พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. โสณสูตร ว่าด้วยคนสะอาดไม่ยินดีในบาป

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 ส.ค. 2564
หมายเลข  35327
อ่าน  714

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 546

๖. โสณสูตร

ว่าด้วยคนสะอาดไม่ยินดีในบาป


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 546

๖. โสณสูตร

ว่าด้วยคนสะอาดไม่ยินดีในบาป

[๑๑๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระมหากัจจานะอยู่ ณ ปวัฏฏบรรพต แคว้นกุรุรฆระ ในอวันตีชนบท ก็สมัยนั้นแล อุบาสกชื่อโสณโกฏิกัณณะ เป็นอุปัฏฐากของท่านพระมหากัจจานะ ครั้งนั้นแล อุบาสกชื่อโสณโกฏิกัณณะหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า พระคุณเจ้ามหากัจจานะย่อมแสดงธรรมด้วยอาการใดๆ ธรรมนั้นย่อมปรากฏแก่เราผู้พิจารณาอยู่ด้วยอาการนั้นๆ อย่างนี้ว่า บุคคลผู้ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ผิฉะนั้น เราพึงปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิตเถิด ลำดับนั้นแล อุบาสกโสณโกฏิกัณณะเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระมหากัจจานะว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส กระผมหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิดปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า พระคุณเจ้ามหากัจจานะย่อมแสดงธรรมด้วยอาการใดๆ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 547

ธรรมนั้นย่อมปรากฏแก่เราผู้พิจารณาอยู่ด้วยอาการนั้นๆ อย่างนี้ว่า บุคคลผู้ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ผิฉะนั้น เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิตเถิด ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้ามหากัจจานะโปรดให้กระผมบวชเถิด.

[๑๒๐] เมื่ออุบาสกโสณโกฏิกัณณะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหากัจจานะได้กล่าวกะอุบาสกโสณโกฏิกัณณะว่า ดูก่อนโสณะ พรหมจรรย์มีภัตหนเดียว มีการนอนผู้เดียวตลอดชีวิต ทำได้ยากนัก ดูก่อนโสณะ เชิญท่านเป็นคฤหัสถ์อยู่ในเรือนนั้นแล จงหมั่นประกอบพรหมจรรย์อันมีภัตหนเดียว นอนผู้เดียว เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเถิด ครั้งนั้นแล การปรารภเพื่อจะบวชของอุบาสกโสณโกฏิกัณณะได้ระงับไป แม้ครั้งที่ ๒... การปรารภเพื่อจะบวชของอุบาสกโสณโกฏิกัณณะก็ได้ระงับไป แม้ครั้งที่ ๓ อุบาสกโสณโกฏิกัณณะหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า พระคุณเจ้ามหากัจจานะย่อมแสดงธรรมด้วยอาการใดๆ ธรรมนั้นย่อมปรากฏแก่เราผู้พิจารณาอยู่ด้วยอาการนั้นๆ อย่างนี้ว่า บุคคลผู้ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ผิฉะนั้น เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิตเถิด แม้ครั้งที่ ๓ อุบาสกโสณโกฏิกัณณะ ก็ได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ อภิวาท แลนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระมหากัจจานะว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมหลีกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า พระคุณเจ้ามหากัจจานะย่อมแสดงธรรมด้วยอาการใดๆ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 548

ธรรมนั้นย่อมปรากฏแก่กระผมผู้พิจารณาอยู่ด้วยอาการนั้นๆ อย่างนี้ว่า บุคคลผู้อยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ผิฉะนั้น เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะออกบวชเป็นบรรพชิตเถิด ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้ามหากัจจานะโปรดให้กระผมบวชเถิด. ลำดับนั้นแล ท่านพระมหากัจจานะให้อุบาสกโสณโกฏิกัณณะบวชแล้ว.

[๑๒๑] ก็โดยสมัยนั้น อวันตีทักขิณาบถมีภิกษุน้อย ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัจจานะให้ประชุมพระภิกษุสงฆ์สวรรคแต่บ้านและนิคมเป็นต้นนั้นโดยยากลำบาก โดยล่วงไปสามปี จึงให้ท่านพระโสณะอุปสมบทได้ ครั้งนั้นแล ท่านพระโสณะอยู่จำพรรษาแล้ว หลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า เราไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเฉพาะพระพักตร์ แต่เราได้ฟังเท่านั้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น พระองค์เป็นเช่นนี้ๆ ถ้าว่าพระอุปัชฌายะพึงอนุญาตเราไซร้ เราพึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ลำดับนั้นแล เป็นเวลาเย็น ท่านพระโสณะออกจากที่เร้น เข้าไปหาพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระมหากัจจานะว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส เมื่อกระผมหลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิดความปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า เราไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั่นเฉพาะพระพักตร์ แต่เราได้ฟังเท่านั้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น พระองค์เป็นเช่นนี้ๆ ถ้าว่าพระอุปัชฌายะพึงอนุญาตเราไซร้ เราพึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 549

ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า ดีละๆ โสณะ ท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเถิด ท่านจักได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้น่าเลื่อมใส ควรเลื่อมใส มีอินทรีย์สงบ มีพระทัยสงบ ผู้ถึงความสงบและความฝึกอันสูงสุด ผู้ฝึกแล้ว ผู้คุ้มครองแล้ว มีอินทรีย์สำรวมแล้ว ผู้ประเสริฐ ครั้นแล้ว ท่านจงถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้าตามคำของเรา จงทูลถามถึงความเป็นผู้มีอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า ทรงมีกำลัง ทรงอยู่สำราญเถิด.

ท่านพระโสณะชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระมหากัจจานะ แล้วลุกจากอาสนะ อภิวาทท่านพระมหากัจจานะ กระทำประทักษิณ เก็บเสนาสนะ แล้วถือบาตรและจีวรหลีกจาริกไปทางพระนครสาวัตถี เมื่อเที่ยวจาริกไปโดยลำดับ ได้ถึงพระนครสาวัตถีแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระมหากัจจานะอุปัชฌายะของข้าพระองค์ ถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า และทูลถามถึงความเป็นผู้มีพระอาพาธน้อย พระโรคเบาบาง กระปรี้กระเปร่า ทรงมีกำลัง ทรงอยู่สำราญ พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ เธอพึงอดทนได้หรือ พึงให้เป็นไปได้หรือ เธอมาสิ้นหนทางไกลด้วยความไม่ลำบากหรือ และเธอไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ ท่านพระโสณะกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์พึงอดทนได้

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 550

พึงให้เป็นไปได้ ข้าพระองค์มาสิ้นหนทางไกลด้วยความไม่ลำบาก และข้าพระองค์ไม่ลำบากด้วยบิณฑบาต พระเจ้าข้า.

[๑๒๒] ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสั่งท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงปูลาดเสนาสนะสำหรับภิกษุผู้อาคันตุกะนี้เถิด ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสั่งใช้เราว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงปูลาดเสนาสนะสำหรับภิกษุอาคันตุกะนี้เถิด ดังนี้ เพื่อภิกษุใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารถนาจะประทับอยู่ในวิหารเดียวกันกับภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารถนาจะประทับอยู่ในวิหารเดียวกับท่านพระโสณะ ท่านพระอานนท์ได้ปูลาดเสนาสนะสำหรับท่านพระโสณะในวิหารที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยับยั้งด้วยการประทับนั่งในอัพโภกาสสิ้นราตรีเป็นอันมาก ทรงล้างพระบาท แล้วเสด็จเข้าไปสู่พระวิหาร แม้ท่านพระโสณะก็ยับยั้งด้วยการนั่งในอัพโภกาสสิ้นราตรีเป็นอันมาก ล้างเท้าแล้วเข้าไปสู่พระวิหาร ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี รับสั่งกะท่านพระโสณะว่า ดูก่อนภิกษุ การกล่าวธรรมจงแจ่มแจ้งกะเธอเถิด ท่านพระโสณะทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วได้กล่าวพระสูตรทั้งหมด ๑๖ สูตร จัดเป็นวรรค ๘ วรรค ด้วยสรภัญญะ ลำดับนั้น ในเวลาจบสรภัญญะของท่านพระโสณะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนาว่า ดีละๆ ภิกษุ พระสูตร ๑๖ สูตร จัดเป็นวรรค ๘ วรรค เธอเรียนดีแล้ว กระทำไว้ในใจดีแล้ว ทรงจำไว้ดีแล้ว เธอเป็นผู้ประกอบด้วยวาจาไพเราะ ไม่มีโทษ สามารถเพื่อจะยังเนื้อความให้แจ่มแจ้ง

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 551

ดูก่อนภิกษุ เธอมีพรรษาเท่าไร ท่านพระโสณะกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์มีพรรษาหนึ่ง.

พ. เธอได้ทำช้าอยู่อย่างนี้ เพื่ออะไร.

โส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้เห็นโทษในกามทั้งหลายโดยกาลนาน ทั้งฆราวาสคับแคบ มีกิจมาก มีกรณียะมาก พระเจ้าข้า.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

พระอริยเจ้าย่อมไม่ยินดีในบาป ท่านผู้สะอาดย่อมไม่ยินดีในบาป เพราะได้เห็นโทษในโลก เพราะได้รู้ธรรมอันไม่มีอุปธิ.

จบโสณสูตรที่ ๖

อรรถกถาโสณสูตร

โสณสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อวนฺตีสุ ได้แก่ ในอวันตีรัฐ.

บทว่า กุรุรฆเร ได้แก่ นครอันมีชื่ออย่างนั้น.

บทว่า ปวตฺเต ปพฺพเต ได้แก่ ภูเขาอันชื่อว่าปวัตตะ บางอาจารย์กล่าวว่า ปปาเต ดังนี้บ้าง.

บทว่า โสโณ อุปาสโก กุฏิกณฺโณ ความว่า โดยนามชื่อว่าโสณะ ชื่อว่าอุบาสก เพราะประกาศความเป็นอุบาสกโดยถึงสรณะ ๓ เพราะทรงเครื่องประดับหูมีราคาหนึ่งโกฏิ ควรจะเรียกว่า โกฏิกัณณะ แต่เขารู้จักกันมากว่า กุฏิกัณณะ อธิบายว่า โสณะผู้เป็นเด็กดี.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 552

ก็โสณะอุบาสกนั้นฟังธรรมในสำนักของท่านพระมหากัจจายนะ เลื่อมใสยิ่งในพระศาสนา ตั้งอยู่ในสรณะและศีล จึงให้สร้างวิหารในที่อันสมบูรณ์ด้วยร่มเงาและน้ำ ใกล้ปวัตตบรรพต แล้วนิมนต์พระเถระให้อยู่ในวิหารนั้น บำรุงด้วยปัจจัยทั้ง ๔. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เป็นอุปัฏฐากของท่านพระมหากัจจานะ.

เขาไปยังที่บำรุงของพระเถระตามเวลาอันสมควร และพระเถระก็ได้แสดงธรรมแก่เขา. ด้วยเหตุนั้น เขาจึงมีความสลดใจมาก เกิดความอุตสาหะในการประพฤติธรรมอยู่. คราวหนึ่ง เขาไปเมืองอุชเชนีกับหมู่เกวียนเพื่อต้องการค้าขาย เมื่อพักหมู่เกวียนไว้ในดงระหว่างทาง เพราะกลัวคนจะแออัดกัน จึงหลีกไปนอนหลับเสีย ณ ส่วนสุดด้านหนึ่ง. ในเวลาใกล้รุ่ง หมู่เกวียนก็ลุกไปเสีย แม้คนเดียวก็ไม่ปลุกให้โสณะอุบาสกตื่น คนแม้ทั้งหมดไม่ได้นึกถึง ได้พากันไปเสีย. เมื่อราตรีสว่างแล้ว เขาตื่นนอนแล้วลุกขึ้น ไม่เห็นใครเลย จึงถือเอาทางที่หมู่เกวียนนั่นแหละไป เมื่อเดินไปนานๆ ก็แวะเข้าไปพักยังต้นไทรต้นหนึ่ง. ณ ต้นไทรนั้น เขาได้เห็นบุรุษคนหนึ่งมีร่างกายใหญ่โตดูผิดรูปร่าง ทั้งน่าเกลียด ตนเองแหละเคี้ยวกินเนื้อของตนที่หล่นจากกระดูก ครั้นเห็นแล้วจึงถามว่า ท่านเป็นใคร?

ป. ฉันเป็นเปรต ท่านผู้เจริญ.

โส. เพราะเหตุไร ท่านจึงทำอย่างนี้?

ป. เพราะกรรมของตนเอง.

โส. ก็กรรมนั้นเป็นอย่างไร?

เปรตเล่าว่า เมื่อชาติก่อน ฉันเป็นพ่อค้าโกงอยู่ในเมืองภารุกัจฉนคร หลอกลวงเอาของคนอื่นมาเคี้ยวกิน และเมื่อพระสมณะเข้าไปบิณฑบาต ก็ด่าว่า จงเคี้ยวกินเนื้อของพวกมึงซิ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 553

เพราะกรรมนั้น ฉันจึงได้เสวยทุกข์นี้ในบัดนี้. โสณะอุบาสกได้ฟังดังนั้น กลับได้ความสลดใจอย่างเหลือล้น. ต่อจากนั้น เมื่อเดินไป พบพวกเปรตเล็ก ๒ ตน มีโลหิตดำไหลออกจากปาก จึงถามเหมือนอย่างนั้นนั่นแล. ฝ่ายเปรตเหล่านั้น ก็ได้แจ้งกรรมของตนแก่โสณะนั้น.

ได้ยินว่า ในเวลาที่ยังเป็นเด็ก เปรตเหล่านั้นเลี้ยงชีพด้วยการค้าขายสิ่งของในภารุกัจฉนคร เมื่อมารดาของตนนิมนต์พระขีณาสพทั้งหลายให้มาฉัน จึงไปยังเรือนแล้วด่าว่า ทำไมแม่จึงให้สิ่งของของพวกเราแก่พวกสมณะ ขอให้โลหิตดำจงไหลออกจากปากของพวกสมณะ ผู้บริโภคโภชนะที่แม่ให้แล้วเถิด. เพราะกรรมนั้น เด็กเหล่านั้น จึงไหม้ในนรก แล้วก็บังเกิดในกำเนิดเปรต ด้วยเศษแห่งวิบากของกรรมนั้น จึงเสวยทุกข์นี้ในกาลนั้น.

โสณะอุบาสกฟังคำแม้นั้น ได้เกิดความสลดใจอย่างเหลือล้น. เขาไปยังกรุงอุชเชนี ตรวจตราถึงงานที่ตนจะพึงทำนั้นแล้ว จึงกลับมายังเรือนประจำตระกูล เข้าไปหาพระเถระ ได้รับการปฏิสันถารแล้ว จึงแจ้งข้อความนั้นแก่พระเถระ. ฝ่ายพระเถระเมื่อจะประกาศโทษในการเกิดทุกข์ และอานิสงส์ในการดับทุกข์แก่โสณะอุบาสกนั้น จึงแสดงธรรม. เขาไหว้พระเถระแล้วไปเรือน แล้วบริโภคอาหารมื้อเย็นแล้วจึงเข้านอน พอหลับไปหน่อยหนึ่งเท่านั้น ก็ตื่นขึ้นนั่งบนที่นอน แล้วเริ่มพิจารณาธรรมตามที่ตนได้สดับมา. เมื่อเธอพิจารณาธรรมนั้น และหวนระลึกถึงอัตภาพของเปรตเหล่านั้น สังขารทุกข์ปรากฏเป็นของน่ากลัวเสียยิ่งนัก. จิตก็น้อมไปในบรรพชา. ครั้นราตรีสว่าง เธอชำระร่างกายเสร็จแล้วเข้าไปหาพระเถระ แจ้งอัธยาศัยของตนให้ทราบ แล้วขอบรรพชา.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 554

ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ครั้งนั้นแล โสณกุฏิกัณณะอุบาสก อยู่ในที่ลับ ฯลฯ ขอพระผู้เป็นเจ้ามหากัจจานะ จงให้กระผมบวชเถอะขอรับ ดังนี้ เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทมีอาทิว่า ยถา ยถา มีความสังเขปดังต่อไปนี้. พระผู้เป็นเจ้ามหากัจจานะ แสดง บอก บัญญัติ เริ่มตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้น ประกาศธรรม โดยอาการใดๆ เมื่อเรา (โสณะ) ใคร่ครวญด้วยอาการนั้นๆ ย่อมปรากฏอย่างนี้ว่า พรหมจรรย์คือสิกขา ๓ นี้ ที่จะพึงประพฤติให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว โดยรักษาไว้ไม่ให้ขาดจนวันเดียวจนถึงจิตดวงสุดท้าย (ตาย) ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว โดยทำไม่ให้มีมลทินด้วยมลทินคือกิเลสแม้จนวันเดียวจนถึงจิตดวงสุดท้าย ให้เป็นเช่นกับสังข์ที่ขัดดีแล้ว คือ เปรียบด้วยสังข์ที่ชำระจนสะอาดดี พรหมจรรย์นี้อันบุคคลผู้อยู่ครองเรือนคือผู้อยู่ในท่ามกลางเรือนจะประพฤติให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ฯลฯ มิใช่ทำได้ง่าย ไฉนหนอ เราพึงปลง คือ พึงโกนผมและหนวด แล้วปกปิด คือ นุ่งและห่มผ้าที่ชื่อว่ากาสายะ เพราะย้อมด้วยน้ำฝาด คือ ผ้าที่สมควรแก่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ออกจากเรือนแล้วบวช ไม่มีเรือน. เพราะเหตุที่กรรม มีกสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้น อันเป็นประโยชน์แก่เรือน ท่านเรียกว่า อคาริยํ และอคาริยะนั้น ไม่มีในบรรพชา ฉะนั้น บรรพชาจึงชื่อว่า อนคาริยะ (กรรมไม่เป็นประโยชน์แก่เรือน) อธิบายว่า เราพึงออก คือ พึงเข้าถึง ได้แก่ พึงปฏิบัติกรรมอันไม่เป็นประโยชน์แก่เรือน คือ บรรพชานั้น. โสณะอุบาสกแจ้งถึงเหตุที่ตนตรึกในที่ลับด้วยอาการอย่างนี้แก่พระเถระแล้ว มีความประสงค์จะปฏิบัติตามนั้น จึงเรียนว่า ขอพระผู้เป็นเจ้ามหากัจจานะ

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 555

จงให้กระผมบวชเถอะขอรับ. ฝ่ายพระเถระใคร่ครวญว่า ญาณของเธอยังไม่แก่กล้าก่อน จึงรอคอยความแก่กล้าของญาณ ห้ามความพอใจในบรรพชาโดยนัยมีอาทิว่า ทำได้ยากแล ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า เอกภตฺตํ นี้ ท่านกล่าวหมายถึงการงดเว้นจากการบริโภคในเวลาวิกาล ซึ่งกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ภิกษุเป็นผู้มีภัตหนเดียว เว้นจากความกำหนัด เว้นจากการบริโภคในเวลาวิกาล.

บทว่า เอกเสยฺยํ ได้แก่ นอนไม่มีเพื่อน. ก็ในคำว่า เอกเสยฺยํ นี้ เมื่อมุ่งถึงการนอนเป็นประธาน ท่านจึงแสดงกายวิเวกในอิริยาบถทั้ง ๔ ที่กล่าวแล้ว โดยนัยมีอาทิว่า ยืนคนเดียว เดินคนเดียว นั่งคนเดียว ดังนี้ ไม่ใช่แสดงเพียงเป็นผู้ผู้เดียวนอน.

บทว่า พฺรหฺมจริยํ ได้แก่ พรหมจรรย์ คือ การเว้นจากเมถุน หรือศาสนพรหมจรรย์ คือ การประกอบเนืองๆ ซึ่งไตรสิกขา.

บทว่า อิงฺฆ เป็นนิบาต ในโจทนัตถะ.

บทว่า ตตฺเถว ได้แก่ ในเรือนนั่นเอง.

บทว่า พุทฺธสาสนํ อนุยุญฺช ความว่า จงประกอบเนืองๆ ซึ่งศีลมีองค์ ๕ มีองค์ ๘ และมีองค์ ๑๐ ต่างโดยการกำหนดเป็นนิจศีล และอุโบสถศีลเป็นต้น และสมาธิภาวนา และปัญญาภาวนา อันสมควรแก่ศีลนั้น. จริงอยู่ พรหมจรรย์นี้ อันอุบาสกพึงประพฤติเนืองๆ ในส่วนเบื้องต้น ชื่อว่าพระพุทธศาสนา. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พรหมจรรย์ประกอบด้วยกาล มีภัตหนเดียว นอนคนเดียว ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาลยุตฺตํ ความว่า ประกอบด้วยกาล กล่าวคือ วัน ๑๔, ๑๕, ๘, ค่ำ และวันปาฏิหาริยปักข์. อีกอย่างหนึ่ง เราพึงสามารถตลอดกาลอันควร คือ อันเหมาะสมแก่ท่านผู้ประกอบเนืองๆ

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 556

ในกาลตามที่กล่าวแล้ว อธิบายว่า ไม่ใช่บวชตลอดกาล. คำนั้นทั้งหมดท่านกล่าวไว้เพื่อทำให้เหมาะสมในสัมมาปฏิบัติ เพราะกามทั้งหลายละได้ยาก เหตุญาณของท่านยังไม่แก่กล้า ไม่ใช่กล่าวเพื่อห้ามความพอใจในการบรรพชา.

บทว่า ปพฺพชฺชาภิสงฺขาโร ได้แก่ เริ่ม คือ อุตสาหะ เพื่อบรรพชา.

บทว่า ปฏิปสฺสมฺภิ ความว่า ระงับไป เพราะอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า และเพราะความสังเวชยังไม่แก่กล้า.

การบรรพชาของเธอระงับไปก็จริง ถึงอย่างนั้น เธอก็ยังดำรงตามวิถีที่พระเถระบอกให้ แล้วเข้าไปหาพระเถระตามกาลอันสมควร แล้วนั่งใกล้ฟังธรรม. จิตของเธอเกิดขึ้นในการบรรพชาเป็นครั้งที่สอง โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. เธอแจ้งแก่พระเถระให้ทราบ. แม้ครั้งที่สอง พระเถระก็ยังห้าม. แต่ในวาระที่สาม พระเถระรู้ว่าเธอมีญาณแก่กล้าแล้ว จึงให้เธอบรรพชาด้วยคิดว่า บัดนี้ เป็นเวลาที่จะให้เธอได้บรรพชา. ก็พระเถระให้เธอผู้บรรพชาแล้วนั้น แสวงหาคณะ ล่วงไปได้สามปี จึงให้อุปสมบท ซึ่งท่านหมายถึงกล่าวไว้ว่า ทุติยมฺปิ โข โสโณ ฯเปฯ อุปสมฺปาเทสิ ดังนี้เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปภิกฺขุโก แปลว่า มีภิกษุสองสามรูป. ได้ยินว่า ในคราวนั้น ภิกษุทั้งหลายโดยมากอยู่ในมัชฌิมประเทศเท่านั้น. เพราะฉะนั้น ในที่นั้นจึงมีภิกษุ ๒ - ๓ รูปเท่านั้น. ก็ภิกษุเหล่านั้น แยกกันอยู่อย่างนี้ คือ ในนิคมหนึ่งมีรูปเดียว ในนิคมหนึ่งมีสองรูป

บทว่า กิจฺเฉน แปลว่า โดยลำบาก.

บทว่า กสิเรน แปลว่า โดยยาก.

บทว่า ตโต ตโต ได้แก่ จากคามและนิคมเป็นต้นนั้นๆ. จริงอยู่ เมื่อพระเถระ นำภิกษุ ๒ - ๓ รูปมา บรรดาภิกษุเหล่าอื่นที่นำมาก่อน ก็พากันหลีกไป

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 557

ด้วยกรณียกิจบางอย่างแล. เมื่อรอคอยกาลเล็กน้อย แล้วนำภิกษุเหล่านั้นกลับมาอีก ฝ่ายภิกษุนอกนี้ก็หลีกไป. การประชุมโดยการนำมาบ่อยๆ อย่างนี้ ได้มีโดยกาลนานทีเดียว. ก็ในกาลนั้น พระเถระได้อยู่แต่รูปเดียว.

บทว่า ทสวคฺคํ ภิกฺขุสงฺฆํ สนฺนิปาเตตฺวา ความว่า ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยสงฆ์ทสวรรคเท่านั้น แม้ในปัจจันตประเทศ. จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าถูกพระเถระทูลวิงวอนถึงเหตุอุปสมบทนี้ จึงทรงอนุญาตการอุปสมบทในปัจจันตประเทศด้วยสงฆ์ปัญจวรรค. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ติณฺณํ วสฺสานํ ฯเปฯ สนินิปาเตตฺวา ดังนี้เป็นต้น.

บทว่า วสฺสํ วุฏฺสฺส ได้แก่ ผู้อุปสมบทแล้วเข้าพรรษาต้นแล้วออก.

บทว่า เอทิโส จ เอทิโส จ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเราได้ฟังมาว่า เห็นปานนี้ๆ คือ ทรงประกอบด้วยนามกายสมบัติ และรูปกายสมบัติเห็นปานนี้ และประกอบด้วยธรรมกายสมบัติเห็นปานนี้ ด้วยคำว่า น โข เม โส ภควา สมฺมุขา ทิฏฺโ นี้ อาจารย์ทั้งหลายหมายเอาความเป็นปุถุชนเท่านั้น กล่าวว่า ท่านโสณะได้มีความประสงค์จะเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ภายหลังเธออยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระศาสดา ในเวลาใกล้รุ่งพระศาสดาทรงเชื้อเชิญ จึงทำไว้ในใจให้มีประโยชน์ถึงพระสูตร ๑๖ เป็นวรรค ๘ วรรค เฉพาะพระพักตร์พระศาสดา แล้วประมวลมาไว้ในใจทั้งหมด เป็นผู้รู้แจ้งอรรถและธรรม เมื่อจะกล่าวเป็นผู้มีจิตเป็นสมาธิโดยมุข คือ ความปราโมทย์อันเกิดแต่ธรรม ในเวลาจบสรภัญญะ เริ่มตั้งวิปัสสนาพิจารณาสังขาร บรรลุพระอรหัตโดยลำดับ ก็เพื่อประโยชน์นี้เท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงสั่งให้เธออยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระองค์.

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 558

ฝ่ายอาจารย์บางพวกกล่าวว่า คำว่า เรายังไม่ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเฉพาะพระพักตร์แล ดังนี้ ท่านกล่าวหมายเอาเฉพาะการเห็นรูปกายเท่านั้น. จริงอยู่ ท่านพระโสณะพอบวชแล้ว ก็เรียนกรรมฐานในสำนักของพระเถระ เพียรพยายามอยู่ ยังไม่ได้อุปสมบทเลย ได้เป็นพระโสดาบัน ครั้นอุปสมบทแล้วคิดว่า แม้อุบาสกทั้งหลายก็เป็นพระโสดาบัน ทั้งเราก็เป็นพระโสดาบัน ในข้อนี้จะคิดไปทำไมเล่า จึงเจริญวิปัสสนาเพื่อมรรคชั้นสูง ได้อภิญญา ๖ ภายในพรรษานั้นเอง แล้วปวารณาด้วยวิสุทธิปวารณา ก็เพราะเห็นอริยสัจ จึงเป็นอันชื่อว่า เธอได้เห็นธรรมกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า สมจริงดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม. เพราะฉะนั้น การเห็นธรรมกาย จึงสำเร็จแก่เธอก่อนทีเดียว ก็แล ครั้นปวารณาแล้ว เธอได้มีความประสงค์จะเห็นรูปกาย. บาลีว่า ถ้าพระอุปัชฌาย์อนุญาตเราไซร้ ดังนี้ก็มี. แต่นักจาร จารว่า ภนฺเต. อนึ่ง บาลีว่า ดีละ ดีละ คุณโสณะ เธอจงไปเถอะคุณโสณะ ดังนี้ก็มี. แต่คำว่า มา อาวุโส ไม่มีในคัมภีร์บางฉบับ. อนึ่ง บทว่า เอวมาวุโส บาลีว่า โข อายสฺมา โสโณ ดังนี้ก็มี. จริงอยู่ วาทะว่า อาวุโสนั่นแหละ พวกภิกษุเคยประพฤติเรียกกันและกันมา ในคราวที่พระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่. อรรถแห่งบทมีอาทิว่า ภควนฺตํ ปาสาทิกํ ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั้นแล.

บทว่า กจฺจิ ภิกฺขุ ขมนียํ ความว่า ดูก่อนภิกษุ ยนต์ คือ สรีระของท่านนี้ มีจักร ๔ มีทวาร ๙ เธอพึงอดทนได้แลหรือ คือ เธอสามารถเพื่อจะอดทน คือ อดกลั้นบริหารได้หรือ ได้แก่ ภาระคือทุกข์ ไม่ครอบงำเธอหรือ.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 559

บทว่า กจฺจิ ยาปนียํ ความว่า เธออาจยังอัตภาพให้เป็นไป คือ ให้ดำเนินไปในกิจนั้นๆ ได้หรือ เธอไม่แสดงอันตรายอะไรหรือ.

บทว่า กจฺจิสิ อปฺปกิลมเถน ความว่า เธอมาสิ้นทางไกลเท่านี้ ด้วยความไม่ลำบากบ้างหรือ.

บทว่า เอตทโหสิ ความว่า ท่านพระอานนท์ เมื่ออนุสรณ์ถึงพระพุทธจริยาคุณ จึงได้กล่าวคำนี้ในบัดนี้ โดยนัยมีอาทิว่า ยสฺส โข มํ ภควา นี้ได้เป็นคำที่เธอเคยคิดมาเป็นอาจิณวัตร.

บทว่า เอกวิหาเร ได้แก่ ในพระคันธกุฎีเดียวกัน. จริงอยู่ พระคันธกุฎีในที่นี้ ท่านประสงค์ถึงวิหาร.

บทว่า วตฺถุํ แปลว่า เพื่อจะอยู่.

ในบทว่า นิสชฺชาย วีตินาเมตฺวา นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ อาจารย์บางพวกกล่าวว่า เพราะเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงกระทำปฏิสันถารในการเข้าสมาบัติแก่ท่านพระโสณะ ทรงเข้าสมาบัติทั้งหมดที่ทั่วไปแก่พระสาวก โดยอนุโลมและปฏิโลมสิ้นราตรีเป็นอันมาก ฯลฯ แล้วจึงเสด็จเข้าสู่วิหาร ฉะนั้น ฝ่ายท่านพระโสณะ ทราบความประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเข้าสมาบัตินั้นทั้งหมด อันสมควรแก่พระประสงค์นั้น สิ้นราตรีเป็นอันมาก ฯลฯ แล้วเข้าสู่วิหาร. ก็แล ครั้นเข้าไปแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต แม้เธอก็ทำจีวรให้เป็นกรณียกิจภายนอก (เปลื้องจีวร) แล้วยับยั้งด้วยการนั่งข้างพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า.

บทว่า อชฺเฌสิ ได้แก่ ทรงสั่ง.

บทว่า ปฏิภาตุ ตํ ภิกฺขุ ธมฺโม ภาสิตุํ ได้แก่ ดูก่อนภิกษุ การกล่าวธรรม จงปรากฏแก่เธอ คือ จงมาในมุขคือญาณของเธอ อธิบายว่า จงกล่าวธรรมตามที่ได้สดับมา ตามที่ได้เล่าเรียนมา.

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 560

บทว่า โสฬส อฏฺกวคฺคิกานิ ได้แก่ สูตร ๑๖ สูตร มีกามสูตร เป็นต้น อันเป็นวรรค ๘ วรรค.

บทว่า สเรน อภณิ ได้แก่ ได้กล่าวด้วยเสียงอันขับไปตามสูตร อธิบายว่า กล่าวโดยสรภัญญะ.

บทว่า สรภญฺปริโยสาเน ได้แก่ ในการกล่าวเสียงสูงจบลง.

บทว่า สุคฺคหิตานิ ได้แก่ เล่าเรียนโดยชอบ.

บทว่า สุมนสิกตานิ ได้แก่ ใส่ใจด้วยดี. บุคคลบางคนในเวลาเล่าเรียน แม้เรียนโดยชอบ ภายหลังในเวลาทำไว้ในใจ โดยการสาธยายเป็นต้น ก็กล่าวพยัญชนะให้ผิดไป หรือทำบทหน้าบทหลังให้ผิดพลาดไป พระโสณะนี้ หาเป็นเช่นนั้นไม่. แต่พระโสณะนี้ ใส่ใจตามที่เล่าเรียนมาโดยชอบทีเดียว. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า บทว่า สุมนสิกตานิ ได้แก่ ใส่ใจด้วยดี.

บทว่า สุปธาริตานิ ได้แก่ แม้โดยอรรถเธอก็ทรงจำไว้ดีแล้ว. ก็เมื่อเธอทรงจำอรรถไว้ดีแล้ว ก็สามารถสวดบาลีได้อย่างถูกต้อง.

บทว่า กลฺยาณิยาสิ วาจาย สมนฺนาคโต ความว่า เธอเป็นผู้ประกอบด้วยวาจาของชาวเมือง บริบูรณ์ด้วยบทและพยัญชนะอันกลมกล่อม ด้วยการกล่าวตามวิธีแห่งสิถิลและธนิตเป็นต้น.

บทว่า วิสฏฺาย แปลว่า หลุดพ้น. ด้วยคำนั้น ท่านแสดงถึงความที่ท่านเป็นผู้มีวาทะว่าหลุดพ้น.

บทว่า อเนลคลาย ความว่า โทษ ท่านเรียกว่า เอละ โทษของวาจานั้นไม่ไหลออกไป เหตุนั้นวาจานั้นชื่อว่า อเนลคลา อธิบายว่า วาจานั้นหาโทษมิได้. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อเนลคลาย ความว่า ด้วยวาจาอันหาโทษมิได้ และไม่คลาดเคลื่อนไป ชื่อว่าวาจาหาโทษมิได้ อธิบายว่า มีบทและพยัญชนะไม่คลาดเคลื่อน คือ มีบทและพยัญชนะไม่ขาดหาย. จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงสถาปนาเธอไว้ในเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้สาวกของเรา

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 561

ผู้กล่าววาจาไพเราะ โสณกุฏิกัณณะเป็นเลิศ.

บทว่า อตฺถสฺส วิญฺาปนิยา ความว่า ด้วยวาจาอันสามารถ เพื่อให้รู้แจ้งอรรถตามที่ประสงค์.

บทว่า กติวสฺโส ความว่า ได้ยินว่า เธอดำรงอยู่ในส่วนที่ ๓ แห่งมัชฌิมวัย สมบูรณ์ด้วยอากัปปกิริยาแท้ ย่อมปรากฏแก่ชนเหล่าอื่นเหมือนบรรพชิตผู้บวชนาน ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถาม หมายถึงท่าน. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ข้อนั้นไม่ใช่เหตุ เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านสมควรเพื่อจะเสวยสุขอันเกิดแต่สมาธิ แต่เพราะเหตุไร เธอจึงถึงความประมาทตลอดกาลเพียงเท่านี้ เพราะเหตุนั้น เพื่อจะประกอบความนี้อีก พระศาสดาจึงตรัสถามท่านว่า เธอมีพรรษาเท่าไร? ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุ เธอกระทำชักช้าอยู่อย่างนี้ เพราะเหตุไร.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กิสฺส แปลว่า เพราะเหตุไร.

บทว่า เอวํ จิรํ อกาสิ แปลว่า ประพฤติช้าอยู่อย่างนี้ อธิบายว่า เพราะเหตุไรเธอจึงไม่เข้าถึงบรรพชา อยู่ในท่ามกลางเรือนเสียนานถึงอย่างนี้.

บทว่า จิรํ ทิฏฺโ เม ได้แก่ ข้าพระองค์ได้เห็นโทษในกามทั้งหลายมานาน คือ โดยกาลนาน.

บทว่า กาเมสุ ได้แก่ ในกิเลสกาม และวัตถุกาม.

บทว่า อาทีนโว แปลว่า โทษ

บทว่า อปิจ ความว่า แม้เมื่อข้าพระองค์เห็นโทษในกามทั้งหลายโดยประการบางอย่าง ข้าพระองค์ก็ไม่สามารถเพื่อจะออกจากการครองเรือนก่อน. เพราะเหตุไร? เพราะการครองเรือนคับแคบ คือ ภาวะแห่งการครองเรือนมีกิจใหญ่กิจน้อย สูงๆ ต่ำๆ เข้ามาพัวพัน. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล ท่านจึงกล่าวว่า พหุกิจฺโจ พหุกรณีโย มีกิจมาก มีกรณียะมาก ดังนี้เป็นต้น.

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 562

บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบโดยอาการทั้งปวงซึ่งอรรถนี้ว่า จิตของเธอผู้เห็นโทษในกามทั้งหลายตามความเป็นจริง แม้ชักช้าอยู่ไม่แล่นไป คือ ไม่กลิ้งตกไปโดยแท้ทีเดียว เหมือนหยาดน้ำบนใบบัวฉะนั้น.

บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า ทรงเปล่งอุทานนี้ อันแสดงถึงอรรถนี้ว่า เธอเมื่อทราบปวัตติและนิวัตติโดยชอบทีเดียว ย่อมไม่ยินดีในปวัตติกาล และแม้ในกาลบางคราว ซึ่งมีปวัตติกาลและนิวัตตินั้นเป็นนิมิต.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิสฺวา อาทีนวํ โลเก ความว่า เห็นอาทีนพคือโทษ ด้วยจักษุคือปัญญา ในสังขารโลกแม้ทั้งสิ้น โดยนัยมีอาทิว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ดังนี้. ด้วยคำนี้ พระองค์ทรงแสดงถึงวิปัสสนาวาระ.

บทว่า ตฺวา ธมฺมํ นิรูปธึ ความว่า รู้ความไม่มีอุปธิ คือ นิพพานธรรม เพราะสละอุปธิทั้งปวงได้ขาด คือ กระทำอมตธรรม กล่าวคือ วิเวกอันเป็นเครื่องสลัดทุกข์ให้แจ่มแจ้งแทงตลอดด้วยมรรคญาณตามความเป็นจริง.

พึงเห็นเหตุและอรรถของบทเหล่านี้ว่า ทิสฺวา ตฺวา เหมือนในประโยคมีอาทิว่า เพราะดื่มเปรียงจึงมีกำลัง เพราะเห็นราชสีห์ความกลัวจึงมี เพราะเห็นด้วยปัญญาอาสวะจึงหมดไป.

บทว่า อริโย น รมติ ปาเป ความว่า สัปบุรุษชื่อว่าอริยะ เพราะไกลจากกิเลส ย่อมไม่ยินดีในบาปแม้ประมาณน้อย. เพราะเหตุไร? เพราะคนสะอาดย่อมไม่ยินดีในบาป อธิบายว่า บุคคลบริสุทธิ์ เพราะมีกายสมาจารหมดจดด้วยดี ย่อมไม่ยินดี คือ ย่อมไม่เพลิดเพลินในบาป คือ ในสังกิเลสธรรม ดุจพระยาหงส์ไม่ยินดีในที่สกปรกฉะนั้น. บาลีว่า ปาโป น รมตี สุจึ คนชั่วย่อมไม่ยินดีของสะอาด ดังนี้ก็มี

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 563

คำนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้ คนมีบาป คือ คนชั่ว ย่อมไม่ยินดีของที่สะอาด คือ ของที่ไม่มีโทษ มีความผ่องแผ้วเป็นธรรม โดยที่แท้ ยินดีแต่ของไม่สะอาด คือ สังกิเลสธรรมเท่านั้น เหมือนสุกรบ้านเป็นต้น ยินดีแต่สถานที่สกปรกฉะนั้น เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงเปลี่ยนเทศนา โดยธรรมอันเป็นปฏิปักษ์กัน.

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานอย่างนี้แล้ว ท่านโสณะลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอวัตถุ ๕ ประการ มีอุปสมบทเป็นต้น พร้อมด้วยสงฆ์ปัญจวรรคในปัจจันตประเทศ ตามคำอุปัชฌาย์ของตน.

คำว่า ภควาปิ ตานิ อนุชานิ ทั้งหมดพึงทราบโดยนัยที่มาแล้วในขันธกะเถิด.

จบอรรถกถาโสณสูตรที่ ๖