พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. อัปปายุกาสูตร ว่าด้วยอายุมารดาของพระโพธิสัตว์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 ส.ค. 2564
หมายเลข  35323
อ่าน  545

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 485

๒. อัปปายุกาสูตร

ว่าด้วยอายุมารดาของพระโพธิสัตว์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 485

๒. อัปปายุกาสูตร

ว่าด้วยอายุมารดาของพระโพธิสัตว์

[๑๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เวลาเย็น ท่านพระอานนท์ออกจากที่หลีกเร้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่เคยมีมาแล้ว พระมารดาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระชนมายุน้อยเหลือเกิน เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประสูติได้ ๗ วัน พระมารดาของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จสวรรคต เข้าถึงเทพนิกายชั้นดุสิต พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูก่อนอานนท์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูก่อนอานนท์ มารดาของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายมีอายุน้อยเหลือเกิน เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ ๗ วัน มารดาของพระโพธิสัตว์ย่อมทำกาละ เข้าถึงเทพนิกายชั้นดุสิต.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 486

สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งผู้เกิดแล้ว และแม้จักเกิด สัตว์ทั้งหมดนั้นจักละร่างกายไป ท่านผู้ฉลาดทราบความเสื่อมแห่งสัตว์ทั้งปวงนั้นแล้ว พึงเป็นผู้มีความเพียรประพฤติพรหมจรรย์.

จบอัปปายุกาสูตรที่ ๒

อรรถกถาอัปปายุกาสูตร

อัปปายุกาสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

คำว่า อจฺฉริยํ ภนฺเต แม้นี้ พึงทราบโดยข้ออัศจรรย์ที่น่าติเตียนเหมือนในเมฆิยสูตร.

บทว่า ยาว อปฺปายุกา แปลว่า มีอายุน้อยเพียงไร อธิบายว่า มีชีวิตชั่วเวลานิดหน่อย.

บทว่า สตฺตาหชาเต ความว่า ประสูติโดยสัปดาห์ ๑ ชื่อว่าสัตตาหชาตะ ในเมื่อพระองค์ประสูติได้ ๗ วัน. อธิบายว่า ในวันที่ ๗ ที่พระองค์ประสูติ.

บทว่า ตุสิตํ กายํ อุปปชฺชิ ความว่า เข้าถึงเทพนิกายชั้นดุสิต โดยการถือปฏิสนธิ.

เล่ากันมาว่า วันหนึ่งภายหลังภัตร พระเถระนั่งพักผ่อนกลางวัน ใส่ใจถึงพระรูปโฉมของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันประดับด้วยพระลักษณะ และพระอนุพยัญชนะ มีพระรูปเลอโฉม เป็นทัสนานุตริยะ แล้วจึงคิดว่า น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าทั้งหลายเพียบพร้อมไปด้วยพระรูปกายน่าชม นำมาซึ่งความเลื่อมใสรอบด้าน น่ารื่นรมย์ใจ ดังนี้แล้ว จึงเสวยปีติและโสมนัสอย่างยิ่ง จึงคิดอย่างนี้ว่า ธรรมดามารดาผู้บังเกิดเกล้า ถึงจะมีบุตรรูปร่างไม่ดี ก็ยังมีความพอใจ คล้ายว่าบุตรรูปร่างดีฉะนั้น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 487

ก็ถ้าว่า พระนางมหามายาเทวีพระพุทธมารดายังทรงพระชนม์อยู่ไซร้ พระนางก็จะพึงเกิดปีติโสมนัส เพราะได้เห็นพระโฉมของพระผู้มีพระภาคเจ้า เช่นไรหนอ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประสูติได้ ๗ วัน พระเทวีมหามารดาของเราสวรรคต เป็นความเสื่อมอย่างใหญ่หลวงแล. ก็ครั้นคิดอย่างนี้แล้ว จึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลความปริวิตกของตน เมื่อจะติเตียนการสวรรคตของพระนาง จึงกราบทูลคำมีอาทิว่า อจฺฉริยํ ภนฺเต.

แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า พระนางมหาปชาบดีโคตมีถึงจะวิงวอนขอบรรพชากะพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยความยากยิ่ง ก็ยังถูกห้าม แต่เราทูลขอด้วยอุบายแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอนุญาตการบรรพชาและอุปสมบท ด้วยการรับครุธรรม ๘ ประการ พระนางรับธรรมเหล่านั้นแล้วได้บรรพชาอุปสมบท แล้วจึงเกิดบริษัทที่ ๓ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าขึ้น ได้เป็นปัจจัยแก่บริษัทที่ ๔ ก็ถ้าพระมหามายาเทวีพระชนนีของพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระนางกษัตริย์พี่น้องแม้ทั้งสองนี้รวมกัน ก็จะพึงทำพระศาสนานี้ให้งดงาม ก็เพราะการนับถือในพระมารดามาก พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตการบรรพชาและอุปสมบทในพระศาสนาแก่มาตุคามโดยง่ายทีเดียว แต่เพราะพระนางมีพระชนมายุน้อย การนั้นจึงสำเร็จได้ยาก ด้วยอธิบายดังว่ามานี้ พระเถระจึงกราบทูลคำมีอาทิว่า อจฺฉริยํ ภนฺเต ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้อนั้นไม่ใช่เหตุ. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงอนุญาตการบรรพชาในศาสนาของพระองค์แก่พระมารดา หรือมาตุคามอื่น

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 488

จึงทรงอนุญาตให้รัดกุมทีเดียว ไม่ใช่ทรงอนุญาตอย่างหละหลวม เพราะทรงมีพระประสงค์ให้พระศาสนาดำรงอยู่ได้นาน.

ฝ่ายอาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า พระเถระมนสิการถึงพระพุทธคุณหาที่สุด หาประมาณมิได้ ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น มีทศพลญาณและจตุเวสารัชญาณเป็นต้น จึงเกิดอัศจรรย์จิตขึ้นว่า พระพุทธมารดาบริหารพระศาสดาผู้เป็นอัครบุคคลในโลกผู้มีอานุภาพมากถึงเพียงนี้ในพระครรภ์ถึง ๑๐ เดือน จักเป็นบริจาริกาของใครๆ เพราะฉะนั้น ข้อนี้จึงไม่สมควร เพราะฉะนั้น ข้อที่เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประสูติได้ ๗ วัน พระพุทธมารดาสวรรคต และครั้นสวรรคตแล้ว ทรงอุบัติในชั้นดุสิต นี้เป็นการสมควรแก่พระคุณของพระศาสดาอย่างแท้จริง เมื่อจะกราบทูลความวิตกที่เกิดขึ้นแก่ตนนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า อจฺฉริยํ ภนฺเต ดังนี้.

ก็พระศาสดา เมื่อจะทรงแสดงข้อที่เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ ๗ วัน พระมารดาของพระโพธิสัตว์ก็สวรรคต จัดเป็นการสำเร็จโดยธรรมดา จึงตรัสคำมีอาทิว่า เอวเมตํ อานนฺทํ. ก็ธรรมดานี้นั้น พึงทราบด้วยสามารถที่พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์เคยประพฤติเป็นอาจิณวัตรเสมอมา เพราะพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีแล้วบังเกิดในชั้นดุสิต ทรงดำรงอยู่ในดุสิตนั้นตลอดอายุ เมื่อสิ้นอายุ อันเทวดาในหมื่นจักรวาลประชุมกันทูลอาราธนาเพื่อให้ทรงถือปฏิสนธิในมนุษยโลกเพื่ออภิสัมโพธิญาณ จึงตรวจดูปริมาณอายุของพระพุทธมารดา เหมือนตรวจดูกาล ทวีป ประเทศและตระกูล แล้วจึงถือปฏิสนธิ ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้นี้ ผู้เป็นพระโพธิสัตว์ ดำรงอยู่ในชั้นดุสิต ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 489

ทรงตรวจดูมหาวิโลกนะ ๕ ประการ ทรงกำหนดปริมาณอายุของพระพุทธมารดา ๑๐ เดือนกับ ๗ วัน พอทรงทราบว่า นี้เป็นเวลาที่เราจะถือปฏิสนธิ บัดนี้เราควรอุบัติ ดังนี้แล้ว จึงทรงถือปฏิสนธิ. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อปฺปายุกา หิ อานนฺท โพธิสตฺตมาตโร โหนฺติ ดังนี้เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาลํ กโรนฺติ ความว่า กระทำกาละโดยสิ้นไปแห่งอายุตามที่กล่าวแล้วนั่นแล ไม่ใช่เพราะมีการประสูติเป็นปัจจัย. จริงอยู่ สถานที่ที่พระโพธิสัตว์อยู่ในอัตภาพสุดท้ายเป็นเช่นกับเรือนพระเจดีย์ ไม่ใช่เป็นสถานที่ที่คนเหล่าอื่นจะใช้สอย และใครๆ ไม่อาจที่จะถอดพระมารดาของพระโพธิสัตว์ออก แล้วตั้งหญิงอื่นไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี. เพียงเท่านั้นแล จัดเป็นประมาณอายุของพระโพธิสัตว์ เพราะฉะนั้น จึงได้ทำกาละเสียในเวลานั้น . ก็พระมหาโพธิสัตว์ทั้งหลายหมายถึงเนื้อความนี้นั่นแล จึงกระทำมหาวิโลกนะ ๕ ประการ.

ถามว่า ก็พระมารดาของพระโพธิสัตว์ ทำกาละในวัยไหน?

ตอบว่า ในมัชฌิมวัย. จริงอยู่ ในปฐมวัย สัตว์ทั้งหลายมีฉันทราคะกล้าในอัตภาพ เพราะฉะนั้น หญิงทั้งหลายผู้ตั้งครรภ์ในคราวนั้น โดยมากไม่สามารถจะตามรักษาครรภ์ได้. หากพึงถือปฏิสนธิได้ไซร้ สัตว์ที่เกิดในครรภ์ก็จะลำบากมาก. ก็ครั้นล่วง ๒ ส่วนของมัชฌิมวัยไปแล้ว ในส่วนที่ ๓ ครรภ์ก็บริสุทธิ์ เด็กที่เกิดในครรภ์ที่บริสุทธิ์ ก็จะไม่มีโรค เพราะฉะนั้น มารดาของพระโพธิสัตว์จึงได้รับความสมบูรณ์ในปฐมวัย ประสูติในส่วนที่ ๓ ของมัชฌิมวัย แล้วสวรรคตแล.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 490

บทว่า เอตมตฺถํ วิหิตฺวา ความว่า ทรงทราบว่าอายุในอัตภาพของมารดาพระโพธิสัตว์ และสรรพสัตว์เหล่าอื่นมีความตายเป็นที่สุด จึงทรงเปล่งอุทานนี้ อันแสดงถึงความอุตสาหะในการปฏิบัติที่หาโทษมิได้ โดยมุขอันแสดงถึงเนื้อความนั้นอย่างแจ่มแจ้ง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เยเกจิ เป็นบทแสดงอรรถที่ไม่แน่นอน.

บทว่า ภูตา แปลว่า บังเกิดแล้ว.

บทว่า ภวิสฺสนฺติ แปลว่า จักบังเกิดในอนาคต.

วา ศัพท์ เป็นวิกัปปัตถะ. อปิ ศัพท์ เป็นสัมปิณฑนัตถะ. ด้วย อปิ ศัพท์นั้น ท่านสงเคราะห์เอาสัตว์ผู้กำลังบังเกิด. ด้วยลำดับคำเพียงเท่านี้ ท่านกำหนดถือเอาเหล่าสัตว์ผู้นับเนื่องในปฏิสนธิด้วยอำนาจกาลมีอดีตกาลเป็นต้นโดยไม่มีส่วนเหลือ. อีกอย่างหนึ่ง คัพภเสยยกสัตว์ สัตว์ผู้เกิดในครรภ์ ตั้งแต่เวลาออกจากครรภ์ ชื่อว่า ภูตา (สัตว์ผู้เกิดแล้ว). ก่อนแต่เกิดนั้น ชื่อว่าจักเกิด. พวกสังเสทชสัตว์ และอุปปาติกสัตว์ หลังแต่ปฏิสนธิจิตไป ชื่อว่าเกิดแล้ว. ก่อนแต่นั้น ชื่อว่าจักเกิด เนื่องด้วยภพที่จะพึงบังเกิด. หรือว่า สัตว์แม้ทั้งหมด ชื่อว่าเกิดแล้ว เนื่องด้วยปัจจุบันภพ. ชื่อว่าจักเกิด เนื่องด้วยภพใหม่ในอนาคต. ผู้สิ้นอาสวะ ชื่อว่าเกิดแล้ว. จริงอยู่ ท่านผู้สิ้นอาสวะเหล่านั้น เกิดแล้วเท่านั้น ก็จักไม่เกิดต่อไปอีกแล. สัตว์เหล่าอื่นจากผู้สิ้นอาสวะเหล่านั้น ชื่อว่าจักบังเกิด.

บทว่า สพฺเพ คมิสฺสนฺติ ปหาย เทหํ ความว่า สัตว์ทั้งปวงต่างกันตามที่กล่าวแล้ว และต่างกันเป็นหลายประเภทโดยภพ กำเนิด คติ วิญญาณฐิติ และสัตตาวาส เป็นต้น ทั้งหมดจักละ คือ ทอดทิ้งร่างกายคือสรีระของตนไปสู่ปรโลก ส่วนพระอเสขบุคคลจักไปพระนิพพาน. ในข้อนี้ ท่านแสดงไว้ว่า ใครๆ ชื่อว่าไม่มีการจุติ

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 491

เป็นธรรม หามีไม่ .

บทว่า ตํ สพฺพชานึ กุสโล วิทิตฺวา ความว่า ท่านผู้ฉลาด คือ บัณฑิต ทราบความเสื่อม คือ ความหายไป ได้แก่ ความตายของสรรพสัตว์นี้นั้น หรือว่าทราบถึงความเสื่อม คือ ความพินาศ ได้แก่ ความผุพังของสรรพสัตว์ทั้งหมดนั้น ด้วยอำนาจมรณานุสติ หรือด้วยอำนาจมนสิการถึงพระไตรลักษณะ มีอนิจจตา เป็นต้น.

บทว่า อาตาปิโย พฺรหฺมจริยํ จเรยฺย ความว่า เมื่อบำเพ็ญวิปัสสนา ชื่อว่ามีความเพียร เพราะประกอบด้วยความเพียร คือ ความเพียรเครื่องเผากิเลส ชื่อว่าปรารภความเพียร ด้วยอำนาจสัมมัปปธาน ๔ พึงประพฤติ คือ ปฏิบัติมรรคพรหมจรรย์ อันเป็นอุบายเครื่องก้าวล่วงมรณะโดยสิ้นเชิง.

จบอรรถกถาอัปปายุกาสูตรที่ ๒