พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. โลกสูตร ว่าด้วยเรื่องทรงตรวจดูโลก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 ส.ค. 2564
หมายเลข  35311
อ่าน  534

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 359

๑๐. โลกสูตร

ว่าด้วยเรื่องทรงตรวจดูโลก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 359

๑๐. โลกสูตร

ว่าด้วยเรื่องทรงตรวจดูโลก

[๘๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ที่ควงไม้โพธิ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขโดยบัลลังก์เดียวตลอด ๗ วัน ครั้งนั้นแลโดยล่วง ๗ วันนั้นไป พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากสมาธินั้นแล้วทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นหมู่สัตว์ผู้เดือดร้อนอยู่ด้วยความเดือดร้อนเป็นอันมาก และผู้ถูกความเร่าร้อนเป็นอันมากซึ่งเกิดจากราคะบ้าง เกิดจากโทสะบ้าง เกิดจากโมหะบ้าง แผดเผาอยู่

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

โลกนี้เกิดความเดือดร้อนแล้ว ถูกผัสสะครอบงำแล้ว ย่อมกล่าวถึงโรคโดยความเป็นตัวตน ก็โลกย่อมสำคัญโดยประการใด ขันธปัญจกอันวัตถุแห่ง

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 360

ความสำคัญนั้น ย่อมเป็นอย่างอื่นจากประการที่ตนสำคัญนั้น โลกข้องแล้วในภพมีความแปรปรวนเป็นอื่น ถูกภพครอบงำแล้ว ย่อมเพลิดเพลินภพนั่นเอง (สัตว์) โลกย่อมเพลิดเพลินสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นภัย โลกกลัวสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ก็บุคคลอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้เพื่อจะละภพแล.

ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวความหลุดพ้นจากภพด้วยภพ (สัสสตทิฏฐิ) เรากล่าวว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดไม่หลุดพ้นไปจากภพ ก็หรือสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวความสลัดออกจากภพด้วยความไม่มีภพ (อุจเฉททิฏฐิ) เรากล่าวว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดไม่สลัดออกไปจากภพ ก็ทุกข์นี้ย่อมเกิดเพราะอาศัยอุปธิทั้งปวง ความเกิดแห่งทุกข์ย่อมไม่มี เพราะความสิ้นอุปาทานทั้งปวง ท่านจงดูโลกนี้ สัตว์ทั้งหลายเป็นจำนวนมากถูกอวิชชาครอบงำหรือยินดีแล้วในขันธปัญจกที่เกิดแล้วไม่พ้นไปจากภพ ก็ภพเหล่าใดเหล่าหนึ่งในส่วนทั้งปวง (ในเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง) โดยส่วนทั้งปวง (สวรรค์ อบาย และมนุษย์เป็นต้น) ภพทั้งหมดนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา อันบุคคลผู้เห็นขันธปัญจกกล่าวคือภพตามความจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้อยู่ ย่อมละภวตัณหาได้

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 361

ทั้งไม่เพลิดเพลินวิภวตัณหา ความดับด้วยอริยมรรคเป็นเครื่องสำรอกไม่มีส่วนเหลือ เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาทั้งหลายโดยประการทั้งปวง เป็นนิพพาน ภพใหม่ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้ดับแล้วเพราะไม่ถือมั่น ภิกษุนั้นครอบงำมาร ชนะสงคราม ล่วงภพได้ทั้งหมด เป็นผู้คงที่ฉะนี้แล.

จบโลกสูตรที่ ๑๐

จบนันทวรรคที่ ๓

อรรถกถาโลกสูตร

โลกสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้:-

อาสยานุสยญาณ และอินทริยปโรปริยัตญาณ ชื่อว่าพุทธจักษุ ในคำว่า พุทฺธจกฺขุนา นี้. สมดังที่ท่านกล่าวคำมีอาทิว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ ได้ทรงเห็นแล้วแล ซึ่งเหล่าสัตว์ผู้มีกิเลสดุจธุลีในดวงตาน้อย ผู้มีกิเลสดุจธุลีในดวงตามาก ผู้มีอินทรีย์แก่กล้า ผู้มีอินทรีย์อ่อน.

บทว่า โลกํ ได้แก่ โลก ๓ คือ โอกาสโลก ๑ สังขารโลก ๑ สัตวโลก ๑. ในโลกทั้ง ๓ นั้น โอกาสโลก ตรัสไว้ในประโยคมีอาทิว่า

พระจันทร์พระอาทิตย์ เวียนรอบส่องทิศให้สว่างไสวมีประมาณเท่าใด โอกาสโลก มีประมาณพันหนึ่งเท่านั้น อำนาจของท่าน เป็นไปในโอกาสโลกนี้.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 362

สังขารโลก ตรัสไว้ในประโยคมีอาทิว่า โลก ๑ ได้แก่ สัตว์ทั้งปวง ดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร. โลก ๒ ได้แก่ นามและรูป. โลก ๓ ได้แก่ เวทนา ๓. โลก ๔ ได้แก่ อาหาร ๔. โลก ๕ ได้แก่ อุปาทานขันธ์ ๕. โลก ๖ ได้แก่ อายตนะภายใน ๖. โลก ๗ ได้แก่ วิญญาณฐิติ ๗. โลก ๘ ได้แก่ โลกธรรม ๘. โลก ๙ ได้แก่ สัตตาวาส ๙. โลก ๑๐ ได้แก่ อายตนะ ๑๐. โลก ๑๒ ได้แก่ อายตนะ ๑๒. โลก ๑๘ ได้แก่ ธาตุ ๑๘.

สัตวโลก ตรัสไว้ในประโยคมีอาทิว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง. แม้ในที่นี้ พึงทราบสัตวโลก.

บรรดาโลกเหล่านั้น โลกกล่าวคือจักรวาล ชื่อว่า โอกาสโลก เพราะอรรถว่า เห็น คือ ปรากฏโดยอาการวิจิตร.

สังขาร ชื่อว่า โลก เพราะอรรถว่า ย่อยยับ คือ ผุพัง.

ชื่อว่า สัตวโลก เพราะอรรถว่า เป็นที่ดูบุญและบาป และผลแห่งบุญและบาป.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุเคราะห์ในสัตว์เหล่านั้นด้วยพระมหากรุณา มีพระประสงค์จะให้สัตว์เหล่านั้นพ้นจากสังสารทุกข์ จึงตรวจดูสัตว์โลก. ก็พระองค์ทรงตรวจดูสัปดาห์ไหน? สัปดาห์ที่ ๑. จริงอยู่ ในที่สุดแห่งปัจฉิมยาม ในวันสุดสัปดาห์ที่ทรงเข้าสมาธิ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานอันแสดงอานุภาพแห่งอริยมรรคนี้ว่า เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลายปรากฏ ฯลฯ เหมือนพระอาทิตย์ส่องไสวในกลางหาว ดังนี้ จึงตรวจดูสัตวโลกว่า อันดับแรก เราใช้เรือคือธรรมนี้ข้ามห้วงน้ำใหญ่คือสงสารที่แสนจะข้ามได้โดยยากอย่างนี้ จึงยืนอยู่ที่ฝั่งคือพระนิพพาน เอาเถิด บัดนี้ ถึงสัตวโลกเราก็จักให้ข้ามด้วย สัตวโลกเป็นอย่างไรหนอ ดังนี้. ซึ่งท่านหมายกล่าวไว้ว่า ครั้นล่วง ๗ วันนั้นไป พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากสมาธินั้น ทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพุทธจักษุ ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 363

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โวโลเกสิ ความว่า ทรงเห็นโดยอาการต่างๆ คือ กระทำให้ประจักษ์ด้วยญาณของพระองค์ เหมือนผลมะขามป้อมที่วางไว้บนฝ่ามือ.

บทมีอาทิว่า อเนเกหิ สนฺตาเปหิ เป็นบทแสดงอาการดูแล.

บทว่า อเนเกหิ สนฺตาเปหิ ได้แก่ ด้วยความทุกข์เป็นอเนก. จริงอยู่ ทุกข์ท่านเรียกว่า สันตาปะ เพราะอรรถว่า ทำให้เดือดร้อน. เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า ทุกข์มีอรรถว่าบีบคั้น มีอรรถว่าปรุงแต่ง มีอรรถว่าทำให้เดือดร้อน มีอรรถว่าแปรปรวน. ก็ทุกข์นั้นมีอรรถหลายประการ ด้วยอำนาจทุกขทุกข์เป็นต้น และด้วยอำนาจชาติเป็นต้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อเนเกหิ สนฺตาเปหิ. ผู้เดือดร้อน คือ ถูกทุกข์เป็นอเนก บีบคั้น เบียดเบียน.

บทว่า ปริฬาเหหิ แปลว่า ด้วยความเร่าร้อน. บทว่า ปริฑยฺหมาเน ได้แก่ ผู้ถูกไฟเผารอบด้านเหมือนเชื้อไฟ.

บทว่า ราคเชหิ แปลว่า เกิดแต่ราคะ. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้. จริงอยู่ กิเลสมีราคะเป็นต้นย่อมเกิดในสันดานใด ย่อมเบียดเบียนสันดานนั้นเหมือนเผาอยู่. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ไฟ ๓ กองนี้ ราคัคคิ ไฟคือราคะ โทสัคคิ ไฟคือโทสะ โมหัคคิ ไฟคือโมหะ. เพราะไฟเหล่านั้นทำจิตและกายให้เศร้าหมอง ฉะนั้น จึงเรียกว่า กิเลส.

ก็ในบทเหล่านี้ ด้วยบทว่า ปริฑยฺหมาเน นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น เป็นปวัตติทุกข์ และความที่สัตว์ถูกปวัตติทุกข์นั้นครองงำ.

อนึ่ง ด้วยบทว่า สนฺตปฺปมาเน นี้ ทรงแสดงถึงความที่สัตว์เหล่านั้นเป็นทุกข์ทุกระยะกาล และความเป็นผู้มีอันตรายไม่ขาดระยะเพราะทุกข์นั้น.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 364

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอปราชิตบังลังก์ ณ ควงโพธิพฤกษ์ ในปฐมยามทรงระลึกถึงบุพเพนิวาสญาณ ในมัชฌิมยามทรงชำระทิพยจักษุ ในปัจฉิมยามทรงหยั่งญาณลงในปฏิจจสมุปบาท ทรงรู้ยิ่งวัฏทุกข์อันมีกิเลสเป็นมูล ทรงพิจารณากำหนดสังขาร เจริญวิปัสสนาโดยลำดับ ทรงกำจัดกิเลสให้ปราศจากไป ตรัสรู้ยิ่งด้วยพระองค์เองด้วยการบรรลุพระอริยมรรค เพราะทรงละกิเลสได้เด็ดขาด ในลำดับปัจจเวกขณญาณแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานว่า อเนกชาติสํสารํ ดังนี้เป็นต้น อันแสดงถึงความที่พระองค์สิ้นวัฏทุกข์ ซึ่งพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ไม่ทรงละประทับนั่งขัดสมาธิเสวยวิมุตติสุขตลอด ๗ วัน ในยาม ๓ แห่งราตรี ที่ ๗ ทรงเปล่งอุทาน ๓ อย่าง โดยนัยดังกล่าวแล้ว ในลำดับแห่งอุทานที่ ๓ ทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ทรงเห็นว่า วัฏทุกข์ของสัตว์ทั้งสิ้นนี้มีกิเลสเป็นมูล ขึ้นชื่อว่ากิเลสเหล่านี้เป็นปวัตติทุกข์ (ทุกข์ในปัจจุบัน) และเป็นเหตุแห่งทุกข์แม้ต่อไป เพราะฉะนั้น สัตว์เหล่านี้จึงเดือดร้อน หม่นไหม้ เพราะกิเลสเหล่านั้น. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อทฺทสา โข ภควาฯ เปฯ โมหเชหิปิ ดังนี้.

บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบโดยประการทั้งปวงถึงความที่สัตวโลกถูกความเร่าร้อนหม่นไหม้ดังกล่าวแล้วครอบงำอยู่.

บทว่า อุทานํ อุทาเนสิ ความว่า ทรงเปล่งมหาอุทานนี้ อันประกาศถึงความดับสนิท ความเร่าร้อนหม่นไหม้ทั้งปวง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อยํ โลโก สนฺตาปชาโต ความว่า สัตว์โลกนี้แม้ทั้งหมดเกิดความเดือดร้อน เพราะชรา โรค และมรณะ เพราะความวอดวายต่างๆ และเพราะความกลุ้มรุมแห่งกิเลส อธิบายว่า

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 365

ถูกทุกข์ทางกายและใจที่เกิดขึ้นแล้วครอบงำ.

บทว่า ผสฺสปเรโต ความว่า ผู้ถูกทุกขสัมผัสเป็นอเนกนั่นแหละครองงำ คือ เบียดเบียน. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ผสฺสปเรโต ความว่า ผู้ถูกผัสสะทั้ง ๖ อันเป็นปัจจัยแก่ทุกขเวทนา ๓ กล่าวคือสุขเวทนาเป็นต้นครองงำ คือ ติดข้องอยู่ด้วยความเป็นไปในอารมณ์นั้นๆ ทางทวารนั้นๆ.

บทว่า โรคํ วทติ อตฺตโต ความว่า สัตวโลกเมื่อไม่รู้ตามความเป็นจริงถึงโรค ทุกข์ หรือเบญจขันธ์ กล่าวคือ เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ย่อมกล่าวโดยเป็นอัตตาว่า เราได้รับสุข รับทุกข์ ด้วยอำนาจการถือผิดด้วยสำคัญว่าเป็นเรา. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า อตฺตโน ดังนี้ก็มี. คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า สัตวโลกนี้นั้นถูกทุกขธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งครอบงำ เมื่อไม่อาจอดกลั้นไว้ได้เพราะไม่ได้เจริญ อัตตาจึงบ่นเพ้อไปโดยนัยมีอาทิว่า โอ ทุกข์ ทุกข์เช่นนี้จงอย่ามีแม้แก่ตนของเรา จึงกล่าวถึงโรคของตนอย่างเดียว แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อละโรคนั้น. อีกอย่างกนึ่ง สัตวโลกเมื่อไม่รู้ตามเป็นจริงถึงทุกข์ตามที่กล่าวแล้วนั้น จึงกล่าวว่า ของตน ด้วยความสำคัญว่า ของเรา คือ เปล่งวาจาว่า นี้ของเรา ด้วยอำนาจตัณหาคาหะ (การยึดถือด้วยอำนาจตัณหา).

บทว่า เยน หิ มญฺติ ความว่า สัตวโลกเมื่อกล่าวเบญจขันธ์อันเป็นตัวโรคนี้โดยความเป็นตน หรือของตน ด้วยอาการอย่างนี้ จึงสำคัญโดยทิฏฐิ มานะ และตัณหา โดยประการอันเป็นเหตุมีรูปและเวทนาเป็นต้นใด หรือโดยประการมีความเป็นของเที่ยงเป็นต้นใด.

บทว่า ตโต ตํ โหติ อญฺถา ความว่า เบญจขันธ์อันเป็นวัตถุแห่งความสำคัญนั้น ย่อมเป็นโดยประการอื่นจากอาการที่ตนกำหนดไว้นั้น และเป็นการยึดถือว่าตนในสิ่งที่มิใช่ตน อธิบายว่า ไม่ทำความอหังการ มมังการให้สำเร็จ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 366

เพราะไม่อาจให้อยู่ในอำนาจได้. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ตโต ความว่า เบญจขันธ์นั้นอันบุคคลสำคัญว่าเที่ยงเป็นต้น ย่อมเป็นโดยประการอื่น คือ เป็นสภาวะไม่เที่ยงเป็นต้นทีเดียว เพราะภาวะเพียงสักว่าความสำคัญนั้น. ก็ความสำคัญไม่สามารถทำภาวะหรือลักษณะให้เป็นอย่างอื่นได้.

บทว่า อญฺถาภาวี ภวสตฺโต ความว่า สัตวโลกผู้ติดข้องในความเจริญในหิตสุขที่ยังไม่เกิด แม้จะคิดตามความพอใจด้วยความสำคัญ ก็มีความเป็นอย่างอื่นจากความสำคัญนั้นด้วยการปฏิบัติผิด มีแต่สิ่งที่ไร้ประโยชน์และเป็นทุกข์ ประสบแต่ความคับแค้นถ่ายเดียว.

บทว่า ภวเมวาภินนฺทติ ความว่า เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็ยังเพลิดเพลินคือหวังภพ คือ ความเจริญที่ไม่มีซึ่งตนกำหนดโดยความสำคัญผิดนั้นเท่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อญฺถาภาวี ความว่า มีความเป็นอย่างอื่นด้วยตัวเองจากอาการที่กำหนดด้วยความสำคัญโดยนัยมีอาทิว่า อัตตาของเราเที่ยง แต่เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน.

บทว่า ภวสฺตโต ความว่า สัตวโลกติดข้องสยบอยู่ เพราะภวตัณหาในกามภพเป็นต้น.

บทว่า ภวเมวาภินนฺทติ ความว่า ยึดถือภพอันมีสภาวะไม่เที่ยงนั่นแล โดยเป็นของเที่ยง แล้วเพลิดเพลินความสำคัญอันน้อมไปในภพนั่นแหละ ด้วยความยินดีภพด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ คือ ไม่เบื่อหน่ายในภพนั้น.

บทว่า ยทภินนฺทติ ตํ ภยํ ความว่า ภพคือความเจริญ หรือภพมีกามเป็นต้น ที่สัตวโลกเพลิดเพลินนั้น ชื่อว่าเป็นภัย เพราะอรรถว่า น่ากลัวอย่างยิ่ง โดยเป็นเหตุเกิดภพ เพราะมีสภาวะแปรปรวนมีไม่เที่ยงเป็นต้น และเพราะถูกความพินาศหลายประการติดตาม.

บทว่า ยสฺส ภายติ ความว่า ชราและมรณะเป็นต้นอันเป็นเหตุให้สัตวโลกกลัวนั้น จัดเป็นทุกข์เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 367

และเพราะเป็นตัวทุกข์. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ยสฺส ภายติ ความว่า สัตวโลกย่อมกลัวต่อการเสพใด เพราะความเพลิดเพลินภพ การเสพกล่าวคือความขาดสูญ (อุจเฉททิฏฐิ) นั้น และความกลัวแต่การเสพนั้น จัดว่าเป็นทุกข์ คือ มีสภาวะเป็นทุกข์ทีเดียว เพราะเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ และเพราะทุกข์มีชาติทุกข์เป็นต้นไม่กลับกลาย (เป็นอย่างอื่น). อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ยสฺส ภายติ ตํ ทุกฺขํ ความว่า ความกลัวที่สัตวโลกผู้ไม่รู้การสลัดออกซึ่งอนิจจลักษณะเป็นต้นที่ตนกลัวนั้น เป็นทุกข์ คือ นำทุกข์มาให้เขา.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงวัฏฏะด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะแสดงวิวัฏฏะ (นิพพาน) จึงตรัสว่า ก็บุคคลอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้เพื่อละขาดจากภพแล.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภววิปฺปหานาย ได้แก่ เพื่อละกามภพ เป็นต้น.

ศัพท์ว่า โข ใช้ในอรรถอวธารณะห้ามความอื่น.

ศัพท์ว่า ปน เป็นนิบาตใช้ในอรรถปทปูรณะ ทำให้เต็มบท.

บทว่า อิทํ เป็นบทกล่าวเฉพาะที่ใกล้.

บทว่า พฺรหฺมจริยํ ได้แก่ มรรคพรหมจรรย์.

บทว่า วุสฺสติ แปลว่า ย่อมบำเพ็ญ. ท่านอธิบายคำนี้ไว้ว่า มรรคพรหมจรรย์อันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ สงเคราะห์ด้วยขันธ์ ๓ มีศีลขันธ์เป็นต้น เราประพฤติสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง บำเพ็ญบารมีมาสิ้น ๔ อสงไขยกำไรแสนกัป แล้วเหยียบย่ำหัวมารทั้ง ๓ ที่ควงไม้โพธิ์ ได้บรรลุแล้ว จึงประพฤติ บำเพ็ญ เพื่อประโยชน์แก่การละอย่างเด็ดขาด ด้วยการละเหตุเกิดแห่งกามภพเป็นต้นโดยส่วนเดียว.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงอริยมรรคอันเป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์โดยแท้จริงด้วยประการฉะนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงถึงความ

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 368

ไม่มีมรรคอื่นจากอริยมรรคนั้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า เย หิ เกจิ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เย เป็นบทแสดงไขความไม่แน่นอน คำว่า หิ เป็นเพียงนิบาต. บทว่า เกจิ ได้แก่ บางพวก. แม้ด้วยบททั้งสอง ท่านถือเอาคนผู้มีวาทะอย่างนั้นซึ่งมีทิฏฐิเป็นคติ โดยไม่กำหนดแน่นอน.

บทว่า สมณา ได้แก่ เป็นสมณะด้วยเพียงเข้าไปบวช ไม่ใช่ด้วยการสงบบาป.

บทว่า พฺรหฺมณา ได้แก่ เป็นพราหมณ์โดยเหตุเพียงกำเนิด ไม่ใช่ผู้ลอยบาป.

วา ศัพท์เป็นวิกัปปัตถะ.

บทว่า ภเวน ภวสฺส วิปฺปโมกฺขมาหํสุ ความว่า สมณพราหมณ์บางพวก กล่าวความหลุดพ้นจากภพทั้งปวง คือ ความบริสุทธิ์จากสงสาร ด้วยกามภพหรือรูปภพ.

ถามว่า ก็สมณพราหมณ์พวกไรกล่าวอย่างนี้?

ตอบว่า พวกที่กล่าวถึงนิพพานในปัจจุบัน. ก็บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น บางพวกกล่าวว่า อัตตาที่เพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ อย่างสูง ย่อมถึงความดับ (นิพพาน) อย่างยิ่งในปัจจุบัน. บางพวกกล่าวว่า บรรดาฌานฝ่ายรูปาวจร อัตตาผู้พรั่งพร้อมด้วยปฐมฌาน ฯลฯ บางพวกกล่าวว่า อัตตาผู้พรั่งพร้อมด้วยจตุตถฌาน ย่อมถึงพระนิพพานอย่างยิ่งในปัจจุบัน. เหมือนดังที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในพระศาสนานี้ จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เพราะอัตตานี้แหละเพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕. พึงทราบความพิสดาร.

แต่เกจิอาจารย์เหล่านั้นกล่าวว่า เพราะเหตุที่การแสวงหากามเป็นต้นเพื่อตน จักไม่มีแก่ผู้ที่เพียบพร้อมด้วยสุขเป็นต้น เหมือนปลิงที่อิ่มแล้ว เพราะดื่มไว้เต็มที่ ไม่มีการกระหายเลือด ก็เมื่อไม่มีการแสวงหากาม ภพก็ไม่มีเหมือนกัน ก็นัยนี้ ควรได้แก่ ผู้ตั้งอยู่ในภพใดๆ ความหลุดพ้นจาก

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 369

ภพทั้งปวงย่อมมีได้ด้วยภพนั้นๆ ฉะนั้น จึงตรัสว่า สมณพราหมณ์ทั้งหลายกล่าวการหลุดพ้นจากภพด้วยภพ ดังนี้. ก็แม้ผู้มีลัทธิว่า คนพาลและบัณฑิต ท่องเที่ยวไปตลอดกาลเท่านี้ ตั้งอยู่ในภพสุดท้าย จะหลุดพ้นจากสงสาร ชื่อว่ากล่าวการหลุดพ้นภพด้วยภพ. สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ทั้งคนพาลและบัณฑิตท่องเที่ยวไป ๘,๔๐๐,๐๐๐ มหากัป จักกระทำที่สุดทุกข์ได้ ดังนี้. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ภเวน ได้แก่ภวทิฏฐิ.

สัสสตทิฏฐิ ท่านเรียกว่าภวทิฏฐิ เพราะเป็นไปโดยอรรถว่า เกิดมี คือ ตั้งอยู่ติดต่อกัน. ในที่นี้ ภวทิฏฐินั่นแหละท่านเรียกว่าภพ เหมือนในประโยคว่า ภวตัณหา โดยลบบทเบื้องปลาย. ก็เมื่อว่าด้วยอำนาจทิฏฐิ สมณพราหมณ์บางพวกย่อมสำคัญภพพิเศษเท่านั้นอันมีสภาวะเที่ยงเป็นต้นว่าเป็นการหลุดพ้นจากภพ เพราะมีความเป็นไปสงบกิเลส และเพราะอายุเป็นอยู่ได้นาน เหมือนพกาพรหมกล่าวไว้ว่า สิ่งนี้เที่ยง สิ่งนี้ยั่งยืน สิ่งนี้มีความเป็นไปติดต่อกัน สิ่งนี้มีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา. สมณพราหมณ์เหล่านั้นนั่นแลผู้ถือผิดตรงกันข้าม มีความเห็นในสิ่งที่มิใช่เครื่องสลัดออกว่าเป็นเครื่องสลัดออก (จากทุกข์) ความหลุดพ้นจากภพจะมีแต่ไหน. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เรากล่าวว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดไม่หลุดพ้นจากภพ.

บทว่า วิภเวน แปลว่า ด้วยการขาดสูญ (อุจเฉททิฏฐิ).

บทว่า ภวสฺส นิสฺสรณมาหํสุ ความว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้นกล่าวการปราศจากไป การออกไปจากภพทั้งปวงว่า สังสารสุทธิ (ความบริสุทธิ์จากสงสาร). เพราะสมณพราหมณ์นั้นเมื่อไม่รู้วาทะของผู้ที่กล่าวว่า ความหลุดพ้นพิเศษจากภพด้วยภพ ย่อมปฏิญญาการสลัดออกจากทุกข์ด้วยการตัดขาดจากภพ.

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 370

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า วิภเวน ได้แก่ อุจเฉททิฏฐิ. อุจเฉททิฏฐิท่านกล่าวว่า วิภวะ ปราศจากภพ โดยนัยดังกล่าวแล้ว เพราะเป็นไปด้วยอรรถว่า อัตตา และโลกไม่มี คือ พินาศ ขาดสูญ. จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมน้อมไปด้วยอุจเฉททิฏฐิ แล้วเกิดในภพนั้นๆ ขาดสูญไป. อุจเฉททิฏฐินั้นนั่นแหละเป็นสังสารสุทธิ เพราะเหตุนั้น สัตว์เหล่านั้นจึงชื่อว่าอุจเฉทวาทะ มีวาทะว่าขาดสูญ. สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ท่านผู้เจริญ เพราะอัตตานี้แหละเป็นสิ่งมีรูป อาศัยมหาภูตรูป ๔ ฯลฯ เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อัตตานี้เป็นสิ่งที่ขาดสูญโดยชอบ.

อนึ่ง ตรัสไว้ว่า ดูก่อนมหาบพิตร ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล ฯลฯ ทั้งคนพาลและบัณฑิตเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ ย่อมไม่มี. สมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น ผู้ยึดถือผิดตรงกันข้ามอย่างนี้ จักสลัดออกจากภพได้แต่ที่ไหน. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เรากล่าวว่าสมณพราหมณ์ทั้งหมดนั้นไม่สลัดออกจากภพไปได้. เพราะสัตวโลกยังไม่ได้ถอนกิเลสที่เหลือให้หมดด้วยอริยมรรคภาวนา แม้ในกาลไหนๆ ก็ไม่ได้ความหลุดพ้นด้วยการสลัดออกจากภพ. จริงอย่างนั้น สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้ตกไปในส่วนสุดทั้งสองว่ามี (หรือ) ไม่มี เพราะไม่หยั่งรู้ตามความเป็นจริง จึงกระสับกระส่ายและดิ้นรน เพราะอำนาจตัณหาและทิฏฐิ เพราะเขาเหล่านั้นมีทิฏฐิเป็นคติ ลุ่มหลงอยู่แม้ในเหตุแห่งความเป็นไป (คือ สมุทัย) ถูกเครื่องผูก คือ ตัณหา ล่ามไว้ที่เสา คือ ทัสสนะอันผิดตรงกันข้ามซึ่งฝังไว้แน่นที่แผ่นดินคือสักกายทิฏฐิ ย่อมไม่ละที่ที่ผูกไปได้ เหมือนสุนัขที่ล่ามไว้ด้วยเครื่องล่าม สมณพราหมณ์เหล่านั้นจะมีความหลุดพ้นแต่ที่ไหน.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 371

พระศาสดาเมื่อทรงแสดงว่า สมณพราหมณ์เหล่าใดไม่ข้องแวะส่วนสุด ๒ อย่างนั้น เพราะไม่งมงายในปวัตติเป็นต้น โดยแจ่มแจ้งในสัจจะทั้ง ๔ ย่อมขึ้นสู่มัชฌิมปฏิปทา สมณพราหมณ์เหล่านั้นนั่นแหละ จะมีการหลุดพ้นและการสลัดออกไปจากภพได้ จึงตรัสว่า อุปธิ ดังนี้ เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปธิ ได้แก่ อุปธิมีขันธ์เป็นต้น.

ศัพท์ว่า หิ เป็นเพียงนิบาต.

บทว่า ปฏิจฺจ แปลว่า อาศัย คือ ทำให้เป็นที่อาศัย.

บทว่า ทุกฺขํ ได้แก่ ทุกข์มีชาติทุกข์เป็นต้น. ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร? ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า สัตว์เหล่านี้มีทิฏฐิเป็นคติ สำคัญว่าหลุดพ้นในที่ใด พวกเขาก็ได้ประสบอุปธิ คือ ขันธ์ กิเลส และอภิสังขาร ในที่นั้น สัตวโลกนั้นจะสลัดออกจากทุกข์ได้แต่ที่ไหน. ก็เพราะอภิสังขารเกิดมีในที่ที่กิเลสเกิดมี ความสืบเนื่องแห่งภพจึงไม่ขาดไปเลย เพราะฉะนั้น วัฏทุกข์ (ของสัตวโลก) จึงไม่ดับ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ก็ทุกข์นี้ย่อมเกิดมี เพราะอาศัยอุปธิ.

บัดนี้ เพื่อแสดงเหตุเครื่องสลัดทุกข์ จึงตรัสว่า เพราะอุปาทานทั้งปวงสิ้นไป ทุกข์จึงไม่เกิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพุปาทานกฺขยา ความว่า เพราะละได้เด็ดขาดซึ่งอุปาทานทั้งหมด ๔ อย่างนี้ คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน ด้วยการบรรลุอริยมรรค. ในอุปาทาน ๔ เหล่านั้น อุปาทาน ๓ เหล่านี้ คือ ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน อันโสดาปัตติมรรคให้สิ้นไป คือ ถึงความไม่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา. พึงทราบว่า กามุปาทานอันยังสัตว์ให้ไปอบาย มรรคที่ ๑ ให้สิ้นไป

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 372

ที่เป็นกามราคะอย่างหยาบ มรรคที่ ๒ ให้สิ้นไป. กามราคะและพยาบาทอย่างละเอียด มรรคที่ ๓ ให้สิ้นไป. การละรูปราคะ อรูปราคะ มรรคที่ ๔ ให้สิ้นไป รวมความว่า อุปาทานอันมรรคทั้ง ๔ ให้สิ้นไป คือ ถึงการไม่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา.

บทว่า นตฺถิ ทุกฺขสฺส สมฺภโว ความว่า เพราะอุปาทานสิ้นไปโดยประการทั้งปวงอย่างนี้ คือ เพราะรกชัฏคือกิเลสแม้ทั้งหมดโดยที่รวมอยู่ในฐานเดียวกันกับอุปาทานนั้นไม่เกิดขึ้น วัฏทุกข์แม้มีประมาณน้อยก็ไม่เกิด คือ ไม่ปรากฏ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงปวัตติ (คือ ทุกขสัจ และนิวัตติ คือ นิโรธสัจ) พร้อมด้วยเหตุดังพรรณนามาฉะนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงว่า สัตวโลกนี้เมื่อไม่รู้นัยนี้ ก็เงยศีรษะขึ้นจากวัฏฏะไม่ได้ จึงตรัสคำมีอาทิว่า โลกมิมํ ปสฺส.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โลกมิมํ ปสฺส ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงชักนำในการกระทำการพิจารณาดู จึงตรัสเรียกเฉพาะพระองค์ว่า จงดูโลกนี้ เพราะพระองค์เข้าถึงภาววิสัย (ของโลก) โดยประจักษ์ด้วยพุทธจักษุ.

บทว่า ปุถุ แปลว่า มาก. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปุถุ แปลว่า เป็นพวกๆ.

บทว่า อวิชฺชา ปเรตา ความว่า ถูกอวิชชาอันเป็นตัวปกปิดสัจจะ ๔ ครอบงำ. ซึ่งตรัสไว้โดยนัยมีอาทิว่า ความไม่รู้ในทุกข์.

บทว่า ภูตา แปลว่า เกิดแล้ว คือ บังเกิดแล้ว เพราะกรรมและกิเลส.

บทว่า ภูตรตา ความว่า ยินดียิ่งด้วยตัณหาในสัตว์ทั้งหลาย คือ ในสัตว์อื่นด้วยความสำคัญว่า บิดา มารดา บุตรและภรรยาเป็นต้น หรือในภูต คือ เบญจขันธ์ ด้วยกำหนดว่าเป็นสตรี บุรุษ เป็นต้น ด้วยภาวะว่าเที่ยงเป็นต้น และด้วยการถือว่าตนและมีในตน โดยไม่หยั่งรู้สภาวะแห่งเบญจขันธ์ว่า

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 373

ไม่เที่ยง ไม่งาม เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา.

บทว่า ภวาอปริมุตฺตา ความว่า ไม่หลุดพ้นจากภพ จากสงสาร ด้วยการยึดถือด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิดังที่กล่าวแล้ว.

ก็ในบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า โลกมิมํ นี้ อันดับแรก เมื่อจะทรงนำหมู่สัตว์แม้ทั้งสิ้นเข้าเป็นกลุ่มเดียวกัน โดยภาวะเสมอกันก่อน จึงทรงแสดงศัพท์โดยไม่เจาะจงด้วยเอกวจนะ แล้วทรงประกาศอานุภาพแห่งพุทธจักษุญาณของพระองค์ว่า สัตวโลกนี้นั้นมีความแตกต่างกันเป็นหลายประเภท โดยภพ กำเนิด คติ ฐิติ และสัตตาวาสเป็นต้น และโดยหมู่สัตว์นั้นๆ เป็นต้นในภพเป็นต้นแม้นั้น เราตรวจดูแล้วแต่ละอย่างๆ จึงกระทำประเภทวจนะอีก แล้วทรงแสดงศัพท์โดยเจาะจงด้วยพหุวจนะ ด้วยพระดำรัสมีอาทิว่า สัตว์เป็นอันมากถูกอวิชชาครอบงำ. ก็แล ครั้นทำคำอธิบายดังว่ามานี้แล้ว ทำให้เป็นทุติยาวิภัตติว่า โลกมิมํ แม้นิเทศที่เป็นปฐมาวิภัตติพหุวจนะโดยพระบาลีว่า อวิชฺชาย ปเรตา เป็นต้น ก็เป็นอันไม่ผิด เพราะมีพากย์ต่างกัน แต่เมื่อว่าโดยความประสงค์ให้เป็นพากย์อันเดียวกัน อาจารย์บางพวกจึงกล่าวว่า ภูตอันอวิชชาครอบงำ ยินดีในภูต ไม่พ้นไปจากภพได้. แต่บาลีเก่ากล่าวโดยความต่างแห่งวิภัตติเท่านั้น.

บัดนี้ เมื่อจะแสดงวิปัสสนาวิถีอันเป็นโคจรของพระพุทธเจ้า ไม่เป็นวิสัยแห่งเดียรถีย์ ซึ่งเป็นอุบายให้พ้นจากภพทั้งหมด จึงตรัสคำมีอาทิว่า เย หิ เกจิ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เย หิ เกจิ ภวา ความว่า ก็ภพเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีอายุยืน หรือมีอายุชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งมีประเภทแตกต่างกัน โดยจำแนกเป็นกามภพเป็นต้น สัญญาภพเป็นต้น และเอกโวการภพเป็นต้น

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 374

ที่สมมติกันว่ามีความสำราญ ที่ต่างกันโดยสาระ และเว้นจากความสำราญ.

บทว่า สพฺพธิ ได้แก่ ในที่ทั้งปวงโดยวิภาคมีอาทิว่า เบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง.

บทว่า สพฺพตฺถตาย ได้แก่ โดยภาวะทั้งปวง มีสวรรค์ อบาย และมนุษย์เป็นต้น. พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า สพฺเพ เต ดังต่อไปนี้.

ภพทั้งหมดนั้น มีรูปและเวทนาเป็นต้นเป็นธรรม ชื่อว่า ไม่เที่ยง เพราะอรรถว่า มีแล้วกลับไม่มี. ชื่อว่า เป็นทุกข์ เพราะถูกความเกิดและความดับบีบคั้น. ชื่อว่ามีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เพราะจะต้องแปรปรวนไปด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ชราและมรณะ.

อิติ ศัพท์ มีอาทิเป็นอรรถหรือมีปการะเป็นอรรถ. คืออย่างไร? คือ ด้วย อิติ ศัพท์นั้น พระองค์ทรงสงเคราะห์แม้อนัตตลักษณะแล้วตรัสว่า ชื่อว่า อนัตตา เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ หรือชื่อว่า อนัตตา เพราะอรรถว่า ไม่เป็นไปในอำนาจ เหตุมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา. สัตวโลกพิจารณาเห็นเบญจขันธ์นี้กล่าวคือภพ ตามความเป็นจริง คือ ไม่แปรผัน ด้วยปัญญาอันชอบ คือ ด้วยญาณอันชอบ ได้แก่ ด้วยปัญญาอันสัมปยุตด้วยมรรค อันประกอบด้วยวิปัสสนา คือ แทงตลอดด้วยปริญญาอภิสมัยเป็นต้น จึงละตัณหา ในภพอันเป็นไปโดยนัยมีอาทิว่า ภพเที่ยง ด้วยประการฉะนี้ คือ ด้วยอาการแทงตลอดลักษณะ ๓ คือ ดับได้เด็ดขาดพร้อมกับการบรรลุอรหัตตมรรคนั่นแล ย่อมไม่เพลิดเพลิน คือ ย่อมไม่ปรารถนา วิภพ คือ ความตัดขาด เพราะละอุจเฉททิฏฐิได้ด้วยประการทั้งปวง. เพราะความสิ้นไป คือ เพราะละตัณหา ๑๐๘ ประเภท มีกามตัณหาเป็นต้น และมีประเภทหาที่สุดมิได้โดยวิภาคการกำหนดเป็นต้นของสัตวโลกผู้เป็นอยู่

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 375

อย่างนั้น โดยอาการทั้งปวง คือ โดยประการทั้งปวง การดับโดยไม่เกิดขึ้นแห่งธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งสังกิเลสทั้งสิ้นโดยที่รวมอยู่ในฐานเดียวกับตัณหานั้น โดยไม่เหลือ คือ โดยเด็ดขาด ด้วยธรรมเครื่องสำรอก คือ ด้วยอริยมรรคนั้น คือ พระนิพพาน.

ครั้นทรงแสดงอุปาทิเสสนิพพาน โดยการละตัณหาเป็นประธานดังพรรณนามาฉะนี้ บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงอนุปาทิเสสนิพพาน จึงตรัสคาถาว่า ตสฺส นิพฺพุตสฺส ดังนี้ เป็นต้น.

คำอันเป็นคาถานั้นมีอธิบายดังนี้ เพราะภิกษุผู้ขีณาสพผู้ทำลายกิเลสโดยนัยดังกล่าวแล้ว ดับสนิทด้วยกิเลสปรินิพพานเพราะสิ้นตัณหาโดยประการทั้งปวง ไม่มีอุปทาน คือ หมดอุปาทาน หรือเพราะไม่ยึดมั่นกิเลสมารและอภิสังขารมาร ภพใหม่จึงไม่มี คือ ไม่มีอุปปัตติภพโดยการปฏิสนธิต่อไป. และภิกษุผู้เป็นอย่างนั้น ครอบงำมารเสียได้ คือ ในขณะอริยมรรค ครอบงำกิเลสมาร อภิสังขารมาร และเทวบุตรมาร ในขณะจริมกจิต จิตดวงสุดท้าย ครอบงำขันธมาร และมัจจุมารเสียได้ รวมความว่า ท่านครอบงำมารทั้ง ๕ เสียได้ คือ ให้พ่ายแพ้ ได้แก่ ทำให้หมดพยศด้วยการไม่ให้เงยศีรษะขึ้นได้อีก เพราะท่านชนะสงครามที่พวกมารทำให้เกิดในที่นั้นๆ. ก็ด้วยประการอย่างนี้ ท่านชื่อว่าชนะสงคราม ชื่อว่า ผู้คงที่ คือ เป็นพระอรหันต์ เพราะถึงลักษณะของความเป็นผู้คงที่ เพราะไม่มีวิการในอารมณ์ทั้งปวงมีอิฏฐารมณ์เป็นต้น ชื่อว่า ก้าวล่วง คือ ก้าวล่วงด้วยดี ซึ่งภพทั้งปวง คือ ภพแม้ทั้งหมดมีประเภทตามกล่าวแล้ว ไม่จัดเข้าในที่ใดที่หนึ่ง โดยที่แท้เป็นผู้หาบัญญัติมิได้ เบื้องหน้าแต่ปรินิพพานไปเหมือนไฟหมดเชื้อฉะนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอา

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 376

ยอดแห่งอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ จึงให้มหาอุทานนี้จบลง ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถาโลกสูตรที่ ๑๐

จบนันทวรรควรรณนาที่ ๓

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

๑. กรรมสูตร ๒. นันทสูตร ๓. ยโสชสูตร ๔. สารีปุตตสูตร ๕. โกลิตสูตร ๖. ปิลินทวัจฉสูตร ๗. มหากัสสปสูตร ๘. ปิณฑปาตสูตร ๙. สิปปสูตร ๑๐. โลกสูตร และอรรถกถา