พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. กรรมสูตร ว่าด้วยการละกรรมทั้งหมด

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 ส.ค. 2564
หมายเลข  35302
อ่าน  693

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 277

นันทวรรคที่ ๓

๑. กรรมสูตร

ว่าด้วยการละกรรมทั้งหมด


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 277

นันทวรรคที่ ๓

๑. กรรมสูตร

ว่าด้วยการละกรรมทั้งหมด

[๖๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งนั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงอยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า อดกลั้นทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนซึ่งเกิดแต่ผลแห่งกรรมเก่า มีสติสัมปชัญญะ ไม่พรั่นพรึงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้น นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรงอยู่ในที่ไม่ไกล อดกลั้นทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนซึ่งเกิดแต่ผลแห่งกรรมเก่า มีสติสัมปชัญญะ ไม่พรั่นพรึงอยู่.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ภิกษุละกรรมทั้งหมดได้แล้ว กำจัดกรรมเป็นดังธุลีที่ตนทำไว้แล้วในก่อน ไม่มีการยึดถือว่าของเรา ดำรงมั่นคงที่ ประโยชน์ที่จะกล่าวกะชน (ว่าท่านจงทำยาเพื่อเรา) ย่อมไม่มี.

จบกรรมสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 278

นันทวรรควรรณนาที่ ๓

อรรถกถากรรมสูตร

นันทวรรค กรรมสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อญฺตโร ภิกฺขุ ได้แก่ ภิกษุผู้ขีณาสพรูปหนึ่ง ซึ่งไม่ปรากฏนามและโคตร.

ได้ยินว่า ภิกษุนั้นเป็นกุลบุตรชาวกรุงราชคฤห์ อันพระมหาโมคคัลลานะให้สังเวชแล้ว เห็นโทษในสงสาร จึงบรรพชาในสำนักพระศาสดา ชำระศีลให้หมดจด ยึดเอากรรมฐานอันสัมปยุตด้วยสัจจะ ๔ ไม่นานนัก ได้บำเพ็ญวิปัสสนาบรรลุพระอรหัต. ภายหลังท่านได้เกิดอาพาธอย่างแรงกล้า. ท่านยับยั้งด้วยการพิจารณาอยู่ จริงอยู่ ธรรมดาว่า พระขีณาสพไม่มีทุกข์ทางใจ แต่ทุกข์ทางกายยังมีอยู่เหมือนกัน. วันหนึ่ง เมื่อพระศาสดากำลังแสดงธรรม ท่านอดกลั้นทุกข์นั่งสมาธิอยู่ในที่ไม่ไกล. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า ภควโต อวิทูเร นิสินฺโน โหติ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปลฺลงฺกํ แปลว่า นั่งพับขาโดยรอบ.

บทว่า อาภุชิตฺวา แปลว่า พับ.

บทว่า อุชุํ กายํ ปณิธาย ความว่า ท่านตั้งกายเบื้องบนให้ตรง แล้วให้กระดูกสันหลัง ๑๘ ข้อจดถึงกัน. ก็เมื่อท่านนั่งอย่างนี้ หนัง เนื้อ และเอ็นจะไม่ตึง เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้นั่งอย่างนั้น.

บทว่า ปุราณกมฺมวิปากชํ แปลว่า เกิดโดยเป็นวิบากแห่งกรรมที่ทำไว้ก่อน. อีกอย่างหนึ่ง เกิดโดยความเป็นส่วนหนึ่งแห่งกรรมนั้น ในเมื่อวิบากของกรรมเก่าซึ่งมีอาการเป็นสุขและทุกข์ เกิดเป็นวิปากวัฏฏ์. ข้อนั้นคืออะไร? คือ ทุกข์. ก็ด้วยคำว่า ปุราณกมฺมวิปากชํ นี้

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 279

ท่านแสดงถึงอาพาธนั้นมีกรรมเป็นสมุฏฐาน จึงห้ามความที่กรรมเกิดจากฤดูเปลี่ยนแปรเป็นต้นอันรู้สึกเจ็บปวด.

บทว่า ทุกฺขํ ได้แก่ ทุกข์อันปุถุชนไม่สามารถจะทานได้.

บทว่า ติปฺปํ แปลว่า แรงกล้า หรือหนัก เพราะครอบงำเป็นไป.

บทว่า ขรํ แปลว่า กล้าแข็ง.

บทว่า กฏุกํ แปลว่า ไม่สำราญ.

บทว่า อธิวาเสนฺโต แปลว่า ยับยั้ง คือ อดกลั้น อดทน เป็นอย่างสูง.

บทว่า สโต สมฺปชาโน ได้แก่ มีสติ มีสัมปชัญญะ ด้วยอำนาจสติและสัมปชัญญะ อันเป็นตัวกำหนัดเวทนา. ท่านกล่าวคำอธิบายนี้ไว้ว่า ธรรมดาว่า เวทนานี้ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะอรรถว่า มีแล้วกลับไม่มี ชื่อว่าปฏิจจสมุปปันนะ เพราะอาศัยปัจจัยมีอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาเป็นต้นเกิดขึ้น ชื่อว่ามีความสิ้น มีความเสื่อม มีคลายกำหนัด มีดับเป็นธรรมดา เพราะมีการเกิดขึ้นแล้วแตกไปโดยส่วนเดียวเป็นสภาวะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สโต มีสติ เพราะเป็นผู้กระทำสติโดยกำหนดเวทนาว่าเป็นอนิจจตา ความไม่เที่ยง และชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะ เพราะแทงตลอดสภาวะที่ไม่แปรผัน. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เป็นผู้มีสติ เพราะมีสติปรากฏด้วยดีในกาย เวทนา จิต และธรรม ในที่ทุกแห่ง โดยถึงความเป็นผู้ไพบูลย์ด้วยสติ ชื่อว่า เป็นผู้มีสัมปชัญญะ เพราะเป็นผู้กำหนดสังขาร โดยถึงความเป็นผู้ไพบูลย์ด้วยปัญญา โดยประการนั้น.

บทว่า อวิหญฺมาโน ความว่า ไม่เดือดร้อนเหมือนอันธปุถุชน โดยนัยดังตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ อันทุกขธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบาก ย่อมร่ำไร คร่ำครวญ ตีอก ถึงความงมงาย ดังนี้ ไม่ให้ทุกข์ทางใจเกิดขึ้น เพราะถอนขึ้นได้ด้วยมรรคนั่นเอง นั่งอดกลั้นทุกข์ในร่างกายซึ่งเกิดแต่วิบากแห่งกรรมอย่างเดียว

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 280

เหมือนบุคคลนั่งเข้าสมาบัติ.

บทว่า อทฺทส ความว่า ได้ทรงเห็นท่านผู้มีอายุนั้นนั่งอยู่อย่างนั้น ด้วยอธิวาสนขันติ.

บทว่า เอตมตฺถํ ความว่า ทรงทราบโดยประการทั้งปวงถึงอรรถนี้ กล่าวคือ พระขีณาสพไม่ถูกโลกธรรมฉาบทา อันเป็นเหตุให้ถึงความไม่ขวนขวายเพื่อให้หมอเยียวยาโรคเช่นนั้น.

ด้วยบทว่า อิมํ อุทานํ พระองค์ทรงเปล่งอุทานนี้ อันเป็นความแจ่มแจ้งแห่งสังขตธรรมอันถึงความไม่คับแค้นด้วยทุกขธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพกมฺมชหสฺส ได้แก่ ผู้ละกรรมทั้งหมดได้แล้ว. จริงอยู่ จำเดิมแต่เวลาที่อรหัตตมรรคเกิดขึ้น กุศลกรรมและอกุศลกรรมทั้งปวง ชื่อว่าเป็นอันพระอรหันต์ละได้แล้ว เพราะไม่สามารถจะให้ปฏิสนธิได้, อันเป็นเหตุให้เรียกอริยมรรคญาณว่า กระทำความสิ้นไปแห่งกรรม.

บทว่า ภิกฺขุโน ได้แก่ ชื่อว่าเป็นภิกษุ เพราะทำลายกิเลส.

บทว่า ธุนมานสฺส ปุเรกตํ รชํ ความว่า ทุกขเวทนียกรรมอันได้นามว่า รชํ เพราะเจือด้วยกิเลสดุจธุลีมีราคะเป็นต้น ที่กระทำไว้ในกาลก่อนแต่การบรรลุพระอรหัต, ผู้ขจัด คือ กำจัดทุกขเวทนียกรรมนั้นด้วยการเสวยวิบาก, แต่เบื้องหน้าแต่กาลบรรลุพระอรหัต ย่อมไม่เกิดกิริยาที่มีโทษเลย และกิริยาที่ไม่มีโทษก็เป็นเพียงกิริยาเท่านั้น เพราะไม่มีความสามารถที่จะให้ผล เหตุตัดมูลรากของภพได้เด็ดขาด เหมือนดอกไม้ไม่สามารถจะให้ผลเพราะถูกตัดราก ฉะนั้น.

บทว่า อมมสฺสา ความว่า ชื่อว่าไม่ยึดถือว่าของเรา คือ เว้นจากมมังการ เพราะไม่ยึดถือว่าของเราในอารมณ์ไหนๆ มีรูปารมณ์เป็นต้น. เพราะผู้ที่มีมมังการย่อมให้แพทย์เป็นต้นรักษาร่างกายด้วยความรักตน.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 281

ส่วนพระอรหันต์ไม่มีมมังการ เพราะฉะนั้น ท่านจึงวางเฉยได้แม้ในการปรนนิบัติร่างกาย.

บทว่า ิตสฺส ได้แก่ ผู้ข้ามโอฆะแม้ทั้ง ๔ แล้วตั้งอยู่บนบก คือ พระนิพพาน หรือตั้งอยู่โดยไม่มีการท่องเที่ยวไปด้วยอำนาจการถือปฏิสนธิ. จริงอยู่ พระเสขะและปุถุชน ชื่อว่าย่อมท่องเที่ยวไปด้วยอำนาจจุติและปฏิสนธิ เพราะท่านละกิเลสและอภิสังขารยังไม่ได้ อนึ่ง พระอรหันต์ท่านเรียก ิโต ผู้ตั้งอยู่ เพราะไม่มีจุติและปฏิสนธินั้น. อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ ผู้ตั้งอยู่ในอริยธรรม ๑๐ ประการ กล่าวคือ พระขีณาสพ.

บทว่า ตาทิโน ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยอริยฤทธิ์ ๕ ประการ ที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า เป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งปฏิกูลว่าเป็นสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่ และประกอบด้วยอุเบกขามีองค์ ๖ อันไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ๘ ชื่อว่าผู้คงที่ เพราะเป็นผู้คงที่ กล่าวคือ ความเป็นผู้เช่นเดียวกันในอิฏฐารมณ์เป็นต้น.

บทว่า อตฺโถ นตฺถิ ชนํ ลเปตเว ความว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะกล่าวคือพูดกะชนว่า ท่านทั้งหลายจงปรุงเภสัชเป็นต้นแก่เรา เพราะไม่มีความอาลัยในร่างกาย. จริงอยู่ อัธยาศัยของพระขีณาสพ (มี) ว่า กายนี้จงแตกตกไปเองทีเดียว เหมือนใบไม้เหลืองหล่นจากขั้วฉะนั้น. สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า

เราไม่หวังความตาย ไม่หวังความเป็นอยู่ แต่ยังหวังกาลเวลา เหมือนลูกจ้างหวังค่าจ้างฉะนั้น.

อีกอย่างหนึ่ง พระขีณาสพไม่มีความต้องการเพื่อจะแสดงนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วกล่าวกะชนว่า พระผู้เป็นเจ้าต้องการอะไร คือ เพื่อให้ชนพูดโดยการเชื้อเชิญด้วยปัจจัยทั้งหลาย เพราะท่านถอนมิจฉาชีพเช่นนั้นเสียได้ด้วยมรรคจิตนั่นเอง.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 282

ดังนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงประกาศเหตุในการให้เยียวยาพระเถระสำหรับเหล่าชนผู้คิดว่า เพื่อประโยชน์อะไร พระเถระนี้จึงให้หมอเยียวยาโรคของตนแล้ว นั่งในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า

จบอรรถกถากรรมสูตรที่ ๑