พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. ทุติยกิรสูตร ว่าด้วยความเห็นแย้งกัน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  8 ส.ค. 2564
หมายเลข  35336
อ่าน  474

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 626

๕. ทุติยกิรสูตร

ว่าด้วยความเห็นแย้งกัน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 44]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 626

๕. ทุติยกิรสูตร

ว่าด้วยความเห็นแย้งกัน

[๑๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล สมณะ พราหมณ์ ปริพาชกมากด้วยกัน ผู้มีลัทธิต่างๆ กัน มีทิฏฐิต่างกัน มีความพอใจต่างกัน มีความชอบใจต่างกัน อาศัยทิฏฐินิสัยต่างกัน อาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า

๑. ตนและโลกเที่ยง นี้แหละจริง อื่นเปล่า.

สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะต่างอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า

๒. ตนและโลกไม่เที่ยง นี้แหละจริง อื่นเปล่า.

สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า

๓. ตนและโลกเที่ยงก็มี ไม่เที่ยงก็มี...

๔. ตนและโลกเที่ยงก็มิใช่ ไม่เที่ยงก็มิใช่...

๕. ตนและโลกอันตนเองสร้างสรรค์...

๖. ตนและโลกอันผู้อื่นสร้างสรรค์...

๗. ตนและโลกอันตนเองสร้างสรรค์ก็มี อันผู้อื่นสร้างสรรค์ก็มี...

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 627

๘. ตนและโลกเกิดขึ้นลอยๆ ตนเองสร้างสรรค์ก็หามิได้ ผู้อื่นสร้างสรรค์ก็หามิได้...

๙. ตนและโลกยั่งยืน มีทั้งสุขและทุกข์...

๑๐. ตนและโลกไม่ยั่งยืน มีทั้งสุขและทุกข์...

๑๑. ตนและโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ยั่งยืนก็มี ไม่ยั่งยืนก็มี...

๑๒. ตนและโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ยั่งยืนก็หามิได้ ไม่ยั่งยืนก็หามิได้.

๑๓. ตนและโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ตนเองสร้างสรรค์.

๑๔. ตนและโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ผู้อื่นสร้างสรรค์ นี้แหละจริง อื่นเปล่า.

สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า

๑๕. ตนและโลกมีทั้งสุขและทุกข์ ตนเองสร้างสรรค์ก็มี ผู้อื่นสร้างสรรค์ก็มี นี้แหละจริง อื่นเปล่า.

สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า

๑๖. ตนและโลกมีทั้งสุขและทุกข์ เกิดขึ้นลอยๆ ตนเองสร้างสรรค์ก็หามิได้ ผู้อื่นสร้างสรรค์ก็หามิได้ นี้แหละจริง อื่นเปล่า.

สมณพราหมณ์เหล่านั้นบาดหมางกัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากว่า ธรรมเป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมเป็นเช่นนี้.

[๑๔๐] ครั้งนั้นแล เวลาเช้า ภิกษุมากด้วยกัน นุ่งแล้วถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตภายหลังภัตแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทาน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 628

พระวโรกาส สมณะ พราหมณ์ ปริพาชกมากด้วยกัน ผู้มีลัทธิต่างๆ กัน มีทิฏฐิต่างกัน มีความพอใจต่างกัน อาศัยทิฏฐินิสัยต่างกัน อาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ตนและโลกเที่ยง นี้แหละจริง อื่นเปล่า ฯลฯ ธรรมเป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมเป็นเช่นนี้ พระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นคนบอด ไม่มีจักษุ ย่อมไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักความฉิบหายใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักสภาพมิใช่ธรรม ไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักความฉิบหายใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักสภาพมิใช่ธรรม ก็บาดหมางกัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน ทิ่มแทงกันและกันอยู่ด้วยหอกคือปากว่า ธรรมเป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมไม่เป็นเช่นนี้ ธรรมเป็นเช่นนี้.

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ได้ยินว่า สมณพราหมณ์พวกหนึ่งข้องอยู่ในทิฏฐินิสัยเหล่านี้ ยังไม่ถึงนิพพานเป็นที่หยั่งลง ย่อมจมอยู่ในระหว่างแล.

จบทุติยกิรสูตรที่ ๕

อรรถกถาทุติยกิรสูตร

ทุติยกิรสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สสฺสโต อตฺตา จ โลโก จ ความว่า ชนแม้เหล่าอื่นยึดถือรูปารมณ์เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นอัตตา และว่าเป็นโลกแล้ว

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 629

ยึดถือรูปารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งว่าเที่ยง ยั่งยืน กล่าวเหมือนอย่างนั้น. เหมือนอย่างที่กล่าวไว้ว่า ชนทั้งหลายย่อมบัญญัติรูปให้เป็นอัตตาและโลก ว่าเป็นอัตตา เป็นโลก และเที่ยง บัญญัติเวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ ให้เป็นอัตตาและโลก ว่าเป็นอัตตา เป็นโลก และเที่ยง.

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อตฺตา ได้แก่ วัตถุที่ถือว่าเป็นเรา. บทว่า โลโก ได้แก่ วัตถุที่ถือว่าเป็นของเรา ท่านกล่าวว่า มีในตน.

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อตฺตา ได้แก่ ตนเอง. บทว่า โลโก ได้แก่ ผู้อื่น.

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อตฺตา ได้แก่ ขันธ์ ๑ ในบรรดาอุปาทานขันธ์ ๕ ขันธ์นอกนั้น ได้แก่ โลก.

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อตฺตา ได้แก่ ขันธสันดานที่มีวิญญาณครอง ที่ไม่มีวิญญาณครอง ได้แก่ โลก.

ชนทั้งหลายถือรูปเป็นต้นนั้นๆ เป็น ๒ ประการตามทัสสนะว่าเป็นอัตตา และว่าเป็นโลก อย่างนี้แล้ว ยึดถือเอาทั้งอัตตาและโลกนั้นกล่าวว่า เที่ยง ยั่งยืน แน่นอน. ด้วยคำนี้ ท่านแสดงสัสสตวาทะ ๔. ด้วยคำว่า อสสฺสโต นี้ แสดงอุจเฉทวาทะแม้ทั้ง ๗.

บทว่า สสฺสโต จ อสสฺสโต จ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าเที่ยง เพราะอัตตาและโลกบางอย่างเที่ยง ที่ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะอัตตาและโลกบางอย่างไม่เที่ยง. อีกอย่างหนึ่ง อัตตาและโลกนั้นแหละ. บางคราวเที่ยง บางคราวไม่เที่ยง เหมือนของคนผู้เห็นตนเป็นคติ พึงทราบความในข้อนี้อย่างนี้ว่า สสฺสโต เที่ยง. ด้วยบทว่า สสฺสโต นี้ ท่านแสดงถึงวาทะว่าเที่ยงเป็นบางอย่าง แม้โดยประการทั้งปวง.

ด้วยบทว่า เนว สสฺสโต นาสสฺสโต นี้ ท่านแสดงถึงวาทะที่ดิ้นได้ไม่ตายตัว. ก็ชนเหล่านั้นเห็นโทษในสัสสตวาทะ และอสัสสตวาทะ กล่าวซัดซ่ายไปว่า อัตตาและโลกเที่ยงก็หามิได้ ไม่เที่ยงก็หามิได้.

บทว่า สยํกโต แปลว่า ตนเองสร้างขึ้น. เหมือนอย่างว่า อัตตา

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 630

ของเหล่าสัตว์นั้นๆ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมของตน แล้วเสวยสุขทุกข์ฉันใด อัตตาแลก็ฉันนั้น ย่อมกระทำอัตตาและโลกกล่าวคือความกังวลและความพัวพัน ให้เป็นเครื่องอุปโภคของอัตตานั้น ชนเหล่านั้นมีลัทธิแม้อันนี้ เหมือนลัทธิอัตตาว่า เนรมิตขึ้น.

บทว่า ปรํกโต แปลว่า คนอื่นสร้างขึ้น อธิบายว่า คนอื่นนอกจากตน จะเป็นอิสรชน บุรุษหรือสตรีก็ตาม สร้าง คือ เนรมิตอัตตาและโลกตามกาลหรือตามปกติ. บทว่า สยํกโต จ ปรํกโต จ ความว่า เพราะเหตุที่อิสรชนเป็นต้น เมื่อเนรมิตอัตตาและโลก จะเนรมิตด้วยตนเองอย่างเดียวเท่านั้นก็หามิได้ โดยที่แท้ ต้องได้เหตุผู้ทำร่วมกันของธรรมและอธรรมแห่งเหล่าสัตว์นั้นๆ ฉะนั้น สัตว์บางพวกจึงมีลัทธิดังนี้ว่า อัตตาและโลก ตนเองสร้างขึ้น และคนอื่นสร้างขึ้น.

บทว่า อสยํกาโร อปรํกาโร ความว่า ชื่อว่า อสยังการ เพราะตนเองไม่ได้สร้าง ชื่อว่า อปรังการ เพราะคนอื่นไม่ได้สร้าง. เพราะลงนิคหิตอาคม จึงกล่าวว่า อปรํกาโร. ผู้นี้เห็นโทษในข้อที่ตนและคนอื่นสร้าง จึงปฏิเสธทั้งสองอย่าง. เพื่อจะหลีกเลี่ยงคำถามที่ว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น อัตตาและโลกเกิดขึ้นได้อย่างไร จึงกล่าวเฉลยว่า อธิจฺจสมุปฺปนฺโน เกิดขึ้นลอยๆ. ท่านแสดงอธิจจสมุปปันนวาทะว่า เกิดขึ้นตามความปรารถนา คือ เกิดขึ้นโดยเว้นเหตุบางอย่าง. ก็ด้วยคำนั้น เป็นอันสงเคราะห์เหตุกวาทะเข้าด้วย.

บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงวาทะนั้นของคนผู้มีทิฏฐิเป็นคติ กล่าวยึดถือสุขและทุกข์อันเป็นคุณหรือเป็นเครื่องกังวลของอัตตานั้น โดยเป็นของเที่ยงเป็นต้น เหมือนกล่าวยึดถืออัตตา จึงตรัสคำมีอาทิว่า สนฺเตเก สมณพฺรหฺมณา. คำนั้นมีนัยดังกล่าวแล้วแล.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 3 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 631

ก็ในบทว่า เอตมตฺถํ วิทิตฺวา นี้ เพราะการเปรียบด้วยคนตาบอดแต่กำเนิด ไม่มาในพระสูตรนี้ จึงละความนั้น แล้วประกอบความโดยนัยที่กล่าวในหนหลังแล. ในคาถาก็เหมือนกัน. ในพระคาถานั้นมีความแปลกกันเพียงเท่านี้ว่า ยังไม่ถึงพระนิพพานอันเป็นที่หยั่งลง ย่อมจมลงในระหว่างเทียว.

คำนั้นมีอธิบายดังต่อไปนี้ ทิฏฐิคติกบุคคลทั้งหลายข้องอยู่ในทิฏฐิคือทิฏฐินิสัย ยังไม่ถึง คือ ยังไม่บรรลุพระนิพพาน กล่าวคือ เป็นที่หยั่งลง หรืออริยมรรคอันเป็นอุบายเครื่องบรรลุพระนิพพานนั้น เพราะเป็นฝั่งหรือเป็นที่พึ่งของทิฏฐิคติกบุคคลเหล่านั้น จึงจม คือ หมกอยู่ในระหว่าง คือ ในท่ามกลางโอฆะ ๔ มีกาโมฆะเป็นต้น หรือห้วงน้ำใหญ่ คือ สงสาร นั่นแหละ. อริยมรรคและพระนิพพาน ชื่อว่าธรรมเป็นเครื่องหยั่งลง เพราะเป็นเครื่องหยั่งลงหรือเป็นที่ตั้งอาศัย. ในที่นี้ เพราะรัสสะ โอคาธํ นั่นแล จึงกล่าวว่า โอคธํ. มีการแยกบทว่า ตํ โอคธํ เป็น ตโมคธํ.

จบอรรถกถาทุติยกิรสูตรที่ ๕