พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. โกลิตสูตร ว่าด้วยกายคตาสติ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 ส.ค. 2564
หมายเลข  35306
อ่าน  464

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 325

๕. โกลิตสูตร

ว่าด้วยกายคตาสติ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 325

๕. โกลิตสูตร

ว่าด้วยกายคตาสติ

[๗๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง มีกายคตาสติอันตั้งไว้แล้วในภายใน อยู่ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง มีกายคตาสติอันตั้งไว้ดีแล้วในภายใน อยู่ในที่ไม่ไกล.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 326

ภิกษุเข้าไปตั้งกายคตาสติไว้แล้ว สำรวมแล้วในผัสสายตนะ ๖ มีจิตตั้งมั่นแล้วเนืองๆ พึงรู้นิพพานของตน.

จบโกลิตสูตรที่ ๕

อรรถกถาโกลิตสูตร

โกลิตสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า กายคตาย สติยา ความว่า มีสติอันไปในกาย คือ มีกายเป็นอารมณ์ด้วยอำนาจกายานุปัสสนา.

บทว่า สติยา นี้ เป็นตติยาวิภัตติ ใช้ในลักษณะอิตถัมภูต. ภายในตน ชื่อว่าอัชฌัตตะ ในบทว่า อชฺฌตฺตํ นี้. เพราะฉะนั้น จึงมีความว่า ในตน คือ ในสันดานของตน. อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบเนื้อความของบทว่า อชฺฌตฺตํ ว่า โคจรชฺฌตฺตํ เพราะท่านประสงค์เอาประชุมส่วนทั้ง ๓๒ มีผมเป็นต้น อันเป็นตัวกรรมฐานว่า กาย ในที่นี้.

บทว่า สุปติฏฺิตาย ความว่า ปรากฏด้วยดีในกาย อันเป็นภายในตน หรืออันเป็นภายในอารมณ์.

ถามว่า ก็สติที่ท่านกล่าวว่า ปรากฏด้วยดีภายในตน คืออะไร?

ตอบว่า คือ สติอันปรากฏในกายด้วยอำนาจอุปจาระและอัปปนาของพระโยคีผู้ยังปฏิกูลมนสิการให้เป็นไปในอาการ ๓๒ มีผมเป็นต้น อันเป็นภายในที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่ากาย โดยนัยมีอาทิว่า ผม ขน มีอยู่ในกายนี้นั้น ท่านเรียกว่า กายคตาสติ. ก็กายคตาสตินี้ฉันใด สติอันปรากฏในกายด้วยอำนาจอุปจาระและอัปปนาตามควรของพระโยคีผู้ยังมนสิการให้เป็นไปด้วยอำนาจสติสัปชัญญะใน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 327

อานาปานะ และอิริยาบถ ๔ และด้วยอำนาจอุทธุมาตกอสุภะ และวินีลกอสุภะเป็นต้น ก็เรียกว่ากายคตาสติฉันนั้น. ก็ในที่นี้ กายคตาสติภายในตน กำหนดธาตุทั้ง ๔ มีปฐวีธาตุเป็นต้น ด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ด้วยอาการหนึ่งในอาการ ๔ มีสสัมภารสังเขปเป็นต้น ปรากฏโดยการกำหนคอนิจจลักษณะเป็นต้นของธาตุเหล่านั้น เป็นสติอันสัมปยุตด้วยวิปัสสนา ท่านประสงค์เอาว่า กายคตาสติ. ก็พระเถระเห็นแจ้งอย่างนั้น จึงนั่งเข้าผลสมาบัติของตนเท่านั้น. แม้ในที่นี้ ความที่เนื้อความแห่งพระคาถานี้จะรู้แจ้งได้อย่างนั้น พึงประกอบตามแนวแห่งนัยที่กล่าวไว้โดยนัยว่า น จายํ นิสชฺชา ก็การนั่งนี้มิใช่... ดังนี้เป็นต้น.

บทว่า เอตมตฺถํ ความว่า ทรงทราบอรรถนี้ กล่าวคือ การที่พระเถระเจริญวิปัสสนาในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยการกำหนดธาตุ ๔ เป็นประธานแล้วจึงเข้าผลสมาบัติ.

บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า ทรงเปล่งอุทานนี้ อันแสดงการบรรลุพระนิพพานด้วยสติปัฏฐานุภาวนา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สติ กายคตา อุปฏฺิตา ความว่า สติ มีลักษณะดังกล่าวแล้วในกาลก่อน ชื่อว่าละธรรมอันเป็นปฏิปักษ์เสียได้ เพราะถึงภาวะที่ช่วยในการทำกิจของสมาธิ วิริยะ และปัญญา ซึ่งมีศรัทธาเป็นตัวนำให้สำเร็จตามหน้าที่ของตน แต่นั้นเป็นความสละสลวยอย่างแรงที่เดียว เข้าไปกำหนดสภาวะที่ไม่ผิดแผกด้วยอำนาจกายสังวรตามที่กล่าวแล้ว และด้วยอำนาจการรวมอรรถไว้เป็นอันเดียวกันตั้งอยู่. ด้วยคำนี้ ทรงแสดงถึงสติอันไปๆ มาๆ อยู่กับปัญญา ซึ่งกำหนดปัจจัยทั้งหลายด้วยการกำหนดธาตุ ๔ กล่าวคือ กาย และอุปาทารูปที่อาศัยธาตุ ๔ นั้น ต่อแต่นั้น จึงเป็นไปด้วยอำนาจกำหนดปัจจัยเหล่านั้น โดยเป็นอนิจจลักษณะ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 328

เป็นต้น อีกอย่างหนึ่ง เมื่อว่าโดยยกสติขึ้นเป็นประธาน จึงทรงแสดงเฉพาะการสืบๆ กันมาแห่งปัญญาอันนับเนื่องในปริญญา ๓ อันสัมปยุตด้วยสตินั้น.

บทว่า ฉสุ ผสฺสายตเนสุ สํวุโต ความว่า พระโยคีผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มีสติปรากฏในกายตามที่กล่าวแล้ว จึงแทงตลอดความเป็นไปแห่งปัญญา เพราะเมื่อไม่เจริญกายานุปัสสนาในทวารทั้ง ๖ มีจักขุทวารเป็นต้น อันเป็นเหตุแห่งผัสสะอภิชฌาเป็นต้นที่ควรจะเกิดก็เกิดขึ้น เมื่อจะปิดกั้นอภิชฌาเป็นนั้น จึงตรัสเรียกว่า ผู้สำรวมในทวาร ๖ มีจักขุทวารเป็นต้นนั้น. ด้วยคำนั้น ทรงแสดงถึงญาณสังวร.

บทว่า สตตํ ภิกฺขุ สมาหิโต ความว่า ภิกษุนั้นมีสติปรากฏแล้วอย่างนั้นและสำรวมแล้วในทวารทั้งปวง ไม่ปล่อยจิตไปในอารมณ์อันมากหลาย พิจารณาโดยอนิจจลักษณะเป็นต้น เจริญวิปัสสนา เมื่อญาณแก่กล้าดำเนินไปอยู่ ก็มีจิตตั้งมั่นด้วยสมาธิอันสัมปยุตด้วยวิปัสสนา เป็นไปติดต่อไม่ขาดระยะทีเดียว ตั้งแต่ลำดับอนุโลมญาณจนถึงเกิดโคตรภูญาณ.

บทว่า ชญฺา นิพฺพานมตฺตโน ความว่า พระนิพพานอันเป็นอสังขตธาตุ นำมาซึ่งความสุขอย่างแท้จริง โดยเป็นอารมณ์อันดีเยี่ยมแก่มรรคญาณและผลญาณ ซึ่งได้บัญญัติว่า อัตตา เพราะไม่เป็นอารมณ์ของปุถุชนอื่น แม้โดยที่สุดความฝัน แต่เพราะเป็นแผนกหนึ่งแห่งมรรคญาณและผลญาณนั้นๆ ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย และเพราะเป็นเช่นกับอัตตา จึงเรียกว่า อตฺตโน ของตน พึงรู้ คือ พึงทราบพระนิพพานนั้น อธิบายว่า พึงรู้แจ้ง คือ พึงทำให้แจ้งด้วยมรรคญาณและผลญาณทั้งหลาย. ด้วยคำนั้น ทรงแสดงถึงความที่พระอริยเจ้าทั้งหลายมีจิตน้อมไปในพระนิพพาน. จริงอยู่

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 329

พระอริยะเจ้าทั้งหลายย่อมอยู่ แม้ในเวลาที่อธิจิตเป็นไป ก็อยู่โดยภาวะที่น้อมโน้มโอนไปในพระนิพพานโดยส่วนเดียวเท่านั้น. ก็ในที่นี้ สติเป็นไปในกายปรากฏแก่ภิกษุใด ภิกษุนั้นสำรวมแล้วในผัสสายตนะ ๖ ต่อแต่นั้นก็มีจิตตั้งมั่นเนืองๆ พึงรู้พระนิพพานของตนด้วยการกระทำให้ประจักษ์แก่ตน พึงทราบการเชื่อมบทแห่งคาถาอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นธรรมราชา ทรงแสดงทางเป็นเครื่องนำออกของภิกษุรูปหนึ่งโดยมุข คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานจนถึงพระอรหัตด้วยประการฉะนี้. อีกนัยหนึ่ง ด้วยบทว่า สติ กายคตา อุปฏฺิตา นี้ ทรงแสดงถึงกายานุปัสนาสติปัฏฐาน.

บทว่า ฉสุ ผสฺสายตเนสุ สํวุโต ความว่า ชื่อว่าผัสสายตนะ เพราะเป็นที่มาต่อ คือ เป็นเหตุแห่งผัสสะ ในผัสสายตนะเหล่านั้น. ชื่อว่าสำรวมแล้ว เพราะตัณหาเป็นต้นไม่เป็นไปในเวทนา ๖ มีจักขุสัมผัสสชาเวทนาเป็นต้น อันมีผัสสะเป็นเหตุ คือ เกิดขึ้นเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ด้วยคำนั้น ทรงแสดงถึงเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน.

บทว่า สตตํ ภิกฺขุ สมาหิโต ความว่า ภิกษุชื่อว่าตั้งมั่นติดต่อตลอดกาลเป็นนิตย์ไม่มีระหว่างคั่น เพราะไม่มีความฟุ้งซ่าน ก็ภิกษุนี้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน เพราะถึงที่สุดด้วยสติปัฏฐานภาวนาโดยประการทั้งปวง. จริงอยู่ เมื่อเธอพิจารณากำหนดได้อย่างเด็ดขาดทีเดียวในอุปาทานขันธ์ ๕ อันต่างโดยประเภทแห่งกาลมีอดีตกาลเป็นต้นแล. ด้วยคำนี้ ทรงแสดงถึงสติปัฏฐานที่เหลือ.

บทว่า ชญฺา นิพฺพานมตฺตโน ความว่า ภิกษุผู้ทำลายกิเลสถึงที่สุดแห่งสติปัฏฐานภาวนาทั้ง ๔ ดำรงอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ ตนเองนั่นแหละ พึงรู้กิเลสนิพพานของตนด้วยปัจจเวกขณญาณ.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 330

อีกอย่างหนึ่ง ด้วยบทว่า สติ กายคตา อุปฏฺิตา นี้ ทรงแสดงถึงความที่พระเถระเป็นผู้ถึงความไพบูลย์ด้วยสติ ด้วยการแสดงถึงการกำหนดรู้ตามสภาวะแห่งกายของตนและของคนอื่น.

ด้วยบทว่า ฉสุ ผสฺสายตเนสุ สํวุโต นี้ ทรงแสดงถึงการที่พระเถระถึงความไพบูลย์ด้วยปัญญาอันประกาศถึงสัมปชัญญะ ด้วยสามารถแห่งการอยู่ด้วยความสงบเป็นต้น อันแสดงถึงความสำรวมอย่างแท้จริงในทวาร ๖ มีจักขุทวารเป็นต้น.

ด้วยบทว่า สตตํ ภิกฺขุ สมาหิโต นี้ ทรงแสดงอนุบุพพวิหารสมาบัติ ๙ โดยแสดงถึงความเป็นผู้มากด้วยสมาบัติ. ก็ภิกษุผู้เป็นอย่างนี้ พึงรู้นิพพานของตน คือ พึงรู้ พึงคิดถึงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุของตนอย่างเดียวเท่านั้น เพราะไม่มีกรณียกิจอันยิ่ง เพราะทำกิจเสร็จแล้ว อธิบายว่า แม้กิจอื่นที่เธอจะพึงคิดก็ไม่มี.

จบอรรถกถาโกลิตสูตรที่ ๕