๘. อานันทสูตร ว่าด้วยคนดีทําชั่วได้ยาก
[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 566
๘. อานันทสูตร
ว่าด้วยคนดีทําชั่วได้ยาก
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 566
๘. อานันทสูตร
ว่าด้วยคนดีทำชั่วได้ยาก
[๑๒๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ในวันอุโบสถ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 567
เวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้ว ถือบาตรจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์ พระเทวทัตได้เห็นท่านพระอานนท์กำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในพระนครราชคฤห์ จึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ แล้วได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอาวุโสอานนท์ บัดนี้ ผมจักกระทำอุโบสถและสังฆกรรมแยกจากพระผู้มีพระภาคเจ้า แยกจากภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เที่ยวบิณฑบาตในพระนครราชคฤห์ กลับจากบิณฑบาต ในภายหลังภัตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เวลาเช้า ข้าพระองค์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครราชคฤห์ พระเทวทัตได้เห็นข้าพระองค์กำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในพระนครราชคฤห์ จึงเข้าไปหาข้าพระองค์ ครั้นแล้วได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า ดูก่อนอาวุโสอานนท์ บัดนี้ ผมจักกระทำอุโบสถและสังฆกรรมแยกจากพระผู้มีพระภาคเจ้า แยกจากภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้พระเทวทัตจักทำลายสงฆ์ จักกระทำอุโบสถและสังฆกรรม.
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ความดีคนดีทำได้ง่าย ความดีคนชั่วทำได้ยาก ความชั่วคนชั่วทำได้ง่าย ความชั่วพระอริยะทั้งหลายทำได้ยาก.
จบอานันทสูตรที่ ๘
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 568
อรรถกถาอานันทสูตร
อานันทสูตรที่ ๘ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อายสฺมนฺตํ อานนฺทํ เอตทโวจ ความว่า พระเทวทัตชักชวนในการฆ่า ให้ปล่อยช้างนาฬาคิรี กลิ้งศิลา เมื่อไม่อาจทำความพินาศแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ จึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า อชฺชตคฺเค ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปนี้ ด้วยประสงค์จะทำลายสงฆ์ กระทำความแยกจักร.
บทว่า อญฺตฺเรว ภควตา แปลว่า แยกจากพระผู้มีพระภาคเจ้า. อธิบายว่า ไม่กระทำให้เป็นพระศาสดา.
บทว่า อญฺตฺเรว ภิกฺขุสงฺเฆน แปลว่า แยกจากภิกษุสงฆ์เท่านั้น.
บทว่า อุโปสถํ กริสฺสามิ สงฺฆกมฺมานิ จ ความว่า จักแยกภิกษุสงฆ์ผู้กระทำตามโอวาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำอุโบสถ และสังฆกรรมแผนกหนึ่งกับเหล่าภิกษุผู้คล้อยตามเรา.
บทว่า เทวทตฺโต สงฺฆํ ภินฺทิสฺสติ ความว่า วันนี้พระเทวทัตจักทำลายสงฆ์แยกเป็น ๒ ส่วนโดยแน่นอน เพราะพระเทวทัตตระเตรียมพรรคพวกผู้กระทำการแตกแยกทั้งหมดไว้แล้ว. จริงอยู่ เมื่อพระเทวทัตแสดงวัตถุแม้อย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาวัตถุเครื่องกระทำความแตกแยก มีอาทิว่า แสดงอธรรมว่าเป็นธรรม แล้วให้ยินยอมว่า พวกเธอจงถือเอาสิ่งนี้ จงชอบใจสิ่งนี้ ด้วยเหตุนั้นๆ แล้วให้จับสลาก แยกกระทำสังฆกรรม สงฆ์เป็นอันถูกทำลายแล้ว.
สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า สงฆ์แตกกันด้วยอาการ ๕ อย่าง คือ ด้วยกรรม ๑ ด้วยอุทเทส ๑ ด้วยการชักชวน ๑ ด้วยการสวดประกาศ ๑ ด้วยการจับสลาก ๑. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กมฺเมน ได้แก่ ด้วยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดากรรม ๔ อย่าง มีอปโลกนกรรมเป็นต้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 569
บทว่า อุทฺเทเสน ได้แก่ ด้วยอุทเทสอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาปาติโมกขุทเทศ ๕ อย่าง.
บทว่า โวหรนฺโต ได้แก่ แสดงถึงวัตถุเครื่องทำความแตกร้าว ๑๘ อย่าง มีการแสดงสิ่งที่ไม่เป็นธรรมว่าเป็นธรรมเป็นต้น ด้วยอุบัติเหล่านั้นๆ.
บทว่า อนุสฺสาวเนน ความว่า ด้วยการเปล่งวาจาประกาศที่ใกล้หู โดยนัยมีอาทิว่า พวกเธอย่อมรู้มิใช่หรือว่า เราบวชมาจากตระกูลสูง และว่า เป็นพหูสูต ควรหรือพวกท่านจะให้เกิดความคิดขึ้นว่า ชื่อว่าคนเช่นเราจะพึงให้ถือนอกธรรม นอกวินัย เราไม่กลัวอบายหรือ.
บทว่า สลากคฺคาเหน ความว่า ด้วยการสวดประกาศอย่างนี้แล้ว จึงสนับสนุนความคิดของภิกษุเหล่านั้น กระทำให้มีการไม่หวนกลับเป็นธรรม แล้วให้จับสลากด้วยคำว่า พวกท่านจงจับสลากนี้. ก็ในอาการเหล่านี้ กรรมหรืออุทเทสเท่านั้น ย่อมเป็นสำคัญ ส่วนการชักชวน การสวดประกาศ และการให้จับสลาก เป็นส่วนเบื้องต้น. จริงอยู่ เมื่อเธอชักชวนด้วยการแสดงวัตถุ ๑๘ ประการ แล้วสวดประกาศเพื่อให้เกิดความยินดีในการชักชวนนั้น แล้วจึงให้จับสลาก สงฆ์ก็เป็นอันชื่อว่ายังไม่แตกกันก่อน. แต่เมื่อภิกษุ ๔ รูป หรือเกินกว่านั้น พากันจับสลากแล้ว พากันทำอุทเทสหรือกรรมแยกกัน ด้วยอาการอย่างนี้ สงฆ์ชื่อว่าเป็นอันถูกทำลายแล้ว.
ส่วนพระเทวทัต พอให้ส่วนเบื้องต้นแห่งสังฆเภททั้งหมดสำเร็จแล้ว ก็คิดว่า วันนี้เราจักแยกทำอุโบสถและสังฆกรรมเป็นเฉพาะส่วนหนึ่ง จึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า อชฺชตคฺเค ดังนี้. ด้วยเหตุนั้น พระอานนทเถระจึงกราบทูลว่า วันนี้ พระเทวทัตจักทำลายสงฆ์ พระเจ้าข้า ดังนี้เป็นต้น. เพราะเราทั้งหลายได้กล่าวไว้แล้วว่า เพราะพระเทวทัตตระเตรียมพรรคพวกผู้ทำความแตกร้าวทั้งหมดไว้แล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 570
บทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา ความว่า ทรงทราบโดยประการทั้งปวงซึ่งสังฆเภทกรรม อันเป็นทางให้เกิดในอเวจีมหานรก ตั้งอยู่ตลอดกัป แก้ไขไม่ได้ ที่พระเทวทัตให้บังเกิดขึ้นนี้.
บทว่า อิมํ อุทานํ ความว่า ทรงเปล่งอุทานนี้ อันประกาศอรรถนี้ว่า ก็บุคคลผู้ฉลาดหลักแหลมดี เนื่องด้วยเป็นสัปบุรุษปฏิบัติถูกส่วนกันในฝ่ายกุศล และเป็นอสัปบุรุษปฏิบัติไม่ถูกส่วนกันในฝ่ายกุศล ตามลำดับ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุกรํ สาธุนา สาธุ ความว่า ชื่อว่าคนดี เพราะยังประโยชน์ตนและประโยชน์ของสังคมให้สำเร็จ ได้แก่ ผู้ปฏิบัติชอบ กรรมดี คือ กรรมงาม เจริญ อันนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ตนและสังคม อันคนดีนั้น คือ พระสาวกมีพระสารีบุตรเป็นต้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือโลกิยสาธุชนอื่น ทำได้โดยง่าย คือ สามารถเพื่อจะทำได้โดยง่าย.
บทว่า สาธุ ปาเปน ทุกฺกรํ ความว่า ก็กรรมดี มีลักษณะดังกล่าวแล้วนั้นนั่นแล อันคนชั่ว คือ ปาปบุคคล มีพระเทวทัตเป็นต้น ทำได้ยาก คือ ไม่สามารถจะทำได้ อธิบายว่า เขาไม่อาจจะทำกรรมดีนั้นได้.
บทว่า ปาปํ ปาเปน สุกรํ ความว่า กรรมชั่ว คือ กรรมไม่ดี ได้แก่ กรรมที่นำความพินาศมาให้ทั้งแก่ตน และสังคม อันคนชั่ว คือ ปาปบุคคลตามที่กล่าวแล้ว ทำได้ง่าย คือ สามารถจะทำได้โดยง่าย.
บทว่า ปาปมริเยหิ ทุกฺกรํ ความว่า ส่วนกรรมชั่วนั้นๆ อันพระอริยเจ้าทั้งหลาย คือ อันบัณฑิตมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ทำได้ยาก คือ ไม่มีความยินดียิ่งเป็นแดนเกิด. ก็พระศาสดาทรงแสดงว่า พระอริยบุคคลเหล่านั้น เป็นผู้ฆ่ากิเลส เพียงดังสะพานได้แล้ว.
จบอรรถกถาอานันทสูตรที่ ๘