวสฺส แปลว่า ในเวลากลางวัน อธิบายว่า ในเวลาเที่ยง. มหาอุบาสิกาเมื่อจะแสดงความนี้ว่า หม่อมฉันไปยังประตูพระราชนิเวศน์ ๒ - ๓ วัน ในเวลากลางวัน ด้วยกรณียกิจบางอย่าง เข้าไปหาโดยไร้ประโยชน์ทีเดียว เพราะความนั้นยังไม่ตกลง แต่การเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้นมีประโยชน์ เพราะเป็นเหตุให้ได้ทัสนานุตริยะเป็นต้น เพราะเหตุนั้น หม่อมฉันจึงมาในที่นี้ในเวลานี้ พระเจ้าข้า ดังนี้ จึงกราบทูลคำมีอาทิว่า อิธ เม ภนฺเต.

บทว่า เอตมตฺถํ ความว่า ทรงทราบเนื้อความนี้ กล่าวคือ การสำเร็จความประสงค์โดยเนื่องกับผู้อื่น.

ด้วยบทว่า อิมํ อุทานํ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานนี้ อันแสดงโทษและอานิสงส์ในความเป็นไปที่อาศัยผู้อื่นกับไม่อาศัยผู้อื่น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพํ ปรวสํ ทุกฺขํ ความว่า อรรถคือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นไปในอำนาจของคนอื่น คือ เนื่องกับคนอื่น จัดว่าเป็นทุกข์ คือ นำทุกข์มาให้ เพราะไม่อาจให้สำเร็จตามความปรารถนาของตน.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 265

บทว่า สพฺพํ อิสฺสริยํ สุขํ ความว่า ความเป็นใหญ่มี ๒ อย่าง คือ เป็นโลกิยะ ๑ โลกุตระ ๑. ในสองอย่างนั้น ความเป็นใหญ่ฝ่ายโลกิยะ มีความเป็นใหญ่แห่งพระราชาเป็นต้น และความเป็นใหญ่แห่งจิตอันเกิดจากฌานและอภิญญาฝ่ายโลกิยะ. ความเป็นใหญ่ฝ่ายโลกุตระ ได้แก่ ความเป็นใหญ่แห่งนิโรธอันมีการบรรลุมรรคและผลเป็นนิมิต. ในความเป็นใหญ่เหล่านั้น ความเป็นใหญ่ในมนุษย์อันมีความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเป็นที่สุด ๑ ความเป็นใหญ่เป็นอธิบดีในหมู่เทพนั้นๆ แห่งท้าวสักกะเป็นต้น ๑ ทั้งสองอย่างนั้น แม้ถ้าชื่อว่าเป็นสุข เพราะมีสุขเป็นนิมิต โดยสำเร็จตามความปรารถนาด้วยอานุภาพแห่งกรรม แต่ถึงกระนั้น จะชื่อว่าเป็นสุขอย่างแท้จริงโดยประการทั้งปวงก็หาไม่ เพราะเป็นทุกข์โดยมีความแปรปรวนไป. อนึ่ง ความเป็นใหญ่ทางจิตอันเกิดจากโลกิยฌานเป็นต้น ชื่อว่าไม่เป็นสุขอย่างแท้จริง เพราะมีความไม่เที่ยงเป็นที่สุด. ส่วนความเป็นใหญ่แห่งนิโรธเท่านั้น ชื่อว่ามีความเป็นสุขอย่างแท้จริง เพราะไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม และเพราะไม่มีการหมุนกลับ (นิโรธ) เป็นสภาวะ. ก็ในที่นี้ พระศาสดาทรงหมายเอาสุขทางใจที่ได้โดยไม่เนื่องกับสิ่งอื่นในทุกสถานทีเดียว จึงตรัสว่า สพฺพํ อิสฺสริยํ สุขํ ความเป็นใหญ่ทั้งปวงนำมาซึ่งความสุข.

บทว่า สาธารเณ วิหญฺนฺติ นี้ เป็นบทไขความแห่งบทนี้ว่า สพฺพํ ปรวสํ ทุกฺขํ ประโยชน์ทั้งปวงที่อยู่ในอำนาจของผู้อื่นนำความทุกข์มาให้. ก็ในข้อนี้มีอธิบายดังนี้ เมื่อประโยชน์ทั่วไปที่จะพึงให้สำเร็จมีอยู่ สัตว์เหล่านี้ชื่อว่าเดือดร้อน คือ ถึงความคับแค้น ลำบาก เพราะไม่สำเร็จตามความประสงค์ เหตุประโยชน์นั้นเนื่องด้วยผู้อื่น.

ถามว่า เพราะเหตุไร?

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 266

ตอบว่า เพราะกิเลสเครื่องประกอบล่วงได้โดยยาก.

อธิบายว่า เพราะเหตุที่กามโยคะ ภวโยคะ ทิฏฐิโยคะ และอวิชชาโยคะ อันบุคคลให้เกิดมีตลอดกาลหาเบื้องต้นมิได้ ชื่อว่าล่วงได้ยาก เพราะผู้ที่ไม่ได้สั่งสมกุศลสมภารมาไม่สามารถจะละได้, ในโยคะเป็นต้นนั้น ทิฏฐิโยคะอันบุคคลพึงล่วงได้ด้วยปฐมมรรค (โสดาปัตติมรรค) กามโยคะอันบุคคลพึงล่วงได้ด้วยมรรคที่ ๓ (อนาคามิมรรค) โยคะนอกนี้อันบุคคลพึงล่วงได้ด้วยมรรคอันเลิศ (อรหัตตมรรค). ดังนั้น โยคะเหล่านี้จึงชื่อว่าล่วงได้ยาก เพราะอริยมรรคทั้งหลายบรรลุได้ยาก เพราะฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงชื่อว่าเดือดร้อน เพราะเหตุที่ไม่ได้สิ่งที่ปรารถนาด้วยอำนาจกามโยคะเป็นต้น อธิบายว่า ก็เมื่อความเป็นใหญ่แห่งจิต และความเป็นใหญ่แห่งนิโรธมีอยู่ แม้ในกาลไรๆ ความคับแค้นก็เกิดไม่ได้.

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สพฺพํ ปรวสฺสํ ความว่า ประโยชน์ กล่าวคือ ความเป็นไปของตนเนื่องด้วยผู้อื่นและผู้อื่นเนื่องกับตน ทั้งหมดนั้นชื่อว่าเป็นเหตุนำทุกข์มาให้ เพราะมีความไม่เที่ยงเป็นสภาวะ. สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์.

บทว่า สพฺพํ อิสฺสริยํ ความว่า พระนิพพานอันเป็นที่สลัดออกจากสังขตธรรมทั้งปวงอันได้นามว่าอิสริยะ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความเป็นใหญ่ ทั้งหมดนั้นแยกเป็นสอุปาทิเสสนิพพานเป็นต้น ชื่อว่านำมาซึ่งความสุข. สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง.

บทว่า สาธารเณ ความว่า เมื่อกำหนดทุกข์และสุขได้อย่างนี้ สัตว์เหล่านี้ย่อมเดือดร้อน จมอยู่ในเหตุแห่งทุกข์อันทั่วไปแก่ทุกข์มากมาย.

ถามว่า เพราะเหตุไร?

ตอบว่า เพราะกิเลสเครื่องประกอบล่วงได้ยาก อธิบายว่า เพราะเหตุที่

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 267

กามโยคะเป็นต้นเหล่านั้นเป็นเหตุให้จมลงในทุกข์ทั้งปวงเป็นอันล่วงได้ยาก ฉะนั้น วิสาขา แม้เธอปรารถนาประโยชน์ที่เนื่องกับผู้อื่น เมื่อไม่ได้ ก็เดือดร้อน.

จบอรรถกถาวิสาขาสูตรที่ ๙